Home Interview เพราะการทำสารคดี เรามีโอกาสแค่ One Take

เพราะการทำสารคดี เรามีโอกาสแค่ One Take

เพราะการทำสารคดี เรามีโอกาสแค่ One Take

หลังจาก Lovesuck (2015) ผลงานกำกับหนังเรื่องแรกของ โดนัท – มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล ยังคงสนุกกับการทำงานเบื้องหลังในหลากหลายรูปแบบและแพล็ตฟอร์ม ทั้งละครโทรทัศน์อย่าง ‘เดือนประดับดาว’ (2017), หนังสั้น ‘กลับบ้าน’ ในโปรเจกต์ค่านิยม 12 ประการของรัฐบาล และหนังสารคดี The Journey ‘บันทึกทางไกล..ถึงพ่อ’ (2017) 

จนมาถึงโปรเจกต์ล่าสุด BNK48: One Take การกำกับหนังสารคดีเรื่องที่สองของเธอ และยังเป็นหนังสารคดีภาคต่อของกลุ่มไอดอลอย่าง BNK48 ถัดจาก BNK48: Girls Don’t Cry (2018, นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) ที่ถูกจับตามองและคาดหวังจากเหล่าแฟนคลับ เพราะมันคือบทบันทึกช่วงเวลาทองคำในการเดินทางสู่ความนิยมสูงสุดในไทยของ BNK48 ผ่านเหตุการณ์สำคัญคือ BNK48 6th Single Senbatsu General Election ปี 2019 หรืออีเวนท์การประกาศผลการเลือกตั้ง ที่บ่งบอกว่าสมาชิกคนใดของกลุ่มจะได้รับการสนับสนุนจากแฟนๆ มากที่สุด

แม้ ณ ปัจจุบันเราจะรับรู้บทสรุปไปเรียบร้อยแล้ว แต่ BNK48: One Take ยังคงมีคุณค่าในตัวเอง ในฐานะบทบันทึกช่วงเวลาความสุข หยาดเหงื่อ และคราบน้ำตาของการเติบโต ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในชีวิตของพวกเธอ …ไม่ต่างกับการทำสารคดีที่มีโอกาสบันทึกช่วงเวลาเหล่านั้นได้เพียง “เทคเดียว” เท่านั้น

ความท้าทายใหม่ที่เรียกว่า “หนังสารคดี”

ช่วงเวลาคาบเกี่ยวตั้งแต่การทำหนังอิสระเรื่องแรกอย่าง Lovesuck ต่อเนื่องถึงการทำละครเรื่องแรก กลายเป็นช่วงเวลาที่มนัสนันท์รู้สึกอิ่มตัวกับการแสดง และมองหาความสนใจในการทำงานใหม่ๆ ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับความนิยมในการชมหนังสารคดีในโรงของไทยเริ่มมีมากขึ้น จนทำให้เธอได้ค้นพบกับความสนุกของหนังสารคดีเป็นครั้งแรก

“ก่อนหน้านั้นในแง่การรับรู้ของคนส่วนใหญ่จะมองว่าหนังสารคดีมันน่าเบื่อ จนเราได้เริ่มดูหนังที่ทาง Documentary Club เอามาฉายก็ได้รู้ว่าหนังสารคดีมันดูง่ายก็มีอยู่นะ อย่างเช่นเรื่องที่เราชอบมากๆ อย่าง All Things Must Pass (2015, โคลิน แฮงค์ส) เพราะว่าเราก็เกิดในยุค Tower Records แล้วผ่านช่วงเวลานั้นมา มันก็ยิ่งทำให้เราดูสนุกและอินกับมันมาก” 

จนในปี 2016 ณ ช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าจากการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เป็นโอกาสที่ทำให้เธอ ได้นำความสนใจส่วนตัวออกเดินทางไปเก็บบันทึกและเล่ามันออกมาในรูปแบบหนังสารคดีเป็นครั้งแรก อย่าง The Journey ‘บันทึกทางไกล..ถึงพ่อ’

เมื่ออดีตนักแสดงวัยรุ่นมาทำสารคดีไอดอล

หลังจากการฉาย The Journey ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ทาง BNK48 Films (หรือปัจจุบันคือ iAM Films) กำลังหาคนมาทำสารคดีเรื่องที่สองของ BNK48 อยู่ ก็ทำให้มนัสนันท์ได้พบกับ ต้อม – จิรัฐ บวรวัฒนะ CEO ของ BNK48 ในขณะนั้น ผ่านการแนะนำของ สุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ แห่งเครือ SF Cinema ที่ช่วยเหลือเธอในการนำหนังสารคดีเข้าฉายก่อนหน้านั้นนั่นเอง

“ตอนที่เราได้คุยกับพี่ต้อมตอนแรกๆ เราก็ยังตัดสินใจไม่ได้นะว่าจะทำ เพราะเราเองก็รู้จัก BNK48 น้อยมาก ในขณะเดียวกัน คุณโบว์ – พรมนัส รัตนวิชช์ (โปรดิวเซอร์ที่ทำงานกับเธอมาตั้งแต่หนังเรื่องแรก และยังร่วมเขียนบทหนังสารคดีทั้งสองเรื่อง) ก็จะคุยกับเราตลอดเพื่อค้นหาแง่มุมที่เราอาจจะสนใจ ซึ่งเราก็คุยกับทางพี่ต้อมหลายรอบมาก จนเราเจอมุมที่เราสนใจเกี่ยวกับ BNK48 ได้ นั่นคือ ‘ความมุ่งมั่นในการตามหาความฝันของเด็กสาว’ ก็เลยตกลงทำในที่สุด”

เมื่อมองในมุมของคนที่เคยผ่านช่วงเวลาในการเข้าสู่วงการบันเทิงตั้งแต่วัยรุ่นมาก่อน สำหรับมนัสนันท์แล้วความกดดันจากการเป็นคนสาธารณะที่เธอเคยเจอนั้น แตกต่างจากยุคปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง มันเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย การมาของโซเซียลมีเดียมันทำให้ทุกอย่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ในช่วงเวลาของเรา เวลามีข่าวในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร โอกาสที่เราจะออกมาแก้ข่าวหรือพูดด้วยตนเองมันก็ยากกว่า ขณะที่ในยุคนี้การวิพากษ์วิจารณ์มันเกิดจากใครก็ได้ที่เราไม่รู้จัก แต่เราก็ยังมีช่องทางที่จะออกมาชี้แจงหรือสื่อสารมันด้วยตนเองได้ สำหรับเราสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจตัวน้องๆ ได้คือความเป็นผู้หญิงด้วยกันนี่ละ”

“ในช่วงเวลาของเรา เวลามีข่าวในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร โอกาสที่เราจะออกมาแก้ข่าวหรือพูดด้วยตนเองมันก็ยากกว่า ขณะที่ในยุคนี้การวิพากษ์วิจารณ์มันเกิดจากใครก็ได้ที่เราไม่รู้จัก แต่เราก็ยังมีช่องทางที่จะออกมาชี้แจงหรือสื่อสารมันด้วยตนเองได้”

นอกจากนี้ เพื่อให้เข้าใจถึงวัฒนธรรมไอดอล 48Group ที่มีต้นกำเนิดจาก AKB48 ในญี่ปุ่น มนัสนันท์ตามไปเก็บฟุตเตจในช่วงเวลาที่สมาชิกไปร่วมงาน AKB48 53rd Single World Senbatsu General Election (2018) หรือการเลือกตั้งรวมประจำปีของเหล่าไอดอลใน 48Group ทั้งหมด และยังได้สัมภาษณ์ทีมงานของ 48Group ในญี่ปุ่น ซึ่งช่วยให้เธอและผู้ชมหน้าใหม่เข้าใจในวัฒนธรรมไอดอลมากขึ้น

ทำสารคดีด้วยมุมมองของผู้หญิง

เมื่อได้ธีมหลักของตัวสารคดีที่ต้องการแล้ว มนัสนันท์กับพรมนัสจึงเริ่มแผนการถ่ายทำและวางโครงสร้างในการเล่าเรื่อง โดยแบ่งออกเป็น 5 องก์ ผ่านช่วงเวลาตั้งแต่การประกาศสมาชิก BNK48 รุ่นที่สอง ไปจนถึงช่วงประกาศผล BNK48 6th Single Senbatsu General Election ปี 2019 

กระนั้นความท้าทายสำคัญของสารคดีเรื่องนี้ คือเหตุการณ์ในเรื่องล้วนเคยผ่านตาผู้ชมโดยเฉพาะแฟนคลับมาแล้วในหลากมุมมอง นั่นจึงทำให้มนัสนันท์มองหาสิ่งที่เรียกว่า “ฟุตเตจลับ” หรือภาพที่ไม่เคยเผยแพร่ ทั้งในแง่ของการบันทึกเบื้องหลังการทำงาน และการสร้างสถานการณ์พิเศษขึ้นเพื่อบันทึกพฤติกรรมที่ไม่มีทางเห็นในเวลาปกติ อย่างการสร้าง “คลาสสอนการแสดง” ขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้

นิรมล รอสส์ -ผู้กำกับภาพ

“ด้วยเวลาในการเก็บฟุตเตจต่างๆ ค่อนข้างมีจำกัด ไปจนถึงเรามีโอกาสที่จะนั่งสัมภาษณ์น้องแบบเดี่ยวๆ ทั้ง 51 คนแค่ครั้งเดียว เราเลยสร้างคลาสสอนการแสดงขึ้นมาเพื่อจะมีโอกาสในเก็บโมเมนต์พิเศษจากน้องๆ มากขึ้น ซึ่งแรกน้องๆ อาจจะยังงงว่ามาทำอะไรกัน จนสักพักก็เริ่มจะรู้ตัวเหมือนกัน คือเราอยากได้โมเมนต์ของผู้หญิง ที่มีทั้งช่วงเวลาที่น่ารัก และก็มีวันที่เขาไม่น่ารัก บางวันก็เหนื่อยแต่ก็ต้องยิ้มเพื่อออกไปสู้ต่อ ซึ่งเราก็พยายามจะเก็บโมเมนต์เหล่านั้นให้ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด” โดยทีมงาน BNK48: One Take มีผู้กำกับภาพหลักคือ นิรมล รอสส์ ซึ่งเป็นคนเดียวกับ BNK48: Girls Don’t Cry รวมไปถึงทีมผู้กำกับภาพยังเป็นผู้หญิงทั้งหมดอีกด้วย

ในส่วนของการตัดต่อที่กินเวลายาวนาน​ ได้มีการเปลี่ยนทีมตัดต่อในช่วงแรก​มาเป็น แพร – อสมาภรณ์ สมัครพันธ์ (เคยร่วมตัดต่อ The Cave ‘นางนอน’ กับ ลี ชาตะเมธีกุล) ที่มาสานต่อในช่วงท้ายจนเสร็จสิ้น​ “เราว่าด้วยความที่แพรเองก็อยู่ในวัยที่ใกล้เคียงกับน้อง BNK48 มันเลยทำสามารถเลือกโมเมนต์ที่มันตรงกับสิ่งที่เราพยายามค้นหาในตอนแรกจนสำเร็จ”

สารคดีไทย Original Netflix เรื่องแรก

ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้แต่เดิมที่หนังสารคดี BNK48: One Take มีกำหนดเข้าฉายในโรงก่อน BNK48 9th Single Senbatsu General Election หรือการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ต้องยกเลิก บวกกับตัวหนังได้ขายสิทธิ์ในการเผยแพร่ทางสตรีมมิ่งให้ Netflix ไปแล้วล่วงหน้า ทำให้ตัวสารคดีกลายเป็น “สารคดีไทย Original Netflix” เรื่องแรกไปโดยปริยาย เนื่องจากเป็นการฉายครั้งแรกบน Netflix นั่นเอง
“จริงๆ ตอนที่มันมีสถานะเป็นหนังสารคดีเข้าโรง สำหรับเรามันก็กดดันเหมือนกัน แต่เมื่อมันกลายเป็นสารคดีไทย Original Netflix สำหรับเรามันคือโอกาสที่จะทำให้ผลงานจากคนทำหนังอิสระแบบเรา ไปสู่สายตาคนทั่วโลกพร้อมกัน ซึ่งในอนาคตคุณ อดัม เดล เดโอ (Adam Del Deo) รองประธานฝ่ายสารคดีออริจินัลของ Netflix ยังบอกว่าในอนาคตก็จะมีสารคดีไทยที่เป็น Original Netflix ตามมาอีกแน่นอน”


ดู BNK48: One Take ได้ใน Netflix

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here