Agnes V. & J. Demy. : ความรักของ Agnes Varda

เธอเป็นคนพูดเก่ง กว้างขวาง ชอบรู้จักคน เป็นสาวเบลเยียมเชื้อสายกรีกผมทรงเห็ดร่างเล็ก อดีตช่างภาพนิ่งผู้ผันตัวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก ‘La Pointe Courte’ (1955) ส่วนเขาเป็นคนขี้อาย ถ่อมตัว ไม่ชอบพูด เป็นชายหนุ่มร่างสูงผอมผู้ในวัยเด็กหลบเข้าไปในโลกของละครหุ่น แอนิเมชั่นวาดมือ ภาพยนตร์ 9.5 mm Pathé ที่ถ่ายกันกับเพื่อนๆ เพื่อหนีจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จนเกิดเป็นความรักในภาพยนตร์ชั่วชีวิต

ทั้งสองดูต่างกันราวฟ้ากับเหว แต่เมื่ออานเญส วาร์ดา (Agnes Varda) และ ฌาคส์ เดอมี (Jacques Demy) พบกันเป็นครั้งแรกที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นแห่งหนึ่งในเมืองตูร์ส (Tours) ในปี ค.ศ. 1958 ทั้งสองคนก็ชอบพอกันและย้ายมาอยู่ด้วยกันในปีถัดมา ราวกับว่าทั้งคู่ได้พบขั้วตรงข้ามของตัวเองที่มาเติมเต็มกันและกัน จนเกิดเป็นตำนานความรักแห่งวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศสที่อยู่ยงคงกระพันไม่แพ้ตำนานรักในวงการภาพยนตร์อื่นๆ

จากเรื่อง Agnes Varda Tells A Sad and Happy Story (2008)

ณ บ้านเลขที่ 15 ถนนดาแกร์ (Daguerre) กรุงปารีส นักทำภาพยนตร์ทั้งสองพบว่าตัวเองกลายเป็นสมาชิกของกลุ่มคลื่นลูกใหม่ French New Wave ที่เปลี่ยนวงการภาพยนตร์ในยุโรปและทั่วโลกไปตลอดกาล วาร์ดาเล่าไว้ในภาพยนตร์สารคดีของเธอเรื่อง Beaches of Agnes (2008) ว่าหลังภาพยนตร์เรื่อง Breathless (1960) ของฌอง-ลุค โกดาร์ด (Jean-Luc Godard) โด่งดังเป็นพลุแตก ฌอร์เฌส เดอ โบเรอการ์ด (Georges de Beauregard) โปรดิวเซอร์ของโกดาร์ดก็ถามเขาว่า “รู้จักเพื่อนคนไหนอยากทำหนังง่ายๆ ถูกๆ อีกบ้างไหม” โกดาร์ดเลยเสนอชื่อของเดอมีไป จนเดอมีได้ทำ Lola (1961) ภาพยนตร์ขนาดยาวผลงานแจ้งเกิดของเขา และก็เป็นโบเรอการ์ดเช่นเดิมที่ถามเดอมีว่า “มีใครแนะนำอีกไหม” เดอมีจึงเสนอชื่อของวาร์ดาไป จนเธอได้โอกาสทำภาพยนตร์เรื่อง Cleo from 5 to 7 (1962) และกลายเป็นสมาชิกหญิงคนเดียวของวงการ French New Wave ในที่สุด

ทั้งสองแต่งงานกันในปี 1962 และรับโรซาลี (Rosalie) ลูกติดจากความสัมพันธ์ก่อนหน้าของวาร์ดากับอองตวน บูร์เซย์เยอร์ (Antoine Bourseiller) นักแสดงในภาพยนตร์สั้นยุคแรกๆ ของเธอเป็นลูกบุญธรรม

ในขณะที่ความสัมพันธ์ส่วนตัวของทั้งสองแนบแน่น ทั้งสองกลับแยกงานออกจากชีวิตคู่ส่วนตัวอย่างน่าสนใจ ทั้งสองไม่เคยทำหนังร่วมกัน เดอมีเคยพูดไว้ในคลิปสัมภาษณ์ที่ปรากฏในสารคดี The World of Jacques Demy (1995) ว่า “(สำหรับผม) การทำงานสร้างสรรค์มันเป็นกิจกรรมส่วนตัวมากๆ พวกเราต้องไม่มาก้าวก่ายกันและกัน” ในขณะที่วาร์ดาเองก็เคยเล่าไว้ว่า “เวลาเขาออกกอง ฉันก็แค่แวะเวียนไปถ่ายรูปเบื้องหลังให้บ้างเป็นบางคราว ส่วนเวลาเขามาเยี่ยมกองถ่ายฉัน เขาก็แค่มายืนให้กำลังใจเงียบๆ แต่แค่นั้นก็พอแล้วสำหรับฉัน พวกเราไม่ยุ่งเรื่องงานของกันและกัน” 

ณ บ้านเลขที่ 5 ถนน Daguerre กรุงปารีส บ้านของทั้งสองแบ่งเป็นสองฝั่งด้วยตรอกเล็กๆ ระหว่างกลาง ที่ฝั่งหนึ่งเดอมี อาจจะกำลังแต่งเพลงกันกับมิเชล เลอกรองด์ (Michel Legrand) นักแต่งเพลงคู่ใจ ในขณะที่อีกฝั่งบ้าน วาร์ดาอาจจะกำลังถ่ายหนังสั้นในสตูดิโอของเธออยู่ แล้วเมื่อเวลาเย็นมาถึง ทั้งสองก็วางงานไว้ที่แต่ละฝั่งบ้าน แล้วกลับมาเจอกันที่ตรอกตรงกลางในฐานะคู่รักอีกครั้งกันสองคนอีกครั้ง หรือกับผองเพื่อน French New Wave ที่มักแวะเวียนมาหาทั้งสองเป็นประจำ

บ้านเลขที่ 5 ถนน Daguerre จากเรื่อง The Beaches of Agnès (2008)

ลักษณะภาพยนตร์ของทั้งสองเองก็แตกยอดกันไปคนละทาง ทั้งสองคนทำหนังเรื่องความสัมพันธ์กันทั้งคู่ แต่เดอมีเน้นการนำความทรงจำจากวัยเด็กมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ที่ยั่วล้อกับขนบภาพยนตร์ฮอลลีวูดกระแสหลัก จากหนังดราม่าชีวิตรักนักพนันอย่าง Bay of Angels (1963) สู่สองภาพยนตร์ musical สุดโรแมนติกในตำนานอย่าง The Umbrellas of Cherbourg (1964) ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างชาติยอดเยี่ยมและคว้าปาล์มทองจากเทศกาลภาพยนตร์เมือง Cannes ได้ในปีเดียวกัน และ The Young Girls of Rochefort (1967) ที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ตัวละครในภาพยนตร์แต่ละเรื่องของเขามักแวะเวียนไปโผล่ในเรื่องอื่นๆ จนเกิดเป็นจักรวาลหนังเดอมีที่เต็มไปด้วยตัวละครผู้โหยหาความรักจากเรื่องสู่เรื่อง ส่วนวาร์ดาเองมุ่งไปทางตรงกันข้ามด้วยการทำภาพยนตร์หลากหลายแนว ทั้งหนังสารคดี เช่น Salut les Cubains (1964) หนังดราม่าเล็กๆ แต่ร้าวลึกอย่าง Le Bonheur (1965) ที่เล่าความพังทลายของชีวิตคู่รักวัยรุ่น และหนังดราม่าทดลองกึ่งสารคดีอย่าง The Creatures (1966) บนเกาะนัวร์มูติเยร์ (Noirmoutier) ที่ทั้งสองซื้อโรงสีเก่าไว้เป็นบ้านพักตากอากาศของครอบครัว โดยทุกเรื่องมีจิตวิญญาณของความเป็นหนังทดลองกึ่งสารคดีอยู่ในตัว ในสไตล์ที่เธอเรียกว่า ‘ซิเนคริฌูร์’ (‘cinécriture’) ที่มาจากคำว่า cinéma และ écriture แปลได้ง่ายๆว่า ‘writing on film’

จากเรื่อง The Beaches of Agnès (2008)

ชะตาชีวิตของทั้งสองคนเปลี่ยนผันอีกครั้งเมื่อความสำเร็จของภาพยนตร์เพลงทั้งสองของเดอมีไปเตะตาสตูดิโอ Columbia Pictures ในฮอลลีวูด โคลัมเบียยื่นข้อเสนอให้เดอมีย้ายไปลอส แองเจลิส เพื่อทำภาพยนตร์อะไรก็ได้ให้กับสตูดิโอ ครอบครัวเดอมีเลยย้ายถิ่นฐานไปแอลเอในปี 1968 ไปอยู่ในคฤหาสน์หลังย่อมแห่งหนึ่งในเบเวอร์ลี่ ฮิลส์ (Beverly Hills) ที่ห้อมล้อมไปด้วยดาราและคนทำหนังทั้งวงการฮอลลีวูด 

และเช่นเคย ชะตาชีวิตของทั้งสองในอเมริกาต่างพุ่งไปกันคนละทาง 

ทั้งคู่มาถึงลอส แองเจลิสในปลายทศวรรษที่ 1960 ในช่วงที่กระแสต่อต้านทุนนิยมของบุปผาชน การเรียกร้องสิทธิของคนผิวสี และการต่อต้านสงครามเวียดนามแพร่สะพัดไปทั่วสหรัฐอเมริกา เดอมีพยายามฉีกภาพลักษณ์ของคนทำหนังสีลูกกวาด และสร้างหนังดราม่าจริงจังที่ถ่ายทอดอารมณ์ของความขัดแย้งและสิ้นหวังของสังคมอเมริกันผ่านภาคต่อของ Lola อย่าง Model Shop (1969) ที่เล่าเรื่องราวชีวิตตกอับของ Lola หลังย้ายมาอเมริกาจนต้องทำงานเป็นนางแบบถ่ายรูปโป๊เปลือยหลัง ‘ร้านโมเดล’ แต่เคราะห์ร้าย เดอมีที่ตั้งใจวางดาราหนุ่มหน้าใหม่คนหนึ่งที่ชื่อแฮร์ริสัน ฟอร์ดให้รับบทนำกลับถูกสตูดิโอบอกว่าฟอร์ด “ไม่มีอนาคตในวงการ” และบังคับให้เขาเลือกแกรี่ ล็อควูด (Gary Lockwood) นักแสดงที่เพิ่งเริ่มมีชื่อจากเรื่อง 2001: Space Odyssey (1968) เป็นพระเอก การแสดงแข็งโป๊กของล็อควูด บวกกับความคาดหวังของผู้ชมและนักวิจารณ์ที่ต้องการให้เขาทำภาพยนตร์โรแมนติกเหมือนสองเรื่องก่อนหน้า ทำให้ภาพยนตร์ดราม่าสุดดาร์คของเดอมีได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่ลบจากทุกสำนักและเจ๊งสนิท เป็นการดับอนาคตของเดอมีในฮอลลีวูดไปโดยปริยาย

ตรงกันข้ามกับสามีของเธอ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เธอได้เห็นที่แอลเอเป็นแรงบันดาลใจใหม่ให้วาร์ดาเปลี่ยนแนวทางการทำภาพยนตร์ของเธอจากภาพยนตร์ดราม่าธรรมดา ไปสู่ภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยประเด็นทางสังคม เธอร่วมสร้างภาพยนตร์รวมเรื่องสั้นการเมืองอย่าง Far from Vietnam (1967) สารคดีสั้นที่บันทึกการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวสีอย่าง Black Panthers (1968) และภาพยนตร์ขนาดยาวที่เน้นประเด็นความเสรีภาพทางเพศอย่าง Lions Love (… and Lies) (1969) ที่เป็นต้นแบบของผลงานที่เต็มไปด้วยประเด็นสังคมและความสัมพันธ์ที่กลายเป็นลายเซ็นของวาร์ดามาจนถึงปัจจุบัน 

ครอบครัวเดอมีกลับมาที่ฝรั่งเศส 2 ปีให้หลังในปี 1969 ทั้งสองพบว่า ระหว่างที่ทั้งคู่อยู่ในแอลเอ สังคมฝรั่งเศสเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ภาวะการประท้วงสงครามเวียดนามและระบบชนชั้นในฝรั่งเศสที่แพร่สะพัดไปทั่วประเทศในปี 1968 ที่ต่อมาคนฝรั่งเศสเรียกขานว่า ‘May 68’ ทำให้คนฝรั่งเศสหันมาตื่นตัวในประเด็นการเมืองกันอย่างเข้มข้น นักทำหนัง French New Wave หันไปทำหนังการเมืองกันเนืองแน่น เช่นโกดาร์ดที่ทำภาพยนตร์สนับสนุนระบอบคอมมิวนิสต์เหมาอย่าง La Chinoise (1967) หรือ Tout va bien (1972) ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ (François Truffaut) ที่ทำ Baisers Volés (1968) และคริส มาร์คเกอร์ (Chris Marker) ที่ทำ A bientot, j’espere (1968) ออกมา    

วาร์ดาเองก็เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม French New Wave ที่กระโดดเข้าร่วมกระแสทางการเมืองอย่างเต็มตัว การประท้วงในปี ‘68 ทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องสิทธิสตรี (Mouvement de libération des femmes) ทั่วฝรั่งเศส วาร์ดาเป็นหนึ่งในผู้ลงนามใน ประกาศ ‘The Manifest of the 343’ (Le Manifeste des 343) ที่นักปรัชญาชื่อดังอย่างซิโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) ร่างขึ้นเพื่อประท้วงกฎหมายการทำแท้งในฝรั่งเศสในปี 1971 จนทางรัฐบาลยอมแก้กฎหมายในอีก 4 ปีให้หลัง การตื่นตัวในเรื่องสิทธิสตรีของวาร์ดาลามมาสู่ผลงานภาพยนตร์ของเธอ จนทำให้เกิดผลงานขึ้นหิ้งที่สนับสนุนสิทธิผู้หญิงอย่าง One Sings, the Other Doesn’t (1977) และการก่อตั้งบริษัทซิเน-ตามารีส์ (Ciné-Tamaris) ขึ้นเพื่อดูแลการผลิตผลงานภาพยนตร์ของเธออย่างครบวงจร 

ตรงกันข้าม เดอมีกลับหันหลังให้กับโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย แล้วหันไปดัดแปลงนิทานที่เขาเคยชอบในวัยเด็กให้เป็นภาพยนตร์ จนเกิดเป็นผลงานอย่าง Donkey Skin (1970) และ The Pied Piper (1972) และภาพยนตร์ดัดแปลงการ์ตูนมังงะจากญี่ปุ่นร่วมกับบริษัท Toho อย่าง Lady Oscar (1979) ที่แม้จะเป็นที่รักของเด็กๆ ในยุคนั้น แต่ในยุคที่คนฝรั่งเศสกำลังตื่นเต้นกับเรื่องราวสังคมรอบตัว ภาพยนตร์เพ้อฝันของเดอมีกลายเป็นผลงานที่มาผิดที่ผิดเวลา แม้ต่อมาเขาจะพยายามทำภาพยนตร์ที่พูดเรื่องสิทธิผู้หญิงผ่านภาพยนตร์ตลกเรื่องผู้ชายท้องอย่าง A Slightly Pregnant Man (1973) และสิทธิแรงงานใน A Room in Town (1982) แต่ก็สายไปเสียแล้ว เดอมีกลายเป็นคนทำหนังตกยุค และไม่มีผลงานที่ประสบความสำเร็จเท่าผลงานในยุครุ่งเรืองของเขาอีกเลย 

ถึงความก้าวหน้าทางการงานของทั้งสองคนจะแตกต่างกัน แต่ดูเหมือนว่าเรื่องราวความสัมพันธ์ในครอบครัวของทั้งสองจะยังคงแน่นแฟ้นตลอดไป วาร์ดามีลูกชายชื่อ มาธิเออ เดอมี (Mathieu Demy) กับสามีของเธอในปี 1972 ในขณะที่โรซาลี ลูกสาวรับหน้าที่ช่วยงานด้านคอสตูมในภาพยนตร์ของพ่อเธอหลายเรื่อง

มาธิเออ เดอมี และ โรซาลี วาร์ดา จากเรื่อง The Beaches of Agnès (2008)

แต่แล้วความสัมพันธ์อมตะของสองสองสมาชิก French New Wave ก็ถึงคราวสะดุดในปี 1979 เมื่อทั้งสองแยกทางกัน จบความสัมพันธ์ฉันท์คู่รักยาว 30 ปีท่ามกลางความตะลึงงันของคนในวงการ

สำหรับคนที่เล่าเรื่องชีวิตของตัวเองหลายครั้งจนแทบทุกส่วนของชีวิตเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป วาร์ดาเก็บความขัดแย้งในชีวิตคู่ของเธอเป็นความลับยิ่งยวดจนวันตาย เธอไม่เคยยืนยันเห็นหลักฐานว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ทั้งสองแยกทางกัน แต่ข้อมูลบางแหล่งเชื่อว่าทั้งสองแยกทางกันก็เพราะว่าเดอมีไปมีคนอื่น

เชื่อกันว่า มือที่สามคนนี้คือชายชาวอเมริกันนามเดวิด บอมบิค (David Bombyk) ที่เดอมีเจอเป็นครั้งแรกในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง Lady Oscar ในปี 1979 ในฐานะ story editor หนุ่มผู้กลายมาเป็นโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์ฮอลลีวูดขึ้นหิ้งหลายเรื่องเช่น Witness (1985) และ The Hitcher (1986) ในหลายปีให้หลัง

เดวิด บอมบิค Photo Credit

ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร วาร์ดาก็หอบเอามาธิเออลูกชายคนเล็กหนีไปพักใจที่ลอส แองเจลิสนานสองปี เธอบันทึกช่วงชีวิตนี้ไว้ในภาพยนตร์เรื่อง Documenteur (1981) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผกก.ภาพยนตร์หญิงชาวฝรั่งเศสที่หย่าขาดจากสามี ร่อนเร่ไปคนเดียวในลอส แองเจลิส   

วาร์ดากลับมาฝรั่งเศสสองปีให้หลังในปี 1981 เธอกลับมาที่บ้านเลขที่ 5 ถนน Daguerre แล้วก็ต้องแปลกใจเมื่อเธอพบว่าเดอมีอาศัยอยู่ในบ้านตรงข้ามกัน เช่นเดิม วาร์ดาไม่เคยออกมาพูดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของทั้งสองในช่วงนี้ แต่สิ่งที่แน่ชัดก็คือ ถึงแม้ทั้งสองจะแยกกันอยู่ วาร์ดาและเดอมีก็ไม่เคยหย่าขาดจากกันอย่างเป็นทางการ 

ทางด้านการงาน ช่วงนี้เป็นช่วงที่วาร์ดาผลิตผลงานชิ้นโบแดงที่คว้ารางวัลสิงโตทองจากเทศกาลภาพยนตร์เวนิซอย่าง Vagabond (1986) และภาพยนตร์ท้ากรอบศีลธรรมอย่าง Kung-Fu Master (1988) ที่เจน เบอร์กิน (Jane Birkin) รับบทหญิงวัยกลางคนที่ตกหลุมรักกับเด็กชายอายุ 14 ที่รับบทโดยมาธิเออลูกชายของเธอเอง ในขณะที่เดอมีถอยจากโลกนิทาน กลับไปสู่ภาพยนตร์มิวสิคัลที่เขาถนัด เช่นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงตำนานกรีกเรื่องออร์เฟอุส (Orpheus) เป็นมิวสิคัลเพลงร็อกอย่าง Parking (1985) (ที่ตัวเอกเป็นไบเซ็กชวล เป็นครั้งแรกในภาพยนตร์ของเดอมีที่มีตัวละคร LGBT ชัดเจน จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นครั้งแรกที่เดอมียอมรับเพศสภาพของตัวเองอย่างชัดเจนหลังแยกจากวาร์ดา) ภาพยนตร์ที่อุทิศให้ชีวิตของนักร้องชื่อดังแห่งยุคสมัยอย่าง อีฟ มองตอง (Yves Montand) อย่าง Three Seats for the 26th (1988) และหนังที่แอบย้อนอดีตกลับไปเล่าเรื่องราววัยเด็กของเดอมีผ่านตัวละครนักวาดการ์ตูนแอนิเมชั่นอย่าง Turning Table (1988) แต่ในโลกภาพยนตร์ฝรั่งเศสที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของนักทำหนังยุคใหม่ที่เน้นสไตล์เหนือเนื้อเรื่องอย่างลุค เบซง (Luc Besson) และ เลโอ คาราซ์ (Leos Carax) ภาพยนตร์สไตล์คลาสสิคทั้งสามของเดอมีเลยถูกมองข้ามและขาดทุนย่อยยับอย่างน่าเศร้า

เดอมีกลับมาสู้อ้อมอกของวาร์ดาอีกครั้งในปี 1989 หลังเดวิด บอมบิคเสียชีวิต เดอมีที่กลายเป็นผู้กำกับตกยุคในอายุ 58 และวาร์ดาที่กลายมาเป็น ‘หม่อมแม่’ ของกลุ่ม French New Wave ในอายุ 61 กลับมาเป็นคู่รักกันอีกครั้งหลัง 9 ปีให้หลัง ในรูปถ่ายจากช่วงนี้ ทั้งสองดูมีความสุขเต็มที่ ราวกับทั้งสองไม่เคยแยกจากกัน ราวกับทั้งคู่กลับไปเป็นคู่รักวัยหนุ่มสาวอีกครั้ง  

แต่แล้วช่วงเวลาดีๆ ของทั้งสองก็ถูกตัดสะบั้นเมื่อข่าวร้ายมาเยือน เดอมีป่วยหนักและมีเวลาเหลืออยู่อีกไม่มาก 

ในช่วงแรก ครอบครัวเดอมีพูดกับสื่อว่าเดอมีเสียชีวิตเพราะเนื้องอกในสมอง จนหลายปีให้หลัง วาร์ดาจึงออกมายืนยันว่า เดอมีเสียชีวิตเพราะโรคเอดส์ น่าสังเกตว่า เดวิด บอมบิคเองก็เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์เช่นกัน 

ใช้ห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิต เดอมีใช้เวลาในแต่ละวันวาดรูปบนสตูดิโอชั้นสองของบ้าน แต่ละรูปย้อนกลับไปยังช่วงชีวิตในอดีตที่เขาประทับใจ ภาพป้าย STOP จากเมืองลอง แองเจลิส และคนหาปลา ณ​ ชายหาตเกาะ Noirmoutier เรียงรายบนผนังห้อง เขาเขียนเรื่องราววัยเด็กของเขาเพื่อหวังพิมพ์เป็นหนังสือวันละสองสามหน้าและชวนวาร์ดามานั่งอ่านด้วยกันทุกเย็น 

จนวันหนึ่ง วาร์ดาก็ถามเขาว่า “ทำไมเราไม่ทำมันเป็นหนังล่ะ” 

เดอมี่ตอบเธอทันควัน “เธอทำสิ ฉันไม่มีแรงแล้ว”

จากเรื่อง The Beaches of Agnès (2008)

และแล้วในขวบปีสุดท้าย คู่รักที่แยกการงานออกจากชีวิตส่วนตัวกันมาตลอดชีวิตก็ยอมเป็นส่วนหนึ่งในงานของกันและกันในที่สุด ปี 1990 วาร์ดานำเรื่องราววัยเด็กของสามีมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง Jacquot de Nantes (1993) สองสามีภรรยากลับไปที่บ้านเก่าของเดอมีในเมืองนองต์ (Nantes) บ้านเกิด ถ่ายทำตามสถานที่ต่างๆ ที่สามีใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างมีความสุข วาร์ดาทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้สามีได้ใช้ชีวิตวัยเด็กผ่านผลงานของเธออีกครั้งก่อนเสียชีวิต จนออกมาเป็นภาพยนตร์ที่เล่าชีวิตวัยเด็กแสนสุขของเดอมี เด็กผู้ชายผู้หลบเข้าไปในโลกของละครหุ่น แอนิเมชั่นวาดมือ และภาพยนตร์เพื่อหนีจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัดสลับกับฉากต่างๆ จากภาพยนตร์ของเดอมี ที่สร้างจากความทรงจำวัยเด็กของเขา และภาพสุดท้ายของเดอมี ที่ผมหงอกเทา ผิวกายเต็มไปด้วยรอยแผลจากโรคเอดส์ และแววตาของเขาที่แม้จะฝ้าฟางแต่ยังคงเปี่ยมไปด้วยความขี้เล่นของเด็กชายคนนั้นเมื่อ 50 ปีก่อน และความรักที่เขายังมีให้กับภรรยาจวบจนวินาทีสุดท้าย  

ฌาคส์ เดอมีเสียชีวิตลงในวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1990 สิริอายุรวม 59 ปี หลังภาพยนตร์ถ่ายจบได้ 10 วัน

นับแต่นั้นมา Varda ไม่เคยรักใครอีก เธอยังคงสวมแหวนแต่งงานที่นิ้วนางข้างซ้าย และเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของเธอกับเดอมีผ่านภาพยนตร์ที่เธอทำหลายเรื่องนับแต่นั้นมา ตั้งแต่สารคดีที่เล่าเรื่องผลงานของสามีเธออย่าง The World of Jacques Demy (1995) และผลงานระลึกเรื่องราวชีวิตของเธอเองอย่าง The Beaches of Agnes (2008) พร้อมดูและเผยแพร่ผลงานของสามีด้วยกันกับโรซาลี ลูกสาวของเธอผ่านบริษัทภาพยนตร์ Ciné-Tamaris ของวาร์ดา

แต่แล้วในช่วงปีสุดท้ายของชีวิต เธอก็เลือกที่จะกำกับภาพยนตร์กับคนอื่นเป็นครั้งแรกในชีวิต กับศิลปินกราฟฟิติชายที่เด็กกว่าเธอกว่า 40 ปีอย่าง JR ในเรื่อง Faces Places (2017) 

จากเรื่อง Faces Places (2017)

เช่นเดิม เธอไม่เคยออกมาพูดว่าทำไมเธอถึงเลือกที่จะทำภาพยนตร์เรื่องนี้กับ JR อาจจะเป็นเรื่องของอายุ อาจจะเป็นเพราะเธออยากหาความท้าทายใหม่ๆ แต่ผู้เขียนสันนิษฐานว่า น่าจะมีอะไรบางอย่างในตัว JR ที่ทำให้เธอนึกถึงสามีของเธอ เด็กขี้เล่นจากเมือง Nantes คนนั้นที่ทำภาพยนตร์เพื่ออยากให้โลกใบนี้มีความสุขมากขึ้นอีกนิดผ่านผลงาน จนเธอเลือกที่จะทำภาพยนตร์เรื่องนี้คู่กับเขา  

อานเญส วาร์ดา เสียชีวิตในวันที่ 29 มีนาคม 2019 ด้วยโรคมะเร็ง อายุ 90 ปีถ้วน ศพของเธอฝังอยู่ที่สุสานมองต์ปาร์นาส (Montparnasse) ในกรุงปารีส ในหลุมเดียวกันกับสามีของเธอ ผู้ที่เธอรักตราบจนวินาทีสุดท้าย

“Tombe de Jacques Demy et Agnès Varda au cimetière du Montparnasse.” by Français from Wikimedia Commons

ปัจจุบันผลงานของทั้งเดอมีและวาร์ดาอยู่ภายใต้การดูแลของโรซาลี ผู้ก้าวขึ้นมาบริหารบริษัท Ciné-Tamaris เต็มตัว ในขณะที่มาธิเออเป็นนักแสดงและผู้กำกับที่ลอส แองเจลิสเต็มตัว และคอยแวะเวียนมาช่วยงานพี่สาวบ้างเป็นครั้งคราว 


ในตอนท้ายของ Jacquot de Nantes วาร์ดาค่อยๆ เดินเข้าไปหาเดอมีที่นั่งอยู่บนหาดทรายของเกาะ Noirmoutier เกาะที่เป็นแหล่งพักร้อนของทั้งสอง ระหว่างเดินเข้าไปหาสามี เธออ่านบทกวีของ ฌาคส์ เพรแวรต์ (Jacques Prévert) นักกวีที่สามีของเธอรักมาตั้งแต่วัยเด็ก บทกวีนั้นชื่อ ซาเบลอส์ มูวองต์ (Sables Mouvant) หรือ ‘ทรายดูด’ มีเนื้อความว่า

Démons et merveilles

Vents et marées

Au loin déjà la mer s’est retirée

Et toi

Comme une algue doucement caressée par le vent

Dans les sables du lit tu remues en rêvant

Démons et merveilles

Vents et marées

Au loin déjà la mer s’est retirée

Mais dans tes yeux entrouverts

Deux petites vagues sont restées

Démons et merveilles

Vents et marées

Deux petites vagues pour me noyer.

Devils and Wonders

Winds and tides

The sea has receded far from the shore

and you, 

like seaweed gently caressed by the wind. 

In the sands of your bed,

you drift as you dream.

Devils and Wonders

Winds and tides

The sea has receded far from the shore,

But in your half-open eyes

There are still two tiny waves,

Devils and Wonders

Winds and tides,

Two tiny tears

Two tiny waves,

To drown myself in

แล้วเธอก็หยุดกล้องที่ใบหน้าของสามีของเธอ ผู้มองกล้อง ก่อนเหลือบไปมองทะเลตรงหน้า

ภาพสุดท้ายของเดอมี จากเรื่อง Jacquot de Nantes (1991)

ตัดมาอีกที เขาก็หายไปแล้ว 

และในตอนนี้เธอผู้ถือกล้องในวันนั้นก็หายไปแล้วเช่นกัน

แต่ในฝากฝั่งทะเลที่ไหนซักแห่ง ณ หาดทรายที่เป็นแค่ของพวกเขาสองคน เธอผู้เป็นคนพูดเก่ง กว้างขวาง ชอบรู้จักคน และเขาเป็นที่คนขี้อาย ถ่อมตัว ไม่ชอบพูด ยังคงรักกันไปจนตราบชั่วนิรันดร์ ในความทรงจำของพวกเราผู้รักในงานของฌาคส์ เดอมี และอานเญส วาร์ดา

อภิโชค จันทรเสน
ทีมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Homestay และ นศ. ปริญญาโทสาขาการผลิตภาพยนตร์ ณ University of Southern California School of Cinematic Arts ลอส แองเจลิส

RELATED ARTICLES