Home Article FILM CLUB YEAR LIST 2022 : ตอน 2

FILM CLUB YEAR LIST 2022 : ตอน 2

0
FILM CLUB YEAR LIST 2022 : ตอน 2

*อ่านตอน 1 ได้ที่ FILM CLUB YEAR LIST 2022 : ตอน 1

มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ / นักวิจารณ์ภาพยนตร์ :
DE HUMANI CORPORIS FABRICA (2022, Fr. Swz.,Lucien Castaing-Taylor, Véréna Paravel)

เอาแค่ซีนเข้าเรื่องที่มีชายวัยกลางคนกำลังจ้อเหมือนไม่ได้ป่วยไข้อะไร หนำซ้ำยังสุขภาพทั้งใจทั้งกายออกจะแข็งแรงดีขนาดนั้น ว่าแล้วกล้องค่อยเขยิบขึ้น เห็นท่อเจาะลงกลางกระหม่อม ดูแล้วนึกถึงหลอดดูดในแก้วกาแฟเย็น ตามด้วยทีมแพทย์ค่อย ๆ เอาผ้าเขียว ๆ มาปิดหน้า พลันนึก…เอาแล้ว เฮี้ยนสมคำร่ำลือจริง ๆ

พออยู่ไปซักพัก คำร่ำลือเริ่มอ่อนกำลังจนถึงขั้นที่ไม่ทำงานเอาเลย เมื่อพบว่าที่เห็นอวัยวะภายในของมนุษย์ กลับมิได้ก่อให้เกิดความรู้สึกสะทกสะท้านหวั่นไหวต่อสายตา จนห่างไกลจากเลเวลของคำว่าสยดสยอง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าร่างกายคนดูในเวลานั้นสร้างภูมิคุ้มกันทางสายตาเอาไว้ทันหรืออย่างไร ทว่าได้อีกหนึ่งเข้ามาแบบ spontaneous

ถึงอย่างไร De Humani Corporis Fabrica ก็ยังจัดอยู่ในข่าย horror ตรงตามที่เข้าใจอยู่ดีครับ แม้จะแฝงมากับความเป็น docu (ซึ่งทั้งง่ายและสุ่มเสี่ยงต่อการจัดให้อยู่ในเรท ท.ทั่วไป) แต่ผลที่ได้กลับเป็นงาน horror ที่ไร้ซึ่งความรุนแรง เพราะที่เห็นเป็นตับ-ไต-หัวใจ-ปอด-ม้ามหรือแม้แต่กำเนิดทารก ล้วนเป็นการกระทำเพื่อให้เจ้าของอวัยวะมีชีวิตอยู่รอดล้วน ๆ ทีมศัลยแพทย์+แพทย์วิสัญญีในเรื่องจึงไม่ต่างอะไรกับหน่วยกู้ชีพ, จนท.กู้ภัย ผลที่ตามมาก็รู้สึกมีหนังแนว rescue and survival ซ้อนทับเข้าไว้ด้วยกันบนฉากหน้าที่เป็น docu ทางการแพทย์

ขอเพิ่มอีกหนึ่งตัวแปรครับ ที่คงต้องนับเป็นความแหวกและสร้างสิ่งใหม่ ๆ ทางนวัตกรรม โดยเฉพาะเครื่องมือที่เอามาใช้บันทึกภาพเพราะหลังจากที่เราเคยใช้กล้องติดไอโฟน (Tangerine กับหนังกลุ่มหนึ่งของ Xavier Dolan), กล้องวงจรปิด (‘คนจร ฯลฯ’ ของอรรถพร ไทยหิรัญ) มาใช้ในการถ่ายและเล่าเรื่อง ซึ่งคงต้องนับว่า Humani Corporis Fabrica น่าจะเป็นหนังเรื่องแรก ๆ ที่นำกล้อง (กับจอมอนิเตอร์) ที่ใช้งานทางการแพทย์ มาใช้ในการทำหนัง ซึ่งในช่วงเวลาที่วิคเตอร์-เกรียงศักดิ์ยังมีสุขภาพแข็งแรง ก็เคยชื่นชมประโยชน์และคุณค่าของการตรวจร่างกายด้วยวิธีส่องกล้อง สมมติว่าถ้าเปลี่ยนจุดประสงค์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเชิดชูทั้งวิคเตอร์และให้กับตัวบุคคลมาเป็นการมอบให้กับหนังแทน หนังที่เหมาะสมและคู่ควรกับรางวัลสาขา Victor Award เป็นเรื่องแรกก็น่าจะเป็น De Humani Corporis Fabrica เรื่องนี้

กิตติกา บุญมาไชย / Cinephiles :
The Koker Trilogy (ฉายต่อกันสามภาคในวันเดียว โดย Documentary Club)

ดูสามเรื่องต่อกันคือนิพพาน หนังมันเฉลิมฉลองความงามของการมีชีวิตได้อย่างเรียบง่าย แต่โอบอุ้มหัวใจเราไว้ ดูแล้วร้องไห้น้ำตาร่วง ร่วงแบบมันไม่มีทางทำหนังแบบนี้ในวันคืนปัจจุบันได้แล้ว ร้องเพราะแบบทำไมมนุษย์มันเกื้อกูลกันด้วยอะไรแบบนี้ได้ กราบไหว้ด็อกคลับที่เอามาฉาย แม้จะรู้มาว่าคนดูอาจจะน้อยกว่าที่คาด แต่ขอบคุณจริง ๆ เพราะหนังช่วยปลอบประโลมหัวใจเราแบบสุด ๆ ขอบคุณซับดีดี เลือกสรรพนามได้ไปกับหนัง ยิ่งพาให้มันดีไปอีก

โลกที่มีอับบาสเป็นโลกที่งดงามเหลือเกิน

พลากร กลึงฟัก / Cinephiles :
Wandering (2022, Lee Sang-il)

หนังตั้งคำถามท้าทายมาตรวัดความเป็นความย้อนแย้งทางศีลธรรมใส่เราตลอดเวลา โดยไม่ละทิ้งหัวจิตหัวใจของตัวละคร สร้างแรงสั่นสะเทือนในใจเราทั้งตอนขณะที่ดู มาจนทุกครั้งที่นึกถึงมัน

กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ / นายแพทย์, นักวิจารณ์ภาพยนตร์ นักเขียนประจำ Film Club :
Mangosteen (2022, ตุลพบ แสนเจริญ)

หนึ่งในวิดีโอจัดวางที่จัดแสดง ณ บ้านตรอกถั่วงอก ตึกแถว 5 ชั้นย่านเยาวราช อันเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Ghost 2565 : อยู่ยังไงให้ไม่ตาย ที่จัดแสดงระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม – 13 พฤศจิกายน 2565 โดย Mangosteen (2022) เป็นวิดีโอที่อาจเรียกได้ว่าเป็นภาพยนตร์สั้นซึ่งเล่าเรื่องของเอิร์ธ ชายวัยผู้ใหญ่ตอนต้นผู้เดินทางกลับบ้าน ณ จังหวัดระยอง บ้านของเขาประกอบกิจการโรงงานน้ำมังคุด ซึ่งในปัจจุบันมี อิงค์ พี่สาวเป็นคนดูแลสานต่ออุดมการณ์รุ่นพ่อแม่ 

เอิร์ธจากบ้านไปพำนักที่กรุงเทพฯ เป็นเวลานาน เขาท้อใจกับชีวิตในเมืองหลวงและหันหลังฝากความหวังไว้ที่บ้าน ไม่ต่างจากวัยผู้ใหญ่ตอนต้นชนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยที่ผิดหวังจากเมืองหลวง ก่อนจะพบว่าการกลับบ้านอาจเข้าสำนวนสุภาษิต “หนีเสือปะจระเข้” เพราะเอิร์ธผู้กำลังหนีการกดขี่จากทุนนิยมแต่ต้องมาเจอลำดับชั้นอำนาจและการกดขี่ภายในสถาบันครอบครัวที่เรียกได้ว่าซับซ้อนเสียยิ่งกว่า

ความทีเล่นทีจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่เสมอในผลงานของ ตุลพบ แสนเจริญ คือความน่าสนใจของ Mangosteen (2022) จดหมายขู่ฆ่าตัดหัวของชนชั้นแรงงานที่เขียนไปถึงชนชั้นนายทุนอย่างคุณอิงค์กลายเป็นเรื่องตลกขบขัน และกระบวนการกลายเป็นซอมบี้ของชนชั้นกระฎุมพีแบบจารีต ผู้คร่ำเครียดหมกมุ่นอยู่กับการลดต้นทุนและเพิ่มกำไร กลายเป็นหญิงทันสมัยผู้เสพวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์อย่างฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เกส และสามารถสื่อสารด้วยภาษาเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่วราวกับเจ้าของภาษา 

การกลายเป็นซอมบี้ของคุณอิงค์ชวนให้นึกถึงปรินซ์ผู้ถูกทำให้ ศิวิไลซ์ โดยแหม่มแอนนาใน ‘แหม่มแอนนา หัวนม มาคารอง โพนยางคำ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน’ (รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค/ ไทย/2014) ถ้าหากในภาพยนตร์สั้นอันลือเลื่องของรัชฏ์ภูมิชวนให้เห็นกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของชนชั้นกลางในบริบทหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549 Mangosteen (2022) ก็อาจเป็นการแสดงให้เห็นการกดขี่ที่แยบยลทั้งในระดับมหภาคและการเมืองภายในสังคมไทยภายหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ผ่านการทำให้ทำสมองกลายเป็นมังคุดที่ถูกบดแยกกากและน้ำ ผ่านสารสื่อประสาทและโครงข่ายไร้ศูนย์กลางที่เชื่อมประสานกันราวกับสื่ออนาล็อกและดิจิทัลที่สร้างมนุษย์/มังคุด การกลายเป็นผลไม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในผลงานของตุลพบ คุณอาจเห็นการกลายเป็นมะพร้าวใน A Room with a Coconut View (2018) ซึ่งแสดงสภาวะแปรปรวนไม่แน่นอนของโปรแกรมปฏิบัติการคอมพิวเตอร์แนะนำการท่องเที่ยวบางแสนเมื่อขุดค้นประวัติศาสตร์ดำมืดของพื้นที่ในช่วงทศวรรษ 2520 ในยุคสมัยที่สื่ออนาล็อกเฟื่องฟู Mangosteen (2022) ปิดฉากลงด้วยภาพของเด็กสามคนในชุดมังคุดกำลังเต้นประกอบจังหวะดนตรีที่ติดหูภายใต้คำสั่งจากพ่อแม่ที่อยู่ด้านล่าง บางทีนี่อาจชวนให้นึกถึงข้อถกเถียงว่าด้วย “การสอดส่องดูแลเด็กกับครอบครัวจินตกรรมในประเทศไทย” ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่เขียนขึ้นมาโต้เถียงกับ “ชุมชนจินตกรรม” ของ เบน แอนเดอร์สัน

ธนพัฒน์ วงษ์วิสิทธิ์ / อาจารย์พิเศษสอนภาพยนตร์, นักวิจารณ์, แอดมินเพจ Movies Can Talk :
Plotoid (2021 , ปนิธ เปรมบุญ)

แม้พล็อตของ Plotoid จะเป็นหนังสั้นที่เรียบง่ายอันว่าด้วยเรื่องพี่ชายเจอน้องชายมาเยี่ยมบ้านก่อนจะแยกจากกันเพราะครอบครัวหย่าร้าง แต่หนังเล่าได้คมกริบด้วยการใช้เพียง Off Screen หรือการทำให้ตัวละครน้องและพ่อแม่ไม่ชัดดั่งภาพความทรงจนเลือนลาง ยิ่งตัวละครพี่ชายถูกกลืนตัวบ้านที่มีขนาดใหญ่ต่างสะท้อนความแปลกแยกอย่างเฉียบคม ซึ่งไม่น่าเชื่อ 10 นาทีสามารถถ่ายทอดความเดียวดายของเด็กน้อยได้ทรงพลังเช่นนี้

พงศ์สันต์ อรุณสินทวีพร / cinephiles :
GOOD LUCK TO YOU, LEO GRANDE (2022-UK, Sophie Hyde)

พล็อตง่ายๆ ที่จับเอาตัวละครขั้วตรงข้ามมาเผชิญหน้ากัน หญิงสูงวัยเคร่งครัดตามแบบแผนผู้ยินยอมให้จารีตกดทับจนไม่เคยพานพบความสุขสมทางเพศที่แท้จริงมาจนชั่วชีวิต (เอ็มม่า ธอมป์สัน) กับชายหนุ่มขายบริการทางเพศที่ทัศนคติบวกและเปิดสุดฤทธิ์ (ดาริล แมคคอร์แมค) ผู้มีฟังก์ชั่นมาทลายกำแพงของหญิงสูงวัย แต่ด้วยพล็อตง่าย ๆ แบบนั้นนั่นแหละ โซฟี่ ไฮด์ ผู้กำกับ ได้โชว์ฝีมือลึกซึ้งเต็มเปี่ยมชนิดที่ต้องกราบ หนังมีบทสนทนาและสถานการณ์ที่ตลก ฉลาด และสะเทือนใจ เป็นการปะทะสังสรรค์ทางความคิดที่ทั้งรื่นรมย์และชวนเศร้า เขย่าหัวใจเราให้ทั้งอิ่มเอมและสะท้านสะเทือน ไม่แปลกเลยถ้าคนดูจะยิ้มทั้งที่น้ำตายังไม่ทันแห้งไปจากแก้ม

ฉากสำคัญที่ทำออกมาดีมาก ๆ คือฉากเปลือยหมดจดของทั้งคู่ (ไม่ใช่ฉากเดียวกัน) ที่สามารถถ่ายทอด “ความไม่พอใจและไม่มั่นคงทางใจ” ในร่างกายที่ตนเองครอบครองอยู่ได้อย่างลึกซึ้งเทียบเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นร่างเปลือยที่หย่อนยานไปตามวัยของเอ็มม่า ธอมป์สัน (ที่กลายเป็นฉากสรุปที่ทรงพลังมากที่สุดของหนังในช่วงท้าย) หรือร่างเปลือยของดาริล แมคคอร์แมคที่แกร่งแน่นไปด้วยมัดกล้ามสวยงามก็ตาม

ศาสวัต บุญศรี (ซีเนไฟล์ผู้ที่ดูหนังที่บ้านทีไรเป็นล่มทุกที) / อาจารย์สอนภาพยนตร์ :
Micheal Jackson’s Drummer Jonathan Moffett Perform “Smooth Criminal” โดยช่อง Drumeo

ค่ำคืนในปี 2022 ผ่านพ้นไปเพราะรายการในเครือ Farose และการดูโจนาธาน มอฟแฟตต์ตีกลอง

มอฟแฟตต์ผู้มีฉายา “Sugarfoot” มือกลองผู้อยู่เบื้องหลังงานดังของไมเคิล แจ็คสันทั้งฉบับสตูดิโออัลบั้มและเล่นสด ถูกช่อง Drumeo เชิญมา Masterclass โดยเขาตีโชว์เพลงดัง ๆ ทั้ง Thriller, Bille Jean, Jam รวมถึง Smooth Criminal ที่สำคัญเขาให้สัมภาษณ์ยาวเหยียดถึงที่มาที่ไปของการเป็นนักดนตรีและการเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในงานสร้างสรรค์ของไมเคิล แจ็คสัน  

บุคลิกที่เป็นกันเอง แต่เปร่งออร่าความเทพ ทำเอาคนจำนวนมากวนเวียนเข้ามาดูวิดีโอที่เขาตีกลอง ตอนนี้แค่ Smooth Criminal เพลงเดียวก็ปาไป 50 ล้าน ขนาดคนตีกลองไม่เป็นอย่างผมยังติดใจเพราะฝีมือแกเป๊ะจนหลายคอมเมนต์บอกว่าใช้แทนเมตาโนมก็ยังได้ ฮา ๆๆๆ  

การมิกซ์เสียงในช่อง Drumeo จะมิกซ์เสียงกลองเข้าไปให้ดังกว่าสตูดิโออัลบั้ม โดยส่วนตัวรู้สึกว่าเพลงมันโจ๊ะขึ้น (จากเดิมที่ก็โจ๊ะมาก ๆ อยู่แล้ว)  ฟังแล้วคึกมาก ๆ ใช้เป็นวิดีโอปลุกวันที่เหนื่อยล้าได้ดีมาก ๆ

ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์ / นักแสดง :
Night for day (2021, Emily Wardill)

การได้ดู Night for Day เหมือนได้ปะติดปะต่อชิ้นส่วนบางอย่างในใจ ราวกับมีแม่เหล็กที่ช่วยกอบรวมชิ้นส่วน เล็กย่อยน้อย ๆ ต่าง ๆ ที่เป็นร่องรอยของความรู้สึกหลงรักและเจ็บปวดจากการได้ทำงานศิลปะและภาพยนตร์ อย่างน่าประหลาด

การจ้องมองเข้าไปในการแตกสลายซ้ำแล้วซ้ำเล่าของภาพอุดมคติและความเป็นจริง เมื่อต้องพบพานความพ่ายแพ้ ต้องยอมจำนนอย่างต่อเนื่องต่อความกระแสเวลาและความเป็นไป

เราซุกซ่อน หลบเร้นความต้องการที่จะต่อต้าน แม้เพียงเสี้ยววินาทีที่จุดชัดแจ้งและดำมึดมาบรรจบกัน

เราทำได้เพียงจ้องมองดูมันแหลกสลายเพียงลับตา

ภูริพันธุ์ รุจิขจร / cinephiles :
Wheel of Fortune and Fantasy (2021, Ryusuke Hamaguchi)

Wheel of Fortune and Fantasy เป็นหนังที่อยากเขียนถึงเพราะหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งคือความไม่คาดหวังกับผู้กำกับเพราะไม่ค่อยชอบ Drive My Car ในฉบับภาพยนตร์นัก และอีกส่วนคือความไม่คาดหวังกับหนังญี่ปุ่นโดยรวม ๆ แต่กลับกลายเป็นว่ารวมหนังสั้นนี้ทำให้นึกถึงความจริงหลากหลายมุมมองแบบเดียวกันกับหนังของ Abbas Kiarostami หลายเรื่องเลยทีเดียว

ในขณะที่หนังสั้นเรื่องที่หนึ่งและสามเน้นความกำกวมว่าสถานการณ์จริงเป็นอย่างไร (นางแบบบอกหรือไม่บอกเรื่องแฟนเก่า และสองตัวละครหลักเป็นเพื่อนเก่าหรือคนแปลกหน้า) เหตุการณ์ในหนังสั้นเรื่องที่สอง (ชื่อ Door Wide Open) ชัดเจนเปิดเผยทั้งกับคนดูและตัวละครอื่น (เพราะเปิดประตูห้องไว้) แต่บรรยากาศของเรื่องก็มีความไม่แน่นอนเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตัวละครที่เป็นอาจารย์อาจจะดูมีแต้มต่อจากความสามารถ ตำแหน่งหน้าที่ หรือความตรงไปตรงมา แต่ก็เปราะบางต่อการยั่วเย้าและคำครหาเช่นกัน

ความพลิกผันนี้เกิดขึ้นจากทั้งเจตนาและความบังเอิญผสมปนเปกัน ความไม่เนี้ยบลงล็อกเหมือนจับวางกลับกลายเป็นความสมจริงขึ้นมา รายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงกลายเป็นความสากล เหมือนว่าเรื่องเล่านี้สามารถเกิดขึ้นในห้องพักครูไหนก็ได้ ส่วนตัวแล้วผมเลยรู้สึกอินกับหนังสั้นเรื่องที่สองมากเป็นพิเศษ

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล / อาจารย์คณะนิติศาสตร์, ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย :
หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์ (2022, ฉันทนา ทิพย์ประชาติ)

ซีรีสเพียงแปดตอนที่บอกเล่าชีวิตวัยรุ่นอิสานบ้านโนนหินแห่ การเติบโตของตัวละครที่สีสันแสนจัดจ้านและมีอยู่จริง พูดถึงความเยาว์วัยอันเจิดจ้าไปพร้อมกับสะท้อนความตีบตันเหลื่อมล้ำของสังคมนี้ได้อย่างสนุกสนานและซื่อตรงที่สุด ทั้งหมดนี้ประกอบสร้างด้วยชั้นเชิงภาพและการลำดับเรื่องที่คมคายที่เห็นชัดถึงความตั้งใจของคนทำงานทุกรายละเอียด

‘หน่าฮ่าน’ เป็นที่สุดแห่งปีสำหรับเรา เพราะมันเปิดโลกเราให้เห็นความมีชีวิตชีวาของวัยรุ่นนอกกรุงเทพฯ ในมุมที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน งดงามลึกซึ้ง เข้าอกเข้าใจและไม่ตัดสิน เพราะมันมอบความสุขความบันเทิง เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวน้ำตาซึมจุกอก ให้ต้องหวีดร้องเอาใจช่วยตลอดระยะเวลาที่ออนแอร์และตอนกลับมาดูซ้ำ เพราะมันพาให้เราสะท้อนใจกับความทุกข์อันหลากหลายของผู้คนในบ้านเมืองลงแดงนี้ ทำให้เราหวนระลึกถึงประวัติศาสตร์ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน เพราะมันมอบความหวังกับเรา ทั้งจากความชื่นใจที่ได้เห็นความจริงใจของคนทำงานศิลปะ และจากพลังของหนุ่มสาวที่จะไม่ยอมจำนนต่อสภาพที่เป็น

พูดจริง ๆ เราจะเรียกร้องอะไรจากซีรีสวัยรุ่นได้มากกว่านี้อีก เป็นเรื่องที่เราคงกลับมาดูซ้ำ ๆ อยากให้มันไปไกล อยากให้คนกรุงเทพฯ ได้ดู คนต่างจังหวัดได้ดู อยากให้คนต่างชาติได้ดูด้วย

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here