Digimon Adventure : Last Evolution – Kizuna …บางสิ่งที่ตายจากเราไป เมื่อเราโตขึ้น

ตอนที่ Digimon Adventure ภาคแรกฉายช่อง 9 การ์ตูนเมื่อปี พ.ศ. 2544 ผมอยู่มัธยมปลายซึ่งเป็นวัยที่เด็กเริ่มเป็นวัยรุ่นอย่างแท้จริง ไลฟ์สไตล์เปลี่ยน ความสนใจเปลี่ยน และเริ่มเลิกดูการ์ตูนที่ฉายทีวี

ตั้งแต่ประถมถึงมัธยมต้นในยุคที่อินเทอร์เน็ต 36k และยังไม่มีสมาร์ทโฟนนั้น เด็กมีสิ่งให้สนใจไม่กี่อย่าง และการตื่นเช้ามาในวันเสาร์อาทิตย์เพื่อดู “ช่อง 9 การ์ตูน” ก็เป็นสิ่งที่เด็กจำนวนมากในยุคนั้นทำกัน ไม่งั้นคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง แต่พอขึ้นม.ปลายปุ๊บก็เหมือนเป็นทางเลือกว่า ถ้ายังดูอยู่จะถือว่าเป็นคนที่บ้าการ์ตูน (สมัยนั้นคำว่าโอตาคุยังไม่แพร่หลาย) สำหรับผมก็เลือกดูเฉพาะเรื่องที่อยากดู และด้วยความที่ไลฟ์สไตล์เปลี่ยน สุดสัปดาห์เรานอนดึกขึ้น ตื่นมาดูไม่ไหวแล้ว Digimon Adventure จึงเป็นช่อง 9 การ์ตูนเรื่องสุดท้ายที่ผมติดตามดู

ที่มาของ Digimon หรือ Digital Monster นั้นเป็นของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ที่ต่อยอดมาจาก Tamagotchi โดยผสมผสานไอเดียการเลี้ยงสัตว์บวกกับการฝึกสัตว์เพื่อเอามาต่อสู้กับเพื่อนแบบ Pokemon ก็เลยเกิดเป็นของเล่นที่ชื่อ Digimon ขึ้นมา และตามปกติแล้วการที่จะกระตุ้นยอดขายของเล่นจำเป็นต้องมีอนิเมะมาประกอบควบคู่เพื่อให้เป็นแฟรนไชส์ที่แข็งแรง ไม่ต่างกับเจ้าหนูนักซิ่งสายฟ้า Let’s Go ที่มาเพื่อขายรถ mini4wd ของทามิย่า ของเล่นกับอนิเมะเป็นของคู่กันตั้งแต่ต้น เงินทุนหลักของการสร้างอนิเมะก็มักมาจากบริษัทของเล่น อนิเมะที่ทำยอดขายของเล่นได้ไม่เข้าเป้าก็มักโดนตัดงบและตัดจบกลางคันก็มีมากมาย

เรื่องราวของอนิเมะ Digimon Adventure ก็เรียบง่าย เมื่อเหล่าตัวเอกต้องกลายเป็น ”เด็กผู้ถูกเลือก” ให้เป็นคู่หูของเหล่าดิจิมอน (ฝ่ายดี) และถูกส่งไปยัง Digital World (ใช่แล้ว มันเป็นแนว Isekai) เพื่อเอาชนะเหล่าดิจิมอนที่ชั่วร้ายและกอบกู้โลก เอาจริงๆ ผมก็ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ดิจิมอน จำรายละเอียดของเรื่องไม่ได้มากมาย จำได้แค่พล็อตคร่าวๆ และตัวละครหลัก แต่สิ่งที่เป็นเหมือนหมุดหมายสำหรับเด็กยุคนั้นที่ดูช่อง 9 การ์ตูนก็คือ เพลงในเรื่องที่มีการนำมาทำเป็นเวอร์ชั่นภาษาไทย ซึ่งตอนนั้นหลายๆ ก็รู้สึกตลกกับความพยายามในการแปลงเนื้อและให้พิธีกร 2 คนออกมาร้องมาเต้น แต่ทุกคนก็ต้องยอมรับว่า “ติดหูฉิบหายเลยว่ะ” (เพลงเวอร์ชั่นญี่ปุ่นที่ดังๆ มี 2 เพลงคือ Butterfly และ Braveheart ซึ่งแต่งมาได้ดีมีทำนองติดหูมากอยู่แล้ว พอมาเป็นภาษาไทยที่มันมีความ Cringe นิดๆ อย่าง “ปีกกางเหินไปไม่มีวันแผ่วปลาย” มันเลยติดหูและฝังอยู่ในความทรงจำมากๆ)

ผมเลือกจะไปดู Digimon Adventure : Last Evolution – Kizuna โดยไม่ได้หาข้อมูลเกี่ยวกับดิจิมอนทบทวนมาก่อน ซึ่งเอาเข้าจริงสำหรับการดูภาค Movie นี้แค่จำได้คร่าวๆ ก็เพียงพอแล้ว และผมพบว่า ตัวหนังก็ทำมาเพื่อให้คนทั่วไปวัย 25-30 อัพที่เคยดู Digimon ในวัยเด็กได้กลับมาหาเพื่อนคนนี้อีกครั้ง (แฟนพันธุ์แท้น่าจะอินในทุกรายละเอียดที่ใส่มา) ต้องบอกว่าคนเขียนบทฉลาดที่โฟกัสเฉพาะ 2 ตัวเอกที่เราคุ้นเคยอย่าง “ไทจิ” และ “ยามาโตะ” กับดิจิมอนคู่หูของพวกเขาอย่าง “อากูมอน” และ “กาบูมอน” ขณะที่ตัวละครตัวอื่นๆ ที่เราอาจต้องระลึกชาตินิดนึงว่าคือใครหว่า ก็ไม่ได้ถูกเล่าเยอะ เช่น พวกตัวเอกรุ่นสองในทีวีซีรีส์ภาคต่อ Digimon Adventure 02 ที่โผล่มาเป็นน้ำจิ้มเฉยๆ และตัวละครสำคัญในหนังที่เหลืออย่างตัวร้ายก็เป็นตัวละครใหม่ที่สร้างขึ้นมาในภาคนี้เท่านั้น จึงไม่ต้องกลัวเลยว่าจะดูแล้วงง

การที่ไทจิและยามาโตะโตเป็นหนุ่มและกำลังจะก้าวไปเป็นผู้ใหญ่นั้น ทำให้คนที่ดูภาคแรกในยุคที่มันฉายมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองได้สุดๆ เพราะต่างก็ผ่านช่วงเวลานั้นกันมาแล้ว ไทจิและยามาโตะกำลังอยู่ในมหา’ลัยปีสุดท้าย พวกเขาต่างอยู่ในความสับสนกับทางเลือกในชีวิต ไทจิที่ยังเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ไม่ได้ หาที่ฝึกงานไม่ได้ ไม่รู้ว่าตัวเองจะทำงานอะไรดี ขณะที่ยามาโตะที่อาจจะพร้อมกว่าแต่ก็ยังไม่มั่นใจในตัวเองว่าจะเดินไปทางไหน คนรอบข้างก็ยังมองว่าเขาเป็น “เด็กที่ถูกเลือก” ผู้กอบกู้โลกไว้หลายครั้ง ไม่ใช่ยามาโตะที่เป็นผู้ใหญ่แล้วและต้องใช้ชีวิตแบบคนปกติ ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ต้องไปเรียน ไปทำงานพาร์ตไทม์ เข้าสังคมมหา’ลัย ทำให้ทั้งคู่ไม่มีเวลาให้ดิจิมอนคู่หูของตัวเองนัก มาถึงตรงนี้คงจะเห็นความคล้ายกันกับสิ่งที่ผมเขียนไปในย่อหน้าแรก  เพียงแค่ช่วง 10 กว่านาทีแรกของหนังที่เล่าชีวิตของไทจิและยามาโตะก็ชัดมากๆ แล้วว่า หนังในภาคนี้ต้องการสื่อสารสิ่งใดกับคนดู

ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ต้องไปเรียน ไปทำงานพาร์ตไทม์ เข้าสังคมมหา’ลัย ทำให้ทั้งคู่ไม่มีเวลาให้ดิจิมอนคู่หูของตัวเองนัก มาถึงตรงนี้คงจะเห็นความคล้ายกันกับสิ่งที่ผมเขียนไปในย่อหน้าแรก เพียงแค่ช่วง 10 กว่านาทีแรกของหนังที่เล่าชีวิตของไทจิและยามาโตะก็ชัดมากๆ แล้วว่า หนังในภาคนี้ต้องการสื่อสารสิ่งใดกับคนดู

ในภาคนี้ก็ยังคงใช้พล็อตหลักตามสูตรของอนิเมะดิจิมอน เริ่มจากมีดิจิมอนตัวร้ายออกอาละวาดแล้วทำให้เด็กผู้ถูกเลือกที่มีอยู่มากมายทั่วโลกนั้นถูกชิงสติสัมปชัญญะจนหมดสติอยู่ในอาการโคม่า ไทจิและเพื่อนๆ จึงต้องต่อสู้เพื่อแก้ไขวิกฤติอีกครั้ง แต่เงื่อนไขที่สำคัญมากของภาคนี้คือ ยิ่งไทจิและยามาโตะทำการวิวัฒนาการดิจิมอนของพวกเขาเพื่อต่อสู้มากเท่าไหร่ เวลานับถอยหลังในการจากลาระหว่างดิจิมอนและพวกเขาก็ยิ่งจะเร็วขึ้น และเมื่อเวลาหมด ดิจิมอนคู่หูของเขาจะหายไปตลอดกาล โดยตัวหนังให้เหตุผลไว้ว่า การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของเด็กผู้ถูกเลือกนั้นพอยิ่งเจอกับกำแพงที่เรียกว่าความเป็นจริง ซึ่งทางเลือกในชีวิตไม่ได้มีมากหรือกระทั่งเลือกไม่ได้ (ต่างกับตอนยังเด็กที่ความเป็นไปได้และทางเลือกนั้นยังไร้ขีดจำกัดอยู่) ก็จะทำให้สายสัมพันธ์ที่มีกับดิจิมอนคู่หูค่อยๆ หายไป และเมื่อใดที่มันขาดสะบั้น ก็จะทำให้ตัวตนของดิจิมอนหายไป (Kizuna ที่เป็นคำท้ายชื่อภาคนั้นหมายความว่า สายสัมพันธ์) มันเป็นเงื่อนไขที่โหดร้ายสำหรับไทจิและยามาโตะว่าพวกเขาจะสู้ต่อหรือไม่ เพราะยิ่งสู้ก็จะยิ่งร่นเวลาการจากลามาเร็วขึ้นเรื่อยๆ ไทจิกับยามาโตะก็เลยตั้งคำถามกับความจริงอันโหดร้ายว่า “ถ้าอย่างนั้นเขาจะโตไปทำไม?”

และเป็นตัวร้ายของภาคที่ได้ให้คำตอบนี้กับตัวเองว่า “งั้นก็ไม่ต้องโตสิ จะได้ไม่ต้องจากลาและอยู่ด้วยกันตลอดไป” (มีการอ้างอิงถึง “เนเวอร์แลนด์” จากเรื่อง Peter Pan ซึ่งเป็นดินแดนที่เด็กไม่มีวันโตเป็นผู้ใหญ่) เป็น dilemma ที่ไทจิ ยามาโตะ รวมถึงคนดูต้องคิดใคร่ครวญ ซึ่งไทจิและยามาโตะได้คำตอบอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องที่เดายากนัก เอาเข้าจริงเหตุผลของตัวร้ายก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะทุกทางเลือกในการเติบโตของเรามันทิ้งบางอย่างไว้ข้างหลังจริงๆ (อย่างผมที่ทิ้งช่อง 9 การ์ตูนไป) หรือถ้าเทียบความสัมพันธ์ของเด็กและดิจิมอนก็นึกเชื่อมโยงง่ายๆ กับการมีสัตว์เลี้ยงก็ได้ ตอนผมเรียนมหาวิทยาลัยผมก็ตัดสินใจไปอยู่หอแทบไม่กลับบ้าน รู้ตัวอีกทีหมาที่รักมากซึ่งผมเลี้ยงดูแลโตมากับมือก็ป่วยและตายจากไปโดยที่ผมไม่ได้อยู่ดูใจมันด้วยซ้ำ ผมเองยังอดนึกเสียใจไม่ได้เลยว่า ทำไมไม่ใช้เวลาอยู่กับมันและดูแลมันมากกว่านี้ แต่เรื่องที่เราตัดสินใจไปแล้วย่อมย้อนกลับมาไม่ได้  การตัดสินใจครั้งสุดท้ายของไทจิและยามาโตะก็เช่นกัน ต้องขอบคุณผู้สร้างที่ซื่อสัตย์ในสิ่งที่ตัวเองจะสื่อสาร ไม่เอาใจคนดูจนเกินไป   

ผมเองเพิ่งมารู้มาเมื่อไม่กี่ปีก่อนถึงความหมายของเพลงเปิดในตำนานอย่าง Butterfly ผมเคยเอะใจว่าทำไมถึงเป็นผีเสื้อ เนื่องจากตัวเนื้อเพลงว่าด้วยการกางปีกบินไปสู่ความฝันนั้นจะเป็นนกหรือสัตว์มีปีกอะไรก็ได้ ทำไมต้องเป็นผีเสื้อ? จนกระทั่งเมื่อ 4 ปีก่อน คุณ Koji Wada ผู้ขับร้องเพลงนี้ได้เสียชีวิตลงเพราะโรคมะเร็ง เพลงนี้ก็ถูกนำมาฟังและพูดถึงอีกครั้งและมีคนนำเกร็ดมาบอกว่า ที่เขาเลือกใช้ผีเสื้อก็เพราะมันตอบกับธีมหลักของอนิเมะเรื่องนี้ที่ว่าด้วยการเติบโตและวิวัฒนาการ

สายสัมพันธ์ของเด็กผู้ถูกเลือกและดิจิมอนคู่หูนั้น เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ดิจิมอนของเขาจะวิวัฒนาการกลายเป็นร่างใหม่ที่แข็งแกร่งขึ้น สง่างามขึ้น เหมือนกับผีเสื้อที่เปลี่ยนจากหนอนสู่ดักแด้และกลายเป็นผีเสื้อกางปีกออกโบยบินไปในท้องฟ้าในที่สุด  ตัวหนังภาคนี้ก็ยังคงใส่สัญลักษณ์ผีเสื้อมาไว้ตลอดเพื่อตอกย้ำธีมของเรื่องครั้งสุดท้ายกับคนดูที่โตขึ้นมาแล้ว การเติบโตและวิวัฒนาการครั้งสุดท้ายของไทจิ ยามาโตะ อากูม่อน และ กาบูม่อน จึงงดงามมากๆ

ฉากสุดท้ายของเรื่องเป็นการบอกลาแฟรนไชส์นี้กับคนดูอย่างสวยงามหมดจด คำพูดของอากูมอนที่ว่า “ไทจิโตขึ้นแล้วนะ” ก็เป็นการที่ Digimon Adventure บอกความในใจและปลอบโยนคนดู การเติบโตทำให้บางสิ่งบางอย่างหายไปก็จริง แต่ทำให้เราแกร่งขึ้นและแบกรับการจากลาเพื่อก้าวต่อไปได้  เพราะไม่มีอะไรที่ตายจากเราไปจริงๆ หรอก มันจะอยู่ในตัวเราและเป็นส่วนหนึ่งของเราตลอดไป เช่นเดียวกับอนิเมะเรื่องนี้ที่นึกถึงเมื่อไร ท่อน Intro ของเพลง Butterfly ก็จะดังขึ้นในใจเสมอ

RELATED ARTICLES