เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน เป็นหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่สำคัญที่สุดของเอเชีย ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้มาตั้งแต่ปี 1996 โดยเป้าหมายของเทศกาลคือมุ่งแนะนำภาพยนตร์ใหม่ของคนทำหนังหน้าใหม่ที่เพิ่งทำหนังยาวเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะคนทำหนังจากในทวีปเอเชีย ตัวเทศกาลมีทั้งการฉายหนังทั้งจากเกาหลี และนานาชาติ การสนทนากับคนทำหนังหลังหนังจบ การกระจายไปฉายในชุมชนรอบๆ เมืองปูซาน และมีการสร้างชุมชนคนดูหนังผ่าน Community BIFF ที่จะให้ผู้ชมเป็นผู้เลือกหนังที่จะฉายในพื้นที่ต่างๆ รอบเมือง
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูชาน นั้นไม่ได้มีการประกวดสำหรับภาพยนตร์นานาชาติ แต่มีการประกวดภาพยนตร์ในสาย New Currents ที่เป็นการประกวดภาพยนตร์ของคนทำหนังหน้าใหม่ (หนังเรื่องแรกหรือเรื่องที่สอง) ของคนทำหนังชาวเอเชีย โดยหนังทั้งหมดในสายนี้มีข้อแม้ว่าต้องเปิดตัวในเทศกาลนี้เป็นที่แรกของโลก หนังโดยมากอาจจะยังเป็นชื่อใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยแต่ก็น่าจับตามองอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่นหนังที่ว่าด้วยชายหนุ่มที่หมดสติและตื่นขึ้นในบ้านที่ถูกครอบครองโดยหญิงสามคนสามวัยโลกที่เวลาหยุดนิ่งที่เป็นเสมือนสภาวะอุปมาของโลกในยุคโควิดอย่าง House of Time (Rajdeep Paul, Sarmistha Maiti) / หนังที่ว่าด้วยลูกสาวที่ออกตามหาพ่อที่หายตัวไปหลังไปเห็นฆาตกรโรคจิตเข้าและพบว่ามีผู้ชายคนหนึ่งใช้ชื่อพ่อ และทำงานแทนงานของพ่อ ก่อนที่จะพบว่าเจ้านี่คือฆาตกรโรคจิตคนนั้น ใน Missing (Shinzo Katayama)
โปรแกรม Flash Foward ที่เป็นโปรแกรมประกวดของคนทำหนังหน้าใหม่ที่ไม่ใช่คนเอเชีย ซึ่งปีนี้ก็รวมหนังดังจากนานาชาติเอาไว้ ตั้งแต่หนัง Grand Jury Prize คานส์อย่าง Compartment No.6 (Juho Kuosmanen) เรื่องของนักเรียนสาวชาวฟินแลนด์ที่มาเรียนต่อในรัสเซียและต้องเดินทางไปดูรูปเขียนผนังโบราณที่เมืองห่างไกล และต้องแชร์ตู้นอนหมายเลขหกกับหนุ่มคนงานเหมืองขี้เมาชาวรัสเซีย ไปจนถึง Mass (Fran Kranz) หนังจาก Sundance ที่เล่าถึงช่วงเวลาการกล่าวโทษโกรธแค้นและให้อภัยของพ่อแม่สองคู่ คู่หนึ่งคือพ่อแม่ของเหยื่อที่ตายจากการโดนกราดยิง อีกคู่คือพ่อแม่ของฆาตกร
สาย Window of Asian Cinema ที่เป็นโปรแกรมหนังเอเชีย (ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องแรก) แต่หนังบางส่วนที่เปิดตัวในเทศกาลจะได้รับคัดเลือกเข้าชิงรางวัล Kime Jiseok Awards (ตั้งตามชื่อ Kim Jiseok ผู้ร่วมก่อตั้ง และโปรแกรมเมอร์ของเทศกาลที่เสียชีวิตไปในปี 2017) มีทั้งหนังใหม่ของ Brillate Mendoza (Gensan Punch) ผู้กำกับรุ่นใหญ่จากฟิลิปปินส์ ไปจนถึงหนังใหม่ของ Naoko Ogigami (Riverside Mukolitta) คนทำ Close-Knit ที่เคยมาฉายในบ้านเราในเทศกาลหนังญี่ปุ่น
สาย Wide Angle มีการประกวดหนังสั้นสารคดี มีทั้งสารคดีไต้หวันที่ว่าด้วยการสืบคดีหญิงสาวตกสะพานหลังโดนบอกเลิกใน Crossing’s End (Shih Yu-Lun) สารคดีกึ่งแอนิเมชันเกย์อัฟกันลี้ภัยที่กำลังมาแรงสุดๆ อย่าง Flee (Jonas Poher Rasmussen) หรือ I’m So Sorry (Zhao Liang) สารคดีที่พาผู้ชมกลับฟุกุชิม่าโดยสายตาของ Zhao Liang คนทำสารคดีจีนที่เคยมีหนัง Pettiton มาฉายในเทศกาลในกรุงเทพเมื่อหลายปีก่อน
ในส่วนของโปรแกรมหนังใหญ่หนังใหม่อย่าง Icons และ World Cinema ก็ระดมหนังจากคานส์และเวนิซมาอย่างน่าตื่นเต้น ตั้งแต่ Memoria ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือหนังปาล์มทองอย่าง Titane ของ Julia Ducournau หรือหนังใหม่สองเรื่องของ Rysuke Hamaguchi (ที่ Drive My Car หนึ่งในสองเรื่องที่ว่ากำลังจะเข้าฉายในบ้านเราเร็วๆ นี้) และนอกจากนี้ในเทศกาลยังมีโปรแกรมทอล์กพิเศษที่จะเอาคนทำหนังสองชาติที่ไม่มีอะไรเหมือนกัน แต่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่งที่จะได้พบกันนั่นคือตัวของ Hamaguchi กับ Bon Joon-Ho
นอกจากนี้ในเทศกาลยังมีโปรแกรมพิเศษสองโปรแกรมที่โฟกัสไปยังผู้กำกับหญิงชาวเอเชีย ในโปรแกรมพิเศษ Wonder Women’s Movie : the Best Asian Film by Female Directors ซึ่งก็ขนกันมาทั้งหนังที่เคยเข้าฉายในบ้านเราแล้วอย่าง A Simple Life (Ann Hui), Marlina the Murderer in Four Acts (Mouly Surya) ไปจนถึงหนังคลาสสิกสุดๆ อย่าง Blackboards (Samira Makmalbaf) หรือ Salam Bombay (Mira nair) ส่วนอีกโปรแกรมโฟกัสไปยังหนังจีนร่วมสมัยในโปรแกรม New Voice, Chinese Films ที่มีทั้ง Black Coal, Thin Ice (Diao Yinan) Dwelling in the Fuchun Mountain (Gu Xiaogang) หรือ Kaili Blues (Bi Gan)
ไม่ใช่แค่หนัง แต่ดูเหมือนซีรีส์ก็กลายเป็นตลาดใหม่ และรูปแบบของภาพเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง โดยในเทศกาลปีนี้มีการฉายบางส่วนจากซีรีส์ทั้งไทยและเกาหลีที่จะเปิดตัวบนสตรีมมิ่งเจ้าดัง ราวกับว่าตอนนี้เราดูหนังใหญ่ในคอมพิวเตอร์ และได้เวลาดูหนังจอเล็กในโรงใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นตลาดในอนาคตก็เป็นได้
เทศกาลจะเริ่มขึ้นในวันที่ 6-15 ตุลาคมนี้ โดยมีหนังทั้งสิ้นถึง 223 เรื่อง โดยฉายในโรงทั้งหมด แม้เราจะยังออกนอกประเทศไม่ได้ แต่ Film Club ก็ขออาสาแนะนำหนัง 12 เรื่องที่ควรดูในปูซาน แต่ถ้าไม่ได้ดู ก็รอดูได้ในที่อื่นๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ในไม่ช้านี้
1. Heaven: To the Land of Happiness (Im Sang-soo, เกาหลีใต้) : หนังเปิดเทศกาล
หนังเปิดเทศกาลปีนี้เป็นหนังของ Im Sang-soo คนทำหนังที่ผู้ชมชาวไทยรู้จักกันดีจากหนังอย่าง The Housemaid (2010) ฉบับรีเมค และ The Taste of Money (2012) ที่เคยเข้าฉายในบ้านเรา หนังใหม่ของเขานำแสดงโดยซูเปอร์สตาร์อย่าง Choi Min-sik ในบทนักโทษหมายเลยเลข 203 ที่ติดคุกมานานและรอวันพ้นโทษอย่างใจจดจ่อจนพบว่าตัวเองเป็นเนื้องอกในสมองและกำลังจะตายในไม่ช้า ด้วยความไม่อยากตายคาคุกเขาจึงวางแผนแหกคุกออกมาแล้วก็ได้มาพบกับ Namsik (รับบทโดย Park Hae-il) หนุ่มที่กำลังป่วยหนักแต่ไม่มีเงินรักษา อยู่รอดด้วยการขโมยยาจากโรงพยาบาล ทั้งสองคนเข้าไปพัวพันกับการขโมยเงินของแก๊งค์มาเฟียและทำให้ถูกตามล่าจนต้องหนีหัวซุกหัวซุน พล็อตดูเมนสตรีมมากๆ แต่ด้วยบารมีดาราและผู้กำกับ ก็เดาได้ไม่ยากว่าน่าจะเป็นหนังเต็งทำเงินประจำปีอีกเรื่อง
2. Anita (Longman Leung, ฮ่องกง) : หนังปิดเทศกาล
หนังว่าด้วยอัตชีวประวัติของเหมยเยี่ยนฟาง นักร้อง นักแสดงและไอคอนคนสำคัญของวงการบันเทิงในฮ่องกง หนังเปิดฉากด้วยฉากสุดท้ายจากคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของเธอในเดือน พ.ย. 2003 ที่เธอสวมชุดแต่งงานสีขาวและสวมผ้าคลุมยาวเฟื้อยเดินขึ้นบันไดหายลับไปหลังเวที ก่อนที่หนังจะย้อนกลับไปเล่าชีวิตในวัยเด็กของเธอและเล่าชีวิตขอเธอไล่ตามเวลา จากการทำการแสดงในตอนเด็กเพื่อหาเลี้ยงชีพ การเปิดตัวในวงการ ความสำเร็จในฐานะนักร้องและนักแสดงไปจนถึงการเผชิญหน้ากับความตายจากโรคมะเร็ง หนังฉายภาพความเจ็บปวด และโดดเดี่ยวข้างหลังความสำเร็จของเธอ และเล่าความสัมพันธ์ยาวนานยี่สิบปีของเธอกับ เลสลี่จาง เพื่อนแท้ของเธอที่มาด่วนเสียชีวิตไปก่อน แม้วงการหนังฮ่องกงจะเปลี่ยนแปลงไปและคนรุ่นใหม่อาจจะไม่คุ้นกับชื่อของเหมยเยี่ยนฟางอีกแล้ว แต่นี่อาจจะเป็นหนังที่เก็บบันทึกประวัติศาสตร์ของฮ่องกง ในช่วงเวลาแห่งยุคทองของวงการบันเทิงที่ประทับลงในใจผู้คนทั่วเอเชีย หนังกำกับโดย Longman Leung ผู้กำกับหนังสุดมันส์อย่าง Cold War
3. Anatomy of Time (จักรวาล นิลธำรงค์, ไทย) : โปรแกรม A Window of Asian Cinema
หนังไทยหนึ่งในสองเรื่องที่ได้ไปเทศกาลปูซานปีนี้หลังจากเปิดตัวที่ Venice งานของจักรวาล นิลธำรงค์ที่ก่อนหน้านี้เคยทำหนังอย่าง Vanishing Point ที่ได้ไปรอตเตอร์ดามมาแล้ว หนังใหม่เรื่องนี้ของเขาว่าด้วยเรื่องสองช่วงวัยของผู้หญิงคนหนึ่งที่ในวัยสาวเคยมีผู้ชายสองคนมาชอบพอ แต่เธอเลือกแต่งงานกับชายผู้เป็นนายทหารอันเลือดเย็นและทะเยอทะยาน ขณะที่ชีวิตของเธอหลายสิบปีต่อมามีหน้าที่ในการดูแลนายทหาร ที่ตอนนี้กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง หากเธอก็ยังคอยปกป้องเขาอย่างเงียบๆ หนังตัดข้ามทั้งเรื่องส่วนตัวและประวัติศาสตร์ไทยสมัยสงครามเย็น มันเป็นหนังที่ว่าด้วยความเจ็บปวด และรูปทรงของเวลา (หนังน่าจะฉายในไทยเร็วๆ นี้)
4. The Tsugua Diaries (Maureen Fazendeiro, Miguel Gomes, โปรตุเกส) : โปรแกรม Icons
ภาพยนตร์สุดมหัศจรรย์ที่เต็มไปด้วยฉากอันสามัญ ส่วนตัวและเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน คำว่า Tsuga คือการกลับหน้ากลับหลังของคำว่า August ชื่อเรื่องจริงๆ ของมันจึงคือ The August Diaries (บันทึกเดือนสิงหาคม) หนังเกิดขึ้นในช่วงเวลา 21 วัน แต่จะเล่าแบบถอยหลัง! หนังถ่ายในโปรตุเกสในเดือนสิงหาคมปี 2020 ช่วงเวลาที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ทุกๆ ฉากกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของหนังโดยธรรมชาติ เล่าเรื่องถอยหลังผ่านเวลาตั้งแต่ทีมงานตรวจเชื้อแบบ PCR นักแสดงซ้อมการแสดงแลกเปลี่ยนบทบาทกัน ผลไม้ที่เน่าแล้วกลับมาสดใหม่ หนังกำกับโดย Maureen Fazendeiro และร่วมกำกับโดย Miguel Gomes ผู้กำกับ Arabian Nights และ Tabu อันโด่งดัง ทั้งคู่จับจ้องมองบ้าน สวน และทีมงานของพวกเขาที่โดนกักตัวไว้ ราวกับว่ามันเป็นดินแดนลึกลับที่แสนสงบ เป็นช่วงเวลาของแสงที่สาดจับการเต้นของนักแสดง ธรรมชาติที่อยู่เคียงกันกับภาพยนตร์ ที่มีขนาดเล็กจ้อย เปราะบาง ท่ามกลางหายนะของโลกนี้
5. Yanagawa (Zhang Lu, เกาหลีใต้) : โปรแกรม Icons
งานใหม่ของ Zhang Lu ผู้กำกับเกาหลีเชื้อสายจีน ที่ทำหนังอิสระมายาวนาน หนังของ Zhang Lu อาจหาดูยากกว่าหนังของผู้กำกับเกาหลีใต้คนอื่นๆ และหนังของเขาสามารถอธิบายแบบตีขลุมว่าคือหนังแบบ Hong Sang Soo ที่เศร้ากว่า และมีประเด็นทางสังคมมากว่า และมักพูดถึงความสัมพันธ์ข้ามชาติของ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้เขาทำ Gyeongju (2014) ที่เป็นชื่อเมืองเล็กๆ ในเกาหลี ตามด้วย Fukuoka (2019) ที่เป็นเมืองในญี่ปุ่น และนี่เป็นหนังเมืองเรื่องที่สามของเขา แม้จะเป็นชื่อเมืองญี่ปุ่นแต่หนังเป็นหนังจีนเต็มตัวว่าด้วย อาจารย์มหาวิทยาลัยวัยกลางคนในปักกิ่งที่เอ่ยปากขอบุหรี่จากคนแปลกหน้าแล้วพูดว่า ‘ผลวินิจฉัยออกมาแล้ว ผมเป็นมะเร็ง ระยะที่สี่’ จากนั้นเขาไปหาพี่ชายและวางแผนเดินทางไปยานากาวะ ซึ่งเป็นเมืองที่เป็นบ้านเกิดของ Yoko Ono และยังเป็นที่ที่คนรักเก่าของพี่ชายอาศัยอยู่ ตอนนี้เธอทำงานเป็นนักร้องในบาร์ และชอบร้องเพลง “Oh My Love” ของ John Lennon
6. The Falls (Chung Mong-Hong, ไต้หวัน) : โปรแกรม A Window of Asian Cinema
หนังว่าด้วยแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อาศัยอยู่กับลูกสาววัยรุ่น จู่ๆ แม่โดนหั่นเงินเดือนจากผลประกอบการของบริษัทที่ย่ำแย่ วันเดียวกันเธอได้รับโทรศัพท์จากลูกสาวตอนกำลังประชุม ว่ามีเพื่อนร่วมชั้นติดโควิด เธอจึงต้องกักตัวอยู่ในบ้าน แม่เองก็ต้องอยู่บ้านด้วยตามคำขอของบริษัทและนั่นทำให้ความสัมพันธ์แม่ลูกเลวร้ายลง ยิ่งเมื่อตัวลูกสาวเริ่มต่อต้านแม่มากขึ้น และเริ่มมีพฤติกรรมประหลาด ทำให้เธอต้องขอความช่วยเหลือจากสามีเก่า หนังพูดถึงวิกฤติทางความสัมพันธ์และจิตใจของผู้คนที่ย่ำแย่จากสถาณการณ์โควิดอย่างน่าตื่นเต้น รับประกันความทรงพลังโดยฝีมือของ Chung Mong-Hong ผู้กำกับหนังเรื่อง A Sun ที่ลือลั่นใน Netflix
7. White Building (Kavich Neang, กัมพูชา) : โปรแกรม A Window of Asian Cinema
หลังจากสองสามปีก่อน Last Night I Saw You Smiling สารคดีของ Kavich Neang ที่ว่าด้วยการบันทึกช่วงเวลาสุดท้ายก่อถูกรื้อของตึกขาวที่เขาอาศัยอยู่มาแต่เด็ก เข้าฉายในบ้านเราอย่างเงียบๆ ตอนนี้เขาพัฒนามันขึ้นมาเป็นหนังยาวแล้ว หนังโฟกัสช่วงเวลาการย้ายออกของผู้คนในตึกขาวทีละครัวสองครัว ท่ามกลางความตึงเครียดของชุมชนชาวแฟลตที่ยังมองไม่เห็นอนาคต หนังติดตามเด็กหนุ่ม Samnang และพ่อของเขา Samnang อยากเป็นนักเต้น hip-hop แต่เขาต้องเผชิญหน้ากว่าความจริงง่ายๆ ว่ามันแทบเป็นไปไม่ได้ ในขณะที่พ่อของเขาเป็นตัวแทนของชุมชนในการต่อรองกับเจ้าหน้าที่เรื่องที่อยู่ใหม่และการย้ายออก ซึ่งก็เป็นไปอย่างสิ้นหวัง หนังเพิ่งได้รางวัลนักแสดงจากเทศกาลเวนิซและมีคิวเข้าฉายในเมืองไทยเร็วๆ นี้
8. Taste of Wild Tomato (LAU Kek-Huat, ไต้หวัน) : โปรแกรม Wide Angle
สารคดีใหม่ล่าสุดจาก Lau Kek-Huat เจ้าของสารคดีสุดทรงพลังที่เริ่มจากการสำรวจเรื่องพ่อ ขยายออกไปสู่เรื่องเรื่องของเหล่าคอมมิวนิสต์มาลายาในมาเลเซีย ใน Absent Without Leave และสารคดีว่าด้วยโอรังอัสลี ที่เชื่อมโยงเข้ากับเหตุการณ์สังหารหมู่คนจีนในยุค 60’s ของมาเลเซียอย่าง The Tree Remembers หนังเรื่องใหม่ของเขาได้รับทุนสนับสนุนจากหอภาพยนตร์เมืองเกาสง ที่ให้โอกาสเขาเข้าไปค้นประวัติศาสตร์บาดแผลของเมืองและของไต้หวันในเหตุการณ์สังหารหมู่คนไต้หวันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1947 หลังจากคนในเมืองเกาสงรวมตัวกันต่อต้นการปกครองกดขี่ของก๊กมินตั๋งที่ย้ายมาตั้งรกราก หลังญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกและไปจากไต้หวันหลังปกครองห้าสิบปี และก๊กมินตั๋งแพ้งสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์แล้วลงเรือมาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่นี่ เขาสัมภาษณ์บรรดาผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ลูกหลานของบรรดาเหยื่อในเหตุการณ์ครั้งนั้น และจ้องมองซากหลงเลือของป้อมค่ายในอดีตที่กลืนกันอยู่ในชุมชนราวกับประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตใหม่ หนังน่าจะเข้าฉายในเทศกาลในไทยเร็วๆ นี้เช่นเดียวกับหนังเรื่องก่อนของเขา
9. Vengeance Is Mine, All Others Pay Cash (Edwin, อินโดนีเซีย) : โปรแกรม Window of Asian Cinema
หนังว่าด้วย Ajo นักเลงหนุ่มไม่กลัวความตาย ที่มีความลับบางอย่างที่เขาไม่อยากบอกใคร นั่นคือเขาเป็นโรคกามตายด้าน อาการของโรคกลายเป็นขุมกำลังของความความคลั่งแค้นที่ปะทุแตกออกมาเป็นความรุนแรงที่สาดใส่ทุกคนรอบตัว วันหนึ่งเขาเจอ Iteung หญิงแกร่งที่เป็นศัตรูของเขาในเรื่องงาน เขาตกหลุมรักเธอ เธอเองก็พบว่าเขามีเสน่ห์ ที่สุดทั้งคู่จะแต่งงานกัน แต่ปัญหาในอดีตของพวกเขายังคงตามหลอกหลอน หนังสร้างจากนิยายชื่อเดียวกันของ Eka Kurniawan ที่นักอ่านชาวไทยรู้จักกันดีจากนิยาย สมิงสำแดง และกำกับโดย Edwin คนทำหนังอินโดนีเซียที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่งในแวดวงหนังอิสระ และหนังหลายเรื่องของเขาก็เคยฉายในไทย ล่าสุดหนัง ได้รับรางวัล Golden Leopard จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลการ์โน
10. Forbidden (อนุขา บุญยวรรธนะ, Josh Kim, ไทย) : โปรแกรม On Screen
นุ่นเกิดในหมู่บ้านกลางป่าห่างไกลที่เคยเป็นที่อยู่ของพวกคนป่วยไข้ มีศพกระจายเกลื่อน แต่ตอนนี้เธอจากที่นั่นมา และกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จในกรุงเทพ จู่ๆ เธอทราบข่าวว่าพ่อตาย เธอจึงกลับบ้านเป็นครั้งแรกหลังจากไปสิบปี โดยกลับไปพร้อมกับแฟนหนุ่มและเพื่อนอีกสองคน ในบ้านป่าเมืองเถื่อนนี้ ยังไม่ทันที่เธอจะได้เสียใจกับเรื่องของพอ ก็มีสิ่งที่น่าสยดสยองแปลกประหลาดเกิดขึ้นรอบตัวเธอ เมื่อความลับถูกเปิดเผย และทุกอย่างจะพลิกผันไปอย่างเหลือเชื่อ
Forbidden เป็นซีรีส์ยาวแปดตอนที่จะออกฉายใน HBO Asia (จะมา HBO GO ด้วยหรือไม่โปรดติดตาม) ผลงานร่วมกำกับของ อนุชา บุญยวรรธนะ แห่งมะลิลาและอนธการ และ Josh Kim คนทำหนังเรื่อง พี่ชาย มาย My Hero โดยเทศกาลจะฉายสามตอนจากแปดตอนขึ้นจอใหญ่
11. Hellbound (Yeon Sang-ho, เกาหลีใต้) : โปรแกรม On Screen
ซีรีส์ Netflix ยาวหกตอนล่าสุดของ Yeon Sang-ho ผู้กำกับ Train to Busan ที่ได้ยูอาอินจาก Burning มารับบทนำ ว่าด้วยเรื่องของคนที่ได้รับข้อความความว่า ‘เจ้าตายแล้ว และจักต้องลงนรก’ ซึ่งก็จะถูกพาตัวลงนรกโดยยมทูตตามเวลาที่นัดหมาย และนัดหมายครั้งนี้เกิดในโซล ต่อหน้าต่อตาคนจำนวนมาก จินซู ผู้นำลัทธิใหม่ New Truth Society ที่กำลังมาแรง เทศนาว่านี่คือการประหารชีวิตของพระเจ้าในโลกแห่งความเป็นจริง ในทางกลับกัน ก็มีบางคนพยายามค้นหาความจริงของคดีนี้ด้วยการต่อกรกับ New Truth Society Hellbound อิงจากเว็บตูนยอดนิยมของ Choi Kyuseok และเทศกาลจะฉายสามจากหกตอนของซีรีส์นี้
12. My Name (Kim Jin-min, เกาหลีใต้) : โปรแกรม On Screen
ซีรีส์ Netflix (อีกแล้ว) แปดตอนใหม่ล่าสุดของผู้กำกับซีรีส์ Extracurricular ว่าด้วยหญิงสาวที่เล่นโดย Han Sohee แทรกซึมเข้าไปในตำรวจภายใต้ชื่อใหม่เพื่อเปิดเผยความลับของการเสียชีวิตของพ่อของเธอ ซีรีส์นี้เป็นแอ็กชันนัวร์ที่ทรงพลังและน่าหลงใหล โดยเทศกาลจะฉายสามจากแปดตอนของซีรีส์นี้