ต้องยอมรับว่าหาก โควิด 19 ไม่ระบาดที่มหาชัย เราอาจมืดบอดต่อการเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติในเมืองไทยก็เป็นได้ แต่เพื่อได้มาซึ่งการได้เห็นความจริงที่พวกเขาต้องเผชิญ ราคาที่ต้องแลกก็คือการถูกตีตราว่าแรงงานข้ามชาติเป็นต้นเหตุแห่งการแพร่เชื้อ และผลักไสคนกลุ่มนี้ให้อยู่นอกระบบมากยิ่งขึ้น
ซึ่งเมื่อหันกลับมาสำรวจชีวิตของแรงงานข้ามชาติในหนังไทยแล้ว จริงอยู่ที่มีแง่มุมน่ารักๆ ปรากฏใน ‘รักภาษาอะไร’ (2013, ณิชยา บุญศิริพันธ์) และการสะท้อนความเป็นอยู่อย่างเข้มข้นใน ‘กระเบนราหู’ (2019, พุทธิพงศ์ อรุณเพ็ง) แต่นอกเหนือจากนั้น แรงงานข้ามชาติกลับมีบทบาทอยู่ในหนังผีแทบทั้งสิ้น
‘โควิด 19’ ในแรงงานข้ามชาติ และ แรงงานข้ามชาติใน ‘หนังผีไทย’ บางทีอาจมีอะไรบางอย่างที่ซ้อนทับกันอยู่…
‘อดิศร เกิดมงคล’ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ และเป็นผู้จัดการ Migrant Working Group สะท้อนมุมมองต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้ว่า “โควิดมันทำให้คนกลุ่มนี้มีตัวตนชัดเจนมากขึ้น แต่ว่ามันอาจจะชัดเจนในการที่คนมองในแง่ร้าย อันที่จริงผมว่าโดยการอยู่อย่างผิดกฎหมายของเขานั้นมันก็มีหลายปัจจัย สิ่งหนึ่งที่เราคนทั่วไปไม่ค่อยรู้ก็คือตัวรัฐ ตัวนโยบาย หรือสังคมไทยที่ไม่ยอมรับคนผิดกฎหมาย ผมคิดว่าคนที่ผิดกฎหมายตอนนี้มีหลายคนเคยอยู่อย่างถูกกฎหมายมาก่อน แต่โดยข้อกำหนดและเงื่อนไขทำให้เขาต้องหลุดออกนอกระบบไป เช่น ห้ามเปลี่ยนนายจ้าง ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องพิสูจน์ความผิดของนายจ้างเดิม ให้ตัวคนงานพิสูจน์ว่านายจ้างผิด กฎหมายโคตรประหลาดเลย แล้วก็คุณต้องหานายจ้างใหม่ภายใน 30 วัน คือช่วงโควิดมันไม่มีใครหานายจ้างใหม่ได้เลยภายใน 30 วัน เพราะว่าทุกที่มันปิดหมด ฉะนั้นตัวเลขที่เราประเมินว่าหายไปจากระบบแน่นอนคือ 6 แสนคน คือเดิมมัน 2.8 ล้าน ปัจจุบันคือ 2.2 ล้าน จึงค่อนข้างชัดเจนว่า 6 แสนคนที่หายไป เหมือนเขาถูกฆ่าโดยนโยบายรัฐ โดยความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ โดยสังคมหรืออะไรก็ตามแต่ที่ผลักเขาออกจากระบบ
“กับคนอีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่พอจะเข้าไปอยู่อย่างถูกกฎหมาย ระบบมันก็ปิดไม่ให้เข้ามา นึกออกมั้ยว่าเราต่างก็อยากมีตัวตนกันทั้งนั้น ไม่มีแรงงานคนไหนอยากจะอยู่อย่างผิดกฎหมายหรอก แต่ว่าโดยระบบและเงื่อนไขทั้งหลายแหล่ และโดยความกลัวของรัฐบาลเอง มันไม่เปิดให้เขาปรากฏตัวขึ้นมาได้ พอเกิดโควิดปุ๊บ เขาก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง กลุ่มแรกๆ เลย
“อันที่สองที่โควิดทำให้เห็นชัดเจนคือ ที่ผ่านมาเขาอยู่กันยังไง ถ้าไปดูห้องพักตรงตลาดกลางกุ้งจะเห็นเลยว่าเขาอยู่อย่างแออัด ห้องนึงมี 6 คน แล้วใช้วิธีการสลับกะมานอน ใครทำงานกะเช้าก็มานอนกลางคืน ใครทำงานกะกลางคืนก็มานอนเช้า พอมันล็อคดาวน์ที่ตลาดกุ้ง กลายเป็นว่าหกคนต้องมาอยู่ด้วยกันในห้องเล็กๆ ช่วงโควิดแรกๆ ก็เจอปัญหาคล้ายกัน ผมเจอบางห้องอยู่กันสิบกว่าคน เพราะว่าเขาถูกเลิกจ้าง เลยไม่มีรายได้ ก็ต้องมาเช่าห้องอยู่ด้วยกัน สภาพคือคนท้อง คนแก่ ก็รวมอยู่ในห้องนั้นหมด มันสะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่มีทางเลือกที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้”
สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านชีวิตแรงงานข้ามชาติในหนังไทยอย่างไร อดิศรให้ความเห็นว่า “ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวของผู้สร้าง แต่มันก็เห็นได้ชัดว่าเขาอยู่อย่างยากลำบากจริงๆ เขามีที่ทางแค่นั้นในสังคมไทยจริงๆ ถ้าเป็นฮอลลีวูดก็อาจจะเป็น MIB ที่เป็นมนุษย์ต่างดาว พอเป็นหนังไทยก็เห็นได้ชัดว่าความเป็นผีมันทำให้พวกเขาทั้งน่าหวาดกลัว และไม่มีใครมองเห็น พูดอะไรก็ไม่ได้
“จริงๆ ทางสังคมศาสตร์เขามีคำว่า subaltern ซึ่งคือคนที่ถูกกดจนพูดแทนตัวเองไม่ได้ ไม่มีสิทธิมีเสียงเพราะพูดไปคนก็ไม่เข้าใจ ในการที่จะบอกว่าฉันมีปัญหาอะไร ฉันเดือดร้อนอะไร พูดไปก็ไม่มีใครฟังฉันหรอก เพราะคนคิดไปแล้วว่าคนพวกนี้มันผิดกฎหมาย เมื่อมีโควิดแล้วมันถึงมีกระแสบอกว่า ให้ส่งพม่ากลับให้หมดเลย ให้กลับไปอยู่บ้าน ให้รักษากันที่บ้านตัวเอง นั่นคือคุณไม่เคยเข้าใจหรือไม่เคยได้ยินสิ่งที่เขาพูดว่าเขาอยู่ในเมืองไทยเขาเป็นยังไงบ้าง เขาต้องการอะไรบ้าง
“จริงๆ ผมว่าแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในไทย เป็นคนที่เจียมเนื้อเจียมตัวมากเลยนะ โดยเฉพาะแรงงานพม่าในไทย ต้องทรีตคนไทยดีทุกอย่าง ไม่ว่าคนไทยจะกระทำยังไงก็ตาม หรืออย่างง่ายๆ ที่เคยได้คุยกับคนงานว่าเคยรู้สึกถูกคนไทยเคยทำร้ายมั้ย เขาบอก ‘ไม่เคยๆ คนไทยดีกับเขาทุกอย่างเลย’ ถามว่าเคยเจอปัญหามั้ย ‘ก็มีบ้าง ทะเลาะกันตอนเล่นบอล คนไทยเล่นแรงกับเขา แต่ว่าไม่เป็นไร เราไม่ถือ’ แต่คนไทยเองที่คิดไม่ดีกับเขาทำให้ตัวคนงานเองไม่ค่อยกล้าพูดเท่าไหร่”
“แรงงานข้ามชาติ” ในหนังผีไทย ถ้าไม่ตายก็ไม่มีใครได้ยิน
สถานะของผู้ไม่มีสิทธิมีเสียงที่สังคมและระบบไม่ได้รับการออกแบบมาให้รับฟังความยากลำบากของพวกเขา สะท้อนออกมาในหนังผีไทยอยู่หลายเรื่อง ดังนี้…
ห้าแพร่ง ตอน Backpackers (2009, ทรงยศ สุขมากอนันต์)
หนังว่าด้วยกลุ่มแรงงานที่ถูกลักลอบบรรทุกในรถห้องเย็นจนเต็มและขาดอากาศหายใจตายทั้งคัน นอกจากนี้พวกเขายังถูกซุกซ่อนยาเสพติดไว้ในร่างกายด้วย ทำให้เมื่อพวกเขาตายไป ยาเสพติดได้ไปทำปฏิกิริยาอะไรบางอย่างจนกลายเป็นซอมบี้ แม้หนังไม่ได้ระบุว่าตัวละครแรงงานในรถบรรทุกนั้นเป็นแรงงานข้ามชาติ แต่เราอนุมานได้ทันทีเพราะหนังออกฉายเพียง 1 ปีหลังข่าวใหญ่ เมื่อแรงงานข้ามชาติ 121 คนต้องอัดกันมาในรถห้องเย็นจนขาดอากาศหายใจเสียชีวิตถึง 54 ศพ ซึ่งหากไม่เกิดเหตุการณ์สุดสลดเช่นนี้ สังคมอาจไม่เคยรู้ถึงขบวนการลักลอบค้ามนุษย์อย่างผิดกฎหมาย และหนังเองก็นำเสนอคนกลุ่มนี้ในฐานะคนที่ไม่มีสิทธิพูดอะไรจนกระทั่งความตายมาเยือน
เปรมิกาป่าราบ (2017, ศิวกร จารุพงศา)
เมื่อผีสาวถูกปลดพันธนาการจากตู้คาราโอเกะ เธอตระเวนท้าทายแขกในโรงแรมให้ร้องเพลง ถ้าใครร้องผิด ร้องเพี้ยน ก็จะถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด ภายใต้พลอตสุดป่วงเช่นนี้เราจะค่อยๆ รู้ถึงปูมหลังของผีว่าเธอคือแรงงานข้ามชาตินอกระบบ ที่ถูกซื้อมาทำงานในธุรกิจค้าประเวณี และการที่เธออยู่ในประเทศโดยไม่มีกฎหมายรองรับจึงถูกกระทำย่ำยีโดยที่ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้เลย แม้กระทั่งความตายมาพรากเธอไป ก็ไม่แม้แต่จะมีใครสนใจสืบหา การอาละวาดไล่ฆ่าคนจึงอาจเป็นทางเดียวที่คนอื่นจะรับฟังเธอบ้าง
ลัดดาแลนด์ (2011, โสภณ ศักดาพิศิษฏ์)
มะขิ่น คือแรงงานข้ามชาติที่ทำงานเป็นแม่บ้านในบ้านสุดหรู เธออยู่โดยไม่สุงสิงกับใคร และไม่มีใครสนใจการมีตัวตนของเธอด้วยซ้ำ จนวันที่เธอถูกฆาตกรรมยัดตู้เย็น คนในหมู่บ้านจึงรับรู้การมีอยู่ของมะขิ่นในฐานะผีที่คอยหลอกหลอนผู้คนจนลูกบ้านย้ายออกกันเกือบหมด
มอญซ่อนผี (2015, ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ)
หนังผีตลกโอละพ่อ ที่เล่าเรื่องของแรงงานข้ามชาตินอกระบบกลุ่มหนึ่งซึ่งออกเรือไปกับนายจ้างชาวไทย แต่แล้วพวกเขาก็พบว่าบนเรือนั้นมีศพซ่อนอยู่ พวกเขาจึงต้องหาวิธีอำพรางคดีก่อนที่ตำรวจจะตามมาเจอ มิเช่นนั้นพวกเขาจะต้องถูกจับ เพราะอยู่อย่างผิดกฎหมาย