หากสิ่งที่ทำให้ Impetigore หนังสยองอินโดนีเซียประสบความสำเร็จในเทศกาลหนังซันแดนซ์ ไม่ใช่เพียงวัฒนธรรมอันน่าตื่นตะลึง แต่มันคือ ‘ความกลัว’ ที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของ โจโก้ อันวาร์ มาตั้งแต่เด็ก…คงไม่ต่างกับเรานัก ที่มักจะถูกหลอกตั้งแต่เด็กให้กลัวกับบางสิ่งบางอย่างเพื่อสยบยอมต่ออำนาจที่มองไม่เห็น
อันวาร์คือกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนวงการหนังอินโดนีเซียอยู่ในขณะนี้ เพราะเขาผลิตผลงานอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2019-2020 เขามีหนังทำเงินถล่มทลายออกมาถึง 2 เรื่อง คือหนังยอดมนุษย์ Gundala และหนังสยอง Impetigore ซึ่งทำสถิติขายตั๋วไปเรื่องละ 1.5 ล้านใบ
Impetigore เล่าเรื่องพิธีกรรม ความเชื่อ และวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่าง ‘วายัง’ (หนังตะลุงบนเกาะชวา) ผ่านชีวิตของสองสาวที่กลับบ้านเกิดเพื่อรับมรดก แต่ที่นั่นเธอกลับตกเป็นเหยื่อของพิธีกรรมท้องถิ่น ที่อาจทำให้พวกเธอไม่สามารถกลับออกมาได้อีก …เรื่องแบบนี้มีความเฉพาะตัวเสียจนน่าจะไกลตัวผู้ชมในซันแดนซ์
“ผมว่าการทำหนังท้องถิ่น เพื่อคนดูท้องถิ่น แล้วได้รับความสนใจจากคนดูนอกประเทศเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ซึ่ง Impetigore เป็นเรื่องเฉพาะของชาวชวา เกี่ยวกับกลุ่มคนที่เคร่งศีลธรรมและมีกฏระเบียบที่เข้มงวด ในสังคมแบบนี้เด็กจะถูกห้ามตั้งคำถาม ผู้น้อยต้องเคารพผู้ใหญ่แบบไม่มีเงื่อนไข เพราะงี้ผมถึงเลือกครูของการแสดงวายังมาเป็นภาพสะท้อนของสิ่งที่คนในหมู่บ้านเทิดทูน พวกเขาห้ามตั้งคำถาม ห้ามแม้กระทั่งจะจ้องตาเขาเพราะมันเป็นการลบหลู่ท่าน”
Impetigore เกิดจากการผสมคำของ Impetigo หรือโรคแผลพุพอง กับคำว่า gore ที่หมายถึงความรุนแรง สาเหตุที่อันวาร์เลือกโรคผิวหนังมาสื่อถึงความสยดสยองของหนัง ก็เพราะเขาเติบโตมากับการถูกหลอกเรื่องวายังมาตั้งแต่เด็ก
“คนอินโดฯ จะคุ้นเคยดีกับวายัง ทุกคนต้องเคยได้ดูหรือเคยเล่นมาแล้ว ตอนเด็กๆ ผมถูกพี่ชายหลอกว่าวายังทำมาจากหนังมนุษย์ ผมเลยกลัวมันมาก จนโตมาถึงได้รู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง แต่แก้อาการกลัวนั้นไม่หายแล้ว…แต่แรงบันดาลใจที่แท้จริงของหนังมาจากเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่มีการเลิกจ้างพนักงานเก็บค่าผ่านทางแล้วแทนด้วยเครื่องเก็บเงินอัตโนมัติ ผมเลยอยากเล่าเรื่องของคนที่ต้องสูญเสียอาชีพประจำของตัวเองและต้องหารายได้จากทางอื่น พอเอามารวมกับเรื่องวายังหนังมนุษย์ที่ผมกลัวมากๆ นั้น มันก็เลยเป็นเรื่องความกลัวของคนกลุ่มหนึ่งที่จะต้องสูญเสียความมั่นคงในชีวิตไป”
หนึ่งในความเฮี้ยนที่ปรากฏใน Impetigore คือบรรยากาศของหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญ ซึ่งอันวาร์เลือกหมู่บ้านโบราณแห่งหนึ่งในชวาที่ตัดขาดการสื่อสารกับโลกภายนอกแทบจะสิ้นเชิงแห่งหนึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำ “เราหาหมู่บ้านนี้มาเกือบสามเดือน หมู่บ้านแห่งนี้ถูกล้อมรอบด้วยป่าทึบ ถูกสร้างขึ้นโดยชาวดัตช์ในช่วงที่พวกเขายึดครองอินโดนีเซียช่วงต้นปี 1900 โดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จากนั้นก็ถูกทิ้งร้างไปเพราะพื้นที่เพาะปลูกใช้งานไม่ได้แล้ว แต่ผู้คนยังคงอาศัยอยู่กัน แม้ว่าจะตัดขาดจากโลกภายนอกก็ตาม ดังนั้นเมื่อเราถ่ายทำที่นั่นเราต้องสร้างทางเพื่อขนย้ายอุปกรณ์ ต้องสร้างห้องน้ำสำหรับนักแสดงและทีมงานด้วย ถึงหมู่บ้านนี้จะเงียบสงบ แต่มันทำให้เราเห็นว่าสังคมในอินโดนีเซียคับแคบขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขบวนการอิสลามที่เคร่งครัด รวมถึงการไม่ยอมรับ LGBT ด้วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากมันถูกตัดขาดจากชีวิตสมัยใหม่ชาวบ้านจึงไม่ถูกแทรกแซงจากสังคมภายนอกนัก บางคนนับถือศาสนาอิสลาม แต่เรายังพบคู่รักเลสเบี้ยนและเกย์โดยไม่มีปัญหา”
อันวาร์เริ่มต้นจากการเป็นนักข่าวที่ จาการ์ตาโพสต์ ก่อนจะเริ่มเขียนวิจารณ์หนังและได้เขียนบทหนังในที่สุด ดังนั้นเขาจึงเป็นที่ดูหนังเยอะและหูตากว้างไกลมากพอจะไม่ยึดติดการทำหนังประเภทใดประเภทหนึ่ง ขณะเดียวกันหนังทุกเรื่องที่เขาทำก็ยังบอกเล่ามุมมองของเขาที่มีต่อความไม่ชอบมาพากลในสังคมด้วย
“ผมมีเรื่องที่อยากจะบอกอยู่ในหนังทุกเรื่องของผมโดยที่พยายามจะไม่ตัดสินอะไรลงไป หนังแต่ละเรื่องเกิดจากการโต้กลับต่อสถานการณ์บ้านเมือง ณ ตอนนั้น ผมเป็นพลเมืองคนหนึ่ง ฉะนั้นผมไม่ควรมองข้ามมัน
“การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ คือผมต้องพูดมันออกมา พูดในทางที่มีแนวโน้มจะสร้างการเปลี่ยนแปลง หากใครทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ก็ควรจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่ใช่หลับหูหลับตาสนับสนุนใครโดยไม่สนใจเหตุและผลอะไรทั้งสิ้น”
อันวาร์ผู้มาพร้อม ‘ยุคทองของหนังอินโดนีเซีย’
นอกจากหนังสองเรื่องล่าสุดของอันวาร์จะขายตั๋วได้ 1.5 ล้านใบ หนังสยองเรื่องก่อนหน้านั้นของเขาอย่าง Satan’s Slave ยังสร้างสถิติขายตั๋วได้สูงสุดถึง 4.2 ล้านใบ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ยุคทองของหนังอินโดนีเซีย’ ที่วงการหนังบ้านเขากำลังตื่นเต้นยินดีนี้ มีอันวาร์เป็นท่อน้ำเลี้ยงคนสำคัญ ทำไมถึงเรียกได้ว่ายุคทอง อันวาร์ขยายความว่า
“ก่อนเกิดโควิด เราอยู่ในยุคทองของหนังอินโดนีเซีย ในแง่ของธุรกิจเราขายตั๋วหนังอินโดฯ ได้ 51 ล้านใบในปี 2018-2019 ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2017 เราขายตั๋วได้ 37 ล้านใบ นอกจากจะเป็นสัญาณที่ดีมากแล้วมันยังบ่งบอกว่าคนอินโดฯ มีความเชื่อมั่นในหนังท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าย้อนไปยุค 90 ยังไม่ค่อยมีคนดูหนังอินโดฯ ด้วยซ้ำ พอมาต้นยุค 2000 สถานการณ์ก็ลูกผีลูกคน เพราะปัญหาคือเราขาดแคลนคนทำหนังที่มีทักษะมากพอ จนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หนังอินโดฯ ก็ได้รับความวางใจจากคนในประเทศและระดับสากลมากขึ้น ทั้งจากเทศกาลและในเชิงพาณิชย์ การขาดแคลนบุคลากรจึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข โรงเรียนสอนทำหนังเราก็มีไม่เพียงพอ ประชากร 250 ล้านคน เรามีโรงเรียนหนังแค่ 4 แห่งในจาการ์ตา กับอีก 2 แห่งรอบนอก ถ้าเราแก้ปัญหาจุดนี้ได้หนังอินโดฯ จะประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดดเลย”