Home Interview ‘พันธุ์หมาบ้า’ ลูกบ้าครั้งเดียวในชีวิตของ สหรัฐ วิไลเนตร

‘พันธุ์หมาบ้า’ ลูกบ้าครั้งเดียวในชีวิตของ สหรัฐ วิไลเนตร

‘พันธุ์หมาบ้า’ ลูกบ้าครั้งเดียวในชีวิตของ สหรัฐ วิไลเนตร

นับตั้งแต่ถูกรวมเป็นเล่มครั้งแรกเมื่อ มกราคม 2531 หลังตีพิมพ์ในนิตยสาร ลลนา รายปักษ์มายาวนานร่วม 2 ปี หนึ่งในผลงานที่โด่งดังที่สุดของนักเขียน 2 รางวัลซีไรต์ ชาติ กอบจิตติ อย่าง ‘พันธุ์หมาบ้า’ ก็ยังได้รับการพูดถึงจากรุ่นสู่รุ่น 

‘พันธุ์หมาบ้า’ ว่าด้วยเรื่องราวของ อ็อตโต้ ทัย และผองเพื่อน ที่แม้จะมาจากคนละพื้นเพ แต่ก็ใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขสารพันอารมณ์ โดยที่ขาดไม่ได้ คือ สุราและกัญชา ของสองสิ่งที่เขาหลอมรวมมิตรภาพของพวกเขาเข้าไว้ด้วยกัน

…เช่นเดียวกับ สหรัฐ วิไลเนตร ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ติดตามและหลงรักในเรื่องราวของเพื่อนกลุ่มนี้ แต่เขาไม่ได้หยุดความคลั่งไคล้ไว้ที่การอ่านมันเท่านั้น เขาตัดสินใจดัดแปลงมันเป็นหนังออกฉายใน พ.ศ. 2533 (1990) ซึ่งเป็นผลงานกำกับครั้งแรก และครั้งเดียวของสหรัฐอีกด้วย

ต่อไปนี้คือตำนานความบ้า เมื่อ 30 ปีที่แล้วของเขา

ลูกบ้าของคนทำหนังโนเนม

ในช่วงเวลานั้น สหรัฐทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับ ซึ่งก็เป็นคนเบื้องหลังที่ไม่ได้มีชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักในวงการ การที่เขาเดินไปขอซื้อลิขสิทธิ์หนังสือจากนักเขียนซึ่งตอนนั้นมีชื่อเสียงในระดับหนึ่งแล้ว จึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะสำเร็จ แต่สหรัฐก็ทำมันไปด้วยความเชื่อและซื่อสัตย์กับตัวเอง

“จริงๆ ผม กับ พี่ชาติ กอบจิตติ ก็ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ในตอนนั้นเราเป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่ชื่นชอบและติดตาม ‘พันธุ์หมาบ้า’ เท่านั้น จนวันหนึ่งที่เราไปดูหนังที่ ‘สกาลา’ ดูจบก็ไปร้านหนังสือที่อยู่ข้างๆ คือชีวิตปกติผมเวลาไปสยามก็มีแค่นี้แหละ ดูหนังจบก็หาหนังสืออ่าน ก็ไปเห็นว่ามันรวมเล่มแล้วเว้ยจึงซื้อเลย แล้วก็อ่านจบภายในคืนเดียว หลังจากนั้นก็อ่านมันซ้ำอีกน่าจะเป็นร้อยรอบ ไม่รู้เปรียบเทียบเว่อร์เกินไปหรือเปล่า แต่คืออ่านจนเราเห็นเป็นภาพจินตนาการในหัวได้ ก็คิดไปว่ามันน่าจะทำเป็นหนังนะ ก็เริ่มเขียนบทเองเลยโดยไม่ปรึกษาใคร ใช้ประสบการณ์จากที่ไปช่วยงานคนอื่นๆ มานั่นแหละ”

สหรัฐใช้เวลา 7 เดือนในการทำพรีโปรดักชั่นหนัง ‘พันธุ์หมาบ้า’ ด้วยตัวคนเดียวจนเสร็จ จึงหอบหิ้วมันไปเสนอ ชาติ กอบจิตติ เพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์มาทำเป็นหนัง

“ตอนนั้นผมคิดแบบถ้าได้ก็ได้ ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพียงแต่เราต้องทำให้เต็มที่ก่อน ต้องพร้อมไปหาแกก่อน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็เดินเข้าไป -พี่ครับผมขอซื้อลิขสิทธิ์ครับ- เป็นใครเขาก็คงไม่ให้ เหมือนเราไม่มีความตั้งใจจริง เราต้องมีทรีตเม็นต์ มีบท มีเรื่องย่อ มีภาพ มีสตอรี่บอร์ด มีนักแสดง หิ้วแฟ้มพะรุงพะรังไปหาพี่ชาติ เหมือนเอางานไปส่งอาจารย์เลย ก็ให้พี่ชาติดู นี่บทนะครับ นี่สตอรี่บอร์ด นี่นักแสดง แล้วพี่ก็ตัดสินใจเลย พี่ชาติแกก็พูดมาคำนึงว่า -เออ จริงใจดีเว้ย-

“แต่พี่ชาติก็ไม่ได้ให้เลยนะ คือขอเวลาตัดสินใจก่อน วันนั้นเราก็นั่งรถเมล์กลับบ้าน แล้วก็รอคำตอบอยู่หลายวัน 2 วันก็แล้ว อาทิตย์นึงก็แล้ว จนผ่านไป 3 สัปดาห์ ก็มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นมา พี่ชาติก็พูดสั้นๆ ว่า -มาคุยกันหน่อย- พอไปคุยพี่ชาติก็อธิบายว่ามันยากนะ เรื่องมันยาวนะ เข้าใจว่าหนังมันก็มีเวลาจำกัด พยายามทำให้ดีที่สุดก็แล้วกัน คือพี่ชาติไม่ได้แก้ไขบทเลย พี่ชาติก็ให้เกียรติเรา แต่ก็เป็นอารมณ์เป็นห่วงมากกว่าว่าเราจะทำได้ไหม ทุนพอไหมมากกว่า ก็ได้เซ็นสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์กัน ซึ่งเรามีเวลา 3 ปี ที่จะทำก่อนที่ลิขสิทธิ์ที่ซื้อมาจะหลุดไป”

เมื่อเราถามว่าทำไมถึงตัดสินใจและเริ่มต้นมันอย่างรวดเร็วที่จะทำ ‘พันธ์ุหมาบ้า’ เป็นหนังยาวเรื่องแรกในชีวิต สหรัฐก็ตอบมาอย่างเรียบง่ายว่า “เราคิดว่าถ้าจะกำกับหนังเรื่องแรกในชีวิต หลังจากที่คลุกคลีในวงการหนังมาสักพัก เราก็อยากทำเรื่องที่มันใกล้ตัวเรา ที่มันเป็นเรา และที่สำคัญเราชอบมันด้วย”

“หนังอินดี้” เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

ความยากยกต่อมาของสหรัฐ คือเขาตัดสินใจทำหนังเรื่องนี้ในรูปแบบหนังอิสระ โดยไม่ได้นำโปรเจ็กต์ไปเสนอตามค่าย และเริ่มหาทุนทั้งหมดด้วยตัวเอง

“ผมว่ามันก็ไม่ได้ต่างจากหนังอิสระยุคนี้นะ คือคุณต้องวิ่งหาเงินทุนเอง ทำไปวิ่งหาเงินไป ไม่ได้มีเงินทุนแบบก้อนเดียวแล้วทำได้จนจบ เราก็เอาประสบการณ์จากการคลุกคลีกับพวกคนทำหนังรุ่นเก๋า ตอนนั้นป๋า ส. อาสนจินดา ยังสบายดี เราก็ไปขอคำแนะนำ แกก็แนะนำว่าลองไปขายสายหนังสิวะ เมื่อก่อนมันยังเป็นระบบหนังขายสายอยู่ไง ตัวอย่างเช่น ผมไปขายหนังให้สายใต้ สมมติราคาได้ล้านนึง งั้นผมขอ 5 แสนมาทำหนังก่อนได้ไหม ก็เซ็นต์สัญญาขายไป แต่เขาก็ให้เป็นเช็คมา ปรากฏว่าเช็คเด้งบ้าง ไปแลกเช็คบ้าง ถูกหักเงินบ้าง บางสายหนังเงินออกตรงเวลาก็รอดไป หืดขึ้นคอเหมือนกัน

“แต่ก่อนหน้าที่จะไปขายสาย ทุนก้อนแรกก็มาจากทางบ้านเราเอง เพื่อเอามาถ่ายทำฟุตเตจบางส่วน เป็นตัวอย่างไปให้สายได้เห็นหน้าหนังของเราก่อน เขาจะได้เห็นว่าหนังมันจะเป็นยังไง มีใครเล่นบ้าง ราคาจะให้เท่าไหร่ ก็หอบฟุตเตจไปขายมาครบทุกสาย สายเหนือ สายใต้ สายอีสาน สายปริมณฑล ส่วนในกรุงเทพฯ เราก็แบ่งรายได้กับโรงแล้วก็เก็บเอง”

เบรคความอินดี้ด้วย “พงษ์พัฒน์ – อำพล”

จากแรกเริ่มที่สหรัฐแคสต์นักแสดงหน้าใหม่มาเล่นทั้งหมด แต่ด้วยตนเองก็ยังเป็นคนทำหนังหน้าใหม่ที่ไม่มีชื่อเสียง ทำให้เขาต้องมองหาจุดขายให้กับหนัง นั่นคือการหานักแสดงนำใหม่

“จากเดิมที่ไม่ใช้ดาราเลยสักคน ไปแคสติ้งจากฮิปปี้ตัวจริงๆ มาเลย ทางผู้ใหญ่เห็นว่าแบบนี้ไม่น่ารอดแน่ สายหนังไม่เอาแน่ เราไม่ใช่ เปี๊ยก โปสเตอร์ ไม่ใช่ ส. อาสนจินดา ไม่ใช่ เชิด ทรงศรี มึงเป็นใคร ถ้าเอามาหน้าใหม่หมดแบบนี้มึงตายแน่ ไปเอาเงินสายหนังไม่ได้แน่

“ตอนนั้นในวงการมันมีใครวะที่เล่นได้ และเป็นดาราแม่เหล็กบ้าง ชาวบ้านทั่วไปกรี๊ด ตอนนั้นผมก็เห็น พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง กับ อำพล ลำพูน ในเรื่อง ‘ดีแตก’ (1987, อดิเรก วัฏลีลา) ก็คิดว่าคู่นี้แหละ ใช่เลย อีกอย่างคือตอนนั้นทั้ง ไมโคร และตัวพงษ์พัฒน์ก็กำลังดังจากเพลงพอดี ก็ต้องเป็นคู่นี้แหละ

“แต่นอกจากพงษ์พัฒน์กับอำพล ที่เหลือในเรื่องก็เป็นหน้าใหม่ทั้งหมด อย่างบางคนผมก็ไปขอมาแบบ มาเล่นให้พี่หน่อย บุคลิคมึงได้มากเลยนะ เขาก็มาเล่นให้ 4-5 ฉาก ซึ่งเขาก็เล่นดีนะ แต่หลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้เล่นหนังอะไรอีกเลย หรือกับคนที่รับบท สำลี (แสดงโดย มอริส เค) ก็เป็นเพื่อนกันอยู่ ม.ศิลปากร ก็เล่นหนังให้เราเป็นเรื่องแรก แล้วเขาก็เล่นดีไง หลังจากนั้นเขาก็มีงานอีกหลายเรื่องตามมา”

สหรัฐ วิไลเนตร ผู้กำกับ ‘พันธ์ุหมาบ้า’

ผู้กำกับ ที่ทำแทบทุกอย่างในกองถ่าย

ด้วยทุนสร้างจำกัดเพียง 3 ล้าน 8 แสนบาท ทำให้สหรัฐต้องลดต้นทุนทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้ 

“จำได้ว่า ‘พันธุ์หมาบ้า’ ใช้ฟิล์มไปแค่ 111 ม้วน น้อยมาก ไปถามใครในวงการส่วนใหญ่เขาก็ใช้ 200 – 300 ม้วน ของเรามันได้ฟิล์มแค่นี้ก็บีบหัวใจเหลือเกิน กูไม่มีตังแล้ว ดังนั้นเราจะเทคมากก็ไม่ได้ เลยต้องซ้อมเยอะก่อนถ่าย ซ้อมเยอะก็เปลืองเวลา คิวก็มีจำกัด บีบไปหมดทุกอย่าง”

“ไหนจะงานส่วนอื่นๆ โลเคชั่นก็หาเอง ฉากก็จัดเอง เสื้อผ้าก็วิ่งหาเอง ทีมงานเราไม่เยอะเลย ชวนเพื่อนๆ มาทำฉาก 3 คน เพื่อนก็อาสามาช่วย กินเหล้ากันมีเงินให้นิดหน่อยนะ เขาก็มาได้แป๊บเดียว ที่เหลือเราก็ต้องทำเอง วิ่งยืมของยืมเสื้อจากเพื่อนจากรุ่นพี่คนนี้คนนั้น ไฟก็ช่วยจัดกับพี่เปี๊ยก (อนุภาค บัวจันทร์ – ผู้กำกับภาพ) พี่เขาก็ให้เกียรติเรามาช่วยให้ เราก็ทำหน้าที่เป็นกาฟเฟอร์ (Gaffer – ช่างแสง) ด้วย

“ไหนจะเรื่อง มอนิเตอร์ สมัยนั้นถ้าจะเอามอนิเตอร์ คิวนึงก็ 5 พัน วันนึงสองคิวก็หมื่นแล้ว แค่จอเล็กๆ ต่อสายมาดูภาพวันละหมื่น งั้นกูขอดูผ่านวิวไฟน์เดอร์แล้วกัน ถ้าซีนไหนไม่มั่นใจ เราก็ขอพี่เปี๊ยกถ่ายเองเลย เพราะไม่งั้นเราก็ไม่เห็น”

เซฟค่าใช้จ่าย ด้วยการ “เซ็นเซอร์” ตัวเอง

‘เก็บสิ่งดีจากหนังสือไปใช้ จำสิ่งชั่วไปเตือนตน’ โดยไม่ต้องไปลองเสี่ยงเอง เพียงเพราะว่าอยากลองเท่านั้น และผมขอยืนยันตรงนี้ว่า ผมไม่เชื่อว่าคนที่รักการอ่านหนังสือจะต้องมาเสียคน เพราะการอ่านหนังสือ

ชาติ กอบจิตติ เขียนประโยคนี้ไว้ในคำนำของหนังสือ ‘พันธุ์หมาบ้า’ เพื่อเตือนเบาๆ ถึงสิ่งที่ผู้อ่านกำลังจะเจอในหนังสือเล่มนี้ ที่เต็มไปด้วยวีรกรรมสุดห่าม คำหยาบคายผรุสวาท และร่วมไปถึงเรื่องเหล้ายาวนเวียนให้พบอยู่ตลอดทั้งเรื่อง

แต่เมื่อมาเป็นฉบับภาพยนตร์ สหรัฐรู้ว่าเขาไม่สามารถปล่อยเนื้อหาหลายๆ ส่วนออกไปได้ เพราะเป็นไปได้ยากที่จะรอดคมกรรไกรของ “กองเซ็นเซอร์” ในช่วงเวลานั้น ยิ่งด้วยทุนอันจำกัด ทำให้สหรัฐต้องเซ็นเซอร์ตัวหนังตั้งแต่ตอนที่ดัดแปลงหนังสือความยาวเกิน 600 หน้าให้กลายเป็นบท

“ช่วงนั้นก็ยังเป็นระบบทำหนังเสร็จ เราก็ต้องเอาไปฉายให้เขาดู แล้วเขาก็จะติ๊กมาว่าฉากไหนไม่ผ่าน ก็ต้องกลับมาตัดใหม่ ปรากฏตัดออกแล้วเล่าเรื่องไม่ครบ ก็ต้องออกไปถ่ายใหม่ ไม่ให้เห็นไอ้นี่ไอ้นั่น ถ่ายเสร็จก็ต้องเข้าแล็บไปตัดใหม่ ตัดเสร็จก็พิมพ์ฟิล์มใหม่ แล้วก็วนไปส่งเซ็นเซอร์ใหม่อีก คือมันยุ่งยากมาก

“ความยากของ ‘พันธุ์หมาบ้า’ คือ ไอ้นั้นก็เล่าไม่ได้ ถ่ายไม่ได้เพราะติด(กอง)เซ็นเซอร์ เราจะทำยังไง จะหามุมกล้องแบบไหน เพราะเนื้อหาใน ‘พันธุ์หมาบ้า’ มันติดเซ็นเซอร์เต็มไปหมด ไหนเราจะงบประมาณจำกัด จะถ่ายแบบตามใจก็ไม่ได้ ฟิล์มก็จำกัดม้วน ยกกองไปถ่ายแต่ละที่ก็หายใจไม่ทั่วท้อง วันนี้มีงบซื้อฟิล์มแค่ 7 ม้วน ม้วนนึง 400 ฟิต เทคนี้ใช้ฟิล์มกี่ฟิต ห้ามพลาดนะเว้ย มันเป็นการทำงานที่มีข้อแม้เต็มไปหมด”

“ดังนั้นจากประสบการณ์ที่เราคลุกคลีอยู่ในวงการหนัง เราก็ต้องเซ็นเซอร์มันด้วยตัวเองก่อน ดูดกัญชา ดูดบ้องไม่ได้ งั้นเปลี่ยนเป็นดูดแบบพันลำแล้วกัน กินเหล้าโจ๋งครึ่มไม่ได้ ก็ปรับเอาแล้วกัน เมื่อเสร็จแล้วส่งเซ็นเซอร์ มันก็ไม่ผ่านอยู่ฉากเดียว กลับมาแก้แล้วส่งไปใหม่อีกรอบก็ผ่าน”

นำ ‘พันธุ์หมาบ้า’ กลับมาเหยียบ ‘สยาม’ อีกครั้ง

จากจุดเริ่มต้นที่สหรัฐ ซื้อหนังสือ ‘พันธุ์หมาบ้า’ ครั้งแรก ณ ร้านหนังสือข้างโรงหนังสกาลา เมื่อหนังเสร็จ เขาจึงอยากนำหนังกลับมาฉายในถิ่นที่เขาคุ้นเคยอีกครั้ง 

“ตอนนั้นผมก็ต้องไปต่อคิวเอาหนังเข้าเครือเอเพ็กซ์ หนังไทยยุคนั้นถ้าได้เข้าฉาย ลิโด้ สยาม สกาลา โรงใดโรงหนึ่งถือว่าเจ๋ง เขาก็บอกว่าเอาหนังมาดูซิ เอาหนังไปดูเป็นเดือนกว่าจะตัดสินใจให้ฉาย ให้ฉายไม่พอ เอาคิวไปเดือนนั้นนะ เราก็เลือกไม่ได้ ไม่มีสิทธิเลือกวัน ก็โอเค อย่างน้อยหนังเรื่องแรกของตัวเองได้ฉายที่สยามก็ดีใจแล้ว”

“พอได้ที่ฉาย ก็ต้องมานั่งคิดเรื่องโปรโมท โปสเตอร์ทำยังไงวะ โชว์การ์ด (การ์ดที่มีภาพและข้อมูลจากหนังไว้ติดโชว์ตามบอร์ดหน้าโรงภาพยนตร์ในช่วงเวลานั้น) ต้องทำแบบไหน ก็ต้องมานั่งเลือกภาพนิ่งจากฟิล์มสไลด์ของหนัง วางอาร์ตเวิร์คเอง ส่งโรงพิมพ์เอง ไหนจะวางแผนโปรโมท วันแรกใครซื้อตั๋วเท่านี้รับเสื้อยืด ‘พันธุ์หมาบ้า’ ไปเลยหนึ่งตัว ตอนนั้นตั๋วราคา 40 บาท 30 บาท ใครซื้อก็แจกไป โปสเตอร์พร้อมลายเซ็นพงษ์พัฒน์ใบนึง

“ปรากฏว่าวันแรกรอบแรก โรงแตกเลย เพราะช่วงเวลานั้นความโด่งดังของทั้งพงษ์พัฒน์กับอำพลจากงานเพลงมันก็สุกงอมพอดี ไหนจะนับตั้งแต่ที่เราทำจนหนังฉายมันก็เวลา 2 ปี หนังสือก็เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาแล้ว เราเองก็ตระเวนให้สัมภาษณ์ตามแม็กกาซีนต่างๆ มาตลอด 2 ปี มันก็เหมือนเราโปรโมทสะสมมาเรื่อยๆ”

หนังครั้งเดียวของ ‘พันธุ์หมาบ้า’ และ สหรัฐ

หลังจากประสบความสำเร็จกับการกำกับหนังเรื่องแรก สหรัฐก็ตั้งใจจะเดินเข้าสู่การทำหนังในระบบแบบค่ายหนังหลังจากนั้น ทว่าเมื่อเป้าหมายของเขาไม่ตรงกับสิ่งที่ค่ายต้องการ นั่นจึงทำให้ ‘พันธุ์หมาบ้า’ กลายเป็นผลงานกำกับเพียงเรื่องเดียวของเจ้าตัวมาจนถึงทุกวันนี้

หลังจากนั้นสหรัฐยังวนเวียนทำงานในฐานะคนเบื้องหลังวงการหนัง ทั้งงานผู้ช่วยผู้กำกับหนังไทยฟิล์มนัวร์ขึ้นหิ้งอย่าง ‘กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน’ (1991, มานพ อุดมเดช) ไปจนถึงงานด้านที่ปรึกษาบทภาพยนตร์และโปรดิวเซอร์ ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2552 สหรัฐตัดสินใจลาวงการ ไปใช้ชีวิตที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน

“มันอิ่มตัว ผมเป็นทั้งผู้ช่วยก็แล้ว ไต่เต้าจนไปเป็นโปรดิวเซอร์ก็แล้ว เราอยู่ตั้งแต่วงการหนังมันยังไม่รุ่งเรือง จนกลับมารุ่งเรือง แล้วก็ซบเซาอีกรอบ ซึ่งผมก็ไม่ได้จะยึดติดกับวงการหนังว่าจะต้องอยู่จนแก่ตาย เราก็เห็นมาหลายคนแล้วที่อยู่จนไม่มีงานทำ

“แต่การที่มาอยู่ปาย เหมือนชีวิตมันจับพลัดจับผลูมา คือเรามารับงานออกแบบรีสอร์ทที่ปาย ดูแลงานสร้างให้เขา 2 ปีกว่าที่งานนี้จะเสร็จ ก็กินนอนอยู่ที่นี่มาตลอด ก่อนที่ปายจะบูมด้วยซ้ำ ก็พบว่าที่นี่มันก็น่าอยู่นะ เหมือนเราได้ตัดสวิชต์ชีวิตจากเมืองหลวง แล้วก็คิดว่าถ้าได้ใช้ชีวิตที่นี่ เปิดร้านกาแฟเล็กๆ มันก็น่าจะอยู่ได้นะ ยิ่งถ้าเรามาก่อนก็จะยิ่งได้เปรียบคนอื่น ก็เลยตัดสินใจอยู่ที่นี่” ปัจจุบัน สหรัฐเปิดร้านกาแฟชื่อว่า ‘ละเอียด’ อยู่ที่ปาย และเตรียมจะปรับปรุงบ้านของตัวเองเปิดเป็นร้านอาหารเล็กๆ เพิ่มในเร็วๆ นี้ 

เมื่อเราถามว่า เขารู้สึกอย่างไรเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา หนังสือ ‘พันธุ์หมาบ้า’ ยังคงมีอิทธิพลมาถึงผู้อ่านในรุ่นหลังๆ และยังมีการดัดแปลงเป็นฉบับภาพยนตร์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งสหรัฐก็กล่าวว่า

“รู้สึกดีใจแทนพี่ชาตินะ อย่างปีใหม่ปีก่อน เราไปกินเหล้ากับเพื่อนสองคนที่ร้านนึง ก็เจอเด็กมหา’ลัย ม.รังสิต ปี 4 นั่งกินอยู่โต๊ะข้างๆ ซึ่งเขาไม่รู้หรอกว่าเราเป็นใคร เขาก็บอกกับเพื่อนว่า – เห้ยกูอ่าน ‘พันธุ์หมาบ้า’ มา 5 รอบแล้ว โคตรสนุกเลยวะ – เราก็ขนลุกเลยนะว่า เด็กรุ่นใหม่ก็ยังอินกับมัน

“ช่วงเวลามันเปลี่ยนไปหมดแล้ว มันไม่ใช่ยุคที่เราจะไปหยอดตู้โทรศัพท์สาธารณะโทรหาเพื่อชวนกินเหล้าแล้วไง หากจะต้องตีความ ‘พันธุ์หมาบ้า’ ใหม่ ต้องยอมรับว่าวิถีมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว นอกจากจะทำเป็นแนวย้อนยุคไปเลย ฮิปปี้สมัยก่อนเป็นยังไง บรรยากาศร้านเหล้ายุคก่อนเป็นยังไง สมัยก่อนวัยรุ่นเขาใส่เสื้อสกรีนลายขวาง เสื้อลาย Woodstock เสื้อสกรีนลาย The Beatles เหรอวะ ทั้งที่เราทำตอนนั้นมันก็ร่วมสมัยในยุคของมัน เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงเวลานั้นเอาไว้”

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here