FILM CLUB YEAR LIST 2022 : ตอน 4

*อ่านตอน 1 ได้ที่ FILM CLUB YEAR LIST 2022 : ตอน 1
ตอน 2 ได้ที่ FILM CLUB YEAR LIST 2022 : ตอน 2
และตอน 3 ได้ที่ FILM CLUB YEAR LIST 2022 : ตอน 3

บดินทร์ เทพรัตน์ : นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และผู้ก่อตั้งกลุ่มฉายหนัง ‘ปันยามูฟวี่คลับ’
No Bears (2022, Jafar Panahi)

หนังที่ผมประทับใจที่สุดแห่งปีได้แก่ หนังอิหร่านเรื่อง No Bears (ผู้กำกับ – จาฟาร์ ปานาฮี) และ Hit the Road (ปานาห์ ปานาฮี) ซึ่งเป็นผลงานของผู้กำกับสองพ่อลูก หนังสองเรื่องนี้เข้าฉายปีเดียวกันและได้รับเสียงชื่นชมจากเทศกาลหนังต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งถึงแม้แนวหนังกับองค์ประกอบต่าง ๆ จะแตกต่างกัน แต่ก็มีบางอย่างที่สอดคล้องกัน เช่น การพูดถึงการลี้ภัย และการสะท้อนถึงการเมืองของอิหร่านในปัจจุบัน

No Bears บอกเล่าเรื่องราวของผู้กำกับ (จาฟาร์ ปานาฮีรับบทเป็นตัวเขาเอง) ซึ่งฝังตัวอยู่ในหมู่บ้านชนบทติดชายแดนเพื่อกำกับหนังผ่านช่องทางออนไลน์กับทีมงานที่ตุรกี ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับคู่รักที่ต้องการลี้ภัย ต่อมาเขาได้เข้าไปข้องเกี่ยวกับเรื่องขัดแย้งในหมู่บ้านจนเกิดความวุ่นวายตามมา
จาฟาร์ ปานาฮีเป็นผู้กำกับรุ่นใหญ่ที่มีผลงานโด่งดังระดับนานาชาติ ในปี 2010 เขาโดนคำสั่งห้ามทำหนังเป็นเวลา 20 ปีจากรัฐบาลจนทำให้เขาต้องลักลอบทำหนังแบบใต้ดินหลายเรื่อง แต่หนังที่ออกมาล้วนมีคุณภาพและเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ เช่นเดียวกับ No Bears ซึ่งมีลักษณะเป็น Meta Cinema ซึ่งเล่นกับความพร่าเลือนของเส้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่งได้อย่างสนุกมือ นอกจากนั้นหนังยังมีเนื้อหาที่น่าสนใจอย่างการตั้งคำถามต่อความเชื่อกับประเพณี สังคมเคร่งจารีตและอำนาจนิยม รวมถึงการแสดงให้เห็นถึงความอยุติธรรม ความเศร้า ความโกรธ ความเจ็บปวดที่ประชาชนต้องพบเจอจากการอยู่ภายใต้รัฐเผด็จการ

Hit the Road บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งซึ่งประกอบด้วยพ่อแม่และลูกชายสองคน พวกเขาออกเดินทางไกลด้วยรถยนต์ท่ามกลางเส้นทางชนบทที่เวิ้งว้าง พวกเขาต้องเผชิญกับสถานการณ์วายป่วงทั้งที่เกิดจากพวกเขากันเองและเหล่าผู้คนที่พวกเขาพบเจอ

หนังเรื่องนี้เป็นผลงานกำกับหนังยาวเรื่องแรกของปานาห์ ปานาฮี มันเป็นแนว Road Movie ซึ่งเนื้อเรื่องชวนให้คิดถึง Little Miss Sunshine แต่อบอวลไปด้วยบรรยากาศที่หนักอึ้งและแฝงประเด็นทางการเมืองชัดเจนกว่า โดยหนังเฉลยภายหลังว่าพวกเขาเดินทางไปชายแดนเพราะต้องการแอบพาลูกชายคนโตลี้ภัยโดยพวกเขาต้องขายข้าวของหาเงินมาใช้เพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก

หนังสองเรื่องนี้สะท้อนถึงสภาพสังคมการเมืองของอิหร่านทุกวันนี้ ที่ชีวิตคนธรรมดาต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากรัฐบาลเผด็จการซึ่งจำกัดเสรีภาพการแสดงออก และแทรกซึมการควบคุมบงการชีวิตของประชาชนในทุกระดับ ส่งผลให้หลายคนเลือกเสี่ยงหนีออกนอกประเทศทั้งที่ปลายทางข้างหน้ายังไม่เห็นแสงสว่าง อีกทั้งไม่ใช่หนทางที่ทำได้โดยง่ายและต้องเสียสละหลายสิ่งในชีวิต (ยิ่งได้ดูในช่วงเวลาที่สถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้มีลักษณะสอดคล้องกับในหนัง ก็ทำให้รู้สึกอินได้ไม่ยาก)

นภัทร มะลิกุล : นักวิจารณ์ นักเขียนประจำ Film Club
CODA (2021, Sian Heder)

ความสวยงามของภาษาที่ไม่อาจใช้เสียงในการสื่อสารอาจเป็นแกนกลางของหนังเรื่องนี้ มันทำให้เราครุ่นคิดว่า ภาษาร่างกายอาจเป็นภาษาพื้นฐานที่สุดที่คนต่างวัฒนธรรมใช้สื่อสารกันได้ และด้วยเหตุนั้นมันจึงมีความเป็นสากลอย่างมาก หนังพยายามตอบคำถามว่าคนเราสื่อสารกันเพื่ออะไร – และการถูกเห็นและเข้าใจสำคัญอย่างไรต่อตัวตนมนุษย์ พร้อมกันนั้นก็ยกชูความรักของครอบครัวในฐานะองค์ประกอบพื้นฐานของชีวิตที่จะส่งให้เยาวชนได้ทำตามฝัน

ธนกฤต กฤษณยรรยง : ผู้กำกับหนังสั้น ศิลปิน
พญาโศกพิโยคค่ำ The Edge of Daybreak (2021, ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์)

ความเจ็บป่วยไข้ ที่ตกอยู่ในวังวนซ้ำแล้วซ้ำอีกของชาวไทย

ณัฐวร สุริยสาร : ผู้กำกับหนังสั้น
มายาพิศวง (2022, หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล )

อาจจะมีหนังที่ชอบมากกว่านี้ แต่ไม่มีเรื่องไหนที่ทำงานกับความรู้สึกและสำนึกทางภาพยนตร์ของเราได้มากเท่ากับหนังเรื่องนี้อีกแล้วในปีนี้ ด้วยจริตและวิธีคิดในแบบของหม่อมน้อย ปรมจารย์นักทำหนังที่น่าจะมีชีวิตและ career path ในการทำหนังยาวนานที่สุดคนหนึ่งในประเทศนี้ อยู่จนมาถึงยุคที่ความเป็นไปได้ทางภาพยนตร์ขาดแคลนราวกับน้ำมันปาล์มขาดตลาดเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ หนังของหม่อมจึงเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงวิธีการทางภาพยนตร์ที่บัดนี้มันได้สูญหายไปพร้อมกับตัวบุคคลเรียบร้อยแล้ว และเราอาจจะไม่ได้เห็นวิถีที่เฉพาะตัวแบบนี้จากคนทำหนังปัจจุบันและอนาคตไปพักใหญ่ ๆ เลย มันเลยสั่นสะเทือนจิตใจเรายิ่งกว่าหนังดี ๆ จากประเทศลับแลเสียอีก

พัลลภัทร น้อยธิ : จิตแพทย์ คนดูหนัง เขียนวิจารณ์ประปราย
My Liberation Notes (Kim Suk-Yoon/South Korea/2022/16 episodes)

เป็นซีรี่ส์ที่ช่วง 3-4 ตอนแรกน้ำตาจะไหลให้ได้ทุกตอน ทั้ง ๆ ที่มันไม่ได้เล่าเรื่องราวอะไรใหญ่โต ไม่ได้มีดราม่าชีวิตรันทดอะไรขนาดนั้น แต่ชีวิตธรรมดา ๆ ที่ติดนั่นนิดติดนี่หน่อยแต่รวม ๆ แล้วไปไหนหรือทำอะไรไม่ได้เลยนี่แหละที่ทำให้ใจสั่นไหวตลอดเวลา ซึ่งที่สำคัญคือมันก็คือชีวิตแบบที่เรา ๆ กำลังมีกันอยู่นี่แหละ

หนังเล่าเรื่องของสามพี่น้องที่บ้านอยู่คยองกีซึ่งเป็นจังหวัดข้างเคียงของโซลที่ต้องเดินทางเข้ามาทำงานในโซลทุกวัน ซึ่งแค่เรื่องของคยองกีนี่ก็น่าสนใจแล้ว โดยตำแหน่งของจังหวัดนี้มันควรจะให้ความรู้สึกเหมือนเขตจังหวัดปริมณฑลบ้านเรา แต่พูดง่าย ๆ คือแค่พ้นหลุดมาจากโซลนิดเดียวก็เหมือนอยู่บ้านนอกไปเลย (แล้วไปดูแผนที่ โซลกับคยองกีนี่ก็เหมือนไข่ดาวตามที่ตัวละครพูดจริง ๆ) ซึ่งการเดินทางเข้าเมืองมาทำงานนี่น่าจะเป็นความจำเป็นของคนในยุคนี้ที่ในเมืองก็เจริญเกินไปจนไม่สามารถจ่ายค่าเช่าที่พักไหว แต่จะทำงานที่ใกล้บ้านก็ไม่มีงานที่ค่าตอบแทนเพียงพอเพราะบ้านนอกเกินไป นี่ยังดีว่ายังมีขนส่งสาธารณะครอบคลุมแต่แค่เดินทางก็เหนื่อยจนหมดพลัง และแต่ละคนก็มีประเด็นส่วนตัวแตกต่างกันไป “ยอมกีจอง” พี่สาวคนโตมีปัญหาเรื่องความรักด้วยอุปนิสัยส่วนตัวที่ไม่ค่อยน่ารักเท่าไร พูดจาอะไรบางทีไม่ค่อยคิด “ยอมชางฮี” ลูกชายคนเดียวของบ้านที่ดูเป็นคนเรียบๆน่าเบื่อ แล้วก็ดูเป็นคนไม่เอาไหนในสายตาคนในบ้าน “ยอมมีจอง” น้องคนเล็กที่แม้จะหน้าตาสะสวยแต่ก็เป็นคนมืดหม่นดูไม่มีความสุขตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นตัวละครหลักของเรื่อง

จุดเปลี่ยนสำคัญของมีจองคือการที่เธอมี “คุณกู” ชายขี้เหล้าผู้มีอดีตลึกลับซึ่งมาทำงานอยู่ที่บ้านของเธอ และเพราะเหตุใดก็ไม่อาจบอกได้ มีจองได้บอกให้คุณกูมา “เชิดชู” เธอ ซึ่งจริงๆเป็นคำที่แอบตลกอยู่ แต่ไปลองเทียบกับคำแปลภาษาอังกฤษมันอาจจะเป็นความหมายคลุม ๆ ทั้งเชิดชู ยกย่อง นับถือ บูชา ก็พอจะเข้าใจอยู่บ้าง มีจองบอกว่าสิ่งที่เธอต้องการมันมากกว่าต้องการให้คนมารักเธอ แต่มันคือการ “เชิดชู” ซึ่งเราเข้าใจว่ามันหมายถึงการให้ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งเอาจริง ๆ ความหมายของฉากนี้มันก็คือ “มารักฉันที รักฉันให้มากกว่าใคร ๆ” ประมาณนั้นแหละ

แต่ลำพังมีคุณกูแต่ไม่มี “ชมรมอิสรภาพ” มันก็คงไม่สามารถสร้างจุดเปลี่ยนอะไรได้ จากชมรมของบริษัทที่กึ่ง ๆ ถูกบังคับให้ต้องเข้าจนสุดท้ายมีคนที่มีปัญหากับการเข้าชมรมเหมือนกันก็เลยมาตั้งชมรมกันเอง ชมรมอิสรภาพเป็นเหมือน group therapy ที่ “ไม่ต้อง therapy” ในความหมายที่ไม่ต้องชื่นชม ไม่ต้องปลอบใจ แต่ละคนก็แค่มาพูดสิ่งที่อยู่ในใจ แต่สิ่งนี้มันก่อให้เกิดกระบวน therapy ในตัวเองโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งเป็นจุดที่เราชอบมาก ๆ ถ้าไม่มีชมรมนี้เราเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างมีจองกับคุณกูจะเป็นอะไรที่พังทลายมาก ๆ แต่เมื่อมีทั้งความสัมพันธ์ที่ตัวมีจองพยายามจะสร้างและมีกลุ่มบำบัดที่เธอได้มีโอกาสสำรวจตัวเองมันจึงทำให้เกิดผลลัพธ์บางอย่างที่เปลี่ยนไป

หนังเล่าเรื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป หนังแทบไม่มีเหตุการณ์สำคัญ หรือถ้ามีก็มักจะเก็บไว้เล่าทีหลัง และพอเล่าแบบเรียบ ๆ ไม่บีบคั้นใด ๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นการสนทนาของตัวละครสลับกับความนึกคิดของตัวละคร ซึ่งถ้าคลิกก็คลิกมาก ๆ

เราชอบที่ตัวละครอย่างมีจองตัดสินใจ “ช่วย” คุณกู (ซึ่งดื่มเหล้าเป็นน้ำ) ด้วยการ “ไม่ช่วย” สิ่งที่เธอทำก็แค่อยู่ตรงนั้น (ข้าง ๆ คุณกู) ในบางเวลา และเปิดโอกาสให้เขาได้ทำอะไรบางอย่างเพื่อเธอ ซึ่งฟังดูแปลก และก็ดูจะมีความอวดดีเล็กน้อย (คือถ้าไม่มั่นใจว่าตัวหน้าตาดีก็คงใช้วิธีนี้ไม่ได้) แต่สิ่งเหล่านี้ก็ค่อยคืนชีวิตให้คุณกูที่ก่อนหน้านั้นเหมือนจะเป็นหุ่นยนต์มากกว่ามนุษย์

ส่วนคุณกูนี่ช่วงแรก ๆ เราชอบมากเพราะพูดน้อยดี 555 (คือก็รู้เหมือนคุณกูที่บอกว่า มันเหนื่อยเหลือเกินที่ต้องได้ยินความพูดของคนอื่นแล้วยิ่งต้องพูดตอบด้วยก็ยิ่งเหนื่อย ถึงไดอะล็อกนี้ก็แบบว่า นี่มัน “กู” นี่หว่า ไม่ใช่ “คุณกู”) แต่พอครึ่งหลังนี่พูดมากฉิบ แอบรำคาญ 5555

เป็นซีรี่ส์ที่ไม่ค่อยอยากให้จบ เรารู้สึกว่าเราดูเรื่องราวของคนเหล่านี้ต่อไปได้อีกเรื่อย ๆ ยิ่งมันจบแบบปลายเปิดก็ยิ่งอยากเห็นต่อไปว่าชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร

Southern Cross : Cinephiles
Blue Again (2022, Thapanee Loosuwan)

รักทุกวินาทีในหนังเรื่องนี้และหลงใ หลถึงความซับซ้อนของเฉดความเป็นมนุษย์ที่พับทบกันทีละชั้นอย่างประณีต ย้อมฝังด้วยสีครามของความเชื่อ อัตตา และมิตรภาพ

มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ได้ก็เมื่อได้ทำในสิ่งที่ตนเชื่อ แม้ความเชื่อนั้นอาจทำร้ายทั้งตัวเราหรือคนรอบข้าง ทิฐิหรือความทรนงนี้เองที่หล่อเลี้ยงให้มนุษย์เติบโต Blue Again บอกเล่าความทรนงเหล่านี้โดยไร้ซึ่งน้ำเสียงสั่งสอน ใช่แล้ว บนโลกล้วนมีมนุษย์เหล่านี้อยู่ และคุณไม่มีอำนาจ หรือสิทธิ์อะไรที่จะเปลี่ยนแปลงมัน

แต่มนุษย์ก็เป็นเช่นสถาปัตยกรรม อิฐก้อนเดียวไม่สามารถสร้างโบสถ์ได้ฉันใด มนุษย์ก็คงไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ฉันนั้น การยึดโยงกันของมนุษย์เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน เพราะยิ่งมันถูกก่อขึ้น ความทรงจำที่สุขและเศร้าก็พอกพูนจนก่อร่างขึ้นมาเป็นภาชนะแห่งความปรารถนาอันชัดเจน บ้างก็สะอาดสะอ้าน บ้างก็รอวันบูรณะ หรือบางแห่งก็เป็นซากปรักหักพัง

จนถึงวันที่มนุษย์ลาโลกนี้ไป สิ่งที่เหลือไว้คงจะมีแค่ความทรงจำที่ฝังอยู่ในก้อนอิฐแต่ละก้อน มนุษย์อยู่ได้ด้วยการหล่อเลี้ยงความปรารถนาของตนเอง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้ฝากเสี้ยวของตนเองลงไปในชีวิตของคนอื่น กลุ่มก้อนของความทรงจำและซากอาคารหินที่ท่าแร่ ในคืนวันคริสต์มาสของ Blue Again จึงกลายสภาพมาเป็นหนึ่งในภาพที่งดงามที่สุดภาพหนึ่งของภาพยนตร์ไทย

ธนิศวร์ ยันตรโกวิท : ผู้กำกับหนังสั้นและมิวสิกวิดีโอ
After My Death (2022, ทิว เลิศชัยประเสริฐ)

เป็นปีที่มีหนังยาวและสั้นดี ๆ หลายเรื่องมาก แต่เลือกเรื่องนี้จากความรู้สึกล้วน ๆ

ปกติแล้วตัวเองเป็นคนที่เชื่อในเรื่องตัวตนของบุคคลจะล้มหายตายจากไปหากไม่มีใครจดจำ การที่หนังได้บันทึกห้วงเวลาของความทรงจำบางอย่าง ผ่าน Footage ที่เคยถ่ายเล่นกัน ประกอบกับเสียงพูดถึงเพื่อนคนนั้น มันงดงามในฐานะการบันทึกตัวตนของคนๆหนึ่ง แต่ก็เจ็บปวดและเศร้ามากที่ภาพตรงนั้นมันได้หยุดเวลาของคนที่จากไปแล้ว

อนึ่ง นี่เป็นหนังสั้น ๆ ที่สะท้อนภาพความกดดันและเจ็บปวดของวัยรุ่นในยุคนี้ได้ดีมาก ไม่ได้ร้องไห้กับหนังสั้นมาสักพักใหญ่จนเจอเรื่องนี้

พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู : นักวิชาการอิสระ โปรแกรมเมอร์หอภาพยนตร์
Safe Place (2022, Juraj Lerotic)

ในปีที่ได้รับรู้ว่าคนคุ้นเคยเป็นโรคซึมเศร้ากันอยู่เป็นระยะ นี่เป็นหนังที่จบแล้วยังคงทิ้งความรู้สึกติดค้างอยู่ในใจมากที่สุดของปี อีกทั้งเวลาอ่านข่าวหรือได้รับรู้เรื่องคนฆ่าตัวตาย เรามักสนใจผู้คนรอบข้างผู้ตายว่าพวกเขาได้เผชิญกับอะไรและจัดการกับมันอย่างไร นั่นก็เป็นสิ่งที่เราได้เห็นใน Safe Place

หนังไม่ได้พาไปสำรวจสาเหตุการอยากจบชีวิตของตัวละคร หากแต่ถอยห่างออกมาเป็นผู้สังเกตการณ์ ในฝั่งของครอบครัวซึ่งพยายามประคับประคองให้เขามีชีวิตอยู่ ด้วยความรักและร้อนรนกังวลใจ ความไม่รู้ว่าควรจะต้องทำอย่างไร ภายในปฏิบัติการณ์สั้น ๆ เพื่อพาเขาหนีออกจากสถานการณ์นั้นอย่างทุลักทุเล แม้หนังจะเต็มไปด้วยส่วนที่เก็บงำซ่อนไว้และเผยให้เห็นแต่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่ค่อย ๆ ปริแตก แต่แค่นั้นก็เพียงพอต่อการแผ่ซ่านความรู้สึกอันแหลกสลายออกมาสู่ผู้ชมอย่างเฉียบพลัน ทันทีที่ทุกอย่างจบสิ้นลง

ได้ดูหนังในเทศกาล Word film อยากใช้พื้นที่นี้ขอบคุณผู้จัดเทศกาลด้วย ที่ปีนี้ได้นำความรื่นรมย์ ความตื่นตัว และความกระชุ่มกระชวยของการได้ดูหนังในเทศกาลกลับมาอีกครั้ง

สัณห์ชัย โชติรสเศรณี : รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ฯ
The Crown Season 5

The Crown ซีซั่น 5 ดูเหมือนไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร และเป็นซีซั่นที่เดินเรื่องเรียบ ๆ นิ่ง ๆ เหมือนควีนอลิซซาเบธที่สูงวัยขึ้น เมื่อดูจบก็อดรู้สึกผิดหวังไม่ได้ที่มันไม่สนุกเหมือนซีซั่นก่อนหน้านี้

แต่พอนั่งคิดถึงเรื่องราวและประเด็นของแต่ละตอนในซีซั่นที่เหมือนจะต่างเหตุการณ์ต่างวาระ แต่เมื่อร้อยเรียงกันกลับเห็นประเด็นที่ซีซั่นที่ต้องการพูดถึงการเสื่อมความนิยมของสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษ และการทบทวนตัวเองว่ายังคู่ควรในตำแหน่งที่ประเทศเทิดทูนอยู่หรือไม่ ก็ทำให้มองทั้งซีซั่นนี้เปลี่ยนไป

ยิ่งย้อนนึกถึงตอนซีซั่นแรก ๆ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถาบันกษัตริย์ รวมทั้งตัวควีนอลิซาเบธ ยังเป็นที่ต้องการของสังคมอังกฤษ และเมื่อเราได้ดู The Crown ซีซั่น 5 ในช่วงที่ควีนอลิซาเบธสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ยิ่งยืนยันการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในโลกล้วนจะต้องใช้เวลา อาจจะเนิบช้าไม่ต่างจากการเดินเรื่องของซีซั่นนี้ แต่ท้ายที่สุด เวลาจะเลือกอยู่ข้างคนที่พร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ

R.P. Mac : นักเขียนรับเชิญ Film Club
On Another’s Sorrow (2022, Taiwan, YEN Hao-hsuan)

เมื่อแม่จากไป น้องชายกลับบ้าน พี่สาวต้องจัดงานศพตามประเพณี และการแจ้งตายที่ทำให้ต้องติดต่อกับพ่อผู้ไม่เคยโผล่มาให้เห็นหน้า ทั้งยังต้องจัดการความรู้สึกภายในที่ไม่รู้จะต้องแสดงออกอย่างไร ส่วนตัวผู้เขียนมีความรู้สึกร่วมเป็นพิเศษเพราะช่วงปลายปี 2021 ถึงช่วงต้นปี 2022 เป็นช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้า มีผู้คนรอบตัวจากไปหลายคน แม้เรื่องราวจะหนัก แต่หนังสั้นเรื่องนี้ก็ยังสอดแทรกอารมณ์ขำเอาไว้ ไม่ต้องพูดอะไรมาก เพราะเสียงร้องไห้และหน้าตาของคนดูหนังเรื่องนี้จบหลังไฟในโรงเปิดได้พูดแทนไว้หมดแล้ว

ณัฐวุฒิ นิมิตขัยโกศล : นักเขียนประจำ Film Club
AEW Blood and Guts Jericho Appreciation Society VS Blackpool Combat Club
(June 29, 2022)

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ผู้ชมเริ่มให้ความสนใจกับความหลากหลายของมวยปล้ำมากขึ้น ค่ายมวยปล้ำที่นอกกระแสเริ่มถูกให้ความสนใจ พร้อมกับการมาของค่ายมวยปล้ำใหญ่ค่ายใหม่ที่สั่นสะเทือนบัลลังก์ค่ายมวยปล้ำยักษ์ใหญ่หนึ่งเดียวในวงการอย่าง World Wrestling Enterainment (WWE) ก็คือ All Elite Wrestling (AEW)

AEW เริ่มแย่งความสนใจจาก WWE ด้วยสไตล์การปล้ำที่รุนแรง ผาดโผน รวดเร็ว และสตอรี่ไลน์ที่เข้ากับนักมวยปล้ำแต่ละคน การันตีด้วยแมตช์คุณภาพมากมาย ทั้งในโปรแกรมปกติ และโปรแกรมพิเศษใน Pay Per View ซึ่งแมตช์นี้เป็นหนึ่งในการการันตีที่ว่า

ว่าด้วยการปะทะกันระหว่างสองกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในค่าย All Elite Wrestling ช่วงนั้น ระหว่างกลุ่ม Jericho Appreciation Society (JAS) นำทีมโดย Chris Jericho และสาวกที่ชื่นชมเขาน้อมนำแนวทางของการเป็น Sport Entertainer ก็คือนักมวยปล้ำที่ยึดถือคติมวยปล้ำคือความบันเทิง ปะทะกับกลุ่ม Blackpool Combat Club (BCC) จับกลุ่มนักมวยปล้ำที่กระหายการต่อสู้ ยึดถือคติมวยปล้ำเป็นกีฬาขนิดหนึ่งรวมตัวกัน ลูกทีมก็มี Jon Moxley และ Bryan Danielson หรืออดีต Daniel Bryan ทั้งสามคนที่กล่าวมาถือเป็นนักมวยปล้ำระดับท็อปของค่าย

นี่เป็นแมตช์ที่ถือว่ากล้าได้กล้าเสียและทำให้ค่ายนี้เป็นค่ายมวยปล้ำที่แตกต่างจาก WWE เนื่องจากอีกค่ายนั้นเน้นไปที่การสร้างดรามาและ tension จากสิ่งอื่นที่ไม่ใช่การปล้ำ จนทำให้รายการมวยปล้ำออกทีวี 3 ชั่วโมง อาจจะมีแมตช์มวยปล้ำรวมกันไม่ถึงครึ่งชั่วโมงด้วยซ้ำ แต่สำหรับ AEW พวกเขาให้ความสำคัญกับแมตช์มวยปล้ำอยู่เสมอ รายการทึวีของพวกเขามีเวลา 2 ชั่วโมง แมตช์นี้ใช้เวลาไปเกือบชั่วโมง ก็คือครึ่งหนึ่งของรายการ และแมตช์นี้เป็นแมตช์ที่ออกฉายทางฟรีทีวีของอเมริกา ทั้งที่หลายคนบอกว่าคุณภาพขนาดนี้ สามารถขึ้นระดับ pay-per-view ได้สบาย ๆ ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การปล้ำแบบถึงเลือดถึงเนื้อ มีอุปกรณ์เพิ่มความรุนแรง ทั้ง โต๊ะ เก้าอี้ ไม้เคนโด้ หมุดติดกระดาษ ไม้เสียบลูกชิ้น ที่โดนแต่ละครั้งก็สร้างความหวาดเสียวให้กับผู้ชมอยู่ตลอด หรือแม้กระทั่งเนื้อเรื่องความตึงเครียดระหว่างกลุ่มอย่าง Eddie Kingston พันธมิตรกลุ่ม BCC ที่ไม่ชอบขี้หน้านักมวยปล้ำสมาชิกใหม่แต่เสริมความแข็งแกร่งให้กับทีมได้มาก อย่าง Claudio Castagnoli

ข้อเสียของแมตช์นี้คือช่วงพักโฆษณาสามครั้งที่จะทำให้มีช่วงหนืดเนือยอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วถ้าใครที่เคยดูมวยปล้ำสมัยวัยเด็ก และอยากกลับมามองดูมวยปล้ำในยุคปัจจุบันบ้าง แมตช์นี้อาจจะถือว่าเข้าขั้นหนักข้อ รุนแรง ถึงใจ และเป็นรสชาติที่อาจไม่คุ้นเคย แต่ลองดูสักครั้งไม่เสียหาย

ชนสรณ์ ชัยกิตติภรณ์ :ผู้กำกับหนังสั้น ศิลปิน
Expedition Content (Ernst Karel, Veronika Kusumaryati, 2020)

หนังประกอบสร้างเสียงบันทึกจากปี 1961 ของทีมนักสำรวจภาคสนามในพื้นที่ Dutch New Guinea เพื่อบันทึกหรือกระทั่งศึกษาชีวิตของชนเผ่า Habula

ตัวหนังมีภาพเพียง 1% ของความยาวตลอด 78 นาที ถึงแม้จะให้อารมณ์ความรู้สึกเหมือนกับฟัง podcast แต่ความจริงแล้วตัวงานต้องการที่จะวิพากษ์ถึงการมอง โดยเลือกที่จะให้เราไม่เห็น เราเพียงแค่ได้ยินเสียงที่ถูกประกอบขึ้นมา และกระตุ้นเร้าให้เราตั้งคำถามต่อการศึกษาชาติพันธุ์วิทยา และอาณานิคม อาจจะสนุกขึ้นหากเรารับชมคู่ไปกับสารคดีของทีมสำรวจเดียวกันที่ชื่อว่า Dead Birds (1963)

นพธีรา พ่วงเขียว : แอดมินหลักในเพจ “คนวิจารณ์หนังไม่เป็น”, นักเขียนรับเชิญ Film Club
Aloners (Hong Sung-eun)

ทำไมโลกนี้ถึงมีคนเหงา และทำไมความโดดเดี่ยวไม่เคยทำให้รู้สึกดีขึ้นเลย นี่เป็นหนังที่พูดถึงคน ๆ นึงกับการปิดกั้นตัวเองจากสังคมเพราะคิดว่าอยู่คนเดียวดีกว่าแต่สุดท้ายเธอก็ต้องโอบอายอมรับความยินดีของคนอื่นเพื่อให้ตัวเองไม่จมปลักกับความทุกข์ไปมากกว่านี้ ทั้งโศกเศร้าแต่ก็งดงาม

Seam-C : cinephile
Twenty Five Twenty One (Jung Ji-Hyun/ South Korea/ 2022/ 16EP/ Netfilx)

ยืนหนึ่งของปี 2022 ไปเลยสำหรับเรา แถมดูไปเลย 2 รอบ ซีรีย์เกาหลีเน๊ตฟลิกซ์ 16 ตอน เรื่องการก้าวพ้นวัยของนักกีฬาฟันดาบ นาฮีโด กับนักข่าวหนุ่ม พักอีจิน ผ่านห้วงเวลาเหตุการณ์สำคัญของโลกตั้งแต่วิกฤตเศรษกิจ IMF เมื่อปี 1998 ยัน 9/11 เมื่อปี 2001 มันพูดถึงเรื่องธรรมดาทั่วไปอย่างความฝัน, มิตรภาพ, ความรักและความทรงจำ ด้วยวิถีของคนที่ชีวิตตกตะกอนแล้ว เข้าใจและเรียนรู้กับสิ่งที่ผ่านมาทะลุปรุโปร่งแล้วจึงมองย้อนกลับไปสำรวจมัน มันจึงเต็มไปด้วยมวลพลังมหาศาลที่ทั้งให้ความอิ่มเอมใจฟู พอ ๆ กับความเศร้าของการทวิลหาสิ่งที่เราเอาคืนกลับมาไม่ได้อีกแล้ว มันเหมือนการจูงมือพาให้เราเติบโตขึ้น เข้าใจและยอมรับความผิดพลาดในอดีตมากขึ้น ตัวละครหลักทั้ง 5 มีแนวคิดและวิถีเป็นของตัวเองที่น่าจดจำในแบบที่ใครดูแล้วก็ต้องมีความรู้สึกร่วมอะไรบางอย่าง ที่สำคัญนางเอก คิมแทรี คือความงามทั้งมวลของหนัง และก็กลายเป็นหนึ่งในหนังที่สำคัญและมีอิทธิพลเรื่องหนึ่งของชีวิตเราอีกเรื่อง

อภิโชค จันทรเสน : ผู้กำกับ คนเขียนบทภาพยนตร์
Fitzcarraldo (1982, Werner Herzog)

– ในฐานะคนทำหนัง เป็นอีกปีที่เราถามตัวเองบ่อย ๆ ว่าเราจะลำบากตัวเองทำสิ่งที่ทำอยู่ทำไมนะ 555 แต่ละขั้นตอนช่างใช้เวลาและเหนื่อยยาก จะมีคนดูสิ่งที่ตัวเองทำมั้ยก็ไม่รู้ รู้สึกแต่ละงานเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา จนได้ดูหนังเรื่องนี้เป็นการหา reference ให้งานที่ทำอยู่ ถึงได้คำตอบให้กับตัวเองท้ายปีซะอย่างนั้น

– สำหรับคนที่ไม่เคยดู หนังเรื่องนี้คือมหากาพย์ภาพยนตร์ของเสด็จพ่อ Werner Herzog เล่าเรื่องของเจ้าของโรงงานน้ำแข็งในเปรู (แค่นี้ก็เซอร์แล้ว) ที่ความต้องการสูงสุดของชีวิตคือการนำโอเปร่าสุดที่รักของตัวเองมาสู่เมืองกลางป่า (what) ให้คนในพื้นที่ได้สัมผัสสุนทรียะขั้นสุดขอบชีวิต (ห้ะ) แต่จะเอาเงินจากไหนมาทำความฝันนี้ให้เป็นจริง จนเฮียหัวใส คิดแผนซื้อผืนป่ายางระหว่างสองแม่น้ำคู่ขนานที่ไม่มีใครสนเพราะแม่น้ำที่ต้องล่องเข้าไปมีน้ำวนขวางทางเข้าเพื่อกรีดยางให้หมดป่า แล้วจะข้ามน้ำวนไปได้ยังไง ไม่ยากเลย แค่ล่องแม่น้ำอีกเส้นเข้าไป แล้วข้ามไปแม่น้ำที่ต้องการด้วยการลากเรือกลไฟทั้งลำข้ามภูเขาทั้งลูกไปอีกฝั่ง

– คือได้ยินกิตติศัพท์ความเฮี้ยนของหนังเรื่องนี้มานาน ทั้ง Klaus Kinski นักแสดงนำและผู้กำกับ Herzog ไฝว้กันจนเกือบฆ่ากันกลางป่า / ถ่ายทำลากยาว 5 ปีจนชนพื้นเมืองที่เป็นเอ็กซ์ตร้าก่อจลาจลจน ผกก. ต้องจ้างทหารรับจ้างมาปราบ และที่ขาดไม่ได้ก็คืออภิมหาการหาทำ ลากเรือกลไฟหนัก 30 ตันของจริงข้ามเขาเพื่อให้ได้ความเรียลที่สุด ซึ่งหลายครั้งที่ได้ยินข้อมูลเหล่านี้ก่อนหน้าก็ชอบถามตัวเองว่า เฮียจะทำไปเพื่อ ต้องทรมานทรกรรมทั้งตัวเองและคนอื่นมากมายเพื่อหนังแค่เรื่องนึงขนาดนั้นจริง ๆ เหรอ

– แต่พอได้เห็นคนนับร้อยลากเรือหนัก 300 ตันขึ้นภูเขาเรียลไทม์ต่อหน้าต่อตาไม่มีซีจี ไม่มีสตันท์ มีแต่แรงคนจริงๆ ถ้าเชือกขาดคือเรือตกเขา เออมันเมจิกจริง ๆ ว่ะ

– ปฏิเสธไม่ได้ว่ามองในมุมนึงหนังเรื่องนี้ก็คือคนขาวคนนึงลำบากชีวิตคนเป็นร้อยเป็นพันเพื่อสำเร็จความใคร่ให้อีโก้ตัวเอง การลากเรือขึ้นเขาแก้ปัญหาปากท้องคนทั้งโลกก็ไม่ได้ จะสร้างไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยวกลางป่าก็ไม่ได้ ใครจะไป ทำมันทั้งหมดเพื่อหนังเรื่องเดียว บันทึกไว้บนแผ่นฟิล์ม แล้วก็จบไปตลอดกาล ถ้าฟิล์มพังคือไม่มีหลักฐานอะไรทั้งสิ้นว่าเคยมีคนคนนึงทำสิ่งนี้

– แต่สุดท้ายแล้วนี่ก็คือการทำหนังป่ะวะ การเข็นเรือขึ้นภูเขา ทำสิ่งที่ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับความก้าวหน้าของมนุษยชาติหรือแม้แต่จะมีคนดูรึเปล่าก็ไม่รู้ บางทีเราอาจทำไปแต่ให้เราพูดได้เต็มปากว่าเราได้ทำแล้ว แค่นี้ก็คงพอแล้วแหละมั้ง

ชลนที พิมพ์นาม : นักเขียนประจำ Film Club
Subdar7 : By ‘Rubsarb Production’

เราเชื่อว่าแต่ละคนน่าจะมี “คอนเทนต์ประจำวัน” ที่ติดตามเอาไว้อัพเดตอยู่ อาจจะเป็นรายการข่าว พอดคาสต์ หรือรายการบันเทิงต่าง ๆ เช่นเดียวกับเราที่ตื่นมาก็เสพข่าวประจำวัน อัพเดตข่าวฟุตบอล จนถึงดู Vlog หรือวิดีโอล็อก ที่บันทึกชีวิตในทุก ๆ วันของ จอร์จ (ปรีดิ์โรจน์ เกษมสันต์) และ อิสระ (อิสระ ฮาตะ) และชาวแก๊งครีเอเตอร์อย่าง Rubsarb Production

แม้ว่าการทำ Vlog ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การทำ Daily Vlog หรือทำวล็อกแบบรายวันในทุกวัน หาได้ยากมากๆ ในไทย ซึ่งช่องนี้เกิดจากการทำ Vlog บันทึกชีวิตในช่วงล็อคดาวน์ covid-19 ก่อนที่ทั้งจอร์จและอิสระ จะตัดสินใจทำมันต่อ ลากยาวมาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลาสองปีแล้ว

สำหรับเรา Subdar7 คือกระจกสะท้อน ในการหาความสุขในแต่ละวันของชีวิตจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างจอร์จ ก็จะเป็นภาพของครอบครัวไทยเชื้อสายจีน ตื่นขึ้นมานั่งคุยกับแม่ เม้าท์มอยกับภรรยา กินข้าวเช้า และทำกาแฟกินก่อนออกไปทำงาน ในขณะที่อิสระ ที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีแม่ ประทีป อึ้งทรงธรรม เป็นนักกิจกรรม ก็จะมีชีวิตอีกแบบ มีหยอกเล่นกับลูกชายบ้าง เล่นกับแมวในบ้านน้องชาย ต้นกล้า ก่อนไปออฟฟิศบ้าง ก่อนจะไปวุ่นวายที่ออฟฟิศ ซึ่งก็พาร์ทที่เรียกรอยยิ้มจากการดูได้ทุกวัน

จริง ๆ ในความเป็น Daily Vlog ประเด็นมันจะแรนดอมในแต่ละวันมาก คือมีตั้งแต่เรื่องส่วนตัว ยังเรื่องสังคม บางช่วงคือออกไปแตะสังคมโลก อย่างเช่นตอนที่อิสระ ตามพ่อชาวญี่ปุ่นไปทำงานเกี่ยวกับผู้อพยพชาวยูเครนที่ยุโรป ซึ่งส่วนหนึ่ง ในความที่พอมันต้องบันทึกสิ่งนี้ทุกวัน มันเลยกระตุ้นให้ทั้งสองคนออกไปใช้ชีวิตมากขึ้น

และด้วยความที่วัยของทั้งสองคนไม่ได้ต่างจากเรามาก มันเลยเหมือนได้ดูการอัพเดตเพื่อนในเจนเดียวกัน มีความสนใจคล้าย ๆ กัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดต่อเรื่องราวในสังคม หรือแม้แต่การเมือง ผ่านคอมเมนต์ด้านล่าง ซึ่งคอมมูนิตี้ของรับทราบก็มีวัยหลากหลายและเป็นกันเองคือ จนทำให้เป็นพื้นที่ที่เราเข้ามาแล้วสบายใจเสมอที่จะเข้ามาดู ซึ่งหาได้ยากจริง ๆ ในทุกวันนี้

filmclub
กอง Film Club

RELATED ARTICLES