‘อนินทรีย์แดง’ เป็นผลงานที่ไม่เพียงสร้างความขบขันให้ผู้ชมด้วยการใช้ ‘เสียงพากย์’ ตามขนบของหนังไทยยุคทองเมื่อราว 30 ปีขั้นต่ำก่อนหน้านี้เท่านั้น แต่มันยังเป็นความบันเทิงคนผู้สร้าง รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค ด้วย แต่เพียงชั่วครู่ของความรื่นรมย์จากเสียงในหนัง พลันเราอาจน้ำตาตกกับการใช้เสียงของเขาก็เป็นได้
รัชฏ์ภูมิกำลังพยายามทำอะไรกับเสียงเหล่านั้น บางทีเจ้าตัวอาจให้คำตอบได้ดีที่สุด …
อยากรู้ที่มาที่ไปของการใช้เสียงเล่าเรื่องใน ‘อนินทรีย์แดง’
จริงๆ ผมเป็นคนชอบเอาภาษาหนัง องค์ประกอบหนัง มาเล่นมารื้ออะไรอยู่แล้ว พยายามมองหาว่าการใช้ภาษาหนังใดๆ มันมีเหตุทางการเมืองอะไรมั้ย เช่นการใช้ซับไตเติ้ลหรือว่าวอยซ์โอเวอร์ พอมาเรื่องนี้ผมสนใจเรื่องหนังพากย์ ผมไปเป็นกรรมการตรวจหนังธีสิส ของคณะ ICT ศิลปากร และมันก็จะมีหนังระเบิดภูเขาเผากระท่อมมาเรื่อยๆ มีอยู่ปีนึงที่มีคนมาบอกว่าจะทำเป็นหนังพากย์ แล้วตอนนั้นทั้งกรรมการธีสิสและเด็กในห้องก็ถามกันว่าจะทำระเบิดภูเขาเผากระท่อมเฉยๆ หรือว่าจะอัพเดตอะไรได้มั้ย ก็มีการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ พอดีปีนั้นอยู่ห้องเดียวกับแป๊บ (ชาญชนะ หอมทรัพย์ – คนเขียนบทหนังและซีรีส์) เขาก็พูดในฐานะนักประวัติศาสตร์ว่าเสียงพากย์มันมีเหตุผลของมัน สมัยก่อนเสียงกับบทมันต้องตรงกัน พระเอกต้องเสียงหล่อ ตัวร้ายก็ต้องเสียงชั่วมากๆ นักแสดงยุคนั้นเล่นหนังวันนึงเยอะมากก็ไม่สามารถส่งผ่านคุณภาพของเสียงแบบนั้นได้ นอกจากเหตุผลเชิงเทคนิคต่างๆ แล้ว กลายเป็นว่าเสียงมันคือภาพจำว่าคนแบบนี้เสียงต้องเป็นแบบนี้ เป็นค่านิยมในยุคนั้น แป๊บเล่าไปเราก็คิดตามแล้วรู้สึกว่ามันดูเป็นไอเดียที่น่าเอาไปคิดต่อเนอะ ก็เลยได้เป็นเรื่องของพระเอกคนนึงที่เสียงหล่อมากแล้ววันนึงเขาตื่นมาแพบว่าเสียงเขากลายเป็นปกติ เหมือนเขาหลุดพ้นอะไรบางอย่าง แต่จริงๆ แล้วต่อให้เป็นเสียงปกติก็จะยังอยู่ในการกำหนดของสังคมอยู่ดี ก็บอกเด็กเลยว่าเอามั้ย เด็กก็ “ไม่ครับ” คือน้องเขาไม่ได้อยากรื้อโครงสร้าง เขาอยากทำเพื่อทริบิวต์ ตอนนั้นเราก็ชอบไอเดียตัวเองก็เก็บไว้ งั้นกูเอานะ (หัวเราะ)
ไอเดียเรื่องเสียงได้มาแล้วเอามารวมกับเรื่องราวนี้ยังไง
จริงๆ ผมสนใจเรื่องอาณานิคมมาตั้งแต่งานเก่าๆ แล้ว เวลาคิดงานตัวเองมันก็จะแบ่งออกเป็นยุค ‘แหม่มแอนนา หัวนม มาคารอง และการศึกษาขั้นพื้นฐาน’ ก็จะไปสำรวจจักรวรรดิอังกฤษ เราก็ต้องเลือกงานในประวัติศาสตร์ไทยที่มันสัมพันธ์กับจักรวรรดิอังกฤษมากๆ The King and I มันก็ตรง ในเรื่อง ‘มะนีจันเปล่งเสียงไม่ได้ในทวิภูมิทางภาษาของคุณ’ เราก็เอา ‘ทวิภพ’ มาอ่านใหม่ซึ่งมันจะมีเรื่องช่วงที่ไทยจะเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ตอนที่ฝรั่งเศสเอาปืนใหญ่มาจ่อไปที่วัง ถ้าพูดถึงจักรวรรดิฝรั่งเศสก็ต้องพูดถึง ‘ทวิภพ’ มั้งที่มันอยู่ในป๊อปคัลเจอร์ หลังจากนั้นมันก็จะมียุคที่นักวิชาการเรียกยุคอเมริกาหรือว่ายุคสงครามเย็น ก็เป็นยุคที่ยากมากเพราะต้องมาดูว่ามีงานป๊อปคัลเจอร์ไหนที่พูดถึงยุคนี้บ้างวะ เพราะจริงๆ ยุคอเมริกามันก็เป็นการเรียกของ เบน แอนเดอร์สัน มันเหมือนเป็นแค่บรรยากาศ มันไม่ได้มีตัวตนเหมือนการเอาปืนใหญ่มาจ่อวัง ในภาพจำมันอาจจะเป็นทหารจีไอซึ่งโดยส่วนตัวก็ไม่ได้สนใจทหารจีไอหรือเด็กที่เป็นลูกครึ่งขนาดนั้น หรือผู้หญิงที่ทำงานอยู่ในแหล่งเริงรมย์เราก็รู้สึกเห็นบ่อยและไม่ได้สนใจจะไปสำรวจตรงนั้น แต่เราสนใจ ‘อินทรีย์แดง’ ในแง่ของหนังซูเปอร์ฮีโร่ มันดูเป็นแบทแมนของไทย ดูเป็นลูกเศรษฐีที่เห็นบ้านเมืองมันล้มเหลว ตำรวจก็ไว้ใจไม่ได้ ก็เลยหาชุดแฟนซีมาใส่ออกไปปราบเหล่าร้ายในยุคสงครามเย็น ตัวร้ายก็จะมีพวกค้าฝิ่นบ้าง พวกคอมมิวนิสต์ข้ามชาติบ้าง ก็เลยสนใจ ‘อินทรีย์แดง’ แต่ไอเดียสองอย่างยังไม่ได้เอามารวมกันคือเสียงพากย์กับ ‘อินทรีย์แดง’ หลายปีมากที่เราหาว่ามีป๊อปคัลเจอร์ไหนที่เราเอามาเล่นได้บ้างวะ จริงๆ แล้วผมว่าป๊อปคัลเจอร์ของสงครามเย็นมันน่าจะเป็นพวกวรรณกรรมน้ำเน่าเลยรึเปล่า เช่น กฤษณา อโศกสิน มันยากเพราะว่ามันไม่มีความเป็นยุคชัดเจนเลยเป็นเหตุผลให้คนสามารถเอามารีเมคได้เรื่อยๆ มันถูกทำให้ร่วมสมัยได้เรื่อยๆ จนเหมือนเป็นวังวนอะไรบางอย่าง มันเหมือนไม่ค่อยมีกลิ่นของยุคนั้นชัด มันสะท้อนเพราะก็เคยอ่านงานธีสิสของอาจารย์ที่เขาศึกษาพวกวรรณกรรมน้ำเน่ายุคสงครามเย็น เขามาร์คเอาไว้เพราะมันเขียนในยุค 2510-2520 แต่เราก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ให้ภาพที่ชัด แต่พอเป็น ‘อินทรีย์แดง’ ก็รู้สึกว่ามันให้ภาพที่ชัด ความเป็นสายลับ ความเป็นผู้ก่อการร้าย มันมีรสที่โดดขึ้นมาเพราะเหมือนงานน้ำเน่ามันไม่ได้มียุคขนาดนั้น จนพอเราคิดเรื่องพากย์ได้เราก็รู้สึกว่ามันก็น่าจะเอามาโขลกรวมกันได้
มันก็ทำให้เรานึกถึงหนังอีกชุดคือ Iron Pussy (ไมเคิล เชาวนาศัย, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) และจริงๆ ก็รวมถึง Forget Me Not (จุฬญาณนนท์ ศิริผล) ที่ดูไปด้วยกันได้ดีเลย
ไม่เคยคิดเลยนะ (หัวเราะ) Iron Pussy จริงๆ เป็นงานที่เราน่าจะคิดถึงแต่ดันไม่ได้คิดถึงเลยตอนทำ มันมาทีหลังมากๆ ส่วน Forget Me Not ก็ไม่ได้คิดถึงเลยเหมือนกันเพราะรู้สึกว่าเราต่างคนต่างทำ เอาจริงๆ งานเรื่องนี้มัน strategy ประมาณนึงนะ เพราะว่าผมอยากทำหนังยาว แต่มันหาเงินในประเทศไม่ได้ ก็ต้องหาทุนเมืองนอก แต่ผมไม่สามารถทำได้เพราะไม่เคยมีหนังสั้นที่ไปเทศกาลจริงๆ มัน strategy ประมาณนึง ดังนั้นงานชิ้นนี้มันจึงคิดบนฐานที่ว่ามันต้องไปเทศกาลต่างประเทศนะ ดังนั้นแล้วเหมือนไดอะล็อคของผมมันเลยมีกับผู้ชมต่างประเทศมากกว่า เช่น ภาพนี้อ้างอิงมาจากงานยุโรปมากกว่า มันมีความทริกกี้บางอย่างครับว่าทำยังไงให้อารมณ์ขันเรามันทำงานกับคนที่ไม่รู้ภาษาไทย ไม่รู้วัฒนธรรมไทย ไม่รู้ประวัติศาสตร์ไทยด้วย มันเหมือนว่าเราคุยกับงานไทยอย่างเดียวไม่พอแล้วเพราะมันไม่โต (หัวเราะ) เราต้องมีไดอะล็อคแบบนี้ แอ็คติ้งแบบนี้ คือมันไทยมากๆ นะ มันต้องยังไงวะ ผมก็ลองผิดลองถูกเหมือนกัน เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันเวิร์คมั้ยแต่ก็มีฟีดแบ็คจากต่างชาติในเรื่องอารมณ์ขันบางอย่างเหมือนกัน จริงๆ ไม่เคยเดินทางไปเทศกาลกับหนังนะ เลยไม่รู้ว่าคนดูเขาขำอะไร แล้วขำเหมือนคนไทยมั้ย แต่ค่อนข้างตรงกันว่าเขาเห็นอารมณ์ขันแต่ไม่รู้เหมือนกันว่าตรงไหน
อีกอย่างคือหนังมันโรแมนติกมาก ไอ้ประสบการณ์การเขียนบทซีรีส์ที่ผ่านมามันช่วยอะไรตรงนี้เราได้บ้างมั้ย
จริงๆ เวลาผมทำงานส่วนตัว ผมหนีงานซีรีส์นะ เพราะมันค่อนข้างจะเรียกร้องกรอบการทำงานมากๆ ความจริงไดอะล็อกแบบนี้ก็เขียนในซีรีส์ไม่ได้ด้วย มันต้องเป็นโลกเฉพาะ มันก็เลยเป็นการปลดปล่อยตัวเองจากสิ่งเหล่านั้น มีผลมั้ย ผมว่ามันมีผลในการหนีนะ เพราะจริงๆ ซีรีส์มันจะเรียกร้องในเรียลลิสติกของขนบอะไรบางอย่าง จะต้องมีซับเท็กซ์ ซึ่งเข้าใจนะในการเขียนบทบางแบบที่มันตรงๆ หรือล้นๆ แต่ผมก็ไม่รู้สึกอยากทำแบบนั้นในงานตัวเอง เพราะเบื่อ
กลยุทธ์กรุยทางสู่แหล่งทุนต่างประเทศที่รัชฏ์ภูมิตั้งใจทำกับ ‘อนินทรีย์แดง’ อาจสัมฤทธิ์ผลให้เห็นแล้ว เพราะโปรเจ็คต์หนังผีเครื่องดูดฝุ่น ‘ผีใช้ได้ค่ะ’ นั้นได้ทุนจากโลการ์โนมาตั้งต้นโปรเจกต์แล้วเรียบร้อย
อ่านรายละเอียดโปรเจกต์ ‘ผีใช้ได้ค่ะ’ ที่ ‘ผีใช้ได้ค่ะ’ โปรเจกต์หนังผีคว้ารางวัลใหญ่ OPEN DOORS ที่โลการ์โน
‘อนินทรีย์แดง’ ฉายในโปรแกรม ‘กีรติ ศักดินา พญาอนินทรีย์แดง’ โดยฉายควบกับ Forget Me Not ของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ที่ Doc Club & Pub