ค.ศ. 1982 รัฐบาลอังกฤษภายใต้นาง Margaret Thatcher ได้ปฏิเสธการต่อสัญญาเช่าเขตฮ่องกง (Hong Kong Territory) ก่อนครบสัญญาอายุเก้าสิบเก้าปีในปี 1997 (หรืออีกสิบห้าปีหลังจากนั้น)
ผลจากการตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษ สร้างความไม่เชื่อมั่นในอนาคตของเขตปกครองฮ่องกง ทันทีที่ถูกเปลี่ยนมือตกเป็นของจีนแผ่นดินใหญ่ สร้างความหวาดวิตกต่อนักลงทุน+เจ้าของเงินและธุรกิจ (โดยเฉพาะชาติตะวันตก) ส่งผลให้เกิดการขนย้ายถ่ายโอนเงินทุนออกนอกประเทศเป็นว่าเล่น โดยเฉพาะทุนที่ต่างชาติถือครองสินทรัพย์ ซึ่งกระจายตัวไปหลายส่วนทั่วโลก
จนกระทั่งถึงวันส่งมอบเอกราชจากอังกฤษให้กับจีนแผ่นดินใหญ่ในค่ำคืนวันที่ 30 มิถุนายน 1997 มีการจัดพิธีเฉลิมฉลองอย่างใหญ่โต เพื่อให้ย่างก้าวเข้าสู่วันแรกของยุคสมัยที่ฮ่องกงจะตกเป็นของจีนเต็มตัว 1 กรกฎาคม
ทันใดนั้นเองในวันวันเดียวกันนี้อีกเช่นกันก็ได้เกิดเหตุสะเทือนขวัญทางการเงินซึ่งมิได้เกิดขึ้นบนแผ่นดินฮ่องกง ทว่าเริ่มที่เมืองไทยเรานี่เอง เมื่อรัฐบาลภายใต้ พล.อ.เชาวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทแบบไร้เพดาน
จนกระทั่งลุกลามกลายเป็นวิกฤตทางการเงินไปทั่วภูมิภาคเอเชียอาคเนย์อันเป็นที่รู้จักด้วยชื่อ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’
ทุนที่ระบายออกจากฮ่องกง ส่วนหนึ่งได้ถูกใช้เป็นเงินต้นสำหรับปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนหันมาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ เพื่อนำไปหมุนปล่อยกู้ต่อให้กับนักลงทุนรายย่อยในประเทศอีกต่อ โดยผูกไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อครบกำหนดเกิดการแทรกแซงโดยนาย George Soros ได้เสนอปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลดอลลาร์ต่อหน่วยเงินท้องถิ่นซึ่งสร้างผลกระทบโดยตรงทั้งต่อเงินต้นและดอกเบี้ย ฝ่ายที่รับผลกระทบโดยตรงกลายเป็นระบบการคลังที่ต้องระดมทุนสำรอง (โดยเฉพาะทองคำ) เพื่อนำมาใช้หนุนและค้ำจุนเสถียรภาพทางด้านอัตราการแลกเปลี่ยน เพื่อปรับตัวตามค่าเงินดอลลาร์ที่ผันผวนไม่สิ้นสุด
แล้ววิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก มาเกี่ยวอะไรกับ ‘ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ’ (A Moment of Romance, 天若有情, 1990) ด้วย คงต้องบอกว่าเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอังกฤษมีต่อความเป็นอยู่และอนาคต (ณ เวลานั้น) ของฮ่องกงโดยตรง เพราะมิใช่มีแค่เงินทุนจะกระจายไปทั่วโลก หากแต่คนของเขาก็ยังรับผลกระทบตามมาอีกเป็นทอดๆ
ผลกระทบที่ว่าคงพอมองเห็นตั้งแต่เมื่อคราวออกฉายครั้งแรก แล้วหลังจากนั้นอีกเจ็ดปีให้หลัง (ในปี 1997) ผลกระทบเหล่านั้นก็ยิ่งย้ำข้อพิสูจน์ที่ว่าหลังจากคนของเขาได้กระจายตัว (ซึ่งคงไม่ถึงกับต้องเรียกอพยพ) ย้ายถิ่นไปตั้งรกรากตามประเทศซีกโลกตะวันตก เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ซึ่งฝ่ายที่รับประโยชน์ก็คงมีแค่กลุ่มเงินทุน, เจ้าของกิจการ ขณะที่อีกข้างหนึ่งยังคงมีกลุ่มประชากรรากหญ้าที่ไม่มีความมั่นใจและมั่นคงต่ออนาคต
เหมือนตกอยู่ภายใต้ภาวะที่ต้องพร้อมรับกับภัยคุกคามในทันทีที่ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ เมื่อฮ่องกงกำลังจะถูกเปลี่ยนมือไปอยู่กับจีน
จะเห็นได้ว่าปีที่ ‘ผู้หญิงข้าฯ’ ออกฉาย (1990) จะตกอยู่ในช่วงกึ่งกลางอันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของฮ่องกงพอดีๆ คือแปดปีหลังการตัดสินใจไม่ต่อสัญญา (1982) พอเหลืออีกเจ็ดปี คนฮ่องกงก็ต้องเดินหน้าเข้าสู่ระบบใหม่ที่ทางการจีนจะเข้ามารับช่วงต่อ (1997) แต่สำหรับคนรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมตกอยู่ในสภาพที่ถ้าไม่หวาดหวั่นกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ก็หยิบยื่นความหวาดหวั่นที่ว่านั้นเสียเอง คนและหนังฮ่องกงจึงเหมือนตกอยู่ภายใต้วงล้อมของนักเลง, แก็งสเตอร์, ผีสางเทวดา และหนังโป๊ catagory III ขณะที่คน(ฮ่องกง)ที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ต่อ ต่างก็คาดหวังว่าวันหนึ่งน่าจะพอโอกาสและยกระดัยความเป็นอยู่ให้ทัดเทียมกับพวกที่ ‘ล่วงหน้า’ ไปตั้งรกรากรุ่นก่อนหน้าขึ้นมาบ้าง ซึ่งในความเป็นจริง ความไม่มั่นใจต่ออนาคตที่ยังมาไม่ถึงก็ยังคงทำงานอยู่ในมิติทางจิตวิทยามวลชนของคนฮ่องกงเสมอ
คนที่ลอยตัวไปแล้ว ก็จะมีพวกพ่อ-แม่ของโจโจ้ ขณะที่ในฮ่องกงยังคงมีคนอย่างอาหวอ (หลิวเต๋อหัว), แรมโบ้ (อู่ม่งต๊ะ) และพวกพ้องที่พร้อมจะเป็นศัตรู ต่อให้อยู่ในแก็งค์ๆ เดียวกัน ส่วนที่น่าสนใจมาก เป็นซีนหลังการปล้นร้านเพชรใจกลางกรุง โดยจับโจโจ้เป็นตัวประกัน พลพรรคชาวเดอะแก็งค์ก็ไปตกลงแบ่งผลประโยชน์ (พร้อมด้วยโจโจ้ที่เตรียมจะปล่อยเป็นอิสระ) กันกลางหุบเขา ซึ่งแทนที่จะเป็นย่านใจกลางเมืองของฮ่องกงเอง หากแต่ไปนัดพบกันถึงเขต New Territory ซึ่งอยู่ตอนเหนือๆ ติดชายแดนจีน
เฉินมู่เซิง (陳木勝) สร้างตัวละครอย่างแม่กับพ่อของโจโจ้เป็นตัวขับเคลื่อนและถ่างช่องว่างความขัดแย้งให้กว้างออก เพราะลำพังแค่เห็นผ่านวิดีโอ (ซึ่งเวลานั้น อย่างหรูสุดก็คงแค่ส่งเมล์พัสดุมาเป็นม้วน, หาใช่วิดีโอคอล) น่าจะเป็นสัญญาณที่น่าจะชัดเจนพอ ทว่าเจ็บปวดในความรู้สึกได้พอประมาณแล้ว แต่นี่ตัวเป็นๆ ดันมาให้เห็นกันถึงที่เอาในเวลาที่ความรักความสัมพันธ์ของโจโจ้กับอาหวอกำลังเบ่งบานและผ่านวันเวลาดีๆ งามๆ ร่วมกัน (เป่าเค้ก, ต้มซุปใส่กระติกเยี่ยมไข้) แล้วรังสีมาดามแม่ก็แผ่ให้เราเห็น โดยเราไม่เห็น อย่างในเวลาที่อาหวอถูกขัง แล้วจู่ๆ ก็ได้รับการปล่อยต้วแบบ (เอ้อออ เนอะ) จนกระทั่งมาพบคำเฉลยในห้องหน.สถานี บนผนัง อ้าว! ยังมีรูปควีน อลิซาเบธใส่กรอบแขวนอยู่
ภาพสาทิศลักษณ์ราชินีเองก็รอคอยการปลด อาหวอก็รอการปล่อย (ปล่อยที่ว่าคือออกจากห้องขัง) ซึ่งเท่านี้ก็เจ็บพอแล้ว ต่อให้ไม่บอกให้รู้ ไม่ทำให้ดู ก็พอเดาได้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง ซึ่งการใช้เส้นสาย, อิทธิพลของมาดามแม่ ใช่ว่าจะให้ผลเป็นคุณ หากแต่จะยิ่งสร้างแรงกดดันต่อความรักของคนรุ่นลูกหนักขึ้นกว่าเก่า จนกระทั่งมาพบคำตอบในที่ซีนมาดามสั่งป้าแม่บ้านให้ทำโน่นทำนี่ (ตัดกิ่งไม้,ทาสีใหม่) ถึงได้รู้จุดประสงค์ของนางในการกลับฮ่องกงว่ามิได้มาเพื่อโจโจ้ แต่เป็นการกลับมาเพื่อ “เตรียม” ขายบ้าน!
คนรุ่นแม่รุ่นพ่อของโจโจ้+อาหวอ รังแต่จะเข้ามาเพื่อสร้างความเหลื่อมล้ำ (สู้บุกบั่นเพื่ออนาคตยังต่างแดนแบบข้ามทวีป) ตรงกันข้ามกับที่อาหวอกลับเลือกเดินย้อนศร ในฮ่องกง อาหวอโตขึ้นท่ามกลางแม่ๆ บุญธรรมทั้งสาม (ซึ่งน่าจะเป็นส่วนเดียวที่เขากับโจโจ้มีส่วนคล้ายคลึงกันก็คือความเป็น fairy tale ที่ไม่ต่างกับชีวิตในการ์ตูนดิสนีย์ สมมติโจโจ้เป็นเจ้าหญิง อาหวอก็มีนางฟ้าใจเมตตาทั้งสามคอยชุบเลี้ยง หากแต่เพียงนางฟ้าที่ว่าประกอบอาชีพขายบริการ) หากมาดามแม่พยายามลากจูงโจโจ้สู่แดนในอุดมคตินอกประเทศ อาหวอกลับพาตัวเองย้อนกลับไปหารากเหง้าเมื่อครั้งอดีตของตนที่มาเก๊าซึ่งแม้จะไม่มีแม่ แต่อาหวอยังมีเหล่ากงที่พร้อมจะรับรู้เป็นสักขีพยาน และพาร์ตในมาเก๊านี้อีกเช่นกันที่ หากสมมติว่าผกก.เบนนี่ ชาน หันมาเพิ่มโฟกัสตรงนี้นิดเดียว นอกจากเรื่องจะปรับตัวเข้าหาโทนดรามาเต็มตัว เผลอๆ อาจยังมีผลทำให้พบปมบางอย่างเพิ่มขึ้นมาว่า คนอย่างอาหวอแทบไม่ต่างอะไรกับ ‘นกไร้ขา’ อย่างยกไจ๋ (เลสลีย์ จาง) จากเรื่อง Days of Being Wild (阿飛正傳, 1991, Wong Kar Wai)
อาหวอค้นจนพบร่องรอยอดีตและความเป็นมาของตัวเองในมาเก๊า ขณะที่โจโจ้แทบมองไม่เห็นอนาคต (ที่มาดามแม่ลาดปูเตรียมไว้ให้) ยังต่างแดน ซึ่งไม่มีทางไปกันได้ด้วยกันทั้งคู่ เมื่อข้างหนึ่ง สายใยเชื่อมต่อ ‘ขาด’ ไปแล้วก่อนหน้า คือ ‘แม่’ แท้ๆ ของอาหวอที่ด่วนตัดช่องน้อยไปก่อนหน้า ขณะที่อีกข้างก็ยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะในต่างแดนหรือบนดินแดนฮ่องกงเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่คนหนุ่มสาวในยุค 90 ต้องเผชิญร่วมกัน
ขณะเดียวกันทางการจีนเอง เมื่อถึงเวลาของการส่งมอบจริง ก็ยังคงไม่ผลีผลามด่วนทุบหม้อข้าวตนเองไปตามที่หลายฝ่ายพากันประหวั่นพรั่นพรึงตลอดมาช่วงเวลาร่วมๆ ครึ่งแรกของทศวรรษที่ 90 นอกเสียจากว่าปล่อยให้คนรุ่นถัดจากโจโจ้ที่โตขึ้นและใช้ชีวิตบนความ Future Shock ซึ่งใกล้เคียงตามที่คนหนุ่มสาวในยุค nineties ที่ได้เปลี่ยนมาเป็นรุ่นพ่อรุ่นแม่ไปเรียบร้อย เมื่อทางการจีนหันมาใช้นโยบายที่แข็งกร้าวเหนือดินแดนที่นับถึงทุกวันนี้ที่ทางการจีนมองว่าได้ถูกนับรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนไปแล้วเต็มตัว จิตวิญญาณแบบอาหวออาจพ่ายแพ้ในยุคสมัยของเขาเอง (เท่าๆ กับที่คนรุ่นซึ่งเกิดและโตทันยุคส่งมอบได้ถูกทางรัฐบาลกลางของจีนมอมเมา ไม่ต่างกับนิสัยที่มาดามแม่ชอบใช้กับลูกและคนในปกครอง) ที่ทำให้การร่วมวงศ์วานสายเลือดและสร้างครอบครัวระหว่างโจโจ้กับอาหวอไม่เกิดขึ้นและไม่มีทางเป็นไปได้ในยุคสมัยของตน