ก้าวแรกของสตูดิโอ M39 มันเคยเป็นหนึ่งในความหวังสำคัญของวงการหนังไทย จนเมื่อตลาดหนังไทยมีการเปลี่ยนแปลง ผู้เล่นเก๋าเกมอย่าง M39 ก็มีการปรับโครงสร้างการบริหาร โดยผู้ที่มากุมบังเหียนยุคใหม่ของ M39 คือ ปัญชลีย์ นิธิจิระโรจน์ ซึ่งเปิดตัวด้วย ‘มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ’ ที่ทำรายได้ทั่วประเทศไปราว 60 ล้านบาทเลยทีเดียว
ปัญชลีย์และ M39 เดินหน้าโปรเจกต์ที่สองในทันที นั่นคือ ‘อีหล่าเอ๋ย’ ซึ่งย้ายภูมิลำเนามาที่ภาคอีสาน จนราวกับว่า M39 กำลังประกาศแนวทางที่ชัดเจนว่าเป็นยุคแห่งการแสวงหาคนดูนอกเขตกรุงเทพฯ เพราะรายได้ที่ ‘มนต์รักดอกผักบุ้งฯ’ ทำได้ส่วนใหญ่ ไม่ได้กระจุกอยู่ในเมืองหลวงแต่อย่างใด
จากความสำเร็จในหนังเรื่องแรก แนวทางการทำหนังของ M39 ชัดจนขึ้นหรือไม่?
จากเรื่องแรกก็ถือว่าได้รับผลตอบรับที่ดีเนอะ แนวทางการพิจารณาโปรเจกต์หลังจากนี้ก็ต้องหาข้อมูลมากขึ้น เพราะในพฤติกรรมของคนวันนี้เขามีความบันเทิงที่หลากหลายมาก และก็ต้องมานั่งเซ็ตอัพตัวเราว่ากลุ่มคนที่ดูหนังเราไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม แต่เราต้องชัดเจนว่าในแต่ละโปรเจกต์ที่เราทำมีคนดูเป็นใคร นั่นคือจุดเริ่มต้นเลยว่าคอนเทนต์แบบนี้ใครเป็นคนดู และเขาอยากดูมั้ย บางทีเราเป็นคนทำงานเราคิดว่าคนกลุ่มนี้น่าจะดูหนังเรา แต่เขาอยากจะดูหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้แหละที่เราต้องรีเสิร์ชจากแนวทางของหนังในอดีตว่าหนังแบบไหนที่คนชื่นชอบ รวมไปถึงองค์ประกอบหลายๆ ส่วน นอกจากบทที่ดีแล้ว นักแสดงเขาเป็นคนที่อยู่ในใจของผู้ชมส่วนใหญ่มั้ย แล้วมันเข้ากับบทที่เราเชิญเขามาหรือเปล่า นั่นเป็นส่วนที่มีรายละเอียดมากขึ้น อย่างวันนี้ ‘อีหล่าเอ๋ย’ เป็นหนังอีสานใช่มั้ย คนอีสานก็น่าจะมีใจให้แล้วเพราะมันเป็นหนังอีสาน และพูดภาษาถิ่นของเขา เหมือน ‘มนต์รักดอกผักบุ้ง’ ที่เป็นหนังใต้ ด้วยบทที่เป็นใต้และนักแสดงที่เป็นคนใต้ มันก็ได้รับการตอบรับที่ดี อันนี้เหมือนกัน พระเอกเราก็ต้องเชื่อว่าเขาเป็นลูกอีสานอย่างแท้จริง นางเอกก็เช่นกัน เราเอามาปรุงแต่งอะไรมากไม่ได้ มันน่าจะเริ่มต้นจากจุดนี้มากกว่า ในปีนี้ และนอกจากหนังถิ่นแล้วเราก็ยังมองไปถึงกลุ่มคนเมืองด้วย พวกกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นกลุ่มหลักของการชมภาพยนตร์ก็คือ 18-25 ปี ก็คงต้องดูว่ารสนิยม ความชอบ วิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ หรือแม้แต่ภาษาที่เขาคุยกัน ถ้าเราจะทำหนังสักเรื่องที่จะไปนั่งอยู่ในใจเขา เราก็ต้องมั่นใจว่าเขาคุยอะไร กินอะไร ชอบแบบไหน มันไม่ใช่แค่ว่าทำหนังแล้วเอาดาราวัยรุ่นมาใส่แล้วจบ มันไม่จบ เรื่องราวที่เล่าอยู่ในหนังมันต้องเป็นชีวิตของพวกเขาด้วย เขาถึงจะมีความคิดว่าแบบนี้แหละที่เขาอยากจะดู เวลาเราไปดูหนังแล้วรู้สึกอินเพราะอะไร เพราะเราเป็นเหมือนเขา ฉันก็เคยเจอเหตุการณ์นี้ นี่คือสิ่งที่เราต้องหาให้เจอในวันนี้และวันต่อๆ ไป
M39 ในวันนี้เปลี่ยนแปลงจากอดีตแค่ไหน
อดีตเป็นสตูดิโอที่ทีมงานคับคั่ง ปัจจุบันองค์กรเรายังอยู่ ยังไม่ได้หายไปไหน แต่รูปแบบการทำงานอาจจะไม่เหมือนเดิม ตัวคอนเทนต์ที่เราได้มา มันตรงหรือเหมาะกับ M39 มั้ย คือหนัง M39 มันก็เป็นหนังบันเทิง เป็นฟีลกู๊ด หนังรัก หนังคอเมดี้ ถ้าหนังเรื่องไหนเป็นตัวตนของ M39 ซึ่งเราก็กำลังพยายามทำในส่วนนั้นอยู่เนอะ
ไลน์การผลิตถ้าเทียบกับกลุ่มเมเจอร์ด้วยกันก็ดูชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการวางกลุ่มเป้าหมายนอกเขตกรุงเทพฯ
ก็อาจจะไม่แค่นั้นทั้งหมด เรามองหนังที่มันมีความสนุกสนานฟีลกู๊ดมากกว่า ซึ่งมันจะมีความหลากหลาย เรามองว่าเราสร้างสรรค์ความบันเทิงต่างๆ ให้กับคนดู
สำหรับวงการหนัง อาจจะยังไม่คุ้นชื่อของคุณปัญชลีย์ แนะนำให้รู้จักสักนิดว่าคุณเป็นใครมาจากไหน
เมื่อก่อนเราก็ทำงานอยู่เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์นี่แหละ ตั้งแต่แรกเริ่มเลยเป็นสิบปีแล้ว จนช่วงนึงก็ได้ไปหาประสบการณ์อยู่ต่างประเทศใกล้ๆ บ้านเรานี่แหละ ไปทำงานโฆษณาทีวี ไปอยู่ในขาของโปรดักชั่น ครีเอทีฟ หลังจากนั้นทางผู้บริหารก็ให้โอกาส ชวนกลับมาทำงานอีกรอบนึง กลับมารอบนี้ก็เกือบสามปีแล้ว สองปีแรกเราก็ทำในส่วนของบิสซิเนสพาร์ตเนอร์ หาสปอนเซอร์เพื่อมาสนับสนุนหนัง ในหนังแต่ละเรื่องเราสามารถทำไทอินสินค้าได้ ล่าสุดคือตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว ถึงได้มาทำ ‘มนต์รักดอกผักบุ้ง’ ก็ถือว่าเป็นน้องใหม่ในวงการค่ะ ซึ่งก็คิดว่าเราได้ใช้ประสบการณ์การทำงานเต็มที่ เวลาทำงานเราต้องมองให้ครบ 360 องศา ความเป็นศิลปินของคนทำหนังมันมีอยู่ แต่ว่าเราจะทำยังไงให้มันเป็นการค้าด้วย การทำหนังให้ประสบความสำเร็จคือทำยังไงให้ได้รับความนิยมและหนังได้รายได้ เราถึงจะไปต่อ นี่คือโจทย์ที่เราตั้งไว้ในใจตลอดเวลา