Home Review Series Review Money, Explained เงินทองเป็นของมายา?

Money, Explained เงินทองเป็นของมายา?

Money, Explained เงินทองเป็นของมายา?

เป็นเวลาราวสองสัปดาห์แล้วที่ผมตื่นมาในตอนเช้าพร้อมกับคำอธิษฐานเล็กๆ ว่าวันนี้ขอไม่ต้องเห็นหน้าอีลอน มัสก์ ในหน้าฟีด ไม่หรอก… ผมไม่ได้ลงทุนในเงินคริปโต สองสาเหตุใหญ่ที่ผมไม่ทำแบบนั้นเพราะเงินเก็บของผมไม่ “เย็น” พอ และการลงทุนทำนองนี้ยากเกินความเข้าใจผมไปมาก ความเหม็นหน้าอีลอน มัสก์ของผมเป็นผลมาจากความไม่เข้าใจด้วยเช่นกัน ผมไม่เข้าใจว่าอะไรทำให้เขามีอำนาจในการพลิกสถานการณ์ตลาดเงินดิจิตัลปั่นหัวคนได้ถึงเพียงนั้น ทำไมการลงทุนจึงดูยากเย็นซับซ้อน และทำไมเราจึงไม่อาจทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าเงินได้ง่ายนัก

เงิน เป็นสิ่งประดิษฐ์สำคัญในอารยธรรมมนุษย์ที่มีวิวัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้งในชั่วเวลาห้าพันปีนับแต่การถือกำเนิด มันพัฒนาจากการใช้งานง่ายๆ อย่างการใช้เปลือกหอยหรือโลหะแลกสิ่งของ ไปสู่การซื้อสิ่งที่ไร้รูปร่างเช่น บริการ ประกันภัย กรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน ส่วนแบ่งทางธุรกิจ ไปสู่การสมมติเรียกใช้เงินที่ยังไม่มีอยู่จริง เช่น หนี้และเครดิต จนถึงตอนนี้ “เงิน” แทบไม่ต้องมีรูปร่างแล้วด้วยซ้ำ แนวคิดล่าสุดของโลกอินเทอร์เน็ตทำให้เงินล่องลอยไปมาอยู่ในรูปรหัสดิจิตัล และยิ่งทวีความซับซ้อนขึ้นไปอีกไม่รู้จบสิ้น 

การทำความเข้าใจการเงินในเวลาอันสั้นอาจไม่ง่าย Money, Explained สารคดีชุดใหม่ของ Vox Entertainment จึงเป็นงานที่ตั้งอยู่บนความท้าทายที่ว่าจะหยิบจับประเด็นร่วมสมัยทางการเงินมาเล่าอย่างไรให้สนุกและได้น้ำได้เนื้อในเวลาเพียงตอนละ 20 นาที ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ตาม ความแม่นยำในการเลือกจับประเด็นของ Vox ยังคงจัดได้ว่าอยู่ในระดับร้ายกาจ ทั้ง 5 ตอนของสารคดีชุดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นอาหารสมองชั้นดี ไม่ว่าคุณจะเปิดดูในยามที่ภาวะทำมาหากินได้ตามปกติ หรือตกอยู่ในความขัดเคืองใจกับความถดถอยทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากภาวะการระบาดของโรคและรัฐบาลที่ดูจะไม่สำเร็จสัมฤทธิ์ผลอะไรนักในการดูแลสวัสดิภาพของเรา

เนื้อหาของ Money, Explained ประกอบไปด้วยหัวข้อดังนี้

รวยทางลัด (Get Rich Quick)

ใครบ้างจะไม่อยากรวย ความใฝ่ฝันถึงความร่ำรวยถือกำเนิดขึ้นมาแทบจะพร้อมๆ ระบบเงินตรา ไม่มีใครรู้สูตรสำเร็จสำหรับความฝันนั้น แต่คนบางจำพวกเข้าใจวิธีการฉวยเอาประโยชน์จากบรรดาคนที่อยากรวยได้มากมายหลายวิธี น่าประหลาดที่รูปแบบการโกงในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานั้นมีรูปแบบไม่ต่างกันมากนัก แต่จำนวนผู้เคราะห์ร้ายจากกลโกงเหล่านี้กลับไม่มีทีท่าว่าจะลดจำนวนลงเลย หนำซ้ำยังมีตัวอย่างหลายชิ้นที่พิสูจน์ว่า ไม่ว่าคุณจะรอบรู้เท่าทันคนเพียงใดก็ยังมีโอกาสจะถูกโกงอยู่ดี หรือแท้จริงแล้ว มนุษย์นั้นถูกสร้างมาเพื่อโดนหลอก 

บัตรเครดิต (Credit Cards)

แม้หนี้สินจะถือเป็นความชั่วร้ายในอารยธรรมมนุษย์มาอย่างเนิ่นนาน แต่การถือกำเนิดของบัตรเครดิตก็เปลี่ยนแนวคิดเรื่องหนี้ของผู้คนไปตลอดกาล เพียงแค่ช่วงทดลองใช้ในอเมริกาปี 1958 มันก็ทำให้เศรษฐกิจในแคลิฟอร์เนียเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีข้อสนับสนุนมากมายบ่งชี้ว่าการจับจ่ายด้วยบัตรเครดิตคุ้มค่ากว่าการใช้จ่ายเงินสด มีคนมากมายได้ผลประโยชน์จากการจับจ่ายด้วยแผ่นพลาสติก แต่ก็มีผู้คนอีกไม่น้อยที่ตกอยู่ในบ่วงหนี้บัตรเครดิต อะไรที่ทำให้เครื่องยนต์กระตุ้นเศรษฐกิจชั้นดีกลายร่างเป็นกับดักสุดโหดของสถาบันการเงิน คำตอบของคำถามอาจอยู่ไม่ไกลเกินใบแจ้งหนี้ของคุณ

กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (Student Loans)

หนี้ กยศ. คือรูปธรรมคำพูดที่ว่า “การศึกษาคือการลงทุน” แต่การลงทุนที่ว่านั้นคุ้มค่าจริงหรือ เมื่อคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตกต่ำลง ตลาดแรงงานสำหรับคนจบปริญญาตรีให้ผลตอบแทนต่ำกว่าที่คาด และดอกเบี้ยหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษากลับย้อนมาฉุดรั้งไม่ให้ผู้กู้ไปถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าโดยง่าย หนี้ กยศ. คือปัญหาใหญ่ที่อเมริกาและหลายประเทศในโลกที่ความเหลื่อมล้ำส่งผลรุนแรง เรื่องตลกร้ายที่ตามมาก็คือ แม้เราจะเลี่ยงการเป็นหนี้ กยศ. ด้วยการไม่เรียน บทลงโทษของคนที่ไม่จบอุดมศึกษาในตลาดงานอาจร้ายแรงยิ่งกว่า

การพนัน (Gambling)

หนักหนากว่าหนี้ โหดร้ายกว่าไฟไหม้บ้าน แต่การพนันไม่เคยห่างหายไปจากอารยธรรมมนุษย์ “เกมพนันโซเชียล” การพนันที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ถูกยกขึ้นมาใช้อธิบายว่าแท้จริงแล้วคนเราอาจไม่ได้เล่นพนันเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ องค์ประกอบด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยามีส่วนอย่างมากในการก่อความหิวกระหายชัยชนะ เจ้ามือเกมพนันทั้งนายทุนเจ้าของกาสิโน เจ้ามือหวย บริษัทเกมและขาใหญ่ในตลาดหุ้นและเงินคริปโตต่างใช้ประโยชน์จากธรรมชาติข้อนี้ทั้งสิ้น ทว่ากลุ่มคนที่หาประโยชน์จากการพนันได้อาจไม่ได้มีแค่เจ้ามือแต่เพียงผู้เดียว

การเกษียณ (Retirement)

ตรากตรำทำงานจนแก่เฒ่าอาจไม่ใช่วิถีชีวิตในฝันของใครหลายคน แต่หนึ่งในสี่ของชาวอเมริกันไม่มีเงินเก็บไว้สำหรับใช้หลังเกษียณ ส่วนคนที่มีเงินเก็บก็น้อยนักที่จะเก็บได้เยอะตามเป้าที่วางไว้ ตัวเลขอัตราส่วนนี้ยิ่งแย่หนักขึ้นอีกในประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 

แปลกแต่จริงที่มนุษย์จัดวางความใกล้ชิดระหว่างตัวเองในปัจจุบันกับตัวเองในอนาคตให้อยู่ในระดับเดียวกับคนแปลกหน้าอย่างไม่รู้ตัว นี่คือคำอธิบายว่าเหตุใดผู้คนจึงไร้แรงจูงใจตามธรรมชาติที่จะออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ ทางออกจากวิกฤตินี้อาจง่ายดายกว่าที่คิดด้วยนโยบายรัฐ โครงสร้างภาษี และการ “เริ่มต้นที่ตัวเอง” อีกเล็กน้อย

แน่นอนว่าเนื้อหาและความเข้าใจจาก Money, Explained นั้นยังอยู่ในจุดที่ห่างไกลกับความเข้าใจการเงินอย่างถี่ถ้วน และข้อมูลจากประเทศทุนนิยมเสรีอย่างอเมริกาคงไม่อาจเชื่อมโยงกับรัฐนายทุนกึ่งผูกขาดอย่างบ้านเราได้แนบสนิท แต่ก็นับเป็นจุดตั้งต้นที่ดีในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของเราในฐานะปัจเจกกับกระแสการเงินสมัยใหม่ เมื่อเราสามารถทำความเข้าใจได้แล้วว่าทุกมิติทางการเงินนั้นส่งผลกับสังคมทั้งระบบ และแม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวมากๆ อย่างเงินลงทุนสำหรับอนาคตนั้นไม่ใช่ปัญหาที่แก้ได้ด้วยการ “เริ่มจากตัวเอง” เพียงอย่างเดียว เราก็จะเห็นได้ว่าทุกเสียงที่เราส่งออกไปในการเรียกร้องให้รัฐบาลทำอะไรสักอย่างนั้นสำคัญกับตัวเราเองมากเพียงใด

สำหรับผม เรื่องที่ยังต้องเอามาขบคิดต่อหลังดูสารคดีจบนั้นสนุกกว่าตัวมันเองเสียอีก แม้ว่ามันจะไม่ช่วยให้ผมชอบขี้หน้าอีลอน มัสก์มากขึ้นเลยก็ตาม

ยี่สิบนาทีคงน้อยเกินไปจริงๆ


ดูได้ที่ Netflix

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here