INTERVIEW

“พันธุ์หมาบ้า” ภาพสะท้อนการต่อสู้และหลีกหนีของคน GEN X (บันทึกการเสวนาก่อนฉายหนัง “พันธุ์หมาบ้า”)

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ก่อนการฉายหนัง “พันธุ์หมาบ้า” รอบพิเศษ ได้มีการเสวนาถึงอิทธิพลของวรรณกรรมต่อจิตวิญญาณของหนุ่มสาว Gen X ช่วงปลายยุค 80 ซึ่งด้วยความนิยมที่นิยาย “พันธุ์หมาบ้า” ของ ชาติ กอบจิตติ ได้รับ จึงน่าจะสะท้อนบรรยากาศในตอนนั้นได้ดี 

ผู้เสวนาคือ โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการบริหาร a day BULLETIN และในฐานะผู้ที่เติบโตมาร่วมยุคกับ “พันธุ์หมาบ้า” ดำเนินการเสวนาโดย นคร โพธิ์ไพโรจน์ 

การที่ “พันธุ์หมาบ้า” ได้รับความนิยมในกลุ่มหนุ่มสาวในช่วงหนึ่งมันสะท้อนอะไรบ้าง? 

เป็นการเปลี่ยนรุ่น เปลี่ยนสังคม เหมือนสังคมยุคนั้นกำลังเปลี่ยนจากเบบี้บูมเมอร์ มาสู่ Generation X คือคนรุ่นเอ็กซ์อย่างผมก็เริ่มโตขึ้นมา เรียนมหาวิทยาลัย หรือเอ็กซ์ยุคต้นๆ ที่ก่อนหน้าผมก็เริ่มทำงานแล้ว เพราะงั้นสังคมมันเลยมีการเริ่มเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง หลายมิติมาก คือโลกที่อยู่กับพลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) กับโลกที่อยู่กับพลเอกชาติชาย (ชุณหะวัณ) ต่างกันมาก 

ถ้า “พันธุ์หมาบ้า” ประสบความสำเร็จในแวดวงวรรณกรรม ในวงการหนังไทยตอนนั้นก็จะมี “ซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย”, “ปลื้ม”, “ฉลุย” จริงๆ บรรยากาศของหนังมันจะใกล้เคียงกับ “พันธุ์หมาบ้า” คือผู้ชายที่ออกมาใช้ชีวิตด้วยกัน 

จริงๆ ไม่เคยคิดมาก่อน จนกระทั่งถามนี่แหละ เราเลยกลับไปคิดว่า อย่าง “พันธุ์หมาบ้า” อย่าง “ฉลุย” อย่าง “ซึมฯ” มันมีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่ง ก็คือมันเหมือนกับการเดินออกไปจากโครงสร้างสังคมแบบหนึ่ง แล้วเลือกที่จะไปใช้ชีวิตของตัวเอง มันน่าจะเป็นยุคแรกๆ ที่มันเกิดความคิดอยากใช้ชีวิตของตัวเอง อยากเป็นปัจเจก แต่ว่าอย่างใน “พันธุ์หมาบ้า” มันมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการหนีจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ภูเก็ต อยู่ริมทะเล แต่ในขณะเดียวกันมันก็ยังไม่ถึงขั้นไปอยู่คนเดียว หรือว่าออกจากสังคมไปเลย อย่างแรกมันมีลักษณะของการหนีออกจากสังคม อย่างที่สองมันมีลักษณะของการไปสร้างยูโทเปียเล็กๆ ของตัวเองด้วย ผมคิดว่าในยุคที่มันเกิดเจนเอ็กซ์ขึ้นมาเนี่ย ไม่ได้อยู่ๆ มันก็เปลี่ยนรุ่นไปเลย แต่ว่าเอ็กซ์ยุคแรกๆ ก็ยังมีความคล้ายบูมเมอร์อยู่ รู้สึกว่าการทำงานเป็นเรื่องสำคัญ เลยกลายเป็นที่มาของคำว่า “ยัปปี้” แต่อย่าง “พันธุ์หมาบ้า” หรือว่าเอ็กซ์รุ่นหลังๆ มา ไม่ค่อยอยากจะเป็นอย่างยัปปี้ มันสืบทอดมาจากรุ่นพ่อแม่ที่ปลูกฝังว่าต้องมีความมั่นคง แต่ว่าพันธุ์หมาบ้า คือการบอกว่าไม่เอาแล้ว ไม่เป็นแบบนั้นแล้ว หรือ “ฉลุย” ก็มีลักษณะของการที่อยากเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และอยากออกไปสร้างโลกที่เป็นตัวเองมากขึ้น ผมว่ามันเป็นช่วงที่น่าสนใจ เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน “พันธุ์หมาบ้า” ออกมาเมื่อปี 2531 หรือ 1988 ซึ่งก็คือปลายยุค 80 มันเป็นเหมือนการเตรียมพร้อม มันเป็นเหมือนการเชื่อมอดีตอะไรบางอย่าง คุณชาติ กอบจิตติ ก็ทำงานอยู่กับ คุณสุวรรณี สุคนธา เพราะว่า “พันธุ์หมาบ้า” พิมพ์เป็นตอนๆ อยู่ใน “ลลนา” และผมเคยจำได้ว่า -อันนี้ผิดพลาดรึเปล่าไม่แน่ใจ- ยุคแรกๆ เนี่ย พี่ชาติเคยส่งงานไปให้คุณสุวรรณี คุณสุวรรณีก็ไม่ได้แก้ แต่ให้ไปแก้แบบนั้นแบบนี้ แล้วคุณชาติถามคุณสุวรรณีว่าทำไมไม่แก้มาให้เลย ในฐานะ บก. คุณสุวรรณีก็บอกว่าถ้าแก้มันก็จะเป็นงานของฉัน ประมาณนี้ ผมก็เลยคิดว่ามันคือการทำงานร่วมกันของศิลปิน เพราะถ้าคุณสุวรรณีแก้ให้เลย สำนวนก็จะไม่เป็นอย่างคุณชาติ แต่มันเห็นความสืบเนื่องกัน จริงๆ ผมนึกถึงหลายๆ คนด้วย ถ้าเป็นยุคก่อนๆ ของลลนา อย่างเช่นในยุคของ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต (นามปากกา “ศศิวิมล”)  ในยุคที่ไปเที่ยวเกาะเสม็ดตั้งแต่ยังไม่มีใครไป ตกปลาโน่นนั่นนี่มากินอะไรอย่างนี้ จนกระทั่งขยับมารุ่นพี่ชาติ หรือว่า อิ๋ง หลานเสรีไทย ที่เขียน “ข้างหลังโปสการ์ด” ผมเข้าใจว่าอยู่ในช่วงใกล้ๆ กัน พวกนี้เป็นเหมือนการเตรียมรุ่นผมเหมือนกันนะ เตรียมความคิดในประเด็นสิ่งแวดล้อม ในแง่การลุกขึ้นมาเถียงกับระบบก่อนหน้านั้น อย่าง “ข้างหลังโปสการ์ด” ก็ชัดว่ามีการเถียงกับระบบก่อนหน้านั้นในหลายเรื่อง มันคือการเตรียมพร้อมของยุค 80 เพื่อให้คนได้ก้าวเข้าสู่ยุค 90 ซึ่ง 90 ผมคิดว่ามันเป็นยุคที่น่าสนใจมากในชั่วชีวิตของผมที่ผ่านมา เพราะว่ามันเป็นยุคที่ความคิดมันไปไกลมากเลย ไปถึง Post Modernism, Post Structuralism อะไรต่างๆ นานา ที่มันซับซ้อนขึ้นไปอีก พอเข้าสู่ 2000 เจอ 9/11 เข้าไป มันเลยเหมือนโลกมันหมุนกลับ ซึ่งผมคิดว่า”พันธุ์หมาบ้า” ก็จะมีคุณูปการในแง่นี้ เป็นกลุ่มวรรณกรรมที่เตรียมมนุษย์เพื่อเข้าสู่ยุค 90 เตรียมความเป็นปัจเจกให้เรา กำแพงเบอร์ลินก็พังในช่วงต้นๆ ยุค 90 ช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่น่าตื่นเต้นสำหรับผม ที่รัสเซียสงครามเย็นก็จบลง แตกกระจายเป็นประเทศเล็กๆ 

เราจะสามารถพูดได้มั้ยว่า หนุ่มสาวในพันธุ์หมาบ้า มันจะเป็นภาพแทนคนในช่วงนั้น หรือบรรยากาศในช่วงนั้นได้

ผมว่าได้ส่วนหนึ่ง ข้อสังเกตหนึ่งก็คือคนยุคนั้นซึ่งรวมถึงผมด้วย เราจะไม่ค่อยนึกถึงเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างเหมือนที่คนยุคนี้เขาคิดกัน แต่ว่าตอนนั้นปัจเจกมันคือการแสวงหา ตัวตน ชีวิต ความสุข ความหมาย ความจริง ความงาม ทั้งหลายในชีวิต ในแบบปัจเจก ในแบบตัวเองคนเดียว ซึ่ง “พันธุ์หมาบ้า” มันก็จะเป็นลักษณะแบบนั้น แต่ไปกับกลุ่มเพื่อนด้วย และคนมักจะพูดถึง “พันธุ์หมาบ้า” ในแง่ของมิตรภาพ ความสัมพันธ์ของเพื่อน 

ข้อสังเกตหนึ่งก็คือคนยุคนั้นซึ่งรวมถึงผมด้วย เราจะไม่ค่อยนึกถึงเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างเหมือนที่คนยุคนี้เขาคิดกัน แต่ว่าตอนนั้นปัจเจกมันคือการแสวงหา ตัวตน ชีวิต ความสุข ความหมาย ความจริง ความงาม ทั้งหลายในชีวิต ในแบบปัจเจก ในแบบตัวเองคนเดียว

การที่วรรณกรรมมันสามารถคุยกับหนุ่มสาวยุคหนึ่งได้ คิดว่ามันจะสื่อสารกับหนุ่มสาวในยุคนี้ได้มั้ย โดยเฉพาะในตอนนี้ยิ่งชัดว่าเด็กๆ ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

อันนี้ไม่ค่อยแน่ใจ อันที่หนึ่งเลยคือปัญหา 700 หน้า ซึ่งไม่แน่ใจว่าคนสมัยนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่เด็กๆ รวมถึงผมเองจะอ่านอะไรยาวๆ ไม่ได้เหมือนเดิม อีกอันอย่างที่เพิ่งพูดไปเมื่อสักครู่คือน้องๆ สมัยนี้ก็จะสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างค่อนข้างมาก ขณะที่หนังสือในยุคนั้นจะมีความเป็นปัจเจกค่อนข้างสูง ก็เลยไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ว่ามันจะต่อติดกันได้แค่ไหน แต่ว่าในแง่ความรื่นรมย์ ความสนุกสนาน การได้เห็นชีวิต ก็คงเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรจะอ่านมันสักครั้ง มันมีงานวิจัยที่บอกว่าคนที่อ่านงานฟิกชั่น ถ้าไม่อ่านในช่วงวัยรุ่น พอโตขึ้น empathy มันจะน้อย ความเห็นอกเห็นใจคนอื่นมันจะน้อย เพราะการได้อ่านนิยายในช่วงวัยรุ่นมันทำให้เราได้เหมือนสวมบทบาทเป็นคนอื่นในหนังสือ แล้วมันแมทช์กับช่วงเวลาที่สมองมันพัฒนาอะไรก็ไม่รู้แหละ เรื่องของ cognition เรื่องของภาวะรู้คิดในตัว มันจะพอดีกับในช่วงเวลานั้น ซึ่งถ้าหากว่าได้อ่านเรื่องนี้ในช่วงเวลานี้ ก็อาจจะทำให้ได้เข้าใจคนรุ่นเอ็กซ์ได้มากขึ้น 

ซึ่งเอาจริงๆ วัยรุ่นที่โตมากับพันธุ์หมาบ้า ก็น่าจะเป็นรุ่นพ่อแม่ของเด็กในตอนนี้ 

พูดไปแล้วก็สะท้อนใจ ถ้าเราได้อ่านในช่วงอายุประมาณนี้ ก็อาจทำให้ได้เข้าใจคนที่แก่กว่าเราสักสองรุ่นได้ ผมรู้สึกว่างานอย่าง “พันธุ์หมาบ้า” หรือก็แอบคิดไปถึงงานของคุณสุวรรณีอย่าง “พระจันทร์สีน้ำเงิน” หรือ “วันวาน” มันเป็นงานที่เวลาเปิดขึ้นมาแล้วอ่านจบไปแล้วรอบนึง มันเหมือนเป็นเพื่อนของเรา ซึ่งจะเป็นเพื่อนของเราไปชั่วชีวิต แล้ววันไหนเรารู้สึกอยากกลับไปหาวันเวลาเหล่านั้นอีก เราเปิดมันกลับมา เราก็รู้เรื่องหมดแล้ว แต่เราแค่อยากกลับไปทบทวนว่าคนนั้นพูดอย่างนี้ คนนี้พูดอย่างนั้น เหมือนพอเรากลับไปอ่านมันอีกครั้งหรือครั้งแล้วครั้งเล่า ก็เป็นการดึงเรากลับไปในอดีตอีกครั้ง 

LATEST