Home Interview เมื่อคนทำหนังช่วยคนทำหนัง คุยกับ Carl Chavez และโครงการ Lockdown Cinema Club

เมื่อคนทำหนังช่วยคนทำหนัง คุยกับ Carl Chavez และโครงการ Lockdown Cinema Club

0
เมื่อคนทำหนังช่วยคนทำหนัง คุยกับ Carl Chavez และโครงการ Lockdown Cinema Club

หลังจากการระบาดของ COVID- 19 ที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกต้องชะงักงัน โรงหนังต้องปิด เทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลกเลื่อนไปไม่ก็ยกเลิก และกองถ่ายภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ ต้องยกกองกันอย่างไม่มีกำหนด ทางเลือกหนึ่งที่บรรดาคนฉายหนัง บริษัทจัดจำหน่ายหนัง คนทำเทศกาลเลือกใช้คือการยกหนังมาฉายลงออนไลน์ ทั้งแบบ Live สด เปิดฉายแบบจำกัดเวลาไปจนถึงการออกขาย เพื่อหาช่องทางในการเลี้ยงชีพและพยุงอุตสาหกรรมในภาพรวมให้พอเคลื่อนต่อไปได้

หนึ่งในเทศกาลหนัง หรือช่องทางชมภาพยนตร์ออนไลน์ที่น่าตื่นเต้นคือโครงการ Lockdown Cinema Club จากประเทศฟิลิปปินส์ ที่เป็นการรวบรวมหนังสั้นทั้งจากในฟิลิปปินส์เองไปจนถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จากสองฉบับแรก (ตัวรายชื่อหนังตีพิมพ์ ภาพเรื่องย่อ ลิงค์และรหัส คล้ายกับ แคตาลอกของเทศกาล) ที่เป็นรวมหนังสั้นมาถึงฉบับล่าสุดที่เป็นหนังยาว ไปจนถึงโครงการเพิ่มเติมเช่นLive ฉายหนังใน Facebook หรือมีการ Q&A ออนไลน์หรือLive การซ้อมอ่านบท และยังมีชื่อของบิ๊กเนมในแวดวงหนังอิสระฟิลิปปินส์จำนวนมากอยู่ในรายชื่อ ตั้งแต่ Lav Diaz, John Torres, Shireen Seno ไปจนถึง Kiri Dalena

แต่ที่น่าตื่นเต้นกว่ารายชื่อหนังคือการที่โครงการนี้รับบริจาคเงินจากผู้ชม ‘ดูเท่าที่ดูได้ ให้เท่าที่จ่ายไหว’ โดยรายได้จากการบริจาค จะถุกนำไปกระจายต่อให้บรรดาแรงงานรายวันที่ทำงานในกองถ่าย ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ในช่วงนี้ เป็นการเคียงบ่าเคียงไหล่ของคนทำหนังกับคนทำหนัง เพื่อเป็นหนึ่งช่องทางในการร่วมกันฝ่าวิกฤตนี้

ในการณ์นี้ FILM CLUB ได้โอกาสสัมภาษณ์ Carl Chavez คนหนุ่มที่เป็นคนทำหนังและเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้กัน

ดูรายละเอียดของโครงการได้ที่ Facebook Page

Q : อยากให้เล่าถึงที่มาที่ไปของโปรเจคต์นี้ว่ามาจากไหนครับ?

A : ตอนที่มีประกาศการกักกันชุมชนใหม่ๆ ผมก็นึกไอเดียว่าน่าจะมีการแชร์บรรดาหนังสั้นของผู้กำกับหลายๆคน คอนเซปต์ตอนแรกคือ ‘ดูเท่าที่ดูได้ ให้เท่าที่จ่ายไหว’ สำหรับฉบับแรกนั้น ความตั้งใจแรกคือการบริจาคให้กับคนทำงานด่านหน้า, ผู้สูงอายุ และคนจนเมือง จากนั้นผมก็คิดต่อจากความสำเร็จตรงนั้นว่า บางที่เราอาจลองบริจาคให้กับ คนทำงานด้านภาพยนตร์ที่มีค่าแรงน้อย ไม่มีงาน และถูกเลิกจ้าง เพราะเราคงไม่สามารถทำหนังยอดเยี่ยมเหล่านี้ออกมาได้หากปราศจากการทำงานเบื้องหลังของพวกเขา

Q : แล้วโดยรวมตอนนี้สภาพการณ์ของศิลปิน และคนทำงานด้านภาพยนตร์หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นอย่างไรบ้าง?

A : ก็ลำบากมากทีเดียวครับ เนื่องจากศิลปินและคนทำหนังเกือบทั้งหมดเป็นอาชีพฟรีแลนซ์ หลังจากการประกาศกักกันชุมชน ทุกโปรเจคต์ก็เลยถูกระงับ นั่นหมายความว่า งานของเราทั้งหมดก็ถูกยกเลิกไปด้วย

Q : แล้วคุณหาหนังต่างๆ เข้ามาในโปรเจคต์นี้ได้อย่างไร? คนทำหนังให้เปล่ามา หรือคุณต้องจ่าย?

A : ทุกๆ คนสมัครใจร่วมครับ หนังเหล่านี้มาจากทั้งคนทำหนังที่ยังทำงานอยู่ไปจนถึงบรรดานักเรียนหนังที่เชื่อในการเริ่มลงมือทำ

การพูดคุยกับผู้กำกับ คนเขียนบท และนักแสดง จากเรื่อง Patay na si Hesus หนึ่งในหนังที่เปิดให้เช่าเพียง 24 ชม. ใน Vimeo และนำรายได้ทั้งหมดไปบริจาค

Q : จากแถลงการณ์ของโครงการ คุณจะมอบเงินให้กับลูกจ้างรายวันในกองถ่าย อยากให้คุณอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคัดเลือก เพราะว่ามันน่าจะมีแรงงานเหล่านี้เป็นจำนวนมาก แล้วใครจะเป็นคนที่ได้เงินตรงนี้ไป มีวิธีการคัดเลือกอย่างไร?

A : ย้อนกลับไปตอนช่วงกักกันชุมชนใหม่ๆ เราตั้งเป้าหมายแรกไว้ที่ 500 คน แต่ระหว่างการทำข้อมูลของแรงงานเหล่านี้ จำนวนก็เพิ่มไปมากจนเราพบว่าเราลิสท์รายชื่อได้ถึง 1500 คน

เราตั้งกระบวนการของการเสนอชื่อคนที่จะได้รับความช่วยเหลือเอาไว้ โดยให้ คนทำหนัง (โปรดิวเชอร์ ผู้ช่วยผู้กำกับ โปรดักชั่นเมเนเจอร์ ตากล้อง ผู้ออกแบบงานสร้าง คนตัดต่อ และช่างเสียง) ส่งรายชื่อคนที่พวกเขาร่วมงานด้วย เพื่อที่จะมาตรวจสอบว่าพวกเขามีคุณสมบัติที่จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินหรือไม่

ในช่วงแรก เราตัดสินใจว่าผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจะได้รับเงินคนละไม่เกิน 2000 เปโซ ต่อจำนวนวันถ่ายทำ และผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องตอบคำถามส่วนตัวเพิ่มอีกนิดหน่อยกับแจ้งเลขที่บัญชีธนาคาร เราจะได้จัดทำฐานข้อมูลของแรงงานเหล่านี้ และเมื่อรายชื่อของพวกเขาอยู่ในฐานข้อมูล เราก็จะเริ่มจ่ายเงินที่ Lockdown Cinema Club ได้รับบริจาคมา ซึ่งผู้บริจาค และผู้รับการช่วยเหลือสามารถตรวจสอบสถานะของเงินบริจาคทั้งหมดได้ที่ลิงก์นี้เลย

Q : ตอนนี้คุณมาถึงฉบับที่สามแล้ว ถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จหรือเปล่า?

A : ก็ถือว่าดีเลยครับ ตอนนี้เราอยู่ในช่วงสุดท้ายแล้ว เรากระจายเงินบริจาคออกไปได้ถึงมือผู้รับเกือบ 70% แล้ว แต่เนื่องจากเรายังไม่รู้แน่ชัดว่าการระบาดนี้จะไปสิ้นสุดเมื่อไร เราจึงกำลังวางแผนขั้นต่อไปและประเมินความต้องการของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฟิลิปปินส์หลังจากการระบาดนี้

หมายเหตุ: หลังการสัมภาษณ์เพียงไม่กี่วัน ก็เกิดเหตุภาพยนตร์บางเรื่องในโปรแกรมได้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ทำให้โครงการนี้ต้องชะงักงันลงเป็นการชั่วคราว ท้ายที่สุดนี้เราจึงนำแถลงการณ์ต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ของ Lockdown Cinema มาแนบไว้ในท้ายบทสัมภาษณ์นี้

แถลงการณ์ต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ของ Lockdown Cinema

“พวกเรา Lockdown Cinema Club ขอประณามการละเมิดลิขสิทธิ์ทุกรูปแบบ ซึ่งไม่เพียงแต่จะผิดกฎหมาย แต่ยังขัดกับหัวใจของสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ขณะนี้เราทราบมาว่ามีผู้ค้นพบวิธีในการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และแบ่งปันอย่างผิดกฎหมายแม้ว่าภาพยนตร์เหล่านี้จะเปิดให้ชมฟรีแล้วก็ตาม

จากความตั้งใจของเรา ที่ไม่เพียงต้องการช่วยเหลือ สมาชิกในแวดวงภาพยนตร์ที่มีรายได้น้อยในช่วงเวลาวิกฤตินี้ หากยังรวมถึงการได้มอบความบันเทิงให้กับเหล่าคนรักหนังในช่วงเวลากักกันตัว กลับถูกก่อวินาศกรรมโดยอาชญากรเหล่านี้


เราได้แจ้งถึงปัญหาและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น กลับไปยังผู้สร้างภาพยนตร์ที่ได้บริจาคงานของพวกเขาแก่เราเรียบร้อยแล้ว เรากำลังดำเนินการสอบถามว่าพวกเขายังจะอนุญาตให้ภาพยนตร์เหล่านี้ออนไลน์อยู่ต่อหรือไม่ ดังนั้นจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เราจึงตัดสินใจนำลิงก์ภาพยนตร์ทั้งหมดออก รวมถึงภาพยนตร์ในโปรแกรม 24 Hours Cinema program ที่เราได้คัดเลือกภาพยนตร์จำนวนหนึ่งมาฉายให้ชมฟรีเป็นเวลา 24 ชั่วโมง

เราต้องขออภัยมายังผู้ชมที่กำลังเพลิดเพลินกับภาพยนตร์เหล่านี้ และยังของอภัยไปถึงบรรดาผู้ได้รับความช่วยเหลือทุกท่าน สิ่งนี้ย่อมส่งผลต่อแรงขับในการบริจาคเป็นแน่ แต่ขอให้มันใจว่ามันจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

เรากำลังทบทวนโครงการของเราและหาวิธีที่จะแบ่งปันภาพยนตร์ของเราได้ฟรีในขณะที่ทำให้พวกเขาปลอดภัยจากการละเมิดลิขสิทธิ์และยังคงช่วยเหลือสมาชิกที่อ่อนไหวที่สุดในชุมชนของเราไว้ได้

ขอให้มั่นใจได้เช่นกันว่าเราจะใช้วิธีการทางกฎหมายทั้งหมดเพื่อหยุดผู้คนเหล่านี้ และทำให้แน่ใจว่าผู้ที่แบ่งปันภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายที่มีอยู่”

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here