บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์
ผมมีโอกาสได้อ่าน The White Tiger ฉบับนวนิยายเมื่อราวสองปีก่อน แม้เนื้อเรื่องบางส่วนจะเลือนๆ ไปจากความทรงจำบ้างแล้ว แต่ก็ยังจดจำความแสบสันและร้ายกาจของตัวละครได้เป็นอย่างดี เมื่อทราบข่าวว่านวนิยายเรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นหนังและกำลังจะเตรียมฉายทาง Netflix จึงยิ่งตั้งตารอดู หลังจากได้ดูจนจบก็ยิ่งประทับใจว่านวนิยายถูกดัดแปลงมาเป็นหนังได้อย่างสมศักดิ์ศรี (โดยส่วนตัวผมคิดว่าตัวนวนิยายเองก็มีคุณสมบัติหลายอย่างที่เอื้อต่อการนำมาสร้างเป็นหนังอยู่พอสมควร) ในขณะที่กระแสตอบรับในโลกโซเชียลมีเดียเองก็ชื่นชมกันอย่างล้นหลาม
แต่สิ่งที่ทำให้ผมเซอร์ไพรส์กว่านั้นก็คือ การที่นวนิยายในปี 2008 ถูกนำมาสร้างเป็นหนังและฉายในปี 2021 ท่ามกลางเงื่อนไขและบริบทของการเมืองโลกร่วมสมัยในปัจจุบัน (โดยเฉพาะการงัดข้อกันระหว่างสองมหาอำนาจอย่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ข้อพิพาทระหว่างจีนกับอินเดีย และการเมืองโลกยุคหลังโดนัลด์ ทรัมป์) กลับยิ่งทำให้หนังมีถ้อยแถลงทางการเมืองส่วนตัวที่เลยพ้นออกไปจากตัวนวนิยายที่เป็นต้นฉบับอย่างคาดไม่ถึง เรียกได้ว่านี่ไม่ใช่แค่เพียงหนังที่ดัดแปลงจากนวนิยาย แต่ตัวหนังก็มีความเป็นการเมืองในตัวของมันเองที่ทำให้สามารถอ่านข้ามบริบทและอ่านนอกบริบทได้หลายระดับ
The White Tiger เล่าเรื่องราวของ พลราม ฮาลวัย ชายหนุ่มวรรณะต่ำจากหมู่บ้านแร้นแค้นแถบฝั่งแม่น้ำคงคา ที่ดิ้นรนไต่เต้าสร้างฐานะตัวเองขึ้นมาจนได้เป็นเจ้าของธุรกิจรถแท็กซี่ในเมืองบังกาลอร์ เมืองแห่งเทคโนโลยีและการลงทุน เมืองที่เปรียบเสมือนซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) แห่งอินเดีย แต่ภายใต้โฉมหน้าความร่ำรวยและธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ พลรามก็ค่อยๆ ลอกเปลือกชีวิตของเขาออกมาให้เราเห็นทีละชั้นๆ ว่า กว่าที่เขาจะมาถึงจุดนี้ได้ เขาต้องถีบตัวเองและถีบคนอื่นขึ้นมาอย่างไร
หนังดัดแปลงวิธีเล่าจากนวนิยายมาใช้ได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือให้พลรามในปัจจุบันในมาดนักธุรกิจหนุ่มผู้ประสบความสำเร็จ มานั่งเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาผ่านบทพูดคนเดียว (monologue) ที่สื่อสารและประจันหน้ากับผู้ชมโดยตรง เล่าเรื่องตัดสลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน โดยมีฉากหลังเป็นสำนักงานหรูหราในเมืองบังกาลอร์ น้ำเสียงเยียบเย็นแฝงกังวานความเย้ยหยัน สีหน้าและแววตาเหี้ยมเกรียมยามเล่าถึงอดีตอันดำมืดของตัวเอง ยิ่งขับเน้นสภาวะตัดขาดระหว่างตัวตนในอดีตกับตัวตนในปัจจุบันออกมาได้อย่างน่าขนลุก ราวกับว่าเขากำลังนั่งมองชีวิตของใครอีกคนหนึ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง ราวกับว่าพลรามในอดีตคือตัวตนที่เขาลอกคราบทิ้งไปและตื่นขึ้นมาเป็นพลรามในปัจจุบัน
สำหรับพลราม อินเดียแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คืออินเดียในแสงสว่างกับอินเดียในความมืด เขาเกิดและเติบโตขึ้นในอินเดียมืด ชีวิตในวัยเด็กเป็นไปอย่างยากจนแร้นแค้น เขาอาศัยอยู่กับพ่อ พี่ชาย และย่า เด็กชายพลรามเป็นเด็กหัวไวและเฉลียวฉลาด ครูที่โรงเรียนถึงกับตั้งฉายาให้ว่า “เสือขาว” สัตว์หายากที่นานๆ ครั้งถึงจะถือกำเนิดขึ้นมาสักตัว แต่แล้วชีวิตก็ต้องพลิกผัน เมื่อพ่อของเขาตายลง ป่วยและตายไปอย่างคนยากไร้อนาถาต่อหน้าต่อตาเขา เด็กชายจึงต้องออกจากโรงเรียน มาทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านน้ำชากับพี่ชาย ค่าจ้างน้อยนิดที่ได้มาก็ถูกย่าใจร้ายริบเอาไป
พลรามทำงานในร้านน้ำชาอยู่หลายปีจนโตเป็นหนุ่ม วันหนึ่งเขาได้เห็น นกกระสา เศรษฐีเจ้าที่ดินจอมสูบเลือดสูบเนื้อ นั่งรถคันหรูมาเก็บค่าเช่าที่ดิน/ค่าคุ้มครองจากชาวบ้านพร้อมกับลูกชายสองคน ลูกชายคนโตชื่อ พังพอน กักขฬะ หยาบคาย และหน้าเลือดไม่ต่างจากพ่อ แต่คนที่โดดเด่นและแปลกต่างออกไปคือ มิสเตอร์อโศก ลูกชายคนเล็ก ชายหนุ่มหน้าตาหล่อเหลา สุภาพอ่อนโยน บุคลิกและนิสัยใจคอต่างจากพ่อและพี่ชายโดยสิ้นเชิง ต่อมาเมื่อพลรามได้รู้ว่ามิสเตอร์อโศกกำลังรับสมัครคนขับรถประจำตัว เขาจึงเริ่มมองเห็นทางสว่างในชีวิต เขากลับไปรบเร้าขอเงินจากย่าเพื่อไปเรียนขับรถ โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าได้เป็นคนขับรถของมิสเตอร์อโศกแล้ว จะต้องส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวทุกเดือน
มิสเตอร์อโศกเป็นหนุ่มนักเรียนนอกที่เพิ่งกลับจากอเมริกา เขากลับมาพร้อมกับ มาดามพิ้งกี้ ภรรยาสาวชาวอินเดียที่ไปพบรักกันที่อเมริกา ทั้งคู่เป็นคนหนุ่มสาวหัวสมัยใหม่ เชื่อในศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ รังเกียจระบบชนชั้นวรรณะ แบบแผนประเพณีคร่ำครึ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบอุปถัมภ์และการติดสินบนแบบเศรษฐีเจ้าที่ดินอย่างที่พ่อและพี่ชายของเขาต้องเข้าไปพัวพันเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ ความแตกต่างอย่างสุดขั้วทำให้พวกเขาทั้งสี่คนต้องปะทะคารมกันอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะมาดามพิ้งกี้ที่ไม่ยอมให้ตัวเองถูกกดด้วยค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ เธอพร้อมจะลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างเผ็ดร้อนเสมอ
เมื่อพลรามได้เข้ามาอยู่บ้านของมิสเตอร์อโศกในฐานะคนขับรถ เขาจึงอยู่ท่ามกลางแรงปะทะเหล่านี้ ได้รู้เห็นชีวิตและความคิดความอ่านของพวกคนรวย เห็นวิธีปฏิบัติต่อคนรับใช้ที่แตกต่างกันระหว่างมิสเตอร์อโศกกับพ่อและพี่ชาย ได้รู้เห็นแม้กระทั่งฉากการตกลงเรื่องสินบนระหว่างนกกระสากับนักการเมืองปีกสังคมนิยม นอกจากนั้น พลรามยังเรียนรู้ที่จะใช้เล่ห์กลทำให้ตัวเองกลายเป็นคนโปรด วันหนึ่งเขาใช้เล่ห์กลสกปรกบีบบังคับจนกระทั่งคนขับรถหมายเลขหนึ่งของบ้านซึ่งเป็นคนเก่าคนแก่ต้องลาออกไป
อย่างไรก็ดี หนังย้ำเตือนเราอยู่บ่อยครั้งว่า แม้มิสเตอร์อโศกกับมาดามพิ้งกี้จะปฏิบัติต่อพลรามอย่างให้เกียรติ แต่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเจ้านาย VS คนรับใช้ ความสัมพันธ์แบบผู้มีอารยธรรม/มีการศึกษา VS คนเถื่อน/คนไร้การศึกษา ก็ยังย้อนกลับมาจี้ไชและบาดลึกลงไปในจิตใจของพลรามอย่างที่ทั้งคู่ไม่รู้ตัว พร้อมๆ กับที่เปิดโปงให้เห็นความไร้เดียงสาของทั้งคู่ด้วย ดังเช่นในฉากหนึ่งที่อโศกกับพิ้งกี้เรียกพลรามเข้ามาถามลองภูมิเขาเรื่องอินเทอร์เน็ตและเฟซบุ๊ก พลรามไม่เคยรู้จักสิ่งนี้มาก่อนจึงตอบออกไปอย่างเปิ่นๆ เพื่อที่จะพบว่าทั้งคู่เห็นเขาเป็นตัวตลก เป็นคนแบบที่อโศกเรียกว่า “ลูกผีลูกคน” ที่รู้อะไรแบบครึ่งๆ กลางๆ แต่แสร้งทำเป็นรู้ดี
การปะทะกันบ่อยครั้งระหว่างเจ้านายกับคนรับใช้ (แม้จะเป็นไปโดยไม่รู้ตัว) ทำให้แรงตึงเครียดทางชนชั้นค่อยๆ คุกรุ่นขึ้นมา แม้อโศกกับพิ้งกี้จะเป็นคนหัวสมัยใหม่ที่ผ่านการศึกษาและได้รับความคิดหัวก้าวหน้ามาจากเมืองนอกเมืองนา แต่ตัวตนและวิธีคิดของทั้งคู่ก็ยังเป็นลูกผสมระหว่างสถานะความเป็นเจ้านายแบบเก่าที่เป็นเจ้าที่ดิน กับเจ้านายแบบใหม่ที่เป็นเจ้าอาณานิคม สายตาที่พวกเขามองพลรามจึงแทบไม่ต่างอะไรกับสายตาที่เจ้าอาณานิคมมองคนพื้นเมืองผู้ป่าเถื่อน พวกเขาอาจปฏิบัติต่อพลรามอย่างเป็นมนุษย์ “มากขึ้น” แต่ไม่ได้ปฏิบัติต่อพลรามในฐานะมนุษย์ที่ “เท่าเทียม” กันกับพวกเขา
สายตาที่พวกเขามองพลรามจึงแทบไม่ต่างอะไรกับสายตาที่เจ้าอาณานิคมมองคนพื้นเมืองผู้ป่าเถื่อน พวกเขาอาจปฏิบัติต่อพลรามอย่างเป็นมนุษย์ “มากขึ้น” แต่ไม่ได้ปฏิบัติต่อพลรามในฐานะมนุษย์ที่ “เท่าเทียม” กันกับพวกเขา
หนังจึงโยนคำถามกลับมาว่า ใครกันแน่ที่เป็นพวก “ลูกผีลูกคน” คนนอก/คนชั้นบนที่มองลงมาจากหอคอยงาช้างแล้วคิดว่าตัวเองรู้ดีทั้งหมด หรือคนใน/คนชั้นล่างที่สร้างปราสาทราชวังให้พวกเขาได้เสวยสุข เพื่อให้พวกเขาถ่มถุยและดูถูก เพื่อให้พวกเขาได้สูงส่งกว่า สะอาดกว่า แปดเปื้อนน้อยกว่า คนวรรณะต่ำที่ชีวิตไร้ทางเลือกอย่างพลราม หรือคนวรรณะสูงอย่างอโศกที่จะว่าเป็นเจ้าที่ดินก็ไม่ใช่ เจ้าอาณานิคมก็ไม่เชิง แต่กลับได้รับประโยชน์จากการเล่นทั้งสองบทบาทนี้
เช่นเดียวกับนวนิยาย หนังใช้อุปมาเรื่อง “กรงไก่” เป็นภาพแทนโครงสร้าง/ระบบชนชั้นวรรณะที่คอยกดขี่และสูบเลือดสูบเนื้อผู้คน พลรามประจักษ์แก่ใจตัวเองว่าคนอินเดียวรรณะต่ำอย่างเขามีสภาพไม่ต่างจากบรรดาไก่ที่อยู่ในกรงรอเชือด ถูกกล่อมเกลาให้เชื่อง ถูกทำให้เชื่อว่าตัวเองไม่สามารถมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ ถูกทำให้เชื่อว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่เพียงแค่หาทางซิกแซ็กเอาตัวรอดจากผู้มีอำนาจได้ และซาบซึ้งกับเศษเงินเพียงน้อยนิดที่พวกเขาหว่านโปรยลงมา (หรือไม่ก็ซาบซึ้งที่พวกเขาไม่ปล้นไปจนหมด) สำหรับพลราม กรงไก่จึงอยู่ทุกหนทุกแห่ง อยู่ในกำมือที่จะบีบก็ตายจะคลายก็รอดของคนรวยและผู้มีอำนาจ อยู่ในการเอาเปรียบและกัดกินกันเองระหว่างคนจนด้วยกัน อยู่ในความใฝ่ฝันอันจำกัดจำเขี่ยที่อยากเป็นเพียงคนรับใช้และมอบกายถวายชีวิตเป็นคนรับใช้ที่ดี อยู่ในความหน้าไหว้หลังหลอกของนักการเมืองปีกสังคมนิยมที่แอบจูบปากกับนายทุนขูดรีด สิ่งเหล่านี้ทำให้พลรามได้ข้อสรุปกับตัวเองว่าอินเดียมีอยู่แค่ 2 วรรณะ คือวรรณะพุงกางกับวรรณะพุงแฟบ มีโชคชะตาอยู่ 2 แบบ ไม่กินก็ถูกกิน
ครึ่งหลังของเรื่องย้ายฉากมาที่เมืองนิวเดลี เมืองหลวงและศูนย์กลางความเจริญของประเทศ พลรามต้องขับรถพามิสเตอร์อโศกเข้าออกระหว่างธนาคารกับทำเนียบรัฐบาล การวิ่งเต้นติดสินบนเพื่อเลี่ยงภาษีให้กับธุรกิจของพ่อ ภารกิจยืดเยื้อนานนับเดือน ภาพเงินเป็นฟ่อนที่ถูกถอนออกมาผ่านหูผ่านตาพลรามไม่เว้นแต่ละวัน ภาพชีวิตฟุ้งเฟ้อของอโศกกับพิ้งกี้ท่ามกลางความหรูหราฟู่ฟ่าของเมืองยิ่งเย้ายวนให้ความคิดฝันของพลรามเตลิดไปไกล ภาพที่ตัดกันระหว่างคอนโดหรูหราในย่านคนรวยของอโศก กับห้องพักสกปรกซอมซ่อสำหรับคนขับรถ ยิ่งทำให้พลรามรู้สึกแปลกแยกกับตัวเอง ความแปลกแยกเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นความคุกรุ่น “เสือขาว” ในตัวเขาจึงวิ่งชน “กรงไก่” แรงขึ้นเรื่อยๆ
แต่เหตุการณ์ที่กลายเป็นจุดแตกหักจริงๆ เกิดขึ้นเมื่อพลรามถูกบังคับให้รับผิดแทนมาดามพิ้งกี้ในอุบัติเหตุขับรถชนคนตาย นั่นยิ่งทำให้พลรามได้ตระหนักว่าอย่างไรเสียเจ้านายที่แสนดีของเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของ “กรงไก่” อยู่วันยังค่ำ เมื่อพวกเขาทำผิด กรงไก่ก็พร้อมจะปกป้องพวกเขา และถีบคนอย่างพลรามเข้าไปรับผิดแทน
เมื่อความซื่อสัตย์ภักดีขาดสะบั้น ความเคียดแค้นชิงชังจึงเข้ามาแทนที่ หนังถ่ายทอดภาพจิตสำนึกที่กำลังเปลี่ยนแปลงออกมาได้อย่างทรงพลัง เมื่อสายตาที่เขามองตัวเองเปลี่ยนไป สายตาที่เขามองเจ้านายและโลกรอบตัวก็เปลี่ยนไป ราวกับสิ่งละอันพันละน้อยรอบตัวต่างร่วมกันกระซิบถ้อยคำแห่งการต่อต้าน ฉากหนึ่งที่ทรงพลังคือฉากที่พลรามมองเห็นพ่อตัวเองอย่างเป็นภาพนิมิตในร่างของคนถีบสามล้อ พ่อบอกเขาว่าสิ่งที่มิสเตอร์อโศกกำลังทำคือการติดสินบนเพื่อเลี่ยงภาษี การเลี่ยงภาษีที่ไม่ต่างอะไรกับการขโมยไปจากคนจนๆ อย่างเขาและพ่อของเขา
ในท้ายที่สุด เมื่อแรงตึงเครียดทางชนชั้นมาถึงจุดระเบิด พลรามจึงตัดสินใจฆ่ามิสเตอร์อโศก และขโมยเงินสี่ล้านรูปีที่มิสเตอร์อโศกเตรียมจ่ายสินบนให้กับ “นักสังคมนิยมผู้ยิ่งใหญ่” ไป อย่างไรก็ดี หากมองในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ใช่แค่มิสเตอร์อโศกเท่านั้นที่ถูก “ฆ่า” พลรามเองก็ถูก “ฆ่า” ด้วย แต่เป็นการถูกฆ่าในเชิงสัญลักษณ์ ดังนั้น มันจึงทั้งทรงพลังอย่างยิ่งเมื่อท้ายที่สุดแล้วพลรามสวมรอยกลายเป็นอโศก แต่เขาไม่ใช่ทั้งพลราม ไม่ใช่ทั้งอโศก วาทกรรม “ลูกผีลูกคน” ย้อนกลับมาเล่นซ้ำอย่างชวนหัว แต่ที่ร้ายกาจยิ่งกว่านั้นคือการที่พลรามบอกกับเราด้วยความสะใจว่า ที่เขาสามารถรอดพ้นจากการถูกจับกุมในข้อหาฆาตกรรมมาได้ ก็เพราะเขารู้จักใช้ “กรงไก่” ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง เขาพาทั้งตัวเองและธุรกิจรอดมาได้ก็ด้วยการติดสินบนนั่นเอง
หากเราเอาชีวิตของพลรามกับอโศกมาวางเทียบกัน จะพบว่าทั้งคู่ต่างเป็นคนที่พยายามจะหลุดออกจากรากเหง้า/ครอบครัวของตัวเองเหมือนกัน แต่คนรวยอย่างอโศกหลุดได้ยากกว่าเพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจและผลประโยชน์ล็อคไว้แน่นหนากว่า ในขณะพลรามแทบไม่มีสายสัมพันธ์อะไรกับครอบครัวเลย ตอนเป็นเด็กก็เห็นพ่อตัวเองตายอย่างอนาถา พี่ชายก็ถูกย่าสูบเลือดสูบเนื้ออยู่ชั่วนาตาปี เขามองไม่เห็นว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่ในสภาพแบบนี้ได้อย่างไร สำหรับพลราม ครอบครัวจึงเป็นความเลวร้ายที่คอยแต่จะถ่วงรั้งและเอาเปรียบ ไม่มีต้นทุนชีวิตที่ต้องรักษา เขาจึงหลุดออกจากครอบครัวได้ง่ายกว่า ไปเป็นแรงงานราคาถูก ล่องลอยไปอย่างไร้ราก พร้อมกับสำนึกแบบปัจเจกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อมองเห็นลู่ทางชีวิตในความฝันแบบทุนนิยม/เสรีนิยมใหม่ ที่ไม่สนใจว่าเป็นใคร มาจากไหน ครอบครัวอยู่ที่ไหน (แบบที่ระบบเดิมพยายามจะใช้สิ่งเหล่านี้เป็นกลไกควบคุมแรงงาน) ก็ยิ่งทำให้ความไร้รากสองอย่างนี้มาสมรสกันได้พอดิบพอดี
ทั้งคู่ต่างเป็นคนที่พยายามจะหลุดออกจากรากเหง้า/ครอบครัวของตัวเองเหมือนกัน แต่คนรวยอย่างอโศกหลุดได้ยากกว่าเพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจและผลประโยชน์ล็อคไว้แน่นหนากว่า ในขณะพลรามแทบไม่มีสายสัมพันธ์อะไรกับครอบครัวเลย … สำหรับพลราม ครอบครัวจึงเป็นความเลวร้ายที่คอยแต่จะถ่วงรั้งและเอาเปรียบ ไม่มีต้นทุนชีวิตที่ต้องรักษา เขาจึงหลุดออกจากครอบครัวได้ง่ายกว่า
มิหนำซ้ำยังได้เห็นความอ่อนแอและเหลวแหลกของพวกคนรวยที่เป็นเจ้านายตัวเอง ความหน้าไหว้หลังหลอกของนักสังคมนิยมผู้ยิ่งใหญ่ ดังนั้นแล้วคนอย่างพลรามจึงหลุดออกจากทุก “ราก” ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน ระบบชนชั้นวรรณะ แม้กระทั่งสำนึกทางชนชั้น/สำนึกทางอุดมการณ์ หนังทั้งเรื่องจึงถูกถ่ายทอดออกมาด้วยความสะใจ นี่ไม่ใช่หนังว่าด้วย “การต่อสู้ทางชนชั้น” แต่คือหนังที่คนจนลุกขึ้นมาตบหน้าคนรวย ย้อนเกล็ดคนรวย และบอกให้รู้ว่าเกมที่คนรวยคิดว่าตัวเองเล่นเป็นฝ่ายเดียว คนจนเองก็เล่นเป็นเหมือนกัน แถมยังเล่นได้ดีกว่าด้วย แต่ที่เขาต้องเป็นคนจนก็เพราะว่าเขาไม่รู้กติกา มิหนำซ้ำยังถูกกีดกันออกจากเกมการแข่งขันอยู่ร่ำไป
หากอินเดียแบ่งออกเป็นอินเดียในความมืดกับอินเดียในแสงสว่าง สิ่งที่ชีวิตของพลรามกำลังบอกกับเราก็คือ ไม่ใช่แค่ในอินเดียฝั่งความมืดหรอกที่เต็มไปด้วยความมืด อินเดียในฝั่งแสงสว่างก็เต็มไปด้วย “ความมืด” ไม่ต่างกัน เพราะมีแต่ความมืดเท่านั้นที่จะอำพราง “ผู้ล่า” เอาไว้ไม่ให้ “ผู้ถูกล่า” รู้ตัว
ดู The White Tiger ได้ที่ Netflix