Home Interview เจค วาชเทล ผู้กำกับจาก Karmalink (2021): ว่าด้วยความเป็นอเมริกันในกัมพูชา อดีตชาติ วัฏจักรแห่งการตายและการเกิด

เจค วาชเทล ผู้กำกับจาก Karmalink (2021): ว่าด้วยความเป็นอเมริกันในกัมพูชา อดีตชาติ วัฏจักรแห่งการตายและการเกิด

เจค วาชเทล ผู้กำกับจาก Karmalink (2021): ว่าด้วยความเป็นอเมริกันในกัมพูชา อดีตชาติ วัฏจักรแห่งการตายและการเกิด

เจค วาชเทล เล่าว่า สมัยเรียนเขาหมกมุ่นอยู่กับเรื่องจิตวิทยาและการทำงานของระบบประสาทกับสมอง พร้อมกันนั้นก็หลงใหลศาสตร์ของการทำหนังจนวาดฝันว่าอยากเข้าฮอลลีวูดเพื่อทำหนังสักเรื่องตามประสาอเมริกันชน

ความสนใจสองด้านของวาชเทลมาประสานกันในอีกสิบกว่าปีให้หลัง หากแต่มันอยู่ไกลจากฮอลลีวูด -อันที่จริงอาจจะพูดได้ว่าอยู่ไกลจากแคลิฟอร์เนีย, สหรัฐฯ อันเป็นบ้านเกิดของเขา- เมื่อเขากำกับ Karmalink (2021) หนังยาวเรื่องแรกที่เล่าถึงเหล่าผู้คนในพนมเปญ กัมพูชา กับเรื่องราวของอดีตชาติและการกลับมาเกิดใหม่อีกหนของมนุษย์ตามแนวคิดพุทธ ทั้งยังโลดโผนท้าทายเมื่อมันวางตัวเองเป็นหนังไซ-ไฟ เรื่องของ เลง เฮง (เลง เฮง ปรัก) เด็กชายจากสลัมที่ระลึกอดีตได้ว่าชาติก่อนเขาเคยเป็นโจรขโมยพระ ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดสุดขีดเมื่อบ้านของเขากำลังถูกไล่ที่ เขาจึงต้องหาทางขุดหาพระที่ตัวตนของเขาในชาติก่อนเก็บซ่อนไว้เพื่อนำมาช่วยเหลือทุกคนไม่ให้ต้องย้ายที่อยู่ และนี่เองที่นำพาเขาไปเจอกับนักประสาทวิทยา (สหจักร บุญธนกิจ) ผู้หมกมุ่นกับการเกิดและการตายอันไม่รู้จบของมนุษย์

พูดก็พูด ชายชาวอเมริกันผู้ร่ำเรียนด้านการทำงานของระบบประสาท มาทำหนังที่สำรวจความเป็นไปของมนุษย์ผ่านแนวคิดแบบพุทธ ทั้งเรื่องราวทั้งหมดยังเกิดขึ้นในพนมเปญ ฟังแล้วคล้ายว่าจะไม่มีอะไรเชื่อมโยงกัน แต่นั่นคือสิ่งที่วาชเทลกอรปสร้างขึ้นมาเป็นตัวหนัง ซึ่งมองอีกด้านหนึ่ง ก็ผสมปนเปไปกับตัวตนในฐานะคนที่รักกัมพูชาอย่างสุดหัวใจ และหลงใหลในแนวคิดแบบโลกตะวันออกของวาชเทลอย่างปฏิเสธไม่ได้

ได้ยินมาว่าสมัยเรียน คุณเรียนด้านจิตวิทยามาก่อนซึ่งดูแทบไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการทำหนังเลย มันเกี่ยวข้องกับ Karmalink หนังของคุณยังไงบ้าง

สมัยอยู่มหาวิทยาลัย ผมเรียนด้านจิตวิทยาเพราะสนใจเรื่องการทำงานของสมองและภาวะต่าง ๆ ของระบบจิตใต้สำนึกมาก ๆ ซึ่งพอเรียนสายนี้มันทำให้ผมได้ศึกษากระบวนการทำงานอันหลากหลายของสมอง ส่วนอาจารย์ผมก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์และความทรงจำ (neuroscience of memory) ผมเรียนกับเขาและพบว่าตัวเองสนใจพื้นที่การเรียนรู้ตรงนี้มาก ๆ แต่ขณะเดียวกันนั้นก็สนใจศาสตร์อื่น ๆ ด้วย อย่างพวกพัฒนาการของสมองและการเรียนรู้ เช่น วิธีที่เด็กทารกทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลก หรือวิธีที่พวกเราเติบโตมาเป็นเรา ก่อร่างสร้างประกอบเป็นอัตลักษณ์ที่เราเป็นอย่างทุกวันนี้ 

อีกอย่างคือผมชอบทำงานกับเด็ก ๆ ด้วย ชอบสอนหนังสืออะไรทำนองนั้น แล้วก็ไม่ได้มองว่าความสนใจตรงนี้ของตัวเองต่างไปจากสิ่งที่เรียนสมัยมหาวิทยาลัย อันที่จริงมันออกจะคล้ายกันด้วยนะ อย่างแนวคิดของประสาทวิทยาที่สำรวจพัฒนาการของสมอง ยกตัวอย่างสมองของเด็ก ๆ ที่ซึมซับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้เหมือนฟองน้ำเลย ถ้าคุณให้เด็กเรียนภาษาใหม่ตอนพวกเขาอายุสัก 2-3 ขวบ เด็กคนนั้นจะเรียนรู้และพูดภาษาใหม่ได้ราวกับเป็นเจ้าของภาษาเลย สมมติคุณเรียนภาษาอังกฤษตอนสองขวบ คุณก็จะพูดได้เหมือนผมทุกประการ แต่ถ้าคุณเรียนภาษาใหม่ตอนเข้าวัยรุ่น สมองคุณก็ไม่ได้ซึมซับทุกอย่างรวดเร็วแบบตอนเด็กอีกแล้ว คุณจะเรียนรู้เรื่องบางอย่าง จำพวกสำเนียงของแต่ละภาษายากขึ้น 

ผมยกตัวอย่างเรื่องภาษาเพราะน่าจะเข้าใจได้ง่ายที่สุด แต่อันที่จริงก็เหมือนทุกอย่างที่เราต้องเรียนรู้นั่นแหละ ซึ่งถ้าถามว่ามันเกี่ยวกับหนัง Karmalink ยังไง เอาเป็นว่าถ้าเล่าละเอียดมันคงไปสปอยล์หนังแหลกลาญเลย (หัวเราะ) แต่จุดไคลแม็กซ์ของหนังมันใกล้เคียงกับแนวคิดเรื่องสมองอย่างที่ผมเล่ามา 

เรื่องตลกคือ ผมเรียนด้านประสาทวิทยามาใช่ไหม แล้วมาเป็นคนทำหนังจากนั้นก็เป็นคุณครูที่เกี่ยวกับการทำหนังในกัมพูชา และหนังเรื่องนี้ก็เป็นหนังเรื่องแรกที่ทำให้ผมได้กลับไปเป็นเนิร์ดที่หมกมุ่นเรื่องประสาทวิทยาอีกครั้งเพราะต้องหาข้อมูลมาทำหนังเยอะมากเลย คือผมชอบเรียนรู้เรื่องพวกนี้มาก ๆ แต่ก็ไม่ค่อยได้เอามันมาใช้เป็นการเป็นงานสักที จนต้องมาเขียนบทร่วมกับ คริสโตเฟอร์ ลาร์เซ็น นี่แหละ เลยต้องพาตัวเองขุดลงไปในเรื่องประสาทวิทยาเพื่อเอาข้อมูลมาใช้เขียนบท

แล้วตั้งแต่เมื่อไหร่ที่เริ่มสนใจความเป็นพุทธ

ผมโตมาในครอบครัวยิวซึ่งไม่มีวิธีคิดเรื่องการกลับชาติมาเกิด แต่ผมสนใจเรื่องศาสนาพุทธมาตั้งแต่ราว ๆ ปี 2005-2006 ว่าไปก็ครึ่งชีวิตแล้วล่ะ ครั้งแรก ๆ ที่ลองไปทำสมาธิก็ตอนอายุสัก 18 นี่แหละ 

การย้ายมาอยู่กัมพูชาทำให้ผมได้คุยกับผู้คนเรื่องอดีตชาติ ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้วมันเป็นเรื่องที่คุยได้ทั่วไปเลย แล้วก็ดูเจ๋งในสายตาคนอเมริกันอย่างผมมาก ๆ เพราะในสหรัฐฯ คนไม่คุยกันเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่ชาวกัมพูชาคุยเรื่องนี้กันอย่างเป็นปกติ ผมไม่แน่ใจว่าที่ไทยเป็นเหมือนกันไหม พวกเขาคุยเรื่องอดีตชาติว่าตายอย่างไร ทำไมจึงมาเกิดในชาตินี้ อะไรต่อมิอะไร ตัวผมเองก็สนใจประเด็นเรื่องประสบการณ์ต่าง ๆ ของมนุษย์ผ่านเรื่องเล่าเหล่านี้ และอยากจับจ้องสิ่งนี้เป็นพิเศษในหนังของผมด้วย

ถ้าอย่างนั้นคุณเริ่มสนใจการทำหนังตอนไหน

ผมหมกมุ่นกับการทำหนังมาตั้งแต่ยังเด็ก เคยไปงานเทศกาลหนังของฮิตช์ค็อคตอนเขามาจัดในเมืองที่ผมอยู่ แล้วการได้ดูหนังเหล่านี้มันน่าตื่นเต้นมากๆ กลับไปถึงบ้านผมเลยเอากล้องของพ่อแม่มาถ่ายหนังน้องสาวตัวเองด้วยสไตล์แบบฮิตช์ค็อค (หัวเราะ) แล้วจากนั้นก็ถ่ายอะไรเล่นกับเพื่อน ๆ มาเรื่อย ๆ จนโต เหมือนตอนนั้นก็มีเป้าหมายว่าสักวันจะเข้าไปฮอลลีวูด ไปเป็นผู้กำกับแล้วทำหนังสักเรื่องให้ได้

แต่พอผมอายุ 23 ปี ผมก็ออกเดินทาง แบกเป้แบ็คแพ็คก้าวออกมาจากโลกเล็ก ๆ ของตัวเอง ไปเจอผู้คนทั่วโลกกับวิถีชีวิตมากหน้าหลายตา จำความรู้สึกได้แม่นเลยว่าไม่อยากกลับไปสู่โลกใบเล็ก ๆ ของตัวเองอีกแล้ว และพอดีกับตอนนั้นก็เป็นครั้งแรกที่ผมมาถึงกัมพูชา ผมรักวัฒนธรรมที่นั่นมาก มันเหมือนที่ผมบอกว่าผมเรียนประสาทวิทยาเพื่อเรียนรู้ว่าเรากลายมาเป็นคนที่เราเป็นในปัจจุบันได้ยังไง สมองเราทำงานแบบไหน และการได้มาอยู่ในวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่งก็เป็นวิธีที่ทำให้เราได้เติบโตในทุก ๆ วันเพราะรายรอบตัวคุณนั้นมีแต่เรื่องแปลกใหม่ชวนท้าทาย 

สุดท้าย ผมทำหนังสารคดีร่วมกับ NGOs อยู่หลายปี ตระเวนไปนั่นมานี่ แล้วลงเอยที่การกลับมายังกัมพูชาอีกหนแล้วสอนผู้คนเรื่องการทำหนัง ระหว่างนั้นก็ทำมิวสิกวิดีโอ ทำหนังสั้นในกัมพูชาอีกเหมือนกัน หรือพูดอีกอย่างว่าก็สั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ 

ผมไม่เคยทำหนังยาวก็จริงอยู่ แต่คิดว่าประสบการณ์ในการทำหนังสารคดีก็หล่อหลอมมุมมองบางอย่างให้ผม เหมือนมันทำให้ผมรู้ว่าตัวเองอยากเล่าเรื่องแบบไหนน่ะ

ที่บอกว่าการทำหนังสารคดีทำให้คุณรู้ว่าตัวเองอยากเล่าเรื่องแบบไหน มันคืออะไร

อย่างที่บอกว่าผมออกเดินทางมาเยอะ ไม่ว่าจะในแอฟริกาใต้ บราซิล รวันดา บังกลาเทศ อินเดีย กัมพูชา เรื่องราวของทุกหนแห่งในโลกมักคล้าย ๆ กัน มีวัฒนธรรม มีชุมชน ผู้คนกลมเกลียวและเป็นหนึ่งเดียว เทียบกันกับวัฒนธรรมของตะวันตกที่ค่อนข้างเน้นความเป็นปัจเจกมากกว่า ตัวผมเองก็มาจากวัฒนธรรมตะวันตกก็เลยสนใจความแตกต่างนี้มากเลยชอบไปคุยกับคนนั้นคนนี้ ซึมซับเอาความหลากหลาย และพบว่ามันมีบางแง่มุมของการรวมกลุ่มแบบชุมชนที่ทำให้ผมรู้สึกถึงบางอย่าง เหมือนรู้สึกว่าตัวเองได้รับการต้อนรับที่ดีมาก ๆ ในการเดินทางมายังเอเชียอาคเนย์ บรรยากาศทุกอย่างแตกต่างไปจากสิ่งแวดล้อมที่ผมเติบโตที่อเมริกาโดยสิ้นเชิง เราไม่มีวัฒนธรรมรวมหมู่หรือการให้คุณค่าในเชิงความเป็นหนึ่งเดียวกัน พร้อมกันนี้ ผมก็เห็นว่ามันกำลังเปลี่ยนไปด้วยเพราะคุณค่าแบบตะวันตกก็เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่อื่น ๆ รวมทั้งกัมพูชาด้วยเช่นกัน

การได้เห็น ได้เป็นประจักษ์พยานความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในกัมพูชา เลยทำให้ผมอยากทำหนังที่เล่าประเด็นนี้มาก ๆ เป็นเรื่องที่อยู่ลึกลงไปและอาจไม่ได้เห็นได้โดยง่ายหรือผิวเผิน แต่ก็เป็นไอเดียสำคัญที่ผลักดันให้ผมอยากเล่าเรื่องราวที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม

อีกอย่างคือคุณเคยบอกว่าคุณได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมกระแสหลักเยอะ หนึ่งในนั้นคือนิยายเรื่อง Never Let Me Go หรือหนัง The Goonies (1985) และ Salaam Bombay! (1988)

ใช่ ๆ ผมเคยอ่านเวอร์ชั่นนิยายที่เขียนโดย คาซูโอะ อิชิงุโระ ตอนย้ายมากัมพูชาเพื่อสอนหนังสือ อ่านช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนสอนจบนี่แหละ ผมครุ่นคิดว่าถ้าเรื่องราวแบบในนิยายเรื่องนี้มันเกิดขึ้นในกัมพูชา มันจะให้ความรู้สึกยังไงนะ ผมเลยพยายามหยิบเอาไอเดียบางอย่างจากนิยายมาใส่ในหนังของตัวเอง กับอีกอย่างคือมันเป็นนิยายดิสโทเปียไซ-ไฟที่ก็พูดถึงการข้ามพ้นวัยของตัวละครด้วย 

ผมเลยอยากทำหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวเหล่านี้ แบบที่เป็นหนังไซ-ไฟแล้วมีหักมุม แต่ก็ยังจับจ้องไปยังความสัมพันธ์ของเด็ก ๆ ช่วงที่พวกเขาเติบโตขึ้นมาเพื่อพบเจอความจริงบางอย่างของโลกด้วย เหมือนข้ามผ่านความไร้เดียงสามาสู่ความเป็นผู้ใหญ่

อย่างเรื่อง The Goonies เป็นหนังผจญภัยที่ดังมากในยุค 80s มันว่าด้วยเรื่องเด็กๆ ที่พยายามไม่ให้ละแวกบ้านถูกรื้อถอนด้วยการออกหาสมบัติด้วยกัน ซึ่งเอาจริง ๆ เหมือนเราเอาพล็อตเขามาใช้เลยล่ะ (หัวเราะ) 

หนังมันน่ารักมาก คนดูหนังชาวอเมริกันส่วนใหญ่ก็รักหนังเรื่องนี้ แต่เมื่อคนดูอเมริกันนึกถึงเด็ก ๆ ในกัมพูชา พวกเขาจะคิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติเลยว่ากัมพูชานั้นแตกต่างจากอเมริกามากๆ อยู่ไกลลิบตา ความเป็นอยู่ก็คงลำบากซึ่งหลายคนก็รู้สึกเห็นใจและรู้สึกแย่ แต่พอผมมาอยู่กัมพูชา ได้สอนหนังสือเด็ก ๆ ผมก็พบว่าไม่เห็นเป็นแบบนั้นเลย เด็กก็คือเด็กเหมือนกันทั้งโลก ความรู้สึกที่ว่าคุณเห็นใจเด็ก ๆ เหล่านี้แต่ก็รู้สึกว่าพวกเขาช่างไกลตัวพวกคุณนั้นมันไม่ใช่หรอก พวกเขาไม่ได้ต่างอะไรจากเด็กที่อื่น ๆ เพราะงั้นผมเลยอยากใช้ The Goonies เพื่อเจาะเข้าไปในความรู้สึกของคนดูชาวอเมริกัน เพื่อให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับตัวเรื่อง กับเด็ก ๆ และสนุกไปกับตัวหนังได้น่ะ 

ส่วนเรื่อง Salaam Bombay ก็เป็นหนังที่ผมรักมากๆ แล้วก็ใช้นักแสดงเด็กที่ไม่ได้เป็นนักแสดงด้วย ถ่ายทำในบอมเบย์ ประเทศอินเดีย หนังมันให้ความรู้สึกเหมือนบอกเด็ก ๆ ว่าชีวิตคืออะไรอยู่เหมือนกัน และพร้อมกันนี้มันก็ฉูดฉาดมากด้วย

เข้าใจว่า Karmalink ใช้เวลาร่วมสามปีในการพัฒนาบท กว่าจะออกมาเป็นหนังอย่างที่เราดูนี่มันต่างจากดราฟต์แรกมากไหม

ผมฝึกทำสมาธิอยู่เป็นประจำ มักได้ไอเดียอะไรสักอย่างกลับมาเป็นประจำ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ได้ไอเดียมาแล้วกลับมาเขียนเป็นร่างแรกของหนังเลย แล้วก็ปลุกปล้ำกับสคริปต์นั้นด้วยตัวเองอยู่พักใหญ่ และรู้อยู่แก่ใจด้วยว่ามันไม่ดีพอจะเป็นบทหนังได้แน่ ๆ ผมจึงต้องการคนเขียนบทร่วมสักคนที่ช่วยทำให้สคริปต์นี้มันดีขึ้นไปอีกขั้น

เงื่อนไขคือ ใครล่ะที่จะเข้าใจสิ่งที่ผมจะสื่อ ใครจะเข้าใจกัมพูชา และจะต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ในการเขียนบทด้วย นั่นก็เป็นช่วงที่ผมไปเทศกาลหนังหลวงพระบางพอดี และได้เจอกับคริสที่นั่น เลยเอาสคริปต์ที่ผมเขียนเนี่ยไปให้เขาดู เขากลับมาพร้อมสารพัดไอเดียว่าจะจัดการทำให้มันเป็นบทหนังได้ยังไง เราเลยลองเขียนบทด้วยกันที่ลาวนั่นแหละ เขาเองเป็นชาวอเมริกันที่อาศัยในลาว แต่งงานกับ แม็ตตี โด (ผู้กำกับ Dearest Sister, 2016 และ The Long Walk, 2019) ที่ก็เป็นคนทำหนังในลาวเช่นกัน คริสนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ให้บทหนังเยอะมากและทำให้บทมันเปลี่ยนโฉมหน้าไปเลย ซึ่งผมว่าหัวใจสำคัญที่หนังนำเสนอก็มาจากกระบวนการเขียนบทเหล่านี้แหละ 

แล้วรู้ใช่ไหมครับว่ามันมีคำกล่าวกันว่า คนเราเขียนบทหนังขึ้นมาสามครั้ง คือตอนเขียนบทหนัง ตอนถ่ายทำ และตอนตัดต่อ ซึ่งผมบอกเลยว่าแต่ละครั้งมันก็มีการเปลี่ยนแปลงมหาศาลตลอดเวลา โดยเฉพาะตอนตัดต่อนี่แหละที่เปลี่ยนโครงสร้างหนังไปเลย เราอัดไดอะล็อกใหม่ (Automated Dialogue Replace-ADR) ระหว่างนี้ก็ดัดแปลงบทไปอีกเยอะเหมือนกัน เพราะเราลองฉายหนังไปหลายรอบเหมือนกัน เลยได้เห็นว่าคนดูมีท่าทีต่อหนังยังไง เราเลยต้องกลับมาคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีแล้วหรือยัง มีอะไรอีกไหมที่เราอยากเล่าแล้วให้มันชัดขึ้น

นักแสดงส่วนใหญ่ของคุณเป็นนักแสดงเด็กที่ไม่ได้เป็นนักแสดงอาชีพ การทำงานเป็นอย่างไรบ้าง ยากหรือง่ายยังไง

สนุกมาก แถมยังง่ายจริง ๆ เลย นักแสดงเด็กเหล่านี้อยู่ที่พนมเปญ ย่านที่คุณเห็นอยู่ในหนังเลย ผมสอนหนังสือพวกเขาอยู่สักปีหนึ่งได้และเราสนิทกันมากทีเดียว ผมเขียนตัวละครขึ้นมาจากตัวตนของเด็ก ๆ อย่างตัวละครหลักนี่คุณจะเห็นว่ามีเด็กหญิงคนหนึ่งที่ดูดุ ๆ หน่อย กับเด็กผู้ชายที่ดูช่างฝันและอ่อนโยนกับทุกคน นี่เองที่ทำให้การทำงานง่ายมาก ๆ บวกกันกับผมเองก็สนิทสนมกับพวกเขามาก ๆ อยู่แล้วเป็นทุนเดิม เลยขอให้เขาลอง ‘แสดง’ เป็นตัวเองดู แต่ทั้งนี้ก็เป็นสิ่งใหม่สำหรับพวกเขาเหมือนกันนะ เราเลยต้องซ้อมกันบ่อยพอสมควรเพื่อให้เด็กๆ ผ่อนคลายมากที่สุด เนื่องจากตอนถ่ายทำจริงนี่คุณคงรู้ว่าในกองถ่ายมีผู้คนมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม ผมเห็นตั้งแต่เริ่มถ่ายทำวันแรกกันแล้วล่ะว่าเด็ก ๆ อินและสนุกกับบทมาก

มีอยู่ฉากหนึ่งที่เรามีเด็กมาเข้าฉากทั้งหมดห้าคน อันนี้แหละที่ยาก (หัวเราะ) เพราะแม้ว่ามันจะสนุกก็จริง แต่เด็ก ๆ เขาก็อยากเล่นกันตลอดเวลา คือถ้ามีแค่พวกเขาสองคนหรือแสดงคนเดียว เขาก็ตั้งใจเล่นออกมาได้นั่นแหละ แต่พออยู่รวมกันนี่โกลาหลเหลือเกิน

ส่วนที่ยากที่สุดในการถ่ายทำคืออะไร

(ยิ้ม) อย่างที่คุณก็เห็นเนอะ ว่าผมไม่ใช่คนกัมพูชา เพราะงั้นแล้วการที่ผมตัดสินใจจะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในกัมพูชามันเลยทำให้ผมต้องตั้งคำถามถึงจุดนี้บ่อยมาก ๆ ว่าผมควรเล่าไหม ผมไม่ใช่คนกัมพูชา ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเขาอย่างลึกซึ้งขนาดนั้น ผมคุยกับเพื่อนชาวกัมพูชาอยู่หลายต่อหลายครั้งว่าควรทำหนังเรื่องนี้หรือไม่ และคุยกับตัวเองว่าในฐานะคนที่ไม่ได้เป็นคนกัมพูชา ควรจะทำหนังที่ว่าด้วยเรื่องคนกัมพูชาไหม เราจะทำด้วยความเคารพต่อคนกัมพูชาอย่างไร ดังนั้นแล้วการทำงานกับทีมงานที่ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นคนกัมพูชาจึงสำคัญสำหรับผมมาก ๆ รวมทั้งนักแสดงที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนกัมพูชา เว้นก็แต่สองนักแสดงนำไทยในเรื่อง 

ผมทำหนังด้วยความรักต่อวัฒนธรรมกัมพูชา ต่อวัฒนธรรมความเป็นพุทธ ผมเคยขึ้นไปทางเหนือของไทยเพื่อฝึกสมาธิตั้งแต่ปี 2015 ได้ รวม ๆ แล้วน่าจะไปมาแล้วเก้าครั้งล่ะ ผมเคยนั่งคิดเรื่องการกลับชาติมาเกิด เรื่องกรรม อันเป็นประเด็นที่ผมสนใจอยู่แล้วเป็นการส่วนตัว เพราะงั้นตอนทำหนังที่ว่าด้วยประเด็นเหล่านี้ ผมจึงทำด้วยความเคารพอย่างสุดหัวใจ นี่สำคัญมากนะ

ปกติแล้วเวลาเราพูดถึงความเป็นหนังไซ-ไฟ มันก็มักมีฉากหลังเป็นสหรัฐฯ เป็นญี่ปุ่น พอคุณมาทำหนังไซ-ไฟที่มีฉากหลังเป็นกัมพูชามันเป็นยังไง

อันนี้แหละที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาหนึ่งของหนังตระกูลไซ-ไฟ เพราะพอพูดถึงหนังแนวนี้ คนก็จะนึกไปถึงความล้ำยุค ถึงความเปลี่ยนแปลง ถึงแคลิฟอร์เนียหรือญี่ปุ่น ซึ่งผมว่าผมเองก็รู้สึกแบบเดียวกันนี้เวลานึกถึงกัมพูชา ในความหมายว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปเร็วเหลือเกิน เทคโนโลยีเข้ามารวดเร็วมาก ๆ และเด็ก ๆ ก็อยู่กับเทคโนโลยีเหล่านี้ตลอดเวลา

ผมคิดถึงประเด็นนี้บ่อยเหมือนกันนะ เหมือนว่าถ้ามีหนังฌ็องแบบนี้ เรามักไม่ค่อยเห็นมันไปเกิดขึ้นในประเทศแบบกัมพูชา ผมเลยตื่นเต้นมากๆ ที่จะได้ขยับขยายภาพที่คนจะนึกถึงความเป็นฌ็องไซ-ไฟของหนังให้กว้างกว่าเดิม 

หนังคุณพูดเรื่องการถูกไล่ที่และความเหลื่อมล้ำที่ดูจะเป็นต้นธารผลักดันให้ตัวละครต้องเดินหน้าเข้าสู่วังวนต่าง ๆ คุณมองประเด็นนี้ยังไง

รัฐบาลกัมพูชาก็ขายพื้นที่ตรงทะเลสาบนั้นและสั่งให้คนในชุมชนอพยพออกให้หมด ผมเข้าใจว่ารัฐบาลก็จ่ายเงินชดเชย แต่นั่นแหละ พอคุณตั้งรกราก คุณใช้ชีวิตที่นี่มาหลายชั่วอายุคน เพื่อนและครอบครัวคุณก็อยู่ตรงนี้ ตัวตนและอัตลักษณ์คุณก็เกิดขึ้นจากที่นี่ แต่แล้วคุณกลับถูกสั่งให้ย้ายออกไปดื้อ ๆ ในหนังเองก็เช่นกัน มันเล่าเรื่องการถูกไล่ที่และคุณคงเห็นแล้วว่าตัวละครต่างตกอยู่ในสถานะไม่มีทางเลือกเลย 

แน่ล่ะว่ามีความเหลื่อมล้ำในกัมพูชา แต่ผมว่าในอเมริกาเองก็มีปัญหานี้นะ ไม่แน่ใจว่าในกรุงเทพฯ มีเหมือนกันไหม 

หรืออย่างเรื่องการไล่ที่รื้อถอน ชนพื้นเมืองอเมริกันเองก็ถูกไล่ออกจากดินแดนของตัวเองเมื่อสองร้อยปีก่อน เพราะงั้นด้านหนึ่ง สำหรับผมแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนวัฏจักรที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในแต่ละชั่วอายุคนด้วย

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here