7 ตอนเด็ดจาก Patriot Act ที่อยากแนะนำให้คนรักชาติได้ดู

ไม่แน่ใจนักว่านี่เป็นครั้งที่เท่าไรแล้วที่ความรักและชังชาติได้กลับมาสู่การพูดคุยในสังคมอีกครั้ง แต่ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้มาทบทวนกันอีกครั้งว่านอกเหนือไปจากการประณามคนชังชาติแล้ว มีสิ่งใดที่คนรักชาติอย่างเราท่านนั้นพึงกระทำได้บ้าง ด้วยการเชิญชวนกันมาดูรายการตลกการเมืองอย่าง Patriot Act with Hasan Minhaj

ฮาซัน มินฮาจ คือนักแสดงตลกชาวอินเดีย-อเมริกันเจ้าของรางวัลพีบอดี้ และ 100 ผู้ทรงอิทธิพลของนิตยสารไทมส์ปี 2019 เขาคนนี้เคย “หาเรื่อง” กับอำนาจทางการเมืองด้วยมุกตลกเจ็บ ๆ มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เคยการขึ้นให้การต่อคณะกรรมการกระทรวงการคลังเกี่ยวกับระบบกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาที่ไม่เป็นธรรมได้โดนใจวัยรุ่นจนเป็นที่กล่าวขวัญทั่วอินเทอร์เน็ต และรายการ Patriot Act ของเขา สร้างขึ้นมาเพื่อสำรวจปัญหา-ประเด็น ทางการเมืองที่ซุกซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนทั้งในและนอกสหรัฐอเมริกา ตัวรายการเองมีให้รับชมทั้งบน Netflix และ Youtube

และนี่คือ 7 ตอนที่เราจะแนะนำให้ลองไปดูกัน

Hip-hop and Streaming

อาจเป็นตอนที่ใครหลายคนน่าจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว ในฐานะรายการเนตฟลิกซ์ที่พูดเรื่องราวของเมืองไทย ฮาซันพาเราไปสำรวจวัฒนธรรมฮิปฮอปในฐานะสัญลักษณ์ของการต่อต้านอำนาจกดขี่ ที่ยิ่งทรงพลังยิ่งขึ้นเมื่อได้รับแรงส่งจากความเฟื่องฟูของบริการสตรีมมิ่ง และปฏิกิริยาของเผด็จการทั้งหลาย มีตั้งแต่ระดับป่าเถื่อนอย่างการยัดข้อหารุนแรงเพื่อคุมตัว  ไปจนถึงระดับเจ้าเล่ห์ที่พยายามหาทางควบคุมแล้วเอามาใช้เป็นเครื่องมือ ตอนท้ายรายการเราจะได้เห็นว่ามีการหยิบยกเอาเพลง “ประเทศกูมี” ของ Rap Against Dictatorship มาให้ดูเป็นตัวอย่างความกล้าหาญในการต่อต้านอำนาจเผด็จการผู้แสนอ่อนไหวที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยตั้งแต่ยุคชูสามนิ้วจนมาถึงม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์

Censorship in China

จับตาดูที่สุดของการเซ็นเซอร์อย่าง The Great Fire Wall of China ระบบที่ตัดสิ่งไม่พึงประสงค์ของผู้มีอำนาจออกไปจากอินเทอร์เน็ตภายในประเทศอย่างหมดจดที่สุด เหตุการณ์สังหารหมู่ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน และการเคลื่อนไหวใด ๆ อันผิดมนุษยธรรมของรัฐบาลจีนจึงไม่อาจปรากฏอยู่ในสายตาของประชาชนได้เลย เกิดเป็นผลพวงที่ชวนขนลุกคือความรักชาติอย่างมืดบอด และการสยบยอมโดยไม่ตั้งคำถามใด ๆ เพราะการเซ็นเซอร์ได้พรากเอาสำนึกเรื่องการตั้งคำถามออกไปจนหมดสิ้น แม้กระทั่งผู้จัดรายการประชันแรปในจีนยังพูดอะไรทำนองว่า ถ้าไม่ผิดก็ไม่มีอะไรต้องกลัว ออกมาได้หน้าตาเฉย

Why Your Internet Sucks

ตอนนี้ฮาซันพาเราไปดูผลเสียจากเรื่องที่ดูเหมือนจะเล็กแต่ก็เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เมื่อผู้คนในอเมริกาว่าร้อยละ 30 ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ได้ (ในที่นี้หมายถึงแบบที่ติดตั้งในบ้าน ไม่ใช่แบบสัญญาณโทรศัพท์มือถือ) นั่นแปลว่าพวกเขาจะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล การจ้างงาน ที่อยู่อาศัย การรักษาความปลอดภัย และสำคัญที่สุดคือการศึกษาบนระบบออนไลน์ได้เลย เหตุเพราะในประเทศมีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เพียงสองราย การแบ่งเค้กกันระหว่างผู้ให้บริการทั้งสองทำให้เกิดภาวะกึ่งผูกขาด ที่นอกจากจะไม่เกิดการพัฒนาเพราะการแข่งขันต่ำแล้ว ยังไม่ยอมขยายพื้นที่ให้บริการเพราะ “ไม่คุ้มทุน” อีกต่างหาก ความไม่ยุติธรรมนี้นำไปสู่การต่อสู้อย่างดุเดือดระหว่างกลุ่มการเมืองที่ผลักดันให้มีอินเทอร์เน็ตที่จัดการโดยท้องถิ่นกับอำนาจทุนจากผู้ให้บริการเดิมในสนามการเมือง

Why Your Public Transport Sucks

คล้าย ๆ กับภาคต่อของตอนก่อนหน้า แต่ผู้รับผลกระทบจากความห่วยของบริการสาธารณะนี้ไม่ได้มีแต่คนจน เพราะไม่ว่าใครก็ต้องใช้ถนนด้วยกันทั้งนั้น ฮาซันเผยว่ามีพี่น้องตระกูลโค้ค นายทุนที่ได้ประโยชน์จากการขายเชื้อเพลิง ยางรถยนต์ ยางมะตอย อะไหล่รถยนต์ อยู่เบื้องหลังการเพิ่มงบประมาณในการสร้างทางหลวงแล้วหั่นงบสำหรับการพัฒนาขนส่งสาธารณะผ่านกลุ่มทางการเมืองฝ่ายขวาที่ชื่อว่า American for Properity (AFP) ด้วยวิธีการสารพัดทั้งการกล่อมผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าอาจมีการขึ้นภาษี และให้ทุนนักการเมืองที่สนับสนุนการตัดถนนใหม่ คนที่รับเคราะห์เต็ม ๆ จากเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากคนผิวสี คนอพยพและกลุ่มแรงงานรายได้ต่ำที่ไม่อาจซื้อรถยนต์ จึงยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นยิ่งถ่างขยายออกไปอีกมหาศาล

Why Billionaire Won’t Save Us

เป็นตอนที่พุ่งเป้าโจมตีตรง ๆ ไปที่กลุ่มคนที่ทรงอำนาจที่สุดของประเทศนั่นคือ คนรวย ด้วยการตั้งคำถามต่อการบริจาคเงินเป็นสาธารณกุศลของพวกเขา ทำไมการกระทำที่น่าชื่นชมแบบนี้ถึงสมควรถูกตั้งคำถาม? ในระดับเบื้องต้นมันคือการลดความตึงเครียดระหว่างคนรวย 1% กับคนจนหลายล้านคนด้วยการแสดงความโอบอ้อมอารีอย่างไม่มีเงื่อนไข ในระดับที่ลึกกว่านั้นคือฉากหน้าของกลลวงตบตา ลูกไม้การเลี่ยงภาษีด้วยการบริจาคเงินผ่านกองทุนมูลนิธิที่สุดท้ายแล้วเงินอาจจะไม่ได้ตกไปถึงมือของคนที่ต้องการจริง ๆ  ในระดับที่เลวร้ายที่สุดคือคนรวยพวกนี้นี่แหละที่หาทางทำทุกอย่างให้ตัวเองได้เปรียบ เล่นบนกติกาที่ไม่ยุติธรรมเพื่อความร่ำรวย ก่อนที่จะกลับมาใต้หน้ากากของผู้กอบกู้โดยที่เขาไม่ต้องเสียอะไรสักนิด ฮาซันและอนันด์ กีริดาราดาส ผู้เขียนหนังสือกระเทาะเปลือกคนรวย Winne Take All พูดถึงเรื่องนี้ไว้ได้น่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาหยิบเอาแบทแมนมาใช้เป็นตัวอย่าง

Is College Still Worth It

สำรวจความเสียหายจากโรคระบาดที่ทำให้ปัญหาที่มีอยู่ก่อนหน้าร้ายแรงขึ้นอย่างชัดเจนต่อวงการการศึกษา บนข้อเท็จจริงที่ว่าค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัยนั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่คุณภาพของสินค้าและบริการที่ได้กลับต่ำลงอย่างน่าใจหาย สิ่งที่อยู่เบื้องหลังปัญหานี้คือการที่ค่าเทอมของนักศึกษาไม่ได้ถูกนำไปพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนได้มากเท่าที่ควร แต่เม็ดเงินกลับไปตกอยู่ในกองทุนเพื่อทำกำไรให้กับผู้บริหาร และการที่มหาวิทยาลัย “ไม่ใช่ทางเลือก” ของผู้คนในตลาดแรงงานอีกต่อไป เมื่ออัตราการจ้างงานของคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยสูงกว่าคนที่ไม่ได้เรียนอย่างเทียบไม่ติด

The Broken Policing System

เกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้บำบัดทุกข์บำรุงสุขดันกลายเป็นภัยร้ายให้กับประชาชนเสียเอง นี่คือตอนที่ว่าด้วยปัจจัยที่ทำให้ตำรวจอเมริกากลายร่างเป็นผู้ก่อเหตุสะเทือนขวัญในสังคมหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนที่น่าขนลุกที่สุดคือการที่อดีตผู้รักษากฎหมายออกมาเผยหมดเปลือกว่านี่ไม่ใช่เรื่องของตำรวจเลวแบบ “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง” แต่เป็นการเบลอสำนึกเรื่องการรับใช้และปกป้องออกไปแล้วแทนที่ด้วยการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ โดยที่มีกลไกที่ช่วยให้พ้นจากความรับผิดชอบต่อการกระทำโหดร้ายทั้งหลายอีกต่างหาก  

นอกจาก 7 ตอนนี้แล้ว Patriot Act with Hasan Minhaj ยังมีตอนที่น่าสนใจและมีประเด็นทางการเมืองรอบโลกให้สำรวจอีกมากมาย นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่าแม้แต่ดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างสหรัฐอเมริกาเองก็ไม่ใช่ชาติที่ดีพร้อม แต่ด้วยเสรีภาพอันเป็นหลักพื้นฐานที่แข็งแรงที่สนับสนุนให้คนทั่วไปสามารถทำอะไรแบบนี้ได้โดยไม่ต้องกลัวใครมาเยี่ยมเยียนที่บ้าน คงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากจะมองการนำเสนอปัญหาเลวร้ายที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของตัวเองเช่นนี้ว่าเป็นความชิงชังรังเกียจชาติ ในเมื่อทุกคนต่างก็รู้ดีว่าการยอมรับว่าปัญหามีอยู่จริงและพูดถึงมันอย่างตรงไปตรงมาเป็นก้าวแรกสู่การแก้ไขอย่างเป็นระบบ และการหลอกตัวเองให้มองแต่ด้านสวยงามโดยไม่ยอมรับปัญหาที่มี เสียอีกที่ดูเหมือนจะเป็นโรคภัยที่ควรได้รับการดูแลรักษาให้หายขาดเสียที


Patriot Act with Hasan Minhaj มีให้รับชมแล้วทาง Netflix

สิทธิชัย เปลี่ยนทองดี
นักทำงานอดิเรก, เล่นบอร์ดเกม, ดูตลกแสตนด์อัพ, จัดพอดแคสต์บำบัด และดื่มเบียร์คนเดียว

LATEST REVIEWS