Home Interview School Town King ก่อนเยาวชนคลองเตยจะปลดแอก

School Town King ก่อนเยาวชนคลองเตยจะปลดแอก

School Town King ก่อนเยาวชนคลองเตยจะปลดแอก

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. มีความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับผลการจัดเรตหนัง School Town King ‘แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ โดยเฉพาะข้อความที่บอกว่า “17 ธันวาคมนี้ (ถ้าได้ฉาย) ในโรงภาพยนตร์” โดยในเพจระบุว่าผลการจัดเรตจะออกในวันพุธที่ 1 ธ.ค. และผลคือหนังได้เรต น13+ แบบเหนือความคาดหมายของทีมงานทั้งหมด ซึ่ง วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ผู้กำกับหนังเรื่องนี้เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องลุ้นกับผลการจัดเรต เพราะว่าหนังได้รับการพิจารณา ‘รอบแรก’ ไปแล้ว และคณะกรรมการไม่ตัดสิน จึงมีการโยกย้ายหนังให้คณะกรรมการอีกชุดพิจารณาในสัปดาห์ถัดมา และผลก็เป็นไปตามที่กล่าวไว้

School Town King เป็นสารคดีติดตามชีวิตของเด็กชุมชนคลองเตย ที่ใช้การแร็ปบอกเล่าชีวิตของเด็กสลัมอย่างพวกเขา ซึ่งหากใครมีโอกาสได้ชม My Echo, My Shadow and Me ที่เข้าชิงรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิงสารคดีสั้นยอดเยี่ยม ปีล่าสุด คงจะพอเห็นความเชื่อมโยงระหว่างหนังทั้งสองเรื่องได้ เพราะมันต่างเล่าความฝันของวัยรุ่นในชุมชนแออัดด้วยกันทั้งคู่ แต่จริงๆ แล้ว หนังเรื่องนั้นคือส่วนหนึ่งของการทำรีเสิร์ชกับชุมชน เป้าหมายที่แท้จริงของ School Town King คือการพุ่งเป้าไปที่การศึกษาต่างหาก

“หลัง ‘นิรันดร์ราตรี’ ผมก็อยากทำประเด็นการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่อยากทำมา 4-5 ปีแล้ว เหตุเพราะในวัยเด็กผมมีประสบการณ์ที่แย่มากในระบบการศึกษา ทั้งเรื่องหลักสูตรและกฏระเบียบต่างๆ ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะทำมุมไหนดี จนได้ไปเวิร์คช็อปกับเด็กคลองเตยด้านการสร้างสรรค์ออกแบบ แล้วรู้สึกน่าสนใจมากเลย อาจเพราะเราถูกจริตกับเด็กซนๆ อยู่แล้วด้วย ตอนนั้นเลยเกิดเป็นโปรเจกต์ ‘Connext Klongtoey’ (นิทรรศการศิลปะที่เล่าเรื่องราวของชุมชนคลองเตยผ่านการบอกเล่าของเด็กในพื้นที่เอง) และจากงานนั้นถึงได้รู้จักกับ School Town King”

วรรจธนภูมิเป็นชายหนุ่มที่ชื่นชอบกีฬาเอ็กซ์ตรีม ที่ผูกพันกับวัฒนธรรมแร็ป หนัง 8 Mile เพลงของ 50 Cent กับ Thaitanium ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมในวัยเด็กของเขา แต่นอกเหนือจากรสนิยมที่เชื่อมโยงกับกลุ่มแร็ปเปอร์แล้ว สิ่งสำคัญก็คือความเป็น underdog ในระบบการศึกษาของทั้งวรรจธนภูมิกับกลุ่ม School Town King “พวกเขามีเครื่องมือในการพูดคือการแร็ป เพลงของเขา เนื้อหา และโน้ตต่างๆ มันสะท้อนปัญหาสังคมเยอะมากเลย ถ้าหนังมี voice ของเขาคงน่าสนใจ พวกเขามีความเป็นนักเล่าเรื่องเหมือนผม และยิ่งเมื่อได้ใกล้ชิดน้องๆ แล้วพบว่าประเด็นเรื่องการศึกษา ความเหลื่อมล้ำในสังคม มันอยู่ในนั้นเยอะมาก เราใช้เครื่องมือของภาพยนตร์ให้คนรับรู้ความรู้สึกเกี่ยวกับประเด็นนี้ และเราอยากให้หนังเข้าถึงวงกว้าง ซึ่งแร็ปมันมีความสนุกของมัน และเรื่องเด็กสลัมก็ยังไม่เคยมีใครเล่ามาก่อน”

บุ๊ค-ธนายุทธ ณ อยุธยา กับ นนท์-นนทวัฒน์ โตมา คือสองตัวละครหลักที่วรรจธนภูมิเลือกติดตาม หลังจากใช้ชีวิตร่วมกับเด็กในชุมชมแออัดในขณะทำโครงการ Connext Klongtoey อยู่แรมเดือน “เด็กเหล่านี้มีความซับซ้อนในวัยของเขา เพราะฉะนั้นอาจจะไม่ได้เปิดใจกับเราทุกคน ก่อนจะทำหนังเราต้องเป็นเพื่อนกับเขาให้ได้ก่อน ซึ่งพอเราอยู่กับน้องๆ กลุ่มนี้ก็สนุกดี (หัวเราะ) บทบาทของเราคือการเป็นผู้ฟังที่ดี ตอนทำ Connext Klongtoey หรือ School Town King เด็กๆ ไม่ค่อยมีใครที่เขาจะไว้ใจเล่าความคิดของเขาได้ หนังเรื่องนี้มันเป็นจุดที่ทำให้เราเชื่อมโยงกันได้ มันเป็นกระบวนการที่ไม่แน่ใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำหนังหรือการสร้างความสัมพันธ์ของเรา อย่างบุ๊คเขาก็เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมาเยอะแล้ว เพราะฉะนั้นเขาก็จะมีวิธีนำเสนอตัวตนของเขา มีวิธีพูดกับสื่อ ของเรามันจึงต้องลึกกว่าที่เขาเคยพูดที่อื่นมา ส่วนนนท์ก็ตลกๆ ซื่อๆ เลย”

School Town King ถ่ายทำเมื่อปี 2018 ระหว่างนั้นเกิดเรื่องราวขึ้นมากมาย วรรจธนภูมิกับกลุ่ม Eyedropper Fill ได้ทำโปรเจกต์ยิงเลเซอร์ “ตามหาความจริง” ตามสิ่งปลูกสร้างในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 63 ขณะที่บุ๊คก็โดนหมายจับ ม.116 (ยุยงปลุกปั่น) จากการขึ้นไปแร็ปบนเวทีชุมนุม เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค.63 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สอดคล้องไปกับที่ความตื่นตัวเรื่อง “การศึกษา” และ “ความเหลื่อมล้ำ” ดังที่วรรจธนภูมิต้องการสื่อสารผ่าน School Town King วิวัฒน์ไปไกลจากวันนั้นมาไกลนัก

“ผมทำเรื่องนี้เพราะอยากให้เกิดการถกเถียงในกลุ่มคนไทยมากเลย ในวันที่ทำหนังเรื่องนี้ เด็กๆ ยังไม่ออกมาแสดงจุดยืนกันเยอะเท่าตอนนี้ ถ้าหนังมาทำตอนนี้มันก็คงจะแรงกว่าที่ตัวหนังเป็นเยอะมาก แต่มันก็จะเป็นหลักฐานให้เราได้เห็นว่าอะไรที่กดทับพวกเขาอยู่ เด็กๆ ต้องเผชิญกับอะไรมาบ้าง จนทำให้เกิดการลุกขึ้นของเยาวชนในวันนี้”

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here