ต้นปี 2017 บริษัทโปรดักชั่นของเมียนมาร์ 7th Sense Creation ก่อตั้งขึ้นและได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม เพราะหัวเรือหลักคือ ขิ่น ทริ เธ็ต มอน ลูกสาวแท้ๆ ของนายพลผู้กุมกำลังกองทัพทั้งหมดอย่าง มิน อ่อง หล่าย -ซึ่งในอีกสี่ปีต่อมา เขาจะรัฐประหารรัฐบาลประชาธิปไตยของเมียนมาร์- ร่วมกันกับมิตรสหายของเธอที่ล้วนเป็นลูกชายลูกสาวคนในกระทรวงใหญ่โต และหลังจากก่อตั้งได้สองปี สตูดิโอ 7th Sense Creation ผลิตหนังไปทั้งสิ้นแปดเรื่องรวมถึง Clinging with Hate (2018) ที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีประกวดใหญ่ที่สุดของเมียนมาร์
และในปี 2019 สตูดิโอก็ไปคว้าตัว เน โท และ วุด มน ชเว ยี นักแสดงชายหญิงระดับแม่เหล็กของเมียนมาร์มาเซ็นสัญญาตกลงทำงานร่วมกัน ก่อนที่ในอีกหนึ่งปีต่อมา ภายหลังจากมิน อ่อง หล่าย รัฐประหารรัฐบาลของออง ซาน ซูจีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วุด มน ชเว ยีรวมทั้งนักแสดงแถวหน้าอีกหลายคนจะออกมาประณามการกระทำอันอัปยศนี้ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเองแทบจะในทันที
มองจากภาพรวม เราอาจพอสรุปได้ว่า มันเป็นเครือข่ายของกองทัพที่แฝงเร้นเงียบเชียบอยู่กับธุรกิจอื่นๆ และหากินกับรายได้ที่งอกเงยขึ้นมาจากการลงทุนในระบบครัวเรือน แต่สิ่งที่ทำให้ 7th Sense Creation ถูกจับตามองมากกว่าบริษัทอื่นๆ ไม่ใช่แค่เพราะมันก่อกำเนิดขึ้นมาจากการก่อตั้งของลูกสาวนายพล แต่เพราะย้อนกลับไปในอดีต ตัวมิน อ่อง หล่ายในฐานะนายพลเองออกคำสั่งเข้มงวดกับระบบเซ็นเซอร์หนังทั้งในและต่างประเทศ จนเราอาจจะพูดได้ว่า ตัวมิน อ่อง หล่ายนั้นไม่ได้เป็นที่รักของคนทำหนังและนักดูหนังชาวเมียนมาร์ หรือมากกว่านั้น คือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างระบบเซ็นเซอร์อันเข้มงวดขึ้นมาด้วยเสียเอง
และหากว่าขิ่น ทริ เธ็ต มอนผู้เป็นลูกสาวสร้างบริษัททำหนัง ลูกสะใภ้นายพลอย่าง เมียว โรดานา ไท้ ก็เป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์หัวใหญ่ๆ ตลอดจนเป็นผู้จัดรายการประกวดนางงามในนามของบริษัท Stellar Seven Entertainment Company… ซึ่งก็แน่นอนว่าก่อตั้งในปี 2017 เช่นเดียวกันกับ 7th Sense Creation และเป็นที่เชื่อกันว่า ทั้งลูกสาวและลูกสะใภ้ของมิน อ่อง หล่ายต่างก็นั่งกำเงินนับพันล้านจ๊าดในฐานะหัวเรือใหญ่ของอุตสาหกรรมยักษ์นี้ และหากวัดกันที่จำนวนปีที่ทั้งสองบริษัทก่อกำเนิด เงินจำนวนนี้นับว่ามหาศาลและชวนให้สื่อมวลชนขุดค้นว่าต้นธารของมันนั้นอยู่ที่ไหน อะไรทำให้พวกเขามีทุนสร้างหนังได้มหาศาลภายในเวลาไม่กี่ปี
ตลาดอุตสาหกรรมหนังเมียนมาร์นั้นขยายตัวใหญ่ขึ้นทุกปีๆ ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่เมียนมาร์จะเข้าสู่ยุคเผด็จการเต็มตัวเมื่อปี 1950 เราอาจจะกล่าวได้ว่า ช่วงเวลานั้นคือ ‘ยุคทอง’ ของวงการ เมื่อเมียนมาร์นำเข้าและผลิตหนังที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย Pyo Chit Lin (1950) หนังคอมิดี้ประวัติศาสตร์ของผู้กำกับ ทิน เมียนต์ ที่สร้างบนฐานเงินทุนจำกัดจำเขี่ยจนต้องเลือกระหว่างการถ่ายหนังด้วยเสียงที่ดีพร้อม หรือจะถ่ายด้วยงานภาพสีซึ่งเป็นของใหม่สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์เมียนมาร์ในเวลานั้นมาก (ท้ายที่สุด เขาเลือกทำหนังสี ซึ่งกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของวงการหนังเมียนมาร์ในที่สุด) รวมทั้งการกำเนิดขึ้นของโรงภาพยนตร์สแตนอะโลนด์มากหน้าหลายตา มีบันทึกว่าช่วงนั้น ในระยะไม่กี่ช่วงถนนมีโรงภาพยนตร์เกิดขึ้นมากถึงแปดแห่ง เพื่อรองรับจำนวนภาพยนตร์ทั้งที่เมียนมาร์ผลิตเองและนำเข้าเป็นจำนวนมาก ก่อนจะเจอเกมล้มกระดานเมื่อเมียนมาร์เข้าสู่ยุครัฐเผด็จการเต็มตัวในปี 1960 กล่าวคือเมียนมาร์เคยผ่านจุดรุ่งเรืองมาแล้ว และกลายเป็นว่าปัจจุบันได้ก่อเกิดความหวังของคนทำหนังชาวเมียนมาร์ที่อยากจะพาวงการกลับไปแตะยังจุดนั้นอีกหน หรืออาจจะไปไกลกว่านั้นคือพาหนังไปสู่ความเป็นสากลมากขึ้น
แน่นอนว่าตัวขิ่น ทริ เธ็ต มอนเองเคยชี้แจงว่า เธอไม่ได้กระโจนเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้เพราะมันทำเงินได้ แต่เพราะความปรารถนาจะผลักดันหนังเมียนมาร์ให้ไปสู่ตลาดโลกต่างหากล่ะ …แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ตลาดอุตสาหกรรมต่างๆ ในเมียนมาร์จะโดนสหรัฐอเมริกาแบนจากภาวะการเมืองภายในหลายประการ อย่างการที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ออกมาตรการจำกัดการเดินทางของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมาร์สี่นาย เพื่อตอบโต้และแสดงความไม่เห็นด้วยที่กองทัพเมียนมาร์กระทำต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ (ซึ่งกองทัพให้การปฏิเสธและระบุว่า การปราบปรามครั้งนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องต่อกฎหมายแล้ว)
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สถานการณ์ของ 7th Sense Creation ก็ถือว่าเฉิดฉายและไปได้สวยกว่าบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน มันไม่เพียงแต่ผลิตหนังทำทั้งเงินทั้งรางวัลอย่าง Clinging with Hate -ว่าด้วยเรื่องของฝาแฝดที่กลับชาติมาเกิดพร้อมความเกลียดชังแฝดของตน และต้องเรียนรู้ที่จะรักและปล่อยวางตามคำสอนของพุทธศาสนาเพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ- ซึ่งตัวมิน อ่อง หล่าย ให้การสนับสนุนหนังจากสตูดิโอของลูกสาวด้วยการเดินทางไปชมภาพยนตร์จนเป็นข่าว โหมกระพือให้หนังได้รับความนิยมมากขึ้นจนท้ายที่สุด มันยืนโรงนานกว่าสองเดือนเนื่องจากผู้คนแห่แหนมาชมกันล้นหลาม
นอกเหนือจาก Clinging with Hate สตูดิโอของขิ่น ทริ เธ็ต มอนยังผลิตหนังออกมาอีกเจ็ดเรื่อง ทั้งยังไปคว้าตัวนักแสดงแม่เหล็กมาร่วมงาน ซึ่งกลายเป็นที่สนใจอย่างมากเพราะสตูดิโออื่นๆ ต่างตกอยู่ในภาวะแร้นแค้นและต้องหั่นงบประมาณ ตัดกำลังการผลิตกันจนแทบไม่มีหนังออกฉายขณะที่ 7th Sense Creation สามารถทุ่มงบประมาณในการสร้างหนังหนึ่งเรื่องอยู่ที่เกือบสี่ล้านจ๊าด (ทุนสร้าง Clinging with Hate อยู่ที่สามล้านจ๊าด) และยังพยายามดึงนักแสดงจากประเทศอื่นๆ ทั้งเกาหลี, ญี่ปุ่นหรือไทยเข้าไปร่วมเซ็นสัญญาแสดงหนังเมียนมาร์ เพื่อจะได้ตีตลาดประเทศอื่นๆ กล่าวกันว่าโปรเจ็กต์นี้ใช้งบประมาณมากกว่าที่เคยถึงสองเท่าเลยทีเดียว
ความ ‘ทุ่มไม่อั้น’ และใจป้ำของ 7th Sense Creation ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าพวกเขาเอาเงินทุนจากที่ไหน รวมไปถึงคำถามที่ใหญ่กว่านั้นว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่มันจะกลายเป็นแหล่งฟอกเงินชั้นดีของนักธุรกิจหรือผู้มีอำนาจในเมียนมาร์เอง (แน่นอนว่าทางสตูดิโอออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างแข็งขัน “เราลงทุนกับเรื่องพวกนี้ได้เพราะเรารักงานศิลป์และอยากสร้างสรรค์งานดีๆ ออกมาต่างหากล่ะ” ตัวแทนจาก 7th Sense Creation ยืนกราน และเสริมว่า “เวลาเราสร้างหนังสักเรื่อง เราสนใจแค่ว่ามันจะสร้างประโยชน์ให้คนดูมากแค่ไหน เรื่องที่เราเป็นใครมาจากไหนนั้นไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการผลิตหนังทั้งสิ้น”) โดยเฉพาะการที่มันเป็นแหล่งรวมตัวของลูกหลานคนใหญ่คนโตในเมียนมาร์ ไม่เพียงแค่ขิ่น ทริ เธ็ต มอน แต่ยังรวมไปถึงสองพี่น้องซึ่งเป็นลูกชายของรัฐมนตรีกระทรวงกีฬา นั่งแท่นเป็นที่ปรึกษาในบริษัท (หนึ่งในสองเคยถูกจับที่สนามบินข้อหาครอบครองอาวุธปืนและยาเสพติด) หรือคณะกรรมการด้านการตลาดที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายเวทีประกวดนางงามอย่างแนบแน่น เมื่อน้องสาวของเขาคือคนที่ดำรงตำแหน่งนางงามเมียนมาร์ปี 2013 ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า 7th Sense Creation อาจเกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมนางงามอย่างแยกไม่ขาด… และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราต้องไม่ลืมว่าลูกสะใภ้ของผู้นำเผด็จการ เมียว โรดานา ไท้ เป็นเจ้าของบริษัท Stellar Seven Entertainment Company จัดประกวดนางงามด้วย
เช่นเดียวกับประเทศที่กองทัพมีอำนาจเหนือกว่าประชาธิปไตยและรัฐบาลพลเรือนประเทศอื่นๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวมิน อ่อง หล่ายนั้นอาจมีส่วนในการฉกฉวยประโยชน์จากอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือไปจากกองทัพผ่านเส้นสายและความสนิทชิดเชื้อ สิ่งที่น่าจับตาคือท่าทีของคนดังมากมายที่ออกมาต่อต้านการใช้อำนาจล้มประชาธิปไตยของเขา ไม่ว่าจะประชาชนชาวเมียนมาร์ที่ลงถนนต่อต้านรัฐประหาร ทั้งการด่าทอ เคาะหม้อไล่เผด็จการ ตลอดจนการแสดงสัญลักษณ์สามนิ้วต่อต้านการยึดอำนาจจากประชาชนชาวเมียนมาร์ทุกกลุ่มอาชีพ ออกมาแสดงการต่อต้านการล้มกระดานการเมืองนี้โดยพร้อมเพรียงกัน ไม่ว่าจะแพทย์ ข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้าตลอดจนดารา นักแสดงและคนดังต่างๆ ที่พร้อมใจกันใช้แพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดียในมือประกาศให้เห็นความอัปยศครั้งนี้ไม่ว่าจะ ไป่ ทาคน, ยุน วัดดี, วุด มน ชเว ยี ฯลฯ
คนที่ถูกจับตาอย่างมากในการเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจจะเป็นวุด มน ชเว ยี เนื่องจากเธอคือหนึ่งในนักแสดงที่เซ็นสัญญากับ 7th Sense Creation ของขิ่น ทริ เธ็ต มอน แต่ยังออกมาประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารอย่างแข็งขัน จนอาจเป็นการตอบคำถามในตัวว่าหากการแสดงออกนั้นจะต้องแลก และต้องเลือก ก็เป็นไปได้ว่าสำหรับหลายๆ คนที่เกลียดการล้มอำนาจอย่างไม่ชอบธรรมนั้น ก็ได้เลือกและได้แลกแล้ว แม้ว่าอาจจะสุ่มเสี่ยงกับอาชีพและหน้าที่การงานของตัวเองก็ตามที
แหล่งอ้างอิง
https://www.matichon.co.th/columnists/news_2155034
https://sg.news.yahoo.com/race-restore-myanmars-film-classics-second-screening-030407658.html