หลังกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งของโรงหนังในไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. สิ่งที่ผู้ประกอบการโรงหนังต้องขบคิดอย่างหนัก คือการทำอย่างไรให้ผู้ชมตบเท้ากลับมาเข้าโรงเป็นปกติอีกครั้ง ภายใต้ข้อจำกัดของมาตรการ Social Distancing
เช่นเดียวกัน ผู้ประกอบการโรงหนังอิสระอย่าง Bangkok Screening Room ที่เปิดบริการมาราว 4 ปี ก็ต้องเผชิญกับการปรับตัว ทั้งการลดจำนวนที่นั่งเหลือครึ่งเดียวจาก 50 ที่ รวมไปถึงหนังที่จะนำมาฉายเองก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
ศริญญา มานะมุติ Operations Manager และ 1 ในผู้ก่อตั้ง BKKSR พูดถึงการปรับตัวของโรงว่า แม้จะต้องลดจำนวนที่นั่งลงจนทำให้โอกาสสร้างรายได้หายไป จนต้องปรับโครงสร้างการจ้างพนักงานใหม่เพื่อลดค่าใช้จ่ายแล้ว ในแง่ของหนังที่นำมาฉายเอง ก็ได้รับผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะกับบรรดาโปรแกรม exclusive ที่โรงนำเข้ามาฉายเอง
“เราก็พยายามต่อรองกับดิสทริบิวเตอร์หรือเจ้าของหนังในต่างประเทศ ซึ่งทางเขาก็เข้าใจในผลกระทบที่มันเกิดขึ้น ส่วนถ้าเจ้าไหนที่ดีลในแง่ค่าใช้จ่ายไม่ได้ ก็ต้องตัดสินใจยุบโปรแกรมคืนหนังไป เพื่อเซฟค่าใช้จ่าย
“ช่วงที่ผ่านมา มันมีบัฟเฟอร์ของกลุ่มคนดู ที่เขากังวลใจในโปรแกรมหนังที่มันเรียกร้องความสนใจจากผู้ชมมากๆ ซึ่งเขาก็จะเปิดใจ แต่ตอนนี้เราเข้าใจว่าทุกคนก็มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอยู่ และมีแนวโน้มที่จะเลือกหนังที่เขามั่นใจว่าจะสนุกจริงๆ มากขึ้น การเลือกหนังที่มาฉายในช่วงนี้มันเลยเป็นลักษณะหนังที่คนดูก็มั่นใจว่าจะชมและเราก็มั่นใจว่าจะเจ็บตัวกับมันน้อยที่สุด
“ตัวอย่างเช่นเรื่อง The Souvenir (2019, โจอันนา ฮ็อกก์) กับ BlacKkKlansman (2018, สไปค์ ลี) ก็จะเป็นหนัง exclusive ที่เราลงโปรแกรมในช่วงแรก ซึ่งจริงๆ มันมีเยอะกว่านี้ แต่บางเรื่องมันก็จะมี minimum guarantee (ค่าลิขสิทธิ์ขั้นต่ำที่ต้องจ่าย) ซึ่งทำให้เราต้องตัดใจเลือกแต่หนังที่มีแนวโน้มจะดึงคนดูมาให้ได้มากที่สุด และตัดหนังที่ดูจะมีความเสี่ยงสูงออกไปก่อน เพื่อที่อย่างน้อยที่สุดมันยังได้ทุนจากการซื้อหนังกลับมา คือเรื่องกำไรในตอนนี้ไม่ต้องพูดถึง”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดขายของโรงหนังอิสระอย่างโปรแกรม exclusive ยังคงมีผลกับการดึงผู้ชมกลุ่มขาประจำกลับมาเข้าโรงได้ ตัวอย่างเช่น A Hidden Life (2019 ,เทอร์เรนซ์ มาลิค) ที่ฉายสัปดาห์แรกเฉพาะที่ House สามย่าน ก็ทำรายได้ไปกว่า 7 หมื่นบาท เช่นเดียวกับบรรดาโปรแกรมพิเศษตามเทศกาลหรือห้วงเวลาที่ผู้คนสนใจ ตัวอย่างเช่นช่วง Pride Month ที่ทุกโรงต่างมีโปรแกรมพิเศษของตัวเอง เป็นต้น
“คือเรื่องของโปรแกรมตามอีเวนต์มันก็เปิดกว้างที่ทุกโรงจะทำได้ เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนก็รู้หมดว่าตอนนี้คือ Pride Month ในแง่ดีที่ทุกโรงมีโปรแกรม Pride Month ทำให้ผู้คนรับรู้ถึงความสำคัญของอีเวนต์เหล่านี้ ซึ่งเราก็พยายามจะหลีกเลี่ยงในการจัดโปรแกรมหนังให้มันชนกัน เพราะมันไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย คือโปรแกรมเหล่านี้มันก็มีการวางแผนล่วงหน้ามาระยะหนึ่ง ซึ่งเราคิดว่ากับโรงอื่นก็คงเช่นกัน แต่มันก็ไม่มีการสื่อสารระหว่างโรงหนังด้วยกันทั้งหมด มันเลยทำให้เราเองก็ต้องเตรียมแผนสองแผนสามไว้สำรองด้วย เช่นตอนแรกเราจะจัด Pride Month ไปอีกแบบนึง แต่พอเห็นอีกโรงวางโปรแกรมแบบนี้ เราก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นอีกแบบแทน”
แม้ทางโรงจะพยายามปรับตัวอย่างหนักเพื่อประคับประคองสถานะของโรง แต่ในช่วงเวลาที่ยังมั่นใจไม่ได้ว่า จะเกิดการกลับมาระบาดรอบที่ 2 ของโควิต-19 หรือไม่ รูปแบบหนึ่งที่โรงหนังอิสระทำเพื่อหาเงินทุนมากู้วิกฤติ คือการ Crownfunding ระดมทุนฉุกเฉิน
https://www.scmp.com/lifestyle/entertainment/article/3081723/coronavirus-and-film-how-singapores-only-independent-cinema
“ช่วงที่เราระดมทุนตอนเปิด BKKSR บอกตรงๆ ว่ากลุ่มผู้ชมคนไทยที่สนใจร่วมบริจาคระดมทุนกับเรามีน้อยมากประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด คือเราเข้าใจธรรมชาติของคนไทยที่อาจจะยังลังเลในวิธีการ crownfunding เราเลยมีประสบการณ์จากตรงนั้นแล้ว
“เราเองก็พยายามจะดิ้นรนกับสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้น ซึ่งถ้ามันถึงจุดนั้นจริงๆ ก็ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะหาทางออกยังไง ก็คงต้องพยายามอย่างถึงที่สุด ก่อนที่จะต้องยกธงขาวออกไป”