ในความทรงจำของคนยุค 90 แบบผมนั้น นอกเหนือจากการเป็นหนึ่งในสมาชิก ‘สามโทน’ แล้ว ธงชัย ประสงค์สันติ ยังได้รับการจดจำในฐานะของนักแสดงตลกในหนังขายสายต่างจังหวัด โดยเฉพาะหนังชุด ‘บ้านผีปอบ’ ที่เขาวิ่งหนีผีอยู่หลายภาค
แต่ความจริงที่ไม่ได้ปรากฏทางหน้าจอ คือช่วงชีวิตเริ่มต้นในวงการบันเทิงของธงชัย เคยผ่านการฝึกงานในกองถ่ายหนังเรื่องท้ายๆ ของ วิจิตร คุณาวุฒิ อย่าง ‘ลูกอีสาน’ (1982) และยังเป็นหนังเรื่องแรกที่เขาได้ร่วมแสดงอีกด้วย ซึ่งที่แห่งนั้นก็ได้จุดประกายเล็กๆ ให้เขาอยากทำหนังเป็นครั้งแรก
ปัจจุบันธงชัยคือผู้กำกับและผู้จัดละครชื่อดังแห่งค่าย พอดีคำ และด้วยความสำเร็จอย่างท่วมท้นของละคร ‘ผู้บ่าวอินดี้ ยาหยีอินเตอร์’ (2019, นันทรัตน์ นันทเอกพงศ์) เปิดโอกาสให้เขาได้ต่อยอด ทำภาคต่อในรูปแบบหนังเข้าโรงในชื่อ ‘เลิฟยู โคกอีเกิ้ง’ โดยที่เขาของลงมือกำกับเอง
และนี่คือหนังยาวเรื่องแรกในชีวิตของ ธงชัย ประสงค์สันติ หลังจากตามความฝันมายาวนานเกือบ 40 ปี
ความฝันของ ‘ลูกอีสาน’
การรอคอยมานานร่วม 40 ปี เพิ่งสัมฤทธิ์ผลในปีที่โควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก ธงชัย ประสงค์สันติ ใเล่าความรู้สึกนั้นให้ฟังว่า
“ตื่นเต้นดี ที่บอกว่าตื่นเต้น ก็คือตื่นเต้นกับกระบวนการถ่ายหนัง จริงๆ ผมมาจากหนังนะ เรื่องแรกคือเรื่อง ‘ลูกอีสาน’ แต่เราก็ไม่ได้เข้าไปในกระบวนการทำงานมากขนาดนั้น ท่านกำกับ เราแค่เป็นนักแสดง ช่วยแปลบทพูด เป็นผู้ช่วยฝ่ายอาร์ต ช่วยกำกับตัวประกอบบ้าง เล็กๆ น้อยๆ แต่กับ ‘เลิฟยู โคกอีเกิ้ง’ มันเป็นอะไรที่ใหญ่สำหรับเรามาก
“พอเราได้ลงมือมันก็เป็นไปอย่างอัตโนมัติ เพราะเราได้ทีมกล้องหรือผู้ช่วยผู้กำกับจากสายหนังเข้ามาช่วย แต่ในความรู้สึกผม ไม่ว่าจะวิธีการอะไรก็แล้วแต่ อารมณ์ของหนังต้องยังอยู่ หนังที่เราอยากให้มันเป็นมันต้องอยู่กับเรา ต้องมาจากรสมือของเรา มาจากสัญชาตญาณของเรา”
ชีวิตในวงการบันเทิงของธงชัย เริ่มต้นตั้งแต่วัยรุ่นหลังจบ ม.ศ.3 (หรือเทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 3) ก่อนตัดสินใจเดินทางจากโคราช มาเรียนในโรงเรียนสอนการแสดงของช่อง 3
“ย้อนไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เราเรียนการแสดงที่ช่อง 3 ก็มีครูใหญ่ คือ อ.สดใส (รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล) จากภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาสอนให้ มี อ.คณิต คุณาวุฒิ (ลูกชายของ วิจิตร คุณาวุฒิ) มาสอนการวิจารณ์หนัง ควบคู่ไปกับศิลปะทางภาพยนตร์ เราก็ไปดูหนัง แล้วก็เขียนวิจารณ์ในมุมมองของเราส่งไป แล้วก็เรื่องดนตรีก็ได้เรียนกับ อ.บรูซ แกสตัน เป็นช่วงที่เรามีความสุขมาก”
โดยผลงานการแสดงของธงชัยเรื่องแรกคือละครที่ชื่อ ‘โลกใบเล็ก’ (1983) ก่อนที่จะได้ไปร่วมแสดงและฝึกงานเบื้องหลังในกองถ่ายหนัง ‘ลูกอีสาน’
“เราถือว่าโชคดีมาก เราได้ภาคทฤษฏีจากโรงเรียนการแสดง แล้วมาได้ภาคปฏิบัติจากในกองหนังของ ครูวิจิตร คุณาวุฒิ คือมันสุดยอดมากๆ ความอยากทำหนังเรามันก็เริ่มจากตรงนั้น”
ตำนาน ‘บ้านผีปอบ’
แน่นอนว่าเราอดไม่ได้ที่จะถามถึงหนึ่งในงานแสดงที่โด่งดังที่สุดของธงชัยอย่าง ‘บ้านผีปอบ’ โดยเฉพาะบรรยากาศการทำงานของ “หนังสาย” ในยุคนั้น
“เราชอบความแม่นยำของคนสมัยก่อนนะ คือด้วยงบประมาณมันน้อย การจะมาถ่าย insert อะไรมากๆ ก็เป็นไปได้น้อยเพราะค่าฟิล์มมันแพง ม้วนนึงตก 7- 8 พันบาท ทุกอย่างก็บ้านๆ เปลี่ยนเลนส์น้อยหน่อย insert น้อยหน่อย (หัวเราะ) ภาพกว้างก็จะเยอะหน่อย แล้วก็มีมาพากย์ที่หลังให้มันได้ใจความ ตังก็จ่ายกันวันแรกเลย ปิดกล้องเสร็จก็มอบจ่ายกันตรงนั้นเลย มันกินอยู่ร่วมกัน มันเลยเป็นบรรยากาศที่สนุกมาก คือเราถ่ายกันอยู่ที่ จ.สุพรรณบุรี กันจนคุ้นมาก ตั้งแต่จังหวัดยังไม่มีห้าง ทีแรกชาวบ้านเขาก็ชอบมานั่งดูเราถ่ายกัน แต่หลังๆ เขาก็ไม่สนใจละ ไปทำนาหาปลากันดีกว่า
“คือเวลาถ่ายก็เอาหัวใจของเรื่องเป็นหลัก ดังนั้นคิวมันต้องแม่นมาก เอ้า! วันนี้เราจะถ่ายตลกกัน เราจะวิ่งหนีผีกันนะ ถ่ายกัน 5 วัน จบปั๊บ อีก 2 วันก็เป็นเส้นเรื่องของพระเอกนางเอกไป แล้วนักแสดงที่เล่นร่วมกันก็ต้องรู้ใจกันมากๆ การวิ่งหนี รับมุกส่งมุก คือลูกสดเยอะมาก ที่สำคัญสุดคือทุกคนทุ่มเทใจมาก และเราก็มองว่ามันคืองานที่ทุกคนมีส่วนร่วมกันทั้งหมด ไม่มีพระเอกนางเอกสำคัญกว่า หรือแม้แต่เราสำคัญกว่า ทุกอย่างมันไปพร้อมกันเป็นทีมหมด เหมือนเป็นทีมที่ซ้อมกันมานานมาก ทั้งที่ก็พึ่งมาเจอกันนะ แต่ทุกคนเคารพรักและให้เกียรติในการทำงานมาก ทุกคนก็เลยสนุกกับมัน”
เป็นคนแนวโรแมนติก-คอมิดี้
เมื่อเราลองถามเปรียบเทียบระหว่างตัวของธงชัย กับนักแสดงร่วมรุ่นที่มีผลงานกำกับหนังมาก่อนหน้าอย่าง หม่ำ จ๊กมก (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ก็ได้คำตอบว่า
“ของหม่ำเขาจะแข็งแรงมากในความเป็นคอมิดี้ คือได้รับความบันเทิงแน่นอน แต่สำหรับสิ่งที่ผมอยากแชร์ คือความเป็นโรแมนติก-คอมิดี้ ในอีกรสชาติหนึ่งให้กับผู้ชม ถ้าเป็นส้มตำ มันอาจจะเป็นรสชาติที่ไม่เผ็ดมาก แต่กินได้ทุกคน”
โดยแรงบันดาลใจที่ทำให้ธงชัยชื่นชอบในทางโรแมนติก-คอมิดี้ คือหนังของนักแสดงตลกระดับตำนานอย่าง ชาร์ลี แชปลิน
“ผมรู้สึกว่าในความตลกของเขา มันมีความดราม่าอยู่ด้วย มันมีเส้นชีวิตทุกฉากทุกตอนที่เขาแสดง มันเป็นความบันเทิงที่ทาบไปด้วยเงาของชีวิตจริงๆ แล้วมันยังมีมุมมองบางอย่างที่กล้าจะเล่นกับชีวิตของตัวละคร”
ไม่ใช่ภาคต่อ แค่ยืมชื่อตัวละครมาเล่าใหม่หมด
เรื่องราวความรักของหนุ่มอีสานที่เป็นตำรวจปลอมตัวมากับสาวไฮโซลูกครึ่ง ณ หมู่บ้านโคกอีเกิ้งในฉบับละคร ถูกรื้อสร้างใหม่ด้วยการยังยึดชื่อตัวละครเดิมไว้ แต่เปลี่ยนบทบาทใหม่หมด
โดย ‘เลิฟยู โคกอีเกิ้ง’ เล่าเรื่องราวของบักพล (ศุกลวัฒน์ คณารศ) กับคนรัก แหม่ม (เซฟฟานี อาวะนิค) สาวลูกครึ่งที่กำลังจะถูกพ่อฝรั่งจับแต่งงาน ทั้งสองจึงพากันหนีไป ทว่าพวกเขาก็ต้องกลับมา เมื่อพ่อของแหม่มตาย และกลายเป็นผีสุดเฮี้ยนที่หลอกคนทั้งหมู่บ้านจนอลมาน
ธงชัยพูดถึงแนวคิดในการดัดแปลงละครเรื่องดังให้กลายเป็นหนังว่า “ผมพูดตรงๆ นะ โจทย์ของผมคือ ทำยังไงให้หนังได้เงิน เพื่อที่ถ้าเงินมันเหลือ ผมจะได้ไปทำหนังในแบบที่อยากทำบ้าง แต่ถ้าเรื่องแรกมันไม่เวิร์ค มันก็ไปต่อยากมาก ดังนั้นแปลว่า หนึ่ง-รักต้องมี เส้นรักต้องแข็งแรงมาก สอง-ความบันเทิงระดับชาวบ้าน เช่นคนรุ่นผมอายุ 50 กว่า ไม่ว่าผู้ชายผู้หญิง ต้องดูได้ สาม-คนไทยชอบดูหนังผี ก็ต้องมีผีด้วย แล้วสำหรับวัยรุ่น คนเมือง ก็ต้องมีมุมที่เขารับได้ ฟินไปกับหนังได้ด้วย ฟินไปกับเสน่ห์ของคู่พระนางคือ เวียร์ กับ เซฟ ซึ่งทั้งคู่น่ารักมาก แล้วมันยังมีเรื่องของประเพณี เรื่องครอบครัว ผสมอยู่ในหนังด้วย
“ผมใช้เวลาคิดร้อยเรียงความคิดเหล่านี้ทั้งหมดให้มันออก และไม่เกินไปกว่าความเป็น ‘ผู้บ่าวอินดี้ ยาหยีอินเตอร์’ มันเลยเป็นโจทย์ที่ยากหน่อย สุดท้ายแล้วหัวใจสำคัญที่สุด คือทำยังไงให้ผู้ชมฟินไปกับพระเอก-นางเอกของเรื่องมากกว่า ที่เหลือมันก็คือของแถมที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน ดึงดูดซึ่งกันและกัน”
“เมื่อก่อนคนอีสานเคยถูกล้อว่าเป็นคนบ้านนอก แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว อะไรที่มันเป็นวิถีชีวิตแท้ๆ มันมีค่ามากนะ”
หนังอีสานที่ดูได้ทุกคน
หากเทียบกับภาพจำในอดีตของอีสานอันแร้นแค้นในหนัง ‘ลูกอีสาน’ ภาพของอีสานในปัจจุบันนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงด้วยพลังของสื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ เช่นเดียวกับทัศนคติต่อคนอีสาน ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกค่อนแคะดูถูกให้เป็นอื่น ก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน
“เมื่อก่อนคนอีสานเคยถูกล้อว่าเป็นคนบ้านนอก แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว อะไรที่มันเป็นวิถีชีวิตแท้ๆ มันมีค่ามากนะ คนลืมความเป็นบ้านนอก ความเป็นเซราะกราวไปแล้ว ซึ่งผมต้องชมศิลปินอีสานนะ เขาทำและต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้จนเป็นเพลงเป็นนู่นเป็นนี่ ความเป็นอีสานถูกถ่ายทอดเป็นเพลงเป็นสื่อต่างๆ จนได้รับการยอมรับมากขึ้น มันจะมาเจาะจงเป็นคำหรือเป็นประโยคเพื่อมาต่อว่าก็คงไม่ได้แล้ว มันกลายเป็นงานศิลปะ กลายเป็นชีวิตจริงๆ ที่ทุกคนยอมรับแล้ว
“ไม่ใช่แค่ภาคอีสานนะ ผมว่าทุกภาคมันเท่ากันหมดแล้ว คือคนไม่มีเวลาที่จะมาคิดว่าใครมาจากภาคไหน มันอยู่ที่ใครใช้ชีวิตสนุกกว่ากัน ใครมีความสุขมากกว่ากัน ใครมีวิถีที่ใช้ชีวิตเป็น ใช้ชีวิตเรียบง่าย ในขณะที่โลกมันบีบคั้นด้วยความเครียด ด้วยเศรษฐกิจ ด้วยเรื่องราวมากมาย เราคิดว่าเราให้ความสำคัญกับชีวิตจริงๆ มากพอหรือยัง หรือให้ความสำคัญกับมันมากน้อยแค่ไหน”
เช่นเดียวกับสิ่งที่ธงชัยเชื่อมั่นใน ‘เลิฟยู โคกอีเกิ้ง’ คือเนื้อหาของหนังที่เป็นสากลและสื่อสารกับคนดูทุกกลุ่ม โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นผู้ชมชาวอีสานเท่านั้น