เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2021 ซาฮ์รา คาริมิ ประธานสมาพันธ์ภาพยนตร์อัฟกัน ได้ทวิตข้อความเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเพื่อขอความช่วยเหลือจากคนทำหนังทั้งโลก เนื่องจาก ผู้หญิง เด็ก คนทำหนัง และศิลปินชาวอัฟกัน ต่างเผชิญความไม่ปลอดภัยจากตอลีบานมาเป็นเวลานาน มีผู้คนถูกเข่นฆ่าจากสงครามภายในประเทศหลายราย พร้อมขอร้องทั้งโลกว่าอย่าเงียบงันเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะมีแนวโน้มว่ากลุ่มตอลีบานจะสามารถยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ แต่กว่าจดหมายฉบับนี้จะถูกค้นพบจนกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก ก็ล่วงเข้าวันที่ 16 ส.ค. หลังการประกาศชัยชนะของตอลีบาน และสัญญาณอินเทอร์เน็ตในอัฟกานิสถานก็ถูกตัดขาดไปแล้วเรียบร้อย
(เพจ Man on Film แปลจดหมายของคาริมิเอาไว้แล้ว เข้าไปอ่านได้ที่นี่)
การดำรงสถานะคนทำหนังในอัฟกานิสถานไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ ‘หนัง’ คือสื่อที่ถูกจับจ้องและถูกทำลายในอัฟกานิสถานมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้นักทำหนังจำนวนมากถูกล่าหัว ถูกสังหาร และหลายรายต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ
ซาฮ์รา คาริมิ
ผู้หญิงในอัฟกานิสถานถูกละเมิดทางเพศอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะเมื่อตอลีบานเข้ามายึดอำนาจ พวกเธออาจไม่ได้รับการศึกษา และอยู่ในสังคมราวกับไม่มีตัวตน ดังนั้นเส้นทางกว่าที่ ซาฮ์รา คาริมิ จะได้ทำหนังและขึ้นมาดำรงตำแหน่งใดในวงการหนัง จึงฝ่าฟันอุปสรรคมาแล้วมากมาย เธอเกิดและเติบโตที่อิหร่าน ก่อนจะไปเรียนหนังที่สโลวาเกีย และย้ายมาทำหนังที่อัฟกานิสถาน
คาริมิให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อปี 2014 ว่า “ในฐานะที่ฉันเป็นศิลปินหญิงและคนทำหนังในอัฟกานิสถาน ฉันต้องต่อสู้กับอคติและการละเมิดสิทธิมาตลอด ผู้หญิงประเทศอื่นอาจไม่เจอปัญหามากเท่านี้ก็ได้ ตอนฉันย้ายมาอัฟกานิสถานครั้งแรกในปี 2006 ฉันทำหนังที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ เป็นหนังที่ตั้งคำถามต่อสังคม ผู้สร้างหนังหลายคนกร่างใส่ฉัน ด่าทอด้อยค่าการตีความเรื่องศาสนาและชาติพันธุ์ของฉัน พวกเขาพยายามสั่งสอนให้รู้ว่า หากฉันต้องการทำหนังในอัฟกานิสถานต้องวางตัวอย่างไร!
“ฉันไม่คิดว่าการทำงานศิลปะควรถูกจำกัดด้วยชาติพันธุ์ ความเชื่อ หรือศาสนาของเรา ฉันโดนดูถูกมาเยอะ ครอบครัวของฉันถูกบังคับให้อพยพสองรอบ ครั้งแรกคือก่อนฉันเกิด พ่อแม่ของฉันออกจากอัฟกานิสถานไปอิหร่าน ครั้งที่สอง ฉันโตขึ้นและเห็นว่าไม่มีที่ที่ดีพอสำหรับผู้อพยพในอิหร่าน ฉันถูกกีดกันจากทุกสิ่งที่ฉันทุ่มเททำลงไป ไม่มีเหตุผลที่ฉันจะอยู่ที่นั่นต่อ ฉันอยากไปไหนสักที่ที่ฉันจะมีตัวตนและสามารถไล่ตามความฝันได้”
หนังเรื่องหลังสุดของคาริมิที่โด่งดังอย่างมากคือ Hava, Maryam, Ayesha ซึ่งได้รับเลือกให้ฉายที่เทศกาลหนังเวนิซสาย Orizzonti เมื่อปี 2019 บอกเล่าเรื่องของผู้หญิงสามคนที่กำลังตั้งท้อง กับชะตากรรมที่ยากลำบากของเธอในกรุงคาบูล หลังจากฉายไปแล้ว แองเจลินา โจลี่ ถึงกับใช้พื้นที่สื่อเพื่อแสดงการสนับสนุนหนังเรื่องนี้แบบสุดตัว “หนังทุกเรื่องที่สร้างในอัฟกานิสถานล้วนได้รับชัยชนะโดยตัวมันเอง” โจลีกล่าว “ในช่วงเวลาที่อนาคตของอัฟกานิสถานกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย มันทำให้เรานึกถึงทุกบททดสอบสำหรับผู้หญิงอัฟกันหลายล้านคนที่สมควรได้รับอิสรภาพ เสรีภาพ และความปลอดภัยในการเลือกใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ในบ้านของพวกเธอเอง และ ในสังคมที่เธออยู่”
ฮัสซัน ฟาซีลี
คนทำหนังอัฟกันจำนวนไม่น้อยต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือ ฮัสซัน ฟาซีลี ที่ถูกตั้งค่าหัวเมื่อปี 2015 จากนั้นเขาจึงพาภรรยาและลูกอีกสองคนอพยพไปประเทศต่างๆ โดยระหว่างทางเขาบันทึกเรื่องราวทั้งหมดผ่านกล้องมือถือ 3 เครื่อง และกลายมาเป็นสารคดี Midnight Traveler หนังปี 2019 ซึ่งกว่าจะผ่านแต่ละประเทศพวกเขาต้องเผชิญกับอคติจากผู้คนและกาละเมิดขั้นรุนแรงมากมาย
ฟาซีลีกล่าวว่า “ยิ่งครอบครัวผมเจอปัญหา และชีวิตที่ยากขึ้น หนังก็จะยิ่งแข็งแรงขึ้น ในบางฉาก ผมสนุกกับการถ่ายภาพสวยๆ แต่หลังกล้องก็ร้องไห้ไปพร้อมๆ กัน บางครั้งเมื่อครอบครัวผมรู้สึกกลัว พวกเขามองมาที่ผมเพื่อมองหาความปลอดภัย ผมพยายามทำให้ตัวเองดูเข้มแข็ง แต่ตัวผมเองก็กลัวและไม่รู้ว่าจะหาความปลอดภัยให้พวกเขาได้ที่ไหน ผมละอายใจที่ไม่สามารถทำอะไรเพื่อพวกเขาได้ ผมเกลียดตัวเอง ผมเกลียดหนัง ผมอยากทำลายโทรศัพท์ทิ้งและทำร้ายตัวเอง แต่ผมก็รู้สึกดีขึ้นเมื่อคิดได้ว่าเราไม่มีส่วนในการสร้างปัญหาเหล่านี้ และนี่ไม่ใช่ความผิดของผม”
ชาฮร์บานู ซาดัต
ยุครุ่งเรืองของวงการหนังอัฟานิสถานอยู่ในช่วงปลายยุค 60 จนถึงปี 1995 ก่อนการครองอำนาจของกลุ่มตอลีบาน คนทำหนังหลายคนหนีไปอยู่อิหน่าหรือปากีสถาน โรงหนังถูกทำลาย ฟิล์มหนังจำนวนมากโดนเผา สมาพันธ์ฯ ต้องขนฟิล์มจำนวนหนึ่งไปซ่อนไว้ในห้องนิรภัยหรือไม่ก็เอาไปฝังดิน จนเมื่อปี 2001 หลังเหตุการณ์ 9/11 กองกำลังต่างชาติเข้าไปแทรกแซงจนตอลีบานแตกกระสานซ่านเซ็น โรงหนังจึงกลับมาเปิดใหม่ และหนังก็กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ในปี 2019 นอกจาก Hava, Maryam, Ayesha และ Midnight Traveler ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศแล้ว ก็ต้องนับ The Orphanage ของ ชาฮร์บานู ซาดัต ที่ย้อนกลับไปเล่าชีวิตวัยรุ่นอัฟกันช่วงกลางยุค 80 ซึ่งสิทธิเสรีภาพกำลังเบ่งบานและใกล้จะถึงจุดสิ้นสุด หนังได้รับเลือกให้ไปฉาย Directors’ Fortnight ที่คานส์ปีเดียวกัน เป็นการสานต่อจาก Wolf and Sheep หนังเรื่องก่อนหน้าของซาดัตที่เล่าผ่านสายตาอันไร้เดียงสาของเด็กท่ามกลางสมรภูมิ
ซาดัตตั้งใจจะทำหนังว่าด้วยความบริสุทธิ์ของเยาวชนอัฟกันต่อเนื่องกัน 5 เรื่อง แต่สุดท้ายเธอทำได้แค่ 2 เรื่อง ก็ต้องมาเจอกับสถานการณ์รุนแรงเสียก่อน โดย ณ ขณะนี้เธอยังติดอยู่ที่เมืองคาบูล และพยายามหาทางหนีออกนอกประเทศให้ได้อย่างปลอดภัยเช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ที่นั่น
ซาดัตให้สัมภาษณ์ผ่านโทรศัพท์กับ The Hollywood Reporter ว่า “ถ้าฉันรอดออกไปได้และมีโอกาสสร้างหนังเรื่องต่อไป หนังของฉันจะไม่เหมือนเดิมอีกเลย” เธอกล่าว “ฉันรู้สึกเหมือนกำลังสังเกต จับจ้องความอยุติธรรมบางอย่างที่น่าขนหัวลุก ฉันขอเก็บมันไว้ในทุกอณูของร่างกาย จดจำมันและถ่ายทอดมันออกไปผ่านหนังของฉัน เพื่อแบ่งปันกับคนทั้งโลก”
แม้ภาพที่ปรากฏตามข่าวจากอัฟกานิสถานเป็นความโกลาหลราวกับถึงกาลอวสาน ทว่าซาดัตยังมีความหวังที่จะเห็นอนาคตที่สวยงามจากบ้านเกิดของเธอ “ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญสำหรับเราในอัฟกานิสถานคืออย่างน้อยต้องรู้ประวัติศาสตร์ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา เพราะคนส่วนใหญ่ของที่นี่ไม่มีโอกาสได้อ่านมัน” เธอกล่าว “คุณสามารถสร้างหนังโดยเรียนรู้จากอดีต และเราเข้าใจจุดยืนของเราในอัฟกานิสถานรวมถึงประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรา การรู้ประวัติศาสตร์เป็นความหวังเดียวของเราในตอนนี้”
ใครบางคนอาจมองหาความสุขของผู้คนในอัฟกานิสถาน ในภาวะสงครามและความวุ่นวายขั้นสุดทางการเมือง ในฐานะประชาชนอัฟกันที่กำลังอ้อนวอนขอความปลอดภัยในชีวิตได้กล่าวว่า ความงดงามเดียวในตอนนี้อาจคือ ‘ความโกรธแค้นของผู้คน’
“ฉันคิดว่าถ้าจะมีสิ่งที่ดีหลงเหลืออยู่จากความยุ่งเหยิงทั้งหมดนี้ มันก็คือพลังความโกรธเพราะผู้คนสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ ฉันสร้างหนังได้ คนอื่นเขียนหนังสือได้ บางคนจัดการได้ มีพลังงานมากมายกำลังคุกรุ่นอยู่ และเราต้องทำอะไรบางอย่างกับมัน”
ข้อมูลประกอบ
https://pbs.twimg.com/media/E8q-WxmXEAI8if4?format=jpg&name=large
https://www.hollywoodreporter.com/movies/movie-reviews/orphanage-parwareshgah-review-1210441/