ไชรอน จ้องมองประตูบานนั้นจากด้านในของร้านอาหารอยู่เนิ่นนาน ระหว่างที่พ่อครัว-ผู้เป็นเพื่อนชายที่พลัดหายจากชีวิตของเขาไปราวสิบปี-อย่าง เควิน กำลังเตรียม ‘เมนูไก่สุดพิเศษ’ ในสไตล์คิวบามาเสิร์ฟให้ถึงโต๊ะริมหน้าต่าง เขาอาจกำลังนั่งหวนนึกถึงช่วงชีวิตอันหม่นเศร้าที่ผ่านมาทั้งหมดของตัวเอง จากการเป็นเด็กชายตัวจ้อยที่มีครอบครัวไม่สมประกอบและมักถูกผู้อื่นรังแก, การเป็นเด็กหนุ่มร่างบางที่สับสนกับการแสวงหา ‘ที่ทาง’ ในบ้านและโรงเรียนของตน มาสู่การเป็นชายฉกรรจ์หุ่นหนาที่พยายามไม่แยแสกับโลกรอบข้างอีกต่อไปในเวลานี้
ทว่าลึกๆ ภายในจิตใจที่ด้านชานั้น ไชรอนก็ยังคงเฝ้าฝันถึง ‘ความรัก’ ที่เขาโหยหา ไม่ว่าจะเป็นความรักจากแม่ที่เคยติดยาจนคลุ้มคลั่งอยู่ในบ้านหลังเล็กแคบแสนหลอกหลอน หรือความรักจากเควินที่เคยร่วมโมงยามสุดเสน่หากับเขาตรงชายหาดไมอามีในค่ำคืนหนึ่ง
แต่สิ่งที่เขา-และครอบครัว-ได้รับมาตลอดชั่วชีวิตกลับเป็น ‘ความเกลียดชัง’ ทั้งในฐานะของคนยากจน, คนผิวสี และเกย์ — กลุ่มสถานะที่ถูกผู้คนบนโลกมองต่ำด้วยสายตา ‘เหยียดหยาม’ เสมอมา
1
ไชรอน (รับบทโดย อเล็กซ์ ฮิบเบิร์ต) เป็นเด็กชายชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่เติบโตอย่างล้มลุกคลุกคลานมาในย่านลิเบอร์ตี ซิตี เมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ของสหรัฐอเมริกาช่วงยุค 80 ซึ่งด้วยความเป็นเด็กที่ทั้งขี้กลัวและผอมแห้ง เขาผู้มีฉายาว่า ‘ลิตเติล’ จึงต้องถูกเด็กๆ ในละแวกนั้นกลั่นแกล้ง กระทั่ง ฆวน (มาเฮอร์ชาลา อาลี) -หนุ่มค้ายาผิวสีผู้มีจิตใจอ่อนโยน- กับแฟนสาวเข้ามาช่วยส่งมอบความรู้สึก ‘อบอุ่นปลอดภัย’ ให้ และกลายมาเป็นเสมือน ‘บ้าน’ ทางจิตวิญญาณของเขา ซึ่งช่างแตกต่างจาก ‘บ้าน’ หลังจริงราวฟ้ากับเหว เมื่อที่นั่นมีแต่แม่ที่ทั้งขัดสนเงินทองและค่อยๆ ถลำลึกไปกับการเสพยา
แต่ถึงจะมีบ้านอีกหลังให้คอยพิงพักจนกระทั่งแตกเนื้อหนุ่ม ไชรอน (แอชตัน แซนเดอร์ส) ก็ยังคงถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมโรงเรียน และมันก็ดูจะหนักข้อขึ้นทุกครั้งจนเขาแทบทนไม่ไหว ซึ่งหลังจากที่ เควิน (แจร์เรล เจอโรม) -เพื่อนชายคนสนิทจากวัยเด็ก- ชวนไชรอนไปนั่งเล่นริมหาดในเวลากลางคืนจนเลยเถิดไปสู่การปล่อยปลดอารมณ์ทางเพศระหว่างกัน ฝ่ายแรกก็ถูกแก๊งเพื่อนจอมเกเรที่โรงเรียนบังคับให้ชกหน้าฝ่ายหลังเสียยับเยิน — เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ไชรอนต้องเจ็บปวดทั้งใจทั้งกาย และตัดสินใจฝังกลบ ‘ความอ่อนแอ’ ภายในตัวเองไปตลอดกาล
และเมื่อก้าวเข้าสู่วัยฉกรรจ์ แม้ ไชรอน (เทรแวนเท รอดส์) จะฟิตร่างกายให้ใหญ่หนา, กลายเป็นดาวเด่นในแวดวงค้ายา-ไม่ต่างจากฆวน-ที่แอตแลนตา และตั้งฉายานามให้ตัวเองว่า ‘แบล็ค’ -ตามชื่อเล่นที่เควินเคยเรียกเขา- จนดูน่าเกรงขามกว่าแต่ก่อนหลายเท่า ทว่าลึกๆ แล้ว เขาก็ยังรู้สึกไม่มั่นคงกับชีวิตและตัวตนอยู่ดี ก่อนที่ในคืนหนึ่ง เควิน (อันเดร ฮอลแลนด์) -ผู้ที่ตอนนี้กลายเป็นพ่อครัวประจำร้านอาหารคิวบาในเมืองเกิด- จะโทรหาเขาอย่างไม่คาดฝันหลังไม่ได้พบหน้าค่าตากันมาเป็นสิบปี
หากพิจารณาจากชะตากรรมทั้งหมดนี้ ตัวละครไชรอนใน Moonlight (2016) -หนังรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเรื่องแรกที่บอกเล่าชีวิตเควียร์เป็นหลักและใช้นักแสดงผิวสียกทีม- ก็อาจถือได้ว่าเป็น ‘ภาพแทน’ ของมนุษย์ที่โดนสังคมกดขี่ในหลากหลายมิติ เขาถูกบีบคั้นจากฐานะอันยากไร้ของครอบครัวจนแทบไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสอาหารชั้นเลิศ, สมาชิกจากทั้งสองบ้านของเขา-ทั้งแม่และฆวน-ก็ถูกกกดทับจากเชื้อชาติผิวสีจนไม่สามารถหางานการดีๆ ทำได้ จึงต้องก้าวเข้าไปพัวพันกับยาเสพติดเพื่อความอยู่รอด และเขาก็ยังถูกทำร้ายจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูอ้อนแอ้นบอบบาง-หรือแม้แต่เพศสภาวะภายในที่กำลังสั่นไหวเมื่อดันเผลอใจไปมี ‘อะไร’ กับเพื่อนชาย-ของตน โดยกลุ่ม ‘ผู้ชาย’ รอบข้างที่คอยล้อเลียนและรังแกเขาจนถึงขั้นเลือดตกยางออกมาตั้งแต่เล็กจนโต
การถูกกดขี่เหยียดหยามจากคนรอบข้างทำให้ไชรอนจำต้อง ‘เปลี่ยน’ ตัวเองให้กลายเป็น ‘พวกเดียวกัน’ กับผู้ชายเหล่านั้น ทั้งจากเรือนร่างบึกบึนที่เต็มไปด้วยมัดกล้ามแน่นปั๋ง และจากการแสดงออกที่ดู ‘ป่าเถื่อน’ และ/หรือ ‘ไร้ความรู้สึก’ พอๆ กับพวกผู้ชายที่เคยทำร้ายเขา
แต่ถึงจะลงทุนปกปิดด้านที่อ่อนแอของตนถึงเพียงนี้ เขาก็ยังคง ‘หายใจไม่ออก’ กับภาพฝันร้าย และผวาตื่นขึ้นมากลางดึกอย่างเดียวดายอีกหลายหน — โดยเฉพาะกับภาพที่แม่ปิดประตูกระแทกใส่หน้าแล้วทิ้งให้เขาต้องมีชีวิตอยู่ลำพัง และภาพที่แม่เปิดประตูออกมาด่าทอเขาด้วยท่าทีรังเกียจเดียดฉันท์
ภาพฝันร้ายเหล่านั้นทำให้เขาสงสัยเรื่อยมาว่า จะยังมีประตูที่เปิดออกไปสู่ ‘ความสุข’ หลงเหลือสำหรับเขาอยู่อีกบ้างไหม
2
ตลอดชีวิตสามช่วงวัยของไชรอน ‘อาหาร’ แต่ละมื้อมักถูกนำมาใช้เป็น ‘โมทีฟ’ (Motif – สิ่งที่ถูกเน้นย้ำบ่อยๆ ในหนังจนก่อเกิดเป็น ‘ความหมาย’ บางอย่าง) เสมอ …ในฐานะของ ‘ความรัก’ ที่เขาค่อยๆ ได้รับมาจากคนรอบข้างทีละนิด-ทั้งที่รู้และอาจไม่รู้ตัว
นับตั้งแต่ช่วงวัยเด็กที่เขาค่อยๆ เปิดใจยอมรับมิตรภาพจากฆวนและแฟนสาวผ่านอาหาร-โดยเฉพาะไก่ทอดรสจัดจ้าน-ที่เด็กจนๆ เช่นเขาแทบไม่เคยมีโอกาสได้กิน (และทั้งคู่ก็มักจะนั่งมองเขากินด้วยความเอ็นดูทุกทีไป), ช่วงวัยรุ่นที่เขาสามารถเข้า-ออกบ้านฆวนเพื่อมานั่งกินอาหารอย่างสบายใจได้ทุกเมื่อ มาจนถึงช่วงวัยผู้ใหญ่ที่เขาได้มีโอกาสขับรถกลับมายังเมืองเกิดเพื่อกินมื้อค่ำฝีมือเควิน-เพื่อนชายที่เขาคิดถึงอยู่ทุกคืนวัน และก็เป็น ‘เมนูไก่สุดพิเศษ’ ในสไตล์คิวบานี้เอง ที่ทำให้ไชรอนผู้ปิดกั้นตัวเองเริ่มย้อนกลับไปนึกถึงความรักเหล่านั้นในแต่ละช่วงชีวิตที่ล่วงผ่าน
เมนูสัญชาติคิวบาที่เควินทำให้ไชรอนกินด้วยความรักในคืนนั้น คือ Pollo a La Plancha ที่แปลว่า ‘ไก่บนกระทะเหล็กร้อน’ หรือ ‘ไก่ย่าง’ ในภาษาสเปน ซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นจานเด็ดของคิวบา อันประกอบด้วยอกไก่หมักเครื่องเทศที่ย่างจนสุกหอมบนกระทะเหล็กร้อน บีบเลมอน ราดด้วยหัวหอมแว่นผัดเกรียม วางเคียงด้วยข้าวสวย-ถั่วดำต้มปรุงรส และโรยผักชีสับลงไป — ถือเป็นเมนูที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมอาหารคิวบาที่นิยมผสมผสานรสชาติอันหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน (ซึ่งได้รับอิทธิพลทั้งจากสเปน, โปรตุเกส, แอฟริกา, เอเชีย หรือแม้แต่หมู่เกาะแถบแคริบเบียน) โดยมักใช้วัตถุดิบที่ช่วยสร้างความสดชื่นตื่นตัว (เลมอน-เครื่องเทศ) และให้พลังงานสูง (ไก่-ถั่วดำ) ซึ่งเมนูไก่ย่างลักษณะนี้ถูกทำเสิร์ฟกันอย่างแพร่หลายทั้งในบ้าน งานปาร์ตี้ และภัตตาคารทั่วไปของคิวบา
และด้วยประวัติศาสตร์รักอันยาวนานที่พวกเขามีร่วมกัน มื้อค่ำระหว่างชายผิวสีทั้งคู่นี้จึงถูกถ่ายทอดออกมาด้วยท่วงท่าที่ ‘เนิบช้า’ และ ‘ละมุนละไม’ กว่าฉากอื่นๆ ก่อนหน้า เราเลยได้มีเวลาละเลียดมองไชรอนเสริมหล่อก่อนเดินเข้าร้านอาหารไปด้วยใจตุ๊มต่อม, นั่งรอเควินที่กำลังทำอาหารอย่างประณีตบรรจงอยู่ในครัว, ลิ้มรสอาหารจานนั้น, ดื่มไวน์แดงร่วมกัน และหวนรำลึกถึงความสัมพันธ์ครั้งเก่าผ่านเสียงดนตรีย้อนยุคจากตู้เพลงที่ถูกบรรเลงอย่างอ้อยส้อยหวานหยด – ราวกับมันเป็นช่วงเวลาอันมีค่าที่ทั้งไชรอนและเควินอยากยึดยื้อเอาไว้ให้นานที่สุด เพื่อร่วมแบ่งปันและช่วยเยียวยาชีวิตที่ก้าวพลาดของกันและกัน
แต่พวกเขาอาจไม่รู้ว่า ในอีกแง่หนึ่ง ‘ไก่ย่างคิวบา’ บนโต๊ะอาหารของพวกเขานั้น ก็ยังสามารถสะท้อนถึง ‘สังคม’ รอบข้างที่เฝ้าทำร้ายไชรอนและผู้คนผิวสีที่รักเขาได้ด้วย
3
ในวัยเด็ก, หลังการสอนว่ายน้ำริมทะเลเสร็จสิ้นลง ชายชื่อ ฆวน ผู้เปรียบได้กับ ‘พ่อ’ ของไชรอนเคยบอกกับเขาว่า “ฉันมีเพื่อนผิวสีอยู่ที่คิวบาเต็มไปหมด แต่หนูจะไม่มีทางรู้ได้เลย (ว่าคนผิวสีคนไหนเป็น ‘ชาวคิวบา’ บ้าง) หากอาศัยอยู่ที่นี่” — ซึ่งคำว่า ‘ที่นี่’ ของเขา หมายถึง เมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกานั่นเอง
ฆวนมาจากประเทศหมู่เกาะในคาบสมุทรแคริบเบียนอย่าง ‘คิวบา’ และสาเหตุที่เขาเข้าใจสถานะความเป็น ‘คนนอก’ ของเด็กชายตัวจ้อยได้ดี ก็เพราะการเป็น ‘คนผิวสีเชื้อสายคิวบา’ ในไมอามีนั้น ช่างเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากพอๆ กัน เนื่องจากชุมชนคนคิวบาของที่นั่นล้วนเต็มไปด้วย ‘คนผิวขาว’ จนทำให้หลายครั้ง ชาวอเมริกันก็มีภาพจำว่า ชาวคิวบาคือ ‘คนสีผิวอ่อน’ เท่านั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ประชากรผิวสีในคิวบามีจำนวนมากถึงครึ่งต่อครึ่ง
เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้คิวบากลายเป็นพื้นถิ่นที่คลาคล่ำไปด้วยคนผิวสี อาจเป็นเพราะการขึ้นสู่อำนาจของ ฟิเดล คาสโตร เมื่อปี 1959 ที่นำพาเอาแนวคิด ‘สังคมนิยม’ (Socialism) หรือการปกครอบแบบ ‘รัฐจัดสรร’ เข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ทศวรรษถัดจากนั้น โดยเฉพาะการสร้างความเท่าเทียมให้กับคนผิวสีและคนยากจน รวมถึงการต่อต้านแนวคิดทุนนิยมและตั้งตนเป็นศัตรูกับประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกา — ซึ่งทั้งหมดนั้นก็ทำให้ชนชั้นนำผิวขาวที่ร่ำรวยต้องหลีกลี้หนีหายออกนอกคิวบาไป (เพราะนโยบายสังคมนิยม-เช่น คนรวยต้องปันที่ดินให้คนจน หรือการขึ้นภาษีรถหรูจนสูงลิ่ว-นั้น เป็นเรื่องเกินจะรับได้สำหรับพวกเขา) ขณะที่ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างจำนวนมากก็ถูกสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองของโลกสังคมนิยม (การเข้ามาจำกัดและตรวจสอบทุกปัจจัยของรัฐที่ทำให้พวกเขาดำเนินธุรกิจส่วนตัวได้ยากกว่าเดิม) บีบให้ตัดสินใจเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งรกรากและแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในอเมริกาแทน โดยมีการประเมินกันว่า ในระหว่างยุค 60-80 มีชาวคิวบาย้ายถิ่นฐานไปยังอเมริกามากถึงกว่าครึ่งล้านคน
ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมอาหารของคิวบาจึงแทรกตัวเข้าไปงอกเงยเบ่งบานอยู่ในอเมริกามาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะในเมืองริมทะเลอย่างไมอามีของรัฐฟลอริดาที่ตั้งอยู่ไม่ไกลนักจากหมู่เกาะคิวบา ซึ่งจากสถิติเมื่อไม่นานมานี้ กล่าวกันว่า มีชาวคิวบาอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นหลักล้านคนแล้ว
แต่แม้ไมอามีจะถูกถือครองร่วมโดยชาวคิวบาและวัฒนธรรมชาวเกาะของพวกเขา-ซึ่งแน่นอนว่าสามารถช่วยขับเคลื่อนเมืองนี้ได้อย่างเข้มแข็ง ทว่าในยุคสมัยหนึ่ง คนคิวบาที่มี ‘ผิวสีดำ’ อย่างฆวนกลับต้องถูกสังคม-ไม่ว่าจะของคนอเมริกันหรือคนคิวบาเอง-กีดกันด้านอาชีพการงานจนต้องลักลอบหาเงินเอาจากการค้ายาที่ผิดกฎหมายแทน เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น เขาและคนในครอบครัวก็จะมีสถานะเป็นแค่ ‘คนผิวสีผู้ยากไร้’ ที่ไม่มีใครอยากเหลียวแลไปจนวันตาย
— ไม่ต่างจากคนผิวสีชนชาติอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมหาศาลที่ถูก ‘เหยียด’ มาตลอดในหน้าประวัติศาสตร์ของสังคมอเมริกันเลย
4
หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า ‘ไก่ทอดอเมริกัน’ คืออาหารที่เป็นสัญลักษณ์แทน ‘คำเหยียดหยาม’ ที่คนผิวขาวมีต่อคนผิวสี
เพราะนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา-อันเป็นช่วงเวลาที่การค้าทาสยังคงรุ่งเรือง เมนูไก่ทอด (แบบปรุงรสและทอดน้ำมันท่วม) ที่ปรากฏขึ้นทางตอนใต้ของอเมริกา (รวมถึงรัฐฟลอริดาที่อยู่ในหนัง) ถูกตีตราว่าเป็น ‘อาหารสำหรับทาสผิวสี’ เนื่องด้วยมี ‘ราคาถูก’, ให้พลังงานสูง ‘เหมาะกับคนใช้แรงงาน’ และยังต้องบริโภคด้วยมืออย่าง ‘สกปรกเลอะเทอะ’ ซึ่งอคติเหมารวมเหล่านี้ของคนผิวขาวถือเป็นการสร้าง ‘ภาพจำอันน่ารังเกียจ’ ให้เกิดกับคนผิวสีอย่างน่าเจ็บปวดใจ และแม้ว่าในปัจจุบัน ไก่ทอดจะกลายเป็นอาหารจานสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของคนผิวขาวได้ (ก็ ‘ไก่ทอดผู้พัน’ จากเคนตักกีนั่นปะไร!) ความหมายเชิงลบดังกล่าวของไก่ทอดก็ยังคงเป็น ‘ปมทางใจ’ ของกลุ่มคนผิวสีที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงและถกเถียงกันอย่างกว้างขวางไม่รู้จบ
แต่ถึงวัตถุดิบอย่างไก่จะเคยถูกแปรสภาพให้เป็นเมนูของอเมริกันชนที่ฝังติดกับอคติการเหยียดเชื้อชาติมาก่อน ทว่าใน Moonlight มันกลับกลายมาเป็นเมนูที่ช่วย ‘โอบกอด’ คนผิวสีได้อย่างน่าประทับใจ เพราะสำหรับไชรอนแล้ว ไก่ทอดบนโต๊ะอาหารที่บ้านฆวนหาใช่คำดูถูกเหยียดหยาม-ดังที่เคยถูกบอกเล่าฝังหัวกันมา หากแต่มันคือ ‘คำปลอบโยน’ จาก ‘ผู้คนที่รักเขา’ ที่ช่วยทำให้เขามีเรี่ยวแรงลุกขึ้นมาตั้งรับกับความทุกข์ที่เข้าถาโถมได้อีกครา
แต่ถึงวัตถุดิบอย่างไก่จะเคยถูกแปรสภาพให้เป็นเมนูของอเมริกันชนที่ฝังติดกับอคติการเหยียดเชื้อชาติมาก่อน ทว่าใน Moonlight มันกลับกลายมาเป็นเมนูที่ช่วย ‘โอบกอด’ คนผิวสีได้อย่างน่าประทับใจ เพราะสำหรับไชรอนแล้ว ไก่ทอดบนโต๊ะอาหารที่บ้านฆวนหาใช่คำดูถูกเหยียดหยาม-ดังที่เคยถูกบอกเล่าฝังหัวกันมา หากแต่มันคือ ‘คำปลอบโยน’ จาก ‘ผู้คนที่รักเขา’ ที่ช่วยทำให้เขามีเรี่ยวแรงลุกขึ้นมาตั้งรับกับความทุกข์ที่เข้าถาโถมได้อีกครา
เช่นเดียวกับเมนูไก่สุดพิเศษของชายหนุ่มเพียงคนเดียวที่เขารักอย่างเควิน เพราะไก่ย่างคิวบาจานนั้นได้กลายเป็นอาหารที่ช่วยส่งมอบ ‘ความรัก’ คืนกลับมาให้ไชรอน-คนผิวสีผู้บอบช้ำกับชีวิตที่ถูกหยามเหยียด-ในท้ายที่สุด
5
“เมื่อคุณลงมือทำอาหารให้ใครสักคน มันเป็นการกระทำที่บ่งชี้ว่าคุณอยากจะ ‘ดูแล’ ใครคนนั้น และสิ่งที่ดูเรียบง่ายเหลือเกินนี้ ก็เป็นการแลกเปลี่ยนความใกล้ชิดระหว่างกันได้อย่างจริงแท้ที่สุดแล้ว”
ผู้กำกับอย่าง แบร์รี เจนคินส์ เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้เช่นนั้น “แล้วผมก็ยังไม่เคยเห็นผู้ชายผิวสีทำอาหารให้กับผู้ชายผิวสีอีกคนในหนัง ละครโทรทัศน์ หรือสื่ออื่นใดมาก่อนเลยด้วย” เขาจึงตั้งใจปั้นฉากมื้อค่ำแสนโรแมนติกนี้ขึ้นมาเพื่อสื่อถึง ‘ความรักอันลึกซึ้งที่มนุษย์สองคนมีต่อกัน’ — ไม่ว่าคนสองคนนั้นจะ ‘เป็นใคร’
เจนคินส์เกิดและเติบโตในไมอามีภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ไม่ต่างกับไชรอนมากนัก ซึ่งเนื่องด้วยการมีสถานะเป็นทั้ง ‘คนผิวสี’, ‘คนยากจน’ และ ‘ลูกที่มีแม่ติดยา’ เขาจึงได้สัมผัสกับบรรยากาศแห่งการเหยียดหยามในสังคมผู้ชายของที่นั่น และเริ่มตั้งคำถามว่า เหตุใดผู้ชายหลายคนจึงต้องพยายามปกปิดด้านที่ ‘อ่อนไหว’ ของตนเอาไว้ และเปลี่ยนแปลงตัวเองไปตามบรรทัดฐานของสังคมในฐานะ ‘ผู้ชาย’ ที่ต้องคอยแสดงความเข้มแข็งออกมาเพียงด้านเดียวเท่านั้น
และแม้ว่าเจนคินส์จะไม่ได้เป็น ‘เกย์’ แบบไชรอน แต่การที่เขาเคยถูกกลั่นแกล้งเพราะเป็น ‘ผู้ชายที่ดูอ่อนแอกว่าคนอื่น’ ในวัยเยาว์ ก็ทำให้เขาสามารถ ‘เข้าอกเข้าใจ’ ความทุกข์ยากของคนที่โดนดูถูกเพราะเพศสภาวะที่แปลกต่างได้ดี — นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถ่ายทอดด้านที่อ่อนไหวของตัวละครนี้ใน Moonlight ออกมาได้อย่างทรงพลัง
เจนคินส์ยังแสดงให้เราเห็นผ่านฉากการกิน ‘อาหาร’ ทั้งหลายในหนังเรื่องนี้ด้วยว่า สิ่งเรียบง่ายที่สุดที่จะช่วยให้มนุษย์เราสามารถก้าวข้ามชีวิตที่เจ็บปวด หรือต่อสู้กับอคติอันบิดเบี้ยวโหดร้ายของผู้คนในสังคมได้ ก็คือ ‘ความรักความเข้าใจ’ ที่เรามีต่อตัวเองและผู้อื่น – ซึ่งแท้จริงแล้ว เป็นสิ่งเดียวกับที่ฆวนและเควินพยายามหยิบยื่นให้ไชรอนมาทั้งชีวิต
เป็นความรักความเข้าใจที่ช่วยปรับมุมมองว่า ‘ความอ่อนไหว’ ในตัวเขา-ที่มนุษย์เพศชายในสังคมตั้งแง่รังเกียจจนเขาต้องคอยปกปิดมันเอาไว้นั้น คือคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการ ‘เป็นมนุษย์’
และมันไม่ใช่สิ่งเดียวกับ ‘ความอ่อนแอ’ หากแต่เป็น ‘ความกล้าหาญ’ ที่จะยอมเปิดรับตัวตนของตัวเองในทุกแง่มุม -เปิดรับให้หลากหลายเหมือนกับส่วนผสมต่างรสชาติต่างวัฒนธรรมในไก่ย่างคิวบาจานนั้น- และยอมเปิดเผยออกมาให้คนที่เขารักและรักเขา-ไม่ว่าฆวน แม่ หรือเควิน-ได้มีโอกาสรับรู้ เรียนรู้ ปรับตัว และโอบกอด โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตัดสินอีกต่อไป
และมันไม่ใช่สิ่งเดียวกับ ‘ความอ่อนแอ’ หากแต่เป็น ‘ความกล้าหาญ’ ที่จะยอมเปิดรับตัวตนของตัวเองในทุกแง่มุม -เปิดรับให้หลากหลายเหมือนกับส่วนผสมต่างรสชาติต่างวัฒนธรรมในไก่ย่างคิวบาจานนั้น- และยอมเปิดเผยออกมาให้คนที่เขารักและรักเขา-ไม่ว่าฆวน แม่ หรือเควิน-ได้มีโอกาสรับรู้ เรียนรู้ ปรับตัว และโอบกอด โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตัดสินอีกต่อไป
กล้าที่จะเปิดประตูบานนั้นด้วย ‘ความรัก’ จากตัวเองและคนอื่น ออกไปสู่ ‘ความสุข’ ในแบบที่เราเฝ้าฝัน …ออกไปเผชิญหน้าและรับมือกับการเหยียดหยามแบ่งแยกในโลกข้างนอกนั่น
เพราะหากประตูแห่งความสุขบานนั้นสามารถเปิดออกสำหรับไชรอนผู้ปิดกั้นตัวเองมาตลอดชีวิตได้ มันก็น่าจะสามารถเปิดออกสำหรับ ‘เรา’ ทุกคนได้ด้วยเช่นกัน
— ไม่ว่าเราจะ ‘เป็นใคร’ ในสายตาของผู้ที่เกลียดชังก็ตาม