เข้าป่าหาขุมทรัพย์ภาพยนตร์ที่ “หนังสั้นมาราธอน 2020” (ตอนที่ 2)

(อ่านตอนที่ 1)

ติดถ้ำ | The Caved Life
(พัฒนะ จิรวงศ์, อุรุพงษ์ รักษาสัตย์, โสภาวรรณ บุญนิมิตร, พีรชัย เกิดสินธุ์, ญาณิน พงศ์สุวรรณ)

ภาพยนตร์สารคดีอำนวยการสร้างโดย Thai PBS ที่ใช้เหตุการณ์นักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าติดถ้ำหลวงเป็นสารตั้งต้น แล้วให้คนทำหนังตอบโจทย์ด้วย 4 สารคดีสั้นที่ต่อยอดจากประเด็นเกี่ยวเนื่องของข่าวใหญ่ระดับโลก เพื่อสะท้อนภาพปัญหาเรื้อรังติดถ้ำของสังคมไทย เซอร์ไพรส์ไม่ใช่เล่นเมื่อทั้งสี่เรื่องไปไกลกว่าที่คิด ทั้งการสำรวจประเด็นและภาษาหนัง (ด้วยศักยภาพที่มีอยู่ หลังเปิดตัวเล็กๆ ที่หนังสั้นมาราธอน หนังไปเปิดรอบพิเศษพร้อมเสวนาที่ House Samyan และเข้าโรง Lido Connect แต่ก็ได้ฉายแค่ 7 วันเท่านั้น – งงเหมือนกันว่าทำไม)

นักฟุตบอลหมายเลข 0 (พัฒนะ จิรวงศ์) เล่าชีวิตของอีกหนึ่งสมาชิกทีมหมูป่าที่ไม่ได้ไปถ้ำหลวงวันนั้น ตอนนี้เพื่อนในข่าวทยอยได้สัญชาติแล้ว แต่เขายังต้องใช้ฝีเท้าดิ้นรนหาลู่ทางเข้าถึงสัญชาติไทย หลังสปอนเซอร์ทีมหมูป่าประกาศยุติการสนับสนุนทีม หนังอาจ “เซ็ตอัพ” เพื่อยิงประเด็นในหลายฉากอย่างจงใจ แต่ก็พาเราเข้าถึงความยอกย้อนของปัญหาคนไร้สัญชาติได้หนักแน่น

น้ำวน (อุรุพงศ์ รักษาสัตย์) ขยับโฟกัสมาที่นาข้าวซึ่งเคยสละผลผลิตให้ทางการปล่อยน้ำในถ้ำหลวงเข้าท่วม หนังไม่ได้เล่าผลกระทบโดยตรงจากคราวนั้น แต่ใช้สายตาเดียวกับ สวรรค์บ้านนา (2009) และ เพลงของข้าว (2014) สอดส่องบันทึก “ถ้ำ” ที่ชาวนาไทยยังต้องติดอยู่ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ฝนฟ้าอากาศ สารเคมี – เพราะไม่ใช่แค่ถ้ำเท่านั้นที่ติดอยู่ แต่ปัญหาทุกอย่างยังเกิดซ้ำเป็นวัฏจักร อย่างระบบน้ำวนที่ชาวนาในเรื่องใช้เพื่อไม่ให้ข้าวฤดูนี้แห้งตายไปเสียก่อน

ปางหนองหล่ม (โสภาวรรณ บุญนิมิตร, พีรชัย เกิดสินธุ์) ขยับออกมาที่ตำนานนางนอนกับประวัติศาสตร์ชุมชนของพื้นที่ชุ่มน้ำที่อาจเกี่ยวพันกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อหลายศตวรรษก่อน และค่อยๆ เผยให้เห็นวิถีชีวิตของคนพื้นที่ ทั้งแบบดั้งเดิมและที่ปรับตัวให้เป็นสมัยใหม่รองรับการท่องเที่ยว รวมถึงวิธีคิดของรัฐต่อการจัดการท้องถิ่น

ใกล้แต่ไกล (ญาณิน พงศ์สุวรรณ) อาจจับประเด็นเบาสุดโดยเปรียบเทียบ แต่ก็เล่าชีวิตเด็กสาวชาวอาข่าที่อยู่ใกล้ถ้ำหลวงได้หลายมิติ ทั้งเรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงกับพื้นที่ และตอบโจทย์ด้วยการติดตามตัวละครซึ่งพาเรื่องกลับไปจบที่ถ้ำหลวงได้พอดิบพอดี

อาจผิดความคาดหวังของคนดูที่คิดว่าจะได้เห็นผลสืบเนื่องของเหตุการณ์ถ้ำหลวงโดยตรง หรือความตื่นเต้นแบบเดียวกับเมื่อครั้งเฝ้าตามข่าวรายวัน แต่ผมก็หวังลึกๆ ให้หนังได้มีบทบาทในเวทีรางวัลหนังไทยประจำปี 2020 บ้าง



Shadow and Act
(ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์)

หนังสั้นปี 2019 ของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ที่เพิ่งเดบิวต์หนังยาวด้วย พญาโศกพิโยคค่ำ หรือ The Edge of Daybreak ในสายประกวดหลักที่ร็อตเตอร์ดาม 2021 ยังคงลายเซ็นอันจัดเจนของเขาไว้ครบถ้วน ทั้งสายตาที่จับจ้องคว้านลึกเข้าไปในสถานที่ การลำดับภาพที่สะท้อนความหมายใต้ชั้นผิวของพื้นที่ และเสียงประกอบ (ผลงานของนักดนตรีคู่ใจ Morinaga Yasuhiro) ขับเน้นบรรยากาศลึกลับชวนเคลือบแคลง – อาจครบถ้วนไปนิดจนขาดความโดดเด่นถ้าเทียบกับหนังสั้นในอดีต (The Age of Anxiety, Time of the Last Persecution, Trouble in Paradise) แต่เรียกว่าคงเส้นคงวาเสมอต้นเสมอปลายก็ได้

ทั้งเรื่องย่อและถ้อยแถลงผู้กำกับจงใจระบุถึงเฉพาะสตูดิโอถ่ายภาพ ฉายาจิตรกร (1940-2012) ซึ่งได้บันทึกภาพเหตุการณ์และบุคคลสำคัญในสมัยสงครามเย็น (ตั้งแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปถึงสฤษดิ์ ธนะรัชต์, ถนอม กิตติขจร) ในฐานะช่างภาพที่ได้รับเลือกจากรัฐไทย ไทกิเรียกที่นี่ว่ากล่องแพนโดร่าที่รอวันถูกเปิดฝา แต่อีกกล่องที่เว้นไว้ให้เราเห็นเองคือสวนสัตว์เขาดิน ซึ่งถูกเล่าผ่านภาพของสัตว์นานาเชื่องช้าซึมเซาในกรงกระจก ไม่นานนักก่อนต้องถูกขนย้ายเมื่อสวนสัตว์ปิดตัวลงตอนสิ้นเดือนกันยายน 2019 – Shadow and Act ไม่ได้พยายามขีดเส้นใต้ให้สัญลักษณ์ความหมายที่ซ่อนอยู่ (ทั้งที่สามารถทำได้) แต่สถานะที่ถูกจับวางข้างเคียงกันของเหล่าสัตว์และภาพถ่ายเขรอะฝุ่น รวมถึงข้อเท็จจริงเบื้องหลังการสิ้นสุดลงของเขาดิน ก็คงเพียงพอแล้วสำหรับผู้ชมจำนวนหนึ่ง

🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลรัตน์ เปสตันยี (ภาพยนตร์สั้นระดับบุคคลทั่วไป) 🏆



Prelude of the Moving Zoo
(สรยศ ประภาพันธ์)

อาจกล่าวได้ว่าเส้นใต้ที่ Shadow and Act เลือกละไว้ในฐานที่(พอ)เข้าใจ ย้ายตัวเองมาขีดย้ำอยู่ใน Prelude of the Moving Zoo นี่เอง – หลังเลื่อนกำหนดการมาสักระยะ สวนสัตว์เขาดินก็ถึงคราวต้องปิดบริการเพื่อย้ายสถานที่ตามคำสั่งทางการ สรยศซึ่งเคยมาถ่ายหนังสั้นเรื่องหนึ่งที่นี่ (Death of a Sound Man) เลยถือกล้องไปบันทึกบรรยากาศวันสุดท้ายของเขาดินเหมือนกับอีกหลายๆ คนที่รู้สึกผูกพัน แต่ไม่ได้หวังผลเป็นความทรงจำหอมหวานนอสตัลเจีย เพราะบนจอคือข้อเท็จจริงและอาการแค่นหัวเราะของคนทำหนัง ต่อหน้าชุดเหตุผลที่ไม่มีใครสามารถพูดตรงๆ ได้ว่าทำไมต้องย้ายสวนสัตว์ที่เป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯ แห่งนี้ ทำไมวังที่เป็นทั้งโบราณสถานและสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ๆ กันถึงราพณาสูรไปแล้วโดยไม่มีใครออกมาช่วยอนุรักษ์

นกเพนกวินเขาดินโก่งคอรับทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีเวอร์ชั่นบันทึกเสียงครั้งแรกของโลกในสวนสัตว์ที่เยอรมนี เพื่อนคนทำหนังที่อยากถ่ายเขาดินก่อนปิดแต่พบว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนได้รับคำสั่งห้ามพูดกับสื่อหรือกล้องในทุกกรณี ข่าวปิดเขาดินในทีวีที่พูดเลี้ยวไปหลบมา และแผนที่ดาวเทียมพร้อมข้อมูลเขตแดนว่าตอนนี้ที่ดินของสวนสัตว์กับละแวกบริเวณใกล้เคียงกลายเป็นของใคร แล้วเจ้าของใหม่อยากได้ที่ดินตรงนี้ไปทำโปรเจกต์ไหนต่อ – เสียดายเล็กน้อยที่ว่าหนังถูกคิดและทำเสร็จตั้งแต่ก่อนจุดเปลี่ยนสำคัญของการชุมนุมการเมือง (เวิลด์พรีเมียร์ที่ร็อตเตอร์ดามต้นปี 2020) เสียงแค่นหัวเราะกับเส้นใต้ขีดย้ำคำตอบประเด็นหลักของเรื่องเลยดูยั้งมือหยั่งเชิงอยู่บ้าง



น้ำอมฤต | Elixir of Immortality
(วัชรพงษ์ ภูคำ)

หนังสั้นความยาวเพียง 9 นาทีครึ่งเรื่องนี้ เป็นผลงานของนักศึกษาภาพยนตร์ที่ทำขึ้นเพื่อส่งอาจารย์ในรายวิชา ตลอดทั้งเรื่องไม่มีอะไรมากไปกว่าภาพเคลื่อนไหวขาวดำที่บันทึกกระบวนการล้างอัดภาพถ่ายใบหนึ่งในห้องมืดตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ด้วยสายตาอย่างคนทำหนังที่แหลมคม วัชรพงษ์เห็นทะลุว่าพลังชนิดไหนที่ทำงานสอดคล้องเสริมพลังให้ภาพกับประเด็นที่เขาต้องการสื่อสาร ทั้งด้วยคำตอบอันคมคายที่ค่อยเฉลยตัวตนทีละน้อยอย่างมีจังหวะจะโคน และบรรยากาศคลุมเครือที่เชื้อเชิญให้นึกถึงหนังสั้นหลายเรื่องในอดีตของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์

น้ำอมฤต ซึ่งตำนานเล่าขานว่าสามารถมอบชีวิตอมตะ ความเยาว์วัย หรือฟื้นสร้างตัวตนใหม่ให้ชีวิตที่ประสบพบเจอกับความตาย ไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าปรัมปรา หากปรากฏสำแดงฤทธิ์เดชชวนสะพรึงในคราบของเหลวประจำวิชาชีพ น้ำยาเคมีที่ถูกใช้ในกระบวนการผลิตซ้ำภาพถ่าย – ภาพถ่ายบุคคลในท่านั่ง ห่มจีวรสำรวม สวมแว่นสายตากันแดด ประทับใจคุ้นตาคนไทยมาช้านาน หนึ่งในไอค่อนของภาพพอร์เทรตสัญชาติไทยที่ยืนยงมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ภาพที่สัมพันธ์แน่นแฟ้นกับบริบทประวัติศาสตร์การเมืองที่ก่อเกิดตัวมันเอง ชวนเชื่ออย่างสุภาพแนบเนียน และกำลังถูกฟื้นสร้างผลิตซ้ำใหม่ในอ่างเหล็กนองน้ำอมฤต คืนสู่ความเป็นอมตะ (?) โดยไม่จำเป็นต้องมีลมหายใจ

หนังการเมืองเรื่องนี้กระชับ เรียบง่าย แต่ร้ายลึก

ดูได้ที่:



คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า | Rampage of Hunters
(อนันต์ เกษตรสินสมบัติ)

สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์เร่ร่อนคืออีกกลุ่มตัวละครยอดนิยมที่มักปรากฏตัวในหนังสั้นที่ถ่ายทำแบบง่ายๆ ไม่ว่าจะเพราะหมาแมวนกหนูของคนทำหนังนั้นแสนจะน่ารัก หรือเพราะบังเอิญเห็นตอนพวกมันทำอะไรตลกๆ เลยถ่ายเก็บไว้แล้วเอามาตัดเป็นหนัง – คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า ของ อนันต์ เกษตรสินสมบัติ (นักเขียนรองชนะเลิศรางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ ประจำปี 2015) ให้รสชาติที่ต่างออกไป

เข้าใจว่าอนันต์ถือกล้องออกไปถ่ายฝูงสุนัขที่เป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านอยู่แล้ว เข้าใจอีกเช่นกันว่าคงคุ้นเคยและรู้จักนิสัยเจ้าพวกนี้ค่อนข้างทะลุทีเดียว แทนที่หนังจะเป็นแค่อีกหนึ่งบันทึกสัตว์เลี้ยงที่ถ่ายแบบดิบๆ เรากลับได้เห็นการคิดเส้นเรื่องภายใต้ทรัพยากรและข้อจำกัดของบริเวณบ้านอย่างน่าสนใจ เพราะอนันต์ไม่ได้ใช้การฝึกหรือหลอกล่อให้หมาทำแอ็คชั่นตามสั่งต่อหน้ากล้อง (ประเภทวิ่งไปคาบของหรือเข้ามาอ้อน) แต่ใช้เงื่อนไขของสถานการณ์เล็กๆ อย่างการปิดประตูบ้าน บันทึกพฤติกรรมที่คาดเดาได้ของสุนัข (ขุดกำแพง, กัดนู่นนี่) แล้วนำมาสร้างเส้นเรื่องในโปรแกรมตัดต่อ จนได้หนังที่เล่าถึงสัญชาตญาณนักล่ากับการดิ้นรนหาทางออก ซึ่งเปิดช่องให้คนดูปะติดปะต่อเรื่องและการตีความ

ถือเป็นหนังบ้านๆ ที่เซอร์ไพรส์ใช้ได้เลย

ดูได้ที่:



หนังสั้นของ (?) สมเจตน์ มีเย็น

สมเจตน์ มีเย็น มีอาชีพหลักเป็นครู หนังสั้นเกือบทั้งหมดของเขาทำร่วมกับลูกศิษย์วัยมัธยม ขาประจำหนังสั้นมาราธอนเริ่มสังเกตชื่อเขาสมัยสอนประจำที่โรงเรียนดรุณาราชบุรี (ตอนนี้ย้ายโรงเรียนแล้ว) ด้วยจริตติดดินและมุขตลกห่ามๆ ที่ซัดคนดูหน้าหงาย ต่างจากหนังสั้นมัธยมในเทศกาลที่มักเป็นหนังล่ารางวัลแบบทางการ (และมีคาแรคเตอร์แบบเด็กดี พูดประเด็นต่างๆ สอดคล้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คณาจารย์ หรือโรงเรียน) หรือหนังจากโรงเรียนกรุงเทพฯ ที่มีทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ องค์ความรู้ด้านภาพยนตร์ และชีวิตวัยรุ่นที่ถูกยกย่องเป็นกระแสหลัก

บางทีก็ชวนสงสัยว่าหนังสั้นที่มีชื่อสมเจตน์เป็นผู้กำกับคือไอเดียของครูหรือนักเรียนกันแน่ (เป็นด้านกลับของข้อสงสัยต่อหนังสั้นมัธยมที่ดูเป็นผู้ใหญ่มากๆ ว่าทั้งหมดที่เห็นคือความคิดของนักเรียนหรือครู) เพราะแม้จะส่งเทศกาลด้วยชื่อครู เมื่ออัพหนังออนไลน์เขาก็ใช้ชื่อกลุ่มหรือชมรม รวมถึงมุขตลกที่เล่นก็อาจกวนใจคนดูบางกลุ่ม ถ้าคิดว่าครูเป็นคนบอกหรือเขียนบทให้นักเรียนเล่นมุขเหล่านี้ในหนัง ซึ่งระดับความถูกต้องทางการเมืองทั้งในประเด็นเยาวชนและทัศนคติเกี่ยวกับเพศหรือร่างกาย (ล้อเกย์ ล้อคนอ้วน หรือเล่นตลกเรื่องเซ็กซ์แบบเปิดเผยด้วยน้ำเสียงแบบผู้ชาย) ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเดียวกับละครหรือรายการทีวีไทย – บางครั้งก็รู้สึกผิดที่ขำ แต่เรื่องไหนที่ทำแล้วโดนเส้นจริงๆ ก็ขำชนิดน้ำหูน้ำตาไหล

ด้วยลักษณะแบบทำเอามัน ระดับความขำที่หนังจะไปถึงได้ อาจขึ้นกับว่าสมเจตน์จูนติดกับลูกศิษย์ที่เจอมากแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มนักแสดงที่พลิ้วจัดสมัยโรงเรียนดรุณาฯ (ช่วงปี 2011-2012) ต่างเรียนจบแยกย้ายกันไปหมดแล้ว การดูหนังของเขาบางทีเลยต้องเดิมพันว่ามุขนี้จะปังหรือแป้ก – หลังต้องเปลี่ยนกลุ่มลูกศิษย์หลายครั้ง ทั้งด้วยปีการศึกษาและที่ทำงาน หายห่างว่างเว้นหนังสั้นมาราธอนไปหลายปี สมเจตน์กลับมาอีกครั้งด้วยหนังสั้น 14 เรื่องในปี 2020 บางเรื่องก็แป้กหนัก แต่ในที่นี้ขอพูดถึง 3 เรื่องที่ปังจริง

ชีโต๊ส หนังแก๊กหักมุมว่าด้วยไอ้หนุ่มที่อยาก “ชีโต๊ส” แฟนตัวเอง แถมติดหนี้เพื่อนจนโดนแบล็คเมล์ให้ชีโต๊สแฟนมึงให้กูดูหน่อย นึกภาพตามแล้วสุดจะล่อแหลม (อย่าลืมว่าตัวละครเพิ่งอยู่ ม.ต้น) ตอนดูก็รู้สึกล่อแหลมพอๆ กับที่นึกภาพ แต่พอเฉลยเสร็จ คนดูนี่ไม่รู้จะเอาความหน้ามึนของหนังไปลงที่ใครเลย – อ้วนพ่อง กับวีรกรรมล้างแค้นของสาวอ้วนที่ผิดหวังในความรัก จากจุดเริ่มต้นที่ดูเฉิ่มเชยแบบหนังแนวตระหนักรู้คุณค่า (“ทุกคนสวยในแบบของตัวเอง”) หรือเชิดชูความตั้งมั่นในเป้าหมาย (“แค่ลดน้ำหนักถ้าตั้งใจก็ทำได้”) สุดท้ายเวลาผ่านไปไม่ถึง 5 นาที กลายเป็นละครไทยแนวนางร้ายที่เหนือจริงหลุดโลกเซอร์เรียลได้ไงก็ไม่รู้ และ เดี๋ยวกูทำให้มึงดู 2 ที่เริ่มภาคแรกด้วยแก๊งเด็กผู้ชาย (พระเอกเป็นเด็กอ้วน) ขิงกันเรื่องจีบสาว พอขึ้นภาคสองเรื่องจีบหญิงตกไป ตัวละครมานั่งเล่นมุขการเมืองกันแทน แถมเล่นไปเล่นมาก็แสบขึ้นเรื่อยๆ สุดขีดทวิตเตอร์ หัวใจจะวาย กล้ามากเลยนะเธอ

ไม่มีลิงก์ 3 เรื่องที่ปังจริง (โธ่!) แต่ลองดูเรื่องอื่นๆ ได้ที่: https://www.youtube.com/user/somghad/featured


มื้อวานกะคือมื้อนี้ | Yesterday’s Like Today
(วรปรัชญ์ ระบอบ)

กลุ่มสมอง (Samong Group) จากโรงเรียนเจริญศิลป์ศึกษา “โพธิ์คำอนุสรณ์” จังหวัดสกลนคร คืออีกหนึ่งชมรมหนังสั้นรุ่นมัธยมที่มีผลงานต่อเนื่องและเป็นที่จดจำของเหล่าขาประจำหนังสั้นมาราธอนมาหลายปี แม้สมาชิกจะเปลี่ยนรุ่นอยู่เรื่อยๆ ด้วยคาแรคเตอร์ที่โชว์ฝีมือประกวดระดับประเทศได้ แต่ก็มีอารมณ์ขันกับความเป็นธรรมชาติแบบหนังคัลต์อยู่ในตัว – ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มสมองบางส่วนได้ทุนการศึกษาหรือเลือกเรียนต่อด้านภาพยนตร์โดยตรงในระดับมหาวิทยาลัย

ปีนี้กลุ่มสมองไม่มีหนังสั้นร่วมฉายในมาราธอนก็จริง (เสียดายจัง) แต่สารคดีความยาวร่วม 41 นาทีเรื่องนี้ได้บันทึกชีวิตการทำหนังในโรงเรียนผ่านสายตาที่อายุไม่ห่างจากชมรมรุ่นปัจจุบันมากนัก – ต่างจากการสัมภาษณ์ตรงๆ หรือถ่ายทำแบบ behind the scenes อย่างฟีเจอร์เบื้องหลังหนังหรือซีรี่ส์ (ซึ่งถ้ามือไม่แม่น คำถามไม่ดี ก็ยากที่หนังจะสนุกลงตัว) วรปรัชญ์ ระบอบ กลับเลือกเล่าผ่านสายตาจับสังเกตห่างๆ แบบ fly-on-the-wall และทำได้ดีเหลือเชื่อ

วรปรัชญ์เผยมุมชีวิตคนทำหนังรุ่นเยาว์ที่คนนอกอาจไม่เคยรู้ และมักไม่ถูกนับรวมในชีวิตมัธยมกระแสหลัก โดยไม่ได้เน้นความรู้สึกเชิงบวกแบบพื้นๆ อย่างมิตรภาพความสนุกผูกพันหรือความสำเร็จเมื่อผลงานได้รับรางวัลใบประกาศ แต่ค่อยๆ เผยให้เห็นความจริงจังเมื่อหนังสั้นเป็นความหวังของโรงเรียน (สมาชิกชมรมบางส่วนขาดเรียนวิชาอื่นไปถ่ายหนังจนถูกครูยื่นคำขาดเพราะใกล้หมดสิทธิ์สอบ) การประชุมหลังเลิกเรียนหรือช่วงพักเที่ยง (โดดวิชาไหนได้บ้าง ทำเรื่องอะไรส่งโครงการไหน) บรรยากาศในกองถ่าย (เรื่องนี้ใครกำกับ ใครเล่น) และการเป็นลูกมือผลิตสื่อในกิจกรรมตามที่ผู้ใหญ่มอบหมาย (ในหนังเราเห็นพวกเขาตั้งกล้องถ่ายรูปทางการให้นักเรียนใหม่ สมาชิกชมรมหนังสั้นหลายโรงเรียนก็ต้องถ่ายวิดีโอกีฬาสีหรือคลิปโปรโมตโรงเรียนในทำนองเดียวกัน)



คำเป็น คำตาย | Grey Sin
(ภูบดินทร์ เสือคำราม)

ยังตกหล่นคุณสมบัติหนังดีหลายข้อแบบเต็มตา ตั้งแต่ภาพกระตุกสั่นไหวแบบไม่ได้เจตนาแฮนด์เฮลด์ การแสดงที่เล่นไปคนละทิศละทาง และพล็อตเรื่องที่เล่นใหญ่เลยเถิดจนเกือบจะเป็นละครแนวกรรมตามสนอง แต่สิ่งที่ทำให้ คำเป็น คำตาย สะดุดตาท่ามกลางเพื่อนๆ หนังสั้นมัธยม คือการกระโจนเข้าใส่ประเด็นร้อนอย่าง call-out culture (การเรียกร้องให้คนมีชื่อเสียงแสดงออกทางการเมืองอย่างชัดเจนและถูกต้อง) ซึ่งใกล้ชิดอย่างยิ่งกับการเมืองของนักเรียนไทยในช่วงปี 2020 ด้วยน้ำเสียงพร้อมถกแขนเสื้อท้าดีเบท

หนังเริ่มต้นที่สองสาวเพื่อนสนิท คนหนึ่งอินการเมืองกำลังหัวร้อนกับดาราดังที่ทวีตขอเป็นกลางทางการเมืองช่วงประท้วง อีกคนไม่สนใจเท่าไหร่เลยโดนจิกว่าเป็นอิกนอแรนต์ชีวิตดีมีคอนโดหรู พอกลัวถูกเคืองเลยยอมเอาใจเพื่อน ทวีตเมนชั่นว่าถ้าคิดได้แค่นี้ก็ไปตายดีกว่าค่ะ ผ่านไปไม่กี่วันดาราคนนั้นฆ่าตัวตายจริง ทวิตภพเลยเปลี่ยนจุดทัวร์มาลงน้องแถมยัยเพื่อนก็ตีตัวออกห่าง วันหนึ่งไปเมาหลับอยู่ร้านเหล้าเลยเจอที่พักใจเป็นนักศึกษาหนุ่มแว่น ก่อนหนังจะแฟลชแบ็คว่าพี่แว่นคือน้องชายดาราที่ตาย – นั่นคือก่อนที่น้องจะเล่าเวอร์ชั่นเต็มให้เขาฟังว่าตอนนี้ชีวิตกำลังเจออะไรอยู่ แล้วหนังก็เตลิดเปิดเปิงไปจนถึงขั้นมีฉากรุมโทรมในสลัม…

ดูจบแล้วไม่แน่ใจว่าภูบดินทร์มีทัศนคติต่อนักเรียนเลว เยาวชนปลดแอก หรือการชูสามนิ้วหน้าเสาธงไปทิศทางไหน แต่จุดยืนที่หนังประกาศได้เข้มแข็งชัดเจนคือการเสียดสีเหล่าคนดีอีกประเภทที่คิดว่าตัวเองถูกต้องก้าวหน้ากว่าคนดีแบบสลิ่มหรือพวกเป็นกลาง เพราะตัวละครที่ต้องรับเคราะห์หนักสุดในเรื่องคือคน “กลางๆ” ที่ถูกคนใกล้ตัวกดดันให้เลือกข้าง (นอกจากเพื่อนนางเอก เจ้าหนุ่มแว่นก็อินการเมืองจัด อยู่ฝ่ายด่าพี่สาวเหมือนชาวทวิต) แถมคนใกล้ชิดพวกนี้เมื่อถึงคราวได้เห็นว่าอีกฝ่ายต้องเจออะไรก็ไม่ได้โทษตัวเอง กลับเบี่ยงเบนความรู้สึกผิดไปลงโทษคนอื่นอีกต่อหนึ่ง – แต่ในขณะเดียวกัน คนกลางที่ถูกกดดันเข้าไปในกระแส ก็ใช่ว่าจะตระหนักรู้ถึงความเพิกเฉยที่ตนเคยมี

🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลช้างเผือกพิเศษ (ภาพยนตร์สั้นระดับนักเรียน) 🏆



_อันชอบธรรม | Deleted
(วรรณวิไล อินศรีทอง)

ปีนี้มีหนังสั้นการเมืองที่บันทึกความรู้สึกต่อสถานการณ์สังคมช่วงก่อนม็อบราษฎรเอาไว้ได้น่าสนใจ แต่เมื่อเพดานของประเด็นถูกพังลง บางส่วนที่เคยคมคายก็อาจคลายความเผ็ดร้อนร่วมสมัยไปด้วยบริบทที่เปลี่ยนแปลง เช่น Organic Citizen (พณิตชญช์ พงศ์รพีพร / ลิงก์) กับ Icarua (เจตณัฐ อนันทวณิชชยา / ลิงก์) ที่เสียดสีเผด็จการผ่านภาพแทนอย่างลัทธิชุดขาวกลางป่าและเกมฆ่าในคฤหาสน์ละครไทย, ชง (เปรมอนันต์ พนศิริชัยกิจ) ที่ให้ไอ้หนุ่มรถเข็นกาแฟโบราณตั้งตนเป็นฮีโร่ออกล่าเจ้าสัวขี้ฉ้อ, ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้ (ภวัต กันตวิรุฒ) กับชีวิตหลังออกจากป่าของนักศึกษารุ่นหกตุลา, Long Live… But Not Forever (สิทธิกร นครคำสิงห์) ที่กลับไปใช้กลุ่มคนเสื้อเหลืองเป็นภาพแทนแขนขาอำนาจมืด และ Sorry, We’re Closed (วสุพล สุวรรณจูฑะ) ที่เบลอไทม์ไลน์การชุมนุมเสื้อแดง นกหวีด และรัฐประหาร 2014 รวมกันในคืนเคอร์ฟิวของพนักงานมินิมาร์ตที่ต้องรับมือโจร

แต่เรื่องที่ลงตัวด้านภาพยนตร์มากที่สุด มีเค้าร่างไอเดียร่วมสมัยน่าสนใจที่สุด และจบประเด็นได้น่าเสียดายที่สุดก็คือ _อันชอบธรรม

วรรณวิไล อินศรีทอง ขับเคลื่อนหนังด้วยการสวมรอยสองรูปแบบที่ทับซ้อนความหมายกัน เมื่อพนักงานแบงค์สาวยอมปล่อยผ่านการตรวจสอบเอกสารเพื่อทำยอด จนมีคนบริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อขบวนการปลอมตัวเปิดบัญชีธนาคารเพื่อใช้ประกอบธุรกรรมใต้ดิน ก่อนที่ตัวเองจะตกเป็นเหยื่อขบวนการสวมสิทธิ์เลือกตั้ง แถมกลายเป็นไวรัลในฐานะจำเลยสังคมเพราะมีคนอัดคลิปตอนยืนเถียงกับ กกต. หน้าคูหาเลือกตั้ง เธอจึงออกสืบหาความจริงเมื่อจับความเชื่อมโยงบางอย่างเจอ กำลังเล่าเรื่องสนุกอยู่แท้ๆ แต่หนังกลับม้วนตัวจบแบบเพลย์เซฟหักหลบเข้าสูตร เมื่อตัวร้ายของเรื่องถูกนำเสนอแบบเก่าเชย จนพาความเป็นไปได้ทั้งหมดของหนังย้อนไปสู่ข้อถกเถียงตกยุค ทั้งที่ตัวบทน่าจะมองเห็นแต่ต้นว่าเดิมพันและเพดานของบทสนทนาในช่วงเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 นั้นเลยพ้นวาทกรรมนักการเมืองเลวไปไกลแค่ไหนแล้ว

ดูได้ที่:

🏆 _อันชอบธรรม (Deleted) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลช้างเผือก (ภาพยนตร์สั้นระดับนักศึกษา) 🏆
🏆 Sorry, We’re Closed เข้ารอบสุดท้ายรางวัลรัตน์ เปสตันยี (ภาพยนตร์สั้นระดับบุคคลทั่วไป) 🏆



ปฏิกุน
(ภูวดล เนาว์โสภา)

ชีวิตช่วงล็อคดาวน์เคอร์ฟิวระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน 2020 ส่งผลกระทบต่อคนทำหนังทุกระดับอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง การปิดโรงหนังและแบนกิจกรรมรวมตัวทำให้ธีสิสนักศึกษาหลายสถาบันต้องจัดออนไลน์ คำสั่งห้ามออกกองถ่ายบีบหลายมหาวิทยาลัยให้อนุญาตนักศึกษาส่งเฉพาะบทภาพยนตร์เป็นตัวจบ และหนังสั้นจำนวนมากที่สู้ข้อจำกัดมหาศาลจนถ่ายจบเรื่องก็เต็มไปด้วยบาดแผลด้านโปรดักชั่น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นวัตถุดิบให้คนทำหนังจำนวนหนึ่ง

ตั้งแต่หนังเล็กๆ ที่เขียนบทจากชีวิตติดบ้านอย่าง Lockdown (พิษณุ บุญเทียน – สองพี่น้องถูกห้ามขึ้นชั้นสองเพราะกลัวโควิดไปติดยาย) กับ Quarantine (วาริสา ธนกรวิทย์ – เรื่องประหลาดในบ้านช่วงกักตัว) หรือใหญ่ขึ้นหน่อยแบบ เรื่องตลก-ชนชั้นกลาง (กรภัทร ภวัครานนท์ – พระเอกรอดตายจากโควิดใช้ชีวิตเหงาลำพังในโลกอนาคต / ลิงก์) หรือคว้ากล้องมาบันทึกสถานการณ์ใกล้ตัว เช่น The Cupcake Project (สุพงศ์ จิตต์เมือง – พ่อถ่ายแม่กับลูกสาววัยอนุบาลที่ต้องทำโปรเจกต์ส่งครูผ่านการเรียนออนไลน์) โรคา / ศรัทธา (ขวัญศิริ โกมลวิรัช – สำรวจผลกระทบโควิดต่อวัดพุทธในไทย / ลิงก์) Bangkok Distancing (ณัฐนันท์ เทียมเมฆ – สารคดีจอคอมพ์รวมคลิปข่าวและสัมภาษณ์คนไทยช่วงกักตัวผ่านวิดีโอแชท / ลิงก์) และ บันทึกการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง (สรยศ ประภาพันธ์ – สรยศลงทะเบียนรับเงินเยียวยาแล้วมีเจ้าหน้าที่มาขอตรวจสอบถึงบ้าน เลยใช้กล้อง VR ถ่ายเก็บไว้ / ลิงก์)

ต่างจากหนังโควิดส่วนใหญ่ที่มักเล่ามุมส่วนตัวหรือบันทึกประสบการณ์และสภาพสังคมในกรุงเทพฯ (ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด) ปฏิกุน เล่าประเด็นผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังล็อคดาวน์ในจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน ผ่านตัวละครลูกจ้างฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ขับรถส่งของให้เขียงหมูในตัวจังหวัด ในจังหวะที่กำลังซื้อของลูกค้าเดินตลาดถดถอย ทั้งเขากับเจ้าของเขียงหมูเริ่มจับสังเกตเห็นร้านแฟรนไชส์เนื้อสัตว์ครบวงจรมาเปิดแข่งอยู่ใกล้ๆ และเมื่อไม่มีทีท่าว่าเศรษฐกิจท้องถิ่นจะกลับเป็นปกติได้ในเร็ววัน เถ้าแก่เนี้ยที่ขายหมูมาหลายทศวรรษก็ยังต้องยอมแพ้ให้ความเปลี่ยนแปลง ในขณะที่บรรษัทผูกขาดระดับชาติก็ส่งคนเข้ามากว้านซื้อดีลในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง กวาดต้อนผู้เล่นท้องถิ่นในตลาดเดิมออกไป ล้างไพ่ให้ตัวเองเข้าครอบครองพื้นที่ทางเศรษฐกิจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เนื้อหาของหนังอาจวางคู่ขัดแย้งไว้ตรงไปตรงมาอยู่สักหน่อย (จนบางช่วงคล้ายบทความจากสำนักข่าวที่ทำเรื่องภาคอีสานโดยเฉพาะ) แต่ภูวดลก็แจกแจงแรงสะเทือนจากโควิดในระดับมหภาคได้น่าชื่นชมและมีหัวจิตหัวใจ ซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อเรื่องราวเหล่านี้พร้อมถูกดึงให้จมหายในกระแสเรื่องเล่าโควิดด้านอื่นๆ ที่เข้าใจง่ายหรือโรแมนติกกว่า

🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลช้างเผือก (ภาพยนตร์สั้นระดับนักศึกษา) 🏆



เขาไม่เคยเป็นเธอ | He Was Never a She
(ณัฐกิตติ์ สุรทิณฑ์)

ณัฐกิตติ์ สุรทิณฑ์ เคยเล่าเรื่องนี้มาแล้วเมื่อสองปีก่อน – ตอนนั้นเรื่องเกิดขึ้นและจบลงในการซ้อมละครมหาวิทยาลัยฉากหนึ่ง นักแสดงที่รับบทพระเอกนางเอกเป็นเพื่อนสนิทกัน และฝ่ายชายเคยชอบฝ่ายหญิงจนเรื่องเคลียร์จบไปตั้งนานแล้ว แต่บทละครดูเหมือนจะไปกระตุ้นความรู้สึกเก่าของฝ่ายชาย แล้วเส้นแบ่งของความจริงกับการแสดงก็เริ่มเลือนจนไม่น่าไว้ใจ ฝ่ายหญิงเองก็ตั้งกำแพงทันทีหลังรู้สึกถึงสัญญาณแปลกๆ เพราะตอนนี้อีกฝ่ายไม่ใช่แค่เพื่อน แต่ควรจะต้องปลอดภัยกว่านั้นอีก เพราะเป็น “เพื่อนสาว”

เมื่อดัดแปลงเรื่องนี้เป็นหนังธีสิส ณัฐกิตติ์ตัดสินใจเพิ่มรายละเอียดให้ตัวละครในตอนต้นกับท้ายเรื่องอย่างมีนัยสำคัญ (และคงฉากซ้อมละครไว้เป็นองก์ 2) ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ เขาไม่เคยเป็นเธอ ไปไกลกว่าการพูดถึงแค่การเล่นตลกของความรู้สึก แต่เล่ามวลหนาหนักของความคับข้องใจในอัตลักษณ์ทางเพศและตัวตนของตัวละคร โดยเฉพาะเมื่อต้องตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่คำตอบก็ไม่ช่วยให้การต่อสู้กับตัวเองในใจสงบลง

หนังสามารถแตกรายละเอียดความรู้สึกที่ทับซ้อนของตัวละครได้อย่างมีน้ำหนัก ไม่ปัดความสับสนหรือคำถามไหนเป็นเรื่องรอง เพราะสำหรับฝ่ายชายแล้วตอนนี้ทุกอย่างล้วนสั่นสะเทือน – ทุกคนในชีวิตมหาวิทยาลัยรวมถึงฝ่ายหญิงรับรู้ตัวตนของเขาในฐานะเกย์ (บทที่เขาเล่นคือละครย้อนยุค เล่าเรื่องเกย์ที่ถูกครอบครัวจับคลุมถุงชน) แต่เขาก็ยังมีพ่อที่แซวเรียบๆ ว่านางเอกคนนี้ดูเข้ากับแกดี ความรู้สึกที่กลับคืนมาจึงทำให้เกิดคำถามจากทุกขั้วในสมการจิตใจ อาจเป็นเรื่องจริงฝังใจหรือแค่ชั่ววูบเพราะตัวบท อาจเป็นอัตลักษณ์ที่เพิ่งมองเห็นหรือแค่ข้อยกเว้นกับคนพิเศษ แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร แรงสะท้อนจากภายนอกที่ยังมาไม่ถึงก็ทำให้เขาเปราะบาง

ตัวตนและความรู้สึกของเขาขณะนี้อาจกลายเป็นความหวังผิดๆ ของคนหนึ่ง อาจทำให้ทุกสิ่งซึ่งเคยสอดคล้องกับตัวตนที่คนอื่นรับรู้มาตลอดกลายเป็นแค่ความเท็จ และอาจเป็นการทรยศหักหลังขั้นร้ายแรงสำหรับอีกคน ยิ่งยากจะคลี่คลายเมื่อทุกอย่างดำเนินอยู่บนนิยามที่ไม่เป็นไปตามครรลองปกติอยู่แล้วอีกขั้นหนึ่ง ในยุคสมัยที่คล้ายว่าจะมีคำนิยามลื่นไหลทลายสองขั้วเลือนเส้นแบ่งให้ทุกสิ่ง แต่ตอนนี้ ตรงนี้ คำไหนก็ดีไม่พอที่จะตอบคนที่เขาแคร์ หรือกระทั่งจะตอบตัวเอง

🏆 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลช้างเผือก (ภาพยนตร์สั้นระดับนักศึกษา) 🏆

ชญานิน เตียงพิทยากร
เขียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ Starpics, Bioscope (อดีต), The Momentum, a day, Film Club และแหล่งอื่นตามแต่จังหวะโอกาส / รางวัลชมเชยกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือฯ ประจำปี 2018 และ 2020 / สภาพ: ไล่ดูหนังใกล้หมดอายุใน Netflix และ MUBI

RELATED ARTICLES