ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา e-flux ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการตีพิมพ์ การเก็บรวบรวมโปรเจกต์ทางศิลปะ รวมถึงเป็นแพลตฟอร์มของการคัดสรรงานศิลปะ และเป็นนิตยสารศิลปะที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1998 ได้จัดฉายภาพยนตร์ออนไลน์เป็นซีรีส์ 5 ชุดในหัวข้อ ‘เท็จที่จริง : ปัญหาของความจริงในภาพยนตร์ของศิลปิน’ (True Fake: Troubling the Real in Artists’ Films) ซึ่งคัดสรรโดย Lukas Brasiskis ภัณฑารักษ์ นักวิจัยสื่อและภาพยนตร์ จาก New York University ซึ่งทั้ง 5 ชุด มีทั้งหนังสารคดีปลอมของ Peter Watkins งานทดลองจัดๆ ของ Hito Styrel หรือ Harun Forcki ผู้ล่วงลับ และนี่คือสเตทเมนต์ของตัวงาน
‘การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดจนไม่อาจเปรียบได้ที่เกิดขึ้นในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้ ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงต่อการรับรู้และประสบการณ์ของความเป็นจริง ในทศวรรษที่ 1990’s และ ต้น 2000’s สิ่งที่เคยเป็นมาตรฐานตามขนบถูกตั้งข้อสงสัย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการเชื่อในความจริงตามข้อเท็จจริงเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งจากมุมมองและการรับรู้ความจริงอีกหลายๆ แบบ และส่งผลให้เกิดการอภิปรายทางวิชาการเกี่ยวกับวิกฤติของความจริงส่งเสียงสะท้อนก้องไปในโลกศิลปะ ศิลปินหลายคนเริ่มสร้างผลงานที่สะท้อนไม่ก็วิพากษ์วิจารณ์วาทกรรม “หลังความจริง” อันเป็นสิ่งที่นักวิจารณ์ศิลปะและนักประวัติศาสตร์เรียกว่า “การพลิกโฉมสารคดีในศิลปะร่วมสมัย”
อย่างไรก็ตามในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเมื่อข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ไม่สามารถย้อนคืนได้ เกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนของลัทธิปฏิเสธวิทยาศาสตร์ และเมื่อวาทศิลป์เกี่ยวกับ “ข้อเท็จจริงทางเลือก” ซึ่งเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบ รวมทั้งการแพร่กระจายของ “ข่าวปลอม” ทางออนไลน์ ได้กลายเป็นภัยคุกคามที่แท้จริงต่อประชาธิปไตย เราจึงจำเป็นต้องพิจารณาคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นจริง ข้อเท็จจริงที่เป็นทั้งสื่อกลางและเป็นอัตลักษณ์ใหม่อีกครั้ง เพื่อตอบสนองต่อสภาวะทางการเมืองเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ภาพยนตร์ชุดนี้ประกอบด้วยภาพยนตร์และวิดีโอที่สำคัญร่วมสมัยและในอดีตจำนวนยี่สิบเรื่องที่ตรวจสอบขอบเขตที่ไม่แน่นอนระหว่างข้อเท็จจริงและเรื่องแต่ง ธรรมชาติและสิ่งประดิษฐ์ วัตถุวิสัยและอัตวิสัย ความเป็นสื่อและการแสดงออก ชื่อเท็จที่จริง (True Fake) ได้รับเลือกให้เป็นถ้อยแถลงที่พาดพิงถึงภาพและเสียงที่ถูกมองว่าเป็นภาพประดิษฐ์ที่ไม่ได้บ่งชี้สิ่งใดหากข้ามพ้นไปจากการแบ่งอย่างมักง่ายระหว่าง จริง/เท็จ สารคดี/เรื่องเล่า อีกด้วย
ศิลปินตอบสนองต่อบริบทที่ความไว้วางใจในการเมืองที่ปนเปื้อนการกำหนดเป้าหมายตามอัลกอริทึมและข่าวปลอมได้อย่างไร ภาพยนตร์และวิดีโอจะตรวจสอบความจริงที่ประดิษฐ์ขึ้นได้อย่างไรเมื่อข้อเท็จจริงทางเลือกบั่นทอนความเชื่อมั่นและความสมบูรณ์ของสื่อ “ความจริง” ของของปลอมส่งผลอย่างไรต่อกลยุทธ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองและกระบวนการปลดปล่อยอาณานิคม? อะไรคือบทบาทของจินตนาการในโลกที่อิ่มตัวทางเทคโนโลยี? เราจะรักษาอัตลักษณ์ของตนที่ตั้งอยู่ระหว่างโลกแห่งความจริงและโลกเสมือนได้อย่างไร? และมีค่าใช้จ่ายเท่าไร? ความเป็นจริงมีรูป Avatar หรือไม่? และถ้ามี จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ศิลปินและคนทำหนังจากทั้งห้าชุดของซีรีส์นี้ได้ตรวจสอบความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างความจริงและเรื่องแต่งอย่างสร้างสรรค์โดยไม่เพียงตรวจสอบข้อเท็จจริงและสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นสื่อเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลไกของสื่อด้วย พวกเขามีปัญหากับความเชื่อที่ไร้เดียงสาในความบริสุทธิ์ของความจริงและค้นหาโหมดภาพและเสียงใหม่เพื่อพูดความจริงต่อสาธารณะ’
แม้งานฉายออนไลน์จะสิ้นสุดลงไปแล้วแต่เราก็ไม่อยากให้พลาดโปรแกรมนี้ เราจึงออกสืบค้นในโลกอินเทอร์เน็ต จนพบว่าภาพยนตร์บางส่วนจากโปรแกรมนี้ สามารถหาชมได้ในช่องทางอื่นๆ ทั้งถูกกฎหมายและช่องทางธรรมชาติ ในการณ์นี้ Film Club ของรวบรวมลิงก์เท่าที่หาได้และน่าจะเป็นทางการมาไว้ในที่นี้ ให้ผู้ชมที่พลาดได้ตามไปเก็บย้อนหลังกัน
อ่านรายละเอียดเต็มๆ ของโปรแกรมนี้ได้ที่นี่
The Falling Sky (2017, Peggy Ahwesh)
นี่คือ วิดีโอสร้างจากพวกคลิปยูทูป operational image ทั้งหลาย งาน CG แบบไทยรัฐทีวี ที่ถูกทำขึ้นเพื่ออธิบาย หรือขายของ แต่เมื่อนำมาฉายต่อกันก็กลายเป็นทั้งคำทำนาย และคำอธิบาย นิทานสาธกเสียดสีที่ทั้งตลกและสยองขวัญ แสดงให้เห็นเรื่องการควบคุมผู้คนผ่าน social media ภาพแสดงภาวะโลกร้อนที่โชว์ทิศทางของแสงอาทิตย์หรือพายุ ภาพร่างของอนาคต เช่น ในตาของทารกมีบาร์โค้ด ป้ายหลุมศพมี QR โค้ด ที่สแกนแล้วจะเล่นวิดีโอที่เป็นความทรงจำที่ดีของคนตาย การจับมือกันที่สามารถแลกแอคเคานท์ LinkedIn Facebook ได้ทันที ภาพของความคลั่งโทรศัพท์ของผู้คน
หนังเต็มไปด้วยความหลอนของความปลอมจากฟุตเตจ CG ง่ายๆ ภาพที่มาจากคลิปแบบอื่น วัตถุประสงค์อื่น ถูกนำมาใช้ใหม่สร้างควาหมายใหม่ มันกลายเป็นโลกที่เปลือยเปล่าที่แสดงแผนภูมิ กราฟ ทาบลงบนโลก ขั้นตอนว่าที่แท้จริงแล้วโลกมันสยองขวัญและถูกควบคุมมากขนาดไหน
ดูได้ที่ https://www.vimeo.com/320904520
Finding Fanon 2 (2015, Larry Achiampong and David Blandy)
งานที่สร้างจากภาพในเกม Grand Theft Auto 5 โดยถูกเอามาเล่าใหม่ให้เกี่ยวกับโครงเรื่องหลายเรื่องรวมถึงประวัติครอบครัวของศิลปินที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม การตรวจสอบว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาก่อตัวขึ้นอย่างไรผ่านพื้นที่เสมือนจริงและความคิดเกี่ยวกับผลกระทบของสภาพหลังมนุษย์
ซีรีส์ Finding Fanon ได้รับแรงบันดาลใจจากบทละครที่หายไปของ Frantz Fanon (2468-2504) นักมนุษยนิยมหัวรุนแรงทางการเมืองต่อสู้เรื่องการล่าอาณานิคมมาโดยตลอด ตลอดทั้งซีรีส์ Achiampong และ Blandy นำเอาความคิดของ Fanon มาตรวจสอบการเมืองของเชื้อชาติการเหยียดสีผิวและการแยกประเทศและปัญหาทางสังคมเหล่านี้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเราอย่างไรท่ามกลางยุคของเทคโนโลยีใหม่วัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมและโลกาภิวัตน์
ดูได้ที่
It’s in the Game ’17 (2017, Sondra Perry)
เรื่องโฟกัสไปที่ Sandy Perry ฝาแฝดชายของคนทำหนังเรื่องนี้ ที่เป็นนักบาสเกตบอล ดิวิชั่น1 ของมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ผู้ซึ่งข้อมูลทางกายภาพและสถิติของเขาถูกขายโดยสมาคมกีฬาระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (NCAA : National Collegiate Athletic Association) ให้กับบริษัทพัฒนาเกมเพื่อนไปใช้ โดยที่เจ้าตัวไม่รู้และไม่ยินยอม ไม่มีผู้เล่นคนใดในเกมที่ได้รับการชดเชยจาก NCAA ซึ่งอ้างว่าผู้เล่นได้รับการศึกษาฟรีและไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในเรื่องนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ในขอบเขตขององค์กรดิจิทัลมีสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรมหรือไม่? ร่างกายดิจิทัลเป็นเพียงทรัพย์สินไม่มีสิทธิ์หรือไม่?
หนังเทียบวิดีโอเกมเข้ากับภาพจำลอง CG ของรูปปั้นในพิพิธภัณฑ์ที่เป็นร่างกายเหมือนกันที่มีกรรมสิทธิ์คุ้มครองแตกต่างกัน ยิ่งทำให้มันน่าสนใจมากขึ้น
ดูได้ที่
Level Five (1997, Chris Marker)
ลอร่าโปรแกรมเมอร์สาวได้เข้ามารับช่วงต่อในการออกแบบเกมคอมพิวเตอร์ที่จะต้องมีฉากสงครามในโอกินาวาที่เกิดขึ้นจริงในสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอสืบค้นอินเตอร์เน็ทหาข้อมูลถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้น สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ และผู้เห็นเหตุการณ์ ขณะที่พยายามสร้างเลเวลที่ยากที่สุดของเกม นั่นคือเลเวล 5 จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามีเธอทิ้งไว้ ความแปลกประหลาดของสมรภูมิโอกินาวาได้ทำให้ลอร่าย้อนกลับไปคิดถึงชีวิตทั้งของตนเอง และมนุษยชาติที่ต้องผเชิญกับประวัติศาสตร์บาดแผล และนำมาเสนอผ่านภาพยนตร์ เราอาจบอกได้ว่า Level Five เป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่พูดถึงและใคร่ครวญ ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับยุคสมัยของดิจิตัล ความจริงเสมือน ซึ่งเป็นสิ่งที่ใหม่มากๆ ในขณะนั้น
Triple-Chaser (2019, Forensic Architecture + Praxis Films)
Forensic Architecture (FA) คือ หน่วยงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Goldsmiths ในลอนดอน โดยงานหลักคือการสอบสวนการละเมิดสิทธิมุษยชนซึ่งรวมถึงความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐ โดยตำรวจ ทหาร และบริษัทเอกชน FA ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมต่างๆ ตั้งแต่นักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าไปจนถึงหน่วยงานทางกฎหมาย NGO ระหว่างประเทศ และองค์กรสื่อ เพื่อทำการสืบสวนในนามของปัจเจกและชุมชนในประเด็นตั้งแต่การใช้กำลังตำรวจ ปัญหาชายแดน และความรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อม โดยเป็นผู้บุกเบิกการสืบสวนโดยอาศัยเทคนิคการวิเคราะห์เชิงพื้นที่และสถาปัตยกรรม การสอบสวนผ่าน open source (open source investigation) การสร้างแบบจำลองดิจิทัลและเทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนการวิจัยเอกสาร การสัมภาษณ์และความร่วมมือทางวิชาการ ข้อค้นพบจากการสอบสวนของ FA ถูกนำเสนอในห้องพิจารณาคดีระดับชาติและระดับนานาชาติการสอบถามของรัฐสภาและนิทรรศการที่สถาบันทางวัฒนธรรมชั้นนำของโลกและในสื่อระหว่างประเทศรวมทั้งในศาลของพลเมืองและการชุมนุมในชุมชน
เดือนพฤศจิกายน 2018 ตำรวจชายแดนของอเมริกาปาแก๊สน้ำตาใส่ประชาชน มีรูปภาพที่แสดงให้เห็นว่าแก๊สน้ำตาเกือบทั้งหมดผลิตโดย Safariland Group ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘อาวุธอันตรายต่ำ’ รายสำคัญเจ้าหนึ่งของโลก โดยเจ้าของของ Safariland Group คือ Warren B. Kanders ซึ่งนอกจากผลิตอาวุธยังเป็นรองประธานคณะกรรมการของ Whitney Museum of American Art แลเะเพื่อตอบสนองการได้รับเชิญไปร่วมงาน Whitney Biennial 2019 Forensic Architectures จึงร่วมมือกับ Praxis Films (บริษัทผลิตภาพยนตร์ของ Laura Poitras เจ้าของหนังอย่าง Citizenfour) ในโครงการการฝึกใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในการตรวจับแก๊สน้ำตาของSafariland จากภาพถ่ายนับล้านๆภาพในโลกออนไลน์ ซึ่งในการนี้จะต้องใช้ภาพนับพันภาพในการฝึกฝนระบบการตรวจจับ แต่ภาพของวัตถุทรงกระบอกสามชิ้นที่ประกอบกันเป็นแก๊สน้ำตานั้นพบได้น้อยมาก ทาง FA จึงตัดสินใจสร้างแบบจำลองของมันขึ้นมา จากนั้นทดลองนำไปวางภาพจากสภาพแวดล้อมจริง สร้างสถานการณ์ขึ้นไหม่เพื่อให้แก๊สน้ำตานี้ถูกตรวจจัยได้ ด้วยวิธีการนี้ ภาพปลอม สามารถใช้ช่วยในการค้นหาภาพจริงขึ้นมาได้ในอนาคตหากว่า แก๊สน้ำตาของSafariland ถูกนำมาใช้กับประชาชนอีก
และหนังเรื่องนี้คือการบันทึกกระบวนการดังกล่าวออกมาให้เห็นเป็นภาพตั้งแต่ต้น
ดูได้ที่
หมายเหตุ รู้จัก FA เพิ่มเติมได้ที่นี่
Watching the Detectives (2017, Chris Kennedy)
หลังจากการระเบิดในงานบอสตันมาราธอนในปี 2013 นักสืบสมัครเล่นนายหนึ่งเข้าไปในห้องแชตแล้วพยายามจะสืบหาผู้ก่อเหตุ บรรดาผู้ใช้ reddit 4chan และอื่นๆ ช่วยกันตรวจสอบรูปถ่ายต่างๆ ที่ถูกอัพโหลดขึ้นในเว็บไซต์ มองหารายละเอียดของคนที่อาจจะเป็นผู้ต้องสงสัย หนังอาศัยข้อความและภาพ jpeg จากการสืบสวนในครั้งนี้มาเล่าเรื่องเกี่ยวกับการตามหาผู้ร้ายแบบ crowd-source
ดูได้ที่ dafilms
Art and Theft (2017, Sara Magenheimer)
หนังว่าด้วยเทคนิคทางมายากลที่เรียกว่า misdirection คือลวงสายตาคนด้วยการหันเหความสนใจไปทางอื่น เป็นทริคพื้นฐานของการเล่นกล แล้วมันก็ถูกใช้ในทางการแสดงไปจนถึงทางการเมือง (นึกถึงพวกข่าวดาราที่ออกมาช่วงที่นักการเมืองมีเรื่องแล้วกินพื้นที่ข่าวการเมืองไปจนหมด) และ visualise มันออกมาเป็นภาพที่มีทั้งภาพแบบ found footage หัวข้อการปล้นบ้านในเจ็ดนาที (ตามความยาวหนัง) แต่ภาพคือกวางพุ่งเข้าไปทำลายข้าวของในบ้านคน หรือการเอาภาพเขียนยุค medieval art มาส่องรายละเอียดทีละส่วน เป็นภาพนักมายากลแสดงกล แต่ถ้าดูจริงๆ จะเห็นว่า ทุกคนในรูป Misdirection มองไปคนละทาง และบางคนทำบางอย่างเพราะอีกคน misdirection อยู่
ดูได้ที่
Blue Orchids (2017, Johan Grimonprez)
ในหนังเรื่องนี้ Johan Grimonprez ได้สร้างภาพภาพคู่ขนานของผู้เชี่ยวชาญสองคนที่ยืนกันอยู่คนละฟากของเรื่องเดียวกัน ซึ่งนั่นคือโลกของการค้าอาวุธสงคราม คนหนึ่งคือ Chris Hedges อดีตผู้สื่อข่าวของ New York Times อีกคนคือ Ricardo Privitera อดีตนักค้าอาวุธสงครามของบริษัท Talisman Europe Ltd. ทั้งคู่ฉายให้เห็นภาพที่ทั้งผิดประหลาดและรบกวนจิตใจ ด้วยบริบทชวนช็อกที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมสงคราม ตามจริง Grimonprez สัมภาษณ์ทั้งสองคนเพื่อนำไปเป็นส่วนหึ่งในหนังยาวเรื่อง Shadow World (2016) ของเขา หากแต่ทั้งสองคนกลับไปให้ภาพที่ชัดเจนร่วมกันในการพูดถึงความเจ็บปวดจากเหตุการณ์เดียวกันในมุมมองที่ย้อนแย้งกันและกัน คนหนึ่งอุทิศตนให้กับการเปิดเผยคำโกหก ขณะที่อีกคนสร้างตัวเองขึ้นจากการโกหกเหล่านั้น บุคลิกส่วนตัวและประวัติศาสตร์การเมืองค่อยๆ เปิดเผยความทุกข์ทรมานที่อยู่ลึกลงไปในการค้าอาวุธที่เป็นเพียงกลุ่มอาการของโรคร้ายที่ชื่อว่าความโลภ
ดูได้ที่ http://blueorchids.revondemand.org
How Not to Be Seen: A Fucking Didactic Educational .MOV File (2013, Hito Steyerl)
นี่คือหนังที่สำรวจการเมืองของการมองเห็นและความหมายของการไม่ยอมเป็นภาพแทนในยุคดิจิตัล ด้วยโครงสร้างแบบวิดีโอฮาวทู งานของ Steyrel แสดงให้เห็นเทคนิคต่างๆ ในการหลีกเลี่ยงการถูกจับจ้องจากเลนส์กล้อง ด้วยท่าทีทีเล่นทีจริงหากเนื้อหาของหนังกลับจริงจังอย่างยิ่ง กล่าวคือ เครือข่ายดิจิตัลที่กำลังฉายภาพของโลกปัจจุบันนี้ ล้วนมีเป้าหมายที่จะช่วงใช้มวลชนในนามของการควบคุม อำนาจ และผลประโยชน์ และยิ่งสมาร์ตโฟนของเราบันทึกตัวเราและติดตามกันผ่านโซเชียลมีเดียมากเท่าไร ก็ยิ่งเท่ากับให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนระบบการตรวจสอบเหล่านี้โดยปริยายผ่าน “ระบอบการปกครองของการควบคุมตนเอง (ซึ่งกันและกัน) และการมีวินัยในตนเองด้วยภาพ” มากขึ้นเท่านั้น Steyrel เตือนว่า ‘อำนาจนำนับวันยิ่งก้าวล่วงสู่ภายในเรามากขึ้นทุกที ไปพร้อมๆ กันกับแรงกดดันให้ทั้งต้องปฏิบัติตามและแสดงการปฏิบัติออกมา เช่นเกียวกับแรงกดดันของการเป็นภาพแทนและถูกทำให้เป็นภาพแทน’ ดังนั้นการกระทำของการหายตัวไปจึงกลายเป็นความหมายเดียวกันกับการปฏิเสธนั่นคือการปฏิเสธที่จะยอมจำนนแรงกดดันดังกล่าวและการปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในเครือข่ายการแสวงหาผลประโยชน์เหล่านี้