คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ‘ผลไม้’ คือสัญญะยอดนิยมอย่างหนึ่งสำหรับศาสตร์การเล่าเรื่องในโลกภาพยนตร์ โดยเฉพาะการที่คนทำหนังมักเลือกนำมาผูกโยงเข้ากับ ‘เรื่องเล่าทางเพศ’ อันหมายรวมถึง ‘เซ็กซ์’ ที่ทั้งฉ่ำเยิ้ม นวลนุ่ม และอุ่นอวล ซึ่งเชิญชวนให้มนุษย์เราปรารถนาที่จะลิ้มลองได้ไม่ต่างจากอาหารตามธรรมชาติอย่างผลไม้ที่ถูกใช้เป็น ‘ภาพแทน’ ดังกล่าว
เช่นเดียวกับใน Call Me by Your Name (2017) ผลงานการกำกับของ ลูกา กัวดัญญีโน ที่ดัดแปลงจากนิยายดังปี 2007 -อันว่าด้วยความรักในช่วงฤดูร้อนที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของสองหนุ่มต่างวัยไปตลอดกาล- ของ อันเดร อาซีแมน ออกมาเป็นบทได้อย่างละมุนละไมโดย เจมส์ ไอวอรี -ผู้กำกับ/เขียนบทรุ่นเก๋าจากหนังรักชาย/ชายขึ้นหิ้งอย่าง Maurice เมื่อปี 1987- จนสามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขา ‘บทดัดแปลงยอดเยี่ยม’ มาครอง และหนึ่งในฉากที่น่าจดจำก็คือ การสะท้อนถึงแรงปรารถนาทางเพศของตัวละครหลักผ่านผลไม้รสชาติหอมหวานอย่าง ‘พีช’ ด้วยค่าที่มันไม่ได้ถ่ายทอดเพียงแค่ ‘ความใคร่’ หากแต่ยังเผยถึง ‘ความรัก’ อันลึกซึ้งที่ค่อยๆ งอกเงยอย่างงดงามอยู่ในความสัมพันธ์ครั้งนี้ด้วย
1
ภายใต้บรรยากาศแสนอึมครึมของห้องหับในบ้านกลางสวนทางตอนเหนือของอิตาลีช่วงปี 1983 ระหว่างที่ตัวละครหนุ่มน้อยวัยสิบเจ็ดอย่าง เอลิโอ (รับบทโดย ทิโมธี ชาลาเมต์) กำลังนอนเปลือยท่อนบน อ่านหนังสือ และพลิกตัวไปมาอยู่บนเตียงท่ามกลางความเหนอะเหนียวของฤดูร้อน -เพื่อรอเวลาที่จะได้ใกล้ชิดกับ ‘ผู้ชายคนแรกในชีวิต’ ที่เขายินยอมมอบกายให้อีกครั้ง- เขาก็หันไปมองลูกพีชที่เพิ่งเก็บมาจากสวนผลไม้ของแม่ด้วยทีท่าครุ่นคิด หยิบมันมาลิ้มรสหวานหอม ก่อนใช้นิ้วงัดแงะแกนกลางออกมาจนเปรอะเลอะไปทั่ว แล้วชำแรกแก่นกายที่ตื่นตัวเข้าไปในหลืบร่องสดฉ่ำของพีชลูกนั้น กระทั่งเสร็จสมอารมณ์หมายและผล็อยหลับไป
เมื่อเวลาล่วงผ่าน ผู้ชมอย่างเราจึงได้เห็น โอลิเวอร์ (อาร์มี แฮมเมอร์) -‘ผู้ชายคนแรกในชีวิต’ คนนั้นของเอลิโอที่มาอาศัยอยู่บ้านเขาชั่วคราวในฐานะลูกศิษย์สายโบราณคดีของพ่อ- ค่อยๆ ย่องมาหาที่ห้อง ชายหนุ่มวัยยี่สิบสี่เปลือยท่อนบนหนั่นแน่นและนั่งลงพูดคุยกับหนุ่มน้อยบนเตียง พรมจูบโลมเลียไปยังเรือนร่างบอบบาง ทันทีที่ปลายลิ้นสัมผัสได้ถึงรสหวานของผลไม้ชนิดหนึ่งที่แห้งกรังอยู่บนนั้น โอลิเวอร์จึงเอื้อมหยิบ ‘ลูกพีชที่ปริแตกและเปรอะเปื้อน’ บนโต๊ะด้านข้างขึ้นมาสำรวจตรวจตรา พลางจดจ้องเอลิโอด้วยแววตาเจ้าเล่ห์ จนหนุ่มน้อยเริ่มเกิดความอับอายเมื่อพบว่า ชายหนุ่มอันเป็นที่รักได้ ‘รู้’ เข้าเสียแล้ว
‘รู้’ ถึงตัวตนและแรงปรารถนาทางเพศที่เขาปลดเปลื้องออกมาจนหมดสิ้น …ผ่านพีชลูกนั้น
หากลองสังเกตดูให้ดี เราจะพบว่า ฉากเซ็กซ์-หรือฉากที่แสดงถึงอารมณ์ใคร่-ส่วนใหญ่ในหนังเรื่องนี้ ล้วนถูกถ่ายทอดผ่าน ‘ภาษากาย’ ของตัวละครอย่างค่อนข้างตรงไปตรงมา (แม้จะไม่ได้โจ่งแจ้งเท่ากับการเขียนบรรยายถึงฉากกอดจูบลูบคลำแบบในนิยายต้นฉบับก็ตาม) ไม่ว่าจะเป็นเซ็กซ์ชาย-หญิงระหว่างเอลิโอกับ มาร์เซีย (เอสเธอร์ การ์เรล) เพื่อนสาวคนสนิท หรือเซ็กซ์ชาย-ชายระหว่างเอลิโอกับโอลิเวอร์ ทว่าใน ‘ฉากลูกพีช’ นี้ คนทำหนังกลับเลือกที่จะนำเสนอ ‘ความใคร่’ ที่สองหนุ่มมีต่อกันด้วย ‘ท่าทีที่ต่างออกไป’ ซึ่งก็ช่วยให้ผู้ชมสามารถสัมผัสถึงอารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกของตัวละครได้อย่างกระจ่างชัดยิ่งกว่าฉากเซ็กซ์อันดุเดือดก่อนหน้านั้นเสียอีก
และมันก็ยังเป็นการใช้ ‘ผลไม้’ ในฐานะสัญญะของ ‘เรื่องเพศ’ ที่ปรากฏอยู่บนสื่อศิลปะมาแล้วนับร้อยนับพันปีได้อย่างชาญฉลาดอีกด้วย
2
แคเธอรีน เอลลิส เคยเขียนถึง ‘เซ็กซ์ในคราบของผลไม้ที่ปรากฏอยู่บนสื่อศิลปะ’ ใน Little White Lies เอาไว้ว่า ‘การกิน’ คือกิจกรรมที่ทำให้มนุษย์ได้ใกล้ชิดกันมากที่สุด …ไม่ต่างจากเซ็กซ์
เนื่องจากการกินเป็นพฤติกรรมที่เรายินยอมให้มี ‘สิ่งแปลกปลอมอื่น’ ก้าวล่วงเข้าสู่ร่างกาย ทั้งเพื่อแสวงหาความสุข และเพื่อให้มีชีวิตรอด — หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการ ‘ส่งมอบชีวิต’ ให้แก่เผ่าพันธุ์ของเราเอง ทั้งในแง่ของการใช้อาหารเพื่อหล่อเลี้ยงร่าง และการใช้เซ็กซ์เพื่อสืบพันธุ์
แถมเธอยังตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ การกินผลไม้นั้นมีความ ‘แตกต่าง’ จากการกินอาหารประเภทอื่น เพราะทุกวันนี้ เรายังคงบริโภคผลไม้ด้วยอากัปกิริยาแบบเดียวกับ ‘มนุษย์ถ้ำ’ อันเป็นบรรพบุรุษจากยุคแรกเริ่มของมนุษยชาติ โดยใช้มือเก็บผลไม้จากต้นลงมาฉีกเปลือกออก และใช้ปากกัดแทะดูดกลืนความหวานฉ่ำจากมันโดยตรง ซึ่งแทบจะไม่ได้ใช้อุปกรณ์เสริม-อย่างช้อน/ส้อม-ในการบริโภคหรือผ่านกรรมวิธีปรุงแต่งในครัวที่ซับซ้อนเหมือนอาหารประเภทอื่นให้ยุ่งยากวุ่นวาย
ถือเป็นพฤติกรรมที่เรียบง่ายที่สุดแล้วสำหรับมนุษย์เรา …ไม่ต่างจากเซ็กซ์
ด้วยเหตุนี้ ผลไม้จึงมักถูกนำมาเชื่อมโยงกับเซ็กซ์ในเรื่องเล่าต่างๆ ตั้งแต่โบราณกาล นับจากโลกศาสนา ที่มี ‘ผลไม้ต้องห้าม’ อันเป็นตราบาปที่ทำให้มนุษย์คู่แรกอย่าง อดัม กับ อีฟ ต้องตกสวรรค์ในคัมภีร์ไบเบิล มาจนถึงโลกศิลปะที่ตีความต่อยอดจนกลายเป็นภาพอีฟเปลือยกายถือผลไม้ต้องห้าม-หรือก็คือแอปเปิล-ที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งแม้ผลไม้ทรงกลมอย่างแอปเปิลหรือพีชจะถูกนำมาแทนค่ากับ ‘อวัยวะเพศหญิง’ อยู่บ่อยครั้ง (ตรงข้ามกับผลไม้ทรงยาวรีอย่างกล้วยหรือลูกแพร์ที่มักเป็นภาพแทนของ ‘อวัยวะเพศชาย’) แต่มุมมองทางเพศของมนุษย์ที่นิยามตนว่าเป็น ‘เควียร์’ (Queer) หรือ ‘ผู้มีวิถีเพศหลากหลาย’ (อาทิ ชายรักชาย, หญิงรักหญิง, คนข้ามเพศ, คนรักสองเพศ, ฯลฯ) ก็ยังมีปรากฏให้เห็นผ่านผลไม้ทรงกลมด้วยเช่นกัน ทั้งจากพีชหรือแอปริคอตที่ถูกเปรียบกับ ‘บั้นท้าย’ ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีอยู่ทั้งในมนุษย์เพศหญิงและเพศชาย
หลายครั้ง สื่อภาพยนตร์จึงไม่ได้นำเสนอแค่เพียงบั้นท้าย-ในคราบของลูกพีช-ที่มีความหมายยึดโยงอยู่กับ ‘คนรักต่างเพศ’ หรือ Heterosexual แต่ฝ่ายเดียว โดยเฉพาะบั้นท้ายของเพศหญิงที่ตกอยู่ภายใต้สายตาจาบจ้วงของเพศชายที่มีอำนาจเป็นใหญ่ในเรื่องเล่าเสมอมา
ยกตัวอย่างเช่น ลูกพีชจากฉากการสอนวาดภาพระหว่างหญิงต่างเชื้อชาติ/ชนชั้นสองนางใน The Handmaiden (2016) หนังธริลเลอร์ย้อนยุคของผู้กำกับ พัคชานวุค (ถัดจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ) ที่ถูกใช้เป็น ‘สัญญะลวง’ เพื่อล่อหลอกตัวละคร(และผู้ชม)เพศชายที่ดื่มด่ำกับมันขณะกำลังเกิดอารมณ์หมายปองตัวละครเพศหญิง เพราะสุดท้าย พีชลูกนั้นได้กลับกลายเป็นสัญญะของความปรารถนาเบื้องลึกที่พวกเธอมีต่อกันไปเสียฉิบ
และนี่ก็อาจเป็นเหตุผลว่า ทำไม ‘พีช’ ใน Call Me by Your Name จึงถูกตัวละครที่กำลังทำความรู้จักกับ ‘ความเป็นเควียร์’ ของตนอย่างเอลิโอใช้ช่วยตัวเองด้วยความสุขสม
ถึงแม้ว่าตัวเขาเองจะยังรู้สึกสับสนอยู่ในทีก็ตาม
3
“ฉากลูกพีชเป็นฉากที่สำคัญมาก ส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นฉากที่ชวนช็อค แต่ขณะเดียวกัน มันก็เป็นช่วงเวลาที่ ‘ลึกซึ้ง’ ที่สุดระหว่างชายหนุ่มทั้งคู่ด้วย”
คือคำยืนยันจากนักเขียนชาวอิตาเลียน/อเมริกันอย่างอาซีแมนว่า เขาให้ความสำคัญกับฉากลูกพีชมาตั้งแต่ในนิยายต้นฉบับ ซึ่งเราไม่แน่ใจนักว่า มันเกี่ยวพันแค่ไหนกับการที่พีชเคยเป็นสัญญะสำคัญของ ‘ความปรารถนาต่อเพศเดียวกัน’ จากโลกศิลปะของอิตาลียุคเรอเนส์ซองซ์ (Italian Renaissance) ที่ก็ดูจะสอดคล้องกับภูมิประเทศอันเป็นฉากหลังของหนังและพื้นเพของเหล่าตัวละครที่สนใจใคร่รู้ในเรื่องราวประวัติศาสตร์ศิลป์โบราณไม่น้อย โดยศิลปินหลายรายในยุคนั้นนิยมใช้พีชมาเป็นองค์ประกอบในผลงานของตน ทั้งบทกวี Encomium to Peaches (1522) ของ ฟรังเชสโก แบร์นี ที่เฉลิมฉลองเซ็กซ์ประตูหลังของผู้ชายด้วยกันผ่านลูกพีช และภาพวาด Boy with a Basket of Fruit (1593) ของ การาวัจโจ ที่เป็นรูปเด็กชายเปลือยไหล่กำลังถือตะกร้าผลไม้ที่มีลูกพีชแล้วจ้องมองมาด้วยสายตายั่วยวน
อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปแล้ว พีชในศิลปะยุคอิตาเลียนเรอเนส์ซองซ์มักหมายถึง ‘เกียรติยศ’ และ ‘คุณธรรม’ อันสูงส่ง รวมถึงยังเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ถูกแปะป้ายว่าเป็น ‘อาหารสำหรับชนชั้นสูง’ เพราะต้องเอื้อมเก็บมารับประทานอีกด้วย ซึ่งการจงใจใช้ลูกพีชมาเป็นสัญญะแอบแฝงเพื่อยั่วล้อกับเรื่องเพศ-โดยเฉพาะความเชื่อทางเพศที่แปลกต่างจากขนบ-ของศิลปินเหล่านั้น ก็คล้ายเป็นการท้าทายชุดความคิดและกรอบศีลธรรมของผู้คนร่วมยุคอยู่กลายๆ
กัวดัญญีโนเคยคิดว่า ‘ฉากลูกพีช’ ใน Call Me by Your Name เป็นฉากที่เหมาะกับ ‘การอ่าน’ ที่ผู้เสพสื่อจะได้ใช้จินตนาการส่วนตัว มากกว่า ‘การดู’ ที่จะได้เห็นเป็นภาพชัดเจน เพราะเขาคิดว่าอาซีแมนแค่เลือกใช้ฉากนี้มาเปรียบเปรยถึง ‘ภาวะการตื่นรู้ทางเพศ’ ของเอลิโอเท่านั้น และที่สำคัญ กัวดัญญีโนไม่คิดว่า ‘การช่วยตัวเองด้วยลูกพีช’ จะเป็นกามกิจที่สามารถกระทำได้จริง จนผู้กำกับของเราทดลองช่วยตัวเองด้วยลูกพีชของจริงนั่นแหละ เขาจึงคิดว่าควรใส่ฉากนี้ลงไปในฉบับหนังด้วย!
เหตุผลอีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันทำให้เขานึกไปถึงการใช้ ‘ภาพเด็กสาวขยี้เกสรดอกไม้จนแหลก’ มาเล่าถึง ‘พลังทางเพศอันพลุ่งพล่านของวัยหนุ่มสาว’ ใน Abraham’s Valley หนังดราม่าสัญชาติโปรตุเกสของ มาโนเอล เดอ โอลิเวรา เมื่อปี 1993 — ซึ่งหากมองให้ลึกลงไป มันก็แทบไม่ต่างกับฉากลูกพีชของกัวดัญญีโนเลย เพราะนอกจาก ‘ดอกไม้’ กับ ‘ผลไม้’ จะถูกแทนค่าด้วย ‘อวัยวะที่ส่อถึงเรื่องเพศ’ ในโลกศิลปะแล้ว พวกมันยังนับได้ว่าเป็นสิ่งเดียวกันในทางธรรมชาติวิทยาอีกต่างหาก (กล่าวคือดอกไม้ที่เกสรถูกผสมพันธุ์จะเติบโตมาเป็นผลไม้นั่นเอง)
ทว่าเมื่อข้ามพ้นไปจากเรื่องเพศ พีชกลับมีความหมายที่ ‘แตกต่าง’ กันตามความเชื่อของผู้คนในแต่ละพื้นถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปในแง่บวก อาทิ จีนที่มองว่าพีชคือสัญลักษณ์ของความเยาว์วัยและอายุที่ยืนยาว (แถมมีเรื่องเล่าปรัมปราว่ามันเคยเป็น ‘ผลไม้สื่อรัก’ ของชายสองคนในสมัยราชวงศ์โจวเมื่อราวหนึ่งพันปีก่อนคริสตกาลด้วย), เกาหลีใต้ที่ยกพีชเป็นผลไม้แห่งความสุข ความมั่งคั่ง หรือแม้แต่ความศักดิ์สิทธิ์ที่ถึงขั้นสามารถขับไล่วิญญาณร้ายออกจากบริเวณบ้านได้ (ครอบครัวคนจนในหนังตลกร้ายรางวัลออสการ์อย่าง Parasite ของ บงจุนโฮ เมื่อปี 2019 จึงใช้ลูกพีชมาเป็นเครื่องมือ ‘กำจัด’ แม่บ้านของครอบครัวคนรวยที่พวกเขามองว่าเป็น ‘ตัวร้าย’ เสียเลย) หรือประเทศแถบยุโรปที่บรรดาศิลปินชอบวาดภาพเหมือนของลูกพีชในตะกร้า ถาด หรือโต๊ะอาหาร โดยใช้ ‘ผล’ และ ‘ใบที่ยื่นออกมา’ ของมันเปรียบเปรยกับ ‘หัวใจ’ และ ‘ลิ้น’ ของมนุษย์ เพื่อสื่อถึงความงดงามของ ‘การพูดความจริงจากใจ’
และจะว่าไปแล้ว ความหมายท้ายสุดนี้ก็ดูจะคล้ายคลึงกับหน้าที่ของ ‘ลูกพีชที่ปริแตกและเปรอะเปื้อน’ ในหนังเรื่องนี้ของกัวดัญญีโนที่เรากำลังพูดถึงด้วยเช่นกัน
4
แน่แท้ว่า ‘ฉากลูกพีช’ ใน Call Me by Your Name ไม่ใช่แค่การพยายามสื่อถึงสภาวะตระหนักรู้ทางเพศแบบเควียร์ๆ ของวัยรุ่นอย่างเอลิโอ ทว่ามันยังพ่วงความหมายที่ ‘ลึกซึ้ง’ กว่านั้นเข้าไปด้วย ทั้งในฉบับนิยายและฉบับหนัง
เพราะในฉบับนิยาย หลังจากที่โอลิเวอร์หยิบ ‘ลูกพีชที่ปริแตกและเปรอะเปื้อน’ จากกามกิจส่วนตัวของเอลิโอขึ้นมาดู และได้เห็นถึงความอับอาย-หรือแม้แต่ความสับสนจนทำตัวไม่ถูก-ผ่านสีหน้าท่าทางของเอลิโอ (ผู้เอ่ยถามด้วยความคับข้องว่า “ผมผิดปกติใช่ไหม?”) ชายหนุ่มรุ่นพี่ก็ลงทุน ‘กัด’ ลูกพีชเปรอะน้ำกามลูกนั้นต่อหน้า เพื่อสื่อสารว่า การกระทำของเด็กหนุ่มไม่ใช่ ‘เรื่องผิดปกติ’ ที่เจ้าตัวต้องรู้สึกละอายใจ และโอลิเวอร์ก็ยังคงรู้สึกดีกับเขามากถึงขนาดที่อยากจะกักเก็บ ‘ทุกอณู’ ของเอลิโอเอาไว้กับตัว
ขณะที่ในฉบับหนัง การกระทำอันสุดโต่งดังกล่าวจากหนังสือได้ถูกปรับเปลี่ยนไปเล็กน้อย โอลิเวอร์ไม่ทันได้กัดลูกพีชเข้าไปจริงๆ เพราะเอลิโอได้โผเข้ากอดเขาเอาไว้เสียก่อน ซึ่งถือเป็นความละเอียดอ่อนในการดัดแปลงบทของผู้สร้างที่ไม่ต้องการให้ผู้ชม ‘เกิดความรู้สึกแง่ลบ’ จากการได้เห็นตัวละครกัดลูกพีชเปรอะน้ำกามด้วย ‘ภาพ’ ที่ชัดเกินไป จนพวกเขาอาจรู้สึกกระอักกระอ่วนใจและมองข้ามความรู้สึกเบื้องลึกอันแสนลึกซึ้งที่เกิดขึ้นระหว่างสองหนุ่มถัดจากนั้น -ทั้งเอลิโอที่ร้องไห้ออกมาด้วยความอ่อนไหวและโอลิเวอร์ที่เข้ามาปลอบใจด้วยวุฒิภาวะที่น่านับถือ- ซึ่งแม้แต่อาซีแมนเองก็ยังชื่นชมการปรับเปลี่ยนในฉากนี้ของกัวดัญญีโน
แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังดู ‘อุจาดตา’ สำหรับผู้ชมบางกลุ่มอยู่ดี เพราะพวกเขามองว่า การกินผลไม้เปื้อนน้ำกามเป็นการกระทำที่ ‘น่าขยะแขยง’ และฉากดังกล่าวก็ยังคงตอกย้ำภาพของเควียร์ในสื่อหนังที่ดูจะ ‘หมกมุ่นกับเรื่องเพศมากเกินไป’ เหมือนที่เคยเป็นมา
ขณะที่ผู้ชมอีกบางกลุ่มกลับมองว่า ไม่ว่าตัวละครโอลิเวอร์จะกัดลูกพีชของเอลิโอเข้าไปหรือไม่ ฉากนี้-ทั้งในนิยายและหนัง-ก็ทำให้เราได้มองเห็นถึง ‘หัวใจรักอันเปิดกว้าง’ ที่ชายหนุ่มส่งมอบให้เอลิโอผ่านอ้อมกอดและคำพูดปลุกปลอบ รวมถึงความพยายามก่อนหน้านั้นที่จะกัดกินลูกพีชเข้าไปโดยไม่รังเกียจสิ่งที่อยู่ภายใน จนทำให้เด็กหนุ่มรู้สึกเต็มตื้นพลางร่ำไห้ออกมาอย่างยินดี เพราะได้รับรู้แน่ชัดแล้วถึง ‘ความจริงในใจ’ ของโอลิเวอร์
มันทำให้เรามองเห็นถึง ‘สัมพันธ์รักธรรมดาอันแสนล้ำค่าของมนุษย์สองคน’ ในแบบที่ผู้ชมกลุ่มแรกอาจไม่มีวันได้เห็นหรือสัมผัส – ผู้ชมที่ยังมอง ‘ลูกพีชที่ปริแตกและเปรอะเปื้อน’ ลูกนั้นว่า ‘บิดเบี้ยวผิดเพี้ยน’ หรือแม้แต่ ‘น่ารังเกียจ’ ด้วยสายตาช่างตัดสินของตน
จนไม่อาจกลายเป็น ‘เอลิโอ’ หรือ ‘โอลิเวอร์’ ที่มีหัวใจรักอันเปิดกว้างสำหรับใครคนอื่นได้