Home Review Series Review การกลับไม่ได้ ไปไม่ถึงของ Girl From Nowhere Season 2

การกลับไม่ได้ ไปไม่ถึงของ Girl From Nowhere Season 2

การกลับไม่ได้ ไปไม่ถึงของ Girl From Nowhere Season 2

การกลับมาของ แนนโน๊ะ (ชิชา อมาตยกุล) เด็กสาวผู้เป็น ‘เด็กใหม่’ ของทุกโรงเรียนและทุกสังคมเสมอ ภายหลังจากปรากฏตัวในซีซั่นแรกเมื่อปี 2018 ที่ได้รับความนิยมล้นหลาม แนนโน๊ะก็หวนกลับโลกอันดำมืดและเลวทรามในฐานะออริจินัลซีรีส์ด้วยความยาวแปดตอนจบ พร้อมตัวละครหน้าใหม่และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนปริศนาซึ่งด้านหนึ่งเป็นสัญญะสะท้อนบทบาทและโครงสร้างของสังคมใหญ่ด้านนอก

สิ่งหนึ่งที่ Girl From Nowhere ประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ซีซั่นแรกคือการตั้งคำถามและเสียดสีสังคมอันดำมืดที่ฉาบหน้าด้วยความดีงาม หรือกระทั่งถูกทำให้กลายเป็นปกติในสังคมอย่างคุณครูที่ฉวยโอกาสล่วงละเมิดเด็กนักเรียน, ชนชั้นในรั้วการศึกษาหรือความดิบเถื่อนสุดขีดคลั่งของมนุษย์ แต่ละตอนในซีรีส์มีลักษณะเป็น anthology หรือจบในตอน แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดซึ่งชวนให้นึกถึงมังงะ Gakko no Kaidan หรือซีรีส์ธริลเลอร์รูปแบบเดียวกันอย่าง Black Mirror, American Horror Story และทั้งหมดนี้มีตัวละครแนนโน๊ะเป็นผู้เร่งปฏิกิริยาหรือโยนก้อนหินลงไปในน้ำเพียงเพื่อจะเฝ้าดูฝูงปลากระจัดกระจายภายใต้น้ำสงบนิ่ง เธอเป็นผู้เฝ้ามองและวางตัวเองเป็นอื่นอยู่เสมอจากสถานการณ์หายนะเหล่านั้น

อย่างไรก็ดี การหวนกลับมาของแนนโน๊ะในซีซั่นที่สองนั้นมีหลายจุดที่น่าจับตามากทีเดียว หนึ่งในนั้นคือสถานะของตัวแนนโน๊ะเองที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ ‘คนโยนก้อนหิน’ เพื่อความบันเทิงของตัวเองอีกต่อไปแล้ว แต่เธอทำหน้าที่เป็นผู้ตั้งคำถามต่อสังคมและตัวมนุษย์ ท่าทีรื่นเริงหรือยั่วล้อแบบเก่าจึงหายไปและแทนที่ด้วยความจริงจัง เอาเป็นเอาตายเพื่อให้ได้คำตอบมากขึ้น พร้อมกันนั้นมันก็ชัดเจนในตัวเองมากๆ ว่าจะแตะโครงสร้างความบิดเบี้ยวต่างๆ ที่ปรากฏในสังคมมากกว่าที่เคย ทั้งเหล่านักเรียนผู้ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กฎคร่ำครึล้าสมัย, ระบบยุติธรรมที่เอนเอียงตามจำนวนเงินของจำเลยหรือความเหลื่อมล้ำที่กลายเป็นเสาหลักของโครงสร้างทางสังคม -ในที่นี้คือโรงเรียน- ไปแล้วในที่สุด

และการที่มันพยายามพาคนดูไปสำรวจโครงสร้างอันบิดเบี้ยวเหล่านี้นี่เองที่กลับทำให้ความสนุกของ Girl From Nowhere ซีซั่นนี้หดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหาย อาจเพราะว่ามันพยายามจะแสดงให้เห็นว่าได้ ‘แตะ’ และได้ ‘ตั้งคำถาม’ ต่ออำนาจที่กดทับคนตัวเล็กตัวน้อยแล้วด้วยการหาทางมอบคำตอบที่ชัดถ้อยชัดคำ เป็นกลุ่มเป็นก้อนให้แก่คนดูเพื่อยืนยันถึงสิ่งนั้น อย่างเช่นตอนแรก ‘นักล่าแต้ม’ (กำกับโดย ไพรัช คุ้มวัน) ว่าด้วยเรื่องของหนุ่มหล่อประจำโรงเรียนที่มักทำหญิงสาวท้องแล้วไม่รับผิดชอบ ปล่อยให้อีกฝ่ายต้องหาทางออกเพียงลำพังหรือรับเคราะห์กรรมจากการถูกเพื่อนทั้งโรงเรียนตราหน้าอยู่ฝ่ายเดียว (ในทางกลับกัน ตัวผู้ชายเองก็ได้รับฉายาที่ดูเหมือนเจ้าตัวจะภูมิใจอยู่ไม่น้อยอย่างการเป็นนักล่าประจำโรงเรียน) แนนโน๊ะจึงเข้ามาเพื่อสั่งสอนให้เขาได้รู้ถึงความลำบากของการต้องอุ้มท้อง ต้องอับอาย ต้องตกเป็นข้อครหาของเพื่อนร่วมชั้นหรือกระทั่งความเจ็บปวดของการพยายามเอาเด็กออกจนเลือดกระจายเปรอะพื้นห้องน้ำ ทั้งหมดนี้เพื่อจะส่งสารให้คนดูเข้าใจถึงสิ่งที่เด็กสาวที่ตั้งท้องในวัยเรียนนั้นต้องรับมือ หรือตอน ‘ห้องสำนึกตน’ (กำกับโดย ปวีณ ภูริจิตปัญญา, สุวุฒิ ตุงคะรักษ์) เมื่อแนนโน๊ะเข้าไปอยู่ในโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งที่มีกฎเข้มงวด เป็นเสมือนโลกอีกใบที่ตัดขาดจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง การต่อต้านของเธอจึงเป็นที่ชิงชังของทั้งครูประจำชั้นและครูฝ่ายปกครอง นำมาสู่การลงทัณฑ์ทรมานเพื่อ ‘ปรับทัศนคติ’ ครั้งใหญ่

น่าเศร้าที่การพยายามจะให้บทเรียนตอนท้ายเพื่อเน้นย้ำประเด็นที่ซีรีส์ต้องการจะสื่อนั้นกลับทำให้ตัวสารจริงๆ จืดจางลงอย่างน่าใจหาย เพราะแทนที่มันจะปล่อยให้แนนโน๊ะเล่นสนุกกับความดำมืดของมนุษย์แล้วปล่อยให้หน้าที่ตกตะกอนเป็นของคนดู มันกลับพยายามอธิบายและสรุปสิ่งที่ต้องการบอกจนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ได้จินตนาการหรือทำความเข้าใจในแบบของเราเอง ตลอดจนการมุ่งมั่นจะลงโทษให้เกิดความสาแก่ใจ (ไม่รู้ของใคร อาจจะของแนนโน๊ะ ของเหยื่อ หรืออาจจะพยายามให้เป็นความสะใจของคนดูด้วย) ทั้งการถ่ายทอดความเจ็บช้ำของตัวละครชายที่แทบคลั่งเพราะความเจ็บปวดจากการตั้งท้อง, ฉากข่มขืนอันทารุณ, การลงโทษไฮโซสาวที่ขับรถประมาทด้วยการทำร้ายร่างกายเธออย่างรุนแรง ตลอดจนการให้รุ่นพี่คลั่งรับน้องต้องมารับบทเป็นเหยื่อเสียเองในท้ายที่สุด ก็ทำให้อรรถรสบางอย่างที่เคยมีในซีซั่นที่แล้วจางหายไปอย่างน่าเศร้า ขณะที่ในซีซั่นแรกนั้น เรายังพบว่ามีตอนที่แนนโน๊ะมอบพื้นที่ให้ทั้งตัวละครและคนดูได้ทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเด็กสาวที่ใช้ทางลัดและกลโกงต่างๆ เพื่อไต่อันดับไปสู่การเป็นที่หนึ่งใน ‘อัจฉริยะ’ (กำกับโดย อภิวัฒน์ สุภธีระพงษ์) ที่ในฉากสุดท้าย แม้ตัวละครจะได้ในสิ่งที่เธอปรารถนา แต่แววตาแตกสลายและเจ็บปวดนั้นก็ชวนให้ครุ่นคิดถึงสิ่งที่เธอต้องแบกรับต่อจากนี้ โดยไม่จำเป็นต้องขมวดข้อสรุปเลยแม้แต่นิดเดียว

แน่นอนว่าซีรีส์พยายามแตะโครงสร้างทางสังคมและตั้งคำถามกับมันอย่างระมัดระวัง อันจะเห็นได้จาก ‘มินนี่ 4 ศพ’ (กำกับโดย ไพรัช คุ้มวัน) ที่ว่าด้วยเรื่องของเด็กสาวบ้านรวย (แพทริเซีย กู๊ด ผู้มอบการแสดงอันน่าจดจำให้) ที่ครอบครัวของเธอใช้เส้นสายและเงินทองไปกับการทำให้เด็กสาวรอดพ้นจากคดีตั้งแต่ลอกข้อสอบเพื่อนจนการขับรถโดยประมาท หรือ ‘ห้องสำนึกตน’ ซึ่งมีเค้าลางของโลกดิสโทเปียแบบที่ชวนนึกถึง Nineteen Eighty-Four ของ จอร์จ ออร์เวลล์ เมื่อบรรดานักเรียนในโลกของกฎเกณฑ์และสีขาวดำพยายามตั้งคำถามจนถูกนำไปลงโทษด้วยการใช้เสียงกรอกหูหรือเปิดไฟสว่างจ้าอัดหน้า ตามด้วยการลุกฮือที่ทำให้คุณครูผู้ถือครองกฎต้องเป็นฝ่ายสั่นสะท้านและหนีเอาตัวรอด ขณะที่บรรยากาศในกลุ่มนักเรียนนั้นเริ่มบิดเบี้ยวและชวนขนหัวลุก

ไม่ว่าจะเป็น ‘มินนี่ 4 ศพ’ หรือกระทั่ง ‘ห้องสำนึกตน’ (ซึ่งมีท่าทีพูดถึงเรื่องการเมืองอย่างจริงจังมากที่สุด) ก็ตามที กลับไม่มีตอนไหนในซีรีส์ซีซั่นนี้ที่พูดถึงปัญหาที่มาจากเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง สิ่งที่ทำให้มินนี่หลุดรอดจากข้อหาลอกข้อสอบในเบื้องต้นนั้นมาจากระบบรับเงินใต้โต๊ะและระบบอุปถัมภ์ของโรงเรียน หรือสิ่งที่ทำให้การรับน้องดำเนินอยู่ต่อไปได้ในรั้วโรงเรียนมันคือเรื่องของระบบอาวุโสและการกดหัวให้เชื่อง แต่สิ่งที่ซีรีส์ดึงออกมาเพื่อสั่งสอนตัวละครบ้าอำนาจคือการใช้ความรุนแรงโต้กลับ โดยการลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างถึงเลือดถึงเนื้อ ตลอดจนการมีท่าทีจะตั้งคำถามต่อระบบเผด็จการ ทั้งการเผาหนังสือกฎเกณฑ์ของโรงเรียนทิ้ง, การวิพากษ์ผู้ใหญ่ (หรือคือผู้คุมอำนาจ) ที่ไม่ยอมถูกตั้งคำถาม และการทวงเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่นักเรียนพึงมีอย่างการปฏิเสธไม่ยอมถูกสุ่มค้นกระเป๋า แต่ทุกอย่างกลับเบาบางและโดยเฉพาะเมื่อมันเคลื่อนเข้าช่วงท้ายของเรื่องที่ซีรีส์พยายามวางตัวเป็นกลาง (หลังจากพยายามโค่นล้มผู้คุมอำนาจมาแล้ว) ด้วยการตั้งคำถามที่เบาบางและไม่นำไปสู่อะไรว่า “ใครจะถูก ใครจะผิด หรือใครจะดีกว่าใคร เราตัดสินได้จริงหรือ ในโลกสีเทาใบนี้” 

อย่างไรก็ดี มีการเปลี่ยนแปลงหลายจุดที่น่าจับตามากทีเดียว หนึ่งในนั้นคือโครงสร้างของซีรีส์ที่แต่ละตอนนั้นเชื่อมโยงกันหลวมๆ ด้วยการขับเคี่ยวกันระหว่างแนนโน๊ะกับ ยูริ (ชัญญา แม็คคลอรี่ย์) เด็กสาวที่กลายมาเป็นอีกขั้วหนึ่งของแนนโน๊ะ กล่าวคือ หากว่าแนนโน๊ะชื่นชอบการตั้งคำถามต่อความเป็นมนุษย์และปรารถนาจะโยนหินเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในบ่อน้ำอันนิ่งเงียบ ยูริคือตัวละครที่มุ่งมั่นในการทำลายล้าง คำพูดติดปากของเธอคือ “วิธีการของแนนโน๊ะนั้นมันช้าเกินไป” อันขัดกับการพิพากษาที่รวดเร็วและรุนแรงของเธอ ทั้งยังปิดโอกาสในการให้มนุษย์ที่ตกเป็นเป้านิ่งนั้นได้เรียนรู้หรือได้พิสูจน์ตัวตนใหม่อีกหน ต่างจากแนนโน๊ะที่อย่างน้อยที่สุด -หากเราย้อนกลับไปยังซีซั่นแรก- เธอมักเปิดโอกาสทิ้งไว้และเฝ้ามองหากว่าจะมีมนุษย์หวนกลับมาเพื่อแก้ตัวอีกครั้ง

เราอาจจะพูดได้ว่า Girl From Nowhere มีความทะเยอทะยานในการเล่าเรื่อง ทั้งยังพยายามจะตั้งคำถามต่อโครงสร้าง ความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม เพียงแต่น่าเสียดายที่มันมีลักษณะ ‘กลับไม่ได้ไปไม่ถึง’ ของทั้งตัวละครและเส้นเรื่อง ในขณะที่โลกแห่งความจริงนั้น เพดานซึ่งกดทับประชาชนมาอย่างเนิ่นนานถูกเขย่าและตั้งคำถามครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และแม้จะไม่อาจเทียบกันได้โดยตรง หรือกระทั่งมองข้อจำกัดต่างๆ ที่ซีรีส์และคนทำงานต้องเผชิญด้วยสายตาเข้าอกเข้าใจมากเพียงไร แต่ก็ยากปฏิเสธว่า การดันเพดานในโลกแห่งความจริงที่ล้ำหน้าไปกว่าการตั้งคำถามและการพิพากษาของแนนโน๊ะ -ที่ก็ยังครึ่งๆ กลางๆ- นั้นทำให้เราไม่อาจกำซาบความสนุกหรือกระทั่งความสาแก่ใจจากมันได้เต็มที่นัก


ดูได้ที่ Netflix

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here