เมื่อปี 2013 เกม The Last of Us ของค่าย Naughty Dog วางจำหน่ายพร้อมสถิติมากมายทั้งการเป็นหนึ่งในเกมที่มียอดขายสูงสุด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการได้รับการยอมรับให้เป็นเกมที่ดีที่สุดของปีนั้น จากทุกเวทีรางวัล
…2020
The Last of Us Part II วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ยังคงทำยอดขายถล่มทลาย แต่กระแสตอบรับกลับไม่เอกฉันท์เหมือนเคย มันมีทั้งคนที่รักและเทิดทูนมันเสียยิ่งกว่าภาคแรก ขณะที่คนอีกไม่น้อยก็ก่นด่าสาปแช่งมันเละเทะ
เราอาจจะคิดว่า Naughty Dog ผู้ผลิต เสียรังวัดไปไม่น้อยที่มันไม่เป็นที่รักเหมือนเช่นเคย แต่ประทานโทษ นี่คือสิ่งที่นักพัฒนาเกมคิดไว้อยู่แล้วว่าผลลัพธ์มันจะออกมาเช่นนี้ เพราะ “ความไม่สบายใจขณะเล่นเกม” คือสิ่งที่พวกเขาอยากให้เป็น!
แต่ก่อนที่เราจะมาถอดบทเรียนกันว่าพวกเขาทำอย่างไรให้ผู้เล่นทั้งรักทั้งชังได้ในภาค 2 บางทีเราอาจต้องย้อนไปว่าทำไมผู้เล่นถึงรักมันนักหนาในภาคแรก
เรื่องราวในภาคแรกเราจะได้ติดตาม โจเอล กับ เอลลี่ เดินทางฝ่าฝูงซอมบี้ข้ามอเมริกาเพื่อพาเอลลี่ไปเป็นต้นแบบของการพัฒนาวัคซีน หลังจากพบว่าเธอคือคนเดียวที่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อที่กำลังระบาด แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือเราจะได้รู้สึกผูกพันกับทั้งสองตัวละครไปเรื่อยๆ จนทำให้การตัดสินใจบางอย่างมีผลทางอารมณ์ของผู้เล่นอย่างรุนแรง
โจทย์สำคัญคือเหล่าผู้สร้างจะจัดการยังไงกับโลกที่ตัวละครแค่สองตัวถูกทิ้งไว้กับความล่มสลายนี้แล้วยังทำให้ผู้เล่นรู้สึกร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ วิธีคลี่คลายคือการใช้ ‘โครงสร้างการเขียนบทหนัง’ มารองรับ แต่สิ่งที่ผลักดันมันจนล้วงเข้าไปถึงความรู้สึกของผู้เล่นได้คือการที่มันจริงจังกับ ‘การพัฒนาตัวละคร’ …ไม่ต่างกันกับการเขียนบทหนัง
เกมเปิดเรื่องที่การตายของลูกสาวโจเอล โดยเราจะเล่นเป็นลูกสาวของเขา ซึ่งเหตุการณ์สะเทือนใจนี้เองที่จะตามหลอกหลอนเราในฐานะผู้เล่นและโจเอลไปตลอดทาง ยิ่งเมื่อเขาได้จับคู่กับเอลลี่ที่รุ่นราวคราวเดียวกับลูกสาวของเขา การพัฒนาความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่จึงก่อร่างในมโนสำนึกของผู้เล่นได้ไม่ยากเลย
จากภาพด้านล่าง เราจะเห็นได้ว่าการเขียนบทเกมนี้ไม่ต่างจากการเขียนบทหนัง แต่ที่แทรกเข้ามาคือการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของผู้เล่นด้วย ซึ่งนอกจาก ‘บท’ ของ The Last of Us ภาคแรกจะได้รับการยกย่องว่ามีลูกล่อลูกชนทั้งยังพาไปสำรวจจิตใจของตัวละครไม่ต่างจากการดูหนังดีๆ เรื่องหนึ่งแล้ว มันยังเป็นเกมที่ได้รับคำชมด้วยว่ามีระบบการเล่นที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี โดยที่ไม่ทิ้งผู้เล่นให้เคว้งคว้างกลางทางแต่อย่างใด
ภาษาหนังเป็นสิ่งสำคัญของเกม
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือในความสำเร็จของเกม The Last of Us นั้น มันเต็มไปด้วยภาษาหนังที่แพรวพราว อย่างแรกคือบทเกมอันซับซ้อนทั้งเรื่องราวและอารมณ์ของตัวละคร และเหนือไปกว่านั้นคือการใช้ภาษาหนังขยี้ความรู้สึกของตัวละครและผู้เล่น อย่างเช่นในยามที่มีตัวละครได้รับบาดเจ็บ ผู้เล่นก็จะเจ็บไปกับตัวละครทั้งทางร่างกายและจิตใจจากการเซ็ตอัพปูมหลังของตัวละครดังที่เรายกตัวอย่างในข้างต้น นอกจากนี้มันยังเป็นเกมที่ทำสกอร์โดย กุสตาโว ซานตาโอลัลลา ผู้ที่เคยเข้าชิงออสการ์จาก Brokeback Mountain และ Babel มาแล้ว ทั้งหมดนี้มันนำไปสู่บทสรุปที่ชวนช็อคอันเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้เราพอรู้ว่า การที่เราทำความรู้จักกับตัวละครเป็นวันๆ ในฐานะผู้เล่นนั้น บางทีอาจไม่ได้ทำให้เรารู้จักคนคนนั้นดีพอด้วยซ้ำ และนี่คือสัญญาณเตือนว่าภาค 2 อาจไม่ทำให้ผู้เล่น ‘พึงพอใจ’ ไปเสียทั้งหมดอย่างแน่นอน
หาก The Last of Us Part II ทำให้คุณไม่สบายใจ …นั่นคือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว!
หลังความสำเร็จของ The Last of Us ผู้กำกับ นีล ดรักมันน์ และคนเขียนบทร่วมของเขา ฮัลลี เวกริน กรอส ก็พัฒนาภาค 2 ต่อทันที โดยแนวคิดของดรักมันน์ (ซึ่งเป็นประธานบริษัท Naughty Dog ด้วย) คือการไม่ทำให้ The Last of Us Part II เป็นการผจญภัยครั้งใหม่ของโจเอลกับเอลลี่ แต่อยากให้มันมีความดีงามในตัวของมันเองเหมือน The Godfather Part II นำมาสู่แนวทางที่ทำให้มันเป็นเกมซึ่งมีคนรักและเกลียดมันพอๆ กัน
หากคุณคุ้นเคยกับหนังของ ลาร์ส ฟอน ทรีเยร์ คงพอนึกออกว่าหนังเขาสร้างการถกเถียงในโลกแห่งการวิจารณ์มากน้อยเพียงใด The Last of Us Part II เองก็ไม่ต่างกัน นั่นเพราะธรรมชาติของการเล่นเกมนั้น ผู้เล่นจะมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมหรือการตัดสินใจบางอย่างของตัวละครได้ไม่น้อย แต่สำหรับ The Last of Us Part II นั้นสวนทางโดยสิ้นเชิง เมื่อตัวละครกำลังสื่อสารกับผู้เล่นว่าพวกเขาก็มีชีวิตและจิตใจเป็นของตัวเองเหมือนกัน
กรอสบอกว่า “โจเอลกับเอลลี่เป็นตัวละครที่มีความซับซ้อนที่ลงมือกระทำอะไรบางอย่างแบบไม่น่าให้อภัย แต่เราอยากให้เกียรติตัวละครที่ผ่านบาดแผลมามากมายในโลกของพวกเขา” ด้านดรักมันน์เสริมว่า “สิ่งเหล่านี้ได้แรงบันดาลใจมาจากความเป็นจริงมากมายบนโลกใบนี้ เมื่อสุดท้ายแล้วความเป็นธรรมมันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ
“และไม่แปลกหากมันจะทำให้ผู้เล่นรู้สึกรังเกียจ เพราะกับบางตัวละครนั้น การตัดสินใจบางอย่างก็ไม่แฟร์สำหรับพวกเขา”
รายละเอียดในเกมที่ปั่นประสาทผู้เล่นนอกจากความรุนแรงทั้งหลายเช่นเดียวกับในภาคแรกแล้ว ยังมีการตัดสินใจของตัวละครที่ไม่เป็นไปตามความชอบธรรมที่ผู้เล่นคุ้นเคย (ซึ่งก็มีการทิ้งเชื้อเอาไว้ในภาคแรกแล้วเช่นกัน) รวมไปถึงความเลื่อนไหลทางเพศของตัวละครอีกด้วย
กรอสส์บอกว่า “ไม่แปลกที่ผู้เล่นจะไม่เห็นด้วยกับเอลลี่ เพราะเธอก็คือคนแปลกหน้าคนหนึ่งที่คุณได้เจอ แต่ความท้าทายคือเราจะทำอย่างไรให้คุณค่อยๆ เห็นดีเห็นงามไปกับเธอได้ในที่สุด”
“สิ่งที่เราคาดหวังคือการที่ผู้เล่นได้เห็นอกเห็นใจในสิ่งที่ตัวละครกำลังกระทำ และลองเปิดใจที่จะสวมบทบาทด้วยชุดความคิดแบบตัวละครดูสักครั้ง” ดรักมันน์กล่าว
ข้อมูลประกอบ:
‘The Last of Us’ and How to Write Great Video Games
‘The Last of Us Part II’: Neil Druckmann on the Game’s Violence and Emotional Manipulation
‘The Last of Us Part II’ Creator Explains Game’s Need to Make You Uncomfortable