บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์
ช่างตัดชุดสตรีมือหนึ่งของกรุงลอนดอนยุค 50 อย่าง เรย์โนลด์ส วูดค็อค อาจเก่งฉกาจในเรื่องของการเข้าอกเข้าใจมนุษย์ ‘เพศหญิง’ ผ่านการรังสรรค์เครื่องแต่งกายสุดเลิศหรูที่สอดรับกับสรีระอันงดงามที่แตกต่างกันไปของพวกหล่อน แต่สำหรับหญิงคนรัก-และนางผู้เป็นแรงบันดาลใจในผลงานการตัดเย็บ-ของเขาอย่าง อัลมา เอลสัน แล้ว เขาคือมนุษย์ ‘เพศชาย’ เจ้าระเบียบที่เอาอกเอาใจยากเป็นที่สุด และที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ‘ความรัก’ ที่เขามอบให้เธอดันพ่วงติดมากับกฎเกณฑ์การใช้ชีวิตที่เขามักเป็นผู้กำหนดขึ้นเองตามอำเภอใจอยู่เพียงฝ่ายเดียว
ความรักของเรย์โนลด์สเข้าครอบงำชีวิตของอัลมา และจับเธอพลิกคว่ำคะมำหงายจนไม่ทันได้ตั้งตัว เพราะแรกทีเดียว มันทำให้เธอรู้สึกดีที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในโลกของใครสักคน แต่ต่อมา มันกลับพยายามควบคุมเธอ เปลี่ยนแปลงเธอ และบางคราวก็ทำร้ายเธอ …กระทั่งวันหนึ่ง เธอก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับการปฎิบัติเหมือนเมื่อตอน ‘แรกรัก’ อีกต่อไป
ผู้หญิงอย่างเธอจึงหมดความอดทน ก่อนตัดสินใจใช้ ‘เห็ดพิษ’ เป็นตัวช่วย เพื่อทำให้เธอได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ควบคุม ‘เกมแห่งความสัมพันธ์’ และทำให้ผู้ชายอย่างเขากลับมารักเธอจนหมดหัวใจอีกครั้ง
— นั่นคือเรื่องราวชวนน้ำตาตกในจาก Phantom Thread (2017) หนังชิงรางวัลออสการ์ของ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ที่สะท้อนให้เห็นถึง ‘พิษ’ จากสัมพันธ์ ‘สวาท’ ระหว่างคนสองเพศ ซึ่งบีบคั้นให้ฝ่ายหญิงต้องหันมาทำตัว ‘ร้ายๆ’ เพื่อหวังให้ฝ่ายชายรู้จักยอม ‘อ่อนข้อ’ หรือแม้แต่ ‘พ่ายแพ้’ เสียบ้าง
1
ย้อนกลับไปยังช่วงต้นของหนัง มีฉากหนึ่งที่อัลมา (รับบทโดย วิคกี คริปส์) เดินออกมาเรียนรู้วิธีการ ‘เก็บเห็ด’ กับแม่บ้านท่ามกลางแดดอุ่นๆ แถวชายป่าใกล้บ้านชนบทหลังงามของเรย์โนลด์ส (แดเนียล เดย์-ลูอิส) คนรักของเธอที่สืบทอดวิชาตัดเย็บมาจากแม่และนำมาใช้เปิดห้องเสื้อจนโด่งดัง ซึ่งถึงแม้ว่าหนุ่มเจ้าบ้านจะไม่เคยนึกอยากแต่งงานกับผู้หญิงคนไหนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน แต่เขาก็ยัง ‘พิศวาส’ เธอมากพอถึงขนาดเชิญชวนให้มาอยู่ร่วมกันใน ‘พื้นที่ของเขา’ ทั้งห้องเสื้ออันทรงเกียรติที่แม้แต่เชื้อพระวงศ์ก็ยังต้องแวะเวียนมาใช้บริการ และบ้านชนบทอันสงบเงียบที่เขาไม่เคยเปิดต้อนรับใครพร่ำเพรื่อ
ความสัมพันธ์ตั้งต้นของคนทั้งคู่จึงแลดูสมถะ สวยงาม และเติบโตไปตามครรลอง – คล้ายกับเห็ดที่อัลมากำลังก้มเก็บลงตะกร้าอย่างเพลิดเพลินใจ
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะตามธรรมชาติแล้ว ‘เห็ด’ คือชีวอินทรีย์-หรือหากกล่าวอย่างเจาะจงก็คือ ‘เชื้อราชั้นสูง’-ประเภทหนึ่งที่หากมองจากภายนอกแล้วช่างดู ‘รักสันโดษ’ และ ‘ไม่มีพิษภัย’ เนื่องจากมันมักผุดโผล่ขึ้นมาตามบริเวณซอกหลืบหรือพื้นที่อับชื้นเล็กๆ บนผืนดินผืนป่า ภายใต้รูปลักษณ์ที่มีเพียงก้าน (Stipe) และหมวก (Pileus) เท่านั้น โดยเห็ดจะงอกเงยขึ้นมาได้ภายในระยะเวลาแค่ชั่วข้ามคืนหากพวกมันอยู่ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งจากระดับความชื้นและแหล่งอาหารที่พอเพียง แถมยังสามารถแพร่พันธุ์ออกไปในวงกว้างผ่านสปอร์ (Spore) -อันเปรียบกับเมล็ดของพืช- ที่ล่องลอยไปในอากาศได้ด้วย
แต่กระนั้น เมื่อลองพิจารณาในเชิงสัญญะ ดร.เดนิส เบนจามิน นักพยาธิวิทยาผู้เขียนหนังสือ Mushrooms: Poisons and Panaceas (1995) กลับอธิบายเอาไว้ว่า เห็ดมีความหมายที่หลากหลายกว่าที่เราคิด และสามารถถูกตีความได้แตกต่างกันออกไปตาม ‘ความเชื่อ’ ในแต่ละพื้นถิ่นของโลก ยกตัวอย่างเช่น สังคมยุโรปตะวันตกมองมันเป็น ‘ลางร้ายที่นำไปสู่ความตาย’ ขณะที่สังคมเอเชียกลับมองมันเป็น ‘เครื่องหมายของความศักดิ์สิทธิ์’ เป็นต้น — ด้วยเหตุนี้ เห็ดจึงมีโอกาสเป็นได้ทั้ง ‘สิ่งดี’ และ ‘สิ่งชั่วร้าย’ ในสายตาของผู้คนบนโลก
นอกจากนี้ เขายังแจกแจงถึงข้อเท็จจริงอีก 3 ประการของเห็ด-ซึ่งสามารถสะท้อนถึงความหมายทั้งสองด้านนี้ของมันได้ด้วย นั่นคือ หนึ่ง, เห็ดช่วยวางกลไกการรีไซเคิล (Recycle – การแปรสภาพแล้วนำกลับมาใช้ใหม่) ให้แก่ระบบนิเวศตลอดมา (เพราะมันช่วยย่อยสลายสสารอื่นที่ดูจะหมดประโยชน์แล้ว); สอง, เห็ดมีปฏิสัมพันธ์กับพืชบนโลกมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ (เพราะมันมักขึ้นอยู่ตามโคนต้นไม้และคอยแลกเปลี่ยนสารอาหารกันไปมา เช่น เห็ดให้น้ำและแร่ธาตุแก่ต้นไม้ ส่วนต้นไม้ก็ให้น้ำตาลแก่เห็ด) และ สาม, เห็ดเป็น ‘ปรสิต’ (Parasite) ที่อาศัย-และอาจถึงขั้น ‘ทำลาย’-เนื้อเยื้อของพืชหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในการเอาตัวรอด
ฉะนั้น เห็ดจึงไม่ได้เป็นแค่ชีวอินทรีย์รูปทรงน่ารักน่าชังที่อาศัยอยู่อย่างเจียมตัวไปวันๆ อย่างที่เราเคยเข้าใจ …หากแต่มันยังมีสถานะเป็นเสมือน ‘ศัตรูตัวร้าย’ หรือแม้แต่ถูกใช้เป็น ‘อาวุธ’ สำหรับประหัตประหารสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นได้เช่นกัน
2
เมื่อวันเวลาผันผ่าน ความรักของทั้งคู่ก็เริ่มผันแปร เมื่ออัลมาตระหนักว่า โดยเนื้อแท้แล้ว เรย์โนลด์สคือผู้ชายที่ชอบยึดเอาความคิดของตนเป็น ‘ศูนย์กลาง’ เสมอ และไม่ชอบให้ใครทำอะไรนอกเหนือไปจากแบบแผนที่เขาก่อร่างสร้างไว้ จากชีวิตการทำงาน (ชุดสตรีฝีมือเขามีไว้สำหรับลูกค้าที่คู่ควรและภักดีกับร้านเท่านั้น) จนถึงชีวิตคู่ระหว่างเขากับเธอ (ทั้งคู่ขัดแย้งกันตั้งแต่เรื่องมาตรฐานความดีงามของเนื้อผ้า ไปยันเรื่องที่เธอทาเนยบนขนมปังกรอบจนเสียงดังแกรกกรากน่ารำคาญในมื้อเช้า – อันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่พี่สาวของฝ่ายชายออกปากเตือนฝ่ายหญิงว่า “ถ้ามื้อเช้าของเขารวนแล้ว มันก็คงยากที่เขาจะกลับมาอารมณ์ดีได้อีกตลอดวัน” ก่อนที่สงครามความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นบนโต๊ะอาหารอีกวันแล้ววันเล่า) ซึ่งแตกต่างจากตอนที่พวกเขาตกหลุมรักกันเมื่อแรกเห็นในห้องอาหารของโรงแรมแห่งหนึ่งราวกับหนังคนละม้วน เพราะในตอนนั้น เขายังเป็นเพียงลูกค้าหนุ่มสุดเนี้ยบที่ทำตัวอ่อนโยนกับเธอมากกว่านี้ และเธอก็ยังเป็นแค่สาวเสิร์ฟซื่อใสที่ปฏิบัติต่อ ‘เด็กชายผู้หิวโหย’ ในตัวเขาอย่างรักใคร่เอ็นดู
ดังนั้น เมื่อเรย์โนลด์สค่อยๆ กีดกันเธอออกไปด้วยกฎเกณฑ์สารพัด และมีทีท่าว่าอยากจะกลับไปใช้ชีวิตแบบตัวคนเดียวที่ตนสามารถควบคุมได้โดยไม่ต้องมีตัวแปรอย่างอัลมามาคอยขัด มันก็ยิ่งทำให้ฝ่ายหญิงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะเธอไม่สามารถดูแลฝ่ายชายผู้เป็นที่รักได้ตามวิถีทางที่เธอต้องการ และเมื่อเธอพยายาม ‘เซอร์ไพรส์’ เขาด้วยอาหารมื้อค่ำอย่างเมนูหน่อไม้ฝรั่งย่าง…ซึ่งดันใส่ ‘เนย’ -ที่เธอชอบ แต่เขาไม่เคยชอบ- ลงไปด้วย ความสัมพันธ์ของพวกเขาจึงเหมือนเดินทางมาถึง ‘จุดแตกหัก’ – มันทำให้เขา ‘บอกเลิก’ ด้วยเหตุผลที่ว่าเธอทำให้แบบแผนในการใช้ชีวิตเขาต้องพังทลาย และนั่นก็ทำให้สาวเจ้าทั้งโกรธทั้งเสียใจจนอยากเดินออกไปจากโลกของเขาจริงๆ
แต่ภายในใจลึกๆ อัลมาก็ยังหวาดวิตกเพราะกลัวการถูกทอดทิ้งและการต้องกลับไปอยู่เพียงลำพังอีกหน เธอจึงหยิบบทหนึ่งในหนังสือที่ว่าด้วยการแบ่งแยกประเภท ‘เห็ดที่กินได้/กินไม่ได้’ ขึ้นมาอ่าน และออกไปเก็บ ‘เห็ดพิษ’ -ที่มีฤทธิ์แค่ทำให้ปวดท้องอย่างหนักแต่ไม่ถึงแก่ชีวิต- มาบดบี้โปรยลงในกาน้ำชาที่เรย์โนลด์สต้องดื่มทุกเช้า ซึ่งส่งผลให้เขาต้องล้มป่วยขณะดำเนินการตัดเย็บชุดแต่งงานครั้งสำคัญ และนั่นก็ทำให้เขาเริ่มเล็งเห็นว่าหากปราศจากเธอคอยมาดูแล-ราวกับแม่-ในยามที่เขาเจ็บป่วยหรืออ่อนแอ ชีวิตก็คงจะน่าหดหู่เดียวดายอยู่ไม่น้อย
สุดท้าย, ด้วยอานุภาพอันรุนแรงของพิษจากเห็ด – เธอจึงสามารถเข้าควบคุม ‘เด็กน้อย’ คนนี้ได้ และถูกเขาขอแต่งงานสมดังใจปรารถนา
เห็ดพิษจึงเป็นเสมือนกับ ‘อาวุธ’ ของอัลมาในสงครามที่เรียกว่า ‘ความรัก’ ไปโดยปริยาย
ผู้กำกับอย่างพอล โธมัส แอนเดอร์สันได้ไอเดียในการสร้างหนังเรื่องนี้-รวมถึงการเขียนฉากดังกล่าว-ขึ้นมาจากประสบการณ์ตรงในตอนที่เขาล้มป่วยและภรรยาที่เป็นนักแสดงอย่าง มายา รูดอล์ฟ ต้องมาคอยประคบประหงม ซึ่งทำให้เขาเกิดจินตนาการสุดบรรเจิดขึ้นมาว่า หากภรรยาผู้อ่อนโยนที่ดูแลเขาอย่างเอาใจใส่อยู่นี้ ต้องการ ‘ยื้อ’ อาการป่วยของเขาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อ ‘ควบคุม’ เขาเอาไว้ภายใต้สภาพจิตสภาพกายที่ไร้อำนาจต่อรอง และเพื่อแสดงให้เห็นว่า ‘ความรัก’ ของเธอนั้นช่างยิ่งใหญ่จนเขาต้องสำนึกในบุญคุณล่ะ มันจะสามารถสะท้อนถึงความสัมพันธ์ฉันสามี-ภรรยาที่กลายมาเป็นสงครามแย่งชิงอำนาจระหว่างชาย-หญิงได้ชัดเจนขึ้นหรือไม่ และจะเป็นอย่างไรหากผู้ชายที่เคยกุมอำนาจภายในบ้านกำลังถูกผู้หญิงวางแผนตลบหลังเพื่อ ‘ทวงคืนอำนาจ’
เพื่อบอกว่าผู้หญิงทุกคนไม่ได้ ‘ใจดี’ กับผู้ชายของเธอ-เหมือนภรรยาของแอนเดอร์สัน-เสมอไป
3
ในช่วงปีสองปีก่อนที่หนังเรื่องนี้จะออกฉาย คนทำหนังอีกบางรายก็ต่างพร้อมใจกันนำ ‘เห็ดพิษ’ มาใช้เป็น ‘อาวุธ’ ของตัวละครหญิงในหนัง ทั้ง Lady Macbeth (2016) ของ วิลเลียม โอลด์รอย และ The Beguiled (2017) ของ โซเฟีย คอปโปลา เพื่อต่อกรกับตัวละครชายที่เข้ามาคุกคามชีวิต/ขัดขวางความปรารถนาของพวกเธอผ่านการ ‘วางยา’ ด้วยกันทั้งสิ้น (เพราะกล่าวกันว่าพิษจากเห็ดคือ ‘เครื่องมือสังหาร’ ที่ยากจะใช้เป็นหลักฐานชี้ชัดในทางอาชญาวิทยาได้)
ทว่ากลับไม่มีหนังเรื่องไหนที่สามารถบอกเล่ามันออกมาได้อย่าง ‘เลือดเย็น’ และ ‘หลอกหลอน’ เท่ากับหนังเรื่องนี้ของแอนเดอร์สัน
เพราะในช่วงท้ายๆ ของ Phantom Thread อัลมาตัดสินใจโยน ‘เนย’ ลงในกระทะอย่างไม่แยแส เธอไม่สนอีกต่อไปว่าเรย์โนลด์ส-ที่แม้แต่งงานแล้วแต่ก็ยังทำสงครามประสาทกับเธออย่างไม่หยุดหย่อน-จะกิน ‘สิ่งที่เขาเกลียด’ ได้หรือไม่ โดยหลังจากที่ไข่ไก่ถูกตอกใส่ถ้วยแล้วตีให้เข้ากัน เห็ดก็ถูกหั่นด้วยมีดเล่มบางอันคมกริบ และโดนความร้อนเข้าเชื่อมประสานจนกลายเป็น ‘ออมเล็ตต์’ (Omelette หรือก็คือ ‘ไข่เจียว’ แบบตะวันตก) สีเหลืองทองที่โรยด้วยใบพาร์สลีย์สับปิดท้าย — องค์ประกอบทั้งภาพ (ที่จับจ้องการตระเตรียมอาหารอย่างเย็นชา-แม้ว่าจะมีรอยยิ้ม-ของตัวละครหญิงอย่างอัลมา), เสียง (ดนตรีจากเครื่องสายที่สร้างบรรยากาศความรู้สึกหดหู่ กดดัน ไม่น่าไว้วางใจ) และแสง-สี (อันหม่นมืดทีึมทึบ – จนดูเหมือนตัวละครชายอย่างเรย์โนลด์สที่นั่งรอจะหายใจได้ไม่สะดวกนัก) ทำให้ฉากการประกอบอาหารในเมนู ‘ออมเล็ตต์เห็ดพิษ’ ของอัลมานี้ กลายเป็นฉากที่ ‘สยองขวัญสั่นประสาท’ ราวกับคนทั้งคู่จะลุกขึ้นมา ‘ฆ่า’ กันเมื่อไหร่ก็ได้ มากกว่าจะเป็นฉากที่ ‘นุ่มนวลชวนฝัน’ เหมือนคราวที่พวกเขาปิ๊งรักกันในห้องอาหารแห่งนั้น
“ฉันอยากให้คุณล้มป่วย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อ่อนโยน และเปิดใจ โดยมีเพียงฉันที่คอยดูแล…” อัลมาเอื้อนเอ่ย “…คุณอาจอยากตาย แต่คุณจะไม่ตายหรอก คุณแค่ต้องรู้จักสงบจิตสงบใจลงเสียบ้าง”
การผสมผสานเห็ดพิษเข้ากับออมเล็ตต์-เมนูเรียบง่ายที่ใครๆ ก็รู้จักและแพร่หลายไปทุกครัวเรือน-จึงถือเป็นการนำเสนอ ‘ความสัมพันธ์อันเป็นพิษ’ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันผ่านอาหารของตัวละครได้อย่างชาญฉลาด ซึ่งก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นไปอีก เมื่อรากศัพท์ของคำว่า Omelette ที่เริ่มใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 16 นั้น มาจากคำว่า Alemelle ที่แปลว่า ‘ใบมีด’ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบกับรูปทรงอันบางเฉียบของไข่หลังปรุงเสร็จ — ด้วยเหตุนี้ เมนู ‘ออมเล็ตต์เห็ดพิษ’ ในหนังจึงอาจเปรียบได้กับอาวุธที่อัลมาใช้ ‘ทิ่มแทง’ สามีของเธอในอีกแง่หนึ่ง
และมันก็ยังเป็น ‘อำนาจ’ ที่ทำให้เรย์โนลด์ยอมโอนอ่อนผ่อนตามและใช้ชีวิตคู่ร่วมกับอัลมา-ผู้ที่สามารถเข้ามา ‘แทนที่’ แม่ผู้อบอุ่นที่เขาไม่เคยลืม-ต่อไปได้อีกนานตราบเท่าที่เธอต้องการ
4
เห็ดหลายชนิดอาจมีพิษจนสามารถคร่าชีวิตสิ่งอื่นๆ บนโลกได้ แต่ในขณะเดียวกัน เห็ดส่วนใหญ่ก็ยังคงคุณสมบัติด้านบวกอีกประการหนึ่งเอาไว้ด้วย นั่นคือการ ‘ดูดซับพิษ’ ออกจากผืนดินรอบข้างที่มันอาศัยอยู่ — ซึ่งหากมองในแง่นี้ การวางยาคนรักด้วยเห็ดพิษของอัลมาใน Phantom Thread ก็อาจมีความหมายเทียบเคียงกับการพยายาม ‘ชะล้างตัวตนอันเป็นพิษ’ ของผู้ชาย-ที่มักยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล-อย่างเรย์โนลด์สออกไปได้เช่นกัน
จึงไม่แปลกที่จะมีนักวิจารณ์บางรายออกมาตีความว่า นี่คือหนังที่ว่าด้วยเพศหญิงที่ลุกขึ้นมาต่อต้านความคิดแบบ ‘ชายเป็นใหญ่’ ที่ยึดครองสังคมกระแสหลักมาช้านาน และทำให้เพศชายมักออกมาทำตัว ‘เป็นพิษ’ ด้วยการระราน ‘คนอื่น’ ไปทั่ว
ยังมีผู้ชายอีกจำนวนไม่น้อยที่ชอบแสดง ‘อำนาจ’ ของตนผ่านการใช้หน้าที่การงานและตำแหน่งแห่งที่ในครอบครัวมา ‘กดขี่’ ผู้อื่นให้ยอมศิโรราบ ซึ่งหลายครั้งก็เป็นผลมาจากการที่พวกเขารู้สึกถึง ‘ความอ่อนแอ’ และ ‘ความล้มเหลว’ ในชีวิตของตน และยอมรับไม่ได้จนต้องหาหนทางแสดงความเข้มแข็งแบบผิดๆ เพื่อปกปิดมันเอาไว้ หรือถึงขั้นทำร้ายคนรอบตัวด้วยการพยายามควบคุมพวกเขาให้ได้ดั่งใจแทน
ทว่าเอาเข้าจริงแล้ว ก็คงไม่ใช่แค่เพศชายเท่านั้นที่ ‘เป็นพิษ’ ในโลกของความสัมพันธ์ เพราะไม่ว่าเพศหญิงหรือเพศไหนๆ ก็สามารถเป็นพิษกับคนรอบข้างได้ทั้งนั้น หากเราเอาแต่ตั้งตนเป็นใหญ่โดยไม่ยอมรับฟังใครคนอื่น – เหมือนกับที่อัลมาค่อยๆ ทำตัวร้ายกาจกับเรย์โนลด์สโดยการใช้เห็ดพิษมาสร้างความทุกข์ให้แก่เขาอยู่หลายคราว
เพียงเพราะต้องการให้อีกฝ่าย ‘รัก’ ในแบบที่ตน ‘รัก’ หรือทำตัว ‘ดี’ ในแบบที่ตนเห็นว่า ‘ดี’
มนุษย์เรามักเข้าข้างตัวเอง มองเห็นตัวเองเป็นทั้ง ‘ผู้ที่ถูกต้อง’ และ ‘ผู้ที่ถูกกระทำ’ หนักเข้าก็ใช้เหตุผลนี้เป็นข้ออ้างในการลุกขึ้นมาเป็น ‘ผู้กระทำ’ เสียเองเพื่อแก้แค้น ‘ฝ่ายตรงข้าม’ อย่างสาสม กลายเป็นการทำร้ายชีวิตของกันและกันจนส่งผลให้ความสัมพันธ์ต้องพังภินท์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย — ทั้งที่เราสามารถตั้งสติใคร่ครวญและทำตัวให้เป็นเหมือนกับเห็ดที่สามารถ ‘ดูดซับพิษ’ ออกจากความสัมพันธ์แย่ๆ ระหว่างกันได้แท้ๆ
มันคงจะดีกว่าไม่น้อย, หากเรายอมหันมาทำความเข้าใจกับความบกพร่องและปัญหาที่เรามีต่อกัน ก่อนที่ ‘ความสัมพันธ์อันเป็นพิษ’ -ประหนึ่งเมนูเห็ดจานแล้วจานเล่าของอัลมา- จะทำให้เราต้องป่วยไข้ไร้สุข
และพากันฉุดกระชากลากถูชีวิตที่เหลือให้ต้องคอยรบราอยู่ในสงคราม ‘พิษ’ สวาทนี้ไปชั่วกัปชั่วกัลป์