เจนนิเฟอร์ วอลเทอร์ส ทนายสาวมั่น บังเอิญได้รับเลือดของ บรูซ แบนเนอร์ ญาติสนิท เจ้าของสมญาฮัลค์ยักษ์เขียวจอมพลังแห่งทีมอเวนเจอร์ส อุบัติเหตุเปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล นางยักษ์ตนใหม่ถือกำเนิดพร้อมพลังอันยิ่งใหญ่และความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่งที่เธอไม่เคยต้องการ เจนกลับเข้าสังคมด้วยทักษะการควบคุมร่างได้ดั่งใจนึก ผดุงความยุติธรรมด้วยกฎหมายอย่างที่เธอต้องการ ปัญหาก็คือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะพึงใจกับนางยักษ์เขียวและเจนในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะพวกผู้ชายที่มักจะลำบากใจเรื่องการดำรงอยู่ของผู้หญิงที่ทรงพลัง
ตลกร้าย ความอึดอัดใจของพวกชายแท้ในจักรวาลมาร์เวล ส่งออกมาถึงพวกชายแท้นอกจอได้ราวกับพวกเขาเป็นพี่น้องร่วมสาบาน
She-Hulk: Attorney At Law เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ข้อสังเกตที่ว่า “มาร์เวลสตูดิโอจะบ้าบิ่นเป็นพิเศษในกระบวนการผลิตเนื้อหาที่เป็นซีรีส์” ได้รับการยืนยัน เช่นเดียวกับที่ WandaVision ใช้ครึ่งซีซั่นในการบูชาละครซิตคอม การฉายภาพความปั่นป่วนภายในของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตอย่างเข้มข้นใน Moon Knight และชีวิตช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเด็กสาวมุสลิมใน Ms. Marvel สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของที่แฟนหนังมาร์เวลยินดีจะตีตั๋วเข้าไปดูในโรงหนัง แม้จะมีชิ้นส่วนของจักรวาลอันยิ่งใหญ่แฝงฝังไว้มากแค่ไหนก็ตาม หรือต่อให้ She-Hulk มีหนังใหญ่ฉายโรงเป็นของตัวเอง ชะตากรรมด้านรายได้และเสียงตอบรับของมันก็อาจจะไม่ได้หนีรุ่นพี่อย่าง Captain Marvel และ Black Widow เท่าไรนัก
คำถามก็คือ อะไรเล่าที่ทำให้มาร์เวลสตูดิโอตัดสินใจสร้างซีรีส์นางยักษ์เขียวผู้แสนจะมั่นหน้ามั่นโหนกคนนี้ขึ้นมาในยุคที่ผู้ชมทนเห็นการสำแดงพลังหญิง (หรือกลุ่มเชื้อชาติที่ไม่ใช่คนขาว) โดยที่อดใจไม่บ่นถึงความโว้กแทบไม่ได้ พวกเขาจะสร้างซีรีส์ว่าด้วยผู้หญิงโมโหร้ายขึ้นมาทำไม ในเมื่อค่าใช้จ่ายก็ไม่ใช่น้อย ๆ และแฟนมาร์เวลจำนวนหนึ่งก็ไม่ได้ปลื้มผู้หญิงที่ไม่น่ารักแบบนี้อยู่แล้ว
มีอะไรที่พวกเขายังไม่ได้พูดไปในหนังผู้หญิง ๆ พวกนั้น
“ฉันก็คุมอารมณ์อยู่ทุกวัน เพราะถ้าไม่ทำก็โดนตราหน้าว่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ หรือเอาใจยาก หรือไม่ก็โดนฆ่าตาย”
She-Hulk พูดผ่านปากของเจน วอลเทอร์ส (Tatiana Maslany) ว่าการควบคุมอารมณ์ไม่ใช่พลังวิเศษ แต่เป็นคุณสมบัติทั่วไปที่มนุษย์พึงมี ผู้ชายที่ไม่ควบคุมอารมณ์อาจจะมีภาพเป็นคนเลือดร้อน หรือเป็นจอมพลังผู้แสนจะตรงไปตรงมาแบบฮัลค์ แต่ผู้หญิงที่ไม่ควบคุมอารมณ์อาจจะเป็นได้แค่จอมดราม่า หรือที่แย่กว่านั้นความผิดอาจจะไปตกอยู่กับฮอร์โมน คลื่นความอึดอัดใจลูกแรกมาจากการที่เจนตอกหน้าบรูซ (และอาจจะผู้ชายอื่น ๆ ที่รับชมอยู่หน้าจอ) ว่าพลังวิเศษของเขามันไม่ได้พิเศษอย่างที่คิดกัน วิชาการเป็นฮัลค์ที่เขาอุตส่าห์ตั้งใจสอนก็เป็นได้เพียง Mansplaining (การที่ผู้ชายอธิบาย – หรือฉอด – สิ่งที่คนเขาก็เห็นกันชัด ๆ อยู่แล้ว ด้วยความภูมิใจแบบผู้ชาย แน่นอนว่าบทความนี้เขียนโดยผู้ชาย คุณจะนับมันรวมเข้าไปด้วยก็ได้) หนำซ้ำเธอยังปฏิเสธพลังเหนือมนุษย์ราวกับมันเป็นโรคร้าย และยืนยันจะผดุงความยุติธรรมด้วยวิธีที่สามัญที่สุดอย่างการต่อสู้ในชั้นศาล
ทนายวอลเทอร์สจึงเป็นได้ทั้งนางยักษ์ตัวเขียวในจักรวาลหนัง และนางยักษ์สำหรับ “แฟนบอย” ในโลกจริง เธอพูดจาเป็นเหตุเป็นผลมากเกินไป ใช้วิธีการที่ดูเป็นมนุษย์มนาเกินไป ความสมเหตุสมผลในระดับนี้ไม่เป็นที่ต้อนรับในจักรวาลที่มีฮีโร่นับสิบนับร้อย ซึ่งใช้พลังเกินมนุษย์กับวิธีคิดวิธีตัดสินใจที่น่ากังขาเพื่อดูแลการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ จุดยืนของชีฮัลค์ไม่ใช่สิ่งที่แฟนหนังฮีโร่ที่ต้องการความบันเทิงเบาสมองเรียกร้อง แต่พวกเขาก็เลี่ยงไม่ได้ เพราะมาร์เวลจับเอาความสมบูรณ์แบบในการรับชมจักรวาล (หรือพหุจักรวาล) ของพวกเขาไว้เป็นตัวประกัน
“ผู้หญิงอย่างเรานี่ต่อให้ทำดีแค่ไหน พวกผู้ชายที่มีอินเทอร์เน็ตมันก็จะบอกว่ามันเก่งกว่าอยู่ดี”
ลำพังแค่ฉากรวมพลังฮีโร่หญิงใน Avengers: Endgame ก็เคืองหัวใจแฟนบอยจะแย่ She-Hulk พาเราไปไกลกว่านั้นด้วยการนำเสนอผู้ชายเกือบทั้งหมดในเรื่องให้กลายเป็นตัวปัญหา ทั้งปัญหาแบบโจ่งแจ้งอย่างผู้ชายมั่นหน้าที่ชอบพูดจาข่มผู้หญิง แอคหลุมในอินเทอร์เน็ตที่ไม่พอใจเวลาเป็นผู้หญิงโดดเด่นจนเล่นสกปรก คนอมตะที่เดินออกจากความสัมพันธ์ด้วยการแกล้งตาย ไปจนถึงตัวปัญหาที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นอย่างผู้ชายที่เดทกับเจนเพื่อผลประโยชน์ และเจ้านายที่จ้างหรือเลิกจ้างเธอโดยใช้สถานะยอดมนุษย์เป็นเกณฑ์
ความน่ากลัวของ Intelligencia ไม่ใช่การที่มันเป็นกลุ่มรวมตัวร้ายที่ฉลาดที่สุดหรือแข็งแกร่งที่สุด แต่มันคือกลุ่มผู้ชายที่ทนเห็นผู้หญิงได้ดิบได้ดีไม่ไหวจนต้องรวมมือกันทำลาย น่ากลัวตรงที่มันสมจริง พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปตามโซเชียลเน็ทเวิร์ก ก่อความเสียหายได้จริงและเป็นความเสียหายแบบถาวรด้วยเครื่องมืออย่างการถล่มรีวิว เอาทัวร์ไปลง และข้อความประทุษร้ายนานา โดยที่ผู้เสียหายไม่อาจตอบโต้โดยไม่ถูกตราหน้าว่า “ไม่รู้จักควบคุมอารมณ์” ได้เลย
ผู้ชายใจดีจำพวกเดียวที่ปรากฏในเรื่องคือ กลุ่มตัวร้ายกลับใจที่ค่ายบำบัดของเอมิล (Abomination) และแมต เมอร์ด็อก ตลกดีพวกผู้ชายที่เข้าอกเข้าใจผู้หญิงมาก ๆ คือพวกคนที่ละอัตตา เลิกสมาทานความแข็งแกร่งแบบเดิม ๆ ไปแล้ว และผู้ชายตาบอด กลับกันผู้หญิงร้ายมาก ๆ อย่างไททาเนียคือคนที่ทำให้ผู้หญิงต้องตั้งคำถามกับตัวตนของตัวเอง ทั้งด้วยการขโมยชื่อไปใช้และการโหมโฆษณาดีชีวิตดี ๆ ผ่านโซเชียลเน็ทเวิร์กอย่างไม่หยุดหย่อน
เอาเข้าจริง ปัญหาภัยความมั่นในเรื่องนี้เกี่ยวโยงเข้ากับชีวิตจริงของพวกเราได้มากกว่าผู้ร้ายข้ามมิติเสียอีก
“ฉันต้องไปคุยกับเควินเดี๋ยวนี้”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้วคนที่มาร์เวลอยากจะสื่อสารด้วยก็คือผู้ชาย และมันจะเป็นเช่นนั้นต่อไป ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ การหยิบเอาลูกเล่นการทำลายกำแพงที่สี่อันเป็นเอกลักษณ์ของชีฮัลค์มารับใช้สารของตัวเรื่องถือเป็นทางเลือกที่เข้าท่าไม่น้อย มันคือวิธีการที่ทำให้สตูดิโอหันมาสบตากับผู้ชมตรง ๆ และบอกว่าพวกเขารับรู้ถึงความไม่พอใจได้มากน้อยแค่ไหน “แต่ฉันไม่แคร์ นี่คือเรื่องราวของฉัน” แม้แต่ลูกรักตัวทำเงินของดิสนีย์ก็ยังรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างกับกระแสต้านโว้กในหมู่แฟน ๆ
ฉากทำลายเพดานเละเทะในตอนสุดท้ายของซีรีส์ถือได้ว่าเป็นการแสดงความกล้าหาญครั้งแรก (และน่าจะครั้งเดียว) ที่มาร์เวลภายใต้การชี้นำของเควิน ไฟกี ได้ประกาศต่อแฟน ๆ แล้วว่า จักรวาลของพวกเขากว้างใหญ่เกินกว่าจะให้พวกชายแท้ผูกขาดไว้กับตัวเองแต่เพียงผู้เดียว แม้ว่าสุดท้าย ถ้อยแถลงนี้อาจเป็นได้เพียงแค่ลูกเล่นโหนกระแสชั่วครั้งชั่วคราวก่อนที่จะกลับไปผลิตเนื้อหาแมน ๆ ตามเดิม การแหกกรอบชั่วคราวออกมาชำแหละตัวเองในครั้งนี้ก็ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจและทิ้งคำถามสำคัญเอาไว้ให้กับบรรดาแฟนบอยทั้งหลายไปขบคิดกันต่อว่า พวกเขาจะพึงพอใจต่อไปได้อีกนานแค่ไหน กับสูตรสำเร็จหนังฮีโร่ที่ใช้กันมาเป็นสิบปีในหนังกว่าสามสิบเรื่องที่ผ่านมา
และลองทบทวนตัวเองอีกครั้งถึงสิ่งที่ทำให้ซีรีส์นางยักษ์เขียวขัดเคืองใจพวกเขาเหลือเกิน ว่าคือการที่ยอดมนุษย์ไม่ให้คุณค่ากับการต่อสู้พิทักษ์โลก
หรือการต้องทนดูผู้หญิงต่อสู้เพื่อตัวเองในแบบที่เธอเลือก?