จากเหตุการณ์เก็บผลงานศิลปะนักศึกษาไปทิ้งของผู้บริหารในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จนเรื่องบานปลายไปถึงการตั้งคำถามถึงว่า “ศิลปะ คืออะไร?” ในห้วงเวลาเดียวกันนี้ เราก็เห็นการใช้งานศิลปะเพื่อแสดงจุดยืนหรือพูดถึงประเด็นทางการเมืองอย่างกว้างขวางในโลกโซเชียลมีเดีย นั่นทำให้เรายิ่งตระหนักว่า ศิลปะคือส่วนหนึ่งที่แนบติดไปกับชีวิตผู้คน ในการแสดงออกทางความคิดในเรื่องราวต่างๆ จนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
เช่นเดียวกัน ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ คนทำงานศิลปะแนววิดีโออาร์ต ผู้สะท้อนความโกรธเกรี้ยวที่มีต่อประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย ผ่านผลงานที่ผลิตมาต่อเนื่องกว่าทศวรรษ โดยเฉพาะ ‘ภูเขาไฟพิโรธ’ A Ripe Volcano (2011) นิทรรศการวิดีโอและเสียงจัดวาง (installation art) ที่แม้จะเป็นบันทึกความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์รัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 แต่ผ่านมาสิบปี งานชิ้นนี้ก็ยังคงถูกนำไปจัดแสดงในที่ต่างๆ ทั่วโลก
คำถามและความรู้สึกเหล่านั้นของไทกิ ถูกส่งต่อเนื่องมาถึงหนังยาวเรื่องแรกของเขาอย่าง ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ The Edge of Daybreak ที่เพิ่งเปิดตัวครั้งแรกในสายประกวดหลักของเทศกาลหนังนานาชาติร็อตเตอร์ดาม 2021 แล้วคว้ารางวัล FIPRESCI Award มาได้สำเร็จ
‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ คือหนังขาว-ดำที่เล่าเรื่องราวของครอบครัวหนึ่ง ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์ ไล่เรียงมาตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 จนมาถึงช่วงเหตุรัฐประหารปี 2549 ผ่านตัวละครหญิงสาว 3 รุ่น
กระนั้น นี่ไม่ใช่หนังการเมืองที่เล่ามันออกมาอย่างตรงไปตรงมา เพราะมันคือการร้อยเรียงบันทึกทางการเมืองจากหลากหลายแหล่งที่มา ที่ถูกเบลอทับไปด้วยบันทึกความรู้สึกส่วนตัว ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเป็นความตายของสมาชิกหลายคนในครอบครัวของตัวไทกิเอง ที่ต่อเนื่องกินเวลายาวนานร่วมทศวรรษของเขา
ย้อนไปที่งาน installation art อย่าง ‘ภูเขาไฟพิโรธ’ ที่เผยแพร่มาตั้งแต่ 10 ปีก่อน และยังเป็นงานที่ได้รับความสนใจอยู่จนถึงปัจจุบัน อยากรู้ว่าคุณรู้สึกอย่างไร
จริงๆ นัยสำคัญที่ยังทำให้ตัวงานชิ้นนี้ มันยังถูกมาจัดแสดงเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน คือมันยังเกี่ยวข้องกับสภาวะปัจจุบัน ทั้งๆ ที่มันผ่านมาสิบปี ปัญหาก็ยังยืดเยื้อเรื้อรัง ผมว่า ‘ภูเขาไฟพิโรธ’ มันพูดถึงปัญหาที่มันเกิดขึ้นภายใน..ภายในอารมณ์ สภาพจิตใจ ที่มันสะท้อนถึงสังคม สภาวะทางด้านการเมือง คือให้มองไปอีกสิบปีข้างหน้า งานชิ้นนี้ก็ยังเมคเซ้นต์อยู่ ปัญหาอย่างที่ทุกคนรู้ ว่าทางการเมืองมันไม่เสถียร
แต่ว่านั่นคือมุมมองของผมในฐานะคนทำนะ เพราะความรู้สึกของคนดูกับคนทำมันคนละแบบอยู่แล้ว คือผมดูมันมาไม่รู้กี่รอบ แต่ก็ยังดูได้อยู่นะ หรือแม้แต่ตอนที่ผมทำหนัง ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ เมื่อมองกลับไปที่ตัวงาน ‘ภูเขาไฟพิโรธ’ สิ่งที่เรายังรู้สึกกับงานชิ้นนี้อยู่คือเรื่อง “เสียง” เพราะนี่คืองานชิ้นแรกที่ผมทำกับ ยาสุฮิโร โมริทากะ (Yasuhiro Morinaga ซาวด์เอนจิเนีย และนักออกแบบเสียงชาวญี่ปุ่น เป็น Music Director หรือผู้ทำดนตรีประกอบให้ ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’) คือเสียงที่เขาทำให้งานชิ้นนี้มันพิเศษมาก คือสิบปีผ่านไปมันยังสดใหม่อยู่เลย ผมยังค้นหาจากมันได้ คือในฐานะคนทำผมก็รู้สึกมีความสุขที่ทำงานชิ้นนี้กับเขา แล้วก็ได้ร่วมงานกันยาวนานมาก สิบปีก็ยังทำงานด้วยกันอยู่ การเดินทางแล้วก็ได้เจอผู้ร่วมงานที่การมีมิตรภาพมันสำคัญกับผมมากๆ
ในหนัง ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ ทำไมถึงเลือกสำรวจสภาวะทางจิตใจ ที่มีต่อเหตุการณ์ทางการเมือง ผ่านช่วงเวลายาวนานตั้งแตในอดีต 14 ตุลา 16 จนมาถึงช่วงเหตุรัฐประหารปี 2549
ผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องบันทึกความรู้สึก บันทึกทัศนคติ พยายามถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาด้วยสื่อภาพยนตร์หรือภาพเคลื่อนไหว สำหรับผมมันเป็นสิ่งที่ต้องทำ
ที่นี่พอสเกลการทำงานมันใหญ่ขึ้นมาสำหรับผม แล้วก็จะได้ร่วมงานกับคนที่เก่งมากๆ หลายคน ที่เขาจะมาช่วยเนรมิตสิ่งที่เขียนออกมาได้ และด้วยความยาวของมัน วิธีการที่ผม approach งาน มันก็คล้ายกับงานแบ็คกราวด์ในการทำงานที่ผมเคยทำ
อย่าง “ธีม” ของงานชิ้นนี้ คือธีมสำหรับผมมันสำคัญมาก ยกตัวอย่าง ‘ภูเขาไฟพิโรธ’ ธีมของมันมาจากเพลงของ ริชชาร์ท วากเนอร์ (Richard Wagner) ที่ชื่อ “Tristan und Isolde” คือคอร์ดเริ่มต้นของโอเปร่าชิ้นนั้น ซึ่งภาษาทางดนตรีเขาเรียกคอร์ดชุดนั้น ว่า dissonant chord หรือมันไม่คลี่คลาย ก็คือมันอธิบายสถานการณ์ที่พระเอกกับนางเอก ก็คือตัว Tristan กับ Isolde ไม่สามารถลงรอยทางความสัมพันธ์ได้ สิ่งที่วากเนอร์ทำ เขาเลยคิดโมทีฟอันนี้ที่เรียกว่า harmonic suspension คือท่วงทำนองมันถูกกดทับ มันจะค่อยๆ crescendo (ไต่ระดับ) ขึ้นไป แต่ทุกครั้งที่พอจะถึงไคลเม็กซ์ มันจะลดลงทุกครั้งเลย ซึ่งในงาน ‘ภูเขาไฟพิโรธ’ มันก็ถูกคิดขึ้นบนความรู้สึกโดยยึดธีม harmonic suspension จนกลายเป็นหัวใจของตัวเนื้องานที่ออกมา
จนมาถึงหนัง ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ ผมก็ยังนิสัยเดิม คือธีมของมันคือ paralysis หรืออัมพาต ในการตีความของผมตอนเขียนบท แน่นอนว่าสภาวะอัมพาต ถ้าเป็นทางร่างกายมันคือการถูกจองจำ ร่างที่ขยับเขยื้อนไม่ได้ อย่างในหนังมันก็จะมีตัวละครที่มีสภาวะนี้อยู่ หรือแม้กระทั่งเสียงที่พยายามจะพูดออกมา แต่ไม่ว่าเปล่งออกมาเป็นเสียงไม่ได้ แล้วผมก็นึกถึงไปจนภาวะอัมพาตทางอารมณ์ ทางจิตใจ พอผมได้ธีมนี้ปุ๊บ มันก็สอดคล้องกับสิ่งที่ผมจะเล่า
ต่อมาผมก็มองไปถึงสิ่งที่ผมสนใจ คือผมสนใจในลักษณะของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น landscape ทางกายภาพ หรือ landscape ภายในจิตใจ มันเป็นอะไรที่ผมต้องสำรวจ คือพอธีมเหล่านี้มา ผมก็รู้เลยว่ามันจะเล่าเรื่องราวของครอบครัวครอบครัวหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์บางอย่างที่มันสำคัญมาก อย่างเหตุการณ์สำคัญที่มันเห็นได้ชัดเจนที่สุดในหนัง มันก็คือพลังของธรรมชาติ ในที่นี่มันก็คือสุริยุปราคา แต่ด้วยความที่เรามาจากสายทดลอง เราก็คิดว่าสุริยุปราคาในความสนใจของเรา มันไม่ใช่สุริยุปราคาที่มันมองเห็นด้วยตา แต่มันคือสุริยุปราคาที่เกิดขึ้นในใจ เป็นสภาวะทางอารมณ์ รู้สึกได้ มันก็เลยมีอำนาจบางอย่างที่มาควบคุมความเป็นอัมพาตของตัวละครในเรื่องด้วย
ผมได้อ่านจากบทสัมภาษณ์ของคุณจากงานนิทรรศการล่าสุด Until the Morning Comes เมื่อปีก่อน เลยทราบว่า ในช่วงที่ผ่านมาชีวิตส่วนตัวก็มีเรื่องราวของการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว มันมีผลกับการพัฒนาโปรเจ็กต์ ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ มากแค่ไหน?
แน่นอน อย่างหนึ่งคือ ไม่ว่าเราจะรีเสิร์ชข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ 6 ตุลา จนมาถึงรัฐประหารปี 2549 ซึ่งมันกินเวลา 30 ปี แล้วแรงบันดาลใจมันมาจากบทบทหนึ่งในหนังสือ ‘สันติปรีดี’ ของ อ.ชมัยภร แสงกระจ่าง ที่เขียนถึงครอบครัวของ อ.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งตอนที่ผมอ่านมันกระทบกับเรามาก มันเล่าถึงช่วงเวลาที่ทหารบุกมาที่บ้านของ อ.ปรีดี ช่วงกลางดึกแล้วท่านก็ตัดสินใจกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาหนีออกไป ซึ่งจังหวะนั้นทหารก็ยิงปืนเข้ามาในบ้าน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาของท่านก็ตะโกนออกไปว่า “หยุดยิง ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก”
คือผมสนใจในลักษณะที่ว่า เหตุการณ์ทางการเมืองมันทำให้ครอบครัว หน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมมันต้องแตกแยก การต้องลี้ภัยของ อ.ปรีดี หรือในแง่ความเป็นแม่ของท่านผู้หญิงพูนศุขที่ต้องการปกป้องครอบครัว มันเชื่อมโยงกับชีวิตส่วนตัวเราได้ อย่างตัวแม่ผมที่ต้องต่อสู้ทางกายภาพหลังจากการผ่าตัด ต่อสู้กับความเจ็บป่วย คือหนังเองมันมีความเป็นส่วนตัวมากนะ แต่ในลักษณะคนทำหนังอย่างผม เราก็จะบอกแค่เท่าที่เป็นไปได้ แต่จะไม่บอกชัดขนาดส่วนไหนของหนังบ้างที่เป็นเรื่องส่วนตัว หรือไม่ส่วนตัว สิ่งที่เราจะทำคือ การทำให้สิ่งที่เรารีเสิร์ชมาทั้งหมด กลายมาเป็น ‘หนังของผม’ ให้ได้ คือเราไม่ได้ทำหนัง biopic หรือหนังที่ว่าด้วยเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ตรงไปตรงมาขนาดนั้น ดังนั้นความเป็นส่วนตัวมันจึงสำคัญมาก มันคือเรื่องส่วนตัวที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่ใหญ่มากอีกที เราต้องทำให้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มัน relate กับคนที่เคยผ่านสภาวะที่แตกหักของคนในครอบครัวได้ เพราะสุดท้ายถ้าให้เราทำหนัง biopic แบบตรงไปตรงมา ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจจะทำอยู่ดี
จริงๆ มันมีความบังเอิญอย่างนึงคือ ด้วยความที่เราอ่านหนังสือหลายเล่มมากจนจำคนเขียนไม่ได้ แล้ว ทิพย์ (ทิพย์วรรณ นรินทร หนึ่งในผู้ก่อตั้ง SOITIP Casting หน่วยค้นหานักแสดงเจ้าประจำในหมู่คนทำหนังอิสระไทย) ก็ดันแคสติ้ง อ.ชมัยภร มาเป็นตัวละครหนึ่งในเรื่อง ซึ่งผมก็ไม่ได้บอกใครเรื่องหนังสือ ‘สันติปรีดี’ ด้วย จนตัวอาจารย์ได้อ่านบท เขาก็ไม่แน่ใจว่าจะรับแสดงไหมนะ คือเขามาออดิชั่น มาลองอ่านบท ซึ่งเราก็อยากได้คนนี้มาเล่น ก็เลยขอทิพย์ว่าอยากลองโทรคุยกับอาจารย์ ว่าทำไมผมถึงอยากได้เขามาแสดง อาจารย์ก็ถามว่าแรงบันดาลใจของผมคืออะไร เหมือนที่คุณถามเลย ก็เล่าไปแบบนี้เลย จนอาจารย์ถามว่า ใช่หนังสือ ‘สันติปรีดี’ หรือเปล่า? ใช่ครับ อาจารย์รู้ได้ไง อาจารย์ก็ตอบว่าฉันเป็นคนเขียนเอง ซึ่งอาจารย์เขาอยากลองเล่นนะ เพราะว่าไม่เคยแสดงมาก่อนเลย
สิ่งที่คุณอยากจะสื่อก็คือ สำหรับเราการเบลอเรื่องส่วนตัวของตัวเรากับเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ มันทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากเรื่องเล่ามันไปไกลกว่า การเล่ามันออกมาอย่างตรงไปตรงมาหรือเปล่า?
มันก็คือสิ่งที่เราทำมาตลอด 10 ปี เราพูดถึงประวัติศาสตร์มาโดยตลอด เพียงแต่มันไม่มีการบรรยายประกอบ หรือเสียงของผู้เล่าเรื่อง ไม่งั้นผมก็คงไปทำสารคดีดีกว่า มันคือการทำตามลักษณะและความถนัดของตัวคนทำอะครับ
พูดถึงการสำรวจ landscape ในหนัง ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ พื้นที่ทั้งสามพาร์ตหลักในหนังมีลักษณะร่วมกันบางอย่าง เช่นความรกร้าง ไม่เรียบร้อย หรือแม้แต่การใช้สถานที่อย่างโรงฆ่าสัตว์ เพราะอะไรหรือครับ?
พอหนังมันพูดถึงการล่มสลายในบริบทต่างๆ ทั้งในเชิงการล่มสลายของครอบครัว หรือการล่มสลายทางสภาวะจิตใจของนางเอก ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Mental breakdown พอธีมมันว่าด้วยสิ่งนี้ พื้นที่มันเลยมีความหมายมากกว่านั้น มันกลายเป็นพื้นที่ของประสาทรับรู้ละ ประสาทรับรู้ของตัวละครในเรื่องนี้มันสำคัญมาก พื้นที่เหล่านี้เลยถูกจำลองมาจากประสาทรับรู้ของตัวละคร เป็นภาพสะท้อนมาจากสภาวะจิตใจของตัวละครอีกที
นอกจากการจำลองสภาพจิตใจของตัวละครออกมาเป็นภาพแล้ว บรรดา Sound Design และดนตรีประกอบในเรื่อง ก็มีหน้าที่ในลักษณะเดียวกันด้วยหรือเปล่า?
ก็อาจจะตีความไปในลักษณะนั้นได้ แต่คืออย่างนี้ ผมว่าความเป็นตัวของตัวเองในการทำหนังมันสำคัญมาก แน่นอนว่าคนดูอาจจะคุ้นกับ (นิ่งคิด) ความเงียบ หรือ Sound Design ที่มันตอบรับตามความเป็นจริงไปหมด
มันอาจจะเป็นแบบนี้ คือหลังจากเราทำบทเสร็จ เตรียมจะถ่ายทำ เราก็ส่งบทไปให้ ยาสุฮิโร อ่าน อ่านเสร็จแล้วก็ได้ประชุมกัน คุยกัน ความชอบของผม ผมชอบหนังญี่ปุ่นของ ผกก.Hiroshi Teshigahara มาก เช่น Woman in the Dunes (1964) Pitfall (1962) Antonio Gaudi (1984) The Face of Another (1966) รวมถึงหนังที่เขาทำกับ Masaki Kobayashi อย่าง Kwaidan (1965) หรือเรื่อง Pale Flower (Masahiro Shinoda, 1964) ซึ่งหนังทั้งหมด คนที่ทำดนตรีประกอบคือชื่อ Tōru Takemitsu เป็นอาวองการ์ด คอมโพสเซอร์ ซึ่งผมกับยาสุฮิโร ชอบงานของเขามาก แล้วตอนเขียนบทก็รู้สึกว่าเสียง Sound Design แบบนั้นมันเหมาะมาก คือมันข้ามไปถึงสิ่งที่เรียกว่า Musique concrète (หมายถึงงานประพันธ์ดนตรีที่ใช้เสียงทั่วไป ไม่ได้ใช้เสียงดนตรี) หรือว่า Electroacoustic เสียงที่มันเป็น ambient แต่มันกลายเป็น Instrument แล้วมันสะท้อนถึงอารมณ์และจิตใจของตัวละครในนั้น
ซึ่งก็คงเหมือนกับสื่งที่คุณ (ผู้สัมภาษณ์) สังเกตเห็นผ่าน Landscape ของหนังเรื่องนี้ ว่ามันคือการสะท้อนภาวะข้างในตัวละครออกมาให้เห็นข้างนอก ซึ่งนั่นก็เป็นหนึ่งในหัวข้อที่เราคุยกับยาสุฮิโรในตอนนั้น แต่เขาจะทำอะไรมาให้ก็เป็นเรื่องของเขาละ ซึ่งแน่นอนด้วยความที่รู้จักและทำงานด้วยกันมานาน เขาเลยสามารถทำอะไรบ้าง ที่มันไปในทิศทางนั้นได้
แม้แต่กระทั่งตอนเรามิกซ์เสียงกับ ริศ – อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร (sound designer ของหนังเรื่องนี้ ที่คอหนังอิสระน่าจะคุ้นเคย เพราะได้เข้าชิงรางวัลทางภาพยนตร์ของไทยแทบทุกปี) อย่างนึงที่ผมรู้สึกก็คือ ตัวผมต้องตื่นเต้นกับมัน หมายถึงผมเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ว่าถ้าดูหนังเรื่องนี้ในโรง ต่อให้อีกกี่ครั้งก็ตาม จะสิบปียี่สิบปีข้างหน้า ผมต้องยังรู้สึกตื่นเต้นกับมันอยู่ คือมันต้องไปเลเวลนั้น แบบที่เราไม่นึกเสียดายเมื่อย้อนมาดูมันในอีกสิบปีข้างหน้าว่า ทำไมเราต้องประนีประนอมกับมัน เราไม่อยากรู้สึกแบบนั้น
ทำไมเราถึงยึดมั่นกับความรู้สึก “ตื่นเต้น” ที่แม้จะไปดูหนังเรื่องนี้สักกี่ครั้งในอีกหลายปีข้างหน้าก็ตาม
คือนอกจากเราเป็นคนทำแล้ว เราเองก็มีฐานะเป็นคนดูด้วย ดังนั้นเราไม่อยากจะรู้สึกว่า เราไม่ได้ทำมันอย่างที่เราคิด จินตนาการออกมาจริงๆ หรือเราไป hold back มัน ประนีประนอมมันเพราะกลัวว่าคนดูจะหนวกหูไป หรือดูแล้วไม่เข้าใจมัน อะไรพวกนั้นเลย คือมันต้องเป็นไปแบบที่เราจินตนาการไว้ 100% แล้วพอเราเอามันกลับมาดู เราได้มีความสุขกับการดูงานเก่าๆ อยู่
ใน ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ ยังมีบริบทของการเล่าเรื่องผ่าน “อาหาร” ทั้งในรูปแบบของฉากการรับประทานกันในครอบครัว หรือแม้แต่การ “ฆ่า” เพื่อนำมาทำอาหาร ทำไมถึงมีฉากเหล่านี้ในหนัง
ผมนึกถึง 2 เหตุการณ์ที่เราจำได้ อันนึงคือ ตอนที่ ทักษิณ ชินวัตร กลับมาขึ้นศาลที่ไทย (ปี 2551) แล้วพักที่โรงแรมเพนนินซูล่า กลับมาถึงเขาก็สั่งก๋วยเตี๋ยวเนื้อร้านโปรดของเขามากิน อีกอันนึงก็คือตอนเราไปที่ อนุสรณ์สถาน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ลพบุรี มันก็มีห้องห้องนึง คือห้องอาหาร ในนั้นมันก็จะมีโมเดลอาหารปลอมที่จอมพล ป. ชอบกิน มีแกงมัสมั่น มีของหวานที่เขาชอบ คืออะไรที่เป็นเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้มันเป็นรายละเอียดที่ทำให้เป็นมนุษย์มากขึ้น การได้กินอาหารร่วมกับครอบครัวเป็นมื้อสุดท้ายก่อนที่จะไม่ได้เจอกันอีกกี่ปีไม่รู้ หรือก่อนที่อนาคตซึ่งไม่แน่นอนรออยู่ข้างหน้า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผมชอบให้มันอยู่ในงาน ไอ้ความเล็กน้อยเหล่านี้ มันกลับมีความหมายสำคัญมาก
หรืออย่างซีนเตรียมวัตถุดิบที่ว่ามีการฆ่าเหล่านั้น จริงๆ แล้วมันไม่ใช่อาหารสำหรับมนุษย์นะ มันคืออาหารสำหรับวิญญาณนะ คือมันมีทั้งอาหารที่คนกิน และอาหารที่เซ่นไหว้ภูติผีและก็บรรพบุรุษ ซึ่งในหนังก็มีซีนที่มีไดอะล็อคพูดถึงเรื่องนี้อยู่ด้วยซ้ำ คือจริงๆ มันก็มีความหมายมากกว่านั้น แต่ผมชอบการที่คนดูได้ดูและตีความมัน มันคือความสนุกนะ
เพราะอะไรงานที่ผ่านมาของ อ.ไทกิ ถึงสนใจในการสำรวจ สภาวะทางอารมณ์อันโกรธกริ้ว หรือเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและความตายอยู่บ่อยครั้ง
ผมว่ามันก็คือประสบการณ์ส่วนตัวที่เราประสบพบเจอมาตลอด มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะเอามาใส่ในงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับความตาย เรื่องของความมืด ความเศร้า การพลัดพรากลาจาก มันเป็นสิ่งที่ซึบซับเข้าไปในงาน ถึงไม่ตั้งใจก็เหมือนตั้งใจ คือเรารู้สึกยังไงก็ต้องถ่ายทอดออกมาอย่างนั้น
ในอนาคตถ้า ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ ได้ฉายในไทย เราคาดหวังกับฟีดแบ็กของหนังจากผู้ชมคนไทยอย่างไรบ้าง
ไม่ใช่แค่กับคนไทยนะ ตั้งแต่ตอนพรีเมียร์หรือแม้แต่ตอนที่ทำเสร็จ คือเราพยายามทำให้มันดีที่สุด คือความคาดหวังมันก็อาจจะมีบ้าง แต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญมากขนาดนั้น เพราะสิ่งที่อยู่ในหนังมันคือความหมกมุ่นส่วนตัวมากๆ เลยนะ ความที่เราถ่ายทอดอะไรที่มันส่วนตัวมากๆ ออกมา ถ้าคนดูเขาฟีดแบ็กมันกลับมาจาก ว่ามันกระทบหรือมีความรู้สึกกับสิ่งที่เราแชร์มันออกไป มันเป็นอะไรที่ดีมากๆ เลยนะ
แต่สิ่งนี้ แม้แต่สื่อต่างประเทศก็ถามเหมือน คือเขาอยากรู้ว่าคนดูชาวไทยจะรู้สึกยังไงกับหนังเรื่องนี้ จริงๆ ผมก็สนใจประเด็นนี้นะ เพราะตอนนี้เราก็สอนอยู่ที่ ICT ศิลปากร ปีที่สอง เด็กอายุประมาณ 19-20 ซึ่งในรุ่นล่าสุดซึ่งจริงๆ ก็สอนมาหลายปีมาก แต่รุ่นนี่เขามีทัศนคติบางอย่าง มีพลังบางอย่างที่ผมไม่เคยเจอ มันมีพลังที่ใหม่มาก มีความกล้า มีความบริสุทธิ์ มันดูมีความหวัง แล้วอันนี่เป็นสิ่งที่ผมตื่นเต้นว่า คนที่ดูหนัง โดยเฉพาะกับเยาวชนรุ่นปัจจุบันนี้ เขาจะรู้สึกอย่างไร มันจะท้าทายพลังของพวกเขาไหม คือพอเวลาที่มันมีหนังที่ไม่ได้เล่าตามขนบทั่วไป ซึ่งหนังเหล่านี้มีพื้นที่น้อยมากในไทย แต่ส่วนตัวผมจะไม่ชอบคาดหวังกับสิ่งที่มันควบคุมไม่ได้นะ
สุดท้ายผมอยากรู้ว่า อ.ไทกิ มีวิธี life balance ชีวิตในการทำทั้งงานประจำ และงานส่วนตัวอย่างงานศิลปะอย่างไรบ้าง
จริงๆ มันก็ไม่ต้องบาลานซ์จัดการอะไรนะ ก็คือทำไปเรื่อยๆ ซึ่งผมว่าการที่เราทำแบบนั้นได้มันคือความโชคดี หมายความว่ายังได้ทำสิ่งที่เรามีความสุขกับมัน ยังได้ทำสิ่งที่เราสนใจ มีอิสระในการทำ โดยที่ไม่มีใครมาบอกว่าสิ่งนี้ทำได้หรือไม่ได้
ความสุขอย่างหนึ่งของผมคือ ประสบการณ์ในการทำงานมันสำคัญมากๆ อย่างในขณะที่เราทำงานเชิงทดลอง เราก็สามารถออกไปทำมันคนเดียว ออกไปสำรวจสถานที่ที่ผมสนใจ ไปซึมซับอยู่กับพื้นที่ตรงนั้นเป็นเวลานาน แล้วใช้กล้องเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอด ได้คุยกับตัวเอง มันเป็นรู้สึกที่ดีในขณะนั้น
จนมันข้ามมาถึง วันนึงมีคน 50 คนมาช่วยเรา มันก็เป็นความสนุกที่เราได้ถ่ายทอดสิ่งที่เราคิดมา แล้วได้แชร์กับคนมากมาย แล้วพวกเขาก็ใช้ทักษะความสามารถของเขามาสนับสนุนความคิดของเรา คือการได้ร่วมงานกับคนเหล่านี้มันสนุกและทำให้เกิดงานชิ้นนี้มากได้
ทีเซอร์ ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’