INTERVIEW

เปิดใจผู้กำกับ ‘ไบค์แมน’: หนังตลก การศึกษา ชาตินิยม

ตรงหน้านั้นคือหนังสือ ‘ลงเรือแป๊ะ’ ของ วิษณุ เครืองาม มันถูกคั่นไว้ที่ครึ่งเล่มเป็นสัญลักษณ์ว่าเจ้าของได้อ่านไว้ถึงหน้าไหน ซึ่งคนคนนั้นคือ พฤกษ์ เอมะรุจิ ผู้กำกับหนัง ‘ไบค์แมน’ ทั้งสองภาค 

‘ลงเรือแป๊ะ’ เป็นงานเขียนที่วิษณุบอกเล่าเรื่องราวอินไซด์การทำงานของ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยพฤกษ์ให้เหตุผลของการหยิบเล่มนี้มาอ่านเพราะอยากทำความรู้จักกับผู้เขียนให้มากขึ้น เผื่อจะได้เห็นว่าจุดเปลี่ยนทางอุดมการณ์ของเขานั้นอยู่ตรงไหน และหากเป็นไปได้ ‘วิษณุ’ ก็คือคนที่พฤกษ์อยากจะสัมภาษณ์มากที่สุด 

ท่าทีและอุดมการณ์อันชัดเจนของพฤกษ์ ดูจะไปคนละทิศทางกับหนังของเขาที่ฉาบหน้าด้วยความตลกเถิดเทิง …‘ไบค์แมนศักรินตูดหมึก’ และ ‘ไบค์แมน 2’ ที่เมื่อรวมรายได้ของทั้งสองภาคแล้วมันได้มากกว่า 100 ล้านบาทเลยทีเดียว

นี่คือการพบหน้ากันครั้งแรกของเราทั้งคู่ ซึ่งเปิดประเด็นกันก่อนที่จะกดบันทึกเสียงด้วยหัวข้อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนรุ่นนี้ 

หนังตลกและการเมืองสำหรับพฤกษ์คือเรื่องเดียวกัน และมันทำให้เราต้องกลับไปมอง ‘ไบค์แมน’ เสียใหม่ 

“ผมว่าถึงเวลาที่ต้องไม่ประนีประนอมกันอีกต่อไป” เขากล่าว 

คิดว่าหนังตลกถูกประเมินคุณค่าต่ำเกินไปหรือไม่? 

เราว่าเป็นกันทั้งโลก พอมันเป็นหนังตลก คุณค่าของมันจะถูกทำให้อยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับหนังแบบอื่นๆ หนังที่ดูเพื่อความบันเทิง มักอยู่ในขั้นต่ำสุดของความเป็นศิลปะอยู่แล้ว นานๆ ทีจะมีหนังอย่าง Life is Beautiful ที่สามารถไปถึงจุดที่คนให้การยอมรับในแง่รางวี่รางวัล แต่ถ้าปกติทั่วไปคนก็จะมองว่าเป็นแค่สื่อบันเทิง ดูจบแล้วมีความสุข แต่ว่าไอ้ความสุขก็ถือเป็นคุณค่าแบบหนึ่ง แต่ไม่ใช่คุณค่าที่คนจะมาตั้งข้อสังเกตว่าสามารถทำให้สังคมมันขับเคลื่อนได้รึเปล่า ทำให้คน call out อะไรออกมาได้รึเปล่า แต่มันไม่ใช่ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เอาง่ายๆ อย่างเชคสเปียร์ ไอ้งานที่ได้รับการกล่าวถึงก็เป็นงาน tragedy คนเราสั่งสมประสบการณ์ทางวัฒนธรรมมาว่าเรื่อง tragedy เป็นเรื่องที่มีคุณค่ามากกว่า สังเกตสิงานเชคสเปียร์ที่ตลกๆ มันอยู่รั้งท้าย ขณะที่เรื่อง tragedy หรือเรื่องที่อุดมการณ์ชัดเจนมันอยู่ด้านบนอยู่แล้ว 

หรือแม้แต่ Life is Beautiful สุดท้ายมันก็ tragedy 

ใช่ มันก็มาสู่จุดนั้น แต่ถ้าเฉพาะเมืองไทย หนังตลกมันก็เหมือนสิ่งต่างๆ ในบ้านเมืองเราที่ต้องอาศัยความตลกเข้าช่วย เรามาพักนึงแล้วรู้สึกว่า คนไทยเป็นประเภทที่ไม่กล้ายอมรับความจริง บ้านเรามันเป็นเมืองที่ถนัดในการหลอกตัวเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุค เราจะชอบพูดว่า “พูดตรงๆ กันเถอะ” “มีอะไรก็พูดตรงๆ กันได้” แต่คนไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้นจริงๆ พอเราพูดตรงๆ ต่อกัน มันจะเริ่มมีอคติ มีการเอาไปพูดลับหลัง มันไม่จบตรงนี้ 

อย่างการเมืองใน ‘ไบค์แมน’ สำหรับคุณคืออะไร?

ตอนเราตั้งต้นกับการทำเรื่องนี้จริงๆ มันไม่ได้มีเรื่องสังคมกับการเมืองหรอก คุยกับพี่ยอร์ช (ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์ – โปรดิวเซอร์) เราก็ต้องการให้มันเป็นหนังตลก ดูออกมาแล้วมีความบันเทิง แต่ตอนที่เราลงรายละเอียดตอนเขียนบท เราก็อดไม่ได้ที่จะพูดถึงอะไรบางอย่าง เรื่องของทัศนคติต่ออาชีพที่มั่นคง แต่โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ขณะที่เรายังอยู่กับทัศนคติเดิมๆ หรือเรื่องโกหกก็เช่นกัน เหมือนการที่บอกว่าบ้านเราเป็นเมืองพุทธนะ และเราก็มีบ่อน มีซ่อง มีอาบอบนวด งงมาก อย่างเมื่อวานเราไปสอนเด็ก ก็แอบคุยถามเขาว่าแฮชแท็กอันดับหนึ่งวันนี้คืออะไร ซึ่งเด็กทุกคนก็จะรู้เรื่อง ในแววตาของเขามันเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเรานะ มันคืออะไรล่ะ โรลโมเดลที่ผู้ใหญ่ทำให้เราดู เด็กทำตามได้ใช่หรือไม่? เราจะเอาอะไรเป็นมาตรวัดศีลธรรมได้อีก เราจะเอาโมเดลไหนมาบอกเด็กว่าอะไรคือสิ่งที่ดี จริงๆ เราไม่ต้องตีค่าก็ได้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี แต่ในเมื่อผู้ใหญ่ทำให้ดูแถมยังมีผู้ใหญ่อีกหลายคนบอกด้วยว่าไม่เป็นไร แล้วถ้าเด็กบอกงั้นขอทำมั่ง เราก็เชื่อว่าไอ้ผู้ใหญ่ที่บอกว่าไม่เป็นไรจะหันมาด่าเด็ก ซึ่งเราอยู่กันอย่างนี้มานานแล้ว สำหรับเราอายุก็สี่สิบกว่าแล้ว เรารู้สึกว่ายังพอโอเค เพราะเราอยู่รุ่นใกล้พ่อแม่เรา เบบี้บูมเมอร์อะไรก็ว่าไป มันเป็นยุคที่เหมือนว่าเรารับได้และโอเค แต่พอรุ่นนี้มันเปลี่ยนไปเยอะแล้ว เราไม่รู้หรอกว่าเขาโอเคหรือไม่โอเค แต่สายตาที่เรามองเขามันเหมือนว่าไม่โอเค ที่นี้ก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงนะ ตัวเขาเองต้องเป็นคนตอบเอง อย่างเราก็ช่วยได้ประมาณนึงเท่านั้น

เราว่าคนไทยคุ้นชินกับความตลก ด้วยความที่เราพูดบางสิ่งบางอย่างไม่ได้ มีมการเมืองก็จะออกไปทางตลก เพราะเรารู้สึกว่าความตลกมันปลอดภัย

ย้อนไปตอน ‘ไบค์แมน’ คุณน่าจะมีการตั้งคำถามกับสังคมมากมายตั้งแต่ต้น 

เราว่าคนไทยคุ้นชินกับความตลก ด้วยความที่เราพูดบางสิ่งบางอย่างไม่ได้ มีมการเมืองก็จะออกไปทางตลก เพราะเรารู้สึกว่าความตลกมันปลอดภัย หนึ่ง มันกลายเป็นเรื่องตลกแล้วจะตรวจจับเรดาร์ไม่เจอ สองคือมันกลายเป็นเรื่องที่ผ่อนคลายไปโดยอัตโนมัติ สมมติถ้าพระอยู่ในหนังตลกก็ทำอะไรก็ได้ วิ่งหนี ด่าทอชาวบ้าน ทำได้หมด แต่ถ้าพระอยู่ในหนังพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เล่นกีต้าร์ไม่ได้ สังคมไทยมันแบ่งโดยอัตโนมัติว่าถ้าเมื่อไหร่เป็นเรื่องตลก ก็สามารถยอมรับกันได้ เพราะอย่างที่บอกว่ามันได้รับคุณค่าที่ต่ำ ข้อเสียคือพอคุณค่าต่ำคนก็มองมันเป็นแค่สิ่งบันเทิง แต่ขณะเดียวกันมันทำให้เราสามารถพูดบางเรื่องได้โดยที่คนไม่ทันได้คิด คนที่อนุรักษ์นิยมหน่อยเขาก็ไม่สนใจอยู่แล้ว เขาก็จะปล่อยผ่านไป แต่บางครั้งสิ่งที่เราทำมันก็พุ่งเข้าไปหาคนที่เราอยากคุยด้วยได้อยู่

อย่างตอน ‘ไบค์แมน’ ที่เราคิดเรื่องการโกหก ซึ่งเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะในมนุษย์เราหรือบ้านเรา แล้วเราก็ขยี้เรื่องความคิดของคนรุ่นแม่กับคนรุ่นลูกที่มันต่างกันไปหมดแล้ว แต่จะให้ทำไงล่ะ ไบค์แมนมันเป็นเรื่องของการประนีประนอมระหว่างคนสองรุ่นมากกว่า คือ ศักดิ์ (พชร จิราธิวัฒน์) มันไม่ใช่คนแบบ ‘เฮ้ย! ไม่เอาหรอกแม่ งานแบงค์’ คือมันไม่รู้ด้วยซ้ำว่างานแบงค์เป็นยังไง แต่ความฝันของแม่เป็นแบบนี้ใช่มั้ย งั้นเราโกหกแม่เพื่อให้แม่อยู่ได้ในโลกของแม่ ในขณะที่มันก็อยู่ในโลกของมัน เวิร์คหรือไม่เวิร์คไม่รู้นะ ผมว่าศักดิ์มันเป็นตัวแทนของคนจำนวนมากในบ้านเรา ก็ไม่ได้ฉลาดหรือมีแรงพอที่จะไปทำอะไรให้เปลี่ยนแปลงได้ เอาแค่เรื่องในบ้านให้รอดก็ยากแล้ว

เป็นไปได้มั้ยว่า เพราะตอนที่หนังทำ สภาพสังคมเรายังไม่เห็นความขบถของวัยรุ่นเช่นตอนนี้ มันก็เลยออกมาในรูปของการประนีประนอม 

เป็นไปได้ สมมติ ‘ไบค์แมน’ ออกฉายปีหน้าหรือสองปีข้างหน้า คนดูอาจจะไม่เก็ตก็ได้นะ คนดูอาจจะมองว่ามันเป็นสเตอริโอไทป์ที่ไม่จริงไปเลยก็ได้ 

ถ้ามาทำตอนนี้จะเปลี่ยนไปมั้ย?

เราไม่แน่ใจ มันอาจจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนก็ได้ เพราะว่าลึกๆ เราก็เป็นคนประนีประนอมอยู่แล้ว เราไม่ชอบบางสิ่งบางอย่างในสังคม แต่เราก็ไม่ใช่คนที่ออกมาตะโกนด่าตรงๆ เราเป็นคนหนึ่งที่มองมันตลกมากกว่า มันอาจจะเป็นจริต ถ้าได้ทำ ‘ไบค์แมน’ ในช่วงนี้ มันอาจจะเปลี่ยนไป แต่เราไม่แน่ใจว่าไอ้ศักดิ์ของเราจะกระด้างกระเดื่องได้ขนาดไหน 

ความสำเร็จของหนังมันพอจะชี้วัดอะไรได้มั้ย? 

เวลาทำหนังเรื่องนึงมันมีเลเยอร์ของความสำเร็จเยอะมาก โอเคได้เงินก็ประสบความสำเร็จประมาณนึง มันทำให้นายทุนไว้ใจให้เราทำหนังเรื่องอื่นได้มากขึ้น แต่มันก็จะมีเลเยอร์ที่ว่าคนดูชอบงานเราในขั้นไหนบ้าง ซึ่งเราก็โอเคกับแต่ละขั้นที่คนชอบนะ เช่น คนบอกว่าน้าค่อมตลกดีว่ะ (หัวเราะ) ซึ่งเราก็โอเค เพราะการรับสารของแต่ละคนมันไม่เท่ากันอยู่แล้ว ซึ่งอันนี้มันจะเห็นผลเลยเมื่อคนเอามาเทียบกับหนังภาคสอง เช่น ภาคสองไม่เห็นตลกเลย ภาคแรกตลกกว่า แปลว่าคนนี้เขาให้ค่าความสำเร็จที่ความตลก ก็โอเค เราไม่ติด บางคนก็ให้ค่ากับหนังที่เรื่องระหว่างแม่กับลูก เรื่องของคนสองรุ่นที่มันแตกต่างกันแล้วสุดท้ายได้หันหน้าเข้าหากัน อันนี้มันมาถึงจุดที่เราต้องการให้มันเป็น หนังมันมีเปลือกของความตลกอยู่ ถ้าคนมองมาถึงตรงนี้ได้ อย่างน้อยสิ่งที่เราทำมันก็ประสบความสำเร็จ แต่ว่ามันจะไปถึงขั้นคนมองในแง่ในเรื่องสังคมและการเมืองลึกๆ เลยรึเปล่า ถ้าคนมองไปถึงเราก็โอเค แต่เราไม่ได้คาดหวังเท่าไหร่ บางทีเราแอบซ่อนไว้ไม่มีใครรู้หรอก แต่เราจะเสียใจมากกว่าถ้าแค่ให้ตลกก็ทำไม่ได้ ส่วนที่เหลือมันจะไม่ทำงานทันที 

ทำไมคนไทยชอบหนังตลก? 

มันก็เป็นเรื่องที่เราพูดกันมานานแล้วนะ หนังไทยทำไมมันไม่มีแบบอื่นมั่งวะ พอไปถามนายทุนก็จะบอกว่าก็มันทำเงินแค่นี้นี่หว่า หรืออย่างล่าสุด ‘คืนยุติ-ธรรม’ นั่นก็ไม่ตลกนะ เราไม่พูดถึงว่าเป็นหนังดีหรือไม่ดี แต่มันเป็นหนังประเภทอื่นที่หลายคนกำลังถามหา ซึ่งถ้าคนที่บ่นว่าทำไมไม่มีหนังแบบอื่นออกมามั่ง แปลว่าคุณก็ควรจะไปเสพเรื่องนี้ ชอบไม่ชอบก็อีกเรื่องนึง แต่จุดเริ่มต้นคือคุณไม่คิดที่จะดูมันด้วยซ้ำ เราไม่รู้ว่าเป็นความเฟลของคนดูหรือคนทำ เราทำหนังที่มันไม่ดึงดูดเพียงพอรึเปล่า ดาราไม่เด่นพอเหรอ? พลอตยังไม่ดีพอเหรอ? หน้าหนังยังไม่ดีพอเหรอ? ขณะที่เราก็ไม่รู้ว่า เมื่อไหร่ล่ะที่พอเราทำหนังแบบอื่นออกมาแล้วคนจะดู มันเป็นปัญหาเหมือนไก่กับไข่มากเลย 

มันก็ต้องย้อนกลับมาว่าถ้าวงการหนังมันมั่นคงก็คงเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว 

เอางี้ดีกว่า พวกเรากันเองก็จะมองในแง่ของคนทำ เฮ้ย เราแม่งไม่ใช่พวกเดียวกัน เราไม่เกาะกลุ่มกันเท่าไหร่ ต่างคนต่างอาตัวรอด แต่ว่าผมมองมันเป็นเรื่องการศึกษาเลย พูดตรงๆ คือคนประเทศเรายังไม่พัฒนาไปถึงจุดที่ทำให้คนอยากดูหนังประเภทอื่นๆ เหมือนวงการละครโทรทัศน์ เวลาผมไปคุยกับเจ้าของค่ายละคร ถามว่าเขาอยากทำละครแนวอื่นมั้ย? เขาอยากทำนะ ทุกคนอยากทำหมดเลย แล้วทุกคนก็ได้รับบาดแผลเพราะว่าต่างเคยได้ลองแล้ว ทำดีหรือไม่ดีเป็นอีกเรื่องนะ แต่ทุกคนต่างเคยได้ลองแล้ว และทุกคนก็หน้าหงายกลับมาตลอด เพราะคนไม่ดู แล้วจะให้เขาทำยังไงในเมื่อเขายังต้องการเรตติ้ง เพื่อมาทำมาร์เก็ตติ้ง เขาก็ต้องกลับไปทำแบบเดิม เราเลยคิดว่านอกจากคนทำแล้ว มันก็ต้องอยู่ที่คนดูด้วย ทีนี้ผมเลยคิดว่าทำไมคนดูถึงไม่อยากดูล่ะ 

ซึ่งถ้าย้อนไปถึงการศึกษา ก็เท่ากับว่าทั้งคนทำและคนดูต่างมาจากเบ้าหลอมเดียวกัน 

ถูกต้อง แต่ละคนมาจากต้นตอเดียวกัน ผมว่ามันต้องไปสังคายนาตั้งแต่ตรงนั้น รอให้มันไปพร้อมกัน ซึ่งไม่รู้ว่านานแค่ไหน ผมไม่แน่ใจ เราอาจจะเห็นเด็กที่โตมากับการศึกษาอีกแบบนึง ที่มันโอเคกับการดูหนังแบบอื่นได้ ซึ่งทุกวันนี้ก็มี เพียงแต่จำนวนอาจจะยังไม่มากพอที่จะบอกทุกคนได้ว่า ฉันอยากดูและจะออกไปดูนะ 

เอาจริงไม่ว่าจะหยิบยกปัญหาอะไรในสังคมไทยก็ตาม สุดท้ายมันจะมีต้นตอมาจากการศึกษาทั้งหมด 

ใช่ แล้วมันไม่ใช่เรื่องบทเรียนด้วยนะ มันเป็นการศึกษาแท้ๆ ทำยังไงให้เด็กรักการอ่านหนังสือ ทำยังไงให้ล้มค่านิยมว่าเด็กฉลาดต้องไปเรียนสายวิทย์ เด็กโง่ไปเรียนสายศิลป์ ผมเคยคิดอย่างร้ายๆ ว่าคงต้องรอให้คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราตายก่อน ไม่รู้ทำไง เราไม่ได้เกลียดพ่อแม่เรา เราเข้าใจเขา แต่ว่าเขามาด้วยชุดความคิดบางอย่าง มีอำนาจในการบริหารอะไรหลายอย่าง ซึ่งเขาก็ต้องทำในสิ่งที่เขาคิดว่ามันถูก แต่สำหรับเรามันอาจจะเริ่มไม่ใช่รึเปล่า อาจจะไม่ใช่สำหรับเด็กรุ่นนี้อีกต่อไป แล้วทำไงล่ะในเมื่อเขายังอยู่ ก็ต้องรอให้เขาเปลี่ยนผ่านไปก่อน คือมันอาจจะมีรุ่นพ่อรุ่นแม่เราเก็ตหรือเข้าใจแต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่เขาไม่เก็ตและไม่เข้าใจ ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดเขาไง ก็ต้องรอ

ทุกวันนี้ผมเดินออกไปตามท้องถนน ฉิบหายแล้วเรายังแก้ปัญหาอะไรไม่ได้สักอย่างเลย แล้วคนรุ่นเราอาศัยความทนและความตลกไปวันๆ อยู่กับมัน

สังเกตมั้ยว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนช้าๆ แต่ว่าทุกวันนี้โลกมันหมุนไปเร็วมาก ทุกวันนี้ผมเดินออกไปตามท้องถนน ฉิบหายแล้วเรายังแก้ปัญหาอะไรไม่ได้สักอย่างเลย แล้วคนรุ่นเราอาศัยความทนและความตลกไปวันๆ อยู่กับมัน น้ำท่วมมันก็ยังท่วมอยู่อย่างนั้น แต่เด็กเขาเกิดมาในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนเร็วมาก แล้วเขาเห็นอะไรที่ไกลกว่าเรา แล้วเขาก็เกิดคำถามว่าอะไรที่มันต้องแก้ทำไมมันแก้ไม่ได้ล่ะ เป็นสิ่งที่เขาพูดถูกนะว่าคนรุ่นเรามันห่วยรึเปล่าวะ? เราทั้งแก้ไม่ได้และทนอยู่กับมัน มองไปเถอะทุกเรื่องของประเทศนี้มันมีความอิหลักอิเหลื่อแปลกๆ เอ๊ะ ทำไมเราไม่แก้วะ แก้ดิ แก้ได้นี่ ผมว่าอันนี้มันเป็นปัญหาหมักหมมมาทุกวงการ จนถึงวงการหนังเรา 

การขับเคลื่อนของเด็กเกิดขึ้นเร็วมาก และเราก็รู้มาว่าคนเหล่านี้คือกลุ่มคนดูหนังหลัก แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่าวัยรุ่นไปไกลขนาดไหนแล้ว คิดว่ามันจะมีกับหนังหลังจากนี้แค่ไหน? 

อันนี้เราไม่รู้เลย พราะว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นกับเด็กมันเร็วจนแม้แต่พวกเราก็ยังงงว่าทำไมมันเร็วขนาดนี้ ซึ่งมันไม่ผิดหรอกเพราะมันต้องเร็วแบบนี้แหละ เพียงแต่เราตั้งตัวไม่ทัน ทีนี้ถ้าคิดว่ากลุ่มเด็กคือกลุ่มคนดูหนัง ถ้าเขาเปลี่ยน วงการหนังไทยก็น่าจะเปลี่ยนได้เหมือนกันใช่หรือไม่? แต่คำถามต่อมาคือคนออกทุนยังเป็นคนรุ่นไหนอยู่ แล้วผมไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนของเด็กที่เร็ว คนที่ออกทุน หรือคนที่ทำงานอยู่ตอนนี้ ตั้งรับทันหรือยัง รู้หรือยัง ง่ายๆ ทุกวันนี้วงการทีวีบ้านเราเขายังใช้ระบบเรตติ้งอยู่เลย ซึ่งมันก็เกิดคำถามมาตลอดว่าผลที่ได้มันไม่ใช่รึเปล่า แต่ก็ยังไม่เปลี่ยนซะที แปลว่า หรือมันก็อาจจะต้องใช้เวลานานอยู่เหมือนกัน กว่าที่คนรุ่นเราที่เป็นนายทุน หรือรุ่นที่ทำหนังอยู่นี้รับรู้ว่าเด็กเขาเปลี่ยนไปแล้วนะ เพราะมันยังอยู่ในชุดความคิดเดิมๆ อยู่ แล้วมันยังไม่มีใครไปสะกิดบอกเขาเสียทีว่า เฮ้ย เปลี่ยนแล้ว 

เชื่อว่าบางคนก็ยังคงมองว่าการที่เด็กเขาไปประท้วง มันเป็นแค่เรื่องการเมือง เขาไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องของมิติทางสังคมด้วย มันเป็นเรื่องการใช้ชีวิตด้วย มันเป็นเรื่องของการดูหนังด้วยนะ เขาไม่มองหรอก บางคนเขาก็มองแค่ว่าไม่ชอบรัฐบาลนี้ เขาอยู่ในชุดความคิดเก่าๆ แล้วคนทำหนังไทย ผู้อำนวยการสร้างไทย ยังอยู่ในชุดความคิดเดิมด้วยรึเปล่า ซึ่งถ้าพูดกันตรงๆ ณ เวลานี้ ก็เชื่อว่าเขายังคงอยู่ในความคิดเดิมนั่นแหละ จนกว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง 

LATEST