ปีที่ 101 หลังการพิชิตดินแดนของเอกอน ราชวงศ์ทาร์แกเรียนประสบปัญหาใหญ่เมื่อตำแหน่งรัชทายาทของกษัตริย์เฒ่าเจเฮริสว่างลงจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายเบลอน พระองค์และสภาใหญ่จึงตัดสินใจแต่งตั้งวิเซริส หลานชายจากบุตรคนที่ 5 ขึ้นเป็นรัชทายาท วิกฤตผ่านพ้นไปได้โดยที่หลานจากบุตรคนโตที่มีอาวุโสสูงสุดอย่างเจ้าหญิงเรนิสถูกมองข้ามหัวไป
11 ปีต่อมาวิกฤตเกิดเกิดซ้ำ ราชินีเอมม่าสิ้นใจในการคลอดบุตรโดยไม่มีทายาทชายให้แก่กษัตริย์วิเซริส ในฐานะราชาผู้ทรงธรรมและพ่อผู้ภักดีต่อครอบครัว พระองค์จำเป็นต้องรับรองกับประชาชนและเหล่าขุนนางว่า เจ้าชายเดม่อนพระอนุชาผู้แสนโหดเหี้ยมจะไม่มีโอกาสได้ขึ้นครองบัลลังก์เหล็ก ด้วยการแต่งตั้งเจ้าหญิงเรนีร่าพระธิดาคนเดียวให้เป็นรัชทายาท แผ่นดินเวสเทอรอสถึงกับออกอาการอยู่ไม่สุข ไม่มีใครเชื่อว่าการให้ผู้หญิงขึ้นเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองจะนำมาซึ่งความผาสุก สถานการณ์ยิ่งส่อเค้าเลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อพระราชาสมรสใหม่กับบุตรีของลอร์ดราชหัตถ์และให้กำเนิดเจ้าชายเอกอนที่สองในครึ่งปีต่อมา เหล่าข้าราชบริพารและบรรดาลอร์ดทั้งน้อยใหญ่ต่างรู้กันดีว่า ช่วงเวลาแห่งการแตกหักอยู่ห่างออกไปเพียงก้าวเดียว
House of the Dragon เป็นได้ทั้งโอกาสแก้มือจาก Game of Thrones ที่ทำผลงานได้ไม่ดีนักในช่วงซีซั่นท้าย ๆ และโอกาสที่จะหยิบเอาโลกใบเดิมมาเล่าเรื่องราวในทิศทางใหม่ เหตุการณ์ที่ก่อความเสียหายให้กับแผ่นดินเวสเทอรอสมากที่สุดไม่ใช่การรุกรานจากอีกฟากทะเลแคบ ไม่ใช่การรบราระหว่างลอร์ดตระกูลใหญ่กับทรราช แต่เป็นความขัดแย้งในครอบครัวระหว่างผู้หญิงที่สู้เพื่อทุกสิ่งที่ตัวเองต้องการ กับผู้หญิงที่ยึดมั่นในตำแหน่งแห่งที่ของตน หากจะมีใครสมควรได้รับความดีความชอบที่ตัวซีรีส์จะประสบความสำเร็จ ก็คงต้องเป็น Ryan J. Condal และทีมเขียนบทของเขาที่หยิบเอางานเขียนของ George R.R. Martin มาดัดแปลงด้วยชั้นเชิงที่น่าประทับใจ ปูมสงครามชิงบัลลังก์ระหว่างสองคณะแห่งตระกูลทาร์แกเรียนครั้งนี้จึงกลายเป็นชุดหนังมังกรที่ถูกตัดเย็บมาให้เข้ากับสารอันว่าด้วยการต่อสู้ของผู้หญิงบนพื้นที่อำนาจของผู้ชายได้อย่างพอดิบพอดี
ตัวซีรีส์ดัดแปลงมาจากหนังสือของมาร์ตินที่มีชื่อว่า Fire and Blood ซึ่งเป็นวลีประจำตระกูลทาร์แกเรียน “อัคคีและโลหิต” ในที่นี้เป็นได้มากกว่าถ้อยคำข่มขวัญและความภาคภูมิของราชวงศ์มังกร เมื่ออัคคีหมายถึงอำนาจทางการเมืองที่ไม่อาจสยบให้เชื่อง โลหิตหมายถึงครอบครัวและหัวจิตหัวใจอันเป็นมนุษย์ House of The Dragon จึงเป็นเรื่องราวของครอบครัวที่บาดเจ็บสาหัสจากการพยายามควบคุมอำนาจไว้ให้อยู่มือ
“ความคิดที่ว่าเราควบคุมมังกรได้เป็นเพียงภาพลวง”
คนที่ดูจะตระหนักถึงความร้ายกาจของอำนาจไม่ใช่ใครอื่นนอกจากวิเซริส ราชาผู้รักสันติต้องเผชิญบททดสอบมากมายจากตำแหน่งที่เขาไม่ได้คาดหวังจะได้รับ สำหรับเขา กษัตริย์ไม่ได้ครองอำนาจ แต่เป็นอำนาจต่างหากที่ครอบครองตัวกษัตริย์ ตำแหน่งกษัตริย์เป็นร่างกายทางการเมืองที่บงการกายเนื้อของพระราชา ทุกการกระทำ ทุกการตัดสินใจถือเป็นความรับผิดชอบต่ออำนาจมากกว่าที่จะเป็นการใช้อำนาจ ไม่เว้นแม้กระทั่งการเลือกคู่ครองและสร้างทายาทที่เหมาะสมเพื่อสืบทอดบัลลังก์
จริงอยู่ที่กษัตริย์บางคนอาจแสดงอำนาจตามใจชอบ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ต้องรับผลกรรม วิเซริสศึกษาประวัติศาสตร์มามากพอที่จะเข้าใจว่า การที่ผู้ปกครองแผ่นดินถูกตราหน้าเป็นทรราชย์ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เพลิงอำนาจพาบ้านเมืองไปสู่จุดจบอันน่าสยดสยอง เขาจึงเลือกเป็นวิเซริสผู้รักสันติ (Viserys The Peaceful) ผู้สืบทอดของเจเฮริสผู้ประนีประนอม (Jaehaerys The Concillator) สิ่งที่ทำให้วิเซริสแตกต่างจากกษัตริย์คนอื่น ๆ คือความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของเขากับความรับผิดชอบต่อครอบครัวเป็นสิ่งเดียวกัน บ้านเมืองและบัลลังก์เหล็กเป็นมรดกที่ต้องส่งต่อให้กับทายาทที่จะปฏิบัติต่ออำนาจอย่างระมัดระวัง
การแสดงของอันยอดเยี่ยมของ Paddy Considine ในบทวิเซริสในผู้โรยราในตอนที่ 8 (Lord of The Tide) แสดงถึงความอ่อนล้าของร่างเนื้อที่ไปด้วยกันกับกายแห่งอำนาจได้อย่างดี ภายใต้หน้ากากทองคำที่ใช้ปฏิเสธสังขารอันผุพัง เขาเป็นเพียงชายรักสงบผู้เปี่ยมไปด้วยความรักครอบครัว เมื่อเขาปลดหน้ากากแล้วขอร้องให้ทุกคนทานมื้อค่ำร่วมกันอย่างสันติ เราจึงได้เห็นว่าภายใต้อาภรณ์แห่งอำนาจ กษัติรย์เป็นเพียงมนุษย์ที่เสื่อมสลายได้ไม่ต่างกับปุถุชนเดินดินทั่วไป
“ขอให้ท่านระลึกเอาไว้ว่า อำนาจที่ได้มา ไพร่ฟ้าเป็นคนมอบให้”
สิ่งที่ทำให้ House of the Dragon ล้ำไปไกลกว่า Game of Thrones คือการที่มันจัดสรรพื้นที่เล่าเรื่องส่วนใหญ่ไปกับตัวละครผู้หญิงหลายแบบในโลกสงครามแฟนตาซี (ซึ่งมักจะเป็นดินแดนของความเป็นชาย) ทั้งเจ้าหญิงเรนีร่า ผู้ถูกแรงกระทำของพวกขุนนางเบียดออกไปตลอดเวลาเพราะบังอาจเข้ามายืนในพื้นที่ที่ไม่ใช่ของตัว และราชินีอลิเซนต์ที่ทำ “หน้าที่ของผู้หญิง” ได้อย่างสมบูรณ์จนไม่รู้ความต้องการของตัวเอง
ตัวละครที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจไม่แพ้เจ้าคณะดำและเขียวคือ เจ้าหญิงเรนิส (Eva Best) และ มิซาเรีย (Sonoya Mizuno) คนแรกคือทายาทที่ถูกมองข้าม ส่วนอีกคนเป็นนางโลมเจ้าของเครือข่ายสายลับ ทั้งสองคนไม่มีความสนใจต่อเกมชิงบัลลังก์ แต่มีวิธีเล่นเกมในแบบของตัวเอง เจ้าหญิงเรนิสแสดงออกด้วยการไม่รับรองสิทธิในการปล้นอำนาจของคณะเขียว แล้วส่งต่ออำนาจการตัดสินให้แก่ผู้ชอบธรรมเพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม ส่วนมิซาเรียทำแสบกว่านั้นด้วยการใช้ข้อมูลที่ซ่อนของเจ้าชายเรียกร้องให้ขุนนางดูแลความเป็นอยู่ของคนในสลัม เกมของพวกเธอคือการพลิกลำดับชั้นทางอำนาจเสียใหม่ ทำให้เราได้เห็นว่าอำนาจปกครองดำรงอยู่ได้เพราะคนที่อยู่ใต้ปกครองยินยอมให้มันดำรงอยู่ สิ่งนี้ถูกย้ำให้เห็นชัดอีกครั้งเมื่อลอร์ดหัตถ์ออตโต้สั่งการให้ต้อนผู้คนทั่วคิงส์แลนดิ้งให้มาเป็นพยานในพิธีราชาภิเษกเจ้าชายเอกอน สายตาของพสกนิกรเรือนหมื่นในดราก้ออนพิตกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเปลี่ยนเจ้าชายเสเพลให้กลายเป็นกษัตริย์เอกอนที่สอง ขณะที่ตำแหน่งรัชทายาทของเรนีร่าเป็นได้เพียงแค่มุกตลกในละครล้อเลียน
“ขณะที่ลอร์ดทุกคนรอบตัวเร่งเร้าให้เริ่มสงคราม นางเป็นคนเดียวที่แสดงความยับยั้งชั่งใจ”
คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าสิ่งที่มีส่วนมากที่สุดในการส่ง House of the Dragon ให้เข้าไปอยู่ในใจคนดู คือการใส่หัวจิตหัวใจเข้าไปในระหว่างบรรทัดของหนังสือประวัติศาสตร์แฟนตาซี ทุกเสี้ยวเล็ก ๆ ของการแสดงอันละเอียดอ่อนเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่จะพาผู้ชมขึ้นรถไฟเหาะทางอารมณ์ ตั้งแต่อาการต่อต้านแรงกดดันของเจ้าหญิงเรนีร่า ความริษยาของราชินีอลิเซนต์ที่มีต่ออิสระของรัชทายาทหญิง ด้านอ่อนโยนของเจ้าชายนอกคอกอย่างเดม่อน ตลอดไปจนถึงการตัดสินใจที่ผิดพลาดมหันต์ของราชทูตบนหลังมังกร ความใกล้ชิดระหว่างสามัญชนนอกจอกับราชนิกูลในโลกอันเหนือจริงนี้เองที่ทำให้เราตระหนักได้ว่ามนุษย์ทุกผู้ล้วนไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ว่าชาติกำเนิดของพวกเขาจะสูงส่งเพียงใด
ความบันเทิงที่อยู่นอกเรื่องราวของ House of the Dragon คือการที่มันมอบโอกาสผู้ชมตัดสินผู้มีอำนาจได้โดยไม่มีภัยถึงตัว การได้อยู่ในระนาบเดียวกันกับผู้ชี้เป็นชี้ตายให้ประชาชนกระตุ้นให้รู้สึกถึงพลังอย่างน่าประหลาด ผู้เขียนต้องยอมรับว่าตื่นเต้นไม่น้อยกับการได้เห็นราชินีเรนีร่าตัดสินใจเลือกทางที่ก่อความเสียหายต่อบ้านเมืองให้น้อยที่สุด การได้เห็นคนบนจุดสูงสุดบริหารอำนาจโดยคำนึงถึงคนที่อยู่ล่างสุดนั้นเกือบจะเหนือจริงพอ ๆ กับมังกรไฟ แต่ขณะเดียวกันมันก็สะท้อนความจริงที่ว่าสุดท้ายแล้วคนที่ตัดสินความชอบธรรมให้กับราชาหรือราชินีพระองค์ใดก็เป็นไพร่ฟ้าพสกนิกรของพวกเขาเอง
หาใช่อำนาจของกษัตริย์ดังที่ขุนนางหน้าไหนหลอกลวง