Peacemaker สันติคงไม่ใช่ทางออก

(2022, James Gunn)

“ผู้สร้างสันติเหรอ ขำฉิบหาย” คำพูดในวาระสุดท้ายของริก แฟล็ก เมื่อครั้งไปปฏิบัติภารกิจสตาร์ฟิชยังติดอยู่ในหัวของพีซเมกเกอร์ไม่ไปไหน แม้กระทั่งยามที่เขาถอดหมวดเหล็กทรงประหลาดออกจากหัวแล้วดำรงชีวิตในฐานะคริสโตเฟอร์ สมิธ แน่นอนว่าสำหรับคนที่ตั้งตนเป็นผู้สร้างสันติแบบไม่เลือกวิธีอย่างเขามันควรจะเป็นแค่การประชดประชันที่ควรจะลอยลมผ่านหูไปเหมือนมุกตลกที่มีอยู่กลาดเกลื่อนในหนัง The Suicide Squad (2021) แต่ไม่เลย มันสะเทือนตัวตนของชายอันธพาลคนขาว ศาลเตี้ยผู้อุดมไปด้วยอารมณ์ขันเหยียดผิวเหยียดเพศผู้นี้ไปถึงระดับจิตวิญญาณ

เรื่องราวของ Peacemaker เป็นเหตุการณ์ที่เกิดต่อจากภารกิจสตาร์ฟิชไม่นานนัก มันเริ่มต้นขึ้นเมื่อพีซเมกเกอร์ อาชญากรผู้ตั้งตนเป็นผู้พิทักษ์สันติฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บ เขาได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรจากการลงมือฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ทุกสิ่งก็ไม่ได้ดีจริงตามที่คาด พีซเมกเกอร์ถูกบีบให้กลับมารับภารกิจ “บัตเตอร์ฟลาย” ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เคยก่อการขัดขืนคำสั่งของอแมนด้า วอลเลอร์ในคราวที่แล้ว ปัญหาใหญ่ก็คือ ก่อนจะเริ่มกระทำการใดๆ เขาจำเป็นจะต้องกลับบ้านไปขอความช่วยเหลือจากพ่อผู้เป็นครอบครัวเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่ สำหรับคริส การดำรงชีวิตอยู่ในสายตาของพ่อดูจะเป็นเรื่องยากเย็นกว่าการรบราฆ่าฟันกับสิ่งมีชีวิตจากนอกโลกเสียอีก

“ไม่เคยคิดเลยว่าสเปิร์มของฉันจะโตมาเป็นไอ้กระจอกพรรค์นี้” ออกี้ สมิธรำพึงออกมา เขาเป็นชายชราท่าทางร้ายกาจ ด่าใครต่อใครว่าเป็นไอ้ตุ๊ดได้อย่างไม่กระดาก แขวนธงชาติสหรัฐฯ กลับหัวไว้หน้าบ้าน เปิดฟังข่าวทฤษฎีสมคบคิดรัฐซ้อนรัฐตลอดเวลา เมื่อได้เห็นวิธีที่เขาปฏิบัติต่อลูกชายที่ไม่เจอกันนานหลายปี เราก็สามารถเข้าใจได้อย่างไม่ยากเย็นนักว่า พีซเมกเกอร์ ศาลเตี้ยในหมวกเหล็กทรงประหลาดถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร

เจมส์ กันน์เคยพูดถึงการหาประโยชน์และการกดขี่ในครอบครัวมาแล้วใน The Guardian of The Galaxy Vol.2 แต่สิ่งที่ทำให้ Peacemaker ต่างออกไปคือ เรื่องราวของครอบครัวที่บิดเบี้ยวในครั้งนี้มีความเป็นการเมืองผสมอยู่ด้วยอย่างเข้มข้น เพียงไม่กี่นาทีที่โรเบิร์ต แพทริกปรากฏตัวในบทของพ่อ เราก็พอจะเห็นภาพได้ทันทีว่าทำไมลูกชายของเขาจึงกลายเป็นกัปตันอเมริกาเวอร์ชั่นขวาตกขอบไปเสียได้ เบื้องหลังของอารมณ์ขันหยาบโลนและความเป็นอันธพาลของพีซเมกเกอร์จะเป็นสิ่งอื่นใดไม่ได้เลย นอกจากวงจรที่ส่งต่อความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่น

แต่คงจะไม่ถูกต้องนัก หากจะบอกว่าวงจรนี้คือปัจจัยเดียวที่บ่มเพาะความรุนแรงในบรรดาผู้นิยมอุดมการณ์ขวาจัด อีกสิ่งที่น่าตั้งคำถามไม่แพ้กันคือการเชิดชูความถูกต้องโดยไม่สนวิธีการ ไม่ใช่แค่เฉพาะออกี้ที่ได้รับการเปิดเผยในภายหลังว่าเป็นหัวหน้ากลุ่มเชิดชูคนขาว อารยันเอมไพร์ แต่วิธีการของวอลเลอร์ที่ใช้นักโทษอุกฉกรรจ์มาทำภารกิจเสี่ยงตายในนามของความสงบของประเทศชาติ (คราวนี้เธอก้าวไปอีกระดับด้วยการให้ลูกสาวแท้ๆ แฝงตัวมาในทีมปฏิบัติการ เพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่าง) และพวก “ผีเสื้อ” ที่ชิงร่างมนุษย์มากมายเพื่อใช้ปฏิรูปมนุษยชาติด้วยความหวังดีก็ถือว่าเข้าข่ายการกระทำการอันโหดเหี้ยมในนามของความถูกต้องทั้งสิ้น 

เราจะพูดได้หรือไม่ว่าพีซเมกเกอร์คนนี้ คือรูปร่างหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อล้อเลียนฝ่ายขวาชาตินิยมสุดโต่ง

Peacemaker อาจถูกฉาบหน้าไว้ด้วยมุกตลกชั่วร้าย แต่สาระสำคัญของมันก็ไม่ใช่ภารกิจกอบกู้สันติภาพอย่างบ้าคลั่งด้วยปืน ระเบิด หรือสำนึกรักชาติเยี่ยงอเมริกันชนคนขาว สิ่งที่อยู่ลึกลงไปใต้เปลือกของความบ้าบอคอแตกนั้นคือวิกฤติศรัทธาของชายคนหนึ่งที่เพิ่งจะเริ่มเข้าใจว่าสิ่งที่เขาเชื่อตลอดมานั้นมีปัญหา วิกฤตินี้เริ่มก่อตัวชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเขาเริ่มเปิดให้ผู้ร่วมภารกิจใหม่เป็นเพื่อน โดยเฉพาะกับอาเดบาโย (ดานิแอลล์ บรูกส์) ลูกสาวของวอลเลอร์ คนที่สัมผัสถึงความเศร้าที่อยู่ใต้เปลือกของคนบ้ากล้ามโตในชุดสุดฟิตได้ก่อนใคร

เจมส์ กันน์ใช้ฉากเล็กๆ หลายฉากอธิบายความอ่อนไหวของอันธพาลอย่างพีซเมกเกอร์ได้ดีเกินคาด เช่น ฉากที่เขาแสดงออกถึงความนิยมในดนตรีและความเควียร์ในคณะดนตรียุค 90 อย่าง The Quireboys ว่า “ความแมนของวงร็อกสมัยก่อนคือพวกเขาไม่กลัวที่จะเป็นผู้หญิงไงล่ะ” หรือฉากที่เขาคุยกับอาเดบาโยบนรถว่า “ผมว่าจู๋ของผมเป็นเลสเบี้ยน” มันพอจะทำให้เราเห็นภาพว่าแท้จริง ภายใต้หมวกเหล็กทรงพิลึก คริส สมิธ เป็นชายคนซื่อ เป็นคนที่สับสนมากกว่าเป็นคนบ้าสันติภาพ           

ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่านี่คือเจตนาของกันน์หรือไม่ แต่ซีรีส์ตลกเรื่องนี้ของเขาก็ชวนให้คิดถึงหนัง Captain America: The First Avengers (2011) ในแง่ที่ว่าแท้จริงแล้วสตีฟ โรเจอร์สเองก็อาจจะไม่ได้อยากเป็นยอดนักรบผู้หยุดยั้งสงครามมากเท่าที่เขาอยากจะพิสูจน์คุณค่าของตัวเองต่อชาวโลก (โดยเฉพาะอเมริกัน) เพื่อชดเชยช่วงเวลาที่เขารู้สึกต่ำต้อย เพียงแต่ พีซเมกเกอร์ ของกันน์ไม่ได้มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาคริสต้องการการยอมรับจากคนคนเดียว การที่สันติภาพของเขาบิดเบี้ยวกลายเป็นความรุนแรงโหดเหี้ยม ไม่ได้เป็นไปเพื่อสิ่งใดนอกจากการปลอบประโลมตัวเองว่าเขายังมีคุณค่าในสายตาคนที่สำคัญ และกลบฝังความทรงจำว่าตัวเองเคยใช้ความรุนแรงก่อโศกนาฏกรรมโดยไม่ตั้งใจ เขาใช้สันติภาพเป็นข้ออ้างเพื่อลบความรู้สึกผิดที่จะระเบิดความรุนแรงออกมา มันต้องเป็นความรุนแรงที่มีประโยชน์มากกว่าการชกกันหน้าแหกในสวนหลังบ้านเพื่อให้ผู้ใหญ่เอามาใช้พนันกันอย่างในอดีต

ตลอดทั้ง 8 ตอนตัวซีรีส์ เราจะได้เห็นพีซเมกเกอร์เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยจากจุดที่เขารับปากภารโรงที่โรงพยาบาลว่าจะฆ่าคนขาวให้มากขึ้น เพื่อให้ตัวเองเป็นคนที่เหยียดผิวน้อยลง ผ่านจุดที่เชื่อว่าเขาไม่ควรฆ่าใครสุ่มสี่สุ่มห้า ไปจนถึงจุดที่เขาต้องเลือกระหว่างสันติภาพและหัวจิตหัวใจอันเป็นมนุษย์ในท้ายที่สุด เจมส์ กันน์ยังคงทำสิ่งที่เขาเชี่ยวชาญได้ดี นั่นคือการแอบหยอดหัวจิตหัวใจลงไปนิดๆ หน่อยๆ ในระหว่างบรรทัดของมุกตลกเจ็บแสบ โดยเฉพาะมุก “เคราย้อม” ที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่าเขาเป็นคนใจร้ายที่มีความตระหนักรู้ในตัว (Self-awareness) และเข้าใจจิตวิทยาของพวกคนขี้แกล้งขี้รังแกอยู่มากทีเดียว 

ตลกร้ายประการหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือ เมื่อผู้สร้างสันติได้ลดความ “รักสันติ” ลงเขากลับดูบ้าคลั่งน้อยลงและเป็นมีสันติใจหัวใจมากขึ้น คำตอบของโลกที่เรามาไกลจากจุดที่จะกลับไป “เงียบสงบ” ตามเดิมมากโข อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรารักสันติมากจนพอจะสังเวยทุกอย่างให้มันได้มากแค่ไหน หรือสันติภาพในแบบของใครมันถูกต้องกว่ากัน

ตลกจริงๆ ที่ต้องให้ซีรีส์แอ็กชั่นยิงกันเลือดสาดแบบนี้มาพูดให้ฟัง


ดู Peacemaker ได้ที่ HBO GO

สิทธิชัย เปลี่ยนทองดี
นักทำงานอดิเรก, เล่นบอร์ดเกม, ดูตลกแสตนด์อัพ, จัดพอดแคสต์บำบัด และดื่มเบียร์คนเดียว

LATEST REVIEWS