FILM CLUB YEAR LIST 2022 : ตอน 1

ปี 2022 จบลงไปแล้ว ดูเหมือนโลกกำลังกลับมาเป็นปกติอย่างเชื่องช้า ผู้คนเริ่มออกเดินทางไกลกันได้บ้างแล้ว เมืองก็กลับมาคึกคักขึ้นทีละน้อย ขณะที่สถานการณ์โลก ทั้งโรคระบาดที่ยังไม่สงบ และสงครามในยูเครนที่ยังคงไม่สงบ ท่ามกลางความกังวลนี้ ชีวิตดำเนินกันต่อไป

สำหรับคนดูหนังชาวไทย หนึ่งในวิกฤติที่เรากำลังเผชิญคือจำนวนคนดูหนังโรงที่หดหายไปหลังจากการแพร่ของโรคระบาด อาจจะเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ คนดูหนังในสตรีมมิ่งหมดแล้ว ค่าตั๋วหนังแพงเกินไป หรือหนังไม่น่าสนใจพอ เราก็ไม่อาจระบุชี้ชัด แต่บอกได้ว่านี่คือปีที่ไม่น่าจะดีนักสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในไทย แม้ปลายปีเราจะได้ชุ่มชื่นใจจากการกลับมาของเทศกาลหนังนานาชาติอย่าง World Film Festival of Bangkok ก็ตาม

กระนั้นก็ยังมีคนดูหนัง แม้จะไม่ใช่ในโรง ก็ยังมีคนดู ในเทศกาล ในจอทีวีที่บ้าน ในนิทรรศการ ในโทรศัพท์มือถือ ภาพเคลื่อนไหวยังคงอยู่กับเรา 

ในปีที่ยากลำบากอีกปีหนึ่งนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2022 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกท่ามกลางมหาสมุทรของภาพเคลื่อนไหว โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉายและรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง

ภัควดี วีระภาสพงษ์ / นักแปล
Memoria (2021, Apichatpong Weerasethakul)

Memoria ความทรงจำคือห้วงลึกของมายาคติที่ผสานรวมเป็นเรื่องราวหนึ่ง การหลับและการตายอาจเป็นสิ่งเดียวกัน มนุษย์อาจเป็นแค่ขยะชีวภาพ แต่ละคนล่องลอยแสวงหาจุดหมายปลายทางโดยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นแค่ฝุ่นในอวกาศ นี่เป็นหนังของอภิชาติพงศ์ที่ดูสนุกมาก มีจังหวะโบ๊ะบ๊ะให้ขำมากหลายตอน (คำชม) ภาพแต่ละเฟรม แสงเงา โลเคชั่น อาคารบ้านเรือน เสียงดนตรี/เพลงประกอบ เสียงธรรมชาติ นักแสดงสมบูรณ์แบบ ท่วงท่าที่ทิลดา สวินตันเอียงตัวฟังเสียงลำธารจะเป็นฉากคลาสสิกในภาพยนตร์ตลอดไป

คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง / นักวิจารณ์และอาจารย์พิเศษด้านภาพยนตร์ : 
การแสดงของวง LE SSERAFIM ในงาน 2022 Melon Music Awards 

ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า เป็นธรรมเนียมของวงการเคป๊อปที่ช่วงปลายปีจะมีงานประกาศรางวัลหรือคอนเสิร์ตรวมฮิตมากมาย ดังนั้นช่วงธันวาคม-มกราคม ศิลปินจะต้องตระเวนโชว์เพลงฮิตปีนั้น ๆ ของตัวเองราว 10 เวทีได้ ซึ่งความยากคือ จะร้องจะเต้นเฉย ๆ ไม่ได้ไง ต้องหากิมมิกหรือความน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับแต่ละเวที ไม่ว่าจะรีมิกซ์เพลงใหม่ ขนกองทัพแดนเซอร์มาทั้งค่าย หรือจุดพลุตูมตามอลังการ ฯลฯ 

ในบรรดาเกิร์ลกรุ๊ปของปี 2002 วง LE SSERAFIM อาจจะดังสู้ IVE หรือ NewJeans ไม่ได้ แต่เราขอยกตำแหน่ง Best Performance of the Year ให้กับพวกเธอ เรียกได้ว่าในศิลปินรุ่นใหม่วงนี้เต้นกันโหดที่สุดแล้ว เห็นท่าเต้นแต่ละอย่างแล้วอดปวดหลังปวดเอวตามไม่ได้ ส่วนโชว์ของพวกเธอในงาน MMA2022 ก็น่าทึ่งกับการทำงานกับแดนเซอร์กลุ่มใหญ่ ทั้งการแปรแถว การจัดแถวต่าง ๆ มันทำให้ร้องว้าวได้อย่างไม่หยุด 

การันตร์ วงศ์ปราการสันติ / จิตแพทย์/ ผู้กำกับหนังสั้น :
Smile (2022, Parker Finn)

ความรู้สึกหลังจากดูจบ รู้สึกได้เลยว่า หนังมีกลไกคล้ายกับ It follow…

มันใช้สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราต้องสังเกต คุกคาม และมันยังพูดถึงการ empathy แบบ fake ได้แสบคันเหลือเกิน

ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ / นักเขียน นักแปล บรรณาธิการ :
Innocents (2021 / Eskil Vogt / NOR)

Innocents อาจไม่ใช่หนังที่ทำออกมาเอาใจคอหนังสยองขวัญเท่าไร องค์ประกอบส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างมาเพื่อรับใช้ความเป็นหนังสยองขวัญตั้งแต่ต้น โครงเรื่องที่น่าจะเป็นหนัง ‘ชีวิต’ มากกว่า ที่พูดถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวและพี่น้องร่วมสายเลือด หากเทียบหนังในตระกูลเดียวกันที่พูดถึง ‘พลังจิต’ หากแต่ Innocents ก็มีอะไรที่ ‘พิเศษ’ ในตัวมันเองคือ เป็นหนังสยองขวัญที่ชวนให้ปั่นป่วนข้างในอย่างแท้จริง โดยเฉพาะคนเป็นพ่อ-แม่

KhunChain Silanon / Cinephiles :
Tora’s Husband (2022 / Rima Das / India)

มันเป็น slice of life ในช่วงโควิดที่ทั้งเศร้าและงดงาม ในแต่ละวันชีวิตพบเจอปัญหามากมาย ธุรกิจอาหาร เบเกอรี่ที่ลูกค้าลดน้อยลง ธุรกิจที่ลงทุนใหม่ขาดทุน ลูก ๆ ดื้อซนน่าปวดหัว ความเครียดทำให้เงียบเก็บตัว เมียก็พาลคิดว่าเขาหมดรักเธอแล้ว และยังการล็อกดาวน์ ผู้คนรอบตัวที่รู้จักตายเพราะโควิดทีละคนสองคน เขาเลือกที่จะเก็บเงียบอยู่กับปัญหา ใช้เหล้าเป็นสิ่งบรรเทา แต่มันก็ได้ทำลายสุขภาพร่างกายของเขา 

และที่ชอบมาก ๆ ช่วงโควิด คนที่ลำบากมีปัญหาไม่ใช่แค่ชนชั้นล่าง คนชนชั้นกลางที่มีธุรกิจเขาอาจเจอปัญหาได้เพียงแต่คนอื่น ๆ ไม่รู้ และยังมีหยิบยืมขอเงินจากเขากันอีก คิดว่าชีวิตของเขานั้นดีสุขสบาย

นภัทร มะลิกุล / นักวิจารณ์ นักเขียนประจำ Film Club :
CODA (2021, Sian Heder)

ความสวยงามของภาษาที่ไม่อาจใช้เสียงในการสื่อสารคือแกนกลางของหนังเรื่องนี้ มันทำให้เราครุ่นคิดว่า ภาษาร่างกายอาจเป็นภาษาพื้นฐานที่สุดที่คนต่างวัฒนธรรมใช้สื่อสารกันได้ และด้วยเหตุนั้นมันจึงมีความเป็นสากลอย่างมาก หนังพยายามตอบคำถามว่าคนเราสื่อสารกันเพื่ออะไร – และการถูกเห็นและเข้าใจมันสำคัญอย่างไรต่อตัวตนมนุษย์ พร้อมกันนั้นก็ยกชูความรักของครอบครัวในฐานะองค์ประกอบพื้นฐานของชีวิตที่จะส่งให้เยาวชนได้ทำตามฝัน

วรงค์ หลูไพบูลย์ / สำนักพิมพ์ บทจร :
Love Life (2022, Koji Fukada)

ไม่ได้คุยกับท่านอื่น ๆ จึงไม่รู้ความรู้สึกและความเข้าใจของท่านอื่นแลกเปลี่ยนกันเลย ไม่รู้ว่าคิดว่าตอนจบ ครอบครัวนางเอกยังคงไปต่อมั้ย เพราะภาพตอนจบก็มีแค่ภาพแช่ระยะไกลเผยให้เห็นพระเอกกับนางเอกออกเดินเล่นไปด้วยกัน เมื่อนางเอกกลับญี่ปุ่นหลังจากเดินทางกับคนรักเก่าไกลไปถึงเกาหลี

พูดตามความรู้สึกผมตอนดู ครอบครัวนี้ไปรอดอ่ะ แบบไม่กังขาใจอะไรเลยด้วย ซึ่งน่าจะเพราะสองอย่าง อย่างแรกเลยคือบุคลิกและหัวใจของนางเอก เธอแข็งและหยัดยืนจนเหลือเชื่อ แม้เธอจะเกรงใจพ่อสามี แต่เธอท้วงอย่างไม่ลดราวาศอกเมื่อพ่อสามีหลุดปากว่าเธอมันพวกของเหลือเดน แต่เธอยืนหยัดของเธอ ก็ไม่ได้ด่ารุนแรงกลับอะไร เพียงแค่ยืนหยัดจนพ่อสามีเอ่ยปากขอโทษเธอเอง

ความเด็ดเดี่ยว แต่ผู้เดียว และโดยสงบ ระดับหัวใจน่ากราบของเธอนี่เอง ที่เป็นที่มาของความเชื่อมั่นอย่างล้นเหลือว่าทุกอย่างจะฟันฝ่าไปได้ มิไยว่าเธอจะถูกทิ้งไว้พร้อมลูก พ่อผัวรังเกียจ เพื่อนร่วมงานเม้าท์มอยว่าแย่งของชาวบ้าน หรือถูกผู้ชายหลอกไปไกลถึงเกาหลี และเต้นรำกลางสายฝนแต่ผู้เดียวตอนงานแต่งร้างผู้คน ไม่ว่าจะเกิดอะไร เธอจะยืนหยัดแต่ผู้เดียวโดยสงบไปเช่นนี้แล

(แต่อะไรทำให้เธอแตกต่างจากเมียไชคอฟสกีนะ?)

อย่างที่สองคือ เหมือนครอบครัวนี้มีลักษณะการพยายามประคับประคองอยู่อ่ะ ซึ่งถ้าเทียบกับอีกเรื่องที่เป็นหนังเรื่องครอบครัวญี่ปุ่นที่ผมชอบอย่าง Happy Hour (2015, Ryūsuke Hamaguchi) ที่ลงเอยด้วยทุกครอบครัวล้วนแยกทางกันไปหมด ในเรื่องนั้นเหมือนมีความเปราะบางอย่างที่รอวันล่ม ที่จริง ผมว่าในหนัง Love Life ดูสมจริงสอดคล้องสมจริงกับเรื่องราวที่ผมได้ยินได้ฟังมาจากเพื่อนฝูงไม่น้อยเลย คือความตึงเครียดระหว่างพ่อแม่ของแต่ละบ้าน การหลุดปากหรือเก็บอาการไม่อยู่ของแม่ผัวทั้งที่เธอพยายามเต็มที่ที่จะรักลูกสะไภ้ และตอนพระเอกบ่นออกมาดัง ๆ ให้คนรักเก่าของนางเอกที่เขาทราบว่าจะฟังคำบ่นของเขาไม่รู้เรื่อง เหมือนกับเป็นช่องทางระบายให้ความตีงเครียดของครอบครัวมีที่ทางผ่อนปรนของมันออกมาบ้าง เพื่อจะได้ช่วยประคับประคองกันต่อไป

น่าจะเป็นหนังที่ติดอยู่ในใจไปอีกนานเลย ดีใจจริง ๆ ที่ได้ดูเรื่องนี้ในเทศกาลครับ

กัลยรัตน์ ธีรกฤตยากร / ผู้กำกับหนังสั้น ‘เจริญวิริญาพรมาหาทำใน 3 โลก‘ :
The Worst Person in the World (2021, Joachim Trier)

The Worst Person in the World กำกับโดย Joachim Trier ค่ะ เป็นหนังที่ดูในโรงตั้งแต่ต้นปี และดูซ้ำอีกรอบในสตรีมมิ่งตอนปลายปี แต่ยังคงเป็นอันดับ 1 ในใจจนถึงตอนนี้ หนังทำงานกับเราให้ประทับใจทั้งในแง่ความงดงามของภาพยนตร์และความงดงามในความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์แบบเดียวกับที่เราเป็น

Inertiatic Groovfie Viaquez / Cinephile :
Maanaadu (2021, Venkat Prabhu)

ไม่มีคำว่าเกินจริงถ้าจะบอกว่านี่คือสุดยอดหนังวนลูปของอินเดียเลยก็ว่าได้ ตัวหนังก็ไม่อายที่จะบอกว่าหยิบยืมแรงบันดาลใจ/ทฤษฏีการวนลูปจากหนังดัง ๆ ผ่านบทสนทนาของพระเอกกับเพื่อนต่อสิ่งที่เขาเพิ่งเจอการวนลูปด้วยตัวเองมา 

แม้ว่าแรกเริ่มอาจจะหมั่นไส้พระเอกไปบ้างก็ตาม แต่เชื่อเหอะ เมื่อหนังเริ่มการวนลูปครั้งแรกขึ้นมาปั๊บ หนังก็สนุกขึ้นเรื่อย ๆๆๆ จนอดสงสัยระหว่างการรับชมไม่ได้ว่า นี่หนังยาวเกือบสองชั่วโมงครึ่ง แค่ครึ่งเรื่องมันก็เหมือนจะมาสุดทางหนังวนลูปซะแล้ว แต่เริ่มครึ่งหลังปุ๊บ มันเหมือนการปลดล็อคหนังวนลูปขึ้นอีกระดับ ที่นำมาซึ่งความสนุกแบบยกระดับไปอีกเท่าตัวเลยก็ว่าได้ 

โดยรวมแล้วเป็นหนังวนลูปที่มีหลากหลายอารมณ์ เป็นทั้งหนังไล่ล่า หนังจิตวิทยา หนังพลิกเกมกันไปมา และเป็นหนังตลก …มันเป็นความตลกที่อยู่บนความจริงจังเป็นหนังวนลูปด้วยนะ แถมขย้อนความตลกได้อีกหลายดอกด้วย

ธีพิสิฐ มหานีรานนท์ /บรรณาธิการสายไลฟ์สไตล์และศิลปวัฒนธรรม ไทยรัฐพลัส :
‘กลรักรุ่นพี่’ (2022, ผดุง สมาจาร / WeTV Original Series

อันที่จริง ปี 2022 นี้ถือว่าเป็นปีที่ผมเสพสื่อแนวอื่น ๆ เยอะกว่าซีรีส์วาย (ที่เคยกระหน่ำดูหนัก ๆ เมื่อตอนเกิดโควิด-19 ในช่วงปี 2020) แต่ก็ดูเหมือนว่าสื่อภาพเคลื่อนไหวที่สัมผัสใจและตรงจริตผมที่สุดในปีนี้ก็ยังหนีไม่พ้นซีรีส์วายอยู่ดี เพียงแต่มันตกเป็นของซีรีส์วายไทยที่ชื่อ ‘กลรักรุ่นพี่’ ฉบับ WeTV โดยที่ไม่ได้มีเรื่องอื่นใดเข้ามาเป็นผู้ท้าชิง

เหตุผลสำคัญที่สุดอาจเป็นเพราะตัวละครในเรื่องอย่าง น้องมาร์ก (วอร์ วนรัตน์) กับ พี่วี (หยิ่น อานันท์) นั้นเปรียบได้กับเป็น spirit animal หรือ ‘สัตว์แห่งจิตวิญญาณ’ -ที่มาในรูปของมนุษย์- ของผมอย่างไม่มีข้อสงสัย นับตั้งแต่ตอนแรก ๆ ที่ได้ดู ด้วยค่าที่ฝ่ายแรกเป็นเพียงเด็กปีหนึ่งที่ ‘พยายาม’ จะไขว่คว้าหาความรักจากคนอื่น และค่อย ๆ ได้เรียนรู้ว่าคนเราควรรักกันอย่างไร ขณะที่ฝ่ายหลังเป็นรุ่นพี่ปีสามที่ทั้งงี่เง่าและไม่สมบูรณ์แบบในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็ยัง ‘พยายาม’ ที่จะมอบความรักดี ๆ ให้กับคนอื่นอยู่เสมอ – ซึ่งเป็นสถานะที่ผมเคยผ่านมาแล้วทั้งสิ้น

นี่ยังไม่รวมถึงการที่มนุษย์สองคนนี้มักเลือกใช้ชีวิตอย่างไปสุดทางในแบบของตัวเอง (เช่น การปาร์ตี้หนัก ๆ เมื่ออกหัก จนผลัดกันอ้วกแตกอ้วกแตนกันตลอดทั้งเรื่อง) และการไม่เกรงกลัวกับกรอบการตัดสินดี-ชั่วของสังคม (มากนัก) เมื่อพวกเขาพบว่าต่างฝ่ายต่างชอบพอกันอย่างสุดหัวใจ แม้อีกคนหนึ่งจะมีคนรักที่เป็นผู้หญิงอยู่แล้ว ซึ่งในเวลาต่อมาเราก็จะได้พบสัจธรรมที่ว่า เราทุกคนล้วนมีโอกาสทำสิ่งที่ผิดพลาดในชีวิตได้เหมือน ๆ กันทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ดังนั้น การที่ซีรีส์วายอย่าง ‘กลรักรุ่นพี่’ กล้าพอที่จะถ่ายทอดตัวละครที่มีนิสัยหรือพฤติกรรมที่ไม่ค่อยน่ารักนัก อย่างมีเลือดเนื้อและชีวิตจิตใจมากพอ จนทำให้ผู้ชมส่วนหนึ่งสามารถค่อย ๆ ‘ทำความเข้าใจ’ และ ‘เห็นอกเห็นใจ’ คนทั้งคู่ที่กำลังเรียนรู้ถึง ‘มุมสีเทา ๆ’ ในชีวิตของมนุษย์ได้นั้น …มันจึงกลายเป็นซีรีส์ที่ผมต้องกลับไปย้อนดูซ้ำและเสียน้ำตาให้กับมันบ่อยที่สุดของปีนี้ 

– ซึ่งผมคิดว่ามันสัมผัสใจผู้คนและส่งอิทธิพลกับการมองโลกอย่างที่มันเป็นจริงๆ มากกว่าการเป็นเรื่องเล่าที่พยายามทำตัวมีศีลธรรมสูงส่งหรือคอยสั่งสอนคนดูอยู่ตลอดเป็นไหน ๆ 

อ่านความชอบ ‘กลรักรุ่นพี่’ ของผมแบบลงลึกได้ ที่นี่

filmclub
กอง Film Club

RELATED ARTICLES