Home Article Behind the Scene On the Job หนังเวนิซ (เอ๊ะ หรือซีรีส์?) ที่เฆี่ยนด้วยความโกรธของคนฟิลิปปินส์

On the Job หนังเวนิซ (เอ๊ะ หรือซีรีส์?) ที่เฆี่ยนด้วยความโกรธของคนฟิลิปปินส์

On the Job หนังเวนิซ (เอ๊ะ หรือซีรีส์?) ที่เฆี่ยนด้วยความโกรธของคนฟิลิปปินส์

ณ เทศกาลหนังเวนิซ ครั้งที่ 78 มีหนังหนึ่งเรื่องที่ท้าทายคำจำกัดความของ ‘หนัง’ และ ‘ซีรีส์’ อย่างมาก นั่นคือ On the Job: The Missing 8 มันเป็นหนังที่ยาวถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง และยังเป็นหนังระทึกขวัญที่เปิดโปงวงจรทุจริตอันพัวพันกับระบบการปกครองของฟิลิปปินส์ด้วย จนมีคนกล่าวว่านี่เป็นหนังที่เกรี้ยวกราดที่สุดของผู้กำกับ เอริก แม็ตติ ซึ่งแน่นอน…เขายอมรับ เพราะมันสร้างมาจากความโกรธที่ฝังลึกอยู่ในคนฟิลิปปินส์ทุกคน

เหตุที่ On the Job: The Missing 8 ท้าทายคำนิยามความเป็นหนังกับซีรีส์ เพราะด้วยความยาว (มาก) ของมัน ทำให้แม็ตติมีไอเดียที่จะประนีประนอมผู้ชมด้วยการแบ่งออกเป็นสองภาค แต่หนังเสร็จพร้อมฉายโควิดก็ระบาดหนัก ทำให้โรงหนังฟิลิปปินส์ไม่สามารถเปิดได้เต็มที่ สุดท้ายเขาตัดสินใจขายสิทธิให้ HBO Asia พ่วงไปกับ On the Job ภาคแรกซึ่งฉายเมื่อปี 2013 แล้วแบ่งเป็น 6 ตอน โดยตอน 1-2 ก็คือหนังภาคแรก ตอน 3-6 ก็คือ The Missing 8 นั่นเอง เพราะฉะนั้นการที่หนังคว้ารางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมของ จอห์น อาร์คิลล่า มาจากเวนิซ ก็อาจหมายความว่ามันเป็นซีรีส์เรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้ารางวัลจากเวนิซด้วยการฉายในรูปแบบหนัง

On the Job ปี 2013 ว่าด้วยขบวนการอาชญากรรมที่เล่าผ่านนักโทษเพิ่งออกจากคุกเพื่อมาเป็นนักฆ่า กับตำรวจชั้นผู้น้อยที่ทำงานให้มาเฟียในคราบนักการเมือง โดยมีฉากหลังเป็นมะนิลา หนังฉายเปิดตัวที่ Directors’ Fortnight เมืองคานส์ และได้รับสแตนดิงโอเวชั่นกึกก้องยาวนาน ส่วน On the Job: The Missing 8 ฉากหลังอยู่ที่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่คราวนี้เขาเปลี่ยนมาเล่าเรื่องวงการสื่อที่อยู่ภายใต้อำนาจของการปกครองส่วนท้องถิ่น แน่นอนว่ามันโยงไปถึงภาพใหญ่ของการเมืองในฟิลิปปินส์ เมื่อหนังฉายรอบแรกจบที่เวนิซ มันก็ได้รับสแตนดิงโอเวชั่นนานถึง 5 นาที

คำชมส่วนใหญ่ที่มีต่อ On the Job ทั้งสองภาคคือการที่หนังเน้นไปยังกระบวนการทำงานในวงจรความฉ้อฉลทั้งปวง ซึ่งแม้ทั้งสองภาคจะไม่ได้เล่าเรื่องต่อเนื่องกันโดยตรง แต่มันก็มีสายใยบางๆ นี้เชื่อมหากันไว้ ดังนั้นแม็ตติกับคนเขียนบทร่วม มิชิโกะ ยามาโมโตะ (ซึ่งเป็นภรรยาเขาด้วย) จึงให้เวลากับการรีเสิร์ชค่อนข้างมาก เพื่อล้วงข้อมูลมืดเหล่านั้นออกมาให้มากที่สุด

แม็ตติเล่าว่า “เราแบ่งการทำงานในช่วงเขียนบทออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกคือการตะลุยสัมภาษณ์สื่อมวลชน ส่วนที่สองคือการรีเสิร์ชแบบออนไลน์ และส่วนที่สามคือการลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลซึ่งไม่ปรากฏในออนไลน์ แต่เราทุกคนรู้ว่ามันมีอยู่จริง เราต้องจ้างนักค้นคว้ามาช่วยนำทางเราไปสู่ชุดข้อมูลนั้นโดยเราบรีฟไปว่าต้องการอะไรบ้างในหนังของเรา

“บทร่างแรกๆ ของเรามันแทบจะเป็นงานวิทยานิพนธ์วงการสื่อเพราะเราอยากจะใส่ชุดข้อมูลทั้งหมดลงไปเพื่อสะท้อนความเลวร้ายภายในนั้น แต่มันเป็นเรื่องใหญ่เกินไป เลยต้องลดทอนสายตาที่วิพากษ์วิจารณ์ระดับชาติลงแล้วโฟกัสที่สื่อท้องถิ่น ซึ่งมันสปาร์คกับผมมากกว่าสื่อระดับประเทศ เมืองเล็กๆ อย่าง ลาปาซ (ฉากหลังของหนัง) แน่นอนว่าสื่อท้องถิ่นย่อมไม่ใช่บิ๊กเนม เขาจึงต้องพึ่งพาบารมีนักการเมืองท้องถิ่น การมีอยู่ของสื่อเหล่านี้ก็เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ผู้มีอำนาจ หลายครั้งพวกเขาลืมไปแล้วว่าหน้าที่สื่อมวลชนคืออะไร กว่าจะรู้ตัวอีกทีเขาก็ได้ละทิ้งจรรยาบรรณไปหมดสิ้นเหลือเพียงสถานะของการเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น”

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นมีการบริหารอำนาจอย่างดุเดือด ซึ่งรูปแบบการบริหารแบบนี้คือส่วนสำคัญที่เอื้อให้การฉ้อฉลไม่มีวันตาย “ผมเป็นเหมือนอีกหลายคนในฟิลิปปินส์ที่มาจากเมืองเล็กๆ และเดินทางมาแสวงหาอนาคตในเมืองใหญ่” แม็ตติเล่า “ลาปาซเป็นเมืองเล็กๆ ที่พยายามโชว์ว่าเป็นเมืองที่สะอาดที่สุด แต่ภายใต้ภาพความสวยงามเหล่านั้นมันมีแต่ความเน่าหนอนที่รอการค้นพบ มีทั้งการทุจริต อาชญากรรม อีกทั้งผู้คนก็พยายามรักษาวงจรอุบาทว์เหล่านี้ไว้ นั่นหมายความว่าเมื่อใดก็ตามที่ประชากรในเมืองเล็กๆ เหล่านั้นเดินทางออกมา ปัญหามันก็จะยังดำเนินต่อไป”

นี่เองที่เป็นการสะท้อนความโกรธเกรี้ยวที่เขามีต่อระบบโครงสร้างของประเทศ ซึ่งผู้คนต่างก็รับรู้การมีอยู่ของมันแต่ทำอะไรไม่ได้ “มีฉากหนึ่งในหนังได้พูดถึงรากเหง้าของปัญหาทั้งหมด มันเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นต่อเนื่องไม่มีวันตาย ไม่มีใครรับผิดชอบ ทุกคนได้รับการให้อภัย และมีผู้คนถูกลืมจากความอยุติธรรม ถ้าให้ย้อนกลับไปและมันถูกเล่าในหนังด้วยคือระบบเหล่านี้มันเกิดขึ้นตั้งแต่ยุค เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส* และทุกคนต่างรับรู้ว่ามันเป็นแบบนั้นจริง แต่สิ่งที่ทำให้ระบบมันไม่ตายก็เพราะเราเป็นประเทศเล็กๆ ทุกคนต่างรู้จักกัน รู้ไส้เห็นพุงกันและกัน

“แม้แต่นักโทษก็รู้จักตำรวจ ถ้าคุณเป็นตำรวจก็จะรู้จักดาราหรือสื่อมวลชนท้องถิ่น เพราะฉะนั้นมันจึงไม่เคยมีใครในระดับบนต้องรับโทษเพราะมันมีการอุปถัมภ์ซึ่งกันและกันตลอดเวลา เคยมีคนถามว่าหนังชุด On the Job มันจะจบยังไง? (ขณะนี้แม็ตติกำลังเตรียมงานของภาคสามอยู่) ผมไม่เคยคิดจะทำภาคต่อนะ ผมมองมันเป็นหนังแสตนด์อโลนที่มีธีมเรื่องการทุจริต ซึ่งตราบใดที่เรื่องเหล่านี้ยังอยู่มันก็ไม่มีวันจบ ตัวละครในหนังของผมจึงต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางศีลธรรมเสมอ

“ถ้าให้ผมมองย้อนไปว่าระบบทุจริตที่แท้จริงเริ่มขึ้นตอนไหน ผมมองว่ามันมาจากยุคอาณานิคม เริ่มจากสเปน เปลี่ยนมือเป็นญี่ปุ่น และอเมริกาตามลำดับ เราเรียนรู้ที่จะรับใช้ ‘กษัตริย์’ เหล่านี้ที่มายึดครอง แน่นอนว่าการทุจริตมันก็เริ่มขึ้น คุณต้องการโอกาสดีๆ ให้กับครอบครัวหรือไม่? และมันก็ดำเนินต่อมาเรื่อยๆ กว่าจะรู้ตัวคุณก็ติดอยู่ในวงจรการทุจริตเหล่านี้ไปแล้ว”


* ดูเส้นทางการทุจริตในยุค เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ได้ใน The Kingmaker
* ดูซีรีส์ On the Job ได้ทาง HBO Go

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here