เพราะ ‘พระนครฟิลม์’ ตัดสินใจยุติบทบาทในธุรกิจหนัง เหลือเพียงส่วนแบ่งจากยอดผู้เข้าชมในยูทูบช่อง ‘พระนครฟิลม์’ เป็นรายได้ช่องทางเดียว
ยูทูบช่อง ‘พระนครฟิลม์’ รวบรวมหนังไทยเต็มเรื่องของพระนครฟิลม์, อาร์เอสฟิล์ม, ซีเอ็มฟิล์ม และอีกมากมาย ทำให้ช่องนี้เป็นศูนย์รวมหนังไทยถูกลิขสิทธิ์ที่เปิดให้ดูฟรีแหล่งใหญ่ที่สุดในขณะนี้
แม้ในช่องจะมีหนังตัวทอป อย่างบุปผาราตรีภาคแรกของยุทธเลิศ สิปปภาค หรือหนังยุคต้นของยอร์ช ฤกษ์ชัย พวงเพชร อย่าง แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า หรือ โหดหน้าเหี่ยว ไปจนถึงหนังรักร่วมทุนไทยลาวของศักดิ์ชาย ดีนาน อย่าง สะบายดีหลวงพระบาง แต่ยังมีหนังอีกส่วนหนึ่งที่หลายเรื่องอาจจะเคยได้ยินชื่อบ้าง หลายเรื่องถูกมองข้ามเมื่อครั้งฉายโรง และบางเรื่องก็เป็นหนังวีซีดีที่น้อยคนนักจะมีโอกาสได้ดู
เราจึงรวบรวมหนังส่วนหนึ่งมาให้ตามไปดู ดังนี้
สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์ (ธนิตย์ จิตนุกูล, เสรี พงศ์นิธิ)
เมื่อ พ.ศ.2551 ครั้งที่หนังไทยในสตูดิโอสามารถฝากชีวิตไว้กับตลาดโฮมวิดีโอได้ ก็กำเนิดบริษัทหนังขึ้นมาใหม่ชื่อ ‘หนังสนุก’ มันเป็นการรวมตัวกันบองค่ายหนังไทยเล็กๆ ที่ผนึกกำลังกันอันได้แก่ เอจี เอ็นเตอร์เทนเมนท์, กันตนา, บ็อกออฟฟิศ และ พรีเมียมดิจิตอล พวกเขาผลิตหนังออกมาเรื่องแรกคือ ‘สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์’ เรื่องเดียวแล้วแยกย้ายกันไปเลย
หนังทำรายได้ไปไม่มากจนไม่สมศักดิ์ศรีการผนึกกำลังกันครั้งนั้นเท่าไหร่ แต่นี่เป็นหนังที่เราไม่อยากให้มองข้าม แม้หน้าตาจะคล้ายละครผีเฮฮาก่อนข่าวแต่เนื้อในนั้นแสบสันต์ กระทั่งเราเอากลับมาดูใหม่ตอนนี้ก็พบว่าความตลาดแตกของมันทำให้หนังอยู่เหรือกาลเวลา ส่วนเนื้อหากลับยิ่งเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันเหลือเกิน
มันก็คือส่วนผสมของละครพล็อตคุณหญิงแม่ผัวกับลูกสะใภ้ชั้นต่ำที่ไม่คู่ควรกับการมาสืบทอดอำนาจในคฤหาสน์หลังโต บวกกับเรื่องราวของผีสาวผู้รอคอยผัวรักแบบ ‘นางนาก’ และความเกรดบีแบบหนังชุด ‘บ้านผีปอบ’ กลายเป็นการจิกกัดความเป็น ‘ชนชั้น’ ที่แสนเถิดเทิง
ภายในคฤหาสน์หลังนี้มีการแบ่งชนชั้นลดหลั่นกันลงมา ตั้งแต่คุณพ่อเจ้าของบ้านที่ป่วยสิ้นฤทธิ์ ไล่มาที่คุณหญิงแม่หนี้ท่วมหัวและจ้องจะขายบ้านใช้หนี้ ขยับมาที่ลูกชายลูกสาว เลื่อนมาที่หัวหน้าคนใช้ คนใช้คนสนิท คนใช้ที่ไม่สนิท แล้วยังมีคนใช้พิการ ดังนั้นการที่ครอบครัวนี้ต้อนรับลูกสะใภ้เข้ามาซึ่งจะทำลายและแทรกซึมไปทุกลำดับขั้นที่ว่ามาจึงเป็นความสั่นคลอนต้องกำจัดกลายเป็นผี และเมื่อถึงตอนนั้นก็กลับพลิกขั้วอำนาจหน้าตาเฉย
หนังขยายของเขตออกไปเมื่อบ้านหลังนี้เปิดรับคนนอกเข้ามา ก็ยิ่งทำให้เห็นความหลากหลายทางชั้นชั้นชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาบังปล่อยเงินกู้ ผู้แทนราษฎร กะหรี่ไฮโซ และอีกมากมาย แต่ไม่ว่าจะสูงศักดิ์หรือต่ำ ต้อยมาจากไหนก็ถูกกวาดมากองอยู่ในกระทะเดียวกันเมื่อพวกเขาเจอผี
สะใภ้ที่ปั่นป่วนระบบโครงสร้างอำนาจ กลับมาถืออำนาจอย่างแท้จริงในรูปของผี ‘สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์’ เลยกลายเป็นหนังที่สลายระบบชนชั้นที่บันเทิงเรื่องหนึ่ง
ทั้งนี้ทั้งนั้น ต่อให้เรามองข้ามประเด็นที่ว่าทั้งหมดไป นี่ก็นับว่าเป็นงานโชว์ออฟของ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ เลยทีเดียว
– แนะนำโดย NK –
ดูหนังเต็มเรื่อง :
191 ½ มือปราบทราบแล้วป่วน (บุญส่ง นาคภู่)
บุญส่ง นาคภู่ ในปัจจุบันคือคนทำหนังเพื่อชีวิต กล่าวคือทำหนังด้วยต้นทุนแสนต่ำเพื่อบอกเล่าชีวิตคนตัวเล็กๆ ที่อยู่ชายขอบของสังคม หนังเขามักเข้าฉายอย่างเจียมตัว ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงกับหนังตลกเรื่องนี้ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนังของบุญส่งที่เข้าฉายในวงกว้างที่สุด (ทั่วประเทศ) ด้วยลีลาที่เอาใจตลาดสุดขีด มีกลิ่นอายของรายการ ‘คดีเด็ด’ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในปีที่มันออกฉาย (พ.ศ.2546) แต่ยังเป็นหนังที่เล่าเรื่องราวของคนชายขอบสู้ชีวิตภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่โบยตีคนตัวเล็กๆ อยู่เช่นเคย
หนังเดินตามขนบของหนังตลกคู่หูตำรวจแบบ Rush Hour แต่ปรุงแต่งให้คุ้นจริตของผู้ชมชาวไทย ว่าด้วยหมวดสุดหล่อผู้ตงฉินที่กำลังไฟแรงกับจ่าวัยใกล้เกษียณที่แสนกลัวเมียและกำลังหมดไฟ หนังอาศัยความเป็นหนังตลกตีเนียนวิพากษ์วิจารณ์การวงการตำรวจ การที่จ่ารู้เห็นการเปิดบ่อนทั้งคอยเป็นสายให้เมียนักพนันถือเป็นพื้นที่ให้บุญส่งเล่นตลกได้หลายตับ และตีแสกหน้าสังคมข้าราชการไทยสไตล์ได้อย่างแนบเนียน
ความสนุกของหนังเกิดขึ้นจากการที่คู่หูหมวดจ่าตระเวนไปเจอคดีชาวบ้านยิบย่อยเช่นผัวเมียทะเลาะกันยันลักเล็กขโมยน้อย ที่ก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยวิธีไกล่เกลี่ยด้วยบ้านๆ ไม่ได้ยิ่งใหญ่กู้โลกแบบหนังฮอลลีวูดอะไร นั่นทำให้เราได้เห็นความหลากหลายของคนชายขอบในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ แต่หนังให้น้ำหนักอย่างมีนัยยะกับพี่น้องจากแดนอีสาน คนพี่เป็นโจรกระจอกที่มาแสวงโชคในเมืองกรุง คนน้องมีปัญหาด้านพัฒนาการที่มาช่วยพี่ทำภารกิจ เป็นการผูกปมระดับเดียวกับคู่พี่น้องมิจฉาชีพใน Good Time ของพี่น้องซัฟดี้เลยทีเดียว
การที่บุญส่งให้น้ำหนักกับตัวละครพี่น้องคู่นี้แทบจะเทียบเท่ากับคู่หูตำรวจคนละขั้วนั้น เป็นการยืนยันว่าบุญส่งสนใจกับการสำรวจชีวิตที่ดิ้นรนหลังชนฝาของคนเล็กในเมืองใหญ่ที่ถูกกลั่นแกล้งจากโครงสร้างอันเหลื่อมล้ำทางสังคมอยู่ร่ำไป อันเป็นถ้อยความที่เข้าทางคนทำหนังนักสู้อย่างบุญส่งยิ่งนัก แต่เสริมแต่งด้วยจังหวะตลกโป๊งชึ่งอย่างที่เราไม่ได้เห็นในผลงานชิ้นไหนเลยตามประวัติการทำหนังของบุญส่งแน่นอน
– แนะนำโดย NK –
ดูหนังเต็มเรื่อง :
รินลณี ผีถ้วยแก้ว (ฉลวย ศรีรัตนา)
ผลงานการกำกับของ ฉลวย ศรีรัตนา ผู้กำกับที่เพิ่งเสียชีวิตจากปอดติดเชื้อ หลังล้มป่วยด้วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ 4 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 รินลณี ผีถ้วยแก้ว (2004) เล่าเรื่องของปราง (อภิรดี ภวภูตานนท์) ผู้เลือกจะเก็บลูกสาวของตัวเองไว้หลังจากท้องไม่พร้อมกับครูใหญ่ผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงาน หลังจากเธอไปเที่ยวบ้านร้างซึ่งโครงสร้างอาคารคล้ายโรงสี เธอไปเล่นผีถ้วยแก้วกับเพื่อนอีกสามคน รินลณีคือชื่อที่ผีหญิงแก่ตั้งให้กับสูกสาวของเธอ ผีหญิงแก่ที่แฝงอยู่ในร่างของหญิงสาวจนเริ่มออกอาการเมื่อเธออายุได้ 7 ปี ในตอนแรกเหมือนว่าผีหญิงแก่จะเป็นแรงโต้กลับของขบวนการสตรีนิยมที่ต้องการล้างผลาญเพศชายที่เอารัดเอาเปรียบเพศหญิง รวมถึงเป็นขบถต่อสังคมชายเป็นใหญ่ แต่กลายเป็นว่าผีหญิงแก่ออกจะกลายเป็นวิญญาณที่สิงร่างคนหนุ่มสาวเพื่อฆ่าล้างคนหนุ่มสาวอีกที หนังสยองขวัญเล็กๆ เรื่องนี้ที่ดูเหมือนได้แรงบันดาลใจ The Exorcist (1973) Child’s Play (1988) Rosemary’s Baby (1968) และ A Nightmare on Elm Street (1984) ทำให้ตั้งคำถามไปไกลว่าหนังอเมริกันที่ได้แรงบันดาลใจเช่นกันได้แก่ It (2017) Hereditary (2018) และ The Conjuring (2013) ว่าขบวนการโต้กลับฝั่งอนุรักษ์นิยม อุดมการชายเป็นใหญ่ และอำนาจนิยม คณะปฏิวัติคือผีตัวเดิมในร่างใหม่ที่เราเองก็หนีไล่ไม่พ้นหรือไม่
– แนะนำโดย K –
ดูหนังเต็มเรื่อง :
34 24 36 สวยเด็ดอย่าบอกใคร (แก่นศักดิ์ ส. เพลินจิต)
อย่านึกว่าเป็นหนังนักมวยกำกับ เพราะนี่คือหนังวีซีดี (หมายถึงหนังที่ทำเพื่อส่งตรงลงแผ่นโดยไม่ได้เข้าฉายในโรง) ในตำนานของสันติ แต้พานิช คนทำสารคดีอีกคนที่ยังถูกพูดถึงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น นี่เป็นหนังที่มีคนพูดถึงว่าเป็นหนังที่น่าตื่นเต้นในช่วงเวลานั้น แต่น้อยคนที่จะเคยดู
เรื่องราวคือเรื่องของแทกซี่ถูกหวย ตรงไปตรงมาตามนั้น ยอดเป็นคนขับแทกซี่ (รับบทโดยยิ่งยง ยอดบัวงาม) ที่อาศัยกับภรรยาสาวสวยอดีตนักร้องคาเฟ่ แสดงโดย อะไรดีบุ๋มก็ว่าดี ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ในแฟลตเล็กๆ ของบรรดาคนจนเมือง ภรรยาของเขาทุบตีด่าว่าเขาทุกวันในความทึ่มทื่อ ตัวเธอเองนั้นแอบชอบหนุ่มหล่อดาราปลายแถวในแฟลตเดียวกันที่มีอาชีพเสริมในการนำเต้นแอโรบิค โดยมีพี่ชายเมียที่เปิร้านขายโทรศัพท์คอยเหยีดหยามเขาตลอดมา วันหนึ่งยอดไปส่งอาซิ่มขายลอตเตอรี่ที่วัดสุดไกล แต่ซิ่มไม่มีเงินให้ เลยให้ลอตเตอรี่มาแทน ตัวเลขน่าเกลียดน่าชัง 342436 ยอดเอามาแปะไว้ขำๆ ตรงประตูรถ ใครขึ้นก็เห็นทั้งเมีย พี่เมีย และนักร้องคาเฟ่สาวลูกค้าประจำ วันหนึ่งเกิดถูลอตเตอรี่เจ้ากรรมขึ้นมา คนทั้งหลายจึงกรูเข้ามา เปลี่ยนยอดจากไอ้แทกซี่กระจอกเป็นคนสำคัญ ขณะที่ยอดกำลังครุ่นคิดถึงชีวิตที่ผ่านมาของตนโดยไม่ได้ใส่ใจเลขหวยรวยเบอร์เลยสักนิด สถาณการณ์ยิ่งไปกันใหญ่ เมื่อแต่ละคนเคลมว่า เลขนั้นมาจากพวกเขาและจะทำทุกทางเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของลอตเตอรี่
พลอตอาจจะซ้ำซากคุ้นเคย แต่นี่คือหนังที่สอดส่ายสายตาลงไปในชีวิตของคนหาเช้ากินค่ำในกรุงเทพช่วงต้น?ศวรรษ 2000’s ได้อย่างน่าสนใจ การขูดหาเลขหวยตามต้นไม้ การไปติดนักร้องคาเฟ่ การหากินกับศรัทธาของชาวบ้าน ชีวิตยากลำบากของคนแทกซี่ หรือการนินทาในร้านทำผมทำเล็บ การเต้นแอโรบิคบนดาดฟ้า หรือตู้ขายมือถือเลขสวย ภาพฉายของประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกจำที่บางอย่างก็สาบสูญ บางอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หนังคว้าจับบบรรยากาศการดิ้นรนเหล่านั้นเอาไว้ได้ดีเหลือเชื่อ
ยิ่งไปกว่านั้น หนังตัดต่อฉากชีวิตผู้นเหล่านั้นอย่างน่าสนใจโดยฝีมือของ ลี ชาตะเมธีกุล และดนตรีประกอบทำนองแปลกประหลาดแห้งแล้งที่ดูไม่ตั้งใจแต่ช่วยสร้างบรรยากาศพิลึกพิลั่นให้กับหนังโดยฝีมือของ โอ๋ซีเปีย ทำให้นี่อาจจะเป็นหนังที่เล่าเรื่องอย่างกลางๆ แต่น่าจดจำ และน่าจับคู่ฉายกับ เฉิ่ม ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมีอย่างยิ่ง
– แนะนำโดย W –
ดูหนังเต็มเรื่อง :
กลางแปลง (มรกต แก้วธานี)
หนังที่เปรียบเสมือนบทบันทึกลมหายใจสุดท้ายของธุรกิจหนังกลางแปลงในช่วงเปลี่ยนผ่าน ผ่านมุมมองของมรกต หนึ่งในทีมงานรุ่นบุกเบิกของ “พันนา ฤทธิไกร” ที่ร่วมกันสร้างต้นกำเนิดตำนานหนังบู๊แบบโนสลิงโนสตั๊นต์ใน ‘เกิดมาลุย’ (พ.ศ. 2529) และกลายเป็นหนึ่งในทีมงานคนสำคัญของ “เพชรพันนาโปรดักชั่น” ผู้ผลิตหนังแอ็กชันภูธรที่ป้อนผลผลิตสู่สายหนังอีสานมามากมาย ก่อนที่ธุรกิจการทำหนังส่งสายจะล้มหายตายจากไปตามเทรนด์ของผู้ชมและธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ที่เปลี่ยนแปลง
ตัวหนังสอดแทรกไปด้วยการบันทึกวิถีชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยในหน่วยหนัง ตั้งแต่การขนของขึ้นรถ กางจอ การเก็บรักษาฟิล์ม หนึ่งในฉากที่เราชอบมากๆ คือการที่เจ้าของหน่วยหนังเดินไปเงียบๆ ในบ้านพลางดูโปสเตอร์หนังเก่าๆ ที่แปะไว้ตามผนัง มันเศร้าและสิ้นหวังมาก เพราะนี่คือความตายอันเงียบงันของหนังกลางแปลงที่ไม่มีใครอยากรู้หรือสนใจ แต่กระนั้นหนังก็ไม่ได้ทำตัวเป็นสารคดี แต่ยังมีจิตวิญญาณของความเป็น “หนังบู๊ภูธร” ผ่านพล็อตเรื่องความขัดแย้งของหน่วยหนังสองหน่วยที่ไม่ถูกคอกัน และเรื่องราวความรักของหนุ่มนักบู๊ไร้อนาคต ที่แสดงโดย “เดี่ยว ชูพงษ์” ซึ่งแม้ในเรื่องเขาจะมีสถานะเป็นตัวละครสมทบ แต่ในขณะเดียวกัน “เดี่ยว ชูพงษ์” ยังถือเป็นผลผลิตรุ่นท้ายๆ ของทีม “พันนาสตั๊นต์” ในยุคก่อนพันนาจะเสียชีวิต
นั่นทำให้หนังเรื่่องนี้มีสถานะเป็น “จดหมายรัก” ที่ตัวมรกตมีต่อประวัติศาสตร์ส่วนตัวที่เคยผูกพันและเติบโตมา ด้วยท่าทีที่จริงใจแบบที่หาชมได้ยากยิ่งในหนังไทยยุคปัจจุบันนี้
– แนะนำโดย CN –
ดูหนังเต็มเรื่อง :
บ้านผีสิง (มณฑล อารยางกูร)
หนังสร้างโดยดัดแปลงจากคดีดังที่เกิดขึ้นจริงสามคดีที่ต่างกรรมต่างวาระ และทั้งสามคดี คือคดีนายแพทย์ฆาตกรรมอำพรางภรรยา/คู่รักของตน หนังเอามาเล่าใหม่ผ่านเรื่องของชาลินี นักข่าวสาวที่ทำรายการสกูปข่าวเกี่ยวกับคดีหอมฆ่าหั่นศพเมียรายล่าสุด การสืบเรื่องพาเธอกลับไปยังบ้านพักแพทย์ของหมอคนดังกล่าว ก่อนจะสาวย้อนกลับไปว่า หมอทั้งสามมีจุดร่วมกันคือการพักอาศัยในบ้านพักแพทย์แห่งนี้
เธอเองก็มีปัญหาเพราะสามีที่เป็นทนายอยากมีลูก ซ้ำยังคอยหึงหวงเธอกับเพื่อนร่วมงานจนเกินเลย บางอย่างมืดดำในบ้านคืบคลานเข้ามาสั่นคลอนความสัมพันธ์ของเธอกับสามี ยิ่งเธอสืบลึกลงไปสัมภาษณ์หมอที่ยังมีชีวิตอยู่ในคุก เธอยิ่งต้องผเชิญกับภาพหลอนว่าถูกผีของเหยื่อตามหลอก ขณะที่สามีของเธอก็เหมือนจะถูกวิญญาณร้ายอีกชนิดหนึ่งในบ้านเข้าสิง และยิ่งร้ายกาจขึ้นทุกวัน
มณฑล อารายางกูร เป็นหนึ่งในคนทำหนังที่ควรจะได้รับการถูกพูดถึงมากกว่านี้ หนังผีสามเรื่องของเขาอันประกอบด้วย ผีคนเป็น บ้านผีสิง และ รักฉันอย่าคิดถึงฉัน ล้วนล้อเล่นไปกับเหตุการณ์ และประเด็นที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ฉายภาพความไม่มั่นคงของชนชั้นกลางและชนชั้นกลางระดับล่าง ผ่านภาพหลอนของอนาคตที่แสนสุขกับผีแห่งประวัติศาสตร์บาดแผล
บ่านผีสิงอาจจะเป็นหนังผีระดับกลางๆเรื่องหนึ่ง แต่ทันทีที่ช่วงท้ายหนังเริ่มผลักตัวเองเข้าไปสู่ประเด็นที่ไกลกว่าเดิม โดยทำให้เห็นว่าการฆ่าของคนที่ได้มีตำแหน่งแห่งที่ในรัฐ (ในฐานะหมอ) อันที่จริงเป็นเพียงเครื่องมือของอำนาจที่มองไม่เห็นผ่านพื้นที่(บ้านพักแพทย์/ตัวรัฐเอง) ที่ติบโตงอกงามขึ้นจากแผ่นดินที่นองด้วยเลือด ทั้งกบฏมุสลิมในยุคพระนารายณ์ หรือนักโทษที่ถูกใช้ที่นี่เป็นลานประหาร และชาวบ้านที่ล้มตายในสงครามโลก แม้หนังจะไม่ผลักเรื่องนี้ไปจนสุด(แล้ววกกลับมาเรื่องของครอบครัวแทน) แต่การใช่รูปทรของสารคดีมาขยายผล พื้นที่ในฐานะของภูติผี ทำให้หนังมีน้ำหนักมากพอที่จะใคร่ครวญต่อหลังหนังจบลงไม่น้อย
– แนะนำโดย W –
ดูหนังเต็มเรื่อง :
บ้านผีปอบ Reformation (โสภณ นิ่มอนงค์)
หนังเป็นเหมือนภาคต่อกลายๆของภาคเจ็ด ที่ยายปอบหยิบขี่สกูตเตอร์ตกเขาไป ในหนังเรื่องนี้ กาลตัดไปเป็นยี่สิบปีต่อมา กลุ่มนักมานุษยวิทยาเข้ามขุดหาซากปอบหยิบในหมู่บ้าน แล้วก็โดนปอบจกไส้ไปคืนเดียวสามคน ที่เหลือก็ตกค้างอยู่ในหมู่บ้านที่ไม่รู้ว่าใครเป็นปอบ แล้วเอาเข้าจริงยายหยิบยังไม่ตายแต่กำลังรักษาปอบแบบสมุนไพรกับหมอเดช ด้วยการหัดเป็นมังสวิรัติ แม้ยายหยิบจะลักลอบออกมาตอนกลางคืนเสมอก็ตาม ในหมู่บ้านก็กำลังวุ่นวาย เมียผู้ใหญ่กินตับ (ทางพฤตินัย) กับหนุ่มทั้งหมู่บ้าน ผู้ใหญ่กับเถ้าแก่ก็กำลังวางแผนฮุบที่ชาวบ้าน (โดยการใส่ความว่าเป็นปอบ) แถมยังมีไอ้หนุ่มเนิร์ดประจำหมู่บ้าน คนนึงปรดิษฐ์อะไรมั่วซั่ว อีกคนทำสตูดิโอปั้นรูปบ้าบอที่มี เอิ่มมมม ห้องทรมาน
ชนบทในหนังเรื่องนี้คือภาพแทนของชุมชนที่ประกอบไปด้วยความเชื่อไสยศาสตร์ที่ไหลเวียนในทุกอณู การก้าวเข้ามาของเทคโนโลยีหรือศิลปะ ก็ไม่ไ้ด้มาในฐานะสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับชาวบ้านขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เครื่องมือที่ช่วยเหลือให้ชาวบ้านพ้นจากความยากเข็ญกล่าวให้ถูกต้อง มันมีเพียงลักษณะเดียวคือลักษณะอิหลักอิเหลื่อครึ่งๆ กลางๆ ตามมีตามเกิด เรียกกันเท่ๆว่า ‘ภูมิปัญญาชาวบ้าน’ เราจึงได้เห็นชนบทที่มีคอมพิวเตอร์อยู่ในหลายๆบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกระต๊อบมุงจาก หรือสตูดิโอหลังคาสังกะสี การทำหุ่นโชว์แบบลวกๆตลกๆ หรือการประดิษฐ์รถยนตร์ทำเองแบบโง่ๆ แน่นอนว่ามันถูกทำมาให้ตลก ทำมาให้ขัดเขินผิดที่ผิดทาง ทำมาให้เห็นว่าเป็นสิ่งโง่ๆ แต่มันน่าสนใจว่ามันไม่ได้ทำหน้าที่ในทำนองความผิดที่ผิดทางอย่างโดดเด่นอีกต่อไป มันกลับดำรงคงอยู่แบบที่มันอยู่จริงๆในชุมชน ผิดที่ผิดทางน้อยๆ ถูกนำมาแก้ไขดัดแปลงให้พอใช้ได้ แต่ไม่ค่อยสวยงามตามแบบมืออาชีพ
ยิ่งกว่านั้นตัวร้ายของหนังเรื่องนี้คือ ผู้ใหญ่บ้านที่ต้องการขุดเอาผีปอบมาเป็นจุดขายในการท่องเที่ยว!!!!
ในทางหนึ่งไสยศาสตร์ในหนังคือสิ่งที่อยู่ ‘ข้างใน’ ชุมชน สิ่งที่ชุมชนร่วมกันปกปิด แต่ในหนังเรื่องนี้มันคือสิ่งคุกคาม ทั้งในระดับความลับในชุมชน หากยังทำหน้าที่เป็นภัยคุกคามที่จะดึงคนนอกเข้ามาทำลายชุมชนอีกด้วย หากผีปอบคือภาพแทนของการต่อสู้กับอำนาจรัฐจากส่วนกลางในฐานะไสยศาสตร์ที่มีอำนาจเหนือหมู่บ้าน อำนาจของชาวบ้าน/ความเป็นหญิงที่เหนือกว่าอำนาจรัฐ (ในรูปภัยคุกคามของนักศึกษามาทำค่าย) กลายเป็นว่าอำนาจรัฐเดียวในเรื่อง(ผู้ใหญ่บ้าน)ได้ผนวกรวมกับไสยศาสตร์ และเอาไสยศาสตร์มาเป็นเครื่องมือคุกคามชาวบ้านเสียเอง แล้วชาวบ่้านสู้อย่างไรน่ะหรือ ก็ฝีมือผีอีหยิบน่ะสิ ปอบหยิบ อีกครั้ง ทำหน้าที่ปกป้องหมู่บ้านจากภัยคุกคาม แต่เปลี่ยนเป็นฮีโร่เต็มตัวด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีภูมิปัญญาชาวบ้าน!
ถึงที่สุด การ reformation ของบ้านผีปอบอาจจะเป็นแค่หนังเอาตลกไม่มีอะไร เป็นงานชั้นต่ำ ที่ดำรงคงอยู่เพื่อให้คนหัวสูงเหยียดหยาม แต่โลกไม่ได้มีแค่ high art และความเป็นศิลปะไม่ได้รับใช้มิติเดียว การหยิบไม้บรรทัดวัดหนังอาร์ตมาเหยียดหยามหนังเรื่องนี้จึงอาจจะผิดเสียตั้งแต่หยิบไม้บรรทัดผิดสเกลแล้วก็เป็นได้ ในฐานะหนังปอบภูธร หนังคัลท์ หนังของคนชั้นล่าง หนังตลกไร้่สาระ บ้านผีปอบreformation กลับหลักแหลมคมคายยิ่งไม่ว่าคนทำจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
– แนะนำโดย W –
ดูหนังเต็มเรื่อง :
ทวารยังหวานอยู่ (พรชัย หงษ์รัตนาภรณ์)
Whiplash ต้องแหวกทาง! เมื่อเจอพลังกลองเทวดาปะทะกับวิชากลองพญายม การประลองวิทยายุทธ์ที่สติแตกและคัลท์ที่สุดครั้งหนึ่งในหนังไทย หนังคอมเมดี้-ทริลเลอร์-มิวสิคัล-แอ็กชันที่อัดแน่นด้วยมุกควายพาเสียสติกันแทบทุกนาที (พร้อมกับมุก “บัดซบ” ในตำนาน) ในยุคที่มุกตลกในหนังนั้นเป็นได้หลากหลายกว่าการตบมุกโบ๊ะบ๊ะไปมา ถ้าเปรียบเป็นการทำหนังในยุคสมัยนี้ก็ถือว่าเสี่ยงและบ้าบิ่นอย่างแรง หยอกเอินไปกับประวัติศาสตร์และป๊อบคัลเจอร์ทั้งเก่าใหม่ (ในยุคนั้น) แบบพองาม ประดุจฟอร์เรสต์ กั้มพ์ยุคมิลเลเนียม พร้อมกับการปรากฏตัวของบุคคลระดับตำนาน ไม่ต้องสนต้องแคร์เนื้อเรื่อง เพราะไม่มีทางเดาถูกว่าหนังจะไปลงอีท่าไหน หนังถูกวิจารณ์อย่างถล่มทลายจากการมาก่อนกาล การกลับมาดูอีกครั้งจะพบถึงความกล้าที่อาจไม่เคยได้พบเจอในหนังสมัยนี้
– แนะนำโดย N –
ดูหนังเต็มเรื่อง :
นางตะเคียน (สายยนต์ ศรีสวัสดิ์, 2010)
หนังลับแลฉายเงียบของผู้กำกับ “บ้านผีปอบ” ภาคแรกสุดเรื่องนี้ ไม่ได้มีดีแค่นางเอกชื่อ ยุ้ย-จีรนันท์ มะโนแจ่ม เพราะภายใต้โปรดักชั่นระดับละครบ่ายละครเย็นและมุขตลกที่ตกค้างมาจากสมัยบ้านผีปอบ ที่อาจทำให้คนดูส่วนใหญ่มองข้ามหรือเดียดฉันท์ไปล่วงหน้า เพราะไฟแค้นของผีสาวที่ผูกคอตายใต้ต้นตะเคียนพาเราไปไกลกว่านั้น เธอไม่ได้กลายเป็นผีเฮี้ยนเพียงเพราะความแค้นส่วนตัวหรืออาวรณ์คนรัก หากเป็นผีที่เกิดจากการกดขี่ทางเพศและชนชั้นในสังคมชนบท หลายฉากของหนังน่าทึ่งและกล้าหาญ ทั้งการโฟกัสความบิดเบี้ยวของใบหน้าคนใกล้ตาย การฉายภาพพิธีศพอันยาวนานจนแทบกลายเป็นบทบันทึกทางมานุษยวิทยา (ก่อนจะเฉลยว่าภาพที่ดูเหมือนจริงนี้ ถูกแปดเปื้อนบิดเบือนด้วยเจตนาสกปรกของคนเป็น) ไปจนถึงการที่หลักธรรมคำสอนอันแสนคมคายของพุทธศาสนาก็ไม่อาจลบล้างไฟแค้น แต่ต้องหันกลับไปพึ่งอิทธิปาฏิหาริย์ของไสยศาสตร์เพื่อกำราบวิญญาณร้าย – และการตั้งชื่อหนังที่สะท้อนถึงชื่อเรียกที่ต่อมาคนจะใช้เรียกเมื่อเล่าขานเป็นมุขปาฐะ ก็ชวนให้คิดถึงตำนานเรื่องเล่าแบบไทย ที่หลายครั้งก็คงลดรูปตัดใจความของความแค้นที่ผูกโยงกับสังคมให้เป็นแค่อาถรรพ์กับความน่าสยดสยองสะพรึงกลัว
– แนะนำโดย T –
ดูหนังเต็มเรื่อง :
เมล์นรกหมวยยกล้อ (กิตติกร เลียวศิริกุล, 2007)
หนังเด่นอีกเรื่องในช่วงทศวรรษขึ้นหม้อของ เรียว-กิตติกร (ผกก. อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม, ดรีมทีม, เรา สองสาม คน, คู่กรรม) นำทัพขับรถเมล์ตีนผีด้วยตลกสามสำนัก ซูโม่กิ๊ก, โน้สอุดม, ป๋าเทพ (ตอกตะปูฮาด้วย อิม-อชิตะ สมัยยังไม่เฟี้ยวฟ้าว) ที่เรียงหน้ามาเพื่อให้คนดูหายใจหอบเหนื่อยกันโดยเฉพาะ แต่นอกจากจังหวะมุขและจังหวะตัดที่ได้ผลสุดขีด ตัวหนังยังได้รับเกียรติถูกเอาไปตีความการเมืองกันอย่างสนุกสนานในหมู่ผู้ชมและนักวิจารณ์ ด้วยบรรยากาศการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2549 หมาดๆ และตัวละครก็มีทั้งโจรถือปืน คนยึดอำนาจ คนขับรถ คนยุแยงตะแคงรั่วสร้างความขัดแย้ง กับผู้โดยสารที่ถึงคราวซวยมาเจอเขาปล้นกัน – แทนค่าสมการกันสนุกสนาน แม้จะต้องระลึกชาติถึงทศวรรษก่อนกันสักหน่อย เพราะตอนนี้ค่า x ค่า y ของการเมืองไทยก็เปลี่ยนหน้าตาไปเยอะเหลือเกิน แต่ยังไงโครงเรื่องหลักก็ยังเป็นเรื่องเดิมนั่นแหละ
– แนะนำโดย T –
ดูหนังเต็มเรื่อง :
รักภาษาอะไร (ณิชยา บุญศิริพันธ์, 2014)
“รักภาษาอะไร” เกิดขึ้นในฐานะโปรเจกต์ลองตลาดขนาดย่อม ในช่วงที่หนังไทยขนาดกลางถึงเล็กเริ่มเจอปัญหาเรื่องรายได้กับที่ฉายชัดขึ้นเรื่อยๆ หนังเล่าเรื่องความรักแบบจับพลัดจับผลูของช่างสักสาวไทยลุคเฉี่ยวกับแรงงานพม่าในย่านตะวันนา และว่ากันตามตรงก็เป็นหนังที่มีบาดแผลฟกช้ำเต็มตัว ทั้งจากโปรดักชั่นทุนต่ำสุดขีดที่แสดงออกให้เห็นซึ่งหน้า ไปถึงความพะว้าพะวังของผู้กำกับหน้าใหม่ที่พยายามเดินตามสูตร rom-com จนเกร็งมือเกร็งเท้า และยังเอาไม่อยู่มือในหลายๆ ส่วนแม้จะมีวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจ แต่พ้นไปจากแผลทั้งหมดทั้งมวลที่ว่า จุดแข็งที่สุดของหนังคือเสน่ห์ของสองนักแสดงนำ Aung Naing Soe กับ แก้ว-กรวีร์ พิมสุข (ซึ่งต่อมาได้ไปเล่นหนังพม่าเพราะชื่อเสียงของหนังเรื่องนี้) ที่กลายเป็นตัวอย่างชั้นดีที่พิสูจน์ว่าการ cast นักแสดงให้ถูกต้องเหมาะสม ส่งผลดีกับหนังในภาพรวมได้มากมายแค่ไหน ทุกฉากที่หนังโฟกัสคู่พระนางแสดงให้เห็นลมหายใจของมนุษย์ที่กำลังตกหลุมรักเขินอาย และน่าเอาใจช่วยด้วยธรรมชาติต่อหน้ากล้องของทั้งสองคน ในระดับที่หนังรักเนี้ยบๆ หลายเรื่องทำไม่ได้หรือทำพลาด
– แนะนำโดย T –
ดูหนังเต็มเรื่อง :