หลายครั้งที่คนทำหนังไทยหารือกันเพื่อพาวงการก้าวไปข้างหน้า แต่มันมักจะไปได้ไม่ไกลจากที่เป็นอยู่ แล้วมักจบลงด้วยการมองหาผู้สนับสนุนที่ถึงพร้อมทั้งกำลังทรัพย์ทั้งยังมีความรู้และความรักในวงการหนังไทยสักคน มาพามันออกจากวังวนแห่งความสิ้นหวังนี้เสียที
ในเมื่อรัฐไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ บางทีความหวังอาจอยู่ที่ภาคเอกชนสักราย และชื่อของ ‘โก๋แก่’ และ ‘โก๋ฟิล์ม’ จะได้รับการพูดถึงอยู่เสมอ เพราะเป็นผู้สนับสนุนที่ปรากฏชื่ออยู่ในหนังอิสระและกิจกรรมเกี่ยวกับการดูหนังมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังอย่าง ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’, ‘หน่าฮ่าน’, เป็นทัพหลังให้ HAL กับ Documentary Club ค่ายนำเข้าหนังอิสระ, โรงหนัง ‘สกาล่า’ และเพจ Film Club ของเรา… นั่นหมายความว่า ‘โก๋แก่’ และ ‘โก๋ฟิล์ม’ ไม่ได้สนับสนุนการสร้างหนังเพียงอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมไปถึงการมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมการดูหนังในมิติอื่นๆ ด้วย
จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ และ กฤษดา รวยเจริญทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานแม่รวย จำกัด คือสองพี่น้องที่นอกจากจะบริหารถั่วโก๋แก่และผลิตภัณฑ์ในเครือแล้วยังเป็นนักดูหนังตัวยงด้วย ทั้งคู่คือผู้อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนวงการหนังอิสระด้วยเป้าหมายที่ต่างกัน จุมภฏรักในการทำหนัง ส่วนกฤษดารักที่จะเห็นหนังขับเคลื่อนสังคม แต่ทั้งคู่มีความเห็นตรงกันว่า ความเป็นศิลปะของหนังจะสร้างมูลค่าได้มหาศาล นี่จึงคือที่มาของแรงสนับสนุนอย่างที่เห็น
หนังมันถูกจำกัดด้วยค่ายหนังเพียงไม่กี่ค่าย ออกมาก็เป็นหนังตลาดเสียส่วนใหญ่ ถ้ามีใครสักคนหนึ่งที่ทำให้วงการหนังไทยมีความหลากหลาย เราก็ยินดีช่วยเขา อาจจะเป็นเงินไม่มากนักนะครับ แต่มันก็พอจะทำให้คนได้เห็นอะไรใหม่ๆ บ้าง
การเข้ามาในวงการหนังอิสระของโก๋แก่และโก๋ฟิล์มเป็นอย่างไร
กฤษดา : พื้นฐานพี่น้องเราโตมากับหนัง สมัยก่อนร้านบล็อกบัสเตอร์เป็นแหล่งรวมของพี่น้องเราเลยนะ ต่างคนต่างก็จะไปเช่า เลยเกิดปรากฏการณ์เช่นพี่น้องเช่าวิดีโอซ้ำกัน เรียกว่าหนังมันเป็นเรื่องที่พี่น้องเราคุยกันตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ต่างคนต่างก็ชอบหนังคนละแนว พอตอนหลังมาทำงานกัน ก็ต้องเริ่มจากพี่ต้นนี่แหละที่แกจะมีความชอบส่วนตัว อยากเป็นผกก.หนัง ก็ทำหนังอะไรของแกแล้วต่อยอดมาเรื่อยๆ ทำให้รู้จักคนในวงการ ส่วนผมเองก็ไปทำสายกราฟิก ทำไปทำมาก็ได้รู้จักคนในวงการหนังบ้างเหมือนกัน จนทำมาเรื่อยๆ พี่ต้นก็มาทำโก๋ฟิล์ม
จุมภฏ : ของผมอีกมุมนึง ผมชอบศิลปะก็มีวาดรูปบ้างแต่ไม่สนุกเท่ากับหนัง มันมีทั้งภาพและเสียง มีการเล่าเรื่องอยู่ในนั้น และมันมีศิลปะหลายอย่างอยู่ด้วย ทีนี้พอเริ่มทำโก๋ฟิล์มแรกๆ ก็เป็นงานอดิเรกทำหลังเลิกงาน เริ่มต้นก็ไม่รู้ว่าจะเข้าไปในวงการหนังต้องเจอใครดี ซึ่งคนแรกที่ผมได้เจอและชักจูงเข้าไปคือ พี่หมู BIOSCOPE (สุภาพ หริมเทพาธิป) เพราะตอนนั้นเราก็อ่านอยู่ แกก็แนะนำให้ผมรู้จักกับพี่อังเคิล (อดิเรก วัฏลีลา) วันนั้นคุยกันสามคน นั่นคือมีตติ้งแรกในวงการหนังของผมเลย จนถึงตอนนี้จะว่ามันมั่นคงในระดับหนึ่งแล้วก็ได้ เราได้เจอกับคนในวงการอีกหลายคน เลยรู้สึกว่าสำหรับหนังไทย แต่ทำไมเราต้องไปขอทุนต่างประเทศ และหนังมันถูกจำกัดด้วยค่ายหนังเพียงไม่กี่ค่าย ออกมาก็เป็นหนังตลาดเสียส่วนใหญ่ ถ้ามีใครสักคนหนึ่งที่ทำให้วงการหนังไทยมีความหลากหลาย เราก็ยินดีช่วยเขา อาจจะเป็นเงินไม่มากนักนะครับ แต่มันก็พอจะทำให้คนได้เห็นอะไรใหม่ๆ บ้าง
กฤษดา : เมืองไทยมัน undervalued งานศิลปะมากๆ เราไปให้ความสำคัญกับสิ่งอื่น ซึ่งผมอยากจะไฟต์มันด้วย นี่เป็นแรงขับเคลื่อนหนึ่ง ผมมองว่าหนังเป็นเครื่องมือที่ดีมาก มันสามารถพูดถึงเรื่องที่คนไม่เคยเห็น เรื่องที่รัฐเมิน หนังมันเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังเพราะศิลปะทุกอย่างมันอยู่ในนั้น สามารถสร้างความจริงเสมือนขึ้นมาได้ สามารถเล่าเรื่องอะไรก็ได้ผ่านหนัง ในแง่หนึ่งศิลปะมันใช้เพื่อสังคมได้ แล้วศิลปะที่ไม่ใช่แค่หนังนะ เพลงหรืออะไรก็ตามมันทำเป็นอุตสาหกรรมได้ ในสังคมที่เจริญแล้วเขาให้ความสำคัญกับศิลปะมาก แล้วศิลปะมันจะสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ คือของทุกอย่างมันมีศิลปะแฝงอยู่ในนั้น เช่น สตีฟ จ๊อบส์ เขาก็มีความเป็นศิลปินอยู่ ลองแยกส่วนผลิตภัณฑ์ของเขาดูจะเห็นว่าค่าเทคโนโลยีมันไม่กี่บาทหรอก แต่ความเป็นศิลปะที่เขาใส่เข้าไปในนั้นมันเป็นตัวสร้างมูลค่า
อย่างผมดู Where to Invade Next เขาไปสำรวจโรงงานดูคาติ ถามว่ามันเป็นศิลปะรึเปล่า มอเตอร์ไซค์เราก็ทำได้ แต่มอเตอร์ไซค์อย่างดูคาติมันมีศิลปะในนั้น เพราะงั้นเราต้องการจะสร้างสภาพนิเวศน์ที่คนจะให้ความสำคัญกับศิลปะ เราอยากให้งานศิลปะมันสร้างมูลค่าได้ สุดท้ายแล้วเราก็จะเป็นประเทศ OEM (ผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้แบรนด์ต่างๆ) คือเราจะเป็น OEM ให้กับทั่วโลกไปแบบนี้เหรอ ทำไมเราไม่เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เองล่ะ
จุมภฏ : อย่างไปอังกฤษ หรือฝรั่งเศส มันจะมีที่ที่โรแมนติก ที่ที่ทำให้เมืองมันน่าอยู่ขึ้น เช่น บางทีเราพาแฟนไปเดินมิวเซียม ไปเดินสวนสาธารณะ มันมีศิลปะในตัวของมัน หรือบางทีมันมีสิ่งก่อสร้างบางแห่งที่เราอยากให้มีในบ้านเราบ้าง
กฤษดา : ผมว่าพ่อแม่สมัยนี้เขาก็เริ่มตระหนักกันนะ อย่างยุคเรานี่สายวิทย์อย่างกับเทพเจ้า สายศิลป์แทบจะไม่มีแดก แต่ตอนนี้มันไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ปัญหาคือ ภาครัฐล่ะ เขายังตามทันรึเปล่า เราก็ทำเท่าที่เราทำได้ เราก็อยากให้ภาครัฐเขามาสนใจด้วย
จุมภฏ : แฟนผมเขาติด Crash Landing on You เมื่อตอนยุค Il Mare หนังเกาหลีกับเราก็ยังไล่ๆ กันอยู่ จนมาดูเรื่องนี้โอ้โหมันไปไกลกว่าเรามากแล้ว แต่เราเองยังอยู่ใน soap opera
กฤษดา : หลายคนก็พูดนะว่าเกาหลีก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการส่งออกวัฒนธรรม มันสามารถสร้างมูลค่าได้ขนาดนั้น และมันก็ทำงานต่อเนื่องกันนะ อย่างวันนี้จีนก็สามารถผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในโลกได้ทุกอย่างแล้ว เหมือนที่มีคำพูดว่าพระเจ้าสร้างโลก แต่ว่าทุกอย่างผลิตในจีน อย่าง Xiaomi กับ Samsung แบรนด์หลังมันจะมีวง BTS มีหนังเกาหลีอะไรพวกนี้แบ็คอัพมันอยู่ จนมีความรู้สึกว่ากูใช้ของมันแล้วคูลกว่า มันทำงานร่วมกันด้วยนะ ไอ้ฮาร์ดแวร์คือโปรดักท์ที่จับต้องได้ กับซอฟต์แวร์หรือสินค้าเชิงวัฒนธรรมมันทำงานควบคู่กัน คือมันสร้างและยกระดับประเทศกันขึ้นมาเลย หรืออย่างญี่ปุ่นนี่เศรษฐกิจเขาเริ่มดาวน์ลงไปแล้วนะ เขาเลยกลับมาดูว่าสิ่งที่น่าจะมากู้เศรษฐกิจเขาคือวัฒนธรรมอนิเมะ วัฒนธรรมคาวาอี้ ไม่งั้นโอลิมปิกเขาคงไม่เอาโงกุนมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ คือเมืองไทยเราควรจะสนับสนุนซอฟท์พาวเวอร์ เห็นความสำคัญของการส่งออกวัฒนธรรม
จุมภฏ : ไทยเราเองจะมีอยู่ยุคนึงที่มันมีการส่งออกวัฒนธรรมอย่าง ‘นางนาก’ ‘ชัตเตอร์’ ช่วงนั้นผมก็ทำงานกับต่างประเทศด้วย พอเราเจอลูกค้าต่างประเทศเขาก็ถามว่ายูดูหนังเรื่องนี้หรือยัง ฮอลลีวูดยังมาซื้อบทของเราไปทำ อันนี้เราส่งออกวัฒนธรรมไปแล้ว ไหนจะเรื่องผี เรื่องความเชื่อ อันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ หรืออย่างหนังพี่เจ้ยที่ได้ปาล์มทองจากเรื่อง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ เขาก็ขายความเป็นวัฒนธรรม
หรืออย่างตอน ‘องค์บาก’ ที่ทำให้ฝรั่งคลั่งมวยไทยและมาร์เชียลอาร์ทกันเยอะมาก แต่ไม่ได้ผลักดันมันต่อเนื่องจริงจัง
กฤษดา : ผมถึงคิดว่าซอฟท์พาวเวอร์เป็นสิ่งที่น่าส่งออก มันเป็นพันธกิจของเราในการที่จะสร้างสังคมที่ให้คุณค่ากับศิลปะ สุดท้ายแล้วมันจะยกระดับได้ทั้งสังคม
เคยคุยกันว่า วงการหนังไทยต่อให้ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐมากแค่ไหน แต่มันคงไม่เป็นรูปธรรมได้เท่าการมีคนที่มีกำลังพร้อมสนับสนุนและมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี
จุมภฏ : จริงๆ จะมีนายทุนกลุ่มนึงที่เขาคุยกันนะ อย่างเช่นมีหนังเรื่องนึงมาขอทุนเขาก็มีการคุยกันเองอยู่ว่าควรลงเงินแค่ไหนดี แต่อาจจะไม่เข้มแข็งอะไรมากมาย
กฤษดา : จริงๆ กับ ‘โก๋แก่’ เราวินวินด้วย เพราะความที่เรามีแบรนด์ ทันทีที่เราไปสนับสนุนหนังแล้วเรามีโปรดักท์ที่จับต้องได้ด้วย เราเองก็ไม่ได้มีเงินมากมายอะไรขนาดนั้นหรอก ถ้ามีนายทุนใหญ่เขาสนใจด้วยก็ดี (หัวเราะ) มันก็จะยิ่งทรงพลัง
จุมภฏ : ผมคิดอีกอย่างนะ ทำโรงหนังกันเองเลย เพื่อให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นมา อาจจะไม่ได้หวังผลประโยชน์หรือหวังผลกำไร
กฤษดา : ความฝันของผมเลยนะ คือซื้อที่กลางใจเมืองสักที่นึงแล้วทำเป็นพื้นที่สาธารณะ ถ้าผมมีเงินระดับหมื่นล้านผมคงทำ ให้คนมาปล่อยของ ให้คนมาใช้ชีวิตกัน อย่างไปต่างประเทศเช่นออสเตรเลีย เราเห็นผังเมืองเขาแล้วรู้สึกว่าคนออกแบบเขาให้เกียรติประชาชน สวนสาธารณะเขาก็จะดีมาก แล้วก็มีสเปซที่ให้คนเดิน ให้คนมาใช้ชีวิตกัน ของเราลองไปพิพิธภัณฑ์เด็กดูสิ สิบชิ้นนี่อาจจะเสียสักสิบเอ็ด (หัวเราะ) ซึ่งรัฐไม่ทำพื้นที่ตรงนี้ไง ถ้าผมรวยกว่านี้คงทำเองไปแล้ว พอเราทำพื้นที่สาธารณะให้ดีมันก็จะต่อยอดกันไป ผมเห็นคนมาเต้นบีบอย มาเต้นคัฟเวอร์ ลูกผมเห็นก็เป็นแรงบันดาลใจต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วพื้นที่สาธารณะตรงนี้เอามาทำนิทรรศการก็ได้ เช่น เรื่องที่รัฐไม่อยากให้คนรู้ เรื่องคนชายขอบ เรื่องประเด็นที่เป็นการเมือง ทั้งที่จริงแล้วการเมืองมันก็อยู่ในทุกที่อยู่แล้ว ปรากฏว่าทุกวันนี้พื้นที่สาธารณะมันถูกควบคุมโดยรัฐ แล้วมันก็ไม่ทำให้เราเห็นอะไร ยกตัวอย่าง Parasite ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่รัฐโคตรจะเจ็บปวดเลยนะ มันฉายภาพสลัมซึ่งมันอิมแพ็คถึงขนาดว่าตอนนี้รัฐบาลเข้าไปปรับปรุงพื้นที่แออัด มันส่งพลังไปขนาดนั้น
ถ้าเราไม่ลุกมาทำอะไรก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เราก็คงต้องอาศัยการทำของเราไปเรื่อยๆ อย่างมุมานะ มันอาจจะยาวนาน คิดว่าวันหนึ่งภาครัฐก็คงจะเห็นมัน เราไม่ได้คาดหวังแต่วันหนึ่งเขาคงจะได้ยินมัน
จริงๆ ต่อให้มีเงินขนาดไหนแต่ลำพังเอกชนก็ไม่สามารถทำได้เพราะมันโยงใยกับสิ่งอื่นที่เป็นเรื่องของโครงสร้างรึเปล่า
จุมภฏ : เมื่อไม่กี่วันก่อนผมได้คุยกับคนที่ทำงานหอภาพยนตร์ ผมก็สงสัยว่าถ้ามันอยู่กลางใจเมืองก็คงจะดีนะ เขาบอกว่าประเด็นคือถ้ามันไปอยู่กลางใจเมืองก็จะมีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยว ขณะที่ถ้าไปอยู่ต่างจังหวัดมันจะปลอดภัยกว่า เขาสบายใจที่จะอยู่อย่างนั้น ซึ่งผมว่าน่าจะมีรัฐบาลสักชุดที่จะมองเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้คนเข้าถึงคนง่ายขึ้น
กฤษดา : จริงๆ แล้วรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมที่สุด คือ จอมพล ป. (หัวเราะ)
แล้วคิดว่าทำไมสิ่งเหล่านี้ที่น่าจะเป็นภารกิจของรัฐจึงมาถึงเรา
กฤษดา : ถ้าเราไม่ลุกมาทำอะไรก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เราก็คงต้องอาศัยการทำของเราไปเรื่อยๆ อย่างมุมานะ มันอาจจะยาวนาน คิดว่าวันหนึ่งภาครัฐก็คงจะเห็นมัน เราไม่ได้คาดหวังแต่วันหนึ่งเขาคงจะได้ยินมัน