Home Review Series Review The White Lotus เราเที่ยวด้วยกัน?

The White Lotus เราเที่ยวด้วยกัน?

The White Lotus เราเที่ยวด้วยกัน?

นับตั้งแต่มีการ “เปิดประเทศ” เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน หน้าฟีดของผมก็เต็มไปด้วยภาพสถานที่ท่องเที่ยวไม่เคยว่างเว้น ทั้งทริปสั้นและทริปยาวไม่ซ้ำสถานที่ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ด้วยเหตุที่ว่าผู้คนต่างอัดอั้นจากภาวะปิดบ้านล้อมเมืองกักกันโรคระบาด และบ้านเมืองเราอุดมไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวสารพัดรูปแบบที่กำลังรอเม็ดเงินสำหรับการเยียวยาความเสียหาย ตัวเลขรายได้จากภาคการท่องเที่ยวปี 2562 ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (ขณะที่ภาคเกษตรกรรมคิดเป็น 8%) และ 1 ใน 3 ของมาจากการจับจ่ายของคนในประเทศเอง เป็นหลักฐานชั้นดีว่าภาคการท่องเที่ยว หวังพึ่ง “เรา” ให้มาเที่ยวกันเองมากแค่ไหน ในวันที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงขยาดการออกท่องเที่ยวนอกประเทศ

ส่วนผมยังไม่ได้ออกไปเที่ยวที่ไหนเลย เพราะต้องตักตวงทรัพยากรไว้ใช้ในยามที่ยังทำงานได้สะดวก สะสางธุระที่ต้องเลื่อนมาตั้งแต่คราวปิดเมืองครั้งล่าสุด ด้วยความระแวงระวังว่าอาจจะมีการปิดเมืองอีกครั้งเมื่อไรก็ไม่อาจทราบ แม้จะคิดถึงภูเขา ทะเล และวาระโอกาสแห่งการสำมะเลเทเมาเพียงใด แต่ เรา ที่จะได้ เที่ยวด้วยกัน คงยังไม่นับรวมตัวผมเข้าไปด้วยในเร็วๆ นี้แน่นอน เมื่อคิดได้เช่นนี้ ผมก็เริ่มสงสัยว่า เรา ที่ว่านั้น ประกอบไปด้วยใครบ้างในสังคมนี้

มันคงไม่ใช่คำถามที่น่าสนใจสำหรับ เชน ชายฐานะดีที่นั่งหน้าบูดอยู่ที่สนามบินฮอนโนลูลู จากบทสนทนาเรื่อยเปื่อยกับคู่นักท่องเที่ยวฝั่งตรงข้าม ทำให้เราพอจะรู้ได้ว่าเชนมาฮันนีมูนกับภรรยา ทว่าน่าเสียดาย ทริปแห่งความทรงจำครั้งนี้นอกจากจะไม่ราบรื่นแล้วยังอาจจะเป็นฝันสยองทุกครั้งที่เขานึกถึง เขายิ่งดูบึ้งตึงยิ่งกว่าเดิมเมื่อต้องเฉลยกับอีกฝั่งว่าเขาและภรรยาเข้าพักที่ ไวท์โลตัส รีสอร์ตที่เพิ่งมีข่าวคนฆ่ากันตายเมื่อเร็วๆ นี้ และศพจะถูกขนส่งไปทางเครื่องบินลำที่พวกเขากำลังจะโดยสารกลับบ้าน

“เกิดอะไรขึ้น คุณพอรู้บ้างไหม” คำถามนี้ไม่มีคำตอบ เพราะเชนจบบทสนทนาด้วยการบอกให้อีกฝ่าย “เลิกเสือก” และปล่อยให้เขาได้อยู่เงียบๆ เสียเถิด

นี่คือฉากเปิดเรื่องของ The White Lotus ซีรีส์ความยาว 6 ตอนจบ ผลงานล่าสุดของไมค์ ไวท์ (Mike White) นักเขียนบทชาวอเมริกันผู้เขียนบท School of Rock, Nacho Libre ครั้งนี้เขาควบตำแหน่งโปรดิวเซอร์ กำกับ และเขียนบทด้วยตัวเองเช่นเดียวกับผลงานก่อนหน้าอย่าง Enlightened 

The White Lotus คือเรื่องราวของหายนะทางจิตที่เกิดขึ้นในรีสอร์ตบนหมู่เกาะฮาวายชื่อเดียวกันกับชื่อเรื่อง เป็นความอลหม่านที่ประกอบไปด้วย เชนและเรเชล ชายที่เกิดบนกองเงินกองทองและสาวมั่นยอดนักสู้ที่เพิ่งแต่งงานกัน นิโคลและมาร์ค หัวหน้าครอบครัวผู้มีอันจะกินที่พาลูกวันรุ่นวัยต่อต้านมาเที่ยวด้วย โอลิเวีย สาวรุ่นที่ลากเพื่อนซี้ พอลล่า มาเที่ยวกับทริปครอบครัว ควินน์ เด็กหนุ่มติดเกมติดจอที่ไม่ตื่นเต้นกับการออกมาเที่ยวนอกบ้านสักเท่าไร ทันยา หญิงทึนทึกแหลกสลายผู้หวังจะให้การท่องเที่ยวเยียวยาจิตใจ อาร์มอนด์ ผู้จัดการรีสอร์ตที่รับมือกับทุกความประสาทเสียด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม และ เบลินดา หัวหน้าแผนกสปาผู้ฝันใฝ่จะหนีไปจากนรกสุดหรูที่เอารัดเอาเปรียบเธอมาอย่างเนิ่นนาน 

และแน่นอน ตัวละครสำคัญของเรื่องนี้คือฮาวาย รัฐลำดับที่ 50 ของสหรัฐอเมริกา ดินแดนอาณานิคมที่ชาวท้องถิ่นถูกขับออกจากหาด ก่อนที่คนขาวจะยึดมาสร้างรีสอร์ตหย่อนใจ เปลี่ยนวิถีชีวิตท้องถิ่นให้หันเขาสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดัดแปลงศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านให้กลายเป็นโชว์สุดตื่นตา

เดิมทีการท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่สงวนไว้สำหรับอภิสิทธิ์ชน คนระดับเจ้านายเท่านั้นจึงจะมีสิทธิได้เที่ยว จนการมาถึงของเทคโนโลยีที่ทำให้ชั่วโมงทำงานของมนุษย์ลดลง และค่าใช้จ่ายในการคมนาคมถูกลง การเดินทางท่องเที่ยวจึงเป็นที่นิยมในหมู่สามัญชน ประโยชน์ทางตรงของการท่องเที่ยวมีทั้งกระตุ้นการจับจ่าย เพิ่มงานในแหล่งท่องเที่ยว ทำให้แรงงานผ่อนคลายเพื่อฟื้นกำลังในการผลิตต่อไป การท่องเที่ยวยังมีคุณสมบัติอีกประการที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง นั่นคือการที่มันอนุญาตให้นักท่องเที่ยว ยกฐานะตัวเองขึ้นมาเป็นเจ้านายชั่วคราว ด้วยค่าใช้จ่ายที่พอรับไหว เราอาจพูดหยาบๆ ได้ว่าการท่องเที่ยว อนุญาตให้เรา เล่นเป็นเจ้า ในช่วงเวลาครู่หนึ่ง ตราบเท่าที่จ่ายไหวและไม่อินจนถูกล้มล้างอำนาจ (ทั้งด้วยกฎหมายและด้วยการเอาไปแหกในสังคมออนไลน์) เอาได้

บรรดาแขกของไวท์โลตัสได้รับสถานะเป็น “เจ้านาย” ตั้งแต่เท้ายังไม่เหยียบพื้นเกาะ ภาพพนักงานที่ถูกเกณฑ์มาโบกมือต้อนรับด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ชวนให้นึกถึงสถานะของเจ้านายในแบบที่เหนือยิ่งไปกว่าเจ้านายที่เป็นลูกค้า เป็นเจ้านายในแบบเจ้าอาณานิคม ส่วนผู้จัดการและหัวหน้าแผนกอื่นก็รับบทบาทตัวแทนของแผ่นดินแม่ คอยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว ไม่ให้พวกเขาจำต้องเปลืองแรงติดต่อกับไพร่ฟ้าชาวพื้นเมืองโดยตรง สิ่งเดียวที่ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวต่างไปจากการเยือนอาณานิคมต่างถิ่นคือ ทุนนิยม ลูกค้ามีอำนาจเยี่ยงเจ้าได้ตราบใดที่ยังจ่ายเงิน ยิ่งจ่ายมากก็ยิ่งมีอำนาจมาก ส่วนผู้ให้บริการก็ยินยอมมอบการรับใช้เพื่อเงิน ยิ่งที่พักหรูหราเท่าไร ลูกค้ายิ่งจ่ายเยอะแค่ไหน พวกเขายิ่งต้องเล่นบทบ่าวรองรับความจุกจิกของเจ้านายมากเท่านั้น 

ในระดับผิวเผิน รายได้จากการเล่นบทสมมติ เจ้านายกับบ่าว ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวดูสมเหตุผลสมผล ทว่าระดับผิวเผินที่ว่านี้คือการที่เราแกล้งทำเป็นลืมไปในธุรกิจการท่องเที่ยวมีแต่นักท่องเที่ยวกับผู้ให้บริการ ไม่มีคนพื้นถิ่นที่เคยอยู่ตรงนั้นมาก่อน ไม่มีชุมชนที่ถูกเบียดออกไปเพราะค่าครองชีพสูงขึ้น ไม่มีทุนใหญ่ (ซึ่งก็เป็นคนจากเมืองเดียวกันกับเจ้านายสมมตินั่นแหละ) มากว้านซื้อที่ดินเพื่อดำเนินธุรกิจ การดำรงอยู่ของตัวละครโอลิเวียและพอลล่า (ซิดนีย์ สวีนีย์ และบริททานี โอ เกรดี้) เด็กสาวที่หากใช้คำร่วมสมัยหน่อยก็คงจะต้องเรียกว่าเป็นพวก Woke หรือพวกตาสว่าง นับเป็นการเสียดเย้ยต่อความจริงข้อนี้อย่างร้ายกาจ พวกเธอเป็นพวกเดียวในเรื่องที่กล้าพูดถึงอภิสิทธิ์ของคนขาว ประณามคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ว่าสนับสนุนการเบียดเบียนคนท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็ไม่ลังเลที่จะแสดงอำนาจ ฉวยเอาประโยชน์จากทุกโอกาส โอลิเวียทำถึงขั้นไล่น้องไปนอนนอกห้องเพื่อเล่นยากับเพื่อนด้วยซ้ำ แม่ของเธอถึงกับต้องออกปากว่า “ลูกเห็นใจคนอื่นได้ทุกคน แต่ทำไมกับคนในครอบครัวถึงได้ใจดำขนาดนี้” เพื่อเป็นการกระทุ้งให้เห็นว่า แท้จริงแล้วปัญหาที่พวกวัยรุ่นตาสว่างมองเห็น อาจไม่ได้แก้กันง่ายๆ ด้วยการฉอดคนไปเรื่อยอย่างที่พวกเธอทำ 

ชื่อของ The White Lotus อิงมาจากกวี The Lotos-Eaters ของอัลเฟรด เทนนีสัน ว่าด้วยกลุ่มกะลาสีที่กินบัวเป็นอาหารและเข้าสู่ภาวะมึนเมาตัดขาดตัวเองออกจากโลกภายนอก ตัวกวีอิงมาจากส่วนหนึ่งของมหากาพย์โอดิสซีอีกทีหนึ่ง ความหมายโดยนัยของซีรีส์เรื่องนี้จึงอาจตีความได้ว่าเป็น “สิ่งที่ทำให้คนขาวมัวเมา” มันไม่ใช่สารออกฤทธิ์ตามธรรมชาติ หากแต่เป็นความรู้สึกถึงลำดับชั้นทางอำนาจของพวกเขาที่มีต่อสิ่งต่างๆ ที่เด่นชัดขึ้นมาตลอดเวลาหนึ่งสัปดาห์บนเกาะ 

ไวท์เคยให้สัมภาษณ์กับ Entertainment Weekly ไว้ว่า สารตั้งต้นของไอเดียนี้มาจากการที่เขาเติบโตมาในชุมชนของผู้มีอันจะกิน (แม่ของเขาเป็นนักจัดกิจกรรมระดมทุน ส่วนพ่อเป็นนักเขียนสุนทรพจน์) ทำให้เขาพอจะเห็นความซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่างคนรวยกับคนรวยกว่า แม้เราจะมองเห็นว่าคนพวกนี้เป็นมิตรต่อกัน แต่ลึกลงไปใต้หน้ากากแห่งความทัดเทียม มันคือสายสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งชัง คนที่รวยกว่ามักหาโอกาสในการแสดงอำนาจ ส่วนคนที่มีเงินน้อยกว่าก็หาทางใช้ประโยชน์จากการแสดงอำนาจนั้น ความสัมพันธ์เช่นนี้เองทำให้พวกเขาผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น แต่ขณะเดียวกันก็บ่มเพาะความแค้นเคืองต่อกันเอาไว้ด้วย การ “เที่ยวด้วยกัน” ของพวกเขาดูจะเป็นวาระที่ขับความรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียดนี้ออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดที่สุด ดังที่เราจะได้เห็นความตึงเครียดระหว่างเชนกับเรเชลที่การตกถังข้าวสารของฝ่ายหลังมีสภาพใกล้เคียงกับนรกในใจ นิโคลที่หาเงินได้มากกว่าสามีจนเขาต้องพยายามชดเชยด้วยการเล่นบทที่พึ่งทางใจของครอบครัว ความเป็นเพื่อนรักเพื่อนร้ายระหว่างโอลิเวียกับพอลล่า และมิตรภาพแบบหวังผลของเบลินดากับทันยา เศรษฐีนีผู้แตกสลาย 

ส่วนที่ผมติดใจเป็นพิเศษในเรื่อง คือบทสนทนาระหว่างมาร์ค (สตีฟ ซาห์น) กับโอลิเวีย ในฉากที่เธอกับพอลล่าเริ่มฉอดทุกคนบนโต๊ะอาหาร ว่าการนั่งทานมื้อเย็นพร้อมดูชนพื้นเมืองเต้นระบำเป็นเรื่องน่าสะอิดสะเอียน การที่ทุกคนยังนั่งกินข้าวกันอยู่ได้เป็นความเพิกเฉยที่แสนร้ายกาจ เป็นใจกลางของปัญหาความเหลื่อมล้ำ มาร์กโต้ตอบอาการ จ้วก ของลูกสาวโดยการย้อนถามกลับไปว่า “ถ้าทั้งหมดนี้เป็นความผิดของพวกเราจริงๆ แล้วเราจะแก้ปัญหานี้กันยังไง” เขาเสนอว่าถ้าเราทิ้งทุกอย่างที่สร้างมา จ่ายเงินทั้งหมดที่มีให้ชนพื้นเมือง ปัญหาจะหมดไปหรือเปล่า ความสำนึกผิดของเราจะช่วยให้ชาวเมาอิได้ผืนแผ่นดินของบรรพชนคืนหรือไม่ คำถามซื่อๆ ของมาร์คทำงานได้หลายระดับอย่างน่าทึ่ง จะมองว่ามันเป็นการเสียดสีชนกลุ่มโว้กก็ได้ จะมองว่ามันเป็นการย้ำความไร้น้ำยาของบรรดาคนขาวในเรื่องที่ต้องรับมือกับปัญหาที่ไม่อาจแก้ด้วยการจ่ายเงินก็ได้ หรือจะมองว่ามันเป็นการหันมาถามคนดูตรงๆ ว่าจะเอายังไงกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ดูไร้สิ้นทางออกเช่นนี้ 

โจทย์นี้ไม่เคยมีคำตอบที่ง่าย เราทุกคนต่างรู้ว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะส่งผลกระทบต่อชุมชนเสมอแต่เราก็ยังเที่ยว อาหารมื้อดีๆ มีราคาแฝงที่ชวนปวดหัวใจแต่เราก็ยังกิน เราไม่ได้เที่ยวด้วยกัน ไม่มีคนท้องถิ่นจนๆ อยู่ในสมการ เช่นเดียวกับสถานะของชาวเมาอิในเรื่องที่ปรากฏตัวมาสร้างดราม่าในวันพักผ่อนแล้วก็หายตัวไป แต่มันเป็นความผิดของนักท่องเที่ยวจริงๆ หรือที่มีเงินมากพอให้ท่องเที่ยวผ่อนคลายความเหนื่อยล้าในชีวิต หากทุกคนเริ่มต้นแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่ตัวเองทั้งหมดด้วยการไม่เที่ยว เศรษฐกิจคงมิวายพังพินาศ ตลกร้ายอีกประการของ The White Lotus ก็คือการที่มันไม่มีนักการเมือง (ผู้ที่เป็นบุคคลในอำนาจแบบตรงตามตัวอักษร) อยู่ในบทสนทนา เพราะในสายตาคนขาวที่ร่ำรวย นักการเมืองก็คือคนหัวอกเดียวกัน เป็นคนรวยที่จนปัญญากับการแบ่งปันอำนาจที่มีให้คนกลุ่มอื่นๆ ไม่ต่างกัน

ผมไม่แน่ใจนักว่าอารมณ์ขันในแบบของไมค์ ไวท์ จะเป็นอารมณ์ขันที่เหมาะกับทุกคนหรือเปล่า แต่ประสบการณ์ขำแบบไม่ต้องออกเสียงระหว่างดู The White Lotus ก็ยังนับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมันเชิญชวนให้ พวกเรา ในฐานะพลเมืองแห่งราชอาณาจักรไทย ประเทศที่การลางานเจ็ดวันขึ้นเครื่องบินไปเที่ยว หรือการจ่ายค่าทางด่วน นับเป็นกิจกรรมของคนมีเงินเหลือกินเหลือใช้ ได้ทบทวนระยะห่างทางสังคมที่เรามีต่อคนอื่นๆ

ผมไม่กล้าหาญพอจะฉอดใครเรื่องความเท่าเทียมหรอกครับ (ไอ้คนที่ “กล้า” มันมีเยอะเกินไปแล้ว พูดเยอะเกินไปแล้วด้วย) เพียงแต่อยากจะยืนยันอีกเสียงว่าเราไม่ต้อง เที่ยวด้วยกัน ก็ได้

ขอให้มองกันเป็นมนุษย์ก็พอ


*คุณสามารถรับชม The White Lotus ได้ทาง HBO GO

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here