หาก Reply 1988 จะเป็นซีรีย์ของครอบครัวชนชั้นกลางล่างที่ย้อนกลับไปเล่าถึงอดีตของตัวเองอย่างงดงาม ซีรีส์โรงพยาบาลนี้กลับชี้ให้เห็นถึงผลผลิตของครอบครัวชนชั้นกลางบน เพราะอย่างน้อย 2 ใน 5 ตัวเอกเป็นทายาทนักธุรกิจชั้นครีมของประเทศ โดยคนหนึ่งเป็นทายาทเจ้าของโรงพยาบาล
อดีตนักเรียนหัวกะทิไม่ว่าจากบ้านนอก หรือเมืองหลวงถูกหล่อหลอมผ่านการเรียนแพทย์อย่างเข้มข้น ชีวิตของพวกเขาถูกเล่าย้อนผ่านชีวิตประจำวันของนักศึกษาแพทย์ที่เข้ามาฝึกงานในโรงพยาบาล การเรียนอย่างหนัก กิจวัตรเข้าเวร การถูกอาจารย์หมอตะคอกด่าอย่างเสียๆ หายๆ ความผิดพลาดของการรักษาจนนำมาซึ่งความตายของคนไข้
โรงพยาบาลยุลเจ (YULJE) อันเป็นชื่อสมมติ น่าจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่หรูหรา ราคาสูง ค่าใช้จ่ายในการรักษาคงไม่น้อย ใครที่เคยรับการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชนบ้านเรา แม้จะรักษาอาการเล็กๆ น้อยๆ แต่เห็นบิลก็จุกได้ทุกที การมีโครงการ “คุณพ่อขายาว” ที่เป็นกองทุนที่ตัวเอกตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนไข้ที่ไม่มีปัญญาจะจ่ายเงินจึงสะท้อนได้ดีถึงปัญหาค่ารักษาพยาบาลที่มีราคาแพงจนทั่วไปไม่สามารถจ่ายไหว จึงจำเป็นต้องมีกองทุนสงเคราะห์นี้ขึ้นมา แต่โครงการนี้ที่เคยโดดเด่นในซีซั่นแรก ก็กลายเป็นเรื่องที่ลืมๆ ไปในซีซั่นถัดมา การเจ็บป่วยจึงเป็นการถูกโจมตีทางการเงินของคนทั่วไป ถ้าใครจำฉากที่แม่ตัวเอกใน Squid Game ได้ จะเห็นว่า การรักษาพยาบาลที่ดีนั้นเป็นอภิสิทธิ์อย่างหนึ่งในเกาหลีใต้
ด้วยโทนโลกสวยของซีรีส์ การแสดงความทุกข์ยากลำบากของพนักงานโรงพยาบาล คนไข้และญาติคนไข้จึงออกมาในรูป feel good รันทดแต่งดงาม แทบทุกคนเป็นคนที่ตั้งใจดี ทำหน้าที่ของตัวเอง ยอมรับโหลดงานที่หนักหนา อดตาหลับขับตานอน ทุ่มเททุกอย่าง
ตัวเอก 5 คนเป็น “อาจารย์หมอ” ผู้มีสถานะอันสูงส่ง นอกจากจะดูแลนักศึกษา ควบคุมวิทยานิพนธ์ ทำงานวิจัยแล้ว ยังมีฝีมือในการผ่าตัดรักษาโรคยากๆ ตั้งแต่การปลูกถ่ายอวัยวะ ผ่าตัดกำจัดมะเร็ง การดูแลเรื่องการคลอด พวกเขาเริงระบำอยู่ในห้องผ่าตัดด้วยฝีมือเยี่ยงเทพเจ้า
อันจองวอน กุมารแพทย์ผู้ถูกยกย่องให้เป็นพระเจ้า ด้วยความเมตตา ใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใส น่าจะเป็นภาพตัวแทนที่ชัดที่สุด และเป็น message ที่ฉายภาพหมอทั้งหลายในเรื่อง
แต่เทพเจ้าเหล่านี้ เป็นผู้ที่มีชีวิต เลือดเนื้อ มีหัวเราะ ร้องไห้ มีความสุขและเจ็บปวดเป็นของตัวเอง ที่สำคัญ มีอดีตให้จดจำ ซีรีส์นี้ใช้เพลงและการรวมวงเล่นยามว่าง ในอีกด้านมันคล้ายกับพิธีกรรมในโบสถ์ แต่ละเพลงมันคือ บทสวดย้อนอดีตที่ทำให้พวกเขากลับไปสวมตัวตนที่เคยโหยหา นอกจากเพลงย้อนยุคเกาหลีเก่าๆ แล้วที่น่าสังเกตอย่างยิ่งก็คือ It’s My Life
เพลง It’s My Life (2000) ของวง Bon Jovi ได้พูดถึงตัวละครอย่าง Tommy และ Gina ที่เคยมีตัวตนอยู่ในเพลง Livin’ on a Prayer (1986) ประเด็นนี้มิตรสหายเคยเขียนสเตตัสไว้ชื่อว่า “Bon Jovi อภิมหาคีตกวีเสรีนิยมใหม่” (https://www.facebook.com/athip.apokalypse/posts/3809786602466739 โพสต์เมื่อ 5 กรกฎาคม 2021) ชี้ให้เห็นว่า ทั้งคู่รอดชีวิตมาได้ จากช่วงดังกล่าวที่เสรีนิยมใหม่ครองโลก ขบวนการแรงงานในสหรัฐอเมริกาล่มสลาย (Tommy ทำงานอยู่ท่าเรือ ส่วน Gina เป็นสาวเสิร์ฟ) ทำให้ชนชั้นแรงงานไม่ต้องรวมตัวสู้ทางการเมืองแล้ว แค่เอาชีวิตให้รอด และจับมือไปด้วยกันก็พอ
เพลงนี้จึงแสดงถึงหมอในเรื่องที่ไม่ต้องสนใจเรื่องการรวมตัวต่อสู้ทางการเมือง ไม่ต้องมีสหภาพแรงงานอะไร แต่ก็มีชีวิตที่มีคุณค่า ช่วยเหลือคน มีคนรักและมีความสุขได้เช่นกัน
ทั้งที่ถ้าใครตามข่าวแรงงานจะเห็นว่าขบวนการแรงงานในเกาหลีใต้ มีบทบาทสำคัญในหลายปีที่ผ่านมา เช่นปี 2561 สหภาพแรงงานเกาหลีใต้เผยผลสำรวจว่า ครึ่งหนึ่งของคนทำงานในโรงพยาบาลมีประสบการณ์ถูกทำร้ายทางวาจา กว่า 3 ใน 10 ถูกรังแกในที่ทำงาน กว่า 1 ใน 10 เคยถูกคุกคามทางเพศและลวนลาม (https://prachatai.com/journal/2018/04/76320) และเร็วๆนี้ สหภาพแรงงานคนทำงานด้านสุขภาพ เกาหลีใต้ได้ต่อสู้เพื่อสภาพการจ้างงานที่เหมาะสม (https://www.reuters.com/world/asia-pacific/south-korea-eleventh-hour-talks-head-off-strike-by-health-workers-2021-09-01/) มิติดังกล่าวถูกลบหายไปจากซีรีย์ เมื่อเทียบกับ Squid Game อย่างน้อยก็มีภาพความพ่ายแพ้ของตัวเอกในฐานะชนชั้นแรงงานผู้พยายามต่อสู้เมื่อครั้งยังทำงานอยู่
เทพเจ้าเหล่านี้ บางคนผ่านชีวิตคู่ที่ล้มเหลว หรือความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น ไม่สมบูรณ์ เส้นเรื่องหลักจึงไต่อยู่กับแกนของความสัมพันธ์หญิงชาย ที่ค่อยๆ เผยออกมาทั้งในฐานะเพื่อน ผู้ใต้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน อย่างไรก็ตามในตอนท้าย ทุกคนจะลงเอยกับความรักตามฉบับในของตัวเองในที่สุด
นรกโชซ็อน (Hell Joseon) เป็นคำที่ถูกใช้เรียก สังคมเกาหลีใต้อันไม่น่าอยู่ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการเเข่งขัน ความเครียด เเละความกดดันตั้งเเต่เกิดจนตายภายใต้อำนาจของทุนนิยม บรรษัทแชโบล สำหรับคนรุ่นใหม่เขาต้องแข่งขันกันเรียน เพื่อเข้าสถาบันการศึกษาดีๆ เพื่อเข้าบริษัทพรีเมียม (https://thematter.co/social/hell-joseon/154276)
ในนรกโชซ็อนที่ทุกข์ทรมาน นอกจากผู้มั่งมี หรือผู้สามารถย้ายประเทศได้จนหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานเหล่านี้ ก็มีเหล่าทวยเทพที่อาจไม่รู้สึกว่า ประเทศที่พวกเขาอยู่จะเป็นนรก แต่หากเรามองตัวละครบางตัว อาจทำให้เห็นร่องรอยของนรกดังกล่าวได้บ้าง
หมอโดแจฮัก ผู้ล้มลุกคลุกคลานใช้เวลาหลายปีกว่าจะสอบคณะแพทยศาสตร์ได้ เขายังเป็นลูกไล่เทพเจ้าองค์หนึ่ง เปิดเรื่องมาให้แจฮักเป็นหมออ่อนไหวผู้น่ารำคาญ เขาเพียรเก็บเงินมาหลายปี เพื่อจะถูกคนโกงเงินค่าเช่าบ้านรายปี จะเห็นว่า เคสของแจฮักสะท้อนปัญหาการเข้าถึงที่อยู่อาศัยดีๆ ในเมืองหลวงที่ค่าครองชีพโหดร้าย ไม่เพียงเท่านั้นในซีซั่น 2 ยังเป็นเหยื่อของคนเขียนบทที่ลิขิตให้เขาที่มีลูกยาก เผชิญชะตากรรมกับเมียที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมระหว่างตั้งครรภ์ ชีวิตของแจฮัก ควรเรียกว่าอยู่ในนรก
ส่วน พยาบาล แม้จะมีตอนหนึ่งที่พยายามสดุดีหน้าที่ของพวกเธอ แต่เราแทบไม่รู้จักเรื่องของพวกเธอเลย ในเมื่อชีวิตหมอกับพยาบาลแทบจะแยกขาดกันไปคนละ layer ชีวิต ในชีวิตจริง สหภาพแรงงานพยาบาลเกาหลีใต้นั้นเข้มแข็งมาก มีกรณีที่ใหญ่โตคือ การประท้วงของสหภาพต่อกรณีที่มิวสิควิดีโอของ Blackpink มีการแต่งชุดพยาบาลที่แสดงออกมาในลักษณะเหมารวมว่าพยาบาลเป็นเพียงวัตถุทางเพศ (https://www.korseries.com/yg-responds-to-concerns-about-portrayal-of-nurse-in-blackpink-s-lovesick-girls-mv/)
เทพเจ้าและบุคลากรโรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะมีลักษณะพิมพ์นิยม คือ ตี๋ หมวย ขาวอมชมพู ขณะที่ คนป่วยถูกถ่ายทอดในภาพของคนไร้สง่าราศีตัวเหลือง หรือผิวคล้ำ อันเป็นลักษณะที่พ้องกับชนชั้นแรงงานที่ทำงานอยู่กลางแดด สมกับที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในนรกโชซ็อนแบบที่หลายคนมองอยู่นั่นเอง
โรงพยาบาลยุลเจ จึงเป็นภาพตัวแทนของสวรรค์ที่ลอยอยู่เหนือนรกโจซอน ที่เหล่าทวยเทพใช้ชีวิตอย่างมีสีสัน พวกเขายังมีทุกข์ มีสุข ในด้านหนึงมันก็ช่วยปลอบประโลมผู้คนในยุคที่โรคระบาดได้ทำลายชีวิต สุขภาพ และสังคมของโลกนี้ไปอย่างสิ้นเชิง
ดู Hospital Playlist ได้ที่ Netflix