สำหรับคอหนังสั้นระดับนักศึกษาแล้ว อาจจะคุ้นชินกับแนวหนังที่นำเรื่องราวในครอบครัวมาถ่ายทอด เช่นเดียวกับ ‘พญาวัน’ หนังสั้นจบการศึกษาของ แพนด้า – ศุภามาศ บุญนิล อดีตนักศึกษาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เล่าเรื่องราวความขัดแย้งในครอบครัว ณ ช่วงเวลาที่ลูกสาวเดินทางกลับบ้านเกิดในช่วงสงกรานต์
ความโดดเด่นของ ‘พญาวัน’ คือการถ่ายทอดความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งเกลียดที่เกิดขึ้นในครอบครัว ผ่านช่วงเวลาเพียงวันเดียวได้อย่างน่าติดตาม จนทำให้หนังชนะเลิศรางวัลช้างเผือก (ภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมระดับนักศึกษา) จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 23 ที่ผ่านมา และยังได้เข้าชิงรางวัลสาขาภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม ระดับนักเรียน-นักศึกษาของ ชมรมวิจารณ์บันเทิง ในปีนี้อีกด้วย
การพูดคุยกับศุภามาศในครั้งนี้ นอกเหนือจากเป็นการแนะนำให้รู้จักเธอ ผ่านผลงานอันแสนส่วนตัวเรื่องนี้แล้ว ยังเป็นการถามไถ่ถึงสารทุกข์สุกดิบ กับนักศึกษาจบใหม่สาขาภาพยนตร์ ที่ต้องดิ้นรนในช่วงที่ทุกอย่างหยุดชะงักเช่นนี้
ทำไมถึงเลือกทำประเด็นครอบครัวของตัวเอง
คงเพราะว่านี่เป็นเรื่องที่อยู่ในใจเรามาตลอด และรู้สึกว่าถ้าได้ทำมันออกมาก็คงช่วยให้เราก้าวข้ามมันออกมาได้ส่วนหนึ่ง บวกกับช่วงนั้นมันก็เป็นเรื่องที่กระตุกใจเรามากที่สุด ก็เลยตัดสินใจทำเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว
พอมันต้องเอาเรื่องส่วนตัวมากๆ มาทำ มีกระบวนการในการดัดแปลงมันออกมาให้เป็นหนังอย่างไร
ตอนแรกที่เราออกมาเล่าไอเดียให้อาจารย์ที่ปรึกษาฟัง และมันก็มีการอ้างอิงจากเหตุการณ์จริงๆ ออกมาเล่าเยอะ จนอาจารย์ก็ให้คำปรึกษาว่า ไม่อยากให้เราเอาเรื่องส่วนตัวออกมาเล่าเยอะเกินไป เพราะมันจะไปต่อลำบากในขั้นตอนต่อไป คืออาจารย์กลัวว่าเราจะยึดติดอยู่กับ ‘เรื่องจริง’ ที่เราต้องการเล่า จนไม่สามารถข้ามไปสู่การเล่าประเด็นอื่นๆ ที่ต่อยอดไปจากตรงนี้ได้ ก็เลยเอาทริคจากอาจารย์มาเป็นตัวตั้งว่า เราจะเอาแค่คอนเซ็ปต์ของเรื่องของเรา ที่ว่าด้วยครอบครัวที่เข้ากันไม่ได้เป็นหลัก แล้วนำประสบการณ์ส่วนตัวมาใช้บ้าง ซึ่งในหนังมันก็จะมีทั้งเรื่องของตัวเราเอง เรื่องของที่บ้านบ้าง มาผสมกับเรื่องราวที่แต่งขึ้นมาใหม่
อาจารย์กลัวว่าเราจะยึดติดอยู่กับ ‘เรื่องจริง’ ที่เราต้องการเล่า จนไม่สามารถข้ามไปสู่การเล่าประเด็นอื่นๆ ที่ต่อยอดไปจากตรงนี้ได้ ก็เลยเอาทริคจากอาจารย์มาเป็นตัวตั้งว่า เราจะเอาแค่คอนเซ็ปต์ของเรื่องของเรา ที่ว่าด้วยครอบครัวที่เข้ากันไม่ได้เป็นหลัก แล้วนำประสบการณ์ส่วนตัวมาใช้บ้าง ซึ่งในหนังมันก็จะมีทั้งเรื่องของตัวเราเอง เรื่องของที่บ้านบ้าง มาผสมกับเรื่องราวที่แต่งขึ้นมาใหม่
ในการทำ “พญาวัน” มีหนังอะไรที่ใช้อ้างอิงบ้าง
เรื่องแรกคือ Ladybird (2017, เกรตา เกอร์วิก) ซึ่งหนังก็จะคล้ายกันตรงที่ตัวละครลูกก็เป็นช่วงวัยที่เขากำลังค้นหาตัวเอง และมีความคัดแย้งกับแม่ของตัวเอง
อีกเรื่องคือ It’s Only the End of the World (2016, ซาวิเยร์ โดลอง) ที่เกี่ยวกับลูกชายที่ไม่ได้กลับบ้านมานาน แล้วมันเกิดระยะของความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว แล้วในหนังก็จะมีตัวละครพี่ชายที่ชอบแสดงความรู้สึกออกมาตรงๆ ซึ่งมันขัดกับบรรยากาศของในบ้านอันอึมครึม ที่สมาชิกคนอื่นรู้สึกอะไรแต่ไม่แสดงมันออกมา หนังเรื่องนี้มันทำให้เราเอามาเทียบเคียงกับที่บ้าน ด้วยความเป็นคนเหนือ ที่ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก เวลาทะเลาะกันมันสามารถบานปลายไปได้ไกลมาก ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจนะว่าครอบครัวอื่นเขาเป็นแบบนี้หรือเปล่า แต่หนังเรื่องนี้ของโดลองมันรีเลทกับเรามากๆ
สิ่งที่กังวลในการทำ ‘พญาวัน’ มากที่สุดคืออะไร
คือเรื่องของการแสดง เพราะส่วนตัวเราก็ไม่เคยทำหนังที่มีบทสนทนายาวๆ แบบนี้มาก่อน คือเราจะทำยังไงให้สามารถควบคุมการแสดงไม่ให้ออกมาโอเวอร์แอ็คติ้งจนเกินไป ซึ่งพอเรามาหนังในตอนนี้ ก็มีความรู้สึกว่าการแสดงบางฉากมันก็มีควานล้นจนเกินไปบ้างเหมือนกัน
นักแสดงคนหนึ่งที่เด่นมากๆ ในเรื่องคือ ‘แม่’ (เนตรณัฐฐา พ่วงพิพัฒน์) ซึ่งได้เข้าชิงรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ผ่านมาด้วย อยากให้เล่าว่าทำงานกับนักแสดงอย่างไรบ้าง
อย่างตัวละคร แม่ และ ย่า (แสงจันทร์ ขันแข็ง) เราก็ไปเคสติ้งที่เชียงใหม่เพื่อหาคนที่พูดภาษาเหนือได้มาเล่น ซึ่งตัวนักแสดงที่เล่นเป็นแม่เองเคยมีประสบการณ์การแสดงละครเวทีที่ มช. มาก่อน แล้วในแง่ของการตีความบท ก็มีการแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวในมุมมองของความเป็นแม่ ซึ่งเขาก็มีลูกและไม่ได้อยู่กับลูกตลอดเวลา มันเลยกลายเป็นประสบการณ์ร่วมของตัวนักแสดงเองที่สามารถดึงมาใช้กับตัวละครนี้ได้
ส่วนในแง่การทำงาน ก่อนถ่ายเราก็จะมีการเวิร์คช็อป ซึ่งเราเองเองจะพยายามปูพื้นถึงเรื่องราวที่เป็นปูมหลังของแต่ละตัวละครให้นักแสดงเข้าถึงมากที่สุด จนทำให้นักแสดงสามารถทำออกมาได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราคิดไว้ประมาณหนึ่งเลย
คุณแม่ได้ดูหนังเรื่องนี้หรือยัง
ได้ดูแล้วค่ะ (หัวเราะ) ได้ดูตอนที่ฉายงานธีสิสของมหาวิทยาลัย ส่วนฟีดแบ็กของแม่ก็ดูค่อนข้างชอบนะ แต่เราไม่รู้ว่าเขาได้ตีความหนังของเราไปอย่างไรบ้าง แต่แม่เขาจะพูดถึงเหตุการณ์บางฉากที่มันคล้ายคลึงกับเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ในครอบครัว คือไปในเชิงติดตลกซะมากกว่า เราเองก็ไม่ได้อยากถามอะไรลึกไปกว่านั้น เพราะหนังมันก็คือสิ่งที่เราอยากพูดไปหมดแล้ว และต้องการจะมูฟออนจากมันไป ไม่อยากจะเอาปัญหาเหล่านั้นกลับมาพูดซ้ำอีกแล้ว แต่คิดว่าแม่คงน่าจะชอบหนังนะคะ เพราะมีขอลิงค์มาดูซ้ำตอนหลังด้วย (หัวเราะ)
หลังจากนี้มีอะไรที่อยากทำในฐานะคนทำหนังบ้าง
เราก็ยังอยากจะทำงานด้านเขียนบทและกำกับต่อไปถ้ามันยังมีโอกาส….แต่ก็อย่างที่เห็นกันในสถานการณ์ตอนนี้ ไม่รู้ว่ามันจะคาดหวังได้มากแค่ไหน คือถ้ามีโอกาสในวงการหนังหยิบยืนมาเราก็อยากจะลองทำหมด เพราะเราก็เคยผ่านงานมาหลายด้าน คือทุกตำแหน่งมันทำให้เราได้เรียนรู้งาน แต่ถ้าอยากลองทำที่สุดคงเป็นตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับ
ถามถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ในกลุ่มเพื่อนๆ ที่เพิ่งเรียนจบกันมา เป็นอย่างไรกันบ้าง
ก็มีเพื่อนบางส่วนที่ทำงาน WFH (Work From Home) แต่บางส่วนก็ยังต้องเดินทางไปบริษัทอยู่ แต่อีกส่วนหนึ่งที่ทำฟรีแลนซ์ก็ยังว่างงานก็นเป็นส่วนใหญ่ อย่างตัวเราเอง ก่อนหน้าก็เตรียมงานพัฒนาโปรเจกต์ซีรีส์กับทาง Electric Eel Films ที่เราเคยไปฝึกงานด้วย แต่พอสถานการณ์มันเป็นแบบนี้ มันก็เลยต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นขั้นตอนการพัฒนาบทไปเรื่อยๆ ก่อนแทน และยังไม่มีกำหนดว่าจะได้กลับไปทำเมื่อไหร่ ตัวเราเองเลยยังพยายามหาอะไรทำในตอนนี้ เพราะแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายเราก็ยังมีอยู่ ยังต้องจ่ายค่าเช่าบ้านอยู่กับเพื่อน ซึ่งถ้ายังไม่มีวี่แววอาจจะต้องกลับบ้าน ก็คงต้องปรึกษากับเพื่อนและทางบ้านอีกทีหนึ่งค่ะ