Emily in Paris: เจ้าอาณานิคมคนใหม่ กับความฝรั่งเศสที่พิสดาร (Exotic)

(2020, Darren Star)

หลังจากลงสตรีมมิงเจ้าใหญ่อย่าง Netflix ได้ไม่นาน ซีรีส์โรแมนติก อารมณ์ดี ดูไร้พิษภัยอย่าง Emily in Paris ก็กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ทันที ว่ามันสร้างภาพจำของฝรั่งเศสและคนฝรั่งเศสอย่างไม่ตรงตามความเป็นจริง จนกลายเป็นหัวข้อบทความของหลายสำนักข่าวอย่างเช่น New York Times หรือ The Guardian และถูกนักวิจารณ์ฝรั่งเศสสับจนไม่มีชิ้นดี

หนังเล่าเกี่ยวกับชีวิตของนางสาวเอมิลี คูเปอร์ นักการตลาดไฟแรงในชิคาโก ที่ต้องย้ายงานไปประจำที่ปารีส ที่นั่น เธอได้พบกับวัฒนธรรมแปลกๆ หลายอย่าง ทั้งการมาทำงานสาย ความเย่อหยิ่งจองหองของคนฝรั่งเศส การไม่แยกเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องงาน หรือความเหยียดเพศหญิงในวงการโฆษณา และนั่นเป็นการดิ้นรนที่เธอต้องเผชิญ เธอพยายามปรับตัวเข้ากับ “พวกเขา (คนฝรั่งเศส)” ในขณะที่ตั้งวงเมาท์กับ มินดี้ เพื่อนผู้อพยพชาวจีนในปารีส ว่าคนฝรั่งเศสนั้น “ร้าย” แค่ไหน

“เธอเปลี่ยนการบริการของคนฝรั่งเศสไม่ได้เพียงเพราะเธอมาอยู่ที่นี่หรอกนะ” มินดี้กล่าว ขณะที่เอมิลีพยายามทักท้วงกับร้านอาหารว่าสเต็กของเธอสุกไม่พอดี

ภาพของปารีสที่เป็นเมืองแห่งความฝันสุดโรแมนติกถูกฉายออกมา มีหนุ่มหล่อเจ้าเสน่ห์ที่พร้อมปล่อยตัวปล่อยใจไปกับเธอ ทั้งที่เขาก็มีแฟนอยู่แล้ว มีร้านดอกไม้ข้างทางที่ขายกุหลาบช่อใหญ่ให้เธอซื้อไปฝากเพื่อนร่วมงานในวันอากาศดี กับร้านขนมปังที่ขายครัวซองซ์อร่อยเหลือเชื่อจนเธอต้องโพสต์ลงอินสตาแกรม งานเลี้ยงที่มีฉากหลังเป็นหอไอเฟลและดวงไฟนับพันจากตัวเมืองก็ช่างดูดีมีเสน่ห์ ภาพเหล่านี้ดูเหมือนจะทำให้เราใกล้ชิดกับฝรั่งเศสมากขึ้น แต่เปล่าเลย ภาพฝันที่ฉายออกมาฉาบเคลือบไปด้วยองค์ประกอบที่ทำให้เราถอยห่าง เพราะมันทั้งเกินจริง และเป็นการโรแมนติไซส์ (romanticise) ความเป็นฝรั่งเศส อีกทั้งแฝงไปด้วยสำเนียงวิพากษ์วิจารณ์ ดังข้อสังเกตทางวัฒนธรรมที่หนังชี้นำให้เราเห็น

ไม่ว่าจะเป็นการที่เอมิลีถูกสั่งให้ “ห้ามยิ้ม” เพราะ “คนจะคิดว่าเธอเซ่อ” หรือถูกเพื่อนร่วมงานถามว่า “ทำไมคุณต้องตะโกน” เมื่อเธอพูดภาษาอังกฤษแบบอเมริกันด้วยเสียงปกติ การที่เอมิลีไม่ใส่น้ำหอมกลับกลายเป็นสิ่งที่คนฝรั่งเศสตั้งข้อสงสัย และการที่เธอคุยเรื่องงานในงานเลี้ยงตอนค่ำก็ทำให้ถูกเจ้านายหาว่าบ้าไปแล้ว เกร็ดทางวัฒนธรรมเหล่านี้สะท้อนภาพเหมารวมชาวฝรั่งเศสอยู่กลายๆ ว่าพวกเขานั้นทั้งขึ้เกียจ เย่อหยิ่ง สกปรก และร้ายกาจ และภารกิจของเธอก็คือการสอนพวกเขาให้ดีขึ้น

การสร้างภาพเหมารวมและให้มุมมองที่เกินจริงเช่นนี้ เป็นการมองฝรั่งเศสว่าเป็นดินแดนที่แปลก พิสดาร (Exotic) เมื่อมองจากมุมมองคนอเมริกัน ฝรั่งเศสนั้นทั้งน่าพรั่นพรึงและน่าดึงดูด แต่เป็นความดึงดูดที่เกิดจากการที่ฝรั่งเศสเป็น “คนอื่น (The other)” ที่แตกต่างไปจากความเป็นอเมริกัน ไม่เพียงเท่านั้น ยังล้าหลังกว่า ป่าเถื่อนกว่า โง่เขลาและด้อยปัญญากว่า และควรได้รับการสั่งสอน เอมิลีเดินเข้าไปในสำนักงานแห่งใหม่ พร้อมนำแนวคิดทันสมัยเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียไปเสนอ ในขณะที่คนฝรั่งเศสในออฟฟิศดูจะไม่ประสีประสากับเรื่องนี้ และยืนยันจะใช้แผนการตลาดแบบเดิมๆ นอกจากนั้นเธอยังเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่เน้นความเปิดเผยใกล้ชิดกับแบรนด์ ขณะที่ซิลวี เจ้านายชาวฝรั่งเศสของเธอ เน้นย้ำความสำคัญของการปกปิดและความสัมพันธ์ส่วนตัว ฉากที่เอมิลีเฉ่งลูกค้าเกี่ยวกับปัญหาเหยียดเพศในโฆษณาที่พวกเขาถ่ายยิ่งดูเหมือนจะทำให้เรื่องนี้ไปกันใหญ่ โดยหนังจัดวางให้อองตวน ลูกค้าฝรั่งเศส (ที่ทั้งเจ้าชู้และไม่แยกเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องงาน) ของเธอยืนยันว่าเขาจะให้นางแบบเปลือยกายเดินไปบนสะพาน เพราะนั่นคือ “ความฝัน” ของผู้หญิง ส่วนเอมิลีก็เป็นตัวแทนของคนอเมริกันหัวก้าวหน้า และเป็นเฟมินิสต์ ที่ต้องตั้งคำถามและตีแผ่มุมมองแบบชายเป็นใหญ่ของเขา

ไม่ว่าจะมองในทางใด ดูเหมือนหนังจะทำให้วัฒนธรรมอเมริกันเหนือกว่าในทุกกรณี และความสวยงามของปารีสที่นำเสนอออกมานั้นก็ไม่ตรงตามความเป็นจริง ไม่ได้เป็นมุมมองที่พยายามทำความรู้จักหรือเข้าอกเข้าใจ แต่เป็นเพียงการนำเสนอเพื่อสนองความบันเทิงใจของผู้ต้องการเสพความแปลกใหม่เท่านั้น

ที่ตลกร้ายก็คือ มุมมองแบบเห็นวัฒนธรรมคนอื่นเป็นของพิสดารนั้น เคยเป็นมุมมองที่ฝรั่งเศสและยุโรปเองใช้มองวัฒนธรรมตะวันออกในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่มีการล่าอาณานิคม เป็นมุมมองแบบบูรพนิยม (Orientalism) ซึ่งเอ็ดเวิร์ด ซาอิด ผู้เขียนหนังสือโดยใช้คำเดียวกันนี้เป็นชื่อเรื่องได้กล่าวไว้ว่า มันเปรียบเสมือนการ “ใส่แว่นตาที่ทำลายการมองเห็นของเรา”1https://www.youtube.com/watch?v=cNI8zc6r7KU ซาอิดได้กล่าวว่า มุมมองนี้เป็นการพยายามนิยามตะวันออก (ที่ใดก็ตามที่อยู่ทางตะวันออกของยุโรป) โดยใช้พื้นที่ที่พิเศษของตะวันออกจากประสบการณ์ของชาวตะวันตก2http://costumesociety.org.uk/blog/post/orientalism-exoticism-and-the-cultural-exchange-in-19th-century-western-dre อย่างเช่นการสร้างภาพอินเดียว่าเป็นมหานครที่เต็มไปด้วยเพชรนิลจินดา การแสดงแปลกๆ อย่างระบำหน้าท้อง และสัตว์ป่าอย่างช้างหรือเสือ หรือสร้างภาพตะวันออกกลางตามแบบเรื่องอะลาดิน มีพรมวิเศษ เวทมนตร์ หรือชีคที่มีนิสัยดุร้ายป่าเถื่อน

“ซาอิดได้กล่าวว่าแนวคิดนี้ มี ‘ความใกล้ชิดที่เกิดจากประสบการณ์ของอังกฤษและฝรั่งเศสที่มีต่อดินแดนตะวันออก ซึ่งจนกระทั่งศตวรรษที่ 19 มันหมายถึงแค่อินเดียและดินแดนในไบเบิล’” 3http://costumesociety.org.uk/blog/post/orientalism-exoticism-and-the-cultural-exchange-in-19th-century-western-dre

มุมมองเช่นนี้ได้สร้างความชอบธรรมให้แก่ตะวันตก ในการครอบครองดินแดนตะวันออกในฐานะเจ้าอาณานิคม เพราะดินแดนเหล่านั้น “ไร้อารยธรรม (uncivilized)” แตกต่างจากชาวตะวันตกที่มีวัฒนธรรมสูงส่งกว่า (cultured, civilzed) และเป็นหน้าที่ของชาวตะวันตกที่จะต้องสั่งสอนคนในดินแดนเหล่านั้นให้กลายเป็นคนที่ดีขึ้น ผ่านการครอบครองและปกครองดินแดนของคนเหล่านั้น กรณีที่ถูกนำมาใช้บ่อยกรณีหนึ่งคือการอ้างว่าคนพื้นเมืองที่นับถือภูติผีไม่มีศาสนา และต้องยัดเยียดให้พวกเขานับถือศาสนาคริสต์

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในศตวรรษที่ 21 นี้ การล่าอาณานิคมทางกายภาพได้แปรเปลี่ยนมาเป็นการล่าอาณานิคมทางวัฒนธรรมไปเสียแล้ว ซึ่งมีอเมริกาเป็นศูนย์กลางแห่งการล่าอาณานิคมแห่งใหม่ อเมริกาได้แผ่ขยายวัฒนธรรมของตนเองผ่านสื่อบันเทิง โดยใช้ฮอลลีวูดเป็นเรือธงในการล่าอาณานิคมทางวัฒนธรรม และให้อำนาจแก่อเมริกาในการสร้างนิยามว่าใครเป็นผู้มีอารยธรรม ใครป่าเถื่อน ดินแดนอื่นที่ไม่ใช่อเมริกา เมื่อมันถูกเล่าผ่านหนังอเมริกัน มันจึงมีความพิสดารแปลกใหม่ แต่น้อยครั้งที่จะอยู่บนฐานความเข้าใจในพื้นที่หรือวัฒนธรรมของสถานที่เหล่านั้นอย่างแท้จริง ดังที่เราชาวไทยอาจเห็นปรากฏการณ์ “Amazing Pattaya” หรือ “Bangkok Fantasy” ในหนังที่มีฉากในไทยอย่าง Hangover

จึงไม่น่าแปลกใจที่ปารีสจะกลายเป็นเสมือน “อินเดีย” ของเหล่านักล่าอาณานิคมสมัยก่อน เพราะมันคือพื้นที่ที่มีภาพจำที่ถูกเล่าโดยคนอเมริกันในวัฒนธรรมกระแสหลัก และเป็นวัฒนธรรมของผู้ล่าอาณานิคมคนใหม่ที่มาแทนที่เจ้าอาณานิคมเก่าอย่างฝรั่งเศสหรือยุโรป สุดท้ายจึงเป็นโจทย์ของฝรั่งเศสอยู่เหมือนกันที่จะ “ถอดถอนการล่าอาณานิยม (decolonise)” โดยอเมริกา ผ่านการออกมามีปากมีแสดงและวิพากษ์การแสดงภาพแทนที่ผิดเพียนของตัวเองจาก Emily in Paris ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS