*อ่านตอน 1 ได้ที่ FILM CLUB YEAR LIST 2022 : ตอน 1
และตอน 2 ได้ที่ FILM CLUB YEAR LIST 2022 : ตอน 2
หรินทร์ แพทรงไทย / นักลำดับภาพ :
Sátántangó (1994, Bela Tarr)
จริงๆ มีหลายเรื่องที่เพิ่งได้ดูปี 2022 และประทับใจ (ส่วนใหญ่จะเป็นหนังเก่า) แต่ต้องขอเลือกเรื่องที่เป็นที่สุดแห่งประสบการณ์การดูหนังครั้งหนึ่งในชีวิตครับ ทุกเฟรม ทุกเสียง ทุกการเคลื่อนกล้อง ทุกการเคลื่อนไหว ทุกการแสดง ทุกองค์ประกอบ
ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ / ผู้กำกับสารคดี ‘ไกลบ้าน’ และละครเวที ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’)
Decision to Leave (2022, Park Chan-wook)
ผมชอบปักชานวุกอยู่แล้ว หนังของเขาเล่าความน่ารังเกียจของมนุษย์บ่อย ๆ แล้วพอเขามาทำเรื่องนี้ก็รู้สึกว่ามันเป็นหนังรักที่จริง ๆ แล้วมนุษย์ขี้เหม็นโสมมมาก ๆ แต่ก็ช่างอ่อนโยนเหลือเกิน คือยิ่งรู้สึกว่ามนุษย์นี่ช่างชั่วช้า ความรักในเรื่องก็ช่างชุ่มชื่นใจเหลือเกินครับ
มิ่ง ปัญหา / นักวิชาการวรรณคดี
Everything Everywhere All at Once (2022, Daniel Kwan & Daniel Scheinert)
พอหนังเดินทางมาถึงตอนจบ เราก็เข้าใจนะที่หลาย ๆ คนบอกว่าสุดท้ายเราก็หนี ‘โลกความจริง’ ไม่พ้น แต่เราขอแย้ง เพราะเรื่องนี้มันบอกเราตลอดว่า เราไม่รู้แน่ชัดว่าอะไรจริงไม่จริงและให้คุณค่ากับจินตนาการสุด ๆ ชนิดที่ว่า คนยังมีนิ้วเป็นไส้กรอก (และไม่ได้แปลว่าคนพวกนั้นจะ ‘พิการ’ ด้วยนะ) ก้อนหินยังพูดได้ แถมยังมีลูกตาติดอยู่อีกต่างหาก (ลูกตาที่เวย์มอนด์ติดไปทั่วบ้าน ลูกตาที่อีฟเวอลินมองว่าไร้สาระ แต่ใช้เปิดทางเดินใหม่ให้กับคน) ร่างกาย สรรพสิ่ง หรือแม้แต่รัฐ ไม่มีอะไรที่จะเดินไปในแบบที่เราคิดหรือในแบบที่ตัวมันเองคิดแม้แต่อย่างเดียว หนังเรื่องนี้เน้นย้ำกับเราว่าพลังของงานศิลปะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนัง เป็นวรรณกรรม เป็นเพลง นั้นเปลี่ยนแปลงตัวเราได้มาก ชนิดที่เราเองก็ไม่คาดคิด
ถ้าจะบอกว่าหนังให้คุณค่ากับโลกความจริงบางชุดมากกว่า เราก็คงจะอยากย้ำว่า สำหรับเรา หนังมันส่งผลต่อตัวเรามหาศาลทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องจริงเลย ทุกคนที่ดูหนัง อ่านวรรณกรรม หรือฟังเพลงก็คงทราบว่า อีฟเวอลีน เดียดรี หรือโจบู โทปากิ ไม่มีจริง แต่ถ้าเราอยู่แต่กับความจริงหรือต้องอยู่แต่กับความจริง (ที่ใครกำหนดก็ไม่รู้) เราก็อาจจะไม่เดินมาดูหนังเรื่องนี้ด้วยซ้ำ จินตนาการอาจจะฟังดูปัญญาอ่อน เหมือนเอาลูกตาไปติดที่ของ หรือเหมือนการเอากระดาษกรีดนิ้วเพื่อรับพลังพิเศษ แต่ถ่าเราไม่จินตนาการ เราจะเห็นโลกนี้เดินไปในทางอื่นได้หรือ
ฐาปณี หลูสุวรรณ / ผู้กำกับภาพยนตร์ Blue Again
Our Blues (2022, Kim Kyu-tae, South Korea)
Our Blues เป็นซีรีส์ที่เล่าเรื่องคนสามัญธรรมดาที่มีชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนเกาะเชจู ส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องของคนในตลาดค้าปลาบนเกาะโดยที่ Our Blues ก็บลูสมชื่อ ด้วยการร้อยเรียงความเศร้าของคนสามัญธรรมดาไว้ด้วยกันอย่างหลวม ๆ เป็นซีรีส์ที่ดู ๆ ไปแล้วคล้าย ๆ หนังสั้นหลาย ๆ เรื่องรวมเข้าไว้ด้วยกัน แต่คนทำยังเลี้ยงเรื่องไว้จนขมวดเป็นปมใหญ่รวมกันได้ โดยเฉพาะเรื่องของตัวละครหลักที่เป็นพ่อค้าขายของบนรถพุ่มพวงที่มีปมคือเกลียดแม่ตัวเอง จนวันสุดท้ายของชีวิต สุดจี๊ด ซีนที่สอนแม่เขียนหนังสือผ่านกระจกเรือคือ Best Scene of the Year
ซีรีส์ไม่ได้เมโลดราม่า แต่กลับเรียกน้ำตาจากเราได้ถล่มทลาย ด้วยลีลาการเล่าที่พอคนดูจะเศร้าปุ๊บ เขาจะวางเพลงบอสซาโนว่า บลูส์ ๆ ทะเล ๆ ใส่เลย ชอบมากเป็นอะไรที่ได้ผลลัพธ์อีกแบบที่ดีกับคนดู เหมือนกับว่ามันเป็นเรื่องเศร้านะ แต่เรียกว่ามันก็คือวันหนึ่งของชีวิตเถอะ มันอาจจะดีกว่าพรุ่งนี้ก็ได้ เลยรู้สึกว่าซีรีส์ฉลาดดี และเสน่ห์อีกอย่างของซีรีส์เรื่องนี้คือ ตัวละครและสถานที่มีชีวิตชีวามาก ทัชใจทุกตัวละคร รู้สึกว่าเป็นคนที่เราพบเจอได้ในชีวิต รู้สึกพวกเขาเป็นเพื่อน เราเชื่อว่าคนที่ยังเศร้าอยู่ในวันนี้ ไม่ว่าจะมีปมปัญหาใดๆ ในชีวิต ถ้าได้ดูเรื่องนี้อาจจะเป็นยาใจที่ดีเรื่องหนึ่งที่จะบอกว่า มันโอเคนะที่เราจะเศร้า มันไม่เป็นไร ขอบคุณคนทำซีรีส์เรื่องนี้ที่บันทึกความเศร้าไว้อย่างดี เพิ่งรู้ว่าผู้กำกับคือคนทำซีรีส์เรื่อง Live ซีรีส์ตำรวจเกาหลีที่เรารักที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิต
อภิชน รัตนาภายน / ผู้กำกับสารคดี, โปรดิวเซอร์สารคดี Scala
In Time to Come (2017, Tan Pin Pin)
เพิ่งมาเจอว่ามีใน Netflix เลยได้ดูเต็ม ๆ อีกครั้ง คิดว่าเคยได้ดูบางส่วนของเรื่องนี้ตอนไปเวิร์กชอปยามากาตะโดโจ แล้วชอบวิธีการใช้ภาพเล่าเรื่องแบบเงียบ ๆ ได้ด้วย ชอบการตัดต่อ ชอบวิธีการเข้า-ออกของสิ่งต่าง ๆ ตอนตัด ‘สกาลา’ น่าจะได้อะไรจากเรื่องนี้มาเยอะ
อนันตา ฐิตานัตต์ / ผู้กำกับสารคดี Scala
Matilda the Musical (2022, Matthew Warchus)
หนังเพลงปลุกใจที่ดูแล้วเพิ่มพลังบวกให้ชีวิตเราในคืนข้ามปี
ตุลพบ แสนเจริญ : ศิลปิน ผู้กำกับหนังสั้น
Sehnsucht (2006, Valeska Grisebach)
หนังเก่าแล้วแต่เพิ่งมีโอกาสได้ดู หนังเรียบนิ่งแต่เต็มไปด้วยแรงกระเพื่อมภายใน การเขียนบทและการกำกับมีรายละเอียดที่ลึกซึ้งน่าสนใจ ทั้งงดงามและตีหัวสลบได้
จิตร โพธิ๋แก้ว / Cinephile
MUTZENBACHER (2022, Ruth Beckermann, Austria, documentary, 100min)
ภาพยนตร์ที่เราชื่นชอบมากที่สุดที่ได้ดูในปี 2022 ก็คือ Mutzenbacher ที่เป็นการสัมภาษณ์ผู้ชายหลายคนเกี่ยวกับประสบการณ์ทางเพศและความคิดเห็นของเขาที่มีต่อเรื่องเพศ และให้ผู้ชายเหล่านั้นอ่านเนื้อหาในนิยายแนวอีโรติกเรื่อง Josephine Mutzenbacher or the Story of A Viennese Whore, As Told by Herself ซึ่งเป็นนิยายที่ออกจำหน่ายในปี 1906 และเป็นที่เชื่อกันว่าประพันธ์โดย Felix Salten
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้มากที่สุดในปี 2022 เป็นเพราะว่าเรามักจะชอบหนังที่เราสามารถ identify ตัวเองได้กับตัวละครในเรื่องน่ะ โดยเฉพาะตัวละครนางเอก ซึ่งหนังหลาย ๆ เรื่องที่ครองอันดับ 1 ของเราในปีก่อน ๆ ก็เป็นเพราะปัจจัยนี้ ไม่ว่าจะเป็น Happy 20th Birthday (2020, เคียงดาว บัวประโคน), Party Girl (2016, Marie Amachoukeli-Barsacq, Claire Burger, Samuel Theis, France) หรือ Maps to the Stars (2014, David Cronenberg) ที่ครองอันดับหนึ่งของเราประจำทศวรรษ 2010
ซึ่ง Mutzenbacher ก็ครองอันดับหนึ่งประจำปีของเราด้วยปัจจัยเดียวกัน แต่มีความพิเศษตรงที่ว่า เราไม่ ‘เห็น’ ตัวละครนางเอกของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เลย คือเรามองว่านางเอกของสารคดีเรื่องนี้คือนางเอกของนิยายเรื่อง Josephine Mutzenbacher ที่ผู้ชายหลายคนในหนังนำมาอ่านออกเสียงตามคำสั่งของผู้กำกับน่ะ คือพอพวกเขานำนิยายเรื่องนี้มาอ่านออกเสียง เราก็เลยได้จินตนาการถึงภาพต่าง ๆ ตามเนื้อหาในนิยายไปด้วย
และเรามองว่าตัวละครนางเอกของนิยายเรื่องนี้มันคือ superheroine ของเรา และเป็นหนึ่งในตัวละครนางเอกที่เราหลงใหลอยากเป็นมากที่สุดและอิจฉาที่สุด เพราะเธอได้มีเซ็กส์กับชายหนุ่มราว 33,000 คน และมีความสุขกับเซ็กส์เหล่านี้อย่างมาก ๆ คือเหมือนเธอมองว่าชายหนุ่ม 33,000 คนเหล่านี้เป็นคนที่มาตอบสนองความใคร่ของเธอ คือตัวละครนางเอกของนิยายเรื่องนี้เหมือนไปไกลกว่าตัวละคร Samantha Jones (Kim Cattrall) ในละครทีวีเรื่อง Sex and the City และนางเอกที่มีตัวตนจริงของภาพยนตร์เรื่อง In the Realm of the Senses (1976, Nagisa Oshima, Japan) เสียอีก ในแง่ความต้องการทางเพศ
การที่หนังสารคดีเรื่องนี้นำเสนอนิยายเรื่องนี้ มันก็เลยช่วยสร้างความรู้สึก liberating ให้กับเราอย่างมาก ๆ เพราะเราว่าตัวละครนางเอกในภาพยนตร์ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแบบนางเอกของนิยายเรื่องนี้ เราก็เลยไม่สามารถ identify ตัวเองกับนางเอกในภาพยนตร์เหล่านั้นได้ ภาพยนตร์ที่ชอบนำเสนอตัวละครนางเอกที่ใสซื่อบริสุทธิ์, อ่อนแอ, ‘ไม่เงี่ยน’ หรือ ‘ไม่ได้บ้าผู้ชาย’ ก็เลยเหมือนกีดกันการมีอารมณ์ร่วมของเราไปโดยปริยาย (ซึ่งก็ไม่ได้เป็นความผิดของภาพยนตร์เหล่านั้นแต่อย่างใด เพราะมนุษย์ทุกคนบนโลกไม่เหมือนกัน การที่ภาพยนตร์เรื่องใดจะนำเสนอตัวละครนางเอกที่ไม่ได้เป็นเหมือนเรา แต่เป็นเหมือนคนอื่น ๆ บนโลก มันก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา) แต่สิ่งที่น่าเสียใจก็คือว่า มันมีภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องในอดีตที่ชอบนำเสนอตัวละคร ‘นางอิจฉา’ ที่มีพฤติกรรมบ้าผู้ชาย หรือนำเสนอตัวละครนางเอกที่มักมากในกามแล้วถูกลงโทษในตอนจบ ภาพยนตร์กลุ่มนี้ก็เลยเหมือนทำให้เรารู้สึกผิดและรู้สึกแย่ที่เราบ้าผู้ชาย และด้วยเหตุนี้เมื่อใดก็ตามที่เราได้เจอภาพยนตร์ที่นำเสนอตัวละครนางเอกที่มีความคล้ายคลึงกับเรา เราก็เลยมักจะชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนั้นอย่างสุด ๆ เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่เราจะเจอได้บ่อย ๆ
ชอบการสัมภาษณ์ประสบการณ์ทางเพศของผู้ชายจำนวนมากในหนังเรื่องนี้ด้วย เพราะมันเป็นสิ่งที่เราอยากรู้อยากเห็นมาก ๆ เช่นกัน
ตัวนิยายเรื่อง Josephine Mutzenbacher ก็น่าสนใจมาก ๆ เพราะมันดูเป็นนิยายที่ controversial มาก ๆ และคงจะทำให้ผู้อ่านแต่ละคนมองนิยายเรื่องนี้แตกต่างกันไป โดยในมุมมองของเรานั้น ถึงแม้นิยายเรื่องนี้จะนำเสนอตัวละครนางเอกที่เรา identify ตัวเองด้วยได้มากที่สุดคนหนึ่ง นิยายเรื่องนี้ก็เต็มไปด้วยตัวละครชายที่ถือได้ว่ามีพฤติกรรมเลวทรามต่ำช้ามากที่สุด ถ้าหากมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใน ‘โลกแห่งความเป็นจริง’ แต่ ‘โลกแห่งความเป็นจริง’ กับ ‘โลกจินตนาการ’ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เหมือนอย่างเช่นกรณีของ ‘ฆาตกรโรคจิตไล่ฆ่าคนตายจำนวนมาก’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ‘เลวร้ายน่าเศร้าใจที่สุดถ้ามันเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง’ แต่ถือเป็น ‘ความบันเทิงสนุกสนานตื่นเต้นลุ้นระทึกที่สุดในโลกแห่งจินตนาการ’ ตัวละคร Norman Bates, Leatherface, Michael Myers ถือเป็นหนึ่งในตัวละครที่ชั่วร้ายเลวทรามต่ำช้าที่สุด แต่ตัวละครพวกนี้จริง ๆ แล้วเหมือนดำรงอยู่เพื่อให้นางเอกได้ฆ่าพวกเขาหรือเอาชนะพวกเขา และดำรงอยู่เพื่อความสุขความบันเทิงของผู้ชม เพราะฉะนั้นภาพยนตร์เรื่อง Psycho, The Texas Chainsaw Massacre และ Halloween ถือเป็นภาพยนตร์ที่เลวร้ายตามไปด้วยหรือเปล่า เราว่าคำถามเหล่านี้มันน่าสนใจดี และเราก็เลยมองว่า ถึงแม้นิยายเรื่อง Josephine Mutzenbacher เต็มไปด้วยตัวละครชายที่ถือได้ว่าเลวทรามต่ำช้าที่สุด “ถ้าหากพวกเขาทำสิ่งนี้ในโลกแห่งความเป็นจริง” แต่การที่นิยายสักเรื่องจะสร้างตัวละครชายเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศของนางเอก และของผู้อ่านนิยาย มันจะส่งผลให้นิยายเรื่องดังกล่าวถือเป็นนิยายที่เลวร้ายตามไปด้วยหรือไม่นั้น ก็คงเป็นเรื่องของผู้อ่านแต่ละคนที่จะตัดสินกันเอาเอง
ส่วนฉากที่ชอบที่สุดในเรื่องนี้ ก็คือฉากที่ให้ผู้ชายหลายสิบคนมาท่องด้วยเสียงขึงขังว่าอวัยวะเพศชายสามารถทำอะไรได้บ้างขณะมีเพศสัมพันธ์ เราว่ามันเป็นฉากที่สร้างความพึงพอใจให้กับเราอย่างรุนแรงมาก โดยที่เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันเป็นเพราะอะไร แต่เรารู้สึกราวกับว่า ฉากนี้มันสอดคล้องกับมุมมองของนางเอกที่มีต่อผู้ชายจำนวนมากที่มามีเซ็กส์กับเธอ คือผู้ชายเหล่านั้นคง ‘มองตัวเอง’ ด้วยความภาคภูมิใจว่าตัวเองเกิดมาเป็นผู้ชาย, มีอวัยวะเพศชาย, มีความเป็นแมนต่าง ๆ นานา และมีความสามารถอ้นล้นเหลือในการประกอบกามกิจ แต่ในขณะที่ผู้ชายเหล่านั้นมอง ‘ความเป็นชายและอวัยวะเพศชาย’ ของตัวเองด้วยความภาคภูมิใจอย่างมาก ๆ นางเอก, เรา และผู้ชมคนอื่น ๆ ที่เป็นเหมือนเราก็มอง ‘อวัยวะเพศชาย ความเป็นชาย บุคลิกแบบแมนๆ การวางมาดแบบแมน ๆ การทำตัวแมน ๆ’ ของผู้ชายเหล่านี้ ว่าเป็น ‘สิ่งที่ดำรงอยู่เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศของเรา’ อวัยวะเพศชายและการแสดงความเป็นแมนอันล้นเหลือของพวกเขาดำรงอยู่เพื่อสร้างความสุขสมทางเพศให้กับเรา เราก็เลยชอบฉากเหล่านี้ในหนังเรื่องนี้อย่างสุด ๆ เพราะเรารู้สึกเหมือนกับว่า ฉากเหล่านี้มันไม่ได้เชิดชู ‘ความภาคภูมิใจในการเป็นชาย ในการมีอวัยวะเพศชายที่พร้อมจะประกอบกามกิจ’ แต่เหมือนเป็นการมองว่า อวัยวะเพศชายได้กลายเป็นวัตถุสำหรับตอบสนองความต้องการทางเพศของอีกฝ่าย และการแสดงความเป็นแมนเป็นเหมือน performance อย่างหนึ่งเพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศของอีกฝ่าย
อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบมากในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เน้นการให้ผู้ชมจินตนาการภาพขึ้นมาในหัวของตัวเอง ขณะฟังผู้ชายแต่ละคนอ่านนิยายด้วย เราชอบหนังที่กระตุ้นให้ผู้ชมเห็นทั้งภาพที่ปรากฏอยู่บนจอ และจินตนาการภาพอื่น ๆ ขึ้นมาในหัวของตัวเองในเวลาเดียวกันแบบนี้มาก ๆ ซึ่งปรากฏว่าในปี 2022 เราก็ได้ดูหนังหลายเรื่องที่ใช้กลวิธีแบบนี้ได้อย่างดีงามมาก ๆ ทั้ง Mutzenbacher, Wheel of Fortune and Fantasy (2021, Ryusuke Hamaguchi, Japan) ที่มีฉากผู้หญิงอ่านออกเสียงเนื้อหาอีโรติกในนิยาย, I Have Loved Living Here (2020, Régis Sauder, France, Documentary) ที่ให้ชาวบ้านหลายคนในฝรั่งเศสอ่านออกเสียงนิยายที่ประพันธ์โดย Annie Ernaux ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม, Silent Cry (2022, Navawan Sukkho, Nannapat Sripetchdanont, 18min) ที่ให้ตัวละครอ่านนิยายเรื่อง ‘กุหลาบแดง’ ของก.สุรางคนางค์ และ The Sound of Devouring Dust (นครฝุ่น) (2022, Jessada Chan-Yaem, 34min) ที่เสียง voiceover ในหนังเล่าถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่ดูเหมือนไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาพในหนัง
วรุต พรชัยประสาทกุล / Cinephile
Tale of Cinema (2005, Hong Sang-Soo) + Ripples of Life (2021, Wei Shujun)
ขออนุญาตขี้โกงเลือกสองเรื่อง 555 สารภาพตามตรงว่าขโมยไอเดียมาจาก MUBI ที่ให้นักเขียนของพวกเขาเลือกหนังใหม่เรื่องโปรดกับหนังเก่าเรื่องโปรดที่ได้ดูในปี 2022 อย่างละเรื่องมาจับคู่กัน เสมือนว่าเพื่อจะได้จัดฉายด้วยกันเป็นโปรแกรม double feature ในจินตนาการ ซึ่งเราว่าน่าสนุกดี และส่วนตัวเวลาเราดูหนัง 2-3 เรื่องต่อ ๆ กันมันจะเกิดภาวะหนึ่งในหัวของเราที่น่าสนใจมาก และเราคิดว่าหลาย ๆ คนก็น่าจะเป็น คือมันจะเหมือนเราได้ยินหนังที่เรากำลังดูพูดคุยกับหนังที่เพิ่งจะดูจบไป 55555 อะไรแบบนี้ Eric Rohmer ก็เคยพูดทำนองว่า พอคุณดูหนังมาสักระยะหนึ่ง คุณจะเห็นหนังทุกเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน
กับสองเรื่องนี้เป็นหนังที่เราอยากให้ฉายด้วยกันมาก เราว่าพวกมันจะทั้งแตะมือและขัดขากันมันส์ทีเดียว เดาว่า Wei Shujun น่าจะรักฮองซางซูมากจริง เพราะในหนังเรื่องนี้เขาให้ตัวละครพูดถึงคิมมินฮีตรง ๆ 55555(ตกลงรักใครนะ) แล้วที่บังเอิญสุด ๆ คือมีการให้นางเอกพลาดทำเสื้อเปื้อนแบบนางเอก In Front of Your Face (2021) เข้าไปอีก
หนังของคุณเหวยเรื่องนี้มีโครงสร้างแบ่งเป็นสามพาร์ท ทุกพาร์ทอยู่ระหว่างการถ่ายหนังสักเรื่องเดียวกัน สองพาร์ทแรกเหมือนการหักครึ่งแบบหนังฮอง ที่เริ่มด้วยเรื่องของคุณแม่ยังสาวชาวบ้านที่เพลิดเพลินไปกับการได้เป็นสแตนด์อิน จนอาจเผลอคิดอยากเป็นนักแสดงอาชีพขึ้นมา กับอีกตอนคือดาราดังสาวใหญ่ที่กลับมาเยือนบ้านเกิด ได้รับการต้อนรับอย่างอลังการที่เธอเป็นความภาคภูมิเป็นหน้าเป็นตาให้กับที่นี่ ซึ่งคล้ายจะคอนทราสท์กันแต่จริง ๆ แล้วไม่ สรุปสั้น ๆ ก็คือทั้งสองตอนเป็นชีวิตของผู้หญิงในสังคมจีน ย้ำว่า ’สัง คม จีน’ ที่ผู้หญิงคือเพศที่ถูกใช้ประโยชน์เสมอมา แถมชุมชนเล็ก ๆ ท้องถิ่นท้องเรื่องที่มีภาษาของตัวเองนี้ก็ดูเหมือนจะถูกแช่แข็งไว้ตั้งแต่ไม่รู้กี่สิบปีที่แล้ว ในขณะที่พาร์ทจบเป็นความขัดแย้งทางงานสร้างสรรค์ระหว่างผู้ชาย มีนักวิจารณ์ด้วย เต็มไปด้วยบทสนทนาในหัวข้อหรือประเด็นที่ค่อนข้างร่วมสมัยกว่า แต่เอาจริงจำตอนนี้ไม่ค่อยได้แล้ว 5555 แต่ที่จำได้แน่ ๆ คือเป็นตอนที่ตลกเป็นพิเศษ
ขณะที่หนังฮองเรื่องที่เราเลือกมานี้เป็นหนังซ้อนหนังหักครึ่งทำซ้ำคลาสสิกแบบฮอง ไม่ได้ฉายให้เห็นเบื้องหลังของอะไรก็ตาม แต่เอาหนังจริงให้ดูเลย แล้วก็เอาชีวิตที่ก็จะเป็นหนังให้ดู ในหนังฮองเราจะเห็นทุกอย่างลึกลงไปเห็นถึงแก่นเมื่อทุกอย่างซ้อนกันหลายชั้น ไม่ใช่เพราะการถอดออก หนังเรื่องนี้มีตัวละครที่เป็นนักแสดงหญิงเช่นกัน แต่หนังจะบอกคุณว่านักแสดงหญิงก็คือผู้หญิงแหละ คือผู้หญิงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งแค่นั้นเอง การที่คุณตัวเอกหน้าหม้อได้เอากับเธอ ได้รู้สึกว่าตัวเองได้เอากับนางเอกสวยๆ แล้วไงต่อ แล้วยิ่งเขาอยากให้เธอตรงหน้าเป็นเหมือนตัวละครที่เธอเล่นในหนังที่เขาชอบ หนังที่เขาอ้างว่าขโมยมาจากชีวิตจริงของเขา แต่เขาก็พยายามจะเป็นให้เหมือนหนังเรื่องนั้นเหลือเกิน ตัวละครชายของฮองไม่ยังหลับอยู่ก็เมาค้าง สำหรับเราหนังเรื่องนี้ตบหน้าคนที่ลุ่มหลงหรือคลั่งภาพยนตร์เกินไป คนที่มองว่าหนังสวยกว่า น่าค้นหากว่า น่าสนใจกว่า มีสาระสำคัญกว่า น่าจดจำกว่า หรือเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าชีวิตจริง คือพูดแล้วก็นึกถึงตอนเด็ก ๆ หรือจริง ๆ ก็แม้แต่ทุกวันนี้ที่แบบเวลาเราเห็นกองถ่ายหนัง เผลอ ๆ อาจไม่ใช่หนัง เป็นทีวี โฆษณา หรืออะไรก็ตาม คนนอกอย่างเราจะรู้สึกว่าเจ๋งจัง อยากรู้ว่าเขาถ่ายอะไรกันนะ น่าตื่นเต้นจัง ทำไมกันนะ คือหนังสองเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้เรารักภาพยนตร์น้อยลง แต่ทำให้เราไม่ลืมว่าหนังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต หรือจริง ๆ ก็ทำให้เรารักหนังมากขึ้นด้วยซ้ำ หนังที่ทำให้เราเห็นใจชีวิตและแคร์ชีวิตมากขึ้น
เชียร์ให้หามาดูด้วยกันสุดขีด หรือวอนโรงหนังค่ายหนังที่ใดก็ตามจัดฉาย แนะนำสุด ๆ เพราะเราเองก็เสียดายที่ไม่มีใครมาจัดให้ดูแบบนี้ 5555 รับประกันว่าสนุก กลเม็ดเด็ดพรายแต่ละเรื่องคือเพียบ และให้รสสัมผัสที่ฉ่ำมาก สดมาก ๆ ทั้งสองเรื่อง
วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา / Cinephile, ทีมงาน Film Club
ยามเมื่อสายลมพัดผ่าน (When the Wind Blows) (ศิวกร บุญสร้าง)
หนังสั้นเรื่องนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการบันทึกบทสนทนาครั้งแรกทางโทรศัพท์ และครั้งที่สองในห้องครัว ของยายของคนทำเอง หนังที่สุดแสนจะส่วนตัวบันทึกเสียงของหญิงชราที่โทรคุยกับคุณยายอีกคนหนึ่ง พูดเรื่องของวันเวลาในปัจจุบัน ความร่วงโรยของสังขาร คืนวันเปล่าดายที่ผ่านเลยไป ในฉากต่อมาคุณยายสองคนนั่งลงกินข้าวกันในครัว พูดคุยเรื่องอาหาร เรื่องของครอบครัวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ สัปดาห์ที่แล้ว เรื่องราวที่ผู้ชมฟังโดยไม่อาจเข้าใจทุกอย่างได้ทั้งหมด ฟังในฐานะผู้ซึ่งบังเอิญเดินผ่านหน้าบ้านและได้ยินคุณยายทั้งสองพูดคุยกัน การไปลอกตา การกินข้าวมากกับน้อย บ่นเรื่องลูกหลานที่ไม่ถูกใจ ข้างนอกนั้นท้องฟ้าเป็นสีฟ้า ลมพัดกอกล้วย อีกวันกำลังผ่านพ้น
หนึ่งในหนังแบบที่ตัวเองชอบที่สุดคือหนังส่วนตัว ในหนังแบบนี้เราไม่สามารถจะเข้า ‘เรื่องราว’ ทั้งหมดได้หรอก เราไม่สามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งกับตัวละครได้ ประสบการณ์ของตัวละครที่เราเห็นเป็นประสบการณ์เฉพาะที่ทั้งเปิดและปิด การเอาตัวเราเข้าไปในหนังส่วนตัวเหล่านี้คือการเข้าไป ‘ซึมซับ’ ห้วงขณะที่มันถูกบันทึกเอาไว้ ช่วงเวลาที่สามัญสำหรับคนหนึ่งกลายเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของอีกคนหนึ่ง โมงยามที่ถูกเก็บถนอมไว้ ทั้งผ่านการบันทึกไว้ทันหรือทำขึ้นใหม่ ในหนังแบบนี้ซึ่งบันทึกโมงยามเหล่านั้น เรามักค้นพบประกายเรื่อเรืองเล็ก ๆ ของมนุษย์ ในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่ตัวละคร
และในเมื่อมันเป็นหนังส่วนตัว เราก็ดูด้วยความรู้สึกส่วนตัวมากขึ้นไปอีกเท่า เพราะหนังบันทึกภาพของหญิงชราพื้นถิ่นในพื้นเพเดียวกับเรา การที่คนทำบันทึกสิ่งหล่านี้เอาไว้ทำให้เรารู้สึกทั้งงดงาม เศร้า และริษยา ในฐานะของคนที่สูญเสียโมงยามสงบงามของหญิงชราพื้นถิ่นในชีวิตไปแล้ว หนังเรื่องนี้จึงทำงานกับเรามากขึ้นในอีกหลายระดับ