Home Article Special Article เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 5 : รัฐบาลไทยควรเดินทางไหน)

เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 5 : รัฐบาลไทยควรเดินทางไหน)

0
เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 5 : รัฐบาลไทยควรเดินทางไหน)

อ่านตอน 1 : “เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 1 : เกาหลีใต้)”
อ่านตอน 2 : “เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 2 : ฝรั่งเศส)”
อ่านตอน 3 : “เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 3 : สหราชอาณาจักร)”
อ่านตอน 4 : “เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 4 : เยอรมนี)”

แม้ปัจจุบัน รัฐบาลไทยจะมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอยู่บ้าง ผ่านการดำเนินการของกระทรวงวัฒนธรรม (ในรูปของการสนับสนุนด้านเงินทุน) กระทรวงพาณิชย์ (สร้างช่องทางด้านธุรกิจโดยเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังได้พบกับผู้จัดจำหน่ายนานาชาติ) และการทรวงการต่างประเทศ (เผยแพร่หนัง)ไทยในต่างประเทศ แต่ดูเหมือนยังไม่เป็นเอกภาพมากนัก อีกทั้งการเข้าถึงการสนับสนุนเหล่านี้ของบุคลากรในวงการหนังก็ยังมีอย่างจำกัด

หลายคนตั้งคำถามว่า รัฐควรกำหนดนโยบายที่จริงจังกว่านี้หรือไม่ และรูปแบบของการส่งเสริมของประเทศไหนที่เราควรเดินตาม แน่นอนว่า หลังจากความสำเร็จของอุตสาหกรรมหนังเกาหลีใต้ที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาหลายปี  กระแสเรียกร้องให้นำโมเดลการสนับสนุนและส่งเสริมหนังแบบเกาหลีใต้มาปรับใช้ก็ดังขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้เขียนแล้ว ก่อนไปถึงจุดนั้นเราน่าจะมาทำความเข้าใจก่อนว่า องค์ประกอบสำคัญในการวางโครงสร้างการสนับสนุนภาพยนตร์ไทยแบบยั่งยืนมีอะไรบ้าง ซึ่งหากพิจารณาจากคุณลักษณะของการวางนโยบายของรัฐบาล 4 ประเทศที่ได้กล่าวมา องค์ประกอบดังกล่าวน่าจะได้แก่

1. หน่วยงานเฉพาะทาง ทางด้านกิจการภาพยนตร์

อาจเป็นได้ทั้งองค์กรอิสระไม่สังกัดกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง (เช่นเดียวกับ สภาการภาพยนตร์เกาหลี หรือ KOFIC ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ให้การสนับสนุน) หรือเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยรัฐ (เช่น ศูนย์ภาพยนตร์และภาพเคลื่อนไหวแห่งชาติ หรือ CNC ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และ คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งสหพันธรัฐเยอรมัน หรือ Filmförderungsanstalt (FFA) ที่รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการที่มาจากหลายภาคส่วน รวมถึงตัวแทนสภาล่างและตัวแทนของอุตสาหกรรมหนัง

การตั้งหน่วยงานเฉพาะเช่นนี้ จะช่วยให้การทำงานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังทั้งระบบมีความคล่องตัวและมีเป้าหมายชัดเจนขึ้น 

ส่วนรัฐจะมีหน้าที่ร่วมกำหนดนโยบายกับหน่วยงานดังกล่าวและจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงาน โดย แหล่งที่มาของงบประมาณดำเนินงาน มีได้ทั้งจากงบที่จัดสรรผ่านกระทรวงที่ดูแล และงบจากการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวกับธุรกิจหนัง เช่น ภาษีจากรายได้ค่าตั๋วหนัง ภาษีจากผู้ประกอบการธุรกิจวิดีโอออนดีมานด์ เป็นต้น

2. ขอบเขตการสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์

หน่วยงานด้านกิจการภาพยนตร์ดังกล่าว ควรกำหนดแนวทางการสนับสนุนและส่งเสริมที่มีลักษณะยั่งยืน ไม่ใช่ตามวาระการบริหารของรัฐบาล (เช่น อาจเป็นแผนระยะยาว 5 ปี) และ จะต้องไม่เจาะจงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง กล่าวคือ กรอบของการสนับสนุนและส่งเสริมควรครอบคุลมตั้งแต่กระบวนการพัฒนา การผลิต การจัดจำหน่าย การเผยแพร่ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้สร้าง ผู้จัดจำหน่าย และผู้จัดฉาย (ทั้งโรงหนังและพื้นที่จัดฉายแบบดิจิตอล Streaming platform) มีโอกาสเข้าถึงการสนับสนุนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม

สำหรับรูปแบบการสนับสนุน สามารถเป็นได้ในรูปของการให้เงินทุน และแบบเสนอลดอัตราภาษีตามกรอบที่กำหนด 

อนึ่ง นอกจากทำหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมแล้ว หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของหน่วยงานนี้ก็คือ การสร้างช่องทางในการเผยแพร่หนังในต่างประเทศ ทั้งเชิงพาณิชย์ (สร้างช่องทางพบปะติดต่อระหว่างเจ้าของสิทธิ์หนังและผู้จัดจำหน่ายต่างชาติในตลาดหนังต่างๆ) และเชิงศิลปะวัฒนธรรม (ในรูปของการจัดเทศกาล หรือสัปดาห์ภาพยนตร์ ฯลฯ)

3. บุคลากรที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์

หากพิจารณาจากผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในหน่วยงานสนับสนุนหนังของประเทศชั้นนำทั้ง 4 ประเทศ เราจะพบว่า ทุกคนล้วนมีประสบการณ์โดยตรงกับอุตสาหกรรมหนังของตนเอง หากไม่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับธุรกิจหนัง ก็จะเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เคยดูแลกิจการด้านนี้จนได้รับความไว้วางใจจากคนในวงการ

เริ่มตั้งแต่  โดมินิก บูตงนาต์ https://variety.com/2019/film/news/dominique-boutonnat-cnc-president-national-film-board-1203277884/ ผู้เคยมีประสบการณ์ในการเป็นโปรดิวเซอร์ของหนังดัง ๆ อย่าง Untouchable, Heartbreaker และ My Sweet Pepper ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้เป็นประธานของหน่วยงาน CNC, โอซกกึน http://koreanfilm.or.kr/eng/films/index/peopleView.jsp?peopleCd=10050404 ซึ่งเคยมีบทบาทเด่นสมัยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของคณะกรรมาธิการภาพยนตร์แห่งบูซาน (Busan Film Commission) ก็ได้รับเลือกจาก KOFIC ให้ดำรงตำแหน่งประธานคนล่าสุด, เบิร์น นอยมันด์ https://en.wikipedia.org/wiki/Bernd_Neumann เคยดูแลนโยบายภาพยนตร์สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และคณะกรรมาธิการด้านวัฒนธรรมและสื่อของรัฐบาลกลาง ก็ได้รับฉันทามติจากสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เสนอชื่อให้รัฐบาลพิจารณาเป็นประธานของ FFA ซึ่งเขาก็ได้รับเลือกในเวลาต่อมา และ จอช เบอร์เกอร์ https://www.bfi.org.uk/news-opinion/news-bfi/announcements/josh-berger-take-over-chair-bfi ประธาน BFI ก็เคยเป็นประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัทวอร์เนอร์ บราเธอร์ส สาขาสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ และสเปนมาก่อน  

การที่หน่วยงานสนับสนุนและส่งเสริมภาพยนตร์ได้ผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรงในการบริหารงานด้านนี้ ไม่ว่าจะมาจากภาคธุรกิจหรือภาคศิลปวัฒนธรรม เข้ามาบริหารองค์กร จะทำให้การกำหนดนโนบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมมีลักษณะเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น

จากองค์ประกอบหลักทั้ง 3 ข้อ แสดงให้เห็นว่า การส่งเสริมและสนับสนุนของรัฐบาลจะมีประสิทธิภาพเพียงใดขึ้นอยู่กับการวางรากฐานที่แข็งแรงของโครงสร้างการสนับสนุน ซึ่งความแข็งแรงของโครงสร้างนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อทุกคนเข้าใจว่า อะไรคือองค์ประกอบที่จำเป็น  ดังนั้นหากผู้มีอำนาจในรัฐบาลมีความชัดเจนตรงนี้แล้ว คำถามที่ว่า “โมเดลของประเทศไหนที่ไทยควรนำมาปรับใช้” ก็ไม่สำคัญเท่ากับ “เราจะสร้างโมเดลแบบใดที่จะเหมาะสมกับวงการภาพยนตร์ไทยมากที่สุด”

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here