เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564 เป็นวันครบรอบ 20 ปี หนัง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ …เป็นเอก รัตนเรือง พูดคุยผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาจากเชียงใหม่ ที่ซึ่งเขาย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่นั่นมาได้สักพัก เพื่อทักทายกับผู้ชมในโรงหนังเล็กๆ ของ Doc Club & Pub.
ผู้ชมในวันนั้นอายุเฉลี่ยน่าจะรุ่นราวคราวเดียวกับหนัง ดังนั้นพวกเขาจึงอาจจะไม่ทันบรรยากาศในวันที่ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ เข้าโรง ซึ่งนี่เป็นหนังรัก-ตลก ฉีกแนวจากหนังที่เป็นเอกทำมาก่อนหน้าอย่าง ‘ฝันบ้า คาราโอเกะ’ และ ‘เรื่องตลก 69’ เราจึงชวนเป็นเอกย้อนความทรงจำในวันนั้นเพื่อปูบรรยากาศก่อนจะเริ่มดูหนัง
จำได้มั้ยว่าในวันแรกที่มันเข้าโรง เป็นอย่างไร
ปีนั้นผมฉายรอบสื่อมวลชนเสร็จปั๊บเข้าใจว่าอีก 2-3 วันถึงจะเข้าฉายทั่วไป วันนั้นผมไม่ได้อยู่เมืองไทยแล้วน่าจะอยู่บาหลีนะ ไปเที่ยว เพราะว่าเวลาหนังเข้าโรงจะไม่กล้าอยู่เมืองไทย ไม่กล้ารับรู้ข่าวสาร เพราะว่าหนังผมเข้าโรงทีไรก็รายได้ถล่มทลายทุกที สมมติหนังเข้าโรงวันศุกร์ (ในช่วงนั้นหนังใหม่เข้าฉายวันศุกร์) มันจะฉายรอบสื่อประมาณจันทร์อังคาร เสร็จแล้วผมก็จะเผ่นออกนอกประเทศทันที และมันก็ไม่ได้มีโซเชียลมีเดีย เพราะงั้นผมก็จะไม่ต้องรับรู้อะไรเลย สมมติผมไปไหนผมก็จะอยู่ยาวจนกลับมาทุกอย่างมันก็จะเคลียร์ไปหมดแล้ว ซึ่งส่วนมากหนังผมก็อยู่ไม่นานหรอกนะ คนมีบุญเท่านั้นถึงจะได้ดู
ตอนนั้นค่อนข้างแปลกใจเหมือนกันที่พี่มาทำเรื่องนี้ เพราะมันต่างจากงานก่อนหน้าชัดเจน
‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ทำมาจากนวนิยายของคุณ วัฒน์ วรรลยางกูร ทีนี้แรกเริ่มผมไม่ได้อยากจะทำเรื่องนี้นะ มันมีนิยายของพี่วัฒน์ที่ผมอยากจะทำมากๆ และผมประทับใจมากๆ คือเรื่อง ‘คือรักและหวัง’ ผมอ่านเล่มนั้นโดยบังเอิญและผมชอบมากจนอยากทำเป็นหนัง ตอนนั้นผมมีแฟนและแฟนเรียนหนังสืออยู่เยอรมัน ผมทำหน้าที่คอยส่งหนังสือไปให้เขาอ่าน แล้ว ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ผมส่งไปให้เขาอ่านโดยที่ผมเองก็ไม่ได้อ่าน หนังสือพี่วัฒน์ผมก็ส่งไปหลายเล่ม เขาอ่านเสร็จแล้วส่งกลับมาแนะนำให้ผมอ่านเล่มนี้ดู พอผมอ่านเสร็จก็คิดว่า…ไหนๆ พี่วัฒน์ก็ไม่ได้อยู่เมืองไทยเนอะ (ยิ้ม) ด้วยความเคารพ ผมไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ใน ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ มันค่อนข้างไกลตัวผมเพราะผมเกิดและโตที่กรุงเทพฯ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จำได้ว่าตอนที่อ่านเสร็จมันเหมือนเราได้กลิ่น กลิ่นฟาง กลิ่นหญ้า กลิ่นดิน กลิ่นฝน แต่ตัวนิยายจริงๆ ผมไม่ค่อยชอบนะ ผมอาจรู้สึกว่ามันไม่ร่วมสมัยพอมั้ง มันอาจจะเชยไป อาจจะเป็นสิ่งที่ผมเชื่อมโยงไม่ค่อยได้ แต่รู้สึกได้กลิ่นของมันและรู้สึกว่าเราน่าจะทำอะไรกับมันได้ และสมัยนั้น พี่อ้อม ดวงกมล ลิ่มเจริญ -ซึ่งแกก็เสียไปนานแล้ว แกเป็นโปรดิวเซอร์หนังไทยคนแรกๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นโปรดิวเซอร์จริงๆ – ก็บังเอิญวันนึงนั่งกินข้าวกันอยู่บนโต๊ะ มีพี่อุ๋ย นนทรีย์ (นิมิบุตร) มีพี่อ้อม ดวงกมล มี ปีเตอร์ ชาน ด้วยจำได้ (หัวเราะ) และผมพูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาว่าผมอยากทำเป็นหนัง แต่พูดเล่นๆ พี่อ้อมก็บอกว่าถ้าคุณต้อมจะทำเป็นหนังนะ อ้อมจะโปรดิวซ์ ก็มีการจับไม้จับมือกัน เข้าใจว่าเมาแหละ (ฮาทั้งโรง) เป็นหนังที่เกิดจากข้อตกลงที่ดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือเลย ตื่นเช้าขึ้นมาก็ชิบหายกูต้องทำแล้วนี่หว่า จากนั้นผมก็เริ่มลงมือเขียนบทซึ่งจำได้ว่าตอนเขียนบทผมไม่กลับไปอ่านหนังสืออีกเลย เขียนด้วยว่าอะไรที่จำได้ในหัวก็เขียนตามนั้น อะไรที่จำไม่ได้ก็แต่งขึ้นมา อย่างตัวละครตัวนึง เป็นตัวละครชื่อว่า ดาว (พรทิพย์ ปาปะนัย) นักร้องลูกทุ่งที่รุ่งเรืองมากเลย จำได้ว่าดาวมาในหนังสือแค่แว้บเดียวแล้วหายไป และมันจะมีตัวละครอีก 2-3 ตัวที่มาแว้บเดียวแล้วหายไปเหมือนกัน ทีนี้พอเป็นนวนิยายมันอาจจะเป็นแบบนั้นได้แต่พอเป็นหนัง เวลามันมีตัวละครหรือมีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้น ถ้ามันมาทีเดียวแล้วหายไปมันไม่ใช่บทที่ดี มันควรมาแล้วมีความหมายบางอย่างในการที่จะเดินเรื่องต่อหรือถ้ามีตัวละครเกิดขึ้นมามันต้องมีความหมายต่อตัวละครหลัก ไปทำให้ตัวละครหลักเสียหลักหรือเขวไปจากชีวิต ทีนี้ตัวละครชื่อ ดาว ผมเอามาผสมกับตัวละครอีก 2-3 ตัวที่อยู่ในหนังสือรวมเป็นตัวละครเดียว ส่วนตอนจบของหนังสือจำได้ว่าผมอ่านแล้วแทบจะปาหนังสือทิ้งเลยเพราะว่าแกดันไปจบแบบตลกคาเฟ่ยังไงก็ไม่รู้ เลยทำให้ความรู้สึกที่เราให้กับหนังสือและไอ้แผนกับสะเดามาทั้งเล่มมันไม่ค่อยใช่สำหรับการเป็นหนัง ต้องเข้าใจนิดนึงว่าสื่อของนวนิยายและภาพยนตร์มันเป็นคนละสื่อกัน เราดูหนังเราก็ไม่สามารถย้อนกลับไปอ่านหน้า 17 ใหม่ได้ เราดูหนังพร้อมกับคนหลายคนเพราะงั้นการเปิดเรื่องกับการปิดเรื่องมันเลยกลายเป็นเรื่องสำคัญ ก็เลยรู้สึกว่าการจบของหนังสือถ้าเป็นหนังมันอาจจะไม่ค่อยดี ก็เลยเปลี่ยนตอนจบ
หนังเรื่องนี้มีเนื้อหาที่หากเอามาดูใหม่ก็ยังร่วมสมัยอยู่ ต้องการจะบอกเล่าอะไรผ่านหนังเรื่องนี้หรือไม่?
ผมทำหนังมาประมาณ… เอาเป็นฟีเจอร์ฟิล์มอย่างเดียวแล้วกันเนอะ นับถึงตอนนี้ก็ 10 เรื่อง ผมไม่เคยมีแมสเสจอะไรสักเรื่อง ผมไม่เคยตั้งใจจะมี ผมต้องการให้มันเป็นหนังที่อยู่ในความสนใจในชีวิตผมตอนนั้น ผมมีคำถามแบบนั้นในชีวิตผม บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้มีสาระอะไรนะ อย่าง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ผมไม่ได้มีอะไรที่จะสื่อสารกับคนดูเลยนอกจากว่าผมอยากทำหนังที่มันใหญ่กว่า ‘เรื่องตลก 69’ ซึ่งมันค่อนข้างจะประสบความสำเร็จเหมือนกันในแง่ที่ว่ามันทำออกมาแล้วแม่งไม่แย่ว่ะ แม่งพอได้ว่ะ แล้วคนที่ได้ไปดูก็รู้สึกว่ามันหนุกดีว่ะ แปลกดีว่ะ มันมีรสชาติที่เราไม่เคยได้รับจากหนังไทยว่ะ เพราะงั้นเรื่องต่อไปกูอยากทำเรื่องที่มันใหญ่ขึ้นหน่อย ก็เลยออกต่างจังหวัดมั้ยวะ มีนักร้อง มีคอนเสิร์ตมั้ยวะ ผมต้องการแค่นั้นเลย หนังผมที่มันเหมือนจะมีแมสเสจเกือบทุกเรื่องนั้นมันจะมาตอนที่หนังเสร็จแล้วน่ะครับ ผมไม่เคยตั้งใจตั้งแต่ต้นว่าอยากจะสื่อสารอะไรกับคนดู มันถึงบอกมาในรายได้ของหนังน่ะนะ ผมมันเป็นผู้กำกับที่เห็นแก่ตัวสุดๆ คือกูจะทำในสิ่งที่กูชอบเท่านั้น แล้วถ้าเรื่องไหนสิ่งที่ผมสนใจ ทำออกมาแล้วมันดันไปโดนกับรสนิยมของคนพอสมควร มันก็จะได้รายได้ที่พอใช้ได้หน่อย แต่ถ้าเรื่องไหนสิ่งที่ผมสนใจมันไม่ใช่สิ่งที่คนสนใจ มันก็จะเป็นรายได้อย่างที่เราเห็น ก็คือเราเอาตัวเองเป็นที่ตั้งสุดๆ
‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ถ้าเอาเฉพาะในเมืองไทย มันทำรายได้มากที่สุดของหนังผม ในตอนนั้นมันน่าจะได้ประมาณ 20 ล้าน ซึ่งพอยุคสมัยมันเปลี่ยนไป มันอาจจะได้มากกว่านี้อีก ในวันนี้มันมีช่องทางการสื่อสารค่อนข้างเยอะเนอะ สมัยก่อนยังเป็นยุคที่ต๊อกกับอุ้มยังต้องไปเยี่ยมแท่นพิมพ์ไทยรัฐกันอยู่เลย ไปเยี่ยมทำไมก็ไม่รู้เนอะ ในยุคนั้นเวลาเราทำออกมาเข้าโรงเรื่องนึง เราต้องพึ่งไทยรัฐขนาดที่ว่าพระนางของหนังทุกเรื่องต้องไปเยี่ยมแท่นพิมพ์ ผมไม่เคยไปเยี่ยมแท่นพิมพ์นะเพราะเขาไม่ได้ต้องการผู้กำกับ
ตอนนี้ผมทำหนังมา 24 ปี คือไอ้หนังของผมแต่ละเรื่องมันเหมือนเป็นหมุดปักช่วงชีวิตของผมเอง เราก็โตขึ้น แก่ลง ฉลาดขึ้น โง่ลง อกหักจำนวนครั้งมากขึ้น ตัวเรามันก็เปลี่ยนไประหว่างทาง มันเหมือนการเดินทางนะครับ หนังของผมมันเหมือนผมเดินทางมาถึงจุดนึงก็จะปักหมุดเอาไว้ เดินมาถึงอีกจุดนึงก็จะปักหมุดเอาไว้ ทีนี้ถ้าตอบคำถามก็คือว่าพอมันเดินมาถึงตอนนี้มันคงยากที่จะย้อนกลับไปเป็นคนแบบนั้น เกิดถ้าผมไปเจอนิยายแบบนี้อีกและเกิดอยากทำเป็นหนังขึ้นมาอีก มันก็จะไม่ออกมาท่านี้หรอกนะ มันจะไม่ออกมาเป็นโลกใสๆ แบบนี้แล้วล่ะ ตอนนี้ในหัวนี่มีแต่เรื่องการเมือง เพราะว่าเราอยู่ในประเทศนี้มา ไอ้สิบกว่าปีที่ผ่านมากลายเป็นว่าเรื่องการเมืองมันเป็นเรื่องที่ปลุกเราตื่นจริงๆ นะ สมมติผมทำ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ เรื่องเดียวกันในปีหน้า มันคงไม่ออกมาท่านี้หรอก มันอาจจะเป็นเรื่องเดียวกันแต่คงจะคนละโทน คนละมู้ด คงไม่สนุกเท่านี้ อาจจะสนุกกว่าก็ได้แต่คงไม่รื่นรมย์เท่านี้ หนังเรื่อง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ตอนที่ทำมันมีแต่ความอินโนเซนส์ทั้งตัวเรา ทั้งนักแสดง ทั้งทีมงาน โลกเมื่อยี่สิบปีที่แล้วมันเป็นโลกที่มันเรียบง่ายมากๆ มันไม่มีอะไรให้ต้องคิดมาก การทำหนังของผมมันก็เหมือนกัน ตอนนั้นมันก็ใสซื่อบริสุทธิ์มากเลย แล้วก็ทีมงานด้วยมันยังมีความพยายามจะเรียนรู้การทำหนังกันอยู่ ปัจจุบันเราได้กลายเป็นคนแบบที่เราไม่ชอบไปแล้ว (หัวเราะ) เพราะว่าเรื่องการเมืองเรื่องอะไรก็ตาม
ขยายความการที่เราเปลี่ยนเป็นคนที่เราไม่ชอบหน่อย
ก็เป็นคนที่มันระแวงมากขึ้น ได้ยินเรื่องวัคซีน ก็ “ไอ้เหี้ยมีเบื้องหลังป่าววะ” (ฮา) ได้ยินเรื่องเรือดำน้ำ “ไอ้นี่มันมีเบื้องหลังป่าว” คือได้ยินเรื่องห่าอะไรก็คิดว่ามันมีเบื้องหลังหมดเลย มันต้องการจะอุดรูรั่วอะไรมั้ยวะ เราไม่ได้อยากเกิดมาเป็นคนแบบนี้เลย แต่ว่าประเทศนี้มันทำให้เรากลายเป็นคนแบบนี้ไปในที่สุด แต่ว่าตอนที่ทำ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ เราไม่ได้เป็นคนแบบนี้เลยนะครับ เราเป็นคนน่ารักกว่านี้เยอะ มันเป็นหนังเรื่องนึงที่ผมรู้สึกว่าทำได้เกินคาดที่ตัวเองคาดไว้นะ ซึ่งมีน้อยนะ เพราะหนังผมเองส่วนมากทำเสร็จก็จะนั่งกุมหัว พอตอนวันฉายเข้าโรงก็อยากจะคืนเงินนายทุน แล้วก็นั่งด่าตัวเองตลอดว่าอะไรทำให้มึงคิดว่ามึงทำเป็นวะ แต่ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ เป็นหนึ่งในหนังไม่กี่เรื่องที่มันไม่เหมือนภาพที่ตั้งไว้ในหัวนะ แต่ว่ามันเป็นภาพที่เกินไปกว่านั้น ผมจำได้ว่า ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ เข้าฉายเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งมันก็มีคนที่ไม่ชอบหนังล่ะนะ เขาจะบอกว่าเป็นหนังบ้านนอกที่โคตรเฟคเลย ซึ่งความตั้งใจของผม ผมไม่ได้ตั้งใจจะทำหนังบ้านนอกนะครับ ผมตั้งใจจะทำหนังที่มีโลกของมันเอง คือถ้าได้ดูไปถึงจุดนึงมันจะดูดเข้าไปในโลกของมันเลย ซึ่งผมถือว่าเป็นความสำเร็จของผมนะ ผมไม่ได้ตั้งใจจะเป็นหนังบ้านนอก ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นหนังคนกรุง มันคือการสร้างโลกของมันขึ้นมาเองในจอสี่เหลี่ยมนี้ แล้วมันจะค่อยๆ ดูดพวกเราเข้าไป แล้วมันจะบ้วนพวกเราออกมาในตอนที่หนังมันจบแล้ว ซึ่งถ้าหนังทำแบบนั้นได้ก็โอเคอะ