เปิดฉาย: 19 มกราคม 2517, เพชรรามา
ก่อนเขียนถึงกับต้องเตือนตัวเองว่า ห้ามใช้คำประเภท ‘มาก่อนกาล’ ‘ถูกประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริง’ หรือแม้กระทั่ง ‘ถูกหลงลืมไปกับวันเวลา’ ซึ่งเสียดเย้ยเนื้อหาของหนังที่พูดถึงการเอาชนะยุคสมัย เพราะเอาเข้าจริงๆ หนังกลับถูกลืม แม้ในวันเวลาของตัวหนังเอง คือหนังไม่ประสบความสำเร็จเอาเลยเมื่อคราวฉายครั้งแรก แต่พอได้ดูกลับพบอะไรว้าวๆ
อย่างแรก หนังมีการพูดถึง ‘การประกาศสงครามกับยุคสมัย’ (ในเรื่องใช้คำคำนี้จริงๆ) เพียงเพราะมาตรงกับ disruption ซึ่งเป็นเรื่องที่บรรดาสื่อยุคนี้กำลังเผชิญอยู่พอดี
อย่างสอง บ้านเอเอฟ จริงๆ เมืองไทยและหนังไทยเราก็เคยทำมาก่อน แถมมิใช่ดึงเอา ‘นักล่าฝัน’ มาเก็บตัวอยู่ในบ้าน แต่เป็นการรวมเอาคนสร้างงานจากหลากหลายแขนงอาชีพอย่างนักร้อง, พระเอกหนัง, นักขับรถแข่ง, ดาวตลก แล้วก็นักมวย ซึ่งแต่ละคนล้วนมีคำว่า ‘อดีตๆๆ’ นำหน้าเหมือนกันหมด (อันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง)
ยังมีทึ่งสามอีก คือชื่อตัวละครในเรื่อง (คราวนี้เป็นหญิงสาวแล้ว) คือแกนนำคนสำคัญที่ริเริ่มควานหาคนเก่าๆ ที่ทั้ง out แล้วก็ถูกยุคสมัย disrupted คือตัวละครของ มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช ที่ในเรื่องใช้ชื่อ ‘ชื่นชีวา เยาวลักษณ์’ ก็บังเอิญเข้าไปใกล้กับคนที่ใช้ชื่อนี้จริงๆ (ตามบัตรประชาชน) ใช่ครับ เพื่อนๆ อ่านแล้วเก๊ตตรงนามสกุลใช่เปล่า นามสกุล (ที่แม้จะ) สมมติ คือเหลือนิดเดียวก็เป็น ‘เชาวราษฎร์’ แล้ว และคนที่มีตัวตนอยู่นอกจอเองก็มีศักดิ์เป็นหลานคุณเพชราจริงๆ ด้วย
แต่นั่นคงยังไม่เท่ากับ (ช็อค + เซอร์ไพรส์ สี่) ที่มีเรื่องซุบซิบใต้เตียงดาราที่ดังมากกๆๆๆๆ ซึ่งก็บังเอิญไปพ้องกับเรื่องราวของตัวนักแสดงในเรื่องเข้าให้จริงๆ แถมยังเป็นเหตุการณ์ที่อึกทึกครึกโครม เอาในเวลาที่หนังออกฉายไปแล้วร่วมๆ สองปี เมื่อมีข่าวนักแสดงสาวซึ่งจู่ๆ ก็ตั้งครรภ์อย่างลึกลับ โดยในตอนนั้นเธอผู้นี้ไม่เคยมีข่าวข้องแวะกับเพื่อนนักแสดงชายคนไหน จนกระทั่งฝ่ายชายเผยตัวก็วงแตก เพราะข้อมูลตามพื้นที่สื่อเปิดเผยแค่ว่าพ่อหนุ่ม (ก็พ่อของเด็กในท้อง) แต่งงานมีภรรยาเป็นสาวแอร์อยู่ในสายการบินประจำชาติอยู่ก่อนแล้ว พอความเริ่มแดง ก็ต้องยอมรับด้วยกันทั้งสองบ้าน จนกระทั่งเด็กคลอด จนทุกวันนี้ก็ได้เติบโตมีอายุโดยไม่ข้องแวะกับวงการบันเทิงเหมือนรุ่นพ่อแม่โดยเด็ดขาด ส่วนฝ่ายชายหลายปีให้หลังก็มี ‘หมายเลขสาม’ อยู่กินจนถึงทุกวันนี้
อย่าเพิ่งถามเลยครับว่าดาราหญิงคนนั้นคือใคร ตัวละครที่ถูกพาดพิงถึงหมายถึงใครๆๆ บ้าง รู้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเรื่องบังเอิญที่ไปตรงกับพล็อตในหนัง ‘วิมานดารา’ เข้าให้เต็มๆ เพียงแค่ว่าตอนมีหนังเรื่องนี้ เหตุการณ์จริงนอกจอยังไม่เกิด เหมือนหนังหนึ่งเรื่องได้ทำการพยากรณ์ถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงร่วมๆ สามสี่อย่างเข้าไปแล้ว และในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องกระแสที่มัน retro ก็อดไม่ได้ที่จะต้องเพิ่มเรื่องของการกลับมาของแผ่นไวนิลที่แพงระยับจับไม่ลงเข้าไปอีกอย่าง ซึ่งในเรื่องเป็นสมบัติส่วนตัวในยุครุ่งเรืองของนักร้องที่พ้นวันเวลาของตัวเองไปแล้วคือคุณสุเทพ (เอ้ย! พลั้งไปหน่อย) ‘พรเทพ วงศ์เทวัน’ (เหม่งๆ ตุ้ยๆ มั้ยครับซึ่งก็เหมือนเมื่อกี้ แค่พลิก ‘กำแหง’ เป็น ‘เทวัน’ ซะก็เข้าใจตรงกันแล้ว)
ตอนนั่งดูถึงซีนที่พรเทพเรียกพ่อค้ารับซื้อของเก่ามาซื้อแผ่นเสียงในบ้าน ผมถึงกับอุทานโหวววว นี่มันยอมให้เค้าเอาเปรียบกันชัดๆ แต่อย่าห่วงครับอะไรที่เหมือนเป็นฉากหลุด คนทำเขารู้ ไม่นานเขาก็รีบหาทางอุดรูรั่วที่ว่านี้ให้เอง ถึงได้ปล่อยตัวละคร ‘ชื่นชีวา’ เข้ามาทาบทาม ขณะเดียวสภาพบ้านของพรเทพในเรื่องยังมีการจัดอาร์ตไดฯ ให้ออกมาแลดูละม้ายบ้านเช่าในหนังอีกเรื่องที่สุเทพแสดงนำเหมือนกันคือ ‘สวรรค์มืด’ (2501/1958, รัตน์ เปสตันยี) ทีนี้พอหนังเปิดเรื่อง ด้วยความที่คุณสุเทพเป็นนักร้องดังอยู่ก่อนแล้ว เห็นที่ไหนก็จำได้ เค้าก็เปิดเรื่องโดยให้นักร้องอีกคนซึ่งหนุ่มกว่าและกำลังดังช่วงหนังกำลังถ่ายคือ ธานินทร์ อินทรเทพ ทว่าออกมาร้องเพลงดังของสุเทพคือ ‘เท่านี้ก็ตรม’ (“เท่านี้ก็ตรมหนักหนา แล้วใยต้องมาใช้ความเย็นชาฆ่าฉัน” / “วันนี้ปรีดา พรุ่งนี้ปราชัย” ซึ่งพูดถึงความไม่แน่นอนของวันเวลา + ยุคสมัย) ประเดี๋ยวก็เอาไมค์ไปจ่อปากพรเทพ ประมาณว่าชวนมาแบ็ตเติ้ล ด้วยเพลงเพลงเดียวกัน โดยใครดูก็จะมองออกว่าเสียงไม่ตรงปากซึ่งเชื่อว่าไม่ใครก็ใครคงนึกตำหนิว่ามิกซ์เสียงมาชุ่ย ทว่าให้รอก่อน เพราะหลังจากนั้นก็มีเสียงโห่ฮาป่ามาจากแขกในไนต์คลับ ซึ่งจะเป็น reaction ที่แสดงออกต่อนักร้องเสียงขาดคุณภาพ ขณะที่อีกด้านหนึ่งของกระบวนการสร้างในยุคนั้น ยังไม่ให้ความสำคัญกับการบันทึกเสียงขณะถ่ายจริง คนดูในโรงเลยไม่รู้ว่า ‘พรเทพ’ ร้องเพลงห่วยแตกแค่ไหนซึ่งพอมาเป็นหนังที่ต้องมาลงเสียงพากย์กันทีหลัง เขาก็ใช้วิธีเล่นกับเรื่องเสียงร้องไม่ตรงปาก
สุเทพ (‘วงศ์กำแหง’ ซะทีล่ะ) ใจถึงมากที่กล้าลงมาเล่น + เป็นโปรดิวเซอร์หนังเสียดเย้ยวันเวลาที่ (ดูเหมือนว่า) ของตนได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยไม่ห่วงภาพลักษณ์ ด้วยการสมมติจักรวาลในหนังด้วยชื่อซึ่งยังคงมีเค้าของตัวต้นตำรับอย่าง นักร้อง (ว่าไปแล้ว), นักขับรถแข่งที่ชื่อ ‘ปิติ’ ก็กร่อนมาจากชื่อตัวคนแสดงคือ ‘ปรีดา’ (จุลละมณฑล) มาติดตรงบทนักมวยที่ (ถ้าเกิดไม่ทัน + ไม่รู้จัก = แถมหนังไม่ขึ้นไตเติ้ลต้นเรื่องอีกตะหาก 5555) ถึงอย่างไรคนดูก็ assume ได้เองในใจว่าต้องเป็นนักมวยอาชีพจริงๆ ในเรื่องใช้ชื่อ ‘สิงห์ แผ่นดินทอง’ ซึ่งไม่เหลือเค้าของชื่อเจ้าตัวคนแสดง แต่หนังเค้าก็ทำหลุด คือเผลอปล่อย goof ขึ้นจอให้เอาฮา คือมีพวกภาพ + ปกแม็กกาซีนหมัดมวยโชว์ยุคสมัยที่ยังรุ่ง แล้วขอบล่างไม่มีการรีทัชลบชื่อ ‘โผน กิ่งเพชร’ จนทำเอาใครที่ยังไม่เคยเห็นหน้าโผนมาก่อน ก็ได้เห็นกันบนจอซะที (ซึ่งจะต่างจากเคสของ พรเทพ/สุเทพ ครับที่ช่วงล่างแผ่นเสียงมีการลบชื่อตัวออกจนเกลี้ยง แล้วใช้ฟ้อนท์ชื่อตัวละคร (‘พรเทพ วงศ์เทวัน’) ทับลงไปแทน มั่นใจว่า ถ้าแผ่นล็อตนี้หลุดเข้าสู่ระบบ มีหวังราคาคงพุ่งปรี๊ดดจนประมาณค่ามิได้ชัวร์) แล้วทั้ง สิงห์/โผน กับ พรเทพ/สุเทพ มีการเชื่อมร้อยเข้าไว้ด้วยกันด้วยภาพเข้ารับรางวัลพระราชทานของทั้งสองอาชีพจากในหลวง + ราชินีองค์ที่แล้ว (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงต้องทำกราฟฟิกให้ดูเป็นภาพ abstract ด้วย)
เหลือตัวพระเอกหนังซึ่งเป็นข้อบังคับให้ใช้ดาราจริงๆ ไว้เรียกคนดู แต่สมมติให้เป็นพระเอกที่เคยดัง (ทั้งๆ ที่ยังมีตัวเลือกอื่นที่ ‘ใช่’ กว่าอย่างชนะ ศรีอุบล, สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ซึ่งขณะนั้นยังมีสุขภาพดีอยู่แท้ๆ) แต่พอใช้ สมบัติ เมทะนี การสร้างโลกสมมติในหนังก็จะดูง่ายขึ้นคือจะให้ชื่ออะไรก็ได้ สุดท้ายก็มาลงที่ชื่อวิษณุ
ด้วยเงื่อนไขและโครงเรื่องของการควานหาตำนานที่ถูกลืม ออกมาดูคล้าย ‘7เซียนซามูไร’ บ้าง ดูๆ ไปอาจชวนให้นึกถึง ‘ทอง’ (ตัวต้นตำรับ) บ้าง แต่พออยู่ไปซักพักก็พบบางอย่างที่ไม่ค่อยมีให้เห็นกันในหนังไทยยุคก่อนอย่างการเล่นกับการซ้อนทับกันระหว่างความจริงกับความลวง อย่างซีนที่เห็นผัวเมียทะเลาะกันหน้าไนท์คลับ แล้วมีไอ้หนุ่มซักคนยืนหน้าเด๋ออยู่ข้างๆ ประมาณว่าเป็นพวกตะเข้ + ตะโขงมารอรับนักร้องไปส่งบ้าน ยังไม่ทันไร พอกล้องถอย + ดอลลี่ภาพออกนิดเดียว สเปซก็เปิดออกกว้างขึ้นเห็นกล้อง เห็นรางดอลลี + รีเฟล็กท์ถึงได้เก๊ต อ้อ นี่เค้ากำลังถ่ายหนัง หรืออย่างซีนเปิดตัว สิงห์ นักมวยเก่าที่กำลังนั่งจมขวดเหล้าแล้วมีนักมวยรุ่นน้องเข้ามาทักซึ่งนอกจอก็เป็นมืออาชีพจริงคือ ผุดผาดน้อย วรวุฒิ ที่เข้ามาชักชวน พร้อมตั้งเสนอช่องทางหาเงินด้วยวิธีล้มมวย โดยตัวเองจะขอออมมือ แกล้งแพ้ แล้วเงินรางวัลก็ยกให้สิงห์ทั้งก้อนว่าแล้ว (สิงห์ – นักมวยตัวละคร) ก็ซัดนักมวย (นอกจอก็เป็นนักมวย – ผุดผาดน้อย วรวุฒิ) กันจริงๆ แบบไม่ต้องรอขึ้นเวที
มีตัวละครอยู่บทหนึ่งที่คงได้อนุสนธิจากความซ้อนทับ กำกวม มองได้หลายมิติ ก็คือ ‘ชบา’ ที่ในเรื่องเป็นสาวรับใช้ช่วยงานทั่วไปภายในบ้านซึ่งแม้แต่ซีนเปิดตัวยังมีการเอาแก้วน้ำมาบังใบหน้าซึ่งตอนนั้นคนดูคิดไปไกลแล้ว แต่หนังก็ไม่ได้พาอะไรไปเกินเลยกว่าภาพที่เห็นคือทั้งเรื่องตัวละครชบาคนนี้พูดไม่ได้ คือเธอเป็นใบ้ซึ่งเป็นคาแรคเตอร์ที่กลายเป็น signature ของคุณทัศนวรรณ เสนีย์วงศ์ ในจักรวาลหนังของชุติมา สุวรรณรัตน์ไปแล้ว
อย่างใน ‘ทับนางรอ’ (2516) ก็รับบทเป็นเด็กสาวที่เกิดมามีใบหน้าขี้ริ้วขี้เหร่ซึ่งสอดรับกับคติวิถีพื้นถิ่นเกี่ยวกับเรื่องปีศาจ, ‘สตรีที่โลกลืม’ (2518) ก็แสดงเป็นหญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อมารสังคม และตัวละคร ‘ชบา’ ใน ‘วิมานดารา’ ก็ถูกจัดวางมาให้ขัดกับจารีตนิยมของตัวละครในหนังอย่างแรกคือเป็นสาวใช้ซึ่งมิใช่ตัวประกอบ แต่เป็นบทบาทที่อยู่แถวหน้า เมื่อเรื่องเข้าองค์ที่สามและที่ลืมเสียมิได้ก็คงเป็นตัวละครที่ต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ไม่มีบทพูดตลอดทั้งเรื่อง
นั่นก็คือหลังจากที่สนุกกับการเล่นกับความกำกวมอันเกิดจากการซ้อนทับระหว่างความจริงกับความลวง พอเข้าองก์สาม หนังก็หักเหไปเล่นกับมุมมองที่มองได้หลายด้าน โดยเฉพาะกับตัวละครหญิงที่เจรจาสนทนากับใครไม่ได้เอาเลย นอกจากภาษามือ ทีนี้เส้นเรื่องก็วางเรื่องของชายหื่นบ้านตรงข้ามที่ดอดเข้ามากระทำละเมิดชบาถึงในห้องนอนซึ่งการจัดวาง + execute ตรงนี้เล่นก็ยังกับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเช่นกัน นั่นก็คือ
ผกก.ชุติมาดีไซน์บรรยากาศในพาร์ตที่ว่าให้ออกมาดาร์ก (ในเวลาที่แทบไม่ค่อยเห็นมีเรื่องไหนทำ) คือทุกฝ่ายอึดอัดกันไปหมด = ตัวผู้ก่อการเองก็ต้องเงียบ หญิงสาวเป้าหมายเองก็พูดไม่ได้ (แถมยังเกิดในเวลากลางคืนอีกตะหาก)
เป็นใครๆ ก็เศร้าขมขื่นแล้วก็โศกตรม แต่ข้างในยังสุขปะปนกัน เมื่อรู้ (ถึงจะเป็นแค่ ‘เข้าใจฝ่ายเดียว’) ว่าคนที่ตัวเองแอบชอบ (เท่าๆ กับที่ฝ่ายหญิงเองก็มโนเองอีกชั้นว่าฝ่ายชายก็คงชอบตัวเองด้วย – หนังถึงใส่ซีนสองคนดูทีวีถ่ายทอดรถแข่งที่มีเพื่อนในบ้านลงสนาม) กำลังย่องเข้ามาหาถึงในบ้าน + แมวขโมยบ้านตรงข้ามย่องเข้ามาหาถึงในห้องชายหนุ่ม (วิษณุ – พระเอกหนังที่ตอนนี้เป็นแมวเก้าชีวิตแล้ว) รูปการณ์ก็ยิ่งเหมาะเหม็งไปด้วยกันพอเหมาะพอดี ครั้นเรื่องบานปลายถึงขั้นมีท้องไส้ คือทุกอย่างทั้งมืด, ทั้งเงียบ + ทั้งบรรยากาศ, ภาวะทางจิตใจ ที่กินเวลายาวนานนับจากช่วงเกิดเหตุจนถึงผลกระทบ
โครงเรื่องเองก็ให้การคุ้มกันตัวละครผู้ก่อการด้วยอีกชั้น คือตลอดทั้งพาร์ตนับตั้งแต่ซีนเปิดตัวจนถึงลูกคลอด ไม่มีการให้ตัวเจ้าเพื่อนข้างบ้าน + แมวขโมยได้ปริปากพูดแม้แต่คำเดียว (จนเผลอๆ น่าจะมีใครสงสัยว่านี่ก็พูดไม่ได้เหมือนกัน เผื่อจะได้สร้างบาลานซ์กับชบา) ซึ่งตรงนี้คนดูที่เกิดไม่ทันจะได้เปรียบมาก คือจะรู้สึกถึงความทะมึนทึมของคนที่ไม่รู้จักหน้าค่าชื่อ ยิ่งเรื่องชื่อตัวด้วยแล้วก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะหลังจากเรื่องเกินเลยไปถึงไหนต่อไหน ถึงค่อยมาเปิดเผยตัวว่าชื่อเจ้า ‘เริงศักดิ์’ (นฤพนธ์ ดุริยพันธ์ุ)
แต่คนที่รับทั้งขึ้นทั้งล่องกลายเป็นตัวชบา ที่เข้ามาเพิ่มมิติความหม่นหมองให้กับเส้นเรื่อง จนคนดูลืมนึกถึงเรื่องของเอเอฟวัยดึกไปกันหมด (รวมตัวเจ้าของโครงการอย่าง ชื่นชีวา เสียสนิท) อาจเพราะมีงานมีการทำ + มีโอกาสที่สองไปกันหมด เพราะความเป็นดราม่าจะมากระจุกอยู่ที่ตัวละครชบาเต็มๆ เพราะไม่ว่าช่วงกำเนิดกุมาร-ทารกคลอด หรือแม้แต่การตัดสินใจแทนคนดู (โดยเฉพาะในสิ่งที่คนดูอยากเห็น) คือการลงโทษฑัณฑ์คนอย่างเริงศักดิ์ซึ่งเป็นแค่ความรู้สึกชั่วแล่น แล้วหลังจากนั้นผลข้างเคียงก็จะตามมาแบบไม่มีหยุดยั้งโดยเฉพาะในแง่ของข้อกฎหมาย เมื่อการเลือกของชบา คือตัดสินใจ และการตัดสินใจได้นำพาไปสู่อุบัติเหตุ แล้วอุบัติเหตุก็นำมาซึ่งความตาย
เมื่อถึงที่สุดก็กลายเป็นว่าสิ่งที่ ‘วิมานดารา’ ต้องการพูดถึง เป็นเรื่องของผู้หญิง (อย่างชบา) แล้วทุกอย่างก็วกกลับมาสร้างวงจรอุบาทว์ซึ่งมีผลชี้เป็นชี้ตายให้กับสถานภาพดาราอย่างวิษณุก็คือข่าวที่คงซุบซิบไม่ออก เพราะเล่นขึ้นหน้าหนึ่งนสพ. โดยที่เจ้าตัวพระเอกไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นใดๆ กับเขา นั่นคือเมื่อเป็นดารา ขั้นต่อไปก็คือตกเป็นข่าว แล้วโครงการชุบชีวิตดาราที่ถูกลืมโดยวันเวลาให้มารวมตัวกันอยู่ใน ‘วิมาน’ ก็สนองรับแบบครบวงจรคือให้ทั้งความรุ่งแล้วก็กฎกติกาที่คุณต้องเจอ โดยหารู้ไม่ว่าอีกข้างหนึ่งยังมีคนต้องเอาทั้งชีวิตและอนาคตมาทิ้งอีกถึงสาม จบลงไปแล้วหนึ่ง (เริงศักดิ์), ยังต้องฝ่าฟันอีกสอง (คนหนึ่งพูดไม่ได้ = ชบา, อีกคนหนึ่งสมองยังไม่รับรู้หรือตอบสนอง = ทารก)… นี่ยังไม่นับสไตล์ narrative ที่แทบไม่พบในหนังไทยทั้งที่อยู่ในรุ่นเดียวกันแล้วก็ก่อนๆ หน้านั้นขึ้นไป ก็คือการให้ภาพเข้ามาทำหน้าที่เล่าเรื่องในซีนสำคัญๆ อย่างตอนที่นายเริงศักดิ์ย่องเข้ามาในบ้านเอเอฟ (เอ๊ย! ‘วิมานดารา’) และถ้าย้อนขึ้นไปอีก เขาเปิดตัวละครคนนี้ด้วยความเงียบมาตลอด จนกระทั่งเรื่องเลยเถิดจนชบาตั้งท้อง ถึงค่อยให้ปริปากพูด, ช่วงมึนตึงของวิษณุ หลังจากวันเกิดเรื่อง แล้วเขาก็ให้สมบัติระเบิดแอ็กติ้งที่ดูไม่เสแสร้ง แต่ให้พลังโดยไม่ต้องมาบิ๊วแม้แต่น้อย ต่อจากนั้นถ้าหนังจะทำพักครึ่งเวลา-intermission คนดูก็ไม่ว่าสักคำ
ดูท่าทีว่าสคริปต์ของระพีพร (นามแฝง: สุวัฒน์ วรดิลก) มีการแบ่งโครงเรื่องออกจากกันเป็นสองส่วนคือครึ่งแรกก็เป็นบ้านเอเอฟไป พอมาครึ่งหลัง ทีนี้ก็จะเป็นเรื่องของการซ้ำรอยมายาคติบ้างล่ะ ซึ่งก็จะตรงกับคำถามที่ (โดยเฉพาะคนในเรื่องตั้งข้อสงสัย) ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณออกจากวงการ (ถ้าพูดให้เข้าเป้าก็คือทำไมคนเขาถึงไม่จ้างหรืออะไรทำให้ตกต่ำ) คล้ายเป็นวงจรที่เวียนกลับมาใหม่เป็นวัฏจักรก็คือข่าวใต้เตียงดารา เพราะหลังจากนั้นเรื่องราวก็ไม่กล่าวถึงวิษณุอีกเลย คือถ้าชบาว่าเป็นใบ้แล้ว วิษณุนี่ยังเงียบซะยิ่งกว่า พอเกิดเรื่องฉาวโฉ่บนหน้านสพ. เท่านั้น คนทำก็ขยี้ปมเรื่อง ‘ความเงียบ’ ที่เข้ามาสยบความโด่งดัง หลังจากนั้นเขาก็ให้ความโด่งดังต้องพ่ายต่อความเงียบก็โดนการให้วิษณุหลบลี้หนีหน้าผู้คนไปอยู่กลางป่ากลางเขาแต่เพียงลำพัง โดยการที่ไม่ยอมแม้แต่ปริปากพูดจากับคนท้องถิ่น ขณะที่โดยการรับรู้ของสังคม วิษณุได้กลายเป็นบุคคลสูญหายไปแล้วเรียบร้อย
นั่นคือทั้ง ผกก.ชุติมา (และเรื่องเดิมโดย ‘รพีพร’) กำลังเล่นกับความดังและความเงียบของตัวละครในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะการเป็นบุคคลสาธารณะ ก่อนจะตกเป็น nobody ด้วยกันถ้วนหน้า ต่อมาเขาก็ใส่ความเงียบเข้ามาเป็นตัวละคร (ซึ่งโดยสถานภาพของคาแรกเตอร์หญิงทำงานบ้านเองก็ตัวละครซึ่งถูกกดทับโดยชนชั้นพออยู่แล้ว) ทำให้การสร้างตัวละครชบาให้เป็นสาวใช้ ก็แทบจะเป็นชัยชนะ = ปากเสียงแทนตัวละครที่ทำอาชีพเดียวกัน แต่อยู่ในหนังเรื่องอื่น และในเวลาเดียวกัน การที่เขาให้ตัวละครของทัศนวรรณพูดไม่ได้ ทว่าหันมาใช้ภาษามือแทนก็ยิ่งขับเน้นการแสดงของทัศนวรรณออกมาดูดีตามไปด้วย แล้วไหนยังจะต้องทาเผชิญกับวิบากกรรมในระดับที่คนที่เคยดับ แต่กลับมาอยู่ในระยะขาขึ้นบนความโด่งดังอีกสี่คนที่เหลือ ต้องลดเพดานลงมาเป็นผู้ช่วยตัวละคร ‘ชบา’ กันหมด
คนดูจะหันมาสงสารตัวละครชบา ที่มิใช่แค่ถูกกระทำละเมิด แต่ว่าโดยหน้าที่ของความเป็นแม่ เธอยอมรับและเลี้ยงดูทารกด้วยความเต็มใจ ทว่ามาติดเงื่อนไขเดียวซึ่งก็เป็นหน้าที่พื้นฐานของคนเป็นแม่ทั่วไปก็คือเธอร้องเพลงกล่อมลูกไม่ได้ (ล่วงเลยไปถึงแม้ในเวลาที่ทารกโต เธอก็คงสอนลูกให้หัดพูดไม่ได้อีก และเท่าที่เห็นกันตัวเด็กชื่ออะไรก็ยังไม่รู้)
จะเห็นได้ว่าพอเข้าช่วงครึ่งหลัง ตัวละครวิษณุแทบจะหายจากจอไปเลย ปล่อยให้ชบาต้องมาแบกรับผลกระทบอันเกิดขึ้นด้วยช่วงเวลาเพียงข้ามคืน (*หมายเหตุ: ในหนังมีการอ้างถึงวันต่อๆ มาอีกแต่ไม่มีให้เห็นในหนัง เข้าใจว่าเป็นซีนที่ถูกตัดทิ้งในขั้นตอนตัดต่อ) ตัวละครสาวทำงานบ้านได้รับการอัปเกรดขึ้นเป็นบทนำ ขณะเดียวกันหนังก็จะค่อยๆ หันมาให้ความสำคัญกับคนอย่างนายเริงศักดิ์ทีละน้อยๆ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ในช่วงเปิดตัวละคร เขาก็เริ่มกันที่ตัวนายเริงศักดิ์เองก็ไม่มีบทพูดเหมือนกันคือเอาแต่ส่อง ครั้นจะย่องมาเข้าบ้านคนอื่นก็ใช้ความเงียบเป็นต่อบวกกับเสื้อที่ใส่ก็สีดำ(ประกอบกับตัวนฤพนธ์เองก็มีเส้นผมหยักศกทรงใกล้เคียงกับสมบัติ/วิษณุเป็นทุนเดิม) แต่พอนายเริงศักดิ์ใช้วิธีใช้เงินมาซื้อตัวทารก เพียงเพราะลูกที่เกิดมาเป็นเด็กผู้ชาย แค่นี้คนดูก็ร้อง ‘เฮี่ยยยยยย’ ได้อย่างไม่ขัดเขิน เหมือนชีวิตคนคือสินค้าที่จะใช้เงินซื้อได้สบายๆ
สิ่งที่ไม่ค่อยพบเห็นในหนังยุคเดียวกันของ ‘วิมานดารา’ จึงเป็นเรื่องของการเห็นคุณค่าของมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มของพวก losers ที่พ่ายต่อกาลเวลา (ขณะที่ตัวหนังเองก็กลับถูกวันเวลาหลงลืมจนแทบไม่ได้รับการพูดถึง แม้แต่ตามสถาบันมอบรางวัลภาพยนตร์ไทยประจำปีซึ่งกลายเป็นชะตากรรมอันขำขื่น irony ในตัว) ทำลายการจัดลำดับทางชนชั้น ด้วยการให้แม่บ้านสาวใช้ค่อยๆ เพิ่มบทบาท และเมื่อมาถึงจุดหนึ่ง แทนที่จะคลี่คลาย ก็กลับกระหน่ำซ้ำเติมของการที่ไม่มีปากเสียง ขณะที่ชายโฉดอย่างนายเริงศักดิ์ กลับจะยิ่งเพิ่มความได้เปรียบขึ้นเรื่อยๆ ผ่านตัวละครวัลลี (เมตตา รุ่งรัตน์) – ภรรยาตามกฎหมายที่ไม่มีลูกด้วยกัน (โดยคาดว่าฝ่ายหญิงมิอาจให้กำเนิดบุตรได้) ก็ยิ่งทำให้แผนย่องเบาเข้าหาสาวสะพรั่งอย่างชบาดูมีเหตุมีผล และมารองรับว่า ที่กระทำลงไป เกิดจากแรงแรงจูงใจมากกว่าอารมณ์หื่นเพียงชัวครู่ชั่วยาม ประกอบกับเหตุผลที่นายเริงศักดิ์มาใช้อ้างว่าทารกที่เกิดกับชบา คือลูกของญาติที่มีฐานะยากจนซึ่งมีส่วนเข้าไปใกล้ fact แม้จะมีสัดส่วนไม่มากนักก็ตามที
เท่ากับว่านายเริงศักดิ์เริ่มเห็นชบาเป็น (เหมือน) ญาติ (ซึ่งถ้าจริงก็ใกล้กับสำนวน ‘ไม่มีสัตว์ประเภทใดจะเหี้ยมโหดไปได้ตลอด’ ‘No Beasts So Fierce’) ซึ่งพอถึงคราวที่โครงเรื่องเริ่มพาคนดูไปทำความรู้จักกับเริงศักดิ์ มากกว่าที่จะให้เห็นแง่มุมของความเป็นชายหื่น + นักย่องเบาอย่างเดียว เส้นเรื่อง (โดย ‘รพีพร’) ก็จะค่อยๆ ผ่องถ่ายความเฟียสในตัวเริงศักดิ์มาใส่ไว้กับตัวละคร ‘วัลลี’ ทีละน้อย
จนเริ่มที่จะเข้าใจว่า ที่เริงศักดิ์เลว เกิดจากการที่อยู่ใกล้กับวัลลีซึ่งแผ่รังสีอำมหิตครอบงำผัว จนกลายเป็นผู้ชายกลัวเมีย เมื่อไม่มีเริงศักดิ์ วัลลีก็จะรับตำแหน่งตัวละครที่คนดูจะเกลียดไปเต็มๆ หลังจากนั้นภาวะกดดันอันเกิดจากความเลวสารพัดที่ผ่านการสั่งสมบ่มเพาะจากวัลลีก็ได้ถูกผ่องถ่าย แล้วนำไประบายไปยังบุคคลที่สาม (ซึ่งก็ได้แก่ชบา) โดยนายเริงศักดิ์ต่อไป
ข้อคำถามกับการที่เจ้าเริงศักดิ์ย่องเบาเข้ากระทำย่ำยีชบา เกิดจากภาวะ ‘ไร้เสน่หา’ ในตัววัลลีหรือเปล่า (ไม่ยืนยัน, อย่างน้อยๆ คนสร้าง ไม่ว่าจะชุติมา – ผกก. หรือ ‘รพีพร’ – ผู้สร้างเรื่อง ร่วมสมคบคิดกันปิดบังตัวละครวัลลี ไม่ให้เห็นว่าอยู่บ้านหลังเดียวกัน-สิ่งที่คนดูเห็นจึงมีกันอยู่แค่นายเริงศักดิ์ส่องกล้องทางหน้าต่าง-มีความเคลื่อนไหวอีกที นายเริงศักดิ์ขนของย้ายบ้านเรียบร้อยแล้ว-กว่าจะเปิดตัววัลลี-สองสามีภรรยาก็เข้ามาอยู่ในบ้านหลังใหม่แล้ว) หรือแม้กระทั่งต่อให้วัลลีไม่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการตั้งครรภ์ ก็ใช่ว่าจะยับยั้งมิให้เริงศักดิ์กระทำละเมิดชบาไปได้ ในทางกลับกัน ครั้นจะบอกว่าชบาคือตัวละครที่ตกเป็นฝ่ายรองรับความบกพร่องไม่ว่าจะทั้งอารมณ์ทางเพศหรืออำนาจกดทับในครัวเรือนจากวัลลี โดยมีเริงศักดิ์อยู่ตรงกลางของการถ่ายเทใช่ไหม ยังไม่มีคำตอบที่ตายตัว
พอจะกล่าวได้เต็มปากว่ารื่องของชบามีส่วนช่วยขับ dramatic element ให้กับเรื่องของการขึ้นสูง-ลงต่ำกับการที่ใครบางคนจะดับวูบลง โดยที่มิใช่เกิดจากการกระทำของตัวองซึ่งจะเห็นได้ว่าช่วงกลางเรื่อง (โดยเฉพาะในช่วงที่ดรามาในส่วนของชบากำลังมาถึงจุดพีค) คนที่รับผลกระทบแล้วหายไปจากเรื่องไปเลยก็คือวิษณุ พอจะกลับมาอีกที คราวนี้วิษณุตกอยู่ในสภาพ deaf mute ไม่ต่างจากตัวละครชบา ทว่าในทางกลับกัน ข่าวที่ผ่านการกระพือโดยสื่อนสพ. เองก็มีส่วนสร้างภาวะ disruption ระลอกใหม่ให้กับคนที่กำลังจะรุ่งๆ
‘วิษณุ’ ในสภาพที่เพื่อนๆ (พรเทพกับปิติ) ตามไปเจอ กลายเป็นคนไม่ยอมพูดจา ทำเอาชาวบ้านในพื้นที่พากันเข้าใจว่า ‘เออ ไอ้พระเอกคนนี้ท่าจะเป็นใบ้ ทั้งวันไม่ยอมพูดยอมจา ไม่รู้มันเป็นพระเอกไปได้ยังไง’
‘โครงการ (เปิดบ้าน ทำเป็น) วิมานดารา’ ของชื่นชีวา น่าจะเป็นวิธีคิดที่มาก่อนกาล ซึ่งในทางกลับกัน ก็นำไปสู่การตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ทำได้จริงแค่ไหน (มีรุ่นหนึ่ง-แล้วเปิดรับรุ่นสองหรือเปล่า, มี mentor ประจำบ้าน พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ทุกมุม หรือจะมีเพิ่มอาชีพอื่นเข้าไปด้วยในรุ่นถัดๆ ไปมั้ย) ซึ่งเมื่อถึงเวลาจริง ยังมีปัจจัยอื่นเข้ามาสร้างความแปรปรวนอะไรบ้าง ซึ่งวิษณุรับบทเรียนตรงนี้มาเต็มๆ ในเมื่อวิถีชีวิตคนเป็นดารา มักเลี่ยงไม่พ้นเรื่องข่าวคาวฉาวโฉ่ หลังจากนั้นก็นำไปสู่ภาวะเงียบงันทางชื่อเสียงอีกระลอก จะเห็นได้ว่าเรื่องในช่วงครึ่งหลัง หนังจะหันไปเล่นกับซึ่งตัว ‘ข่าวฉาว’ ซึ่งมีความเป็นดรามาในตัวและโลดโผนพอที่จะนำไปสร้างเป็นหนังได้สบายๆ อีกทั้งมีส่วนดันให้ชบา/ทัศนวรรณมีความเด่นแซงหน้าชื่นชีวา/มยุรฉัตร ที่แต่เดิมเป็นทั้งเจ้าของโปรเจกต์ เท่าๆ กับที่มีเค้าว่า วิษณุจะหันมารักใคร่ชอบพอ จนเข้าไปใกล้กับความเป็นนางเอก พอมีเรื่องของนายเริงศักดิ์-แมวขโมยเข้ามา วิษณุหายหน้าไปจากเรื่อง, ชื่นชีวา นานๆ โผล่ทีคล้ายบทรับเชิญ, สิงห์ แทบไม่ได้รับการกล่าวถึง (นอกจากคำบอกเล่าว่าได้งานเป็นครูพละ), พอมีวัลลีเข้ามา เกิด function แบบตัวอิจฉาในหนัง ‘ชบา’ กลายเป็นตัวละครที่น่าสงสาร เรียกความรู้สึกรันทด โดยที่ไม่มีใครช่วยอะไรเธอได้ แม้แต่จะร้องเพลงกล่อมหรือสอนลูกหัดพูด แล้วไหนจะต้องมาโดนคดีฆ่าคนตายโดยเจตนา
เท่าที่ผ่านมา หนังเรื่องเด่นๆ ของผกก.ชุติมา มักเป็นเรื่องของผู้หญิงที่ทั้งอาภัพ ชะตากรรมกลั่นแกล้ง ขณะเดียวกันก็ตรึงคนดูให้อยู่กับเรื่องราว ไม่เปิดโอกาสให้ว่อกแว่กคิดไปถึงเรื่องอื่นขณะกำลังดู หลายเรื่องก็ตกค้างอยู่ในความทรงจำ (‘แว่วเสียงซึง’, ‘แม่อายสะอื้น’, ‘ทับนางรอ’, ‘สตรีที่โลกลืม’) พอมาทำ ‘วิมานดารา’ ซึ่งเป็นการพูดถึงคนในวงการ ทั้งในแง่ของสื่อและภาวะ disruption ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันแทบไม่ค่อยมีใครคาดคิดว่าจะมาถึงแล้วจริงๆ ขณะที่ตัวผกก. เองแทบไม่ค่อยได้รับการพูดถึง เมื่อเทียบกับคนทำหนังรุ่นเดียวกัน ซึ่งพอมาทำ ‘วิมานดารา’ ก็ได้เกิด trigger effect ย้อนมาแว้งเข้าหาทั้งตัวเองและธีมของเรื่องซึ่งอีกหลายสิบปี ถึงค่อยมีคนนำมาสานต่อ (โดยปราศจากอิทธิพลหรือแรงบันดาลใจใดๆ)
ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีการจัดฉายในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 ที่หอภาพยนตร์ฯ ศาลายา รายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่