Home Interview จากจุดเริ่มต้น…ถึง ‘ปรากฏการณ์’ ในชีวิตคนทำหนังของ “ต้น โก๋แก่”

จากจุดเริ่มต้น…ถึง ‘ปรากฏการณ์’ ในชีวิตคนทำหนังของ “ต้น โก๋แก่”

จากจุดเริ่มต้น…ถึง ‘ปรากฏการณ์’ ในชีวิตคนทำหนังของ “ต้น โก๋แก่”

หากคุณลองค้นหาชื่อ ‘ต้น – จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์‘ ทางอินเทอร์เน็ต คุณจะพบว่าเขามีถึง 2 สถานะ หนึ่งคือการเป็นผู้บริหารที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์ขนมชื่อดังอายุกว่า 50 ปีของไทยอย่าง “โก๋แก่” และอีกสถานะของเขาคือการเป็นคนทำหนัง

ในฐานะของคนทำหนัง จุมภฏก่อตั้งคณะทำหนังแบบบ้าน ๆ ในนาม ‘โก๋ฟิล์ม’ ที่เริ่มต้นจากการชักชวนพนักงานใน ‘โรงงานแม่รวย’ มาเป็นทีมงาน จนกลายเป็นโปรเจ็กต์รวมหนังสั้น ‘มันส์…ทำเรื่อง!’ ในปี 2009 และเริ่มขยับสเกลมาร่วมงานกับคนทำหนังสั้นอิสระรุ่นใหม่ใน ‘Surreal เกมส์พลิก / โชคชะตาเล่นตลก / รักตาลปัตร’ ในปี 2014

สิ่งที่จุมภฏแสดงออกอย่างชัดเจนมาตั้งแต่แรกเริ่ม คือความขบถอยากทำหนังที่หาได้ยากในพื้นที่ปกติของหนังไทยทั้งกระแสหลักและนอกกระแส โดยเฉพาะความหลงใหลใน Cult Film ที่มีมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ต่างประเทศ นั่นทำให้โปรเจ็กต์ที่ผ่านมาของเขาล้วนมีรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว 

และในภาพยนตร์เรื่องล่าสุด ‘Resemblance ปรากฏการณ์’ ซึ่งเป็นหนังยาวเรื่องแรกและเป็นการกำกับเดี่ยวแบบเต็มตัวครั้งแรกของเขา เราพบความน่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะการได้ทีมงานเบื้องหลังระดับท็อปของวงการหนังไทยมาร่วมประกอบสร้างจนกลายเป็นหนังแปลกใหม่แบบที่จุมภฏไม่เคยทำมาก่อน โดยทั้งหมดยังคงคอนเซปต์ความเป็นตัวของจุมภฏ ที่แรง โป๊ ตรงไปตรงมา ท้าทายให้ผู้ชมได้มาลองพิสูจน์ผลงานของเขาอีกครั้ง

จากวรรณกรรม (อีโรติก) กลายเป็นหนัง

ย้อนไปเมื่อครั้งทำ ‘Surreal’ มีตอนหนึ่งของหนังเรื่องนี้ที่มีชื่อว่า ‘ความรักทำให้ฝรั่งตาบอด’ เล่าเรื่องของสาวทรานส์ข้ามเพศผู้กลัวว่าแฟนหนุ่มชาวต่างชาติจะจับได้ว่าเธอไม่ใช่ผู้หญิงแท้ ๆ ซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่องสั้น ‘มนุษย์แห่งอารมณ์’ ของ 10 เดซิเบล

เมื่อมาถึง ‘Resemblance ปรากฏการณ์’ จุมภฏก็เริ่มต้นจากการมองหาวรรณกรรมไทยที่สอดคล้องกับธีมหรือเรื่องราวที่เขาต้องการเล่าอีกเช่นกัน จนได้มาพบ ‘นอนใต้ละอองหนาว’ นวนิยายขนาดสั้นของ คุ่น – ปราบดา หยุ่น ซึ่งเล่าเรื่องราวพฤติกรรมทางเพศสุดประหลาดที่ติดต่อเหมือนโรคระบาดไปยังกลุ่มหนุ่มสาวทั่วโลก โดยงานชิ้นนี้เป็นครั้งแรกที่ปราบดาทดลองเขียนงานในแนวอีโรติกด้วย

จุมภฏเล่าถึงความสนใจในการนำวรรณกรรมมาทำเป็นหนังว่า “ย้อนไปตอน Surreal ไม่เชิงเป็นการหยิบเรื่องสั้นมาทำเสียทีเดียว จะเป็นการนำมาเป็นแรงบันดาลใจเริ่มต้นของตัวเรื่องมากกว่า แต่ใน Resemblance มันคือการดัดแปลงจากหนังสือเป็นหลัก ซึ่งเมื่อลองอ่านดูแล้วเราชอบแก่นของมันมาก ๆ แต่ตัวเรื่องมีความล่องลอยระดับหนึ่ง ไม่ได้เล่าเรื่องทุกอย่าง”

“ตอนอ่านก็รู้สึกว่า เอ๊ะ! ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็เลยนัดไปนั่งคุยกับพี่คุ่น ถามแกว่าเบื้องหลังไอเดียในการเขียนเรื่องนี้คืออะไร แกก็เล่าเรื่องทฤษฏี Transcendentalism ให้ฟัง พูดถึงเรื่องมนุษย์ติดต่อกับธรรมชาติ มนุษย์กลับเข้าสู่ธรรมชาติ ธรรมชาติมีการสื่อสารกับคน ที่ทั้งหมดถูกเล่าผ่านนิยายอีโรติกเรื่องนี้ ซึ่งผมชอบมาก ก็เลยเอาเรื่องราวในนิยายมาเป็นแก่นของหนังเรื่องนี้”

‘นอนใต้ละอองหนาว’ ถูกดัดแปลงมาเป็นบทใน Resemblance ว่าด้วยตัวละคร โจ (เจจินตัย อันติมานนท์) ตำรวจผู้ออกตามสืบคดีคนหายตัวลึกลับหลายรายที่เกิดขึ้นอย่างไร้ร่องรอย เบาะแสเดียวที่เขามี คือ บ๊อบบี้ (อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม) ชายต่างชาติรูปงามที่มักอยู่ร่วมกับคนที่หายสาบสูญไปเป็นคนสุดท้าย

เมื่อจุมภฏได้แกนบทของ Resemblance มาแล้ว เพื่อให้เรื่องราวสมบูรณ์ขึ้นเขาจึงมองหางานเขียนมาเติมมิติให้แก่เรื่อง และก็ได้พบกับ ‘สนไซเปรส’ นิยายของ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ นักเขียนรุ่นใหม่ที่เคยมีผลงานเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์มาแล้ว

จุมภฏพูดถึงวิธีการพัฒนาบทหนังเรื่องนี้ว่า “พอเป็นหนังยาว เราเลยต้องการเรื่องอีกส่วนหนึ่งที่จะมาเป็นซับพล็อตของหนัง หาไปหามาก็ไปเจอ ‘สนไซเปรส’ สำหรับเรามันมีกลิ่นของความอีโรติกอยู่นิด ๆ ก็เลยตัดสินใจเอาทั้งสองเล่มมารวมเป็นบทหนังเรื่องนี้ซึ่งถ้าได้อ่านเทียบกันก็จะพบว่าตัวหนังจริง ๆ ไม่เหมือนหนังสือทั้งสองเล่มเสียทีเดียว คือเทียบแล้วหนังอาจจะเหมือนหนังสือพี่คุ่น 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนของ ‘สนไซเปรส’ คือเป็นการดัดแปลงไปจากเดิมเลย ซึ่งส่วนนี้ก็เกิดมากจากที่เราได้คุยกับจิรัฏฐ์แล้วไอเดียก็พัฒนามา และเราก็ได้จิรัฏฐ์มาร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย” 

เส้นเรื่องรองของ Resemblance เล่าถึงชีวิตของนางแบบสาว ปาณนา (ไพลิน-ไพลินธิรา โคลเล็ค) หนึ่งในเหยื่อที่หายตัวไปอย่างลึกลับ โดยหลังจากได้พบกับบ๊อบบี้เธอก็เกิดความรู้สึกประหลาด คืออาการกระหาย “น้ำ” ของชายหนุ่มแปลกหน้าอยู่ตลอดเวลา!

หนัง “อีโรติก + ไซ-ไฟ” ?

จุดร่วมอย่างหนึ่งในหนังของจุมภฏคือการพูดเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา เช่นเดียวกับใน Resemblance ที่เต็มไปด้วยฉากเซ็กส์ระดับจัดเต็มเท่าที่จะทำได้ภายใต้เรตติง “ฉ 20+” 

“จำได้ว่าช่วงที่กำลังจะทำเรื่องนี้ ในไทยก็มีหนังแบบ Shame (2011, สตีฟ แม็ควีน) ฉายอยู่ และเราก็ได้ดูหนังฝรั่งเศส เช่น งานผู้กำกับ หลุยส์ มาลล์, แคลร์ เดอนีส์ หรือ แคทเธอรีน เบรลญาต์ ซึ่งพูดเรื่องเซ็กส์ได้อยากปกติมาก ๆ ทำให้เราคิดว่าทำไมบ้านเราถึงไม่เสรีอย่างนี้ ทำไมเราฉาย Shame ได้ แต่ไม่มีใครกล้าทำหนังแบบ Shame และหนังแนวอีโรติกที่ผ่านมาในบ้านเรานั้น ผมดูแล้วก็ไม่มีอะไรถูกใจเลย มันไม่สามารถสร้างฉากเซ็กส์ที่สมจริงได้ ต้องทำภาพหลบ ๆ ซ่อน ๆ ผมรู้สึกว่าไม่ใช่ นอกจากนั้นตัวผมก็ยังชอบหนังของ คิมคีด็อก ซึ่งเป็นคนทำหนังที่ผมรู้สึกว่าพูดตรง ไม่ได้มองโลกสวย ผมก็เลยเอา 2 สิ่งนี้ ทั้งความอีโรติกแบบหนังฝรั่งเศส กับความตรงไปตรงมาของคิมคีด็อก มาผสมกัน”

ในการกำกับฉากเลิฟซีน จุมภฏจึงเน้นเรื่องความสมจริงซึ่งท้าทายเหล่านักแสดงที่มาร่วมงานด้วยอย่างยิ่ง “ตอนแรกที่เราให้นักแสดงมาเจอกัน สิ่งแรกที่ผมทำก่อนเลยคือบอกนักแสดงทุกคนว่า หนังเรื่องนี้ผมขอจูบจริงนะ จูบแลกลิ้นแบบ french kiss และฉากเซ็กส์ก็ต้องดูเหมือนจริง เราบอกกับเขาตั้งแต่วันที่มาเวิร์กช็อปด้วยกัน ก็ให้เขาฝึกจูบจริง ๆ ให้เขาจูบจนชิน อย่างพี่เจจินตัยบอกว่าเล่นหนังไทยมาหลายเรื่องแล้ว ไม่เคยมีเรื่องไหนที่ได้จูบจริงๆ หรือแอ็ติ้งในฉากเซ็กส์เรียล ๆ จริง ๆ มาก่อน เราก็บอกว่า ก็ทำให้มันชินซะ เดี๋ยวมันก็ไปกันได้ เข้าฉากก็ไม่อายกัน”

ขณะเดียวกัน Resemblance ก็เพิ่มเติมจุดที่ทำให้มันแตกต่างจากงานที่ผ่านมาของจุมภฎ นั่นคือการเป็นหนังแนวไซ-ไฟที่เขาไม่เคยทำมาก่อน “หนังแนวไซ-ไฟมันก็ไม่ได้มีมานานแล้วในตลาดไทย และเราอยากจะทำไซ-ไฟที่นำความเป็นอีโรติกอีกที เพราะ Resemblance มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติที่กำลังสื่อสารอะไรบางอย่างกับตัวเราอยู่ …คือหนังไซ-ไฟที่ผมชอบมันจะเป็นแนวออกสัตว์ประหลาดหน่อย ๆ อย่างเรื่อง Pan’s Labyrinth (2006) ของ กิเยร์โม เดล โตโร หรือ Moon (2009, ดันแคน โจนส์) ซึ่งมีบรรยากาศของธรรมชาติที่กำลังเล่นตลกกับมนุษย์อยู่”

และด้วยความเป็นหนังไซ-ไฟ ทำให้ Resemblance มีฉากที่ต้องใช้เทคนิคพิเศษหลายฉาก ส่งผลให้งานสร้างของหนังใหญ่ขึ้นจนแม้แต่จุมภฏเองก็คิดไม่ถึง “หมดเงินหลายล้านเลยกับงานซีจีเรื่องนี้ คือมันนับเป็นนาทีเลย compose ยิ่งเหมือนยิ่งแพง แต่เราก็รู้สึกสนุกไปกับมันเพราะซีจีมันรองรับสิ่งที่เราคิด ภาพก็ได้อย่างที่เราคิดด้วย”

หนังที่ไม่อาร์ต ด้วยคนเบื้องหลังระดับโลก

หลายคนอาจจะพอทราบว่า ตัวจุมภฏในนามโก๋ฟิล์มนั้นเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนคนทำหนังอิสระไทยมายาวนาน นั่นทำให้ตัวเขารู้จักกับคนทำงานเบื้องหลังของไทยเป็นอย่างดี โดยใน Resemblance นี้เขาก็ได้รับคำแนะนำจาก ทองดี -โสฬส สุขม โปรดิวเซอร์หนังอิสระ ให้ลองมาร่วมงานกับ ลี ชาตะเมธีกุล นักตัดต่อหนังชื่อดังของไทย ส่งผลให้หนังเรื่องนี้ออกมาแตกต่างจากสิ่งที่จุมภฏเคยทำแบบสิ้นเชิง

“จริง ๆ ตอนเรื่อง Surreal พี่ลีก็มาดูภาพรวมให้นะ แต่ไม่ได้ลงมาตัดต่อเอง ต้องบอกก่อนว่าหนังเรื่องนี้ถ่ายทำเสร็จนานแล้ว คือหลังจากเรื่อง Surreal เราใช้เวลาประมาณหนึ่งปีถ่ายทำเรื่องนี้ จนเราไปเจอกับพี่ทองดี เขาก็ถามไถ่ตามปกติว่าหนังเป็นไงบ้าง เราก็เล่าไป ตอนนี้ถ่ายอนันดาครับพี่ ทุกอย่างดูโอเค ราบรื่นมาก ผ่านจบหมดแล้ว เนี่ยพี่…งบประมาณเท่านี้โอเคไหม บอกตัวเลขได้เลยนะพี่ ผมทำไปเกิน 10 ล้านแล้วนะพี่ พี่ทองดีก็ตอบกลับมาว่า ต้น…งบธรรมดา งบแค่นี้ถูกมาก คุณต้นอยากลองให้หนังไปไกลมากกว่านี้ไหม ลองให้พี่ลีตัดต่อดูสิครับ คือพี่ทองดีใช้คำนี้เลยนะ ตัดต่อโดยผ่านตาคนอื่น เขาไม่รู้หรอกว่าโปรดักชั่นหนังของเราเป็นยังไง อะไรถูกอะไรแพง เอาสิเราก็อยากลองดู เพราะว่าตอนนั้นก็เป็นช่วงที่กำลังจะเก็บเงินเพื่อโปรโมทหนังอยู่ ก็ไม่ได้รีบอะไรอยู่แล้ว ก็เลยตัดสินใจให้พี่ลีตัดหนังเรื่องนี้ให้”

“แล้วด้วยความคิวทองของพี่ลี คือยุ่งมากงานแน่น นัดเจอก็ยาก ปรากฏว่าพี่ลีเงียบไปเลยปีครึ่ง จนเราลองโทรไปถามที่ออฟฟิศ Whitelight ว่าเป็นไงบ้าง คนที่ออฟฟิศก็บอกว่าพี่ลีติดหนังอีกเรื่องนึงอยู่อีก 1-2 เดือน ก็จะมาต่องานคุณต้นแล้ว เราก็รอไป”

“จนกระทั่งเสร็จ draft แรกออกมา พอเห็นหนังเท่านั้นแหละ มันเหมือนชีวิตใหม่เลย มันเล่าเรื่อง 1 + 1 ไม่ใช่ 2 มันเล่าอย่างนี้ ตัด สลับ คัต ชน ผมว่าแกเทพมาก คือเชื่อไหมว่าบางทีไปนั่งอยู่กับแก ฟุตบางอันแกจำได้ว่าอยู่ตรงไหน แกจำได้ว่าไม่รู้มีอยู่กี่ร้อยกี่พันฟุต คล้าย ๆ ว่าแกมีภาพในหัวที่เอามาประกอบกัน เก่งมากเลย แล้วทำให้หนังเล่าเรื่องทางใหม่ โอ้โห! แฮปปี้เลย จาก draft cut ยาว 2 ชั่วโมงกว่า สุดท้ายเหลือ 1 ชั่วโมง 40 นาที ไอ้ที่ถ่ายมาแพง ๆ พี่ลีก็ตัดทิ้งหมด (หัวเราะ) กลายเป็นว่าหลังจากเรื่องนี้ เรื่องใหม่ที่กำลังทำผมก็ให้พี่ลีตัดเหมือนเดิม คือติดใจไปแล้ว คุ้มค่ากับที่เรารอ”

นอกจากลี ชาตะเมธีกุลแล้ว Resemblance ยังได้ ริศ – อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร ซาวด์เอนจิเนียร์ชื่อดังมาร่วมงานด้วย 

“พี่ริศก็คือแพ็คคู่มากับพี่ลีเลย จากคำแนะนำของพี่ทองดีเช่นกัน ตอนแรกเราก็สงสัยอยู่เหมือนกัน ด้วยความที่พี่ริศทำหนังกับพี่เจ้ย (อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล) มา คือต้องบอกก่อนว่าผมเป็นคนที่ดูหนังพี่เจ้ยทุกเรื่องนะ แต่ก็คิดว่าซาวด์แบบหนังพี่เจ้ยอาจจะไม่ได้เหมาะกับหนังของเรา คือหนังเราไม่ได้อาร์ตอย่างนั้นและก็ไม่ได้ประหลาดซะทีเดียว ทำให้ตอนบรีฟกับพี่ริศเลยบอกว่าไม่อยากให้มันเนิบมาก ก็เน้นย้ำเรื่องพวกนี้ ซึ่งเรื่องไอเดียเกี่ยวกับซาวด์หรือดนตรีประกอบ เราบรีฟไปกับพี่ลีว่า เราอยากได้ซาวด์แบบ คลิฟ มาติเนซ แนวแบบหนัง The Neon Demon (2019, นิโคลัส เวนดิง เรเฟน) มีความเป็นอิเล็กทรอนิกส์ มีความไซ-ไฟ มีซาวด์ของยุค 90’s หน่อยๆ ซึ่งพี่ลีก็ตัดต่อและวางไกด์ไลน์ดนตรีลักษณะนั้นมาให้ จนมาถึงพี่ริศ เราก็บรีฟเพิ่มกับพี่เขาอีกที โดยเฉพาะช่วงท้ายเรื่องที่มันเป็นช่วงเข้าป่า เราก็ขอซาวด์แบบธรรมชาติ ๆ อย่างที่พี่ริศถนัดทำในหนังพี่เจ้ย”

จากจุดเริ่มต้น จนถึงวันนี้ในฐานะ “คนทำหนัง”

ในเครดิตท้ายเรื่องของ Resemblance จุมภฏแสดงความไว้อาลัยแก่ Atsuhiko Kameyama เพื่อนชาวญี่ปุ่นผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นคนสำคัญที่ผลักดันให้ตัวเขาได้มาทำหนังแบบทุกวันนี้

“เป็นเพื่อนสมัยเรียน ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว และเขาก็เป็นเพื่อนคนเดียวเลยนะ คือสมัยที่ผมเรียนที่ฝรั่งเศส เขาเป็นเพื่อนที่ชวนเราไปดูเรื่อง Night on Earth (1991, จิม จาร์มุช) เป็นคนที่ซัพพอร์ตเราตลอดเวลา และเขาก็เคยพูดให้กำลังใจเราว่า เฮ้ย…ทอม วันหนึ่งยูต้องมีหนังเป็นของตัวเอง ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดเรื่องทำหนังหรอก เขาก็พูดประมาณนี้ เราก็คิดถึงเขานะ เราเคยบอกว่าถ้าวันไหนที่หนังเราเสร็จเขาจะได้ดู แต่เขาก็จากไปซะก่อน ผมรู้สึกว่าถ้าหนังเรื่องนี้ได้ฉาย ผมคงจะเรียกเขามาดู แต่เขาก็ไม่อยู่ดูแล้ว

“ช่วงไปเรียนที่ฝรั่งเศสมันเปิดโลกเรามากเลยนะ แล้วหนังฝรั่งเศสก็เยอะมาก ได้ดูหนังแบบ The Big Blue (1988, ลุก แบซง), Damage (199, หลุยส์ มาลล์) หรือหนังชุด Three Colours Trilogy ของเคียสลอฟสกี ก็เข้าช่วงนั้นเลย คือได้ดูในโรงแล้วแม่งสุดตีนมาก ๆ  มันเปิดโลกเรามาก ๆ เลย แต่มันก็เป็นหนังแนวฝรั่งเศสอยู่

 “ปรากฏว่าช่วงนั้นเริ่มมีกระแสหนังอินดี้อเมริกันเข้ามาแล้ว ในยุคเดียวกันก็มี Reservoir Dogs (1992, เควนติน ตารันติโน) มีหนังจิม จาร์มุช เราก็ดูไปเรื่อย มีอะไรก็เอามาบ่นให้เพื่อนคนนี้ฟัง มีครั้งหนึ่งเราบ่นกับเขาว่า เราเบื่อหนังใหญ่ๆ แนวอีพิก ดูแล้วง่วงนอน เราชอบดูหนังที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่ก็นึกไม่ออกว่าจะเทียบกับหนังอะไร เขาก็เลยบอกเราว่า งั้นยูลองไปดู Night on Earth รับรองชอบแน่นอน ออกมาจากโรง…ใช่เลย! มันเป็นหนังที่ เฮ้ย! ถ่ายง่ายมาก แท็กซี่คันนึงมันก็ถ่ายเป็นหนังได้ เราก็ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไรอย่างนี้เหมือนกัน เป็นโมเมนต์แรกที่รู้สึกว่า เฮ้ย! กลับไปเมืองไทยเรียนจบแล้วจะเอากล้องมาทำหนัง ก็ได้จากหนังเรื่องนี้แหละ”

กว่า 10 ปีที่จุมภฏทำหนังด้วยใจรัก โดยใช้เวลาว่างจากงานประจำ จากจุดเริ่มต้นในการทำหนังสั้น จนมาถึงการทำหนังขนาดยาวเรื่องนี้ ทำให้เขาเข้าใจและค้นพบวิธีการทำหนังในแบบที่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้มากที่สุด

“ทำไปทำมาผมรู้สึกว่าทำหนังสั้นยากกว่าหนังยาว หนังสั้นเวลาจำกัด ต้องทำอย่างไรให้สั้นและกระชับ เรารู้สึกว่าการทำหนังยาวมีอิสระกว่า เราสามารถดีไซน์จินตนาการหรือ control หรือเพิ่มได้ตามที่เรารู้สึกอยากจะทำ พอเรามีทีมที่โอเคแล้วก็รู้สึกว่าเราพอเข้าใจเวลาเล่าเรื่อง ที่เขาเรียกว่ากำลังพอดีพอควร ผมว่ามันไปด้วยกันหมดนะ”


ตัวอย่าง :

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here