Home Article Special Article สรุปบทความจากเสวนาคลับเฮาส์ : ปรากฏการณ์ Thai Wave Cinema ในทศวรรษ 2540 (ตอนที่ 2)

สรุปบทความจากเสวนาคลับเฮาส์ : ปรากฏการณ์ Thai Wave Cinema ในทศวรรษ 2540 (ตอนที่ 2)

สรุปบทความจากเสวนาคลับเฮาส์ : ปรากฏการณ์ Thai Wave Cinema ในทศวรรษ 2540 (ตอนที่ 2)

(อ่านตอนแรก)

หนังแอคชั่นสไตล์ไทย เล่นจริง เจ็บจริง ไม่มีแสตนด์อิน :
พ.ศ. 2535-2538 (ค.ศ. 1992-1995), พ.ศ. 2546-2548 (ค.ศ. 2003-2005)

ความสำเร็จของหนังไทยในช่วงทศวรรษที่ 2540 ไม่ได้มีเพียงหนังดราม่าและหนังอาร์ตเท่านั้น หากให้ลองนึกถึงภาพยนตร์แอคชั่นของไทยขึ้นชื่อ ทุกคนน่าจะรู้จัก องค์บาก และ ต้มยำกุ้ง ซึ่งทั้งสองเรื่องกำกับโดย ปรัชญา ปิ่นแก้ว

ปรัชญา เล่าให้เราฟังว่าเขาเดินทางจากโคราชเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อมาเรียนต่อ ในยุคสมัยของปรัชญาคือช่วง ค.ศ. 1980-1990 (พ.ศ. 2523 – 2533) เป็นช่วงที่วงการหนังไทยอยู่ในขาลง จากสมัยเด็กๆ ที่ปรัชญาเห็นมีหนังไทยเข้าโรงเยอะมาก ปีหนึ่งมีเป็นร้อยๆ เรื่อง แต่ช่วงพอปลายทศวรรษ 2530 ก็เริ่มมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ แต่ถึงแม้หนังไทยเข้าฉายน้อยลง ปรัชญาก็ยังชอบดูหนัง เขาชอบดูหนังทุกแนวและชอบดูสื่อทุกแบบ

ต่อมาปรัชญาได้เข้าทำงานที่ค่ายเพลง RS เขาดูแลด้านมิวสิค วิดีโอเป็นหลัก ในยุคนั้นมิวสิค วิดีโอนิยมโปรโมทเพลงด้วยการทำหนังสั้นหลายๆ ตอนต่อกันเป็น มินิ ซีรีย์ หรือที่เรียกว่า ‘มิวสิค ซีรี่ย์’ วันหนึ่ง เฮียฮ้อ หรือ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานบริษัท RS มีความคิดว่าในเมื่อ mv มินิซีรี่ย์ที่ทำอยู่ได้เสียงตอบรับดี เราน่าจะลองทำเป็นหนังแล้วนำไปฉายโรงดู ปรัชญาจึงพัฒนาโปรเจคนี้ไปเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง รองต๊ะ แล่บแปล๊บ ในที่สุด

ปรัชญาเล่าว่ารองต๊ะ แล่บแปล๊บ เป็นเสมือนเป็นแบบฝึกหัดของเขา เขาเคยคิดว่าการทำหนังน่าจะต่างจากการทำ mv เพียงแค่เปลี่ยนจากกล้องวิดีโอเบต้า มาเป็นกล้องฟิล์ม แต่ความจริงมันมีรายละเอียดและความยากซับซ้อนกว่าที่เขาคิด แต่อย่างไรก็ตามปรัชญาก็กำกับรองต๊ะ แล่บแปล๊บสำเร็จและออกฉายในปี 2535 (ค.ศ. 1992) และทำรายได้ 15 ล้านบาทข้อมูลรายได้จากบทความ “เปิดไดอารี่ หนังดังในตำนาน รองต๊ะแล่บแปล๊บ” โดย BKKNews เข้าถึงข้อมูลจาก https://retro.bkkclub.net/927

หลังจาก รองต๊ะ แล่บแปล๊บประสบความสำเร็จ สามปีต่อมา พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) ปรัชญาก็ได้ทำหนังเรื่อง เกิดอีกทีต้องมีเธอ ซึ่งเป็นหนังของค่าย RS อีกเช่นเคย ทั้งสองเรื่องประสบความสำเร็จด้านรายได้เป็นอย่างดี การทำมิวสิค วิดีโอที่ RS สอนให้เขาเข้าใจเรื่องการตลาดและรีแอคชั่นของคนดูกับฉากต่างๆ ว่าการออกแบบฉากแต่ละแบบส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ชมอย่างไร ปรัชญาทำหนังและ mv ที่ RS ควบคู่กันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปีที่ 9 ของการทำงาน เขารู้สึกอิ่มตัวกับงานประจำแล้วและอยากจะทุ่มเทให้กับการทำหนังมากกว่า

“ผมก็เริ่มวิเคราะห์ตัวเองว่าการทำหนังต้องอยู่กับมัน ต้องโฟกัสกับมันอย่างจริงจัง แต่ทุกวันนี้ยังต้องคิดและรับผิดชอบงาน mv เลยไปขอออกจาก RS เหมือนทุบหม้อข้าวตัวเองเพื่อไปทำหนัง ยอมเดินเข้าวงการหนังทั้งที่ยังอันตรายอยู่

“ตอนนั้นนอกจากอยากทำหนังที่เราอยากทำแล้ว ก็คิดว่าควรทำให้วงการหนังไทยกลับมาฟื้นเหมือนเดิมให้ได้ ช่วงที่วงการหนังไทยมันตกต่ำลง ผู้กำกับหนังไทยเก่าๆ หายไป มันขาดช่วง แล้วช่วงที่ขาดช่วงเราก็มาเจอผู้กำกับสตูดิโอ ผู้กำกับโฆษณา เลยเกิดความคิดว่าถ้าคนทำ mv มาทำหนังล่ะอาจจะทำให้วงการหนังไทยมีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น ก่อนไป (ลาออกจากจาก RS) ก็คุยกับพี่อังเคิล (อดิเรก วัฏลีลา – โปรดิวเซอร์) ว่าเราต้องช่วยกัน อยากให้วงการหนังมีความหลากหลายถึงจะทำให้เราอยู่ทำหนังได้อย่างสบายๆ ”

หลังจากที่ปรัชญาเข้ามาทำหนังกับบริษัทแกรมมี่ตามคำชักชวนของเพื่อน เขามีความสนใจอยากทำหนังเกี่ยวกับมวยไทย ซึ่งในสมัยนั้นหนังมวยไทยไม่เคยประสบความสำเร็จเลย แต่ปรัชญากลับเห็นความพิเศษของหนังแอคชั่นสไตล์ไทยๆ ที่ต่างประเทศไม่มี

ดังที่บอกไปข้างต้นว่าโดยนิสัยปรัชญาเป็นคนชอบดูหนังไทยทุกแบบ แต่เขารู้สึกสนุกกับฉากแอคชั่นสไตล์ไทยๆ เป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นหนังของฉลอง ภักดีวิจิตร, จรัล พรหมรังสี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังของ พันนา ฤทธิไกร ซึ่งเป็นหนังแอคชั่นภูธรที่ฉายตามภาคอีสาน ปรัชญามองว่าในสมัยก่อนหนังแอคชั่นเหล่านี้มีงบประมาณถ่ายทำไม่มาก ไม่มีเทคโนโลยีถ่ายทำเหมือนหนังฝรั่งที่สามารถใช้เอฟเฟคมุมกล้องได้ ทำให้นักแสดงคิวบู๊ต้องเสี่ยงเล่นอย่างผาดโผนตามที่บทเขียนโดยปราศจากอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย เช่น การเตะต่อยจริง การขี่รถชนพุ่งชนสิ่งของต่างๆ ฯลฯ ฟังดูเป็นเรื่องรันทดของการทำหนัง แต่สาเหตุนี้เองเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ภาพออกมาดูน่าตื่นเต้นและสมจริง ปรัชญามองว่านี่คือเอกลักษณ์ของหนังแอคชั่นสไตล์ไทยๆ ที่เขาชื่นชอบ เขาจึงตัดสินใจทำหนังเรื่อง องค์บาก โดยใช้นักแสดงคิวบู๊ของ พันนา ฤทธิไกร ผู้กำกับที่เขาประทับใจ

“ก่อนหน้านี้หนังที่ทำเกี่ยวกับมวยไทยไม่เคยประสบความสำเร็จเลย เจ๊งหมดเลย นายทุนจะกลัวแล้วไล่เรากลับด้วย แต่เราเชื่อกัน เราทำมวยไทยในแบบที่มันดูจริง เปลี่ยนการแสดงที่เน้นความสมจริงสมจังให้ได้มากที่สุด คุยกับพันนาว่าเขามีสตั๊นท์ที่กล้าเสี่ยงด้วยชีวิต เราบอกกับทุกคนว่าถ้าเราอยากให้โลกเห็นเรา เราต้องแลกด้วยชีวิต ไม่งั้นเราทำสู้เขาไม่ได้ เลยเป็นที่มาขององค์บาก”

การถ่ายทำองค์บากนอกจากจะแสดงจริงแล้ว แม้กระทั่งเสียงปรัชญาก็ใช้เสียงจากการเตะต่อยจริง สิ่งสำคัญคือเขาอาศัยประสบการณ์จากการทำ mv มาประยุกต์ใช้ในหนัง เขามองว่าการทำหนังแอคชั่นนั้นว่าด้วยการทำฉากตื่นเต้นเป็นหลัก ว่าเราสามารถเร้าใจคนดูได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการทำหนังภายใต้งบประมาณที่จำกัดและความไม่พร้อมด้านความปลอดภัยของนักแสดงคิวบู๊

แม้ว่าองค์บากจะมีข้อจำกัดต่างๆ ที่กล่าวไปในข้างต้น แต่หนังก็สามารถสร้างสำเร็จด้วยดี เมื่อเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) องค์บากคว้ารายได้จากการฉายในประเทศไปได้ถึง 200 ล้านบาท นอกจากประสบความสำเร็จในประเทศแล้วในเดือนกันยายน 2546 (ค.ศ. 2003) องค์บากยังได้โอกาสเดินทางไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโตต่อ ปรัชญาเล่าว่าเขาเห็นคนดูต่อคิวยาวมากเพื่อรอดูองค์บากและเมื่อหนังฉายจบผู้ชมก็ยืนปรบมือกันนานมาก นอกจากจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมต่างประเทศองค์บากก็เป็นที่สนใจในบริษัทจัดจำหน่ายเช่นกัน ความสำเร็จขององค์บากเดินทางไปไกลถึงยุโรปและอเมริกา และสามารถทะยานเข้าสู่ Box Office ของอเมริกาได้อย่างงดงาม ยอดรวมรายได้ทั่วโลกที่องค์บากทำได้คือประมาณ 20 ล้านเหรียญ

ความสำเร็จขององค์บากไม่ได้นำมาแค่เม็ดเงินรายได้เท่านั้น แต่ยังเป็นหนังแจ้งเกิดให้พระเอกคิวบู๊อย่าง จา พนม ยีรัมย์ และได้ฉายา บรู๊ซ ลี เมืองไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005) ปรัชญาก็สร้างภาพยนตร์แอคชั่นเรื่องใหม่คือเรื่อง ต้มยำกุ้ง โดยมีจา พนมเป็นนักแสดงนำเช่นเดิม ต้มยำกุ้งประสบความสำเร็จทั้งในแง่รายได้และเสียงตอบรับจากผู้ชมจนกระแสมวยไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ชาวต่างชาติหลายคนหันมาสนใจกีฬามวยไทยจากภาพยนตร์แอคชั่นไทยที่ปรัชญาสร้าง


ปรากฏการณ์รักแห่งสยาม

มะเดี่ยว หรือ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล กล่าวว่าตัวเขาเองก็เป็นผลผลิตจากสปีคเกอร์ทุกคน ทั้งการได้ดูภาพยนตร์และอ่านบทวิจารณ์ของทุกคนในห้องคลับเฮาส์ เดิมทีมะเดี่ยวเข้าเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ทุกๆ ปิดเทอมเขาจะต้องทำหนังสั้นเข้าประกวด แต่หนังสั้นของมะเดี่ยวก็ไม่ได้สั้นสมชื่อ ส่วนใหญ่หนังสั้นของเขามักยาวครึ่งชั่วโมงเป็นต้นไป จึงกล่าวได้ว่ามะเดี่ยวเป็นหนึ่งในนักศึกษาคนแรกๆ ที่ถ่ายทำหนัง(สั้น)ขนาดยาว

ทุกๆ ปีที่จุฬาฯ จะมีการทำละครเวทีของนักศึกษานิเทศศาสตร์ตามประเพณี มะเดี่ยวจึงเสนอให้ลองทำหนังกัน ละครของนิเทศจุฬาปีนั้นก็กลายเป็นภาพยนตร์ประจำปีขึ้นมา ในครั้งแรกมะเดี่ยวคิดว่าหนังนิเทศจุฬาที่เขากำกับจะฉายเพียงในห้องประชุมเท่านั้น แต่รุ่นพี่ของเขาแนะนำว่าไหนๆ เมื่อจัดฉายแล้วก็น่าจะเอาเข้าโรงภาพยนตร์ดู แม้จะมีความไม่มั่นใจอยู่บ้างแต่ท้ายที่สุดหนังประจำปีของนิเทศจุฬาก็ได้ฉายที่โรงหนังสนามหนึ่งรอบประกอบในงานเลี้ยงรุ่นของคณะ

เมื่อออกจากรั้วมหาลัย มะเดี่ยวได้เข้าทำงานที่บริษัท RS เมื่อทำงานจนมีประสบการณ์มากพอจะสร้างภาพยนตร์ โจทย์แรกที่มะเดี่ยวได้รับคือการสร้างหนังสยองขวัญด้วยทุนสร้างเพียง 1 ล้านบาท แม้เป็นเงินหลักล้านแต่การถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดยาวนั้นก็มีค่าใช้จ่ายหลายๆ อย่างประกอบ ทั้งค่าจ้างนักแสดง ค่าใช้จ่ายแรงงานทีมงานเบื้องหลัง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมาย เงินจำนวน 1 ล้านบาทจึงไม่ใช่เงินที่มากนักสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดยาว ด้วยสาเหตุนี้ทำให้มะเดี่ยวจำเป็นจะต้องใช้สถานที่ถ่ายทำที่เดียวตลอดเรื่อง เขาจึงนึกถึงประสบการณ์ของตนเองขณะเรียนหนังสือ มะเดี่ยวเล่าให้เราฟังว่าเขาเคยไปบ้านเพื่อนในกรุงเทพฯ ที่เป็นห้องแถว ตอนนั้นเขาโดนเพื่อนแกล้งด้วยการขังเขาไว้ในห้องคนเดียว เขาลองจินตนาการว่าหากลองทำหนังสยองขวัญที่ใช้สถานที่ถ่ายทำเป็นห้องๆ เดียวจะออกมาเป็นอย่างไร ความคิดนี้ได้ถูกพัฒนากลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง คน ผี ปีศาจ ในเวลาต่อมา 

มะเดี่ยวเล่าให้เราฟังเพิ่มเติมว่าบุคคลสำคัญที่ช่วยเหลือเขาตลอดการสร้าง คน ผี ปีศาจ คือปรัชญา ปิ่นแก้ว ที่สอนให้เขารู้จักการจัดการทีมงาน จัดการเบื้องหลังการถ่ายทำอย่างเป็นมืออาชีพ คน ผี ปีศาจ ออกฉายในปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2003) และทำรายได้ทั่วประเทศประมาณ 11.99 ล้านบาท และยังได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติคานส์อีกด้วย

ความสำเร็จด้านรายได้ของคน ผี ปีศาจ ทำให้นายทุนไว้วางใจฝีมือการกำกับภาพยนตร์ของมะเดี่ยว ไม่กี่ปีต่อมาเขาก็ได้สร้างภาพยนตร์เขย่าขวัญเรื่อง 13 เกมสยอง ที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนเรื่อง My Mania ของนักวาดการ์ตูนไทย เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ และออกฉายปี พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006)

ภาพยนตร์เรื่อง 13 เกมส์สยองได้พามะเดี่ยวเดินทางไปเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติหลายแห่งและได้รับรางวัลกลับมากมาย การเข้าร่วมเทศกาลหนังต่างๆ ทำให้เขามีโอกาสได้ดูหนังที่แปลกใหม่ และมีบริษัทตัวแทนจัดจำหน่ายอเมริกามาติดต่อซื้อลิขสิทธิ์หนังไปรีเมค กลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง 13 Sins กำกับโดย แดเนียล สแตมม์

แม้หนังที่มะเดี่ยวทำจะได้ผลตอบรับจากผู้ชมดีมาโดยตลอด แต่หนังที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตเขาคงหนีไม่พ้น รักแห่งสยามความจริงรักแห่งสยามไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างปุบปับฉับพลัน รักแห่งสยามถูกเขียนเป็นบทภาพยนตร์ตั้งแต่สมัยที่มะเดี่ยวเพิ่งเรียนจบ ตอนนั้นเขาพยายามถือบทในมือไปคุยกับผู้ใหญ่หลายคน แต่ก็ยังไม่มีใครตอบอนุมัติอย่างจริงจัง จนเมื่อ 13 เกมสยองประสบความสำเร็จด้านรายได้ นายทุนก็อนุมัติงบให้ชูเกียรติสร้างรักแห่งสยามได้ รักแห่งสยามได้ออกฉายสู่สายตาคนไทยในปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี จนกลายเป็นผลงานแจ้งเกิดให้นักแสดงนำหน้าใหม่อย่าง มาริโอ เมาเร่อ, วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล และ วงออกัส 

รักแห่งสยาม

ความสำเร็จของรักแห่งสยามไม่ได้หยุดอยู่แค่ในประเทศไทยแต่ดังไกลไปถึงประเทศจีน ในปี ค.ศ.2008 (พ.ศ. 2551) เป็นช่วงที่จีนเริ่มเปิดประเทศและเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก รัฐบาลจีนพยายามเปิดรับวัฒนธรรมต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชียด้วยกัน มะเดี่ยวกับวงออกัสได้รับเชิญไปแสดงคอนเสิร์ตที่จีน เขาจึงได้รู้ว่ารักแห่งสยามเป็นที่ชื่นชอบมากในหมู่ชาวจีน เพราะหนังเรื่องนี้เป็นเสมือนกระบอกเสียงให้สังคม LGBTQ+ ในประเทศที่ถูกกดทับมานาน มะเดี่ยวออกความเห็นว่าการเลือกศิลปินจากประเทศไทยไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศของจีนกับญี่ปุ่นและเกาหลี ประกอบกับในสมัยนั้นอุตสาหกรรมบันเทิงไทยกำลังเติบโต นานาชาติเริ่มรู้จักและมองว่าหนังจากประเทศไทยมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ

“2007-2008 เป็นช่วงที่จีนเปิดประเทศพอดี มีการเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติโดยเฉพาะไทย ตอนนั้นมีคนชวนวงออกัสไปเล่นคอนเสิร์ต เราก็ลังเลใจว่า เอ๊ะ จีนแผ่นดินใหญ่เขาชวนเราไปมันมีอะไรวะ แต่ไปเพื่อให้รู้ว่าแฟนๆ ให้การตอบรับ มันก็เป็นการเปิดโลกอีกแบบหนึ่งเขาเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติโดยเฉพาะในเอเชียแบบดีมากๆ โดยเฉพาะประเทศไทย

พอเขาเปิดรับเรามองเห็นโอกาสว่าสิ่งที่เขาไม่มีนั่นคือสังคม LGBT ของเขามันถูกกดอยู่นานมากเลย หนังเรื่องนี้มันไปเปิดให้เขารู้สึกว่าเขามีตัวตน ตอนนั้นมีแค่หนังเรา (รักแห่งสยาม) กับหนัง Yes or No แต่หนังเรื่องนี้เข้าฉายจีนไม่ได้นะเพราะเป็นเกย์ คนจีนก็โหลดเถื่อนดู ทีนี้จะไปกับหนังมันก็ชัดเจนไปหน่อย ก็เลยไปกับวงออกัส ไปเล่นคอนเสิร์ต

“เราก็ไม่คิดว่าหนังเรื่องนี้ (รักแห่งสยาม) จะพลิกวงการ LGBT ไปขนาดนั้น แต่มันก็เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่มากๆ มันเป็นโอกาสที่ดีที่หนังพาเราไปไกลมากๆๆ (ลากเสียง) ไปในที่ที่ไม่คิดว่าจะได้ไป”


ผู้อำนวยการสร้างคนสำคัญ

(จากซ้ายไปขวา) ธงชัย แม็คอินไตย์, ดวงกมล ลิ่มเจริญ, หว่องการ์ไว
ที่มาภาพ : บทความหว่องการ์ไวผู้ชายที่ฉันรัก, ผู้เขียน ดวงกมล ลิ่มเจริญ, นิตยสารสีสัน, ปี 2544

นอกเหนือจากผู้กำกับและนักทำหนังแล้ว ภาณุ อารี (ผู้ดำเนินรายการ) ได้เอ่ยถึง ดวงกมล ลิ่มเจริญ โปรดิวเซอร์หรือผู้อำนวยการสร้างคนสำคัญที่ผลักดันหนังไทยหลายเรื่องให้เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ เธอเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับหนังไทยยุค 2540 หลายเรื่องเช่น จัน ดารา โอเคเบตง มนต์รักทรานซิสเตอร์ ซึ่งส่วนมากเธอจะทำงานกับ นนทรีย์ นิมิบุตร และ เป็นเอก รัตนเรือง

ดวงกมลเป็นคนที่รักละคร ภาพยนตร์ และศิลปะการแสดงเป็นชีวิตจิตใจ เธอเชื่อมาตลอดว่าหนังไทยมีคุณภาพมากพอที่จะส่งออกแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ แต่ในยุคก่อน 2540 ไม่มีใครเชื่อว่าสิ่งที่เธอคิดจะเป็นจริงได้ ผู้ใหญ่ต่างมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันเสียมากกว่า หลังจากทำงานไม่นานนักเธอได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่อเมริกาด้าน Business and Management in Entertainment เมื่อเรียนจบกลับมายังประเทศไทยเธอได้ทำงานตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปให้กับบริษัทแกรมมี่ ฟิล์ม และการทำงานเบื้องหลังนี้เองทำให้ดวงกมลมีโอกาสได้ร่วมงานกับ หว่องการ์ไว ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง 2046 กับ In the Mood For Love ที่ประเทศไทย

ดวงกมลเขียนบทความ “หว่องการ์ไวผู้ชายที่ฉันรัก” ลงในนิตยสารสีสันว่ากลางปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) หว่องการ์ไวยกกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง 2046 มาที่ประเทศไทย ดวงกมลจึงได้ใกล้ชิดและคอยอำนวยความสะดวกให้กองถ่ายของหว่องฯ อยู่หลายเดือน การได้คลุกคลีกับหว่องการ์ไวนี้เองทำให้เธอมีโอกาสพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ กับเขาจนสนิทกัน วันหนึ่งหว่องก็เรียกเธอเขามาคุยด้วยเป็นการส่วนตัวแล้วพูดกับเธอเป็นใจความว่า

“ในความเห็นของเขา ฉัน (ดวงกมล) น่าจะเริ่มต้นทำหนังอย่างจริงจังได้แล้ว ทำในเมืองไทยนี่แหละ ทำในเมืองไทยแล้วก็มีเพื่อนฝูงร่วมอุดมการณ์อยู่ตามประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียด้วยกัน สร้างหนังมาแล้วมาแลกกันเอาไปฉาย เอาตังค์มารวมกันแล้วทำหนังด้วยกัน จะได้ฉายหลายๆ ประเทศ (…)”

เดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) คำพูดจากจากหว่องการ์ไวสร้างขวัญและกำลังใจให้เธอเป็นอย่างมาก ดวงกมลตัดสินใจลาออกจากบริษัทใหญ่ที่ทำงานอยู่แล้วมาร่วมก่อตั้งบริษัท Cinemasia กับนนทรีย์ นิมิบุตร พร้อมรับตำแหน่งเป็นโปรดิวเซอร์เช่นเดิมแต่วางบทบาทของตนเองให้เป็น ‘โซ่ข้อกลาง’ ผู้คอยจัดการปัญหาธุรกิจระหว่างนักทำหนังกับนายทุนและภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้คนทำภาพยนตร์สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การยกระดับบทบาทโปรดิวเซอร์ในอุตสาหกรรมหนังไทยของดวงกมลทำให้เกิดภาพยนตร์ที่เป็นผลผลิตจากการร่วมมือกันระหว่างประเทศอย่างเรื่อง รักน้อยนิดมหาศาล (Last Life in the Universe) ที่ได้ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ ผู้กำกับภาพคู่ใจชาวออสเตรเลียของหว่องกาไวมาเป็นทีมงาน และนักแสดงชาวญี่ปุ่นอย่าง ทาดาโนบุ อาซาโนะ มาแสดงนำ รวมไปถึงภาพยนตร์เรื่อง อารมณ์ อาถรรพ์ อาฆาต โปรเจกต์หนังที่เกิดจากการร่วมมือกัน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย เกาหลี ฮ่องกง

ในช่วงที่การงานรุ่งโรจน์ถึงขีดสุดดวงกมลกลับพบข่าวร้ายว่าเธอเป็นโรคมะเร็งและมีเวลาเหลืออยู่บนโลกอีกไม่นาน เธอจึงซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์จากเกาหลีเพื่อทำหนังเรื่องสุดท้ายในชีวิตนั่นก็คือ The Letter จดหมายรัก เธอทุ่มเทกับภาพยนตร์เรื่องนี้มากถึงขนาดไปออกกองถ่ายทำด้วยแม้ว่าสภาพร่างกายตนป่วยหนักมากก็ตาม

ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2546 ดวงกมลได้รับรางวัล CineAsia Award สาขา Producer of the Year จาก Film Expo Group ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับเอเชียก่อนจากไปในเดือนธันวาคมด้วยวัยเพียง 39 ปี เธอจากไปก่อน The Letter จะได้เข้าฉาย อย่างไรก็ตามเมื่อ The Letter เข้าโรงฉายก็ทำรายได้ได้ถึง 43.7 ล้านบาท และกลายเป็นภาพยนตร์โรแมนติกดราม่าเรื่องสำคัญของวงการหนังไทย


บริษัทตัวแทนจัดจำหน่าย

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ไทยได้รับการยอมรับระดับนานาประเทศไม่ได้เกี่ยวข้องแค่คุณภาพภาพยนตร์เท่านั้น การตลาดที่ดีของบริษัทตัวแทนจัดจำหน่ายก็เป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยสำคัญที่พาหนังให้ไปไกลในระดับโลก ซึ่งวัตถุประสงค์การนำภาพยนตร์ไปฉายต่างประเทศแบ่งได้เป็น 2 แบบคือการนำไปฉายโรงภาพยนตร์ทั่วไปในเชิงการค้า หรือนำไปร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์ในแง่การส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม

Fortissimo Films เป็นบริษัทตัวแทนจัดจำหน่ายของเนเธอร์แลนด์ และเป็นเจ้าแรกที่เล็งเห็นว่าภาพยนตร์ไทยในทศวรรษที่ 2540 มีศักยภาพมากพอที่จะนำไปออกฉายในตลาดภาพยนตร์ต่างประเทศได้ ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกๆ ที่บริษัท Fortissimo เลือกไปจัดจำหน่าย ได้แก่ นางนาก (นนทรีย์ นิมิบุตร, 2542/1999), เรื่องตลก69 (เป็นเอก รัตนเรือง, 2542/1999), บางกอกแดงเจอรัส (ออกไซด์ แปง , แดนนี แปง, 2543/2000), ฟ้าทะลายโจร (วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง, 2544/2001) และ สตรีเหล็ก (ยงยุทธ ทองกองทุน, 2543/2000) ฯลฯ โดยเฉพาะสามเรื่องหลัง Fortissimo ติดต่อกับบริษัทผู้สร้างก่อนหนังจะเข้าฉายโรงภายในประเทศเสียอีก นอกเหนือเรื่องที่ยกตัวอย่างมาแล้ว Fortissimo ยังจัดจำหน่ายภาพยนตร์โดยเน้นตัวผู้กำกับ เช่น นนทรีย์ นิมิบุตร เป็นเอก รัตนเรือง

อีกกรณีหนึ่งที่เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือบริษัทตัวแทนจัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่ององค์บาก กล่าวคือบริษัทที่เป็นตัวจัดจำหน่ายองค์บากมี 2 แห่ง คือบริษัท Golden Network Asia และบริษัท Europa Corp

Golden Network Asia เป็นบริษัทที่นำองค์บากเข้าสู่ตลาดภาพยนตร์ในภูมิภาคเอเชีย โดยเข้าฉายที่สิงคโปร์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) เพียง 5 สัปดาห์ก็มีผู้ชมกว่า 69,790 คน และทำรายได้ในสิงคโปร์ได้รวม 300,500 เหรียญสหรัฐฯ ต่อมาองค์บากก็ได้ไปฉายที่ฮ่องกงในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) และทำรายได้มากถึง 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนบริษัท Europa Corp ซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่ายของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ลุค เบซอง โดย Europa Corp ซื้อลิขสิทธิ์แล้วตัดต่อใหม่ในแบบฉบับลุค เบซองแล้วพากย์เสียงภาษาฝรั่งเศสทับแล้วนำเข้าฉายในแถบยุโรปและอเมริกาในเดือนเมษายน ค.ศ.2004 (พ.ศ. 2547) องค์บากทำรายได้ที่ฝรั่งเศสได้มากถึง 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสามารถกล่าวได้ว่าหนังแอคชั่นไทยอย่างองค์บากและต้มยำกุ้งเป็นหนังที่ทำให้ชาวต่างชาติหลายคนหันมาสนใจมวยไทย ซึ่งภาพยนตร์ของปรัชญา ปิ่นแก้ว สามารถสร้าง Soft Power ให้คนหันมารู้จักวัฒนธรรมศิลปะป้องกันตัวของไทย หรือภาพยนตร์แนว Martial Art


สรุปพัฒนาการภาพยนตร์ไทยในทศวรรษ 2540 – 2548

ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (มะเดี่ยว) ขณะถ่ายทำภาพยนตร์
ที่มาภาพ : http://sahamongkolfilm.com/saha-movie/love-siam-movie-2550/

รายงานผลการวิจัย “พัฒนาการของภาพยนตร์ไทยในช่วง พ.ศ. 2540-2548” ของ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต แสดงข้อมูลหนังไทยที่เข้าฉายในปี พ.ศ. 2540-2548 (ค.ศ. 1997-2005) โดยเก็บสถิติจำนวนหนังถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548

นอกจากนำเสนอข้อมูลภาพยนตร์แล้ว ชลิดายังนำอายุผู้กำกับหน้าใหม่ที่ทำหนังในช่วงเวลาดังกล่าวมาวิเคราะห์ ซึ่งข้อมูลจำนวนและตัวเลขอายุของผู้กำกับหน้าใหม่นี้สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงเวลานั้นวงการภาพยนตร์เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถทำหนังออกฉายตามความฝันได้จริง นักศึกษาภาพยนตร์จบใหม่หรือคนนอกวงการหนังก็สามารถเป็นผู้กำกับได้

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งของช่วงปี 2540 – 2548 คือการเกิดผู้กำกับหน้าใหม่ ซึ่งมาจากภูมิหลังและอายุที่แตกต่างกัน จากจำนวนภาพยนตร์ 201 เรื่องมีจำนวนผู้กำกับ 138 คน เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก 96 คน

ในบรรดาผู้กำกับหน้าใหม่ที่มีอายุน้อยที่สุดคือ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับเรื่อง คน ผี ปีศาจ มีอายุเพียง 23 ปี (เมื่อภาพยนตร์ออกฉาย) ส่วนผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีอายุมากที่สุด จรูญ วรรธนะสิน กำกับเรื่อง เชอรี่แอน อายุ 63 ปี และในบรรดาผู้กำกับหน้าใหม่ มีผู้กำกับหญิง 7 คน”

ชลิดายังตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะร่วมของหนังไทยที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ยุคนั้นหลายเรื่องเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ซึ่งบริบทของช่วงปี 2540 เป็นยุคที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ผู้คนกลับมารื้อฟื้นคุณค่าความเป็นไทยทำให้ความเชื่อทางการเมืองแบบชาตินิยมถูกหยิบยกขึ้นมาในยุคนี้ ตัวอย่างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ในยุคนั้นเช่น บางระจัน (ธนิตย์ จิตนุกูล, 2543/2000) สุริโยทัย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล, 2544/2001) โหมโรง (อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์, 2547/2004) ที่เชิดชูดนตรีไทยและเครื่องดนตรีอย่างระนาด นางนากหนังผีไทยที่เน้นความสมจริงและงานสร้างที่พิถีพิถัน รวมไปถึงองค์บากและต้มยำกุ้งที่หยิบยกศิลปะมวยไทยมานำเสนอ

ส่วนหนังอาร์ตที่สามารถไปเทศกาลหนังระดับนานาชาติอย่างเรื่อง ฝัน บ้า คาราโอเกะ ฟ้าทะลายโจร สุดเสน่หา สัตว์ประหลาด ฯลฯ ชลิดาตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าภาพยนตร์ศิลปะเหล่านี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นตามสูตรสำเร็จเท่าใดนัก และเป็นภาพยนตร์ที่ให้อิสระในการคิดสูง แต่มีโอกาสทางการค้าจำกัดทั้งในและต่างประเทศ


กลับมาที่ห้องคลับเฮาส์เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ชาญชนะ หอมทรัพย์ คอลัมนิสต์ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยเอ่ยว่าภาพยนตร์เรื่อง 2499 สำหรับเขามีความเป็นหนังฝรั่งเสียมาก

ส่วน ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์และรองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ เองก็ให้ความเห็นว่าความนิยมในหนังไทยช่วงปี 40 ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

“2540 มันมาพร้อมๆ กับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปและความเปลี่ยนแปลงของชุมชนเมืองในต่างจังหวัด คือมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น รสนิยมถูกแบ่งมากขึ้น ความเป็นเมืองกับต่างจังหวัด หนังไทยกลายเป็นหนังของคนต่างจังหวัด คนกรุงเทพฯ ดูหนังฝรั่ง จนช่วงอุ๋ย-นนทรีย์ทำ 2499 คนก็กลับมาดูหนังไทยเรื่อยๆ เพราะคุณภาพหนังดีและดูสมัยใหม่ และต่อเนื่องมาเรื่อยๆ มันก็ตอบสนองด้วยสินค้าทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบไป พี่อุ๋ยก็มาในเวลานั้นพอดีก่อนแตกไปเป็นอินดี้เป็นอะไรอย่างอื่น”

ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์หนังเห็นด้วยกับชาญชนะพร้อมให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าหนังของนนทรีย์ในช่วง 2540 ไม่เหมือนกับหนังไทยในยุค 2530 ที่คนไทยเคยรู้จักพร้อมกับเหตุผลว่า

“ข้อดีของ 2530 คือความเสื่อมของมันทำให้เกิดการล้างไพ่ล้างบุคคลรุ่นเก่าออกไป (หัวเราะ) และมาแทนที่ด้วยคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีความเชื่อมโยง มาพร้อมกับเรื่องไอเดียใหม่ๆ มาพร้อมกับร้านวิดีโอ มาพร้อมกับโลกที่กว้างขึ้น”

หลังที่สปีคเกอร์ทุกคนในพูดจบก็เข้าสู่ช่วงตอบคำถามและให้ผู้ฟังแสดงความเห็น ดรสะรณ โกวิทวณิชชา นักวิจารณ์และโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์นอกกระแสกล่าวแสดงความคิดเห็นทิ้งท้ายว่า

“เรารู้สึกเศร้ามากนะ มันเหมือนหนังไทยเคยอยู่ในจุดที่สูงมาก แล้ววันนี้มันกลายเป็นมันหลงทิศหลงทางน่ะ ถึงก็ยังมีคนที่ตั้งใจทำอะไรดีๆ อย่างฉลาดเกมส์โกงที่ประสบความสำเร็จ แต่หลายๆ อย่างมันขาดทิศทาง ขาดซึ่งการผลักดันสนับสนุน ทั้งแน่นอนภาครัฐที่มีส่วนอย่างมาก ว่าการสนับสนุนถูกทางหรือเปล่า หรือเข้าใจไหมว่าต้องการอะไร ต้องการเห็นหนังไทยอยู่ในเวทีโลก หรือว่าก็ทำไปอย่างนั้นหรือเปล่า อีกฝั่งหนึ่งคือเรื่องของเอกชนเองด้วย

สุดท้ายหนังที่อยู่ในท้องตลาดเรารู้สึก เราอยากให้ทุกคนคิดว่าทำอะไรที่ได้คุณภาพจริงๆ มากกว่าจินตนาการว่าหนังแบบไหนมีคนดู”


อ้างอิง

  • ภาพการฉายหนังสั้นในปี ค.ศ. 2000 ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ และ ภาพบรรยากาศการประกวดภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 1 ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ จากบทความ “24 ปีแห่งความหลังของนักดูหนังสั้นมาราธอนที่ชื่อ จิตร โพธิ์แก้ว” เขียนโดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.fapot.or.th/main/information/article/view/589
  • ข้อมูลรายได้จากบทความ “เปิดไดอารี่ หนังดังในตำนาน รองต๊ะแล่บแปล๊บ” โดย BKKNews เข้าถึงข้อมูลจาก https://retro.bkkclub.net/927
  • “เส้นทางความสำเร็จองค์บาก” เข้าถึงข้อมูลจาก https://positioningmag.com/7748 
  • ดวงกมล ลิ่มเจริญ : สานฝัน ‘หนังไทย’ สู่ ‘หนังโลก’ เขียนโดย เพจ ยอดมนุษย์…คนธรรมดา
  • นิตยสารสีสัน ปี 2544 บทความ “หว่องการ์ไวผู้ชายที่ฉันรัก” เขียนโดย ดวงกมล ลิ่มเจริญ เข้าถึงข้อมูลจาก https://pantip.com/topic/33581644
  • รายงานผลการวิจัย “พัฒนาการของภาพยนตร์ไทยในช่วงพ.ศ.2540-2548” โดย ชลิดา เอื้อบำรุงจิต

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here