Severance (Season 1) : เวิร์ก-ร้าย บาลานซ์

2022, Dan Erikson

จะดีสักแค่ไหน หากเราทำมาหาเลี้ยงชีพได้โดยไม่มีปัญหาชีวิตส่วนตัวมาเป็นอุปสรรค และคงจะดียิ่งขึ้นไปอีกหากเราใช้ชีวิตส่วนตัวได้โดยไม่มีปัญหาจากงานที่รักตามกลับมากวนใจที่บ้าน สมดุลระหว่างชีวิตและการงาน (Work-Life Balance) เป็นวิถีชีวิตในอุดมคติที่ถูกยกมาพูดถึงกันอย่างหนาหูตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2010 และจะยังคงถูกพูดถึงต่อไปอีกนาน ในโลกที่ฝืดเคืองเสียจนผลตอบแทนจากการทำงานแบบสู้ตายถวายชีวิตไม่คุ้มกันกับค่าซ่อมแซมร่างกายและจิตใจที่เสียหาย

ในอนาคตอันใกล้ Lumon Indystry ค้นพบเทคโนโลยีที่จะทำให้อุดมคตินี้เป็นจริง พวกเขาเรียกมันว่า ‘การแยกโลก’ (Severance) พนักงานส่วนหนึ่งของบริษัทยินยอมปลูกถ่ายเทคโนโลยีนี้ และย้ายลงไปทำงานในชั้นใต้ดินของบริษัท ทุกคนที่อยู่ในชั้นแยกโลกจะเริ่มงานด้วยการลงลิฟต์ตามเวลาที่กำหนด และลืมตาขึ้นมาพบว่าเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงได้ผ่านไปแล้วโดยไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับงานเลยแม้แต่น้อย เรื่องนี้มีแต่ได้กับได้ บริษัทได้งานจากพนักงานที่ไม่มีชีวิตส่วนตัวมากวนใจ พนักงานได้ค่าตอบแทนโดยไม่มีงานที่รักตามกลับมารบกวนชีวิตประจำวัน แต่ในขณะที่เทคโนโลยีแยกโลกเป็นวาระเข้าสภาเพื่อพิจารณาให้มีกฎหมายรับรองการเอาออกมาใช้ในโลกภายนอก มีคนจำนวนไม่น้อยต่อต้านมันในฐานะการกระทำที่ผิดต่อมนุษยธรรมอย่างรุนแรง

นี่คือเรื่องราวพื้นหลังของ Severance ซีรีส์ระทึกขวัญว่าด้วยชีวิต การงาน และความเป็นมนุษย์ของ Apple TV+ ที่ชวนให้ขบว่าใครคือผู้รับประโยชน์สูงสุดจากแนวคิด Work-Life Balance ผ่านสายตาของ ‘มาร์ก เอส’ หัวหน้าคนใหม่แห่งแผนกคัดกรองข้อมูลมหภาค และ ‘มาร์ก สเกาต์’ ชายจมทุกข์ที่ใช้งานเป็นเครื่องมือในการหลบหนีความโศกเศร้าวันละ 8 ชั่วโมง

สิ่งที่บริษัทลูมอนจงใจไม่บอกเล่าต่อสาธารณะคือ รายละเอียดของงานในชั้นแยกโลก และระเบียบปฏิบัติของบรรดาพนักงาน ความลับทางธุรกิจเป็นเรื่องที่อาจจะพอทำความเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ความลับแบบไหนกันที่บริษัทยักษ์จำเป็นต้องทำถึงขั้นห่มคลุมชีวิตของพนักงานเอาไว้ใต้ม่านของความลับทางธุรกิจและระบบรักษาความปลอดภัยแบบเต็มขั้น

ในวันแรกของการทำงาน ทุกคนจะตื่นขึ้นมาในห้องปริศนาโดยไม่มีความทรงจำใด ๆ เกี่ยวกับตัวตนของตัวเอง สิ่งเดียวที่ยืนยันว่าพวกเขามีตัวตนอยู่จริงบนโลกคือวิดีโอที่ ‘คนนอก’ อัดเก็บไว้ให้เป็นคำอธิบาย พนักงานทุกคนต้องทำงานที่ตัวเองไม่รู้รายละเอียดอะไรนัก นอกจากว่ามัน “สำคัญต่อโลก” กฎและศาสนาเดียวที่มีในชั้นใต้ดินแห่งนี้คือ หลักคิดของ เคียร์ อีแกน บิดาผู้ก่อตั้งบริษัท การนำสิ่งใดออกไปข้างนอกและนำเข้าสิ่งของจากภายนอกถือเป็นข้อห้ามสูงสุด คนที่ทำงานได้ตามเป้าจะได้รับรางวัลเป็นการเฉลิมฉลองเล็ก ๆ ภายในแผนก ส่วนคนที่กระทำความผิดจะถูกลงโทษโดยการส่งเข้าห้องปรับทัศนคติ

และเมื่อถึงเวลาเลิกงาน ทุกคนต้องขึ้นลิฟต์เพื่อลืมตาขึ้นมาเจอเวลาเข้างานของวันใหม่ วงจรชีวิตของพนักงานในชั้นพิเศษของลูมอน คือชั่วโมงแห่งการทำงานที่ถูกร้อยติดกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงวันเกษียณ ไม่มีใครมีปัญหาอะไรกับงานในชั้นแยกโลก จนกระทั่งวันหนึ่งที่มีการประกาศว่าหัวหน้าของมาร์กลาออกกะทันหัน และ เฮลลี่ อาร์ พนักงานใหม่ถูกส่งลงมาแทนที่เขา นับแต่นั้น เวิร์ก-ไลฟ์ บาลานซ์ของทุกคนก็เปลี่ยนไปอย่างไม่อาจหวนกลับ

นโยบายชั้นแยกโลกของลูมอน ชวนให้คิดถึงหลักคิดสมดุลการทำงานและชีวิตในมุมที่ไม่มีใครพูดถึง นั่นคือ มันไม่ใช่แค่ฝันดีสำหรับเราคนทำงานเท่านั้น แต่มันเป็นฝันดีของนายทุนในโลกทุนนิยมเสรีด้วย ไม่มีอะไรที่จะรักษาประสิทธิภาพในการทำงานและแก้ปัญหาเรื่องความภักดีต่อองค์กรที่เปลี่ยนไปของคนในยุคนี้ได้ดีเท่ากับการทำให้พนักงาน “เชื่อ” ว่าพวกเขาเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองโดยสมบูรณ์


นโยบายชั้นแยกโลกของลูมอน ชวนให้คิดถึงหลักคิดสมดุลการทำงานและชีวิตในมุมที่ไม่มีใครพูดถึง นั่นคือ มันไม่ใช่แค่ฝันดีสำหรับเราคนทำงานเท่านั้น แต่มันเป็นฝันดีของนายทุนในโลกทุนนิยมเสรีด้วย ไม่มีอะไรที่จะรักษาประสิทธิภาพในการทำงานและแก้ปัญหาเรื่องความภักดีต่อองค์กรที่เปลี่ยนไปของคนในยุคนี้ได้ดีเท่ากับการทำให้พนักงาน “เชื่อ” ว่าพวกเขาเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองโดยสมบูรณ์ แม้ว่าอันที่จริงแล้ว ชีวิตนอกที่ทำงานของพวกเขาจะถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบต่อชีวิตในเวลาทำงานด้วยก็ตาม

ตัวซีรีส์นำเสนอเรื่องนี้ผ่านปฏิกิริยาต่อต้านของมาร์ก (Adam Scott) ที่มีต่อกลุ่มผู้ประท้วงกระบวนการแยกโลก ในชั้นหนึ่งเขาแสดงออกเพื่อปกป้องการตัดสินใจของตัวเอง แต่ในอีกชั้นหนึ่ง เขาก็ปกป้องคนในของเขาในฐานะทรัพยากรของบริษัท เป็นทรัพยากรที่ก็ “น่าจะ” มีชีวิตอย่างสุขสบาย ไม่มีทุกข์ร้อนวุ่นวายอะไรอย่างที่ผู้ประท้วงพูดกัน – แต่คำพูดของเขาจะไปมีน้ำหนักอะไร ในเมื่อเขาเองก็ไม่ใช่ประจักษ์พยานที่รู้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากลงลิฟต์ไปทำงาน

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการก็คือ การใช้คำเรียกพนักงานคนเดียวกันที่อยู่ในเวลาทำงานกับนอกเวลาทำงานว่า “คนใน” กับ “คนนอก” (Innies กับ Outies) มันเหมือนเป็นการยอมรับกลาย ๆ ว่ากระบวนการแยกโลกนั้นทำได้มากกว่าการแยกงานออกจากชีวิตส่วนตัว คนในไม่ใช่ส่วนหนึ่งในชีวิตของคนนอก แต่เป็นทรัพย์สินของบริษัท สำนึกเรื่องคนใน-คนนอกฉีกแยกมนุษย์คนหนึ่งออกเป็นสองตัวตนโดยสมบูรณ์ สำหรับมาร์ก สเกาต์ คนในของเขาเป็นเพียง 8 ชั่วโมงที่บริษัทขอซื้อไปจากเขา อย่างน้อยนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนจะได้พบกับ พีตี้ (Yul Vazquez) ชายที่อ้างตัวว่าเป็นอดีตพนักงานที่เสี่ยงตาย “รวมโลก” กลับคืนมา การปรากฏตัวของพีตี้เป็นเหมือนปริศนาชิ้นแรกที่ทำให้ทั้งเขาและคนดูเริ่มคิด ว่าอะไรกันแน่ที่ใช้นิยามว่าตัวตนหนึ่งเป็นมนุษย์หนึ่งคน และพวกเขากำลังขายอะไรให้บริษัทกันแน่

อีกตัวละครหนึ่งที่ทำให้คำถามนี้ซับซ้อนยิ่งขึ้นคือ ฮาร์โมนี คอร์เบล (Patricia Arquett – Boyhood, Broadwalk Empire) ผู้อำนวยการใจโหดแห่งชั้นใต้ดิน เธอมีอีกตัวตนเป็นหญิงชราใจดีที่อาศัยอยู่ข้างบ้านมาร์กด้วยเหตุผลบางอย่าง ศรัทธาอันแรงกล้าที่เธอมีต่อเคียร์ ทำให้เธอเป็นมือเท้าให้บริษัทโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีล้ำสมัย คอร์เบลเป็นเหมือนด้านกลับของมาร์กกับเพื่อน ๆ ในแผนกคัดกรองข้อมูลมหภาค เธอมีอำนาจในตัวเองอย่างเต็มที่ มีอิสระมากที่สุดในพื้นที่แห่งการควบคุม แต่เลือกที่จะอุทิศชีวิตนอกเวลางานให้กับบริษัทโดยไม่สนว่ามันจะมีค่ามากมากน้อยแค่ไหนในสายตาของบอร์ดบริหาร คำถามก็คือ เจตจำนงเสรีนั้นเสรีแค่ไหนเมื่อมนุษย์คนหนึ่งเลือกบูชาการทำงานเหนือสิ่งอื่นใด

Severance ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนภาพฝันแรงงานออฟฟิศให้กลายเป็นนรกด้วยการออกแบบงานสร้างที่ยอดเยี่ยม ทั้งห้องทำงานที่มีบรรยากาศคล้ายลานกว้างน่าขนลุก คอกพนักงานและอุปกรณ์สำนักงานที่ดูเหมือนของเล่น โถงทางเดินยาวสีขาวที่วกวนราวกับเขาวงกต และภาพเขียนคลาสสิกเชิดชูผู้ก่อตั้งบริษัท การออกแบบงานสร้างของ Jeremy Hindle เป็นส่วนสำคัญของตัวซีรีส์ พอ ๆ กับบทของ Dan Erickson และการกำกับที่น่าจับตาของ Ben Stiller (อำนวยการสร้างและกำกับ 6 จาก 9 ตอน) เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่คอยหล่อเลี้ยงการผจญภัยของมาร์ก เฮลลี่ ดีแลนและเออร์วิงแห่งแผนกคัดกรองข้อมูลมหภาคให้น่าติดตาม พร้อมกับทิ้งคำถามสำคัญให้เราได้ขบคิดกันต่อว่าอำนาจการซื้อของทุนนิยมเสรีเต็มขั้นจะไปได้ไกลแค่ไหน เมื่อมันอำพรางตัวเองมาในรูปแบบของชีวิตที่ดี และเจตจำนงเสรีจะเติบโตได้อย่างไรในสำนักงานปิดทึบที่ไม่อนุญาตให้สิ่งใดเล็ดลอดเข้าไป

แม้กระทั่งความทรงจำส่วนตัว

สิทธิชัย เปลี่ยนทองดี
นักทำงานอดิเรก, เล่นบอร์ดเกม, ดูตลกแสตนด์อัพ, จัดพอดแคสต์บำบัด และดื่มเบียร์คนเดียว

LATEST REVIEWS